โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
มติชน ข่าวสด ออกแถลงการณ์ชี้แจงผลสอบของอนุกรรมการเฉพาะเรื่องกรณีอีเมล์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไปแล้ว
เบียดพื้นที่ของผู้อ่านไปพอสมควร เพราะข้อกล่าวหามาเป็นปึก ข้อหาร้ายแรงว่า เอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ
ขณะนี้ ผลสรุปดังกล่าว กลายเป็นปมหนึ่งในข้อกล่าวหาของพรรคการเมือง ที่อาจจะนำไปสู่คดียุบอีกพรรคหนึ่ง
แต่ยังมีขั้นตอนอีกไม่น้อย
เป็นความยุ่งเหยิงของ "การเมือง" เรื่องอำนาจ ที่ไม่มีใครอยากเข้าไปเกี่ยวข้อง เกินจากหน้าที่ของตัวเอง
แต่เมื่อเกิดมี "แพคเกจ" พิเศษ จัดหนักให้
ก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกันไปในขอบเขตที่พอสมควร
ต่อไปนี้ ต้องรอการสรุปของที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่เลื่อนจาก 13 กันยายน เป็น 20 กันยายน
หลังจากที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ได้รับทราบผลสอบไปแล้ว
กลับ ไปที่ปัญหาทางการเมือง การอภิปรายนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นการประชุมสภาที่คงจะมีคนติดตามฟังมากที่สุดอีกนัดหนึ่ง
อาจจะเป็นเพราะโหมโรงกันไว้แรง และมีประเด็นให้จับตา ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายชี้แจงของ นายกฯปู หรือกรณีของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
ผลออกมาเป็นอย่างไรคงได้เห็นกันแล้ว บทบาทส่วนมากเป็นหน้าที่ของบรรดาดาวทั้งหลาย
ยังดี ที่ได้ยินคำว่า ปรองดอง สมานฉันท์ จากที่ประชุมหลายคำอยู่เหมือนกัน
คำ เหล่านี้ ไม่ควรจะเอาไว้เกทับบลั๊ฟแหลก หรือเอาไว้กล่าวร้ายอีกฝ่ายเฉยๆ แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง เพราะถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างที่เห็นกันอยู่
ส่วน "กระบวนการ" ในการคืนดีหรือปรองดอง ไม่ใช่ว่าจะตั้งประเด็นกันเอาเองได้ แต่ต้องหารือทุกฝ่าย
ส่วนหนึ่งของการปรองดองสมานฉันท์ ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ และตอนนี้กลายเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว
ในข้อ 1.16 คือ เร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมือง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
โดยมี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่ยกร่างขึ้นมาใหม่
และต้องให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติ
ในการอภิปรายวันเดียวกัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ให้รายละเอียดคร่าวๆ ว่าจะตั้ง ส.ส.ร. 99 คน
เลือกตั้งจังหวัดละคน 77 คน กับนักวิชาการ 22 คน
ถือเป็นอีกรูปธรรมหนึ่งของการกลับเข้าสู่ความสมานฉันท์ บนพื้นฐานของกฎหมายแม่บทที่มาจากความคิดเห็นของประชาชน
ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแรงต้าน และมีข้อระแวงสงสัยไม่น้อย
แต่ความเห็นที่ต่างกันนี่เอง หากมีระบบรับฟังกันดีๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ในทุกแนวคิด
อาจจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้สมบูรณ์กว่าที่ผ่านๆ มาก็ได้