พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยกับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ในวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ว่า ขณะนี้ทางศอ.บต. กำลังเตรียมการเปิดช่องโทรทัศน์ภาษามลายูตลอด 24 ชั่วโมงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกอากาศได้ภายใน 3 เดือนหลังจากนี้อันเป็นการดำเนินตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและเป็นยุทธศาสตร์ ที่สำคัญของ ศอ.บต. ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
“ในการดำเนินการจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบรายการเพื่อให้มีความ รู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งจากการพูดคุยกับภาคประชาสังคมเมื่อวันที่ 14 [ตุลาคม] ที่ผ่านมาเห็นว่าต้องมีสภาประชาชนในการเข้ามากำกับดูแล ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ช่องทางเพื่อการแก้ต่างให้รัฐ แต่เป็นเพราะประชาชนที่นี่ต้องรู้ความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต้องรู้ข้อมูลข่าวสารและที่สำคัญเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งและ มาตรฐานของภาษามลายู” เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยอีกว่าจากการปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาการ ตัวแทนสถาบันการศึกษา ถึงเนื้อหาและสาระของช่องทีวีภาษามลายูอย่างไม่เป็นทางการ ได้ข้อสรุปว่าจะมีรายการ 8 ด้าน คือ รายการข่าว รายการด้านศาสนาและวัฒนธรรม ด้านอาชีพ การกีฬา การท่องเที่ยว รายการบันเทิงและรายการ reality show ในการดำเนินการต้องสรรหาผู้อำนวยการสถานีที่เป็นที่ยอมรับรวมทั้งต้องดึง สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนภาษามลายูและด้านการสื่อสาร 2 - 3 แห่งเป็นผู้รับผิดชอบวางกรอบการสรรหาสภาประชาชนหรือการทำประชาพิจารณ์ในการ ดำเนินการในเรื่องนี้ ในส่วนของ ศอ.บต. ได้มอบหมายให้ส่วนงานประชาสัมพันธ์เป็นผู้รับผิดชอบ
ในด้านเทคนิคนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่าจะเป็นคณะทำงานอีกกลุ่มหนึ่งซึ่ง ศอ.บต. จะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด โดยในขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเพื่อที่จะให้สามารถออกอากาศได้ภายในก่อนสิ้น ปีนี้ ทั้งนี้อาจจะต้องหาคนภายนอกหรือมืออาชีพสักคนมารับผิดชอบในงานนี้ ซึ่งขณะนี้ก็มีทีมงานที่มาจากวอยซ์ทีวี รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของบริษัทดาวเทียมไทยคมกำลังเร่งดำเนิน งานอยู่
ส่วนเรื่องของช่องสัญญาณของทีวีภาษามลายู 24 ชั่วโมงนั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาใช้ช่องดาวเทียมที่ประชาชนใช้จานดาวเทียมรับสัญญาณ หรือจะใช้ช่องสัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา หรืออาจจะใช้ทั้ง 2 ช่องทางในการออกอากาศ
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ เราจำเป็นต้องเตรียมคนให้พร้อม โดยเฉพาะคนทั้งประเทศต้องพึ่งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะคนที่นี่สามารถ ใช้ภาษาของคนจำนวนกว่า 300 ล้านคน ซึ่งภาษามลายูจะกลายเป็นภาษาอาเซียน และช่องทีวีภาษามลายู 24 ชั่วโมงแห่งนี้ก็จะไม่ใช่ของรัฐ เพราะรัฐมีอยู่แล้ว ต้องเป็นของประชาชนที่นี่
“สิ่งที่อยากเห็นคือ ทีวีภาษามลายู 24 ชั่วโมงจะสามารถเป็นกระบอกเสียงของคนในพื้นที่ เป็นช่องทางในการสื่อสารของประชาชน อีกทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาษามลายู เป็นการคืนเกียรติยศและรักษามรดกทางภาษา” เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว