สืบเนื่องจากจำเลยในสองคดี คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ นายเอกชัย หงส์กังวาน ได้ยื่นโต้แย้งให้ศาลอาญา ส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 8 มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญมาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่มีมูลกรณีที่จะอ้างว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ได้ คงมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยเพียงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของ ประเทศไทย การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม อันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรมที่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมของกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง
นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ภาคความผิด ลักษณะที่ 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นมาตรการของรัฐที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้าย ซึ่งการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ และเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขของประเทศไทย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรที่มีความ หมายเช่นเดียวกับการเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสอง ที่เป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรม นูฯญ มาตา 45 วรรคหนึ่ง อีกทั้งอัตราโทษตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดไว้ ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นเพื่อให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่รับรองสถานะของพระมหากษัตริย์มีผลใช้ได้อย่างสมบูรณ์ในทางปฏิบัติ และเป็นการจำแนกการกระทำความผิดที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับสถานะของบุคคลที่ ประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดไว้ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น การเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่งแต่ประการใด เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในขอบเขตที่ไม่เป็นความ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ให้ความเห็นในเฟสบุ๊คของตัวเอง http://www.facebook.com/verapat ในประเด็นดังกล่าวว่า การที่ศาลให้เหตุผลว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเป็นเหตุผลที่สำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ได้มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์เป็นการส่วนพระองค์ แต่มุ่งคุ้มครองรัฐที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ดังนััน จากนี้ไป ตำรวจ อัยการ และศาลทั้งหลาย โดยเฉพาะศาลฎีกา ต้องพิจารณาแยกแยะให้ดีว่า การกระทำที่ฟ้องมาตามมาตรา 112 นั้น มีเนื้อหาสาระที่กระทบ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ หรือไม่
“หากสิ่งที่ฟ้องมา เป็นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ก็ต้องไม่นำไปโยงกับมาตรา 112 เช่น การที่ใครปากพล่อย พูดจาหยาบคายไม่เรียบร้อย ไม่ยืนตรงเคารพเพลง ฯลฯ ก็ต้องไปฟ้องตามกฎหมายมาตราอื่นที่ออกแบบมารักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของสังคม แต่ไม่ใช่จับทุกอย่าง ยัดเข้าเป็นเรื่อง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ไปเสียหมด
“แต่หากผู้ใดยัดทุกอย่างเข้าเป็นเรื่อง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ไปเสียหมด เท่ากับว่า ผู้นั้นกำลังดูแคลนว่า สังคมไทยมีความอ่อนแอบางอย่างที่แตะต้องไม่ได้ เพราะผู้นั้นมองว่าเพียงแค่ใครพูดพล่อยๆ ก็จะทำให้ความอ่อนแอนั้นพังสลายจนกระทบ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ไปหมดทุกเรื่อง