ต้านแลนด์บริดจ์ – ชาวบ้านจังหวัดสตูลและสงขลา ร่วมประกาศเจตนารมณ์คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล
เมื่อ เวลา 09.00 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมนามนิพัทธ์ โรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวาง แผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ นักธุรกิจ นักวิชาการ ประชาชนจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และประชาชนจากจังหวัดสตูล เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 60 คน
นางสาวอุ่น เรือน เล็กน้อย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย 25 ครั้ง และผลสำรวจจากแบบสอบถาม 2 ชุดกว่า 5,000 ฉบับ ระหว่างเดือนกันยายน 2553–พฤษภาคม 2554 ในจังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี ตามโครงการสำรวจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการ ของประชาชน ในจังหวัดสตูล–สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่องอำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
นางสาวอุ่นเรือน เปิดเผยผลการสำรวจว่า ชาวบ้านต้องการให้พัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยพัฒนาภาคการเกษตรและประมง และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในรูปของการท่องเที่ยว ดำรงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร ที่มีการจัดโซนนิ่ง (การกำหนดพื้นที่) ที่ชัดเจน
นายเจะปิ อนันทบริพงษ์ ชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนและชาวบ้านจะนะ เพิ่งทราบจากพี่น้องจังหวัดสตูลว่า จะมีการจัดเวทีฯ ในวันนี้ ทำไมถึงไม่เชิญพวกตน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการรัฐ อีกไม่นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ที่ต้องเจอโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ
นาง สุไรด๊ะ โต๊ะหลี ชาวบ้านจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา เสนอในวงเสวนาว่า ขอให้ทางสถาบันวิจัยสุงคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกโครงการแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ปัจจุบันนี้ที่จะนะ มีโรงแยกก้าซทรานไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะ ตนและชาวบ้านไม่ไว้ใจใครอีกแล้วไม่ว่า บริษัท สถาบันวิชาการ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ไปรับงานจากภาครัฐก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากแล้ว
“ผล กระทบจากโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้า ทำให้คลองนาทับเน่าเสียเลี้ยงปลาในกระชังไม่ได้ น้ำยางพาราก็แทบไม่ไหล ชาวประมงพื้นบ้านก็หันไปทำงานก่อสร้างกันหมด เพราะในทะเลแทบไม่มีปลา ผู้นำชุมชนกับชาวบ้านก็อยู่กันคนละฝ่ายไม่กล้าเจอหน้ากัน” นางสุไรด๊ะ กล่าว
นาง สาวอุ่นเรือน ชี้แจงว่า โครงการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นในโครงการสำรวจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้อง กับความต้องการของประชาชนในจังหวัดสตูล–สงขลาและพื้นที่ต่อเนื่อง ขอให้ก้าวให้พ้นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่เราเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อสะท้อนให้สภาพัฒน์พิจารณาจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ จากความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ” นางสาวอุ่นเรือน ชี้แจง
ต่อมา เวลาประมาณ 10.40 น. ชาวบ้านจากจังหวัดสตูล รวมถึงเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ประมาณ 70 คน เดินทางเข้าร่วมเวทีฯ
นาย วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า กระบวนการดำเนินการทบทวนโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของสภาพัฒน์ โดยไปจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2553 และมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้น
นายวิโชคศักดิ์ ถามว่า เวทีย่อย 25 ครั้งที่จัดเคยเชิญพวกตนไปร่วมเวทีบ้างหรือไม่ ทำไมการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจึงไม่มีการเชิญชุมชนที่ได้รับความเดือด ร้อนอย่างแท้จริงมาประชุมบ้างเลยสักครั้ง คนจังหวัดสตูลและสงขลาไม่เอาแลนด์บริดจ์ แต่มีแลนบก (เหี้ย) 6 ตัว ที่จับมาจากบ้านอยู่ในกระสอบข้างล่างจะดูหรือไม่ ถ้าจะดูเดี๋ยวจะนำมาเข้าร่วมเวที
นางสุไรด๊ะ ถามว่า คนในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา คนในอำเภอละงู จังหวัดสตูล ทำไมไม่เคยได้ร่วมเวทีกลุ่มย่อยเลยสักครั้ง
นาย สมชาย ศักดาเวคีอิศร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การดำเนินการจัดประชุมกลุ่มย่อยนั้น ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจไปพบกับชาวบ้านในพื้นที่ไม่ถูกกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล ได้เติมเต็มประเด็นประสบความเดือดร้อนโดยตรง มาสะท้อนในเวทีนี้
“ความ ต้องการของชาวบ้านจากจังหวัดสตูลและสงขลา ตรงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ ฉบับที่ 11 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการพัฒนาแบบยั่งยืนและสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้ระบุโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆ ไว้เลย” นายสมชาย กล่าว
นาย สมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนได้รับบทความจากอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความระบุชัดว่าแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล เป็นยุทธศาสตร์พลังงาน การขนถ่ายน้ำมัน และรองรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สอดคล้องกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะไม่คุ้มทุนถ้าไม่มีนิคมอุตสาหกรรมรองรับ
นาย ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงว่า สภาพัฒน์ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เพื่อจัดทำร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ต่อมา วันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทบทวนแผนดังกล่าว
“ทางสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ไม่เข้าใจจึงนำร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติทบทวน อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรียังตีความผิดว่า ให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจัดทบทวน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนเอง” นายชาญวิทย์ กล่าว
นายชาญวิทย์ ชี้แจงต่อไปว่า สภาพัฒน์ยังไม่มีแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ที่ระบุว่าจะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นการผลักดันของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และโครงการศึกษาออกแบบและรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทางรถไฟเชื่อมโยงขนส่งอ่าวไทย–อันดามัน ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) ส่วนโครงการการวางท่อน้ำมันและคลังน้ำมัน 2 ฝั่ง อำเภอละงู จังหวัดสตูล กับอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน ไม่ได้เป็นแผนของสภาพัฒน์
นายชาญวิทย์ ชี้แจงอีกว่า ตอนนี้สภาพัฒน์ให้ความสนใจกับการลงทุนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า ตั้งแต่การวางโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มีพื้นที่รองรับการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมกว้างขวาง ส่วนที่กระทรวงคมนาคมกับพรรคเพื่อไทย มีนโยบายผลักดันการก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ถ้าไม่สอดรับกับแผนสภาพัฒน์ก็สร้างไม่ได้
“วันนี้ชาวบ้านจากจังหวัด สตูลและสงขลา ได้มายืนยันผลกระทบจากความเดือดร้อน จากโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูล ผมและทางสถาบันวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำกลับไปเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายชาญวิทย์ กล่าว
ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. ชาวบ้านได้มีการยืนแถวยาวคู่ขนาน แบ่งแถวหนึ่งเป็นชาวบ้านจังหวัดสตูล อีกแถวหนึ่งเป็นชาวบ้านจังหวัดสงขลา จับมือทำพันธสัญญาและประกาศเจตนารมณ์ผนึกกำลังต่อสู้คัดค้านโครงการ แลนด์บริดจ์สงขลา–สตูลจนถึงที่สุด
นางสาวอุ่นเรือน กล่าวต่อที่ประชุมว่า เมื่อตนได้รับเสียงสะท้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบา รา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 รวมถึงสะพานเศรษฐกิจสงขลา–สตูลเช่นนี้ ตนจะนำเสนอให้สภาพัฒน์ทบทวนโครงการทั้งหมดต่อไป
“เสียงสะท้อนจากคน จังหวัดสตูลทำให้ทราบว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสตูลมากมาย ไม่ว่าแหล่งหญ้าทะเลที่บริเวณจะสร้างท่าเรือฯ ซึ่งมีฝูงพะยูนหากิน ทั้งมีปะการังเจ็ดสีที่ยังสมบูรณ์ที่สุดในฝั่งอันดามัน อีกทั้งยังมีการเตรียมการจัดตั้งอุทยานธรณีละงู–ทุ่งหว้า–เภตรา–ตะรุเตา ซึ่งเป็นแหล่งฟอสซิลระดับอาเซียน” นางสาวอุ่นเรือน กล่าว