บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: อภิสิทธัตถ..ถ..ถ..... อุ๋ย!

ที่มา ประชาไท

อุ๋ย! โดนพระออกมาเทศน์ขรมตั้งแต่มหาเถรสมาคมยันมหาระแบบ

ผมนะไม่รู้สึกอะไรกับอภิสิทธิ์หรอก ที่ได้ของขวัญวันเกิดเป็นพรประเสริฐเลิศล้ำอย่างนี้ เพราะเชื่อว่าอภิสิทธิ์เองก็คงเกาเหาอยู่แกรกๆ เหมือนกัน แต่รู้สึกอึดอัดอิดเอียนมากเลยกับคนพูด

บอกก่อนว่าไม่ได้ซีเรียสในเชิงลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา เพราะที่คุณไพบูลย์บอกว่า “สิทธัตถะ” แปลว่าผู้สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว ก็พอฟังขึ้น ถ้าสมมติว่ามีความพอเหมาะพอสมหรือใกล้เคียงหน่อย

แต่ถามว่านี่มันใกล้เคียงซักกระผีกหรือเปล่า ต่อให้พูดเป็น If Clause ก็เหอะ คุณไพบูลย์บอกว่าอภิสิทธิ์ฉลาดเหมือนสัตบุรุษ ถ้าสร้างความปรองดองได้สำเร็จ ก็สำเร็จความมุ่งหมาย เป็น “อภิสิทธัตถะ”

ปรองดองกะผีที่ไหนละครับ ก็เพิ่งสั่ง “กระชับพื้นที่” มีคนตายเห็นหลัดๆ แล้วยังใช้อำนาจ พรก.ฉุกเฉินปราบปรามจับกุมลงโทษอย่างรุนแรงทั่วประเทศ นี่หรือ “อภิสิทธัตถะ”

ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อคุณไพบูลย์จะยกย่องเชิดชู “อภิสิทธัตถะ” ก็น่าจะชื่นชมยินดีปรีดาปราโมทย์ให้หมด ทั้ง “เทือกคัลลาน์” “สาธิตรีบุตร” “กรณ์กัสสป” “วอลเปเปอร์อานนท์” และ “เนคุลีมาล” อ้อ แถม “ทักษิณทัต” ด้วย จะได้สนุกกันไปใหญ่

คือถ้าเทพไทหรือเทพท็อปเป็นคนพูด เหมือนหลวงวิจิตรฯ ก้มกราบจอมพล ป.อ้างว่าเห็นแสงเฮ้ากวงแผ่ออกมา ก็ว่าไปอย่าง แต่นี่คนพูดคือ NGO ตัวพ่อ ผู้สืบทอดงานมูลนิธิบูรณะชนบทของอาจารย์ป๋วย มันทำใจรับได้ยากนะครับ เพราะคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ไม่ได้พูดแทนตัวคนเดียว แต่แบกศักดิ์ศรีขององค์กรพัฒนาเอกชน แบกเกียรติภูมิของภาคประชาสังคม ไปใช้ในสิ่งที่ชาวบ้านทั่วไปเขาจะมองได้ว่า “ส.พล.”

เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ใบตองแห้งก็จะขอชี้แจงแทน (ฮา) ว่าคุณไพบูลย์ไม่ใช่คน ส.พล.แต่นี่คือวิธีการทำงานตามทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งคุณไพบูลย์และหมอประเวศ สถาปนาตนเป็นเสมือน “ล็อบบี้ยิสต์” ของภาคประชาสังคม ต่อรองกับทุกรัฐบาลให้รับข้อเสนอที่มีผลเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชาชนคนรากหญ้า โดยเอาเกียรติภูมิของตัวเองและพลังของภาคประชาสังคมเข้าไปค้ำจุนรัฐบาล เป็นการแลกเปลี่ยน

ไม่ว่ารัฐบาลไหน ตั้งแต่ ปชป.ทักษิณ คมช.จนกลับมา ปชป.อีกครั้ง

คุณไพบูลย์เป็น NGO ตัวพ่อ เพราะทำงานมูลนิธิบูรณะชนบท องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย น่าจะตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2510 ซึ่งอาจารย์ป๋วยเอาคนแบงก์ชาติมาช่วยงาน มูลนิธิบูรณะชนบทเป็นฐานรากร่มเงาให้องค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นภายหลัง และยังเป็นแหล่งกำเนิดของ NGO ตัวพ่อตัวแม่หลายๆ ราย เช่นคุณบำรุง บุญปัญญา คุณเรวดี ประเสริฐเจริญสุข

เพียงแต่คุณไพบูลย์น่ะแกไม่ใช่ NGO เดินดินกินข้าวเหนียวปลาร้ากะชาวบ้าน อย่าง “มด วนิดา” เพราะคุณไพบูลย์แกเป็น NGO ไปด้วยกับเป็นพนักงานแบงก์ชาติไปด้วย แถมเคยเป็น NGO ไปด้วยกับเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไปด้วย นอกจากนี้ยังเคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ออมสิน เรียกว่าแกสลับชีวิตไปมาระหว่างการเป็นผู้บริหารการเงินระดับสูงกับขุนนาง NGO กระทั่งเมียแกยังเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์

ไม่ยักเคยมีใครถามคุณไพบูลย์ซักคำว่า ไอ้ตอนที่แบงก์ไทยพาณิชย์ทำดีลขายชินคอร์ป “ขายชิน ขายชาติ” น่ะแกรู้สึกยังไงกับคนข้างๆ

NGO สายคุณไพบูลย์จึงไม่ใช่สายที่ลงไปชนกับอำนาจรัฐกลไกรัฐ แบบพวกต่อต้านเขื่อน โรงไฟฟ้า นาเกลือ หรือว่ามาบตาพิษ แม้จะสนับสนุนคนเหล่านั้นแต่ก็ยังทำงานร่วมกับภาครัฐ ประนีประนอมกับระดับบน ทำโครงการจำพวกพัฒนาชุมชน อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เชิดชูวิถีชีวิตดั้งเดิม ต่อต้านวัฒนธรรมบริโภค เพื่อนำคนไทยกลับไปมีชีวิตอย่างสุขสงบเหมือนสมัยกึ่งพุทธกาล

ส่วน NGO สายหมอประเวศ เริ่มต้นมาจากสายสาธารณสุข จุดกำเนิดคือชมรมแพทย์ชนบท แพทย์หัวก้าวหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมหลัง 14 ตุลา หมอประเวศเป็นผู้นำทางความคิด ช่วยชี้แนะผลักดันให้แพทย์เหล่านี้รวมตัวกัน คิดค้นแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ โดยมักจะไปประชุมกันที่สวนสามพราน จึงเรียกกันว่า “กลุ่มสามพราน”

สมาชิกคนสำคัญๆ ของ “กลุ่มสามพราน” ก็อาทิเช่น หมอวิชัย โชควิวัฒน์, หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, หมอชูชัย ศุภวงศ์, หมอสุภกร บัวสาย, หมออำพล จินดาวัฒนะ, หมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ “บิดาแห่ง 30 บาท” ผู้ล่วงลับ

ซึ่งต้องจารึกไว้ด้วยความคารวะอย่างสูงว่า หมอประเวศและกลุ่มสามพราน ชมรมแพทย์ชนบท ได้สร้างคุณูปการไว้มากมาย ตั้งแต่ต่อต้านการทุจริตยา รณรงค์ลดเหล้าบุหรี่ ไปจนโครงการ 30 บาท (ที่เทียบแล้วหมอประเวศก็เหมือน “กงกงแห่ง 30 บาท” ในขณะที่ทักษิณและพรรคไทยรักไทยเป็น “มารดาแห่ง 30 บาท” ฮิฮิ) หรือการทำ CL ยาในรัฐบาลขิงแก่ ที่หมอมงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข

คุณูปการเหล่านี้ (ซึ่งผมคงจาระไนไม่หมด) ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

หมอประเวศและกลุ่มสามพราน “ล็อบบี้” ต่อรองกับรัฐบาลมาทุกรัฐบาล ตั้งแต่อานันท์ ชวน ทักษิณ คมช.จนกลับมา ปชป.อีกครั้งหนึ่ง โดยยุทธศาสตร์สำคัญที่แตกต่างจากภาคประชาสังคมยุคก่อนก็คือ หมอประเวศล็อบบี้ผลักดันให้ตั้งองค์กรมหาชนขึ้นมาดูแลเรื่องต่างๆ โดยมีกฎหมายรองรับ มีความเป็นอิสระ มีงบประมาณแน่นอนของตัวเอง เพื่อเป็นหลักประกันผลประโยชน์ประชาชน

ซึ่งในด้านสาธารณสุข ได้ก่อเกิดฟันเฟืองที่รวมกันเป็นเครื่องจักรอันทรงพลังคือ 4 ส. ได้แก่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตั้งขึ้นตาม พรบ.ปี 2535 สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ตั้งขึ้นตาม พรบ.ปี 2543 ต่อมาแปลงร่างเป็น เป็นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่รับเป็นเจ้าภาพให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยอยู่ตอนนี้ ถัดมาก็คือ สสส.ตั้งขึ้นตาม พรบ.ปี 2544 และสุดท้ายก็คือ สปสช.ผู้ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาท

ทั้งหมดนี้บริหารโดยแพทย์ชนบท “กลุ่มสามพราน” คือ สวรส.ที่ตั้งขึ้นองค์กรแรก มีหมอสมศักดิ์เป็นผู้อำนวยการ หมอสุภกรเป็นรอง พอตั้ง สสส.ขึ้นก็เอาหมอสุภกรมาเป็นผู้จัดการ 2 สมัย เป็นอีกไม่ได้ก็สืบทอดให้หมอโนบิตะ (โทษที ลืมชื่อจริง) โดยมีหมอบรรลุ ศิริพานิช ปั๊มโลโก้ “เปาบุ้นจิ้น” ให้ว่ามีการสรรหาอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรมแล้ว สปรส.มีหมออำพลเป็นเลขาธิการ ต่อเนื่องมาจนเป็นเลขา สช.ส่วน สปสช.ก็หมอหงวนเป็นเลขาธิการ หมอหงวนตาย ก็สู้กันน่าดูเหมือนกันตอนตั้งคนใหม่ เพราะดันเป็นรัฐบาลสมัครพอดี แต่ด้วยกลไกที่วางไว้ในบอร์ด สุดท้ายก็ยังได้หมอวินัย สวัสดิวร ลูกหม้อในเครือข่าย

นอกจากนี้ กลุ่มสามพรานบางท่านเช่น คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ก็เป็นบอร์ดอยู่ 3 ใน 4 ส.นี้ หมอวิชัยเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชฯ แล้วก็เป็นบอร์ดอยู่อีก 2 หรือ 3 ส.นี่แหละ

ที่พูดเรื่องนี้ต้องย้ำว่าตัวบุคคลทั้งหมดเป็นคนดีนะครับ ดีมาก ดีกว่า “สัตบุรุษ” ด้วยซ้ำ อย่างหมอหงวน รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แกก็ยังทำงานจนวันตาย ผมเคยไปสัมภาษณ์ นั่งกินข้าวด้วยกัน แกต้องกินข้าวกล้องชามโตๆ ฝืนกินอย่างไม่มีรสชาติ เพื่อจะมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่ใช่อยู่กับลูกเมีย แต่ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายเพื่อทำงานต่อ ชีวิตหมอหงวนเป็นชีวิตที่เสียสละ คนที่เอาชีวิตแกมาทำละครทาง TPBS ถึงไม่รู้จะทำยังไงให้มันมีสีสัน มีดรามา เพราะชีวิตแกราบเรียบเป็นเส้นตรงอย่างนั้นจริงๆ

แต่ขณะเดียวกัน หมอประเวศและกลุ่มสามพรานก็ถลำลงไปใน “ลัทธิลูกหม้อ” เมื่อต้องการวางคนของตัวเองที่เชื่อมั่นว่าเป็นคนดีๆ เท่านั้น ไว้ควบคุมองค์กรเหล่านี้ ป้องกันแน่นหนาไม่ให้พวก “เลือดสีโคลน” เข้ามาแทรกได้

ซึ่งถ้าพูดถึงตำแหน่งบริหาร บางครั้งผมก็เห็นด้วย เช่นตอนตั้งเลขา สปสช.ผมก็ช่วยลุ้นจนตัวโก่ง ไม่อยากให้สมุนนักการเมืองเข้ามางาบ

แต่นานๆ เข้า มันก็กลายเป็น “ลัทธิลูกหม้อ” ทั้งแนวคิดและวิธีการทำงาน อย่างที่ สตง.วิจารณ์การทำงานของ สสส.ว่ามักจะมีแต่องค์กรหน้าเก่าคนหน้าเดิมในเครือข่ายเท่านั้นที่ได้งบ

หมอในกลุ่มสามพรานเคยอธิบายกับคนวงในว่า เขาเชื่อว่าวิธีการแบบนี้ได้ผล อย่างเช่นการคัดเลือกคนให้ได้รับทุนวิจัย ถ้าใช้การสอบ ปรากฏว่าเกินครึ่งออกไปทำงานให้เอกชน ถ้าใช้การแนะนำรับรองกันมาว่านี่ “คนดี” ปรากฏว่าพลาดแค่ 30%

แต่นานเข้ามันก็เป็นปัญหา เพราะมันทำให้การทำงานย่ำเท้าอยู่กับที่ มีแต่คนคิดเหมือนกัน ไม่มีความคิดหลากหลาย โยกซ้ายโยกขวาก็มีแต่เครือข่ายลัทธิประเวศ

เหมือนผลการประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 2 ที่เพิ่งออกมา ตั้งกรรมการ 14 ชุด ระดมความคิดเห็นองค์กรเครือข่าย ปรากฏว่าคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป มีคุณวิลาสินี อดุลยานนท์ เป็นประธาน เอ๊ะ โผล่มาจากไหนหว่า ไม่เห็นชื่อใน คปร.ตอนแรก อ้าว ปรากฏว่าเป็นผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.ภริยาของ ผศ.ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. (เธอดูแลมีเดียมอนิเตอร์ ผู้วินิจฉัยว่า “ประชาไท” ไม่ได้เสนอข่าวภาคประชาสังคมเพียงพอ)

อ้อ ยังมีคุณเดชรัต สุขกำเนิด เลขานุการ คปร. อีกตำแหน่งหนึ่งเป็น ผอ.ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สช.เดิมแกเป็นอาจารย์ ม.เกษตร ต่อสู้เรื่องมลภาวะอุตสาหกรรม

ลัทธิลูกหม้อ นานไปก็มีความเชื่อว่ามีแต่พวกตนเท่านั้นเป็นคนดี เหมือนหมอสุภกรเดินเข้าทำเนียบ ควักเงินบริจาคให้พันธมิตร แล้วก็คิดว่าไอ้พวกที่วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรเป็นคนไม่ดี ล่าสุดก็มาเกิดเรื่อง พรบ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ ที่กลายเป็นเรื่องทะเลาะกันระหว่างหมอกับหมอ คือตัว พรบ.ในเนื้อหาหลักๆ ผมเห็นด้วยว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ทัศนะต่อคนคัดค้านก็ไม่ควรมองว่าเขาเป็นหมอที่หวังผลประโยชน์หรือเห็นแก่ตัวเสียหมด ต้องเข้าใจหัวอกคนทำงานบ้าง ไม่ใช่อย่างที่หมออำพลประณามว่าหมอแต่งดำคัดค้านก็คือหมอใจดำ!

เราควรจะยกย่องเชิดชูกลุ่มสามพราน แพทย์ชนบท ที่เสียสละทำงานเหนื่อยยาก แต่คนดีไม่ได้มีระดับเดียว คนบางคนเขาก็อยากทำความดีพร้อมกับขอมีประโยชน์สุขส่วนตัวบ้าง หมอบางคนเขาก็ยังอยู่ในระบบราชการ รับเงินเดือนน้อยกว่าที่จะได้จากเอกชนหลายเท่าตัว ตรวจคนไข้มือระวิงวันละหลายสิบ แต่ตอนบ่ายตอนเย็นหรือวันหยุดเขาไปทำคลินิกทำเอกชนสร้างฐานะให้ครอบครัวบ้าง เขายังเป็นคนดีอยู่ไหม

ถึงวันนี้ พรบ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ ก็เลยกลายเป็นชนวนให้หมอทั้งประเทศรุมถล่มหมอประเวศและกลุ่มสามพราน ซึ่งถ้ามองทางการเมืองแล้วตลกดีครับ เพราะหมอจำนวนมากก็เป็นพันธมิตรไล่ทักษิณ เพราะไม่พอใจมาตั้งแต่โครงการ 30 บาท (ผลงานกลุ่มสามพรานนั่นแหละ) มาตอนนี้กลับซัดกันเอง ที่ตลกมากๆ คือรายการเจิมศักดิ์กับวันชัยออกมาเชียร์ พรบ.ทำให้พวกหมอ พธม.ที่เคยเป็นสาวกเจิมด่ากันขรม (กระทู้ของหมอบางกระทู้ขู่ว่าถ้า พรบ.ผ่านจะเป็นเสื้อแดง-ฮา)

นี่ถ้าผมมีบทบาทอะไรซักอย่างก็คงลำบากใจน่าดูเหมือนกัน ว่าจะเลือกสนับสนุน พรบ.ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน หรือเลือกถล่มลัทธิประเวศดี เพราะได้อย่างเสียอย่าง แต่โชคดีที่ผมไม่มีบทบาท ไม่ต้องไปสัมภาษณ์ใครเหมือนเมื่อก่อน (เมื่อก่อนผมเนี่ยกองเชียร์แพทย์ชนบทและ 30 บาทอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู) ก็ปล่อยให้’จารย์เจิมแกช่วยเชียร์ไปแล้วกัน ฮิฮิ

ถ้าจะให้ดีนะครับ ผมอยากให้ พรบ.ผ่าน แต่ให้เครือข่ายลัทธิประเวศโดนเล่นงานซะให้อ่วมก่อน

ล็อบบี้ไม่เลือกระบอบ

หมอประเวศกับคุณไพบูลย์เป็นจอยท์เวนเจอร์กันตั้งแต่เมื่อไหร่ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ที่เห็นๆ คือตั้งแต่มี สสส.กับงบมหาศาล ลัทธิประเวศก็กวาด NGO เข้าไปอยู่ใต้ร่มธง

อาจพูดได้ว่าหลังจากพฤษภา 35 เป็นต้นมา ที่ภาคประชาสังคมมีอำนาจต่อรองมากขึ้น “ล็อบบี้ยิสต์” จอยท์เวนเจอร์หมอประเวศแอนด์ไพบูลย์ ก็ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์มาหลายอย่าง เช่นองค์กร 4 ส.ที่ว่าไปแล้ว และ พอช.ซึ่งได้มาในสมัยรัฐบาลชวน พอเกิดรัฐประหารก็เข้าร่วมรัฐบาลขิงแก่ หมอมงคลเป็น รมว.สาธารณสุขทำ CL คุณไพบูลย์เป็นรองนายกฯ และรมว.พัฒนาสังคมก็พยายามจะออกกฎหมายตั้งสภาองค์กรชุมชน แต่โดนมหาดไทยขวาง สุดท้ายได้มาแต่โครงไก่ เอ๊ย โครงร่าง (คุณไพบูลย์ขู่จะลาออกแต่สุดท้ายก็ไม่ออก)

แนวทางของภาคประชาสังคมอย่างคุณไพบูลย์ หมอประเวศ ต้องยืมคำกล่าวของหมอพลเดช ปิ่นประทีป ที่ว่า “เราไม่มุ่งยึดอำนาจรัฐ แต่จะใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ข้ามรัฐ/ลอดรัฐ” ซึ่งผมฟังเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ (ฮา) รู้แต่ว่าคุณไพบูลย์กับหมอประเวศยึดหลักว่าต่อรองกับรัฐบาลไหนได้ก็เข้าข้างนั้น ไม่สนใจว่าจะเป็นประชาธิปไตย เผด็จการ หรือแมลงสาบ ขอเพียงเป็นตัวบุคคลที่เราสามารถพูดคุยได้

ถ้าคุณเป็นล็อบบี้ยิสต์ของกลุ่มทุน มันก็ไม่แปลกหรอก แต่ถ้าคุณเป็นผู้นำภาคประชาสังคม ซึ่งพูดทุกวันว่าต้องการให้ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง การสนับสนุนเผด็จการหรืออำมาตยาธิปไตย มันสวนทางกันสิ้นเชิงกับสิ่งที่พูด

คุณหมอศิริวัฒน์ เทพธราดล อดีตเลขา อ.ย. ผู้ถูกไชยี้ สะสมทรัพย์ สั่งเด้งในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงทำ CL เคยให้สัมภาษณ์ผู้จัดการไว้ว่า ท่านเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ผลักดันให้มีกฎหมายควบคุม แล้วก็เกิด รสช.พอดี รัฐบาลอานันท์เข้ามา จึงทำให้ออกกฎหมาย 2 ฉบับได้สำเร็จ

“ผมคิดว่าถ้าเป็นสมัยประชาธิปไตยจ๋า กฎหมายอย่างนี้ไม่มีทางได้ออก เหมือนกับกฎหมายเหล้า เพราะเมื่อกฎหมายดีเข้าสู่รัฐสภาก็จะถูกล็อบบี้จากบริษัทต่างชาติ ไม่ให้คลอด หรือถ้าออกก็จะอ่อนจนควบคุมอะไรไม่ได้ ผมเคยพูดกับฝรั่งว่า ประชาธิปไตยไทยไม่เหมือนบ้านคุณนะ กฎหมายดีๆ มักออกในสมัยเผด็จการ บ้านเราเป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบอุดมคติ”

ถ้ามองเฉพาะส่วนท่านก็พูดถูกนะครับ CL ยาไม่มีทางทำได้ ถ้าไม่ใช่ยุคขิงแก่ (ขนาดนั้นหมอมงคลยังถูกกระทรวงพาณิชย์โวย แม้แต่รัฐบาล ปชป.ตอนนี้ก็มีปัญหา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์กำลังสอดมือเข้ามาวอแว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ NGO สายสาธารณสุขกับอลงกรณ์ พลบุตร ก็เย้วๆ ไล่ทักษิณมาด้วยกัน)

แต่ถามว่าเราจะเอาแค่เนียะ โดยละเลยชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยเข้มแข็ง งั้นหรือครับ CL ยาแลกมากับการค้ำจุนรัฐประหาร ได้ยาราคาถูกขณะที่งบประมาณกองทัพเพิ่มพรวดสองเท่า ซื้อฝูงบินกริพเพ่น ซื้อรถถังยูเครน ซื้อเรือเหาะ และ GT200 โดยยังไม่พูดถึงอำนาจครอบงำการเมืองและสังคม

เหมือนหมอชูชัยเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิเสรีภาพ แล้วออกมาคุยว่าดีที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่หมวดการเข้าสู่อำนาจ กลับกลายเป็นว่าประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกรัฐบาล เพราะเลือกมาแล้วไม่ถูกใจชนชั้นนำ ก็ถูกตุลาการภิวัตน์สอยเรียบกระทั่งยุบพรรค

ตรงกันข้าม ถ้าหมอศิริวัฒน์มองมุมกลับ นโยบายที่ผลักดันในยุคประชาธิปไตย แม้ยากก็จริงนะครับ แต่ถ้าทำสำเร็จมันก็มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาให้ประชาชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยเข้มแข็ง อย่างนโยบาย 30 บาทของแพทย์ชนบทนั่นไง เป็นปัจจัยสำคัญเลยละ ที่ทำให้คนชนบทตื่นตัว ตระหนักในสิทธิเสียงของตัวเอง เรียนรู้ “ประชาธิปไตยกินได้” จนทำให้เกิดมวลชนเข้มแข็ง ซึ่งก็คือมวลชนเสื้อแดงในวันนี้

เพียงแต่หมอประเวศ คุณไพบูลย์ ไม่ยอมรับ แกล้งทำเป็นตาบอดสีมองไม่เห็น ยอมพลีตัวเข้ามาปฏิรูปประเทศไทยแลกกับ 91 ศพ พรก.ฉุกเฉิน และการปราบปรามแยกสลายมวลชน ให้กลับไปว่านอนสอนง่ายยอมสยบต่ออำนาจเหมือนเดิม

แนวคิดปฏิรูปแลก 91 ศพนี่ไม่ใช่เพิ่งมีนะครับ หมอพลเดชพูดไว้ในการประชุมสมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง ตั้งแต่เดือนมกราคมว่า

“หากกลุ่มสีแดงยึดอำนาจได้สำเร็จ โอกาสกลับไปสู่การเมืองน้ำเน่าแบบเดิมสูง...เราไม่หนุน แต่ถ้านำไปสู่การปฏิวัติประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศ...เราจะหนุน

หากรัฐบาลปราบได้ กลุ่มสีแดงแพ้ อาจนำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สังคมมีบทบาท...เราจะหนุน แต่ถ้านำไปสู่การเมืองน้ำเน่าแบบเดิม...เราไม่หนุน”

พูดง่ายๆ คือประเมินสถานการณ์รอไว้แล้ว ถ้ามีการปราบ ก็รู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลจะเผชิญปัญหาความชอบธรรมอย่างรุนแรง และต้องหันมาพึ่งภาคประชาสังคม พึ่งหมอประเวศ คุณไพบูลย์ เป็นโอกาสทองที่ล็อบบี้ยิสต์จะได้เข้าไปมีบทบาท เหมือนรัฐประหารต้องเอาหมอมงคล คุณไพบูลย์ หมอพลเดช เข้าไปเป็นรัฐมนตรี

วันหน้า ถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์เจอมรสุมมากกว่านี้ ไม่แน่นะครับ เผลอๆ อภิสิทธิ์อาจต้องตั้งคนนอก เช่นคุณไพบูลย์ เข้าไปเป็นรองนายกฯ หรือ รมว.พัฒนาสังคม ถ้ามีวันนั้นจริงต้องเข้าใจกันนะ ว่าคุณไพบูลย์แกไม่ใช่ได้มาเพราะ ส.พล.(ฮิฮิ)

ใบตองแห้ง
5 ส.ค.53

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker