ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องโผคณะรัฐมนตรีในสายตาของสาธารณชน และเพลงปลุกใจที่ประชาชนชื่นชอบอยากฟังในช่วงนี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ชลบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาสและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,478 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26 - 30 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา พบ ว่าประชาชนที่ถูกศึกษาจำนวนมากหรือร้อยละ 44.0 คิดว่ากระแสการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของว่าที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แรงขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 42.9 คิดว่ากระแสแรงเท่าเดิม และร้อยละ 13.1 คิดว่าลดลง
เมื่อถามถึงตัวเก็งคณะบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีและงานสำคัญ ในรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของ ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 ระบุเป็นนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีรับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ รองลงมาคือ ร้อยละ 56.6 ระบุ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นรัฐมนตรี ดูแลระบบงานตำรวจ ร้อยละ 54.8 ระบุ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ร้อยละ 54.2 ระบุ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดูแลด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 52.7 ระบุนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ดูแลกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 51.5 ระบุนายธีระ วงศ์สมุทร ดูแลงานเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 50.3 ระบุ พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก ดูแลด้านความมั่นคง ร้อยละ 49.6 ระบุนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ดูแลกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 46.6 ระบุนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ดูแลกระทรวงพลังงาน ร้อยละ 44.3 ระบุนาย ดอน ปรมัตวินัย ดูแลกระทรวงการต่างประเทศ ร้อยละ 41.4 ระบุ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ดูแลด้านเศรษฐกิจ และร้อยละ 36.9 ระบุนายวิกรม คุ้มไพโรจน์ ดูแลงานการต่างประเทศ ตามลำดับ
เมื่อ ถามถึงข้อเสนอแนะ ของประชาชนต่อ ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.6 ระบุทำให้ได้อย่างที่เคยพูดทันที สัญญาอะไรและหาเสียงไว้กับประชาชนทำให้ได้ตามนั้น ร้อยละ 78.0 ระบุเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาปากท้อง เพิ่มรายได้ของประชาชน ร้อยละ 76.2 ระบุมุ่งทำให้คนในชาติเป็นหนึ่งเดียว เช่น เตรียมจัดงานยิ่งใหญ่แสดงความจงรักภักดี / ปฏิรูปงานยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ / ยึดมั่นในกฎหมายมากกว่ากฎหมู่ ร้อยละ 53.3 ระบุให้ช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ที่ทำกิน ราคาพืชผลทางการเกษตร และร้อยละ 52.1 ระบุขอให้แสดงความเป็นผู้นำ เด็ดขาด สามารถควบคุมความวุ่นวายต่างๆ ได้มากกว่านี้
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามประชาชนถึง “เพลงปลุกใจ” ที่ชื่นชอบอยากฟังในช่วงเวลานี้โดยตอบได้มากกว่า 1 เพลง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 ระบุเป็นเพลง “รักกันไว้เถิด” รองลงมาคือ ร้อยละ 23.1 ระบุเพลง ตื่นเถิดชาวไทย ร้อยละ 22.4 ระบุเพลง เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย ร้อยละ 22.2 ระบุเพลงขวานไทยใจหนึ่งเดียว นอกจากนี้ อันดับรองๆ ลงไปที่ติด 1 ใน 10 อันดับแรกได้แก่ บทเพลง เราสู้ เลือดสุพรรณ ต้นตระกูลไทย แผ่นดินของเรา พลังสามัคคี และหนักแผ่นดิน ตามลำดับ
ดร.นพดล กล่าวว่า ความสนใจของสาธารณชนต่อการจัดโผคณะรัฐมนตรียังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดอาการแกว่งตัวของฝ่ายการเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต้องแสดงความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดสยบคลื่นลมต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะตอนนี้กำลังเผชิญคลื่นลูกแรกที่ “แย่งชิงอำนาจทางการเมือง” เพื่อเป็นรัฐมนตรี คลื่นลูกที่สองคือ การวิ่งเต้นเข้าหาขั้วอำนาจของบรรดาข้าราชการประจำด้วยความพร้อมที่จะเข้า กราบไหว้เคารพยกย่องรัฐมนตรีเพื่อให้ได้ตำแหน่งบริหารประจำหน่วยงานราชการ แต่คลื่นลูกที่สามและสี่จะใหญ่โตมากกว่าคือ การแสวงหาผลประโยชน์ทั้ง “อำนาจเงิน” และ “การสนองตอบกิเลส ตัณหา” ของบรรดารัฐมนตรีและผู้ติดตามที่เข้ามากันเป็นเครือข่าย ด้วยการสนับสนุนค้ำชูของบรรดาข้าราชการประจำที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายจน คนไทยจะเห็นภาพของ “ทีใครทีมัน” และความกร่าง เจ้ายศเจ้าอย่าง ยกตนข่มท่านของผู้มีอำนาจที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
ผอ.เอ แบคโพลล์ กล่าวต่อว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ น่าจะใช้โอกาสนี้จัดบ้านใหม่ลบล้างภาพลักษณ์ในทางลบที่คนในสังคมเคลือบแคลง สงสัยตามที่กล่าวมา โดยแนะให้ดำเนินการ 3 เร่ง ได้แก่
1) เร่งทำวิจัยตลาดผลิตภัณฑ์รัฐมนตรีล็อตแรก หรือ ว่าที่ครม.ปู 1 กับกลุ่มเป้าหมายทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะ กลุ่มสื่อมวลชน ข้าราชการแต่ละหน่วยงาน และประชาชนทั่วไป เพื่อดูว่าผู้บริโภคจะซื้อหรือไม่กับโผรายชื่อตัวเก็งผู้จะมาเป็นรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มยอดขายฐานสนับสนุนรัฐบาล ลดแรงเสียดทานหรือกระแสยี้ และลดความกังวลที่ผู้วิจัยค้นพบต่อภาพที่ไม่อยากให้เกิดคือ ภาพของว่าที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องคอยจับลูกปูใส่กระด้ง ดังนั้น สถานการณ์การเมืองขณะนี้ แม่ปูต้องควบคุมได้จริง
2) เร่งทำให้ทุกคนทั้งผู้ที่ “เลือก” และ “ไม่เลือก” รัฐบาลเกิดความวางใจ (TRUST) ว่าพวกเขาทุกคนจะได้รับสิ่งที่คนอื่นๆได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากรัฐบาลและ เจ้าหน้าที่รัฐ โดยปลด “อคติแห่งนครา” จากแรงกดดันสารพัดรูปแบบในการออกนโยบายแห่งรัฐ ทำให้สาธารณชนเห็นว่าพวกเขากำลังจะได้ผู้นำประเทศตัวจริงไม่เป็นร่างทรงของ คนอื่นทั้งครอบครัวเครือญาติ พวกพ้องและกลุ่มนายทุน และ
3) เร่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีศูนย์รวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวตามบทเพลงปลุกใจ “รักกันไว้เถิด” ที่ค้นพบในผลสำรวจครั้งนี้