บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ธเนศวร์ เจริญเมือง: แรงเงา – แรงซ้ำรอยเดิมๆ

ที่มา ประชาไท



เพราะมีคนบอกว่า ละครทีวีเรื่อง แรงเงา สนุกมาก  ผมก็เลยไปหาซื้อนิยายเล่มละ 25 บาทมาอ่าน เพราะไม่มีเวลานั่งดูนานๆ (เหตุผลหนึ่งคือ เพราะโฆษณามากไป)  แต่ก็หาซื้อไม่ได้ ไปร้านไหน ก็ขายหมดเกลี้ยง  แสดงว่าของเขาแรงจริงๆ    วันนี้ มีคนใจดีไปหานิยายเล่มนั้นมาให้ผมแล้วครับ แต่อยู่ไกลกัน ยังไม่ได้ไปเอามาอ่านเลย
แต่หลายวันมานี้  เท่าที่ฟังคนรอบๆ แล้วก็เปิดดูกูเกิ้ล อ่านเรื่องย่อ  และวันนี้ มีตัวแทนมูลนิธิหญิงไทยก้าวไกล ออกมาวิจารณ์ละครทีวีเรื่องนี้ว่าเน้นความรุนแรง เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม  ผมคิดว่ามีประเด็นอยู่ 4-5 เรื่องที่น่าสนใจ
1. เรืองนี้นำนิยายมาทำหนังและละครทีวีแล้วถึง 4 ครั้ง  ครั้งแรก ทำเป็นหนังปี 2529 ครั้งที่ 2 ทำเป็นละครทีวี ปี 2531 ครั้งที่ 3 ปี 2544 ก็ทำเป็นละครทีวี และครั้งล่าสุดคือขณะนี้ก็ทำเป็นละครทีวี การเอามาเล่นบ่อยๆสะท้อนได้หลายแง่ คือ คนจัดเห็นทางหาเงินทำกำไร เพราะคนดูชอบ ก็เลยจัดทำใหม่ แต่ก็จะเห็นว่าเมืองนอก ถ้าเรื่องไหนดี สมมุติ Les Miserables (ที่ยิ่งใหญ่มากและสิงคโปร์เคยนำมาแสดงแล้วหลายปีก่อน) เป็นละครเพลงบนเวที เหมือนละครทีวีเรื่องเรยา หรือปริศนาของเรา ก็คือชุดนั้นเล่นกันทุกคืน เล่นเป็นปีๆๆๆ นับสิบปีเลย เพราะคนดูทั่วโลกชอบมาก  เป็นละครเพลงที่สุดยอดแห่งความบันเทิงและให้สาระแก่ผู้ชม   แต่ของเราที่นำมาเล่นบ่อยๆ  กลับเป็นความฟุ่มเฟือย เพราะเอาดาราดังยุคปัจจุบันไปเล่น  ใช้เนื้อหาเก่าๆ  เรื่องที่ว่านี้ก็คือเรื่องการตบตีกัน เพราะเรื่องผู้ชาย  เกิดแรงแค้น ก็แก้แค้นกัน  แถมด้วยบาปกรรมที่พ่อแม่ก่อไปส่งผลถึงลูก
2. ที่จริง  นิยายเป็นเรื่องแต่ง  เรื่องที่แต่งก็ย่อมสะท้อนสังคมยุคนั้นๆ   แต่ถ้าเอานิยายอายุ 20-30 ปีมาเล่น แถมยังเป็นนิยายออกไปทางน้ำเน่านี่  ต้องแสดงละครับว่า  ในโลกที่เปลี่ยนไปมากมายนั้น  ทำไม่กรอบความคิดที่ล้าหลังทำไมยังมีการนำมาแสดงซ้ำ  ทำไมถึงไม่มีการปรับปรุงแก้ไข  และท่ำคัญกว่ามากก็คือ ทำไมนิยายใหม่ๆ  ทันสมัย และสะท้อนสังคมได้ดีนั้น ไม่มีหรืออย่างไร  หรือว่าคนทำละคร ยังมีความคิดแบบเก่าๆ  คิดว่าทำอย่างไรก็ทำเงินแน่นอน  แล้วคิดบ้างไหมว่า ละครเหล่านี้ให้อะไรแก่สังคม
3. เนื้อหาของนิยายเรื่องนี้แรง ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจึงได้รับความนิยมมาก เพราะแรงได้ใจ และต่อสู้กัน เอาชนะคะคานกันเม็ดต่อเม็ด  แต่โปรดสังเกตว่าละครเรื่องนี้ ผู้ชายเป็นข้าราชการระดับ ผอ. มีครอบครัวแล้ว แต่ไปรังแกข้าราชการสาวชั้นผู้น้อย ผู้อ่อนต่อโลก แทนที่เมียหลวงจะจัดการให้เหมาะสม กลับไปทำร้ายสาวน้อย   จนกระทั่ง คู่แฝดของสาวน้อยตามมาล้างแค้น ผู้เขียนทำให้ครอบครัวคือลูกๆ เมียหลวงต้องเผชิญบาปกรรม ได้รับความเดือดร้อน   คำถามมีว่า  แล้วผู้ชายที่เป็นข้าราชการระดับสูง  มีคนอยู่ใต้บังคับบัญชามากมาย  ทำไมจึงไม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง  เหตุใด ไม่มีข้าราชการระดับล่างคนไหนคิดฟ้องร้องกล่าวโทษ  กลายเป็นว่านิยายเรื่องนี้เน้นแรงแค้นของหญิงสาวคนหนึ่ง  ให้ผู้หญิงหันไปต่อสู้กัน  เชือดเฉือนกันต่อเนื่อง   แน่นอนครับ  นี่เป็นการเปิดโปงสังคมแบบหนึ่ง  แต่การเปิดโปงสังคมเช่นนี้  ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุแต่ประการใด  เพราะข้าราชการฝ่ายชายที่ก่อเรื่องกลับลอยนวล
4.  การที่พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบไม่เข้าใจลูก  ไม่ยอมรับว่าคนเราแต่ละคนมีอุปนิสัย บุคลิกที่แตกต่างกัน  แต่ละคนต่างมีดีของตนเอง  แต่ละคนล้วนต้องการความรัก ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจและกำลังใจ  กลับเรียกร้องคนหนึ่งให้เหมือนอีกคนหนึ่ง  พูดจาไม่ดีกับลูก ว่าให้ลูกเสียใจ  มองไม่เห็นสองด้านของชีวิต  บังคับให้ลูกต้องสูญเสียบุคลิกของตัวเองไป  ทำให้ลูกๆขัดแย้งกันอย่างรุนแรง  ที่สำคัญ  ทำให้ลูกท้อแท้หมดกำลังใจ จนนำไปสู่การคิดสั้น เป็นบทเรียนที่ดีมากๆ ต่อทุกๆคน ที่เป็นพ่อแม่  และญาติ
4. ทัศนะของผู้เขียนนิยายเรื่องแรงเงาในปี พศ. 2529  เก่าไป เอาหญิงมาทำร้ายหญิง ละเว้นไม่เอาผิดกับผู้ชายตัวการ   นี่ก็คือ การที่ผู้เขียนตกเป็นทาสของสังคมชายเป็นใหญ่  ยิ่งการหันไปโยน บาปกรรมให้แก่ลูก  ยิ่งเป็นการแก้ไขปัญหาผิดจุด  ลูกๆไม่ควรได้รับผลอะไรแบบนี้
5. คนไทยที่ดูแรงเงา ควรไปหาละครทีวี (ซีรีย์) เกาหลีใต้เรื่อง “ฮวาง จินยี” ที่เป็นสาวคณิการะดับสูง แล้วก็ถูกชนชั้นสูงทำร้าย ทำลาย จนคนรักต้องตายจากไป จากนั้น เธอจึงลุกขึ้นสู้ แต่ไม่ใช่ล้างแค้น แต่เป็นการสู้กับระบบศักดินา เปิดโปงความชั่วร้ายที่ขุนนางหลายคนได้กดขี่ข่มเหงเธอ
6. ผมเห็นว่าคนไทยเวลานี้  พร้อมที่จะดูหนังดีๆ  สังเกตจากหนังเกาหลีดีๆมาไทย  คนนั่งเฝ้าจอมากมายทั่วประเทศทุกเสาร์อาทิตย์ค่ำ   พล็อตเรื่องแรงเงา แรงเหมือนละครเกาหลี  ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีคนพูดถึง ติดตามเฝ้าชมละครเรื่องนี้  และหนังสือก็ขายดีมาก  แต่เสียดายครับ  เอานิยายมาแสดงใหม่   ก็ควรนำเนื้อเรื่องมาปรับปรุงให้ทันสมัย และเสนอปัญหาสังคมให้เข้มกว่านี้ได้    เพราะความผิดที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาการกดขี่ทางเพศ  ปัญหาชายกดขี่หญิง จะต้องแก้ไขให้ตรงจุด  ไม่ใช่ให้ผู้หญิงมาต่อสู้แย่งชิงกันเพื่อผู้ชาย หรือเพื่อความสะใจ  เพราะตราบใด  ผู้หญิงไม่เข้มแข็ง  กล้าเปิดเปิงการกดขี่ของชาย  ชายก็จะทำความผิดอยู่ร่ำไป
7.  ที่มีคนออกมาบอกว่าการนำเสนอละครที่ไม่ดีจะเป็นแบบอย่างให้คนดู เป็นแบบอย่างแก่เยาวชน  ผมก็ว่าทุกอย่าง ก็มีการจัดหมวดหมู่ อายุเท่าใดควรดูหนังละครประเภทใดอยู่แล้ว   และที่สำคัญ ในสังคมประชาธิปไตย  ละคร นิยาย และการแสดงทุกอย่างก็ต้องมีอภิปรายกัน ต้องมีเวทีถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ให้กว้างขวาง   วิทยุ ทีวีควรมีรายการวิพากษ์วิจารณ์ เปิดมุมมองต่างๆให้คนได้ฟัง และแลกเปลี่ยนความเห็นกันให้มากๆ  ระบบการศึกษาต้องมีเวที มีวิชาที่ให้ครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษานำมาถกเถียงกันได้  เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ   โลกของเรา  ทุกอย่างมีด้านดีและ ด้านลบทั้งนั้นครับ   ถ้าจะผิด  ก็เพราะว่า ดูแล้ว แสดงแล้ว  ออกอากาศแล้ว  แต่กลับไม่มีความเห็นใดๆ  ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์  อย่างนี้ไม่ได้ครับ  บันเทิงและการวิจารณ์ต้องควบคู่กันตลอดในทุกๆสังคมครับ
 8.  นิยาย-ละคร และงานประพันธ์ที่จะมีคนอ่านมาก มีคนติดตามมากๆ ล้วนต้องมีอะไรแรงๆทั้งนั้นเป็นธรรมดาครับ  ถ้ามันไม่แรง ไม่แปลก ไม่เศร้าสุดๆ ไม่ชวนตื่นเต้น ขนหัวลุก หรือหวาดเสียว ฯลฯแล้วมันจะไปน่าสนใจได้อย่างไรเล่าสำหรับคนส่วนใหญ่  ใช่ไหมครับ ดูนิยายเกาหลีแต่ละเรื่อง เข้มข้นและแรงๆ ทั้งนั้น  แต่ที่สำคัญกว่านั้น ที่นิยายเกาหลียอดเยี่ยมคืออะไรเล่า  ก็คือ  เขามีแง่คิดดีๆ ให้กับสังคมต่างหาก  เช่น 1. เกิดเป็นคนต้องมุ่งมั่น ต้องทำงานหนัก ต้องต่อสู้ ต้องไม่กลัวความยากลำบาก ไม่ยอมแพ้โชคชะตา  แต่ละคร-นิยายเราส่วนใหญ่ไม่ใช่   มีแต่เรื่องของคนรวยๆ ทุกเรื่อง ไม่ทำมาหากินเลย แทบไม่มีเรื่องสู้ชีวิตเลย  มีแต่แย่งแฟนกัน หรือแย่งมรดกกัน  2. ยกย่องสตรีให้กล้าต่อสู้ กล้าเผชิญปัญหา และมองเห็นระบบที่เอาเปรียบ ของเราเห็นมีแต่ เขียนบทให้พระเอกปล้ำนางเอก แล้วภายหลัง ก็แต่งงานกัน ก็ทำไมไม่เขียนบทให้นางเอกสู้ล่ะ ฟ้องพระเอก ให้ติดคุกเล่า 3. เน้นคุณค่าสำคัญๆ เช่น รักท้องถิ่น  รักครอบครัว ความรักสายใยในระหว่างคนรัก  ญาติ  เพื่อน พ่อแม่ลูก  ต่อต้านอำนาจเถื่อน  เปิดโปงการเล่นพวก  คอรัปชั่น  เปิดโปงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 
เคยดูหนังเกาหลี เรื่อง กิมจิ ไหมครับ  เน้นทั้งท้องถิ่น สายใยครอบครัว  การมุ่งมั่นทำสิ่งดีให้ออกมาดีที่สุด  ฯลฯ  หรือเรื่อง คนล่าทาส ที่เปิดเผยความรักที่ยิ่งใหญ่  รักที่มีแต่ให้  รักที่ยอมเสียสละ 
ความจริง ถ้าเรามีนิยายดีๆ ละครทีวีดีๆ เปิดโปงสังคมไทยได้ จ่ะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในสังคมไทยมากมาย   และเชื่อว่าคนไทยจะได้ประโยชน์มาก จากการอ่านนิยาย  การดูละครทีวีที่มีสาระต่อสังคม  สังคมของเรายังไม่เห็นความสำคัญของงานบันเทิงว่าเป็นการศึกษาที่ดีมากๆ  มีประโยชน์มากต่อผู้ชม   เราเห็นการบันเทิงเป็นเพียงธุรกิจหารายได้  และผู้สร้างหลายคนคิดแต่จะหากำไรจากคนดู  แต่ไม่เคยคิดว่าจะให้อะไรที่มีคุณค่าแก่คนดู   งานบันเทิงที่ดีคือการให้การศึกษาที่ดีมากๆ  เราควรจะเป็นหนึ่งในอุษาคเนย์แห่งนี้  ให้บันเทิงและสาระแก่ผู้ชมในภูมิภาคนี้  ไม่ใช่ให้หนังจีนหนังเกาหลี-ญี่ปุ่นมาครองตลาดในภูมิภาคนี้   แต่ผมว่าทั้งคนสร้างละคร-นิยาย-หนังในบ้านเราต้องศึกษาเรื่องดีๆจากประเทศ อื่นให้มากๆครับ และปรับปรุงงานให้มีคุณภาพกว่านี้  ไม่ใช่เห็นแก่เงินหรือรายได้อย่างเดียว  แล้วก็อ้างเหตุผลแบบน้ำเน่าว่าคนไทยชอบแบบนั้น  จึงต้องทำตามใจคนดู   ผมว่าคนสร้างหนัง สร้างละคร และเขียนนิยายจะต้องคิดใหม่  จะต้องกล้านำสังคมครับ   ไม่ใช่เดินตามสังคม  หรือคิดแต่จะหาประโยชน์จากสังคม  ด้วยการมอมเมาสังคมให้จมอยู่กับที่เดิม.     ถ้านิยายน้ำเน่า 30 ปีมาแล้ว ยังแสดงโดยใช้เนื้อหาเดิมๆ  ไม่มีการดัดแปลง ปรับปรุง  ผมว่าลำบากครับ   สังคมนี้.

26 ตุลาคม 2555

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker