บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

มติชน รายงาน อาจารย์นิติฯจุฬา ไล่"มาร์ค"เชื่อเป็นนายกฯสมัยหน้า ประเทศไม่ดีขึ้น

ที่มา thaifreenews

โดย lovethai

อาจารย์จุฬาฯเสนอ"อภิสิทธิ์"ลาออก ดีกว่ายุบสภา หานายกฯใหม่ที่มีท่าทีปรองดอง มือประสานทุกฝ่าย


วันที่ 28 ก.พ. ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬา ฯ บรรณาธิการเว็ปไซต์ www.pub-law.net แสดงความเห็นกรณีที่มีกระแสเรียกร้องให้ยุบสภา พร้อมตั้งคำถามว่า การยุบสภาคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยหรือไม่ ?



อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า " กระแสยุบสภามีที่มาจากการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ผมได้พูดไว้แล้วหลายครั้งว่า ประเทศชาติและประชาชนไม่ได้อะไรเลยจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศที่มีอยู่เลย การยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แม้ระบบจะเปลี่ยนกลับไปเป็นของเดิม แต่ผมก็ค่อนข้างมั่นใจเต็มร้อยว่าเราคงได้คนเดิมเข้ามา เพราะฉะนั้นจะยุบสภาไปทำไม"


" วันนี้ ปัญหาของประเทศชาติมีอยู่มาก เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่ามีความแตกแยกระดับสูงในสังคม มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย มีปัญหาเศรษฐกิจ มีปัญหาเงินเฟ้อ มีปัญหาชายแดน มีปัญหากัมพูชา การยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่คงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น"


"อย่างไรก็ตาม ในแง่จิตวิทยา การยุบสภาอาจดีกว่าการอยู่เฉย ๆ แล้วไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย เพราะความสนใจของผู้คนในช่วงเวลา 3 เดือน คงไปอยู่ที่การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็คงลดน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะลดน้อยลงไปด้วย"


นอกจากนี้ เมื่อเกิดรัฐบาลใหม่ ความแตกแยกในสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะกลับมาอีก เสื้อเหลืองสนับสนุนรัฐบาลก็หมายความว่าเสื้อแดงคงคัดค้าน ในทางกลับกัน เสื้อแดงสนับสนุนรัฐบาล เสื้อเหลืองก็คงคัดค้านเช่นกัน ความวุ่นวายก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่มีวันจบ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างน้อย ก็เพื่อพยายามแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ

" ความเห็นส่วนตัวของผมนั้น หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกใช้วิธียุบสภา มีปัญหาตามมาแน่นอนครับ เรื่องแรกก็คือ กติกาในการเลือกตั้งที่ควรจะต้องให้รัฐสภาเป็นคนแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งที่ถูกรัฐธรรมนูญแก้ไข การเลือกให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลือกตั้งแทนที่จะให้รัฐสภาเป็นคนวางเกณฑ์เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้แล้ว การเลือกตั้งก็ต้องเสียเงินมากมายหลายพันล้านบาทเพื่อให้คนแบบเดิม ๆ เข้ามาใหม่ และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องถูกต่อต้านอยู่แล้ว เนื่องจากสังคมยังคงแตกแยกแบ่งเป็นฝ่ายอยู่"

"ผมจึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกครับ ผมคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย หากนายกรัฐมนตรีลาออกแล้วเราได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีท่าทีปรองดองและเป็นมือประสานเข้ามาสร้างความปรองดองอย่างจริงจัง แก้ปัญหาสองมาตรฐานที่ค้างคาใจผู้คนจำนวนมากให้เรียบร้อย มีคำตอบสำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการชุมนุมเมื่อพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมสามารถปฏิบัติได้เกี่ยวกับการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่วนรัฐสภาก็รีบเร่งจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ซึ่งควรใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จและมีความชัดเจนแล้วว่า ปัญหาของประเทศคลี่คลายลงไปในทางปรองดอง ค่อยคิดเรื่องการยุบสภา"

" ผมไม่หวังว่า ข้อเสนอผมจะมีผู้เห็นด้วย แต่อยากจะขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกวิธียุบสภาและพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีครับ เพราะจากที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต่างก็ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนี้เหมือน ๆ กัน ยุบสภาไปแล้ว เลือกตั้งเข้ามาใหม่ นายกรัฐมนตรีคนเดิม เราก็คงต้องอยู่กับปัญหาเดิม ๆ ต่อไป ลองพิจารณาดูด้วยว่า การลาออกอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่อย่างน้อยก็จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศในการเลือกตั้ง แล้วก็อาจแก้ปัญหาได้ก็ได้ ถ้า ไม่ลองก็ไม่รู้ " ดร.นันทวัฒน์ แสดงความเห็น


(ที่มา มติชน , 28 กุมภาพันธ์ 2554)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker