บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สุรพศ ทวีศักดิ์ : ปรัชญาตายแล้ว!

ที่มา ประชาไท



 
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้ฟังศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ปาฐกถาในการสัมมนาทางวิชาการของสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย พูดตอนหนึ่ง (ประมาณ) ว่า
 
“วิชาปรัชญากำลังจะตายไปจากอุดมศึกษาไทย เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่รู้ว่าปรัชญาคืออะไร มองว่าวิชาปรัชญาไม่มีประโยชน์ การวิจัยทางปรัชญาที่ใช้วิธีวิจัยทางมนุษยศาสตร์โดยการกำหนดประเด็นปัญหาทาง ปรัชญา สำรวจข้อโต้แย้งทางปรัชญา ตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ ความคิด ทฤษฏีปรัชญาต่างๆนั้น ผู้มีอำนาจในการอนุมัติทุนวิจัยในหน่วยงานระดับชาติมองว่า วิธีแบบนี้ไม่ใช่วิธีวิจัย เพราะไม่ได้ใช้หลักสถิติ อีกทั้งผู้เรียนก็น้อยลง ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องยกเลิกวิชาปรัชญาไปโดยปริยาย”
 
ในช่วงแลกเปลี่ยน อาจารย์บางคนบอกว่านักศึกษามักจะบ่นว่า “เรียนปรัชญาน่าเบื่อ ไม่รู้เรื่อง” อาจารย์สอนปรัชญาก็มักจะตอบทันทีว่า “ปรัชญามันต้องไม่รู้เรื่อง ถ้ารู้เรื่องก็ไม่ใช่ปรัชญา” (ฮา) อีกอย่างนักศึกษาเรียนปรัชญาไปแล้วก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร เพราะไม่มีอาชีพรองรับ ฯลฯ
 
นานมากแล้วที่ผมไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาทางปรัชญา (เคยไปครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม) แต่ก็เห็นได้ชัดว่า คนในวงวิชาการด้านปรัชญายังพูดถึงปัญหาเดิมๆ ของตัวเองมาหลายสิบปี (เช่นเดียวกับคนในแวดวงศาสนา) มันคือปัญหา “ความมั่นคง” ของวิชาปรัชญา และ/หรือสถานภาพของอาจารย์ นักวิชาการด้านปรัชญา แต่ไม่ค่อยได้เห็นการถกเถียงว่า “ปรัชญาทำหน้าที่อะไรในสังคมไทยปัจจุบัน?” (หรือผมอาจอยู่ “ชายขอบ” เกินไปเลยไม่รู้ว่าเขาก็เถียงเรื่องนี้กันอยู่)
 
โดยเฉพาะ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยที่ ยังหา “จุดลงตัว” ไม่ได้ ในสภาวะที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ยิ่งนานวันขึ้นมันยิ่งสะท้อนปัญหาพื้นฐานทาง ปรัชญาเด่นชัดมากขึ้นๆ ตั้งแต่ปัญหาพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ความหมายของ “คน” หรือ “ประชาชน” ในโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ ปัญหาอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ VS.อุดมการณ์ประชาธิปไตย ปัญหาความเป็นไทย VS.ความเป็นสากล ปัญหาว่าศาสนาครอบงำ ลดทอน หรือส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และศีลธรรมทางสังคม
 
รวมทั้ง “ปัญหามโนธรรมทางสังคม” ที่ดูเหมือนจะสรุปความขัดแย้งทางการเมืองกันง่ายๆ แค่ว่า การนองเลือดครั้งต่างๆ ที่ผ่านมานั้น เป็นความผิดของแกนนำที่พาคนไปตาย น่าเห็นใจนักศึกษาประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้กลายเป็น “เหยื่อ” ของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ขาดความเอาใจใส่อย่างลึกซึ้งจริงจังต่อประเด็นมนุษยธรรม และการอ้างอิงหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนเพื่อกดดันให้รัฐบาล และกลุ่มอำนาจนอกระบบที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังรับผิดชอบทางกฎหมายและ ศีลธรรมทางสังคม
 
ถามว่า ท่ามกลางปัญหายากๆ และซับซ้อนต่างๆ นั้น “ปรัชญา” และ/หรือนักวิชาการด้านปรัชญาในบ้านเราทำหน้าที่อะไร? หากปรัชญาไม่ทำ หรือไม่สามารถจะทำอะไรในเชิงช่วยให้สังคมกระจ่างชัดในประเด็นปัญหาพื้นฐาน และข้อโต้แย้งต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองที่ส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมเป็นต้นได้เลย ปรัชญาก็สมควรตายไปจากสังคมนี้มิใช่หรือ? การตีโพยตีพายว่าคนอื่นๆ ไม่รู้จัก และไม่เห็นประโยชน์ของปรัชญาย่อมเป็นเรื่องที่ไร้ความหมาย
 
สำหรับผมแล้ว เราอาจมองปรัชญาเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่เป็น “ความคิดทางปรัชญา” กับส่วนที่เป็น “ทักษะทางปรัชญา” ส่วนแรกคือแนวคิดหรือทฤษฎีของนักปรัชญาหรือสกุลปรัชญาสำนักต่างๆ ส่วนหลังคือวิธีการทางปรัชญาได้แก่ “วิภาษณ์วิธี” (dialectic) บางทีเราเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “กิจกรรมทางปรัชญา” คือ การที่เราใช้วิธีคิดเชิงวิพากษ์มาทำความกระจ่างในประเด็นปัญหาทางความคิดที่ ยุ่งยากซับซ้อน การริเริ่มประเด็นปัญหาพื้นฐานและข้อโต้แย้งต่างๆ การวิเคราะห์หักล้างข้อโต้แย้งต่างๆ ตลอดถึงการเสนอความคิดใหม่ หรือทางเลือกใหม่ สรุปคือส่วนที่เป็นทักษะทางปรัชญาช่วยให้เราคิดอะไรชัดเจน เป็นระบบ สมเหตุสมผล ไม่สับสนหรือขัดแย้งในตัวเอง
 
โดยปกติเมื่อเราผ่านการศึกษาทางปรัชญาแล้ว “ความคิดทางปรัชญา” ที่ประทับใจเราจะไม่มีวันตายไปจากเรา เช่น ความคิดเรื่องธรรมชาติของเหตุผล อารมณ์ คุณค่าของชีวิต เสรีภาพ ความยุติธรรม ฯลฯ ส่วนทักษะทางปรัชญานั้นก็ไม่มีวันตายไปจากเรา เหมือนทักษะอื่นๆ เช่นการปั่นจักรยาน เป็นต้นที่จะตายไปพร้อมกับชีวิตเรา
 
ปัญหาอยู่ที่ว่า วิธีการเรียนการสอนปรัชญาในบ้านเรานำไปสู่การสร้าง “รอยประทับ” ของความคิดทางปรัชญาที่แจ่มชัดลงในห้วงคำนึง การคุ่นคิดอย่างลึกซึ้งของผู้เรียนหรือไม่ ทำให้ผู้เรียนมีทักษะทางปรัชญาที่สามารถนำไปใช้ “จับปลากินเอง” หรือไปจับประเด็นปัญหาซึ่งพบเห็นได้ในสังคม ในชีวิตประจำวันขึ้นมาวิเคราะห์วิพากษ์เชิงปรัชญาได้เพียงใด
 
รวมทั้งนักวิชาการในแวดวงปรัชญาได้ใช้ทักษะทางปรัชญามาทำความกระจ่างใน ปัญหาพื้นฐานต่างๆ ในทางสังคมการเมืองเป็นต้นอย่างไร คือถ้าเราทำให้ปรัชญามีชีวิต ปรัชญาก็จะไม่ตาย แต่ถ้าจำกัดพื้นที่ให้ปรัชญาอยู่แค่ในห้องเรียนแคบๆ เอาไว้เรียนกันตามที่พูดๆ กันว่า “ปรัชญามันต้องเรียนไม่รู้เรื่อง ถ้ารู้เรื่องก็ไม่ใช่ปรัชญา” ก็บอกได้เลยครับว่า ปรัชญาตายแน่ๆ (รีบจองศาลา เตรียมฌาปกิจได้เลย)
 
ทำไมปรัชญาทั้งส่วนที่เป็น “ความคิดทางปรัชญา” กับส่วนที่เป็น “ทักษะทางปรัชญา” จึงไม่ตายไปจากสังคมตะวันตก คงไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขาเรียนกันทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษาเท่านั้น ที่สำคัญว่านั้นคือถ้าเราสังเกตจะเห็นว่า คนตะวันตกเขามี “character ทางปรัชญา” ที่ปรากฏออกมาในบุคลิกภาพของเขาตั้งแต่การมองความหมาย คุณค่าของชีวิต การเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง อดทนต่อความเห็นต่าง มีความคิดเชิงวิพากษ์ ต้องการคำตอบปัญหาต่างๆ ที่อ้างอิงความรู้ ความเป็นเหตุเป็นผล ฯลฯ ซึ่งบุคลิกภาพเช่นนี้มันถูกวางรากฐานและมีพัฒนาการคลี่คลายมาเป็นพันๆ ปี อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคภูมิปัญญากรีกเป็นต้นมาที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ผู้ ซึ่งใช้เสรีภาพและเหตุผลของตนเองอย่างเต็มศักยภาพในการแสวงหาการมีชีวิตที่ มีคุณค่า การสร้างหลักปรัชญา อุดมการณ์ และระบบสังคมการเมืองที่ยุติธรรม
 
ที่จริงปรัชญาไม่ควรจะตาย เพราะมีปัญหาให้ปรัชญาไปร่วมถกเถียงด้วยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่น โพสต์ในเฟซบุ๊กของ “ตี้” นิติพงษ์ ห่อนาค ที่ว่า
 
“แผ่นดินสยามครั้งที่ยังอยู่ในพระหัตถ์ปิยกษัตริย์ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีประปา เลิกทาสได้อย่างนิ่มนวล มีรถไฟพร้อมญี่ปุ่น ฯลฯ ต่อเมื่อแผ่นดินอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน เปลี่ยนมือกันไปมา ก็ก้าวหน้าตามที่เห็นแล อดคิดไม่ได้ว่า ถ้ายังไม่เปลี่ยนการปกครอง ป่านนี้อาจมี 6G ใช้แล้วก็ได้...กษัตริย์ไทย บารมีพระมากพ้น รำพันโดยแท้”
 
แค่โพสต์นี้ก็ชวนให้ถกเถียงทางปรัชญาได้มากมายเลยครับ ถ้าคนในวงวิชาการปรัชญามองเห็นจริงๆ ว่า ปรัชญายังมีคุณค่าต่อสังคม นำทักษะทางปรัชญามาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนที่ถูกครอบงำ กดขี่ให้มากขึ้น ปรัชญาก็จะไม่ตาย!

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker