บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กองกำลังทราบฝ่าย VS มือที่มองเห็น

ที่มา thaifreenews

โดย bozo



ทันทีที่คณะกรรมการการเลือก ตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น ส.ส.
การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวันที่ 19 กรกฎาคมก็ปรับเพิ่มขึ้นถึง 12.83 จุด สวนทางตลาดหุ้นในเอเชีย
ซึ่งสะท้อนถึงการขานรับ “ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง” คนแรกของประเทศไทย
เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะทำให้สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจดีขึ้น
หากไม่มีการปลุกระดมและบิดเบือนแอบอ้างสถาบันเพื่อสร้างกระแสล้ม “ระบอบทักษิณ” อย่างในอดีต

80% ต้องการ “ยิ่งลักษณ์”

จึงไม่แปลกที่ก่อนหน้านี้ กกต. แขวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย
ถึงการใช้อำนาจของ กกต. ที่อาจส่งผลให้เกิดการจุดชนวนวิกฤตการเมืองไทยครั้งใหม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน นักการเมือง นักวิชาการ หรือนักลง ทุน รวมทั้งประชาคมโลก
ที่ออกมาแสดงความสงสัยอำนาจของ กกต.ไทย
อย่างเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยที่บอกกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า
กกต.ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีอำนาจทั้งจัด การเลือกตั้ง สอบสวน และลงโทษ
แต่ กกต.อินเดีย มีหน้าที่แค่จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่านั้น

ขณะที่เอแบคโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 17 จังหวัด
ปรากฏว่า 80.4% อยากให้โอกาส น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
และอยากให้เป็นประธานรณรงค์สร้างชาติให้โปร่งใสซื่อตรง

ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนส่วน ใหญ่เห็นว่าควรอยู่เบื้องหลังและอยู่เฉยๆ
เพราะอาจ เกิดอุปสรรคทำให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
และกลัวประเทศชาติถอยหลังจนเกิดการยึดอำนาจอีก

สัญญาณการเมืองที่ดี

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ให้ความเห็นถึงผลสำรวจครั้งนี้ว่า
ชี้ให้เห็น ชัดเจนถึงอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนที่อยากเห็นประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า
มีความหวังกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์
แสดงความสามารถในการบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามที่หาเสียงไว้

ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆในแง่ลบอาจเป็นเพียง “สมมุติฐาน” และ “อคติ”
ที่ต้องรอการพิสูจน์ความจริงและข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลทำงานแล้ว
แต่ทุกฝ่ายก็ยอมรับเสียงของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงการตรวจสอบ
การทำงานของรัฐบาลใหม่อย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อเสถียรภาพการเมืองการปกครอง

มือถือสาก ปากถือศีล?

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ท่องคาถา “ความปรองดอง”
แต่กลับพยายามใช้วาทกรรมตอกย้ำเรื่องการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณและคนเสื้อแดงอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุดนายอภิสิทธิ์เขียนผ่านเฟซบุ๊คว่าคนส่วนใหญ่ต้องการก้าวพ้นความขัดแย้งในอดีต
ประเทศไทยและประชาชนไทยไม่ต้องการวิกฤตอีกรอบ
โดยเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงลดการเผชิญหน้าและการแบ่งแยกประชาชน
ในขณะที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์
กลับลืมสำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าได้ลด ละ เลิก ความ อคติ และ “ดับไฟ” ในตัวเองได้หรือไม่
เพราะการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก็ใช้การปลุกกระแส “ถอนพิษทักษิณ”
และทำให้ประชาชนเข้าใจว่าหาก “ระบอบทักษิณกลับมา จะทำร้ายประเทศอีก”

นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จึงถูกมองว่าไม่ได้แตกต่างจากบรรดา “ขาประจำ”
ที่วันนี้ยังไม่ได้ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งยังพยายามนำมาเป็นเครื่องมือ “หากิน”
ทางการเมืองและแบ่งแยกประชาชน โดยแอบอ้างความรักชาติและรักสถาบัน

ประชาคมโลกมองไทย

นักการทูตประเทศต่างๆที่แสดงความยินดีและหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์
จึงแสดงความกังวลถึงกลุ่มอำนาจที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
โดยเฉพาะกลุ่มขาประจำและกองทัพที่สนับสนุนฝ่ายอำมาตย์
โดยเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเสียงท่วมท้นจากประชาชนกว่า 15 ล้านเสียงนั้น
จะทำให้ประชาธิปไตยและความยุติธรรมที่แท้จริงเกิดขึ้น
และนำ ไปสู่การปรองดองได้ แม้จะมีอุปสรรคไม่น้อยก็ตาม

โดยเฉพาะปัญหากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน หรือนิติรัฐ
ที่ “สั่งได้” จนทำให้กว่า 1 ปีที่ผ่านมาไม่มีคำตอบใดๆในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษ-ภาอำมหิต”
เพราะแม้แต่รัฐบาลหรือกองทัพต่างก็ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบและยืนยันว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิด
แต่โยนความผิดไปให้ “ไอ้โม่งชุดดำ” และคนเสื้อแดงว่าเป็น “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” หรือ “ผู้ก่อการร้าย”

“คนสั่งจึงยังลอยหน้า คนฆ่าก็ยังลอยนวล”
สายตาของประชาคมโลกจึงจัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม
ประเทศเผด็จการและละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงจนทุกวันนี้

อย่างที่นายรูดี้ เวสตราเติน เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย
ที่เข้าแสดงความยินดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เพียงสนใจเรื่องแนวทางการปรองดอง
ที่ยังให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและ ค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ทำงานต่อไปเท่านั้น
แต่เอกอัครราชทูตเบลเยียมยังแสดงความเห็นเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทยด้วย
โดยระบุว่า กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยังจับตามองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดง
ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”
การปล่อยตัวชั่วคราวคนเสื้อแดงและนักโทษคดีการเมือง ให้ออกมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
รวมทั้งกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้อพยพที่มีการผลักดันชาวโรฮิงยาออกนอกประเทศไทย

ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากลแห่งสหประชาชาติ (Amnesty International)
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้จัดทำรายงานประจำปี 2554
ระบุถึงประเทศไทยว่ามีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
เพราะยังมีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ วิทยุ และโทรทัศน์ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์
ซึ่งเป็นการควบคุมและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงจากการขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธภายในภาคใต้ที่ยังดำเนินอยู่
การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมต่อต้านที่กรุงเทพฯและอีกหลายจังหวัด
มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของฝ่ายกองทัพ และยังมีการควบคุมตัวผู้ประท้วงอีกหลายร้อยคน
โดยใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการประกาศใช้เกือบ 8 เดือน
ซึ่งมีข้อบัญญัติหลายประการที่ขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ปัญหารัฐบาลยิ่งลักษณ์

การเป็น “นายกรัฐมนตรีหญิง” คนแรกของประเทศไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบ กุหลาบ ซึ่งบางคนเปรียบเหมือน “ทุกขลาภ”
เพราะ ตั้งแต่เริ่มประกาศชัดเจนว่าจะเข้าสู่สนามการเมือง
ก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์ขุดคุ้ยเอาเรื่องส่วนตัวมาโจมตีทันที
ขณะที่กลุ่มขาประจำอย่างนายแก้วสรร อติโพธิ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
ก็ยังไม่ลดละที่จะใช้เงื่อนไขทางกฎหมายสกัด น.ส.ยิ่งลักษณ์

ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ดำเนินการยื่นหนังสือ
ทั้งคัดค้านการรับรองผลการเลือกตั้งและขอให้จัดการเลือกตั้งใหม่
รวมถึงการให้เอาผิด กกต. ว่าจัดการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง
แม้ศาลจะไม่รับฟ้องก็ตาม

นายพิภพ ธงไชย หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ออกมาประกาศว่า
จุดตายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และ พ.ต.ท.ทักษิณคือ
จะต้องไม่แสดงให้เห็นว่าใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องบริวาร
ส่วน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็ประกาศว่า หากมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
หรือมาตรา 112 พันธมิตรฯก็พร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวทันที

รุมถล่มนโยบายพรรคเพื่อไทย

ขณะที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยทั้งที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือมีการเปิดประชุมสภาอย่างเป็นทางการ
พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มการเมืองต่างๆทั้งขาประจำและกลุ่มทุนต่างก็ออกมาคัดค้านและต่อต้านกันอย่างมาก
โดยเฉพาะนโยบายปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน

โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประชุมนัดพิเศษ
เพื่อพิจารณาผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
และมีมติว่าไม่เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นทั่วประเทศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี
โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่หากรัฐบาลปรับขึ้นจริง
ต้องหาแนวทางจ่ายส่วนต่างของค่าจ้างให้ชัดเจน ซึ่งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล กกร. จะยื่นข้อเสนอนี้ทันที

เงินเดือน ป.ตรี 15,000 บาท

ขณะที่นโยบายขึ้นเงินเดือนให้ผู้ที่จบระดับปริญญาตรี 15,000 บาท
โดยเริ่มต้นที่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ก็มีเสียงท้วงติงจากภาคเอกชนว่า
จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเงินเดือนทั้งระบบ เนื่องจากฐานเงินเดือน
ในปัจจุบันของข้าราชการเข้าใหม่ระดับปริญญาตรีอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 บาท
และอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งผู้มีอายุงาน 2-3 ปี
จะมีเงินเดือนประมาณ 10,000 บาท ส่วนบริษัทเอกชนอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท
แต่มีการปรับขึ้นเงินเดือนไม่ต่างจากข้าราชการมากนัก

เมื่อมีการปรับฐานเงินเดือนจะทำให้โครงสร้าง เงินเดือนใหม่ทั้งระบบมีปัญหากับภาคเอกชนทันที
เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากส่วนไหนมาจ่าย ซึ่งนโยบายภาษีก็ยังไม่ชัดเจน
ในส่วนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้
ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เชื่อว่าจะทำไม่ได้นั้น
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สคร. และ
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ก็ระบุว่าทำได้ยาก ที่สำคัญภาคเอกชนจะไม่ให้ความร่วมมือ

แต่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช หนึ่งในทีมร่างนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย
และเป็นแคนดิเดตตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายืนยันว่า
นโยบายของพรรคเพื่อไทยสามารถทำได้ทั้งหมด โดยประชาชนจะร่ำรวยขึ้น หนี้จะลดลง
แม้แต่ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยก็มีนโยบายภาษีช่วย
เช่นเดียวกับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท จะไม่เป็นภาระกับเงินงบประมาณ

“ถ้าทำตามนายจ้าง วันนี้ค่าแรงก็ยังคง 25 บาท เหมือนสมัย 14 ตุลาคม 2516
แล้วเชื่อหรือไม่ว่า 14 ตุลาคม 2516 ที่นักศึกษาขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร
ค่าแรงปีนั้นเพิ่มขึ้นจาก 25 บาท เป็น 40 บาท ขึ้นถึง 60%
แต่ก็ไม่เห็นนายจ้างคนไหนเจ๊งเลย วันนี้ถ้าจะขึ้นจาก 215 บาท เป็น 300 บาท ขึ้นแค่ 40%”
(อ่านบทสัมภาษณ์หน้า 18)

โครงการลด แลก แจก แถม

นอกจากนี้ยังมีโครงการรับจำนำข้าวที่จะนำมาใช้แทนโครงการประกันรายได้
ที่พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเป็นแสนล้านบาท
แต่ก็มีการท้วงติงว่าอาจขัดกับเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก
ที่ห้ามรัฐบาลสนับสนุนสินค้าเกษตรในประเทศเกินวงเงิน 20,000 ล้านบาท
ซึ่งยังมีปัญหาการตั้งราคารับซื้อเกินจริง และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างโรงสีและผู้ส่งออก

โครงการลด แลก แจก แถม อื่นๆที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก
อย่างโครงการแจกแทบเล็ตให้กับเด็ก ป.1 จำนวน 800,000 เครื่อง ที่ไม่ใช่แค่การจัดซื้อ
แต่ยังต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับซอฟต์แวร์หรือความรู้ที่จะให้กับเด็กด้วย

ขณะที่โครงการพักหนี้ครัวเรือน 500,000 บาท
โครงการเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 1 ล้านบาท
ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น
หากทำไม่ได้หรือทำแล้วมีปัญหาก็เชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามต้องรุมถล่มเต็มที่อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ล้มตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น เช่น “โครงการถมทะเลสร้างเมืองใหม่”
ที่จะก่อสร้างเขื่อนลึกลงในทะเล 10 กิโลเมตร ความยาว 30 กิโลเมตร
ตั้งแต่สมุทรสาครถึงปากน้ำ สมุทรปราการ โดยการถมทะเล
เพื่อจัดสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่รวม 200,000 ไร่ แม้ไม่ต้องใช้เงินกู้
แต่กลุ่มเอ็นจีโอก็ออกมาประกาศคัดค้านเต็มที่ ทั้งยังต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ก่อนอีกด้วย

ถูกต่อต้านต้องเดินหน้า

ดังนั้น แค่นโยบายการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจก็ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ที่ต้องทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบกับหลายส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน
แต่นโยบายส่วนใหญ่ก็เป็นความหวังของประชาชนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นแต่รายได้กลับลดลง

หากพรรคเพื่อไทยทำไม่ได้ หรือทำแล้วมีปัญหา ก็จะถูกรุมถล่มทันที
เพราะวันนี้แค่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ก็ออกมาจี้ให้พรรคเพื่อไทยแสดงความชัดเจน
ในนโยบายต่างๆแล้ว โดยอ้างว่าจะกระทบกับงบประมาณและการลงทุนของภาคเอกชน
ทั้งๆที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์เองก็ถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชน

พรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องชี้แจงรายละเอียดโครงการต่างๆ
ให้ประชาชนเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อไร
รวมทั้งรับฟังเสียงคัดค้านจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
แต่ต้องยึดผลประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน เพราะวลีที่ว่า
“ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” นั้นมีความหมายไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย

แม้แต่การแต่งตั้งรัฐมนตรีก็ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก
ขณะที่แกนนำเสื้อแดงก็เหมือน “สายล่อฟ้า” ไม่ต่างกับครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์
เคยดึงนายกษิต ภิรมย์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงไม่ใช่แค่แสดงความเป็นผู้นำที่ไม่ใช่ “โคลนนิ่ง” เท่านั้น
แต่ยังต้องแสดง ความเป็นผู้นำที่มีความเด็ดขาด กล้าคิด กล้าทำ
พร้อมๆกับเริ่มต้นนับหนึ่งในการต่อสู้กับ “มือที่มองไม่เห็น”
ที่หนุนหลัง “กองกำลังทราบฝ่าย”
ที่มาในคราบของกลุ่มการเมือง ภาคประชาชน และองค์กรอิสระต่างๆ
ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะทำทุกวิธี
เพื่อ สกัดไม่ให้ “ระบอบทักษิณ” กลับมามีอำนาจทางการเมืองการปกครองแบบเบ็ดเสร็จเหมือนในอดีต
โดยจะใช้ความผิดพลาดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลมาเป็นเงื่อนไขในการทำลาย

“มือที่มองเห็น” 15 ล้านเสียงที่ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทย
ที่ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย
จะสู้กับ “กองกำลังทราบฝ่าย” ได้นานแค่ไหน?

คนไทยและสังคมโลกกำลังเฝ้าดูอย่างไม่กะพริบตา!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 320 วันที่ 23 - 29 กรกฏาคม 2554 พ.ศ. 2554
หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11532

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker