การพิจารณางบประมาณปี 2554 วาระ 2–3 ดูเหมือนจะมีปัญหาการเมืองเรื่องยกมือสนับสนุน มากกว่าที่จะว่ากันด้วยเนื้อหาสาระอันเกี่ยวกับเม็ดเงิน ที่จะใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างคุ้มค่า
พรรคฝ่ายค้านคงไม่ต้องพูดถึงเพราะมีหน้าที่คัดค้านอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะมุ่งไปสู่ความคุ้มค่าของงบประมาณ หรือว่าเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น มีประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันมากคือ งบประมาณ "กระจุกตัว" ที่มหาดไทยและกลาโหม
ดังนั้น หากพรรคฝ่ายค้านทำการบ้านมาดี และมีความจริงใจน่าที่จะสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น ด้วยข้อมูลและตัวเลขเพื่อให้สมาชิก และประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงก็จะก่อประโยชน์อย่างยิ่ง
เพราะแม้ว่าจะมีเสียงน้อยกว่ารัฐบาล แต่ก็จะชี้ให้เห็นความไม่โปร่งใสเบียดบังงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
นี่น่าจะเป็นหน้าที่หลักของพรรคฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นกลับเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลเอง เนื่องมาจากเสียงปริ่มนํ้าและความไม่เป็นเอกภาพ ระหว่างพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล
ที่น่าสังเกตก็คือก่อนที่จะมีการพิจารณา ปรากฏว่ามีการเสนอโครงการรถเมล์เช่าเอ็นจีวี 4,000 คัน โดยกระทรวงคมนาคมให้ ครม.พิจารณา ปรากฏว่านายกฯได้ให้มีการศึกษาใหม่ เพราะมีปัญหา 3 ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน
ก็เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาทันที เมื่อพรรคภูมิใจไทยที่เสนอโครงการนี้ไม่พอใจนายกฯเกิดเสียงขู่ว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมและนั่นมีการจับตาไปที่การพิจารณางบประมาณว่าจะสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งว่าที่จริงแล้วงบประมาณนั้นพรรครัฐบาลได้เปรียบในการจัดสรรอยู่แล้ว
พรรคภูมิใจไทยดูเหมือนจะได้งบกระจุกตัวมากที่สุด
ดังนั้น การนำ 2 เรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกัน ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจการต่อรองกับนายกฯมากกว่า ทั้งๆที่พรรคภูมิใจไทยนั้นสนับสนุนงบประมาณอยู่แล้ว แต่ก็ยังหวังที่จะให้โครงการรถเมล์เช่าผ่าน ครม.อีกด้วย โดยเอาเงื่อนไขยกมือสนับสนุนงบประมาณมาเป็นตัวต่อรอง
ลีลาแบบนี้ถือว่าเขี้ยวลากดินจริงๆ
อย่างไรก็ดี หลังจากที่การประชุมสภาผู้แทนฯนัดแรก ปรากฏว่า เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุม ส.ส. และรัฐมนตรีต้องมาประชุมงบประมาณอย่างพร้อมเพรียง โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ ถึงขั้นขู่ว่า ส.ส.คนไหนไม่มาประชุม จะถูกตัดสิทธิลงเลือกตั้งในครั้งต่อไป
นอกจากนั้น ยังสั่งให้รัฐมนตรีทุกคน จะต้องอยู่ในสภาทุกคน ห้ามกลับบ้านก่อน หรือต้องยกเลิกภารกิจอื่นๆทั้งหมด
ทั้งนี้ก็เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาในการชี้แจง ตอบโต้ฝ่ายค้านและยังกลัวว่าการลงคะแนนจะมีเสียงสนับสนุนไม่พอ
หากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็ต้องลาออกหรือยุบสภา
จริงๆแล้ว เรื่องทำนองนี้มันเป็นสำนึก หน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐมนตรี ส.ส.ทุกคน ที่จะต้องมาร่วมประชุม ยิ่งงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าปกติ
แต่นักการเมืองไทยมันประหลาดที่สุด ทั้งๆที่เป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน ในการทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชน กลับต้องให้หัวหน้ารัฐบาล แกนนำพรรคออกคำสั่งบังคับให้มาทำหน้าที่เหมือนต้อนควายเข้าคอกไม่มีผิด
ยังไม่เคยเห็นประเทศไหนเขาต้องทำกันอย่างนี้ มีก็แต่บ้านนี้ เมืองนี้เท่านั้นที่ต้องมีมาตรการอย่างนี้ออกมา ซึ่งมันน่าหดหู่สิ้นดี
ที่มีนักการเมืองทุเรศๆอย่างนี้
ประเทศไทยที่ต้องติดหล่มอยู่ทุกวันนี้ ก็คงรู้กันแล้วว่าเป็นเพราะใคร.
"สายล่อฟ้า"