Norway's Prime Minister Jens Stoltenberg hugs Labour Youth Wing leader Eskil Pedersen (R) in Sunvold July 23, 2011. REUTERS/Truls Brekke- ภาพนายกรัฐมนตรีสวมกอดผู้นำเยาวชนแรงงาน
โดย ปราปต์ บุนปาน
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2554)
ข่าวนายอันเดอร์ส เบห์ริ่ง เบรวิก ชายวัย 32 ปี ชาวนอร์เวย์ ที่ (ร่วม) ก่อเหตุวางระเบิดกลางกรุงออสโล และกราดยิงเยาวชนที่ไปเข้าค่ายกิจกรรมของพรรคแรงงานบนเกาะอูโทยา
กระทั่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 76 ศพ
กลายเป็นข่าวคราวสะเทือนขวัญระดับโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เมื่อประเทศที่สงบสุข เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ และรับประกันมาตรฐานการครองชีพของประชากรด้วยนโยบายรัฐสวัสดิการ
ต้องเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมเช่นนั้น
ภายหลังเกิดเหตุระเบิดกลางกรุงออสโลได้ไม่นาน สื่อมวลชนและผู้คนส่วนใหญ่ต่างเพ่งเล็งว่า "กลุ่มผู้ก่อการร้าย" จากโลกอาหรับน่าจะเป็นฝ่ายก่อปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมดังกล่าว
แต่เมื่อมีการจับกุมตัวนายเบรวิกได้ การณ์กลับพลิกตาลปัตรไปโดยสิ้นเชิง
เพราะผู้ลงมือปฏิบัติการวางระเบิด-กราดยิงชาวนอร์เวย์ในครั้งนี้
มิได้เป็น "คนนอก" หรือ "ภัยคุกคาม" จากโลกมุสลิมดังที่คาดการณ์กันไว้
หากเป็นปฏิบัติการของชาวนอร์เวย์ด้วยกันเอง ที่มีแนวคิด "ขวาจัด" คลั่งศาสนาจนกลายเป็นพวก "คริสเตียนหัวรุนแรง"
ซึ่งต่อต้านลัทธิ "พหุนิยมทางวัฒนธรรม" และการอพยพเข้ามาในทวีปยุโรปของคนเชื้อสายมุสลิม
แม้จะเคยประสบกับเหตุสังหารหมู่ที่ลงมือโดย "ฝ่ายขวา" หรือ ผู้ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม -ความคิดความเชื่อทางการเมือง มาเหมือนกัน
ทว่ากรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับนอร์เวย์ก็คงมีความแตกต่างไปจากโลกทัศน์แบบไทยๆ อยู่มากพอสมควร
เมื่อความรุนแรงจาก "ฝ่ายขวา" ได้ก่อตัวขึ้นมาในฝั่ง "ภาคประชาชน"
มิใช่ก่อตัวขึ้นมาจาก "ภาครัฐ" หรือมีสถานะเป็น "เครื่องมือ" หรือ "กลไก" หนึ่ง ของ "ฝ่ายรัฐ"
ดังจะเห็นชัดเจนว่า ทุกๆ สถาบันที่กอปรขึ้นเป็น "รัฐนอร์เวย์" ได้แสดงท่าทีโศกเศร้า และมีจุดยืนตรงกันข้ามกับพฤติการณ์ของนายเบรวิกอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นอกจากนี้ หลังเหตุการณ์ความรุนแรง-สูญเสีย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
หลายคนวิตกกังวลว่า "สังคมเปิด" ที่เคยเต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งยึดมั่นในคุณค่าของชีวิตมนุษย์และคุณค่าประชาธิปไตยอย่างนอร์เวย์ จะเปลี่ยนแปลงไป
เช่น มาตรการรักษาความปลอดภัยอาจถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
เพราะสังคมกำลังถูก "ความกลัว" และ "ความหวาดระแวง" เข้าปกคลุม
อย่างไรก็ตาม นายเจนส์ สตอลเทนเบิร์ก นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ได้แถลงการณ์ ซึ่งเป็นดังการให้คำตอบต่อความกังวลดังกล่าวไว้ว่า
"...ใน คืนนี้ พวกเราจะดูแลกันและกัน พูดคุยกัน และยืนหยัดด้วยกัน พรุ่งนี้ พวกเราจะแสดงให้โลกได้เห็นว่าประชาธิปไตยของนอร์เวย์จะยิ่งเข้มแข็งขึ้น ในยามที่มันถูกท้าทาย
"...เราต้องไม่ลดละจากการลุกขึ้นยืนเพื่อคุณค่าที่เราเชื่อ เราต้องแสดงให้เห็นว่าสังคมเปิดของเราจะผ่านพ้นการทดสอบนี้ไปได้
"ว่าคำตอบต่อความรุนแรงคือ ประชาธิปไตยที่มากยิ่งขึ้น ความเป็นมนุษย์ที่มากยิ่งขึ้น หากแต่ต้องไม่ไร้เดียงสา"