บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สุรพศ ทวีศักดิ์: วัฒนธรรมโปรโมทความดี

ที่มา ประชาไท



ชื่อบทความเดิม:
วัฒนธรรมโปรโมทความดี/คนดีและการหลอกตัวเองทางศีลธรรม กับปัญหาการเมืองและศาสนาในสังคมไทย

(ปรับจากบทความชื่อเดียวกัน เสนอในการสัมมนาวิชาการประจำปีของสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 วันที่ 25 ต.ค.55 ณ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร นครปฐม)
...............................

วัฒนธรรมโปรโมทความดี/คนดี หมายถึง การส่งเสริมความดี/คนดีในความหมายเชิงจารีตประเพณี โดยการปลูกฝังอบรมผ่านระบบการศึกษา กลไกรัฐ ศาสนา กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน ฯลฯ บทความนี้ต้องการสำรวจว่า วัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดีสะท้อนภาวะ “การหลอกตัวเองทางศีลธรรม” อย่างไร และส่งผลกระทบต่อปัญหาทางการเมืองและศาสนาในสังคมไทยอย่างไร

1.ศูนย์กลางของวัฒนธรรมโปรโมทความดี/คนดี คือสถาบันกษัตริย์ และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์

1.1 สถาบันกษัตริย์ถูกนิยามว่า มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทย ความรุ่งเรืองทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และเกียรติยศของชาติ พระมหากษัตริย์เป็นทั้งผู้ปกครอง และเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” จึงถูกอ้างอิงเป็น “ศูนย์กลางทางศีลธรรมแห่งรัฐ” ในความหมายสำคัญ คือ 1) เป็นผู้มีบุญคุณต่อพสกนิกร หรือเป็น “พ่อของแผ่นดิน” ที่พสกนิกรต้องกตัญญูรู้บุญคุณ 2) เป็นสมมติเทพผู้ทรงทศพิธราชธรรมที่พสกนิกรต้องจงรักภักดี 3) เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีของพสกนิกร ดังกระแสค่านิยม “ทำดีเพื่อพ่อ” และ 4) เป็นผู้สอนศีลธรรม ดังพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
แต่สถานะของสถาบันกษัตริย์ใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นั้น กษัตริย์ถูกกำหนดให้ “อยู่เหนือการเมือง” โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ในความหมายว่า พ้นไปจากการบริหารบ้านเมืองและความเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง จึงเป็นที่ “เคารพสักการะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” เพราะกษัตริย์ทำอะไรไม่ผิด (the king can do no wrong) ในความหมายว่า ไม่ได้ทรงทำอะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องการบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง เพราะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้กระทำและรับผิดชอบการกระทำนั้นๆ แทน ตามกฎหมายบัญญัติ [1]
ปัญหาคือ “อยู่เหนือการเมือง” ขอบเขตอยู่ตรงไหน การเมืองมีความหมายแคบๆ แค่การลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันเพื่อมีอำนาจรัฐเท่านั้นหรือ เรื่องอื่นๆ ที่ใช้งบประมาณของรัฐ ใช้กลไกรัฐในการขับเคลื่อน และกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเป็นการเมืองหรือไม่ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นนโยบายแห่งรัฐ โครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมาก อำนาจเหนือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งรับผิดชอบทรัพยากรแผ่น ดินมูลค่ามหาศาล ฯลฯ  เรื่องต่างๆ เหล่านี้ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะหรือ ไม่ ถ้าเป็นการเมืองและเป็นเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ก็ควรถูกวิจารณ์ตรวจสอบความสุจริต โปร่งใส ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ความรับผิดชอบ (เป็นต้น) ได้ใน “มาตรฐานเดียว” กับที่วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมือง และบุคคลสาธารณะอื่นๆ ไม่ใช่หรือ แต่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ไม่มีการจำแนกให้ชัดเจนระหว่างอะไรคือหมิ่นประมาท กับอะไรคือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะทำให้ สถานะของสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการตรวจสอบ ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบเรื่องต่างๆ เหล่านี้ (เป็นต้น) ได้เลย
1.2 พุทธศาสนาตามที่เป็นอยู่จริงในบ้านเราคือ พุทธศาสนาที่ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า “พุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” [2]  รูปธรรมของพุทธที่ว่านี้คือ “พุทธราชาชาตินิยม + พุทธพราหมณ์” หมายถึง พุทธเถรวาทไทยที่ถูกตีความสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมว่า กษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทรงทศพิธราชธรรม เป็นศาสนาที่ขึ้นต่อรัฐ โดยรัฐออกกฎหมายสถาปนาองค์กรปกครองสงฆ์ เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” ที่ขึ้นต่อระบบอาวุโสทางสมณศักดิ์ โดยระบบสมณศักดิ์ขึ้นต่อ “พระราชอำนาจ” ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับสถาบันกษัตริย์เนื่องด้วยเหตุผลเรื่องความ มั่นคงแห่งรัฐตามอุดมการณ์ "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” วัดมีบทบาทส่งเสริมความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ผ่านการเทศนาอวยคุณงาม ความดีของสถาบันกษัตริย์ และผ่านพิธีกรรมต่างๆ ในวันสำคัญของสถาบันกษัตริย์ วันสำคัญทางศาสนา และอื่นๆ
มายาคติของพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ การที่พุทธศาสนาถูกตีความสนับสนุนราชาธิปไตยมาเป็นพันๆ ปี พระสงฆ์ปัจจุบันเทศนาอวยสถาบันกษัตริย์ วัดต่างๆ ทำกิจกรรมส่งเสริมความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือการที่พระสงฆ์ต้องรับสมณศักดิ์ ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์อย่างหนึ่งโดยการสถาปนาของกษัตริย์ การบริหารคณะสงฆ์ต้องขึ้นต่ออำนาจรัฐซึ่งมีผลกระทบต่อหลักการสำคัญของพุทธ ศาสนาที่ถือว่า “สังฆะ” ไม่มีระบบชนชั้น ไม่มีฐานันดรศักดิ์ หรือไม่มีอำนาจรัฐในมือ เป็นต้น อะไรต่างๆ เหล่านี้ไม่ถูกมองว่า “พุทธศาสนายุ่งเกี่ยวการเมือง”
แต่ถ้ามีการตีความหลักการของพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย และการเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค จะถูกมองว่าดึงพุทธศาสนามายุ่งเกี่ยวการเมืองทันที อีกประการหนึ่งการอ้างทศพิธราชธรรมยกย่องเจ้า แต่ยอมรับเงื่อนไข “อยู่เหนือการตรวจสอบ” ของสถาบันกษัตริย์ ย่อมขัดแย้งกับหลักการพุทธศาสนาเอง เช่น หลักกาลามสูตรที่ถือว่า “เราจะยอมรับว่าอะไรจริง ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่ามันจริง” และตามหลักอริยสัจนั้น เราจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ จำเป็นต้องรู้ความจริงของปัญหานั้นๆ ก่อน ทว่าความจริงของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นความจริงด้านบวกหรือลบ ไม่มีทางที่ประชาชนจะ “รู้” ได้ด้วยการพิสูจน์/ตรวจสอบเลย
ฉะนั้น ศูนย์กลางของวัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดี คือสถาบันกษัตริย์และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อย่างแรกอยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ และอย่างหลังสนับสนุนค้ำจุนสถานะเหนือการตรวจสอบ จึงถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่าคือรากฐานของ “วัฒนธรรมหลอกตัวเองทางศีลธรรม” หรือไม่ และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อปัญหาทางการเมืองและศาสนาในบ้านเราอย่างไร บ้าง

2.ชุดความดีและคุณค่าของความดี/คนดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์

2.1 ชุดความดี/คนดีตามนิยามของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือตัวอย่างของ “ชุดความดี/คนดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม” ดังที่เขาได้ให้ความหมายของความดี/คนดีไว้ ว่า จง รักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละและจงรักภักดี ยึดถือ และปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำรงวัฒนธรรมไทย เป็นต้น ชุดความดีดังกล่าวผูกโยงกับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” อย่างมีนัยสำคัญ ดังที่พลเอกเปรมสรุปว่า "..ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง และจะปกป้องคนดี และสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป นั่นคือความเชื่อของผม ส่วนบุคคลอื่นจะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับจริยธรรมและคุณธรรมของแต่ละคน" [3]
จากนิยามความดี/คนดีดังกล่าวนี้ เกษียร เตชะพีระ วิจารณ์ว่า
การผูกโยง "พระสยามเทวาธิราช" อันเป็นเทพารักษ์ของราชาชาตินิยม (royal-nationalistpalladium ในหลวงรัชกาลที่4 ทรงสร้างขึ้น) เข้ากับจริยธรรม-คุณธรรม ของพลเอกเปรมข้างต้น มีนัยชวนคิดต่อ 2 ประการ คือ1) มันยกปัญหาจริยธรรม-คุณธรรมให้หลุดลอยไปจากกรอบขอบข่ายการคิด การเชื่อของปัจเจกบุคคล แล้วเอาไปผูกโยงกับชาติ กลายเป็นว่าการทำดี คิดดี มีจิตใจดี ไม่ใช่เป็นความดีระดับปัจเจกต่อไป แต่จะเกิดได้ มีได้ ก็แต่ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนราชาชาตินิยมเท่านั้น  2) มันชวนให้ตั้งคำถามว่า บรรดาจริยธรรม-คุณธรรมประดามีล้วนแล้วแต่สอดคล้องต้องกันกับผลประโยชน์ของ ชาติทั้งนั้น ทั้งสิ้นหรือ?...
พูดอีกอย่างก็คือ พลเอกเปรมเสนอให้บุคคล (ที่เป็นคนไทย) อิงพลังราชาชาตินิยมอันศักดิ์สิทธิ์ (ชาตินิยมเป็นศาสนาทางโลกชนิดหนึ่ง secular religion) มากำกับกดข่มกิเลสในตัวปัจเจกบุคคล แล้วจึงจะกลายเป็นคนดีได้...บุคคลดีด้วยตัวเองไม่ได้ หากแยกออกจากสมมุติเทพแห่งราชาชาตินิยมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ... [4]
ตามข้อวิจารณ์ของเกษียร ภายใต้ระบบการปลูกฝังชุดความดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ประชาชนเป็นคนดีไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นปัจเจกที่มีเสรีภาพในตัวเองที่จะนิยาม ความหมายของความดี และเลือกหลักการที่ถูกต้องทางจริยธรรมด้วยเหตุผลของตนเอง แต่เขาเป็นคนดีเพราะเขาทำตัวเป็น “เครื่องมือที่ดี” ตามกรอบหรือลู่ทางแห่งความกตัญญู ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองเท่านั้น ทำให้ผมนึกถึง A Clockwork Orange หรือ “คนไขลาน” ที่เป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ (แต่ไม่ใช่มนุษย์) ทำหน้าที่เพียงไขลานเพื่อให้กลไกต่างๆ ในนาฬิกาทำงานได้อย่างปกติ ไม่มีสิทธิในการเลือกใช้ชีวิตมากกว่านั้น ในบทความชื่อ “A Clockwork Orange: ความเป็นมนุษย์และการสูญสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์” ของอาทิตย์ ศรีจันทร์ เขาเขียนทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า
ถ้าสิทธิในการเลือกใช้ชีวิต คือสิทธิของมนุษย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น เพราะการเลือกเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีชีวิต มีจิตใจ มีเจตจำนง และมีเสรีภาพ เมื่อมนุษย์ไม่สามารถเลือกอะไรได้ในชีวิต มนุษย์จะเรียกตัวเองว่ามนุษย์ได้อย่างไร หรือแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานและสิ่งไร้ชีวิตได้อย่างไร หรือเป็นได้แค่เพียง “คนไขลาน” ที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตนเอง โดยปราศจากอารมณ์และความรู้สึก...กระนั้นหรือ? [5]
ตามการปลูกฝังชุดความดีข้างต้น ประชาชนคือ “คนไขลาน” ให้นาฬิกาแห่งอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเดินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่ใช่ “เสรีชน” หรือ “คน” ที่มีเหตุผล เสรีภาพและศักดิ์ศรีในตัวเองตามความหมายของการเป็นประชาชน หรือเป็นคนตาม Concept ของประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนดังที่เราหลอกตนเองว่าสังคมเรายึดหลัก เสรีภาพ ความเสมอภาค ตามระบอบประชาธิปไตย และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด
2.2 ชุดความดีทางศาสนาที่สนับสนุนความดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาติ นิยม+สุขนิยมส่วนตัว (individual hedonism/egoism) เป็นชุดความดีที่โปรฯความดี/คนดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ มี “ตราประทับความจงรักภักดี” มากกว่าที่จะสนับสนุนความดีที่วางอยู่บนรากฐานทางจริยศาสตร์ที่สนับสนุน “ความเป็นมนุษย์” ที่เสรีภาพ เสมอภาคตามหลักประชาธิปไตย ดังเช่น คำเทศนาพระสงฆ์ทั่วไปและพระที่มีชื่อเสียงแห่งยุคอย่าง ว.วชิรเมธี
อาตมาเพิ่งกลับจากยุโรปเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ฝรั่งที่มานั่งกรรมฐานกับอาตมาบอกว่า...ในหลวงของคนไทยเป็นผู้นำทางจิต วิญญาณที่ฝรั่งอิจฉา ฝรั่งเขารู้ว่าในหลวงเป็นพระราชาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก การที่เรามีพระมหากษัตริย์ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายของประเทศด้อยพัฒนา แต่เป็นเครื่องหมายของความเป็นอารยประเทศที่มีสดมภ์หลักในทางจิตวิญญาณ ต่างชาติเขามีเพียงเสรีภาพเป็นที่พึ่ง ในขณะที่เรามีพระองค์ท่านเป็นประจักษ์พยานที่มีชีวิตชีวา แล้วเราตระหนักในคุณค่าแห่งคำสอนของพระองค์หรือเปล่า? คนไทยนั้นแปลก เรามีของดีที่สุดอยู่ในแผ่นดินแต่ต้องรอให้ฝรั่งเขามายกย่อง เราจึงจะเห็นคุณค่า ประการแรก เพราะเราตกเป็นอาณานิคมทางปัญญาของฝรั่ง ประการต่อมา เพราะเราคิดน้อย เราไม่ชอบคิดในเชิงวิเคราะห์ แต่เราชอบสะเดาะเคราะห์  [6]
ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการอ้างอิงหลักพุทธศาสนาเพื่อขจัดฝ่ายที่ถูกล่าวหาว่าเป็นศัตรูของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดังวาทะอันลือลั่นของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ในช่วงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 ที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” [7] หรือในยุคสมัยของเรา ก็คือวาทะอันโด่งดังของพระเซเลบอย่าง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ที่ว่า “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ดังที่ทราบกันทั่วไป เป็นต้น

3.การหลอกตัวเองทางศีลธรรม

การหลอกตัวเองคืออะไร ข้อโต้แย้งของฌอง ปอล ซาร์ต ข้างล่างนี้บอกเราได้ชัดเจนดี
ผมในฐานะผู้หลอกลวง ต้องรู้ความจริงที่ตัวเองปิดบังไว้จากตัวผมเองในฐานะผู้ถูกหลอกลวง และที่ดียิ่งกว่านั้นอีกคือ ผมต้องรู้ความจริงนั้นอย่างถ่องแท้ด้วย เพื่อที่จะปิดบังมันไว้อย่างรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในสองช่วงขณะที่ห่างจากกันพอที่จะทำให้เราคิด ถึงอะไรบางอย่างที่คล้ายกับทวิลักษณ์ได้ แต่มันอยู่ในโครงสร้างเพียงหนึ่งเดียวของกิจกรรมเดียวกันนั้น [8]
มีปรากฏการณ์ในโซเชียลมีเดียที่ถูกตั้งคำถามว่า เป็นการหลอกตัวเองทางศีลธรรมหรือไม่ เช่นข้อโต้แย้ง (arguments) เรื่อง “freedom of speech” ของบรรดาคนรักเจ้า [9] ที่อ้างว่า พวกเขาย่อมมีเสรีภาพที่จะรัก มีเสรีภาพที่จะพูดสรรเสริญคุณความดีของสถาบันกษัตริย์ แต่ปัญหาคือ ข้อโต้แย้งนี้เป็นข้อโต้แย้งที่มีฉากหลัง (background) หลักๆ 2 อย่างคือ 1) เป็นข้อโต้แย้งต่อฝ่ายที่เรียกร้องให้มีระบบกฎหมายเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้ จึงเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่แฟร์ในตัวของมันเอง เพราะการยืนยันเสรีภาพที่จะพูดถึงความดีงามของสถาบันกษัตริย์เพื่อโต้อีก ฝ่ายที่เขาไม่มีเสรีภาพที่จะพูดด้านตรงข้ามได้ 2) “freedom of speech” ที่ยืนยันนั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ “freedom of speech” เลย เพราะฝ่ายที่ยืนยันนั้นเอง ก็ไม่มีเสรีภาพในการเลือกที่จะพูดด้านตรงกันข้ามกับการสรรเสริญ ฉะนั้น “freedom of speech” ของบรรดาคนรักเจ้าจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการหลอกตัวเอง คือพวกเขารู้อยู่ก่อนแล้วว่าตนเองไม่มี “freedom of speech” เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะกฎหมายไม่เปิดให้ แต่ก็ยังพยายามจะยืนยันว่าตนมี
ประเด็นคือ “freedom of speech” เป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่แสดงคุณค่า “ความเป็นมนุษย์” ที่สำคัญยิ่งตามหลักสิทธิมนุษยชน ดังปรากฏในตอนต้นของคำปรารภและข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองไว้ว่า การดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (freedom of speech) คือปณิธานสูงสุดของสามัญชน และ “บุคคลมีสิทธิ เสรีภาพในความคิดเห็น และการแสดงออก สิทธิดังกล่าวนี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรก แซง ไปจนถึงการแสวงหา รับเอา ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูล และความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ โดยปราศจากพรมแดน” [10] ฉะนั้น ทั้งที่รู้อยู่ก่อนแล้วว่าตนเองไม่มี “freedom of speech” เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพราะกฎหมายไม่เปิดให้ แต่ก็ยังพยายามยืนยันว่าตนมี จึงเป็น “การหลอกตัวเองทางศีลธรรม” ในระดับพื้นฐานเลยทีเดียว
เราจะเข้าใจปัญหานี้ชัดขึ้นจากคำอธิบายของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ ต่อคำถามที่ว่าทำไมเราจึงควรคิดว่า การเคารพในอิสรภาพส่วนบุคคล และสิทธิที่จะคิดต่างจะสร้างสวัสดิการแก่สังคมได้ในระยะยาว? มิลล์ให้เหตุผลว่า
ความเห็นต่างอาจปรากฏว่าเป็นความจริง หรือมีส่วนจริง ดังนั้น จึงช่วยปรับปรุงแก้ไขความเห็นกระแสหลักได้ และต่อให้มันไม่เป็นจริง การนำความเห็นกระแสหลักมาสู่การปะทะสังสรรค์ทางความคิดจะช่วยป้องกันไม่ให้ มันแข็งตัวเป็นลัทธิกดขี่และอคติ สุดท้าย สังคมที่บังคับสมาชิกให้ทำตามธรรมเนียมและจารีตต่างๆ สุ่มเสี่ยงว่าจะตกอยู่ในภาวะทำตามๆ กันไปอย่างโง่เขลา ขาดพลัง และความมีชีวิตชีวาซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม [11]
ฉะนั้น วัฒนธรรมโปรฯความดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและพุทธมรดก สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็น “วัฒนธรรมหลอกตัวเองทางศีลธรรม” ที่ทำให้สังคมมีค่านิยมไม่ให้ความสำคัญกับความจริง ความถูกต้องที่ตรวจสอบได้ตามหลักการประชาธิปไตย และความมีเหตุเป็นวิทยาศาสตร์ กระทั่งยอมละทิ้งหลักการพุทธแบบดั้งเดิม เช่น ไม่ให้ความสำคัญกับการปรับใช้หลักกาลามสูตร และหลักอริยสัจในการตรวจสอบความจริง หรือ “ทุกขสัจจะ” ทางสังคมการเมืองเป็นต้น

4.การท้าทายโต้แย้งชุดความดี/คนดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากจุดยืนเสรีประชาธิปไตย

พร้อมๆ กับการโปรฯความดี/คนดีดังกล่าวอย่างเข้มข้น ก็เกิดการท้าทายมากขึ้น ดังการท้าทายอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” อย่างถึงรากของมุกหอม วงศ์เทศ บนจุดยืนการปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” ตามอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยที่ว่า “เมืองไทย เป็นประเทศที่เต็มใจอยู่กับความฝันแบบแฟนตาซี เทพนิยายโกหก แบบเด็กไม่ยอมโต ทาสที่ปล่อยไม่ยอมไป หลอกทั้งตัวเอง หลอกทั้งคนอื่น แถมยังคิดว่าคนอื่นต้องเชื่อเรื่องโกหกแบบเราด้วย อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นอุดมการณ์ที่ทำลายความเป็นมนุษย์มากๆ ส่วนที่ทำลายมากที่สุดคือการใช้ปัญญาและเหตุผล” [12]
ขณะเดียวกันการโปรฯความดี/คนดีของพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบพระเซเล็บ ก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ดังข้อวิจารณ์ของ วิจักขณ์ พานิช
ตราบใดที่การสื่อสารธรรมะทางเดียวยังคง ดำเนินต่อไปในลักษณะเพิกเฉยต่อบริบทความทุกข์ที่หลากหลายของผู้คนในสังคม อีกทั้งโครงสร้างพุทธศาสนาแบบไทยๆ ยังวางตัวอิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐด้วยภาพลักษณ์วาทกรรม “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” จนบ่อยครั้งกลายเป็นอำนาจมืดที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้  คำคมอย่าง “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” หรือความคิดเห็นแปลกๆ ที่ขาดการเข้าใจบริบททางสังคมอย่างรอบคอบ ก็จะยังคงปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ เรื่อยไป  และแน่นอนว่าคำสอนเหล่านั้น เมื่อปรากฏต่อสาธารณชน ย่อมหนีไม่พ้นการถูกโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์  ส่วนการพยายามอธิบายเหตุผลที่มาของข้อความเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการยก สถานะอันเป็นที่สักการะของพระสงฆ์ หรือความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากการเมืองของคำสอน ก็ยิ่งจะแสดงถึงอวิชชา ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอันซับซ้อน และการพยายามปัดความรับผิดชอบที่ข้อความอันมักง่ายเหล่านั้นมีผลกระทบต่อคน เล็กคนน้อยในทางสังคม...ปฏิกิริยาทั้งหมดยิ่งสะท้อนถึงแนวโน้มเผด็จการ “อำนาจนิยม” ของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการร่วมรักษาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันใน สังคมประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไว้โดยรู้ตัวก็ดีหรือไม่รู้ตัวก็ดี  [13]
กระทั่งเสนอให้ “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” โดยให้แปรรูปองค์กรทางศาสนาอยู่ในรูปองค์กรเอกชนทั้งหมด โดยที่รัฐไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง ยกเว้นว่าการดำเนินกิจการทางศาสนาจะเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองในสังคม ประชาธิปไตย [14]

5. ผลกระทบต่อปัญหาทางการเมืองและศาสนา

วัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังที่อภิปรายมา ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญตามมา เช่น
5.1 การปลูกฝังชุดความดีดังกล่าวนั้น ด้วยการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว ผ่านระบบการศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรศาสนา กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม สื่อมวลชน ฯลฯ ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยเบลอๆ (มีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบสังคมการเมืองให้ เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้ แม้แต่จะแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 ตามข้อเสนอของนักวิชาการและประชาชนก็ทำไม่ได้ เพราะเกรงกลัวกองทัพและอำนาจนอกระบบ) มีเสรีภาพเบลอๆ (คือเสรีภาพที่ถูกจำกัดด้วย ม.112 ไม่ใช่เสรีภาพสมบูรณ์ตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน) มีความยุติธรรมเบลอๆ เพราะไม่มีความเสมอภาค (ใช้สองมาตรฐานในการวิจารณ์ตรวจสอบ เรียกร้องความรับผิดชอบทางกฎหมาย และศีลธรรมกับบุคคลสาธารณะ) เป็นพุทธเบลอๆ ที่สนับสนุนศีลธรรมเครื่องมือเพื่อครอบงำประชาชนให้กลายเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” ค้ำจุนสถานะ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง
5.2 เพราะความเป็นประชาธิปไตยเบลอๆ เป็นพุทธเบลอๆ สังคมเราจึงมีการอ้างสถาบันกษัตริย์ อ้างศีลธรรมทางศาสนาต่อสู้ทางการเมือง แบ่งแยกคนในชาติเป็นฝ่ายคนดีที่มีตราประทับ “ความจงรักภักดี” กับฝ่ายคนเลวที่มีตราประทับ “ความไม่จงรักภักดี” และจบลงด้วยรัฐประหาร การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนบาดเจ็บล้มตายซ้ำซาก จนกระทั่งบัดนี้สังคมยังไม่สามารถอ้างอิงหลักการประชาธิปไตยในการแยกแยะ ถูก-ผิดทางการเมืองได้อย่างมีวุฒิภาวะ เพราะรากฐานทางจริยศาสตร์แห่งวัฒนธรรมโปรฯความดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นจริยศาสตร์แห่ง “การหลอกตัวเองทางศีลธรรม” ที่มีผลให้วิธีคิดและการตัดสินถูก-ผิดทางศีลธรรมของสังคมเบลอๆ อยู่กับสภาพกึ่งจริงกึ่งเท็จ จึงเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาสัจจะ การถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าอะไรคือหลักการ อุดมการณ์ที่ถูกต้องที่สังคมควรยึดถือร่วมกัน
5.3 สังคมติดกับดักของ “ศีลธรรมทางการเมืองตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม” การที่สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดี ทำให้ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย แทนที่สังคมจะส่งเสริม “ความรัก” ในเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ แต่กลับเน้นการส่งเสริมความรักสถาบันกษัตริย์ในฐานะ “ตัวบุคคล” มากว่า จนกลายเป็นกับดักปัญหาทางศีลธรรมตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเรื่อง “ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี” อันเป็นเหตุให้สถาบันกษัตริย์ดำรงสถานะ อำนาจ บทบาทที่ถูกอ้างอิงในการต่อสู้ทางการเมือง และการทำรัฐประหารได้ไม่สิ้นสุด
5.4 ความดีทางศาสนาถูกทำให้เป็น “ยากล่อมประสาท” มอมเมาผู้คนให้ตกอยู่ในสภาพเบลอทางศีลธรรมที่คลุมเครือในเรื่องจริง-เท็จ ถูก-ผิด คนดีทางศาสนากลายเป็นคนแปลกแยกจากสังคม หมกมุ่นกับความทุกข์ ความสุขส่วนตัว มองปัญหาสังคมการเมืองเป็นเรื่องทางโลก วุ่นวาย เป็นเรื่องของกิเลสตัณหา ไม่ใช่ความดี เพราะความดีคือการทำบุญ ศีล ทาน ตามคำสอนของพุทธศาสนา เป็นความดีที่มีอานิสงส์ดลบันดาลให้เกิดสุขทั้งในโลกนี้ โลกหน้า ความดีดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรม การปกป้องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ประกอบกับโครงสร้างอำนาจของสังคมสงฆ์ที่ขึ้นต่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยม บทบาทขององค์กรทางศาสนาจึงอยู่ข้างชนชั้นปกครองมากกว่าจะยึดโยงกับประชาชน และประชาธิปไตย
5.5 เกิดกระแสท้าทายโต้แย้งวัฒนธรรมโปรฯความดีเชิงบรรทัดฐานตามอุดมการณ์ราชา ชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บนจุดยืนเสรีประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น กระแสต่อต้านรัฐประหารโดยคนดีมีคุณธรรม การเรียกร้องให้แก้ไขยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯมาตรา 112 การปฏิรูปกองทัพ สถาบันกษัตริย์ การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองโดยอ้างธรรมะอ้าง ศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม การเรียกร้อง “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” หรือรัฐฆราวาส (secular state) ที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา การแปรรูปองค์กรศาสนาให้เป็นกิจกรรมของเอกชนโดยสิ้นเชิง เป็นต้น

บทสรุป : เราไม่ใช่ “มนุษย์เครื่องมือ” อีกต่อไป (?)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดีตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์นับวันจะถูกท้าทายโต้แย้งด้วยหลักการ เหตุผล บนจุดยืนของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยมากขึ้นๆ สังคมเราไม่อาจอยู่กับความจริงที่ว่า “เราถูกปลูกฝังให้หลอกตัวเองทางศีลธรรม” เช่นนี้ตลอดไป เราผู้ซึ่งเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพจะเลือกชีวิตทางสังคมการเมืองที่ดีกว่า เป็นอารยะกว่า ไม่สมควรจะ “ถูกกด” ถูกมอมเมาให้กลายเป็นเพียง “มนุษย์เครื่องมือ” หรือ “คนไขลาน” อีกต่อไป
กลิ่นไอของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพ มีคุณค่ามีศักดิ์ศรีในตัวเองในโลกปัจจุบันและอนาคต ดูจะมีเสน่ห์ยั่วยวนชวนปรารถนาเกินกว่ามนต์สะกดแห่งอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะตรึงผู้คนให้ติดอยู่กับความไม่มีเหตุผลของศีลธรรมหลอกตัวเองอีกต่อไป
คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า สังคมจะเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมโปรฯความดี/คนดีบนฐานศีลธรรมหลอกตัวเอง ไปสู่การสร้างระบบสังคมการเมืองที่ยุติธรรมบนฐานของศีลธรรมเหตุผลเป็นสากล คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพอย่างสันติได้อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปอย่างสันติได้เลย หากสังคมไม่สามารถถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างเป็นสาธารณะ และอย่างถึงที่สุด เพื่อหา “ฉันทามติ” ร่วมกันว่า ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่ภายใต้หลัก เสรีภาพ และความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศ
เชิงอรรถ
  1. “ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่มี the king ที่ can do wrong เพราะในระบอบประชาธิปไตย มีแต่ the king ที่ can do nothing เนื่องจากผู้รับสนองพระบรมราชโองการต่างหากที่เป็นผู้กระทำและผู้รับผิดชอบ” ดู ปิยบุตร แสงกนกกุล “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้คืออะไร?” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2555) หน้า 49
  2. ดู ธงชัย วินิจจะกูล. มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน. http://prachatai.com/journal/2011/05/34433
  3. มติชน 3 เม.ย.55 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333427789
  4. เกษียร เตชะพีระ เรื่องจริยธรรม-คุณธรรม ชาตินิยมและพระสยามเทวาธิราช. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333553868...
  5. อาทิตย์ ศรีจันทร์. A Clockwork Orange: ความเป็นมนุษย์และการสูญสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์. อ่าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม 2554-มีนาคม 2555) หน้า 187
  6. LIPS ปักษ์หลัง ธันวาคม 2552, หน้า 87
  7. จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 (29 มิถุนายน 2519)
  8. แบล็กเบิร์น, ไซมอน.อ้างแล้ว, หน้า 103
  9. ปัญหา freedom of speech เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และ ม.112 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิเคราะห์ไว้หลายที่ เช่น http://www.youtube.com/watch?v=ifr8jolc5F8 เขากล่าวว่าปัจจุบันเสรีภาพวิจารณ์สถาบันกษัตริย์แย่กว่าสมัย ร.6 ร.7
  10. ดูอาทิตย์ พุธิพงษ์. เรื่องของอากง: Freedom of Speech และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม. http://www.prachatai.com/journal/2011/12/38254
  11. อ้างใน  Sandel, Michael J. ความยุติธรรม= What’s the Right Thing to Do?. แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล.กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส, 2554 หน้า 71-72
  12. อ้างใน วรพจนน์ พันธุ์พงศ์/ธิติ มีแต้ม.ความมืดกลางแสงแดด.(กรุงเทพฯ: หอนาฬิกา 2555), หน้า 236
  13. วิจักขณ์ พานิช “ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย http://blogazine.in.th/blogs/budddhistcitizen/post/3465
  14. ดูเก่งกิจ กิติเรียงลาภ. ปัญหาธรรมกาย-พระไพศาล-มหาเถรสมาคม-สุรพศ และบททดลองเสนอเกี่ยวกับสถานะของสถาบันศาสนาในสังคมไทย. http://www.prachatai.com/journal/2012/08/42403  และสุรพศ ทวีศักดิ์.ปัญหาการอ้าง “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” กับ “ความชอบธรรม” ในการดำเนินการทางพระธรรมวินัย http://prachatai.com/journal/2012/09/42410

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker