บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"สมภพ"วิพากษ์แก้ปัญหาหนี้นอกแบบ"อัฐยายซื้อขนมยาย" อย่าหลงตัวเลข"จีพีดี"พุ่ง10%..

ที่มา มติชน

"สมภพ"วิพากษ์แก้ปัญหาหนี้นอกแบบ"อัฐยายซื้อขนมยาย"
อย่าหลงตัวเลข"จีพีดี"พุ่ง10%คิดตัวเลขสุทธิแค่4%


ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ร่วมพูดคุยในรายการ
ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ทางสถานีวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 100.5 อสมท.ถึงกรณี
นโยบายการแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


นักเศรษฐศาสตร์มหภาคผู้นี้ กล่าวว่า หลักการแก้หนี้นอกระบบให้มาเป็นหนี้ในระบบ
ขึ้นอยู่กับว่าหนี้นอกระบบคืออะไร หนี้ในระบบคืออะไร และไปแก้อย่างไร
ต้องยอมรับว่าหนี้นอกระบบมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น สาเหตุหนึ่งคือ
การที่คนด้อยโอกาสจำนวนมาก ไม่ค่อยมีโอกาสเข้าถึงหนี้ในระบบ เช่น
สถานบันการเงิน การระดมเงินจากตลาดเงินตลาดทุน ฉะนั้น
เมื่อไม่มีโอกาสกู้เงินในระบบก็ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบไปเสียดอกเบี้ยแพง
และต้องดูต่อไปด้วยว่าผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้กู้หนี้นอกระบบนำเงินไปทำอะไร
บางรายทำมาหากินจุนเจือครอบครัว
บางรายตกกระไดพลอยโจนเห็นคนอื่นมีบ้างก็อยากได้บ้าง เป็นการเน้นเรื่องของการบริโภค
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต้องมองต่อไปว่าเมื่อแก้ได้แล้วมันแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
ถ้าไม่สามารถพินิจพิเคราะห์ไปถึงต้นสายปลายเหตุของหนี้นอกระบบจะแก้กันไม่ถูก
ถ้าเป็นเงินกู้ที่นำไปสู่แบบอย่างการเลียนแบบบริโภค
การทำอะไรเกินตัวของคนบางกลุ่มมักจะเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
หากตัวแปรเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วเราไปแก้ให้เป็นหนี้ในระบบได้แล้ว

"คำถามต่อมาคือว่าในที่สุดแล้วหนี้นอกระบบแก้ได้หรือไม่ ข้อสำคัญคือ
แก้ไขหนี้นอกระบบได้แน่นอน
เจ้าหนี้ที่อยู่นอกระบบคงได้รับประโยชน์
ทำให้เกิดหนี้ในระบบที่มีการค้ำประกันของรัฐบาล ช่วยเหลือเจือจาง
ใครที่เป็นหนี้นานๆไม่สามารถใช้หนี้ได้
ทำให้หนี้นอกระบบที่ต้องใช้วิธีการทั้งปลอบทั้งขู่ในการติดตามหนี้
มีรูปแบบและวิธิการสารพัด
บางทีใช้ระบบมาเฟียด้วย จุดนี้คงต้องดูว่าใครกันแน่ที่ได้รับประโยชน์
ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดหนี้ ว่าประชาชนเกิดหนี้เพราะอะไร
หากรู้สาเหตุต้องเข้าไปแก้ไขในส่วนนั้น แต่ถ้าเราไปแก้หนี้แล้ว
ทำให้ประชาชนหรือผู้ก่อหนี้เกิดความรู้สึกย่ามใจว่า
ก่อหนี้นอกระบบได้ต่อไปก็มีคนมาปลดหนี้ให้"
ดร.สมภพ กล่าว

เมื่อถามว่าถ้ารัฐบาลไม่ศึกษาต้นตอของปัญหาให้ชัดเจนเท่ากับว่าที่หนี้หายแล้ว
ก็จะไปก่อหนี้อีก

ดร.สมภพ กล่าวว่า ใช่ เราจะอยู่ในวงจรอุบาทว์ไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อถามว่าปลดหนี้นอกระบบหมดแล้วภาระเป็นของใคร

ดร.สมภพ กล่าวว่า แน่นอนมัน คือ
ภาระของประชาชนเพราะเงินที่มาปลดหนี้เหล่านั้นมาจากภาษีประชาชน ดูให้สุด คือ
อัฐยายซื้อขนมยาย บางเรื่องอย่างการตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรกรขึ้นมาถือว่าเป็นเรื่องดี
แทนที่จะไปค้ำรายได้เกษตรกรเพียงอย่างเดียว แล้วนำไปสู่การบิดเบือนกลไกตลาด
บางทีจะทำให้เราถลำลึกจนกู่ไม่กลับ
ทำให้ผลผลิตราคาเกษตรเราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 20-30 %
ซื้อเก็บเข้ามาในสต๊อกแล้วก็ระบายไม่ออก จะทำให้รัฐบาลต้องรับภาระงบประมาณที่สูง


ดร.สมภพ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันงบประมาณที่ใช้มี 2 ส่วนที่โผล่ขึ้นมา คือ
งบประจำ กับอีกส่วนที่เรียกว่าตั้งงบหรืองบประกันรายได้เกษตรกร
ทำให้ภาระงบประมาณขยายตัวขึ้นมาก
ปีนี้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 20 % ทะลุ 2.2 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก
ตั้งแต่มีการทำงบประมาณมา งบประมาณเป็นเครื่องมือของนโยบายการเงินการคลัง
ซึ่งทั้ง 2 นโยบายนี้เป็นนโยบายที่สำคัญมากในการบริหารราชการแผ่นดิน
จึงต้องทำให้ 2 โนโยบายนี้มีความยืดหยุ่นรุกเร็วถอยเร็ว
เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมือง

"ฉะนั้นเราอย่านำ 2 นโยบายนี้ที่รวมกันแล้วเรียกว่านโยบายเศรษฐกิจมหภาค
เข้าไปสนองต่อประชานิยมจนถอนตัวไม่ขึ้น
เพราะว่าเป้าหมายเศรษฐกิจมหภาคมีเป้าหมายเยอะมาก
ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสมรรถนะการนำของประเทศ
ขีดความสามารถของประเทศ มีเป้าหมายที่หลากหลาย
และเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดใกล้มือรัฐบาลที่สุด
ที่จะหยิบยกขึ้นมาในการบริหาร
ดังนั้นนโยบายเหล่านี้ต้องไม่นำไปสู่การทำให้เราไปติดกับกับบางเรื่อง
ในบางเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ทำไปทำมากลายเป็นเรื่องวัฒนธรรม
เพราะประชาชนเกิดความเคยชิน ต้องระวังให้มาก
เพราะบางครั้งกลายเป็นเรื่องการเมืองด้วย "
ดร.สมภพ กล่าว

อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า
เราอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์มีการแกว่งไกวสูง ค่าเงินบาท
ความไม่ไว้วางใจสหรัฐอเมริกาในการนำเศรษฐกิจโลก
สหภาพยุโรปที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรหลังจากโปรยเงินลงมาแล้วก็ไปได้
แค่นี้ เศรษฐกิจของไทยก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลก
ทั้งในแง่การค้าส่งออกอย่างเดียวก็ต้อง 10 % ของจีดีพี
ยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ พึ่งพาการท่องเที่ยว
จึงต้องเตรียมเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่าให้ติดกับดัก

เมื่อถามว่าการโอนหนี้มากกว่า 4 แสนรายเข้าไปใน 6 ธนาคาร
จะทำให้ธนาคารของรัฐมีความเสี่ยงเกิดขึ้นหรือไม่

"ผมคิดว่าคงได้รับการค้ำประกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถ้าเกิดว่ามีปัญหาขึ้นมา
สามารถไปเก็บหนี้จากภาครัฐได้ เหมือนกับที่เคยทำตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้
ทำไมธนาคารรัฐถึงนิยมปล่อยกองทุนหมู่บ้าน กองทุนพักหนี้เกษตรกรสารพัดรูปแบบ
เพราะว่าเขาได้รับเงินค้ำประกัน 100 % ปรากฎว่าธนาคารของรัฐเหล่านั้น
ผลประกอบการดีขึ้น แทบจะกระโดดตะครุบ มีโบนัสมาแบ่งพนักงานกันถ้วนหน้า
เพราะภาระมาตกอยู่ที่รัฐบาลหมด
แต่ถามว่าภาระจริงๆตกที่ใครก็คือประชาชนผู้เสียภาษี"
ดร.สมภพ กล่าว

เมื่อถามว่าคนในรัฐบาลเห็นตัวเลขของจีดีพีตัวเลขส่งออกที่เติบโตขึ้นมาสวยๆ
ทำให้สบายใจได้หรือไม่

ดร.สมภพ กล่าวว่า เศรษฐกิจขณะนี้ฟื้นตัวตามวัฎจักร
ยกตัวอย่างตัวเลขส่งออก 7 เดือนแรกปีนี้ขยายตัว 10 % นำเข้า 20-30 %
หากเราไปตรวจดูช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น
เพราะส่งออกติดลบไป 30-40 % นำเข้าติดลบหนักกว่าอีก
แต่ปีนี้นำเข้าฟื้นตัวขึ้นมาส่งออกติดลบต่อเนื่องรวมจีดีพีของครึ่งปีที่แล้วติดลบไป 6 %
ฉะนั้นครึ่งปีแรกของปีนี้ขยายตัว 10 % เป็นตัวเลข 2 หลัก
แต่ดูให้ลึกๆว่าเราได้มาเท่าไร แต่ตัวเลขสุทธิได้มาแค่ 4 %
ซึ่งปกติแล้วเศรษฐกิจของไทยจะโตไม่ต่ำกว่า 5-6 %
ถ้ารัฐบาลชุดไหนทำไม่ได้คิดว่าน่าจะมีปัญหาแล้ว

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker