บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ระบบบริหารจัดการที่แย่ ก็เท่ากับลอยแพคนไข้ อย่างอำมหิต !

ที่มา มติชน


สุวัจชัย ลีสุจริตกุล บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Windows ITPro

เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมามาผมได้ยินข่าวว่า คุณหมอและนางพยาบาลจาก รพ.ต่างๆ พร้อมใจกันจะแต่งชุดดำกันในทุกๆ วันศุกร์ เพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาลจากสาเหตุที่รัฐบาลได้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการจากสาธารณสุข เข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าหากปล่อยให้มีกฎบังคับใช้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่วงการแพทย์ ผมอ่านข่าวนี้แล้วอยากจะขำ (แต่กลัวเสียมารยาท) จริงๆ แล้วประเด็นนี้มีแง่คิดหลายๆ อย่าง ซึ่งก็มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรกับการกระทำดังกล่าว บ้างก็ว่าหมอเล่นแง่, บ้างก็ว่าคนไข้โรคจิตขี้ฟ้อง สุดแล้วแต่มุมมอง


สำหรับผมเอง (จริงๆ ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ผม แต่เป็นประชาชนจำนวนมากน่าจะถูกต้องกว่า) ต้องประสบปัญหาเคราะห์กรรมในด้านการบริหารจัดการของระบบ ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานบริการสาธารณสุขของรัฐด้วยเช่นกัน (แต่ไม่เคยอยากจะฟ้องร้องอะไรหรอก) ประชาชนในย่านแถวๆ ชุมชนสำเหร่, ธนบุรี, ตากสิน, บุคคโล, เทอดไท, บางยี่เรือ, ฯลฯ ต้องประสบปัญหาความวุ่นวายกับการใช้บริการบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของ "โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า (รู้จักกันในนาม รพ.ทหารเรือ)" กันเป็นแถวๆ เพราะอะไรน่ะหรือครับ?


มันเริ่มมาจากว่า ปกติแล้ว รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า จะให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง (หรือบางทีก็เรียกบัตร 30 บาท) ในหลายๆ แผนกด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น แผนกโรคตา, แผนกโรคกระดูก, คลินิคประกันสุขภาพ 30 บาท, แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ฯลฯ ซึ่งแต่ละแผนก ผมคะเนด้วยสายตาแล้ว มีคนไข้ไม่ต่ำกว่า 200 คนมารอเข้าคิวเพื่อพบหมอในแต่ละแผนก


ซึ่งต้องบอกว่าด้วยระบบการบริหารจัดการเดิมที่มีอยู่ของ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็เรียกว่าช้ากว่าเรือเกลือ ส่งผลให้เกิดการบริการที่ล่าช้ามาก คนไข้บางรายเดินทางมาโรงพยาบาลตั้งแต่ 7 โมงเช้า กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจและรับยาใช้เวลาร่วมๆ 8 ชั่วโมง (โดยเฉพาะกับแผนกโรคกระดูก ที่ต้องบอกว่ามีบุคลากรและแพทย์รวมๆ กันแล้วมีมากทีเดียว ก็ยังช้าอยู่อีก) แต่อย่างไรก็ตามครับด้วยสิทธิ์ที่คนไข้ใช้ก็คือ "ฟรี ไม่เสียเงิน" ก็เลยทำให้พวกเขาทนรับสภาพดังกล่าวได้ ก็ยินดีที่จะรอคอยการรับบริการที่ล่าช้าเช่นนี้ โดยไม่สามารถปริปากอะไรได้ (ก็ได้แต่บ่นกันกับคนไข้ด้วยกันเองเท่านั้น)


แต่อนิจจา..เวรซ้ำกรรมซัดของคนไข้ ที่อยู่ดีๆ เมื่อ พ.ย.ปีที่แล้ว ทางรพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ไปลงนามความร่วมมือกับรพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการกระจายบริการปฐมภูมิ โดยมี น.พ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.ประธานในพิธีลงนามบันทึกในความร่วมมือครั้งนี้ พร้อมยังกล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เป็นความร่วมมือรูปแบบใหม่ ระหว่างรพ.ของกองทัพเรือ และรพ.ของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ที่จะมาช่วยเสริมสร้างระบบบริการให้ดีขึ้น โดยได้ส่งผ่านคนไข้บัตรทองที่รักษาอยู่ที่รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ให้ไปรักษาที่ รพ.บ้านแพ้ว (สาขาย่อย ที่มาเปิดอยู่ฝั่งตรงข้าม รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า)


น.พ.ประทีป คงไม่รู้ว่าหลังจากที่ตัวเองไปเป็นประธานลงนามในครั้งนั้นแล้ว ได้สร้างกรรมครั้งใหญ่ให้กับชาวบ้านชาวช่องตาดำๆ ไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว น.พ.ประทีป รู้หรือไม่ว่าการที่คนไข้ ที่ใช้บัตรทองอยู่กับ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าทุกๆ แผนก (ผมว่ามากกว่าพันราย) ต้องไปแออัดยัดเยียดกันเพื่อรอรักษาพยาบาลกับ รพ.บ้านแพ้ว ที่มีแค่อาคาร 3 คูหาเล็กๆ (ให้บริการชั้นล่างสุดชั้นเดียว) มีหมอเพียงแค่ 3-4 คน ที่ต้องตรวจคนไข้ในทุกๆ โรค กว่าพันคน มันสุดแสนจะทรมานแค่ไหน?


น.พ.ประทีป คงไม่รู้อีกว่า รถเข็นที่คนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุและคนพิการ ที่เคยใช้อยู่ที่ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่มีเป็นจำนวนมากมายพร้อมมีเจ้าหน้าที่ให้บริการเข็นไปส่งที่แผนกรักษาต่างๆ อย่างเต็มใจ จะเหลือเพียงแค่ไม่ถึง 5 คันที่มีอยู่ใน รพ.บ้านแพ้วที่คนไข้สูงอายุและผู้พิการเหล่านั้น จ้องที่จะฟาดฟันกันเพื่อให้ได้มา? อีกทั้ง น.พ.ประทีป คงไม่รู้อีกด้วยว่าหลังจากที่ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าได้โอนถ่ายคนไข้บัตรทองเหล่านี้ไปยัง รพ.บ้านแพ้วได้แล้ว พวกเขามีสีหน้ายิ้มแย้มกันแค่ไหน? คำถามที่เกิดขึ้นกับผมตอนนี้ ก็คือว่า นี่หรือโครงการกระจายบริการปฐมภูมิที่ สปสช. และ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า และ รพ.บ้านแพ้ว อยากให้เป็น? ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้งสองแห่งตลอดจน สปสช. เคยไปดูความจริงที่เกิดขึ้นกับคนไข้ที่ต้องพบกับวิบากกรรมอันนี้บ้างหรือไม่?


จริงๆ แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นแย่ๆ อีกมากมาย ซึ่งถ้าผมสาธยายให้ฟังทั้งหมดคงใช้เวลากันเป็นวัน เอาเป็นว่าหากใครได้มีโอกาสผ่านไปแถวนั้น ลองไปสอบถามคนไข้ที่มาใช้บริการกันดูว่าเขารู้สึกแย่แค่ไหน กับการโอนถ่ายคนไข้ครั้งนี้


ผมเองในฐานะสื่อสารมวลชน ได้พบเห็นกับระบบบริหารจัดการ, ระบบการให้บริการต่างๆ จากองค์กรชั้นนำทั้งเล็กทั้ง
ใหญ่มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อช่วย "อำนวยความสะดวกและลดภาระ" ของผู้ใช้งาน (User) ได้เป็นอย่างดี ผู้บริหารที่ผมได้พูดคุยด้วยแม้ว่าจะไม่ได้คลุกคลีลงมาดูถึงรายละเอียดปลีกย่อย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่ดีของเขา ก็สามารถที่จะแผ่ขยายและส่งผลให้หน่วยงานในระดับปฏิบัติงานสามารถที่จะจัดการต่างๆ เหล่านั้นได้ดีตามไปด้วย แต่นั่นคือสิ่งที่ผมเห็นด้านเดียวซึ่งเป็นด้านสว่างเท่านั้น ยังมีด้านมืดที่ผมยังไม่เคยเห็นอีก


จากกรณีการร่วมมือของ รพ.ทั้งสองในครั้งนี้ อาจจะเป็นด้านมืดที่ผมจะได้เห็นกระมัง? ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ด้วยระบบการบริหารจัดการในเรื่องของการโอนถ่ายคนไข้ของรพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ไปยัง รพ.บ้านแพ้ว ในครั้งนี้เท่ากับเป็นการลอยแพคนไข้หรือไม่? ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่ชื่อว่า "สฤษดิ์ชัย สุทธิพงษ์" เคยเข้าไปตรวจสอบหรือสอบถามคนไข้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เหล่านี้หรือไม่? ถ้ายังไม่เคยก็รีบเดินข้ามไปดูซะ ! จะได้รู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้าเคยแล้ว ช่วยตอบคำถามของผมทีว่านี่หรือคือ วิธีการบริหารจัดการที่ดำเนินตามนโยบายคุณภาพ ดังคำกล่าวอ้างที่สลักอยู่บนเว็บไซต์ของตนอย่างหน้าระรื่นว่า "มุ่งมั่นพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง บริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ได้มาตราฐาน ประทับใจ บริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ การทำงานเป็นทีม และมีระเบียบวินัย"


และด้วยหน้าที่มีจำกัด ผมก็อยากจะสรุปเอาไว้ตรงนี้ว่า ถ้าหากคุณปล่อยให้ระบบการบริหารจัดการที่ออกอาการแย่อย่างนี้เกิดขึ้นอีก ก็ไม่ต่างอะไรกับการลอยแพคนไข้ อย่างอำมหิตที่สุด !

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker