คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
สับไก กระสุนธรรม
เมื่อจะมีการเปิดประชุมสภา และการจัดตั้งคณะรัฐบาล
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่คาดว่าจะตามมาคือ บทบาทของแกนนำกลุ่มเสื้อแดงในรัฐบาลชุดใหม่
ยิ่งหากมีคนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ย่อมถูกวิจารณ์เป็นพิเศษ
ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา
สมัย ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จัดตั้งรัฐบาลและมีบุคคลที่เคลื่อนไหวชัดเจนอยู่ในกลุ่มเสื้อเหลืองขึ้นเป็น รัฐมนตรี ก็ถูกวิจารณ์เช่นกัน
แต่สิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีต้องคิดให้หนักกว่ารัฐบาลชุดก่อนก็คือความเหมาะสม ของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนั้นๆ
กรณี นายกษิต ภิรมย์ ผู้เคยใช้วาทะฉะผู้นำประเทศเพื่อนบ้านระหว่างการชุมนุมกับกลุ่มเสื้อเหลือง ได้ขึ้นเป็นรมว.ต่างประเทศ ถูกวิจารณ์หนัก เพราะมีคำถาม คาใจเรื่องความเหมาะสม
ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่ควรเกิดขึ้นอีกในรัฐบาลใหม่
โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงแรงกดดันมากมายที่รออยู่
ทั้งความคาดหวังของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ยาเสพติด ไฟใต้ ฯลฯ บวกกับข้อกล่าวหาเก่าๆ เรื่องก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง
แม้พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมมากที่สุดในการเลือกตั้ง แต่ด้วยเงื่อนไขในกระบวนการปรองดอง ก็ต้องเกรงใจประชาชนกลุ่มต่างๆ ด้วย
ในขณะเดียวกันประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมถึงกลุ่มที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย ก็ควรให้เกียรติและเคารพต่อเสียงส่วนใหญ่
บทเรียนจากต่างประเทศที่ผ่านกระบวนการปรองดองมาแล้ว บ่งบอกว่าการเคารพเสียงส่วนใหญ่สำคัญมาก
เนล สัน แมนเดล่า เคยเป็นผู้นำนักเคลื่อนไหวตัวยงที่ถูกจับขังคุกในข้อหาก่อวินาศกรรมมาแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการประชา ธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ก็ขึ้นเป็นผู้นำแอฟริกาใต้ในปี 2534-2542
กลุ่มซินเฟนในไอร์ แลนด์เหนือ มีสมาชิกหลายคนเคยสังกัดกองกำลังติดอาวุธไออาร์เอมาก่อน แต่เมื่อวางอาวุธเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ประชาชนเลือก ก็หันมาทำหน้าที่นักการเมืองแทนนักรบ
ถ้าไม่เปิดใจให้กว้าง กระบวนการแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้