บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ออก พ.ร.ก.ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ไปใช้ ปี 40 ทำไม่ได้

ที่มา ประชาไท

ชำนาญ จันทร์เรือง โต้ 'มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ' กรณีเสนอให้มีการทำประชามติว่าจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 และให้ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้

ผมไม่ อยากเชื่อว่าข่าวจากคอลัมน์บุคคลในข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ที่รายงานว่า นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ที่ปรึกษาคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการทำประชามติว่าจะเลือกใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 50 และเชื่อว่าประชาชนจะเลือกรัฐธรรมนูญปี 40 แล้วหลังจากนั้นก็ให้ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้นั้นเป็นความจริง

ที่ผมไม่อยากจะเชื่อเพราะนายมานิตย์นั้น เป็นถึงอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาล อาญา อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มีคนเคารพ นับถืออยู่เป็นจำนวนมาก(หนึ่งในนั้นก็หมายความรวมถึงผมด้วย)จะเสนอความเห็น ออกมาเช่นนั้น เพราะด้วยเหตุหลักการพื้นฐานง่ายๆที่มีการเรียนการสอนอยู่ในวิชากฎหมาย เบื้องต้นว่าด้วยศักดิ์ของกฎหมายนั้นรัฐธรรมนูญอยู่ในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า พระราชกำหนดนั่นเอง

คำว่า “ศักดิ์ของกฎหมาย” (Hierarchy of Law) หมายถึงลำดับขั้นของกฎหมาย หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของกฎหมายแต่ละฉบับนั้น พิจารณาได้จากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย หมายความว่ากฎหมายแต่ละฉบับจะมีลำดับชั้นของกฎหมายในระดับใด ให้พิจารณาจากองค์กรที่ออกกฎหมายฉบับนั้น ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ออกโดยองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ คือ รัฐสภา แต่บางกรณีในประเทศที่ด้อยพัฒนาและล้าหลังก็อาจมีองค์กรอื่นเป็นผู้จัดทำ กฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญได้ เช่น คณะรัฐประหารออกธรรมนูญการปกครอง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นต้น

ผลของการจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่ มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่า หรือกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่าได้ให้อำนาจไว้ เช่น รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภาในการออกพระราชบัญญัติ ซึ่งก็เท่ากับว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท ส่วนพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดเป็นกฎหมายลูกบท

2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า จะมีเนื้อหาที่เกินขอบเขตอำนาจที่กฎหมายที่มีศักดิ์กฎหมายสูงกว่าให้ไว้ไม่ ได้ มิฉะนั้น จะไม่มีผลบังคับใช้

3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีการขัดหรือแย้งกัน จะต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ามาใช้บังคับไม่ว่ากฎหมายที่มีศักดิ์สูง กว่าจะออกเป็นกฎหมายก่อนหรือหลังกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า

ในส่วนของ กฎหมายไทยที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่ละฉบับจะมีศักดิ์ของ กฎหมายหรือ ลำดับชั้นของกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งหมด พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด เป็นกฎหมายลูกของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ส่วน พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เหล่านี้เป็นกฎหมายที่อาศัยพระราชบัญญัติในการออกเป็นกฎหมาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทยจึงเรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้
1) รัฐธรรมนูญ
2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมาย
3) พระราชกฤษฎีกา
4) กฎกระทรวง
5) กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รัฐธรรมนูญ เป็น กฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครอง และระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากกว่ากฎหมายฉบับใด กฎหมายฉบับอื่นจะบัญญัติโดยมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ฯลฯ หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับใช้

พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการบัญญัติให้กับฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี จะมีอำนาจในการออกพระราชกำหนดเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติได้ในกรณี พิเศษตามที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องการการดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยหลังจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดนั้นแล้ว จะต้องนำพระราชกำหนดมาให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะกลายเป็นกฎหมายถาวร แต่หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะสิ้นผลไป แต่ การดำเนินการใด ๆ ก่อนที่พระราชกำหนดจะสิ้นผลไป ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ภายหลังจะปรากฏว่า พระราชกำหนดนั้นสิ้นผลไปก็ตาม

พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ฯลฯ พระราชกฤษฎีกาจะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่ออกโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญ ดังเช่นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดไม่ได้ รวมทั้งจะบัญญัติเนื้อหาที่เกินขอบเขตของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ไม่ได้ ด้วย

ในอดีตรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ให้ปิด ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลของการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับดัง กล่าวว่าเนื่องจากเกิดความแตกแยกในคณะรัฐมนตรีออกเป็น 2 ฝ่าย ด้วยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย(ฝ่ายหลวงประดิษฐ์มนูธรรม)ต้องการวางนโยบาย เศรษฐกิจใหม่ตามแนวทางอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อีกฝ่ายซึ่งมีเสียงส่วนมากไม่ปรารถนาจะให้เป็นเช่นนั้น เพราะจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชน การที่สภาผู้แทนราษฎรพยายามดำเนินการวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่โดยมีลักษณะ ประดุจการพลิกแผ่นดินเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องปิดสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว

แต่ ผลที่ตามมาคือการรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 ให้มีการเปิดสภาเหมือนเดิม จนในที่สุดพระยามโนปกรณ์ฯต้องไปสิ้นชีวิตที่ปีนังในท้ายที่สุด

ซึ่ง เป็นตัวอย่างของการรัฐประหารเงียบด้วยการใช้พระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับที่ต่ำกว่าไปยกเลิกหรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราซึ่ง เป็นกฎหมายในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า ซึ่งไม่ถูกต้องตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

หรือว่าจะเอากันอย่างนั้น ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่เอาด้วยครับ

----------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2554

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker