โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ
(ที่มา คอลัมน์ที่เห็นและเป็นไป หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2554)
เปล่า ไม่ใช่หรอก ! ไม่ใช่นักการเมือง หรือข้าราชการประจำ หรือนักวิชาการ หรือองค์กรต่างๆ ที่วางท่าเป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทางสว่างทางการเมือง
พวกนี้ลองเข้าไปคุยใกล้ๆ ฟังให้ดี ล้วนมีความคิดไปในทางเอือมระอาประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่
มุมมองของท่านผู้นำทางสังคมพวกนี้ ช่างอิดหนาระอาใจเหลือเกินกับความไม่รู้ประสีประสาของประชาชนในเรื่องการเมืองการปกครอง
"เพราะ ประชาชนไม่มีความรู้ ขาดจิตสำนึกประชาธิปไตย ประเทศไทยเราจึงไม่พัฒนาไปถึงไหนเสียที หากจะพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นมาต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อน จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือพอที่จะพึ่งพาอาศัยใช้เป็นระบบในการปกครองประเทศได้"
ฟังให้ดี ฟังใกล้ๆ จะได้ยินน้ำเสียงและความคิดแบบนี้ ในหมู่ท่านผู้นำทั้งหลาย
พูดอย่างนี้กันมายาวนานแล้ว ยกความอ่อนด้อยของการพัฒนาประชาธิปไตยไปให้ความไม่รู้ ไร้สำนึกของประชาชนเป็นต้นเหตุสำคัญ
เหมือนกับว่า หากการเมืองการปกครองของประเทศจะดีขึ้นต้องอาศัยคนเหล่านี้ไปชี้นำ ไปชักจูงประชาชนให้เห็นคุณค่าของประชาธิปไตย
แต่แนวโน้มประชาธิปไตยที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง อย่างที่บอก "ไม่ใช่เกิดจากคนเหล่านี้"
กลับกลายเป็นว่า "ประชาชนต่างหากที่นำพาประเทศก้าวไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม"
มาดูรูปธรรมกัน
ขณะ ที่กลุ่มคนที่บอกว่าเป็นผู้นำทางการเมือง เป็นผู้มีหน้ามีตาในสังคม ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญ ให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพื่อให้ได้รัฐบาลผสมที่จะทำให้อำนาจรัฐอ่อนแอ
เพราะเชื่อว่าบ้านนี้เมืองนี้เศรษฐีจะมาซื้อเสียงประชาชน และจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งขึ้นมา ยึดอำนาจรัฐไปทำธุรกิจการเมือง
รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เกิดจากความไม่วางใจประชาชน เชื่อว่าจะถูกซื้อจากนักการเมืองได้ง่าย เพราะไร้สำนึกประชาธิปไตย
ยัง มีการแก้ไขการเลือกตั้งเป็นแบบ เขตเดียว เบอร์เดียว เพราะเชื่อว่านักการเมืองจะใช้อิทธิพลส่วนตัวสร้างชัยชนะในการเลือกตั้งได้ เป็นโอกาสที่จะทำให้พรรคเล็กมีสิทธิได้รับเลือกตั้งมากขึ้น
วางกติกาไปสู่เป้าหมายว่าจะต้องให้ได้รัฐบาลผสมที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง
การเมืองไทยจะเป็นการเมืองแบบหลายพรรค ไม่เป็นระบบ 2 พรรคอย่างประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้วอื่นๆ
ผู้ นำทางความคิดทั้งหลายพยายามออกแบบการเมืองให้เป็นไปในกรอบนี้ ด้วยความคิดที่ไม่เชื่อมั่น และหมิ่นแคลนประชาชนว่าไร้การศึกษา ไม่มีความรู้ ขายสิทธิ ขายเสียง
แล้วเป็นไง
ผลการเลือกตั้ง ที่ออกมา สวนทางกับความเข้าใจของบรรดาท่านผู้นำทั้งหลายแทบจะสิ้นเชิง กระทั่งการออกแบบทางการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญยังไม่มีความหมาย
ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ใช้การเลือกตั้งจัดวางการเมืองไทยให้เป็นระบบ 2 พรรค
ขณะเดียวกัน ส่วนใหญ่เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งด้วยเสียงข้างมากเกินกว่าครึ่งเพื่อให้เข้ามาบริหารประเทศ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
แบบ ร่างทางการเมืองที่ออกโดยรัฐธรรมนูญของกลุ่มผู้ดูถูกความคิดความอ่านประชาชน ถูกเขี่ยทิ้งไม่เป็นท่า ด้วยการใช้สิทธิมีแค่ได้กาเลือกเพียงหนึ่งเสียงของประชาชน
ประชาชน กำลังพัฒนาประชาธิปไตยตามความเข้าใจของตัวเองขึ้นมา ด้วยสิทธิและอำนาจที่มีอยู่น้อยนิดในแต่ละคน แต่เมื่อรวมกันแล้วสามารถเปลี่ยนแปลง ชี้นำได้
ทำให้เห็นชัดได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอะไร
ทำให้รู้กันไปเลยว่า ประชาชนไม่ได้โง่อย่างที่คิดกัน
ถึง วันนี้ ประชาชนเดินนำหน้าในการพัฒนาประชาธิปไตยให้แล้ว ฝ่าด่านรัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยแบบระบบ 2 พรรคขึ้นมา พร้อมกับให้เสียงข้างมากกับพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล เพื่อสร้างเสถียรภาพในการบริหารประเทศ
ประหลาดตรงนี้ พวกที่หลงว่าเป็นผู้นำทางการเมืองที่ผิดหวังเพราะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉบับหมิ่นแคลนประชาชน กลับออกมาตะโกนว่า "ประชาชนโง่" โดยไม่ส่องกระจกดูเงาตัวเองที่ครอบงำอยู่ด้วยความหลงยุคหลงสมัย
และ ที่น่าแปลกใจจนชวนให้ตื่นตะลึงไปกว่านั้น ยังมีบางพวก บางเหล่า ที่ยังคิดว่าตัวเองยังมีอำนาจที่จะหยุดการพัฒนาประชาธิปไตยที่ประชาชนออกมา เดินนำนี้
เป็นความพยายามที่จะใช้อำนาจอย่างทุลักทุเล เต็มไปด้วยท่าทีของคนอารมณ์ร้าย
อย่างน่าหัวร่อ