บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ซีรีส์จำนำข้าว (4) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ: ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่(เคย)มีใครแตะ

ที่มา ประชาไท

Mon, 2012-10-15 19:25


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย เป็นเอ็นจีโอผู้ทำงานเกี่ยวกับการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ รวมถึงประเด็นความมั่นคงด้านอาหารมาอย่างยาวนาน โดยเน้นศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวของกับภาคเกษตร
เขานำเสนอให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรแก้ไขเร่งด่วนและตรงประเด็น กว่าโครงการแจกเงิน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน หนี้สิน แหล่งน้ำ และการลดต้นทุนการผลิต โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพคร่าวๆ ของเพื่อนบ้านที่กำลังรุดแซงหน้าเราในหลายด้านก่อนจะเปิดอาเซียน รวมถึงนำเสนอผลกระทบต่อแวดวงเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนความคิดเห็นของชาวนาในหลายพื้นที่ซึ่งก็มีแนวคิด-ทางออกที่หลากหลาย สำหรับโครงการนี้

000000000
องค์กรภาคประชาชนมีข้อห่วงกังวลหลักๆ อะไรบ้างเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว
โครงการ นี้ระยะยาวจะทำลายเกษตรกร ทำลายชาวนาเอง มี 2-3 ประเด็นใหญ่ๆ อันแรก เงินที่ลงไปเป็นจำนวนมาก ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงของชาวนา ถ้าใช้เต็มที่คง 4 แสนกว่าล้านต่อปี ถ้าเราใช้งบประมาณขนาดนี้ เราควรจะเอาไปแก้ปัญหาใหญ่สำคัญของชาวนาในภาคเกษตรดีกว่า
ปัญหาใหญ่ของชาวนาที่คิดว่ารัฐควรแก้ไขคืออะไร
มัน คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ตอนนี้ไม่มีใครแตะเลย คือ ปัญหาที่ดินและหนี้สิน คนไม่มีที่ดิน ต้องเช่าที่ดินทำนามีถึง 60% ของทั้งประเทศ ในพื้นที่ชลประทานในเขตสำคัญ คนไม่มีที่ดินสูงถึง 80% ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ที่ดินควรจะเป็นเรื่องแรกที่จะแก้ ถ้าเราใช้งบประมาณแค่เพียง 1 ใน 4 ของโครงการจำนำข้าว ภายใน 4 ปี เราจะแก้ปัญหาชาวนาไร้ที่ดินทำกินได้
นี่คือข้อเสนอของคณะกรรมการชุดปฏิรูปประเทศ ชุดอานันท์ ปันยารชุน เคยเสนอไว้ ว่าถ้ามีกองทุนที่ใช้งบปีละ 100,000 บาทก็จะสามารถแก้ปัญหาชาวนาไร้ที่ดินได้ภายใน 4 ปี ในด้านหนึ่งมันทำให้สามารถแข่งขันได้ในช่วงที่เรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจแบบอา เซียน ถ้าเทียบกับเวียดนามแล้ว ชาวนาของเวียดนามส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง มีคนเช่าที่ดินไม่ถึง 20% เอง และถ้าที่ดินอยู่ในมือชาวนา จะทำให้การฟื้นฟูดีมีประสิทธิภาพในระยะยาวด้วย นาเช่าไม่สามารถแม้แต่จะหมักฟาง หรือปรับปรุงดินให้ยั่งยืนได้
อีกประการคือ การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกัน ไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีชลประทานน้อยที่สุดในอาเซียน มากกว่าลาวและกัมพูชาอยู่บ้าง แต่น้อยกว่าฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียมากเลย เราจะปล่อยให้มีการแข่งขันระยะยาวได้ยังไง ถ้าเราไม่แก้ปัญหาสะสมเรื่องนี้ เราไม่ได้ต้องการโครงการใหญ่เลย โครงการเล็กก็ได้แต่ต้องเอางบมาทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานนี้
นี่คือเรื่องใหญ่ลำดับต้นในความเห็นผม โครงการจำนำข้าวไม่ได้แก้เรื่องนี้
เรื่องที่คณะปฏิรูปเสนอ 100,000 ล้านภายใน 4 ปีเพื่อแก้ปัญหาที่ดิน คิดว่าทำได้จริงหรือ
เขา เสนอกลไกให้มีธนาคารกองทุนที่ดิน ไม่ได้ไปยึดที่ดินเจ้าของนะ แต่เพื่อให้ชาวนาไร้ที่ดินสามารถใช้เงินเหล่านี้จากธนาคารเพื่อไปซื้อที่ดิน ให้ชาวนาที่ไร้ที่ดิน แล้วก็ต้องมีระบบภาษีคล้ายๆ ภาษีที่ดินสำหรับคนที่เก็บที่ดินเอาไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้เขาขายที่ดิน ต้องมีกลไกเหล่านี้ด้วย ปีละแสนล้านก็น่าจะทำได้เยอะ
นี่คือหมวดที่ว่าด้วยเรื่องปัญหาโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เคยแตะกันเลย
ยังมีอีกประเด็นซึ่งก็ใหญ่พอกัน และคนยังพูดน้อยคือ โดยเทคโนโลยีของการผลิตข้าวในปัจจุบันเป็นการผูกติดกับปัจจัยการผลิตจากภาย นอกซึ่งมีพื้นฐานจากฟอสซิล พวกปุ๋ยหรือสารเคมีต่างๆ การจำนำข้าวโดยที่คุณไม่แตะหรือไม่ตั้งเงื่อนไขเลยในการสนับสนุนตัวราคาให้ กับเกษตรกร ทำให้รักษาความไม่มีประสิทธิภาพและการผลิตที่พึ่งพาปุ๋ยหรือสารเคมีตรงนี้ อยู่ โดยไม่ได้แก้ไขใดๆ เลย
ถ้าดูตัวเลข ต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาไทยเทียบกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ผลผลิตข้าวเราต่ำกว่า แต่ต้นทนเราสูงกว่า ถ้าดูสถิติการใช้สารเคมีที่เป็นปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ศึกษาโดย สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI-อีรี่) พบว่าของประเทศไทยสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนทั้งหมด ทั้งลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำแดงของเวียดนาม ที่ลูซอน ฟิลิปปินส์ ที่ชวาของอินโดนีเซีย หรือกระทั่งเทียบกับทมิฬนาดูของอินเดียด้วยซ้ำ ไทยใช้ต้นทุนสูงสุด ประเทศที่ใช้ปัจจัยการผลิตที่มากกว่าเราคือจีน แต่ผลผลิตเขาก็สูงกว่ามาก
นั่นคือเหตุผลว่า การรับจำนำโดยไม่มีเงื่อนไขพวกนี้จะเกิดผลอย่างที่ว่า นี่คือเรื่องใหญ่ที่สำคัญมากในความเห็นผม
ยังมีมุมอื่นๆ อีกไหมที่กังวล โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์
มัน เป็นเรื่องความไม่เป็นธรรม โครงการรับจำนำ มีหลายท่านพูดแล้ว ผมอธิบายในมุมที่เราทำงาน ในมุมความมั่นคงทางด้านอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน มันช่วยเหลือชาวนาแค่ไม่ถึง 50% ของชาวนาทั้งหมด ชาวนาที่ลงทะเบียน สถิติของ ธกส.อยู่ที่ 3.4 ล้านครัวเรือน แต่ว่ามีชาวนาที่ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้อยู่ในโครงการรับจำนำมีประมาณ 1.8-1.9 ล้านครัวเรือน
ลองเช็คพื้นที่ดูก็ประเมินได้ เช่น ภาคใต้ชาวนาน้อยมากที่เข้าสู่โครงการรับจำนำได้ เพราะข้าวมีน้อยเกินไป แล้วข้าวส่วนใหญ่ผลิตไว้กินเอง ใช้โรงสีขนาดเล็กในพื้นที่ นี่ก็รวมภาคเหนือ ภาคอีสานด้วยที่ปลูกข้าวแล้วกันข้าวไว้กินเอง มีสัดส่วนอยู่มาก ที่จริงก็ภาคกลางบางส่วนด้วย ชาวนากลุ่มนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่มีข้าวไปจำนำ ส่วนที่จำนำก็ได้น้อยเพราะเขาปลูกน้อย นี่คือประเด็นที่เราชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมของการผลิต ชาวนาย่อยซึ่งควรได้รับความช่วยเหลือกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ
อีกกลุ่มก็คือ กลุ่มที่ทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืน กลุ่มนี้ในแง่คนที่ผลิตข้าวเพื่อความมั่นคงด้านอาหารเพื่อบริโภคเอง แน่นอน เขาไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเขาปลูกไว้กินเอง และเมื่อเทียบกับการต้องแปรรูปมันก็ยังคุ้มค่า เทียบกับการขายแล้วไปซื้อกิน แต่มันน่าสนใจในแง่ที่ว่า กลุ่มผลิตเหล่านี้กับกลุ่มที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ต้องพึ่งตลาดอยู่ และราคาจูงใจให้มีการนำตลาด มีการตั้งราคาข้าวอินทรีย์สูงกว่าข้าวทั่วไป เมื่อรัฐตั้งราคาจำนำข้าวคุณภาพต่ำ หรือทั่วไปเท่ากับราคาข้าวอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์เขาตั้งไว้ที่ 20,000 มันก็จะไปขัดขวางในเรื่องการขยายตัวของเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งที่ใช้แรงจูงใจด้านราคาข้าว หมายความว่า เกษตรอินทรีย์กลุ่มนี้ที่มีการทำตลาดกันมาเกือบ 20 ปีแล้ว และเป็นพื้นที่หลักของประเทศด้วยในภาคอีสาน คนกลุ่มนี้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ ชาวนา โรงสี ผู้ประกอบการเองได้รับผลกระทบจากโครงการจำนำข้าว
คนกลุ่มที่ทำเกษตรอินทรีย์มีขนาดเท่าไร และผลกระทบเป็นอย่างไร ราคาข้าวอินทรีย์ไม่ปรับตัวสูงขึ้นด้วยหรือจากโครงการนี้
เพื่อ จะสร้างแรงจูงใจให้ชาวนามาทำอินทรีย์ ก็ต้องเพิ่มราคาสูงขึ้นอีก หรืออย่างน้อยต้องเท่ากับราคารับจำนำ ซึ่งหมายความว่าเขาไปทำตลาดยากขึ้น เพราะราคามันสูงกว่ามากกว่าที่ควรจะเป็น
ถามว่ามีขนาดเท่าไร ถ้าประเมินจากที่ได้รับรองมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 150,000-200,000 ไร่ แต่ถ้าที่ไม่ได้รับการรับรองจะเกินกว่านี้ 2-3 เท่าตัว อาจถึง 450,000 ไร่ อันนี้คือส่วนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการรับจำนำซึ่งไม่ได้แยก ประเภทของข้าว
ประเด็นอื่นก็มีหลายท่านพูดไปแล้ว คือประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร ณ ขณะนี้ กลไกของการปลูกข้าวเพื่อความมั่นคงด้านอาหารจะมีกลไกที่ชาวบ้านส่งสีกับโรง สีขนาดเล็กในท้องถิ่น หรือโรงสีที่อยู่ในชุมชน โดยที่ระบบตลาดที่รัฐเป็นคนรับซื้อข้าวทั้งหมด มีโรงสีจำนวนน้อย ไม่เกินพันโรงที่จะสามารถร่วมโครงการของรัฐได้ ฉะนั้น โรงสีขนาดเล็กพวกนี้จะหายไปจากระบบ ระยะยาวจะกระทบต่อตัวบริการโรงสีที่ให้บริการสำหรับการแปรรูปข้าวเพื่อ บริโภคในชุมชน มันจะมีต่อเนื่องด้วยเหมือนกัน ตัวแกลบ ตัวรำ จากที่ได้มาจากระบบโรงสีเล็กจะไหลเวียนในชุมชน สร้างความสมดุลในชุมชน อาจเป็นอาหารปลา เอาไปบำรุงดิน มันจะมีหน้าที่แบบนี้อยู่ รวมถึงอื่นๆ ด้วยเช่น ท่าข้าว ที่เป็นกลไกการค้าระดับท้องถิ่น ซึ่งมันก็ตอบสนองการผลิตระดับท้องถิ่น พวก SMEs
กลไกเหล่านี้หายไปแล้วจะกระทบยังไง
กลไก พวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบอาหาร การแปรรูปในท้องถิ่น หมายความว่าต่อไปก็จะยากขึ้นสำหรับเกษตรกรที่เก็บข้าวไว้กินเองในการหาโรงสี จะถูกบีบให้ต้องขายไปทั้งหมด ต้องซื้อข้าวสารกิน ในเชิงเรื่องความมั่นคงด้านอาหารแล้วไม่ควรเป็นแบบนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เขียนไว้ชัดเจนเรื่องความมั่นคงด้านอาหารนี้ และที่พูดในตอนต้นว่าโรงสีเหล่านี้มีบริการ การได้รำ ได้แกลบ ซึ่งมันสอดคล้องกับท้องถิ่น แต่โรงสีขนาดใหญ่ไม่ใช่ มันเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมหมด และกลับคืนสู่ชุมชนก็ยากมาก
โครงการจำนำดูจะช่วยชาวนาใน ระบบตลาดในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังแก้ปัญหาโครงสร้างไม่ได้ หากจะเริ่มต้นจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย ทำไปควบคู่กัน อย่างนี้รับได้ไหม
ถ้าเขาวิเคราะห์ว่านี่เป็นการแก้เฉพาะหน้า มันก็ควรแก้แบบอื่น ไม่ใช่การใช้งบมหาศาลแบบนี้ โจทย์เขาไม่ชัดว่าง่ายๆ โจทย์เขาตั้งเพื่อรายได้ของชาวนาทั้งหมด โดยใช้วิธีแบบนี้ สิ่งที่เขาต้องเจอแน่นอนคือ มันไม่สามารถทำได้ระยะยาว ไม่มีทางที่เราจะใช้เงินมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี เพื่อไปทำโครงการรับจำนำได้ตลอด เพราะเป็นภาระงบประมาณมากเกินไป เหมือนที่วิจารณ์กัน และมันไม่ได้ไปตอบสนองต่อคนที่เดือดร้อน ยากจนที่สุด ตัวเลขที่ตีให้สูงสุดคือ 50% ที่เข้าถึงได้ แล้วกลุ่มย่อยอีกครึ่งหนึ่ง คุณไม่ได้แก้เลย เจตนาของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการยกระดับรายได้ชาวนาก็ไม่เกิดขึ้น
มันยังมีต่ออีก เงินที่ไหลไปในระบบสู่ชาวนา จริงๆ แล้วถ้าวิเคราะห์ดูต้นทุนการผลิต จะพบว่า เขตภาคกลาง นาปรัง ประมาณ 1 ใน 3 เป็นต้นทุนค่าเช่าที่ดิน มันไหลไปสู่เจ้าของที่ดิน อีก 1 ใน 3 เป็นปุ๋ยและเคมีการเกษตร มันก็ไหลไปสู่บริษัทสารเคมี ซึ่งวัสดุปุ๋ยและสารเคมี สองตัวนี้เรานำเข้ามาแทบทั้งหมด เกือบ 100% มันกลายเป็น 2 ใน 3 ของต้นทุนการผลิต ฉะนั้น การใช้แนวทางนี้มันไม่ได้แก้ปัญหาที่ควรจะแก้ เพราะเงินมันไม่ถึง แต่ถ้าเราวิเคราะห์ปัญหาชัด ปัญหาเรื่องค่าเช่า การใช้เคมีมากเกินไป มากกว่าเพื่อนบ้าน ประสิทธิภาพในการผลิตไม่ดี มันต้องแก้อีกแบบหนึ่ง
ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาในภาพรวม พรรคการเมืองต่างๆ ก็เสนอแนวทางซึ่งดูแล้วมี 2 อย่างคือ ประกันรายได้ กับรับจำนำ ในสายตาคนทำงานด้านนี้ มองว่าแบบไหนเหมาะสมกว่ากัน
ผม ไม่อยากให้บังคับให้ถูกเลือกด้วย 2 อันนี้ ต้องเริ่มต้นอย่างนี้ว่า ผมเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาชาวนาหรือเกษตรกร เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย แต่ทั้งประกันรายได้และรับจำนำยังไม่ได้ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ระยะยาว แต่กลไกใดที่มีผลกระทบน้อยกว่า เข้าถึงชาวนาได้มากกว่า ไม่มีผลกระทบในเรื่องของกลไกการตลาด แน่นอน ก็ฟันธงได้ว่า ประกันรายได้มันตอบโจทย์มากกว่า ถ้าจำเป็นต้องเลือกสองนโยบายนี้นะ
สองกลไกนี้ ถูกเสนอโดยรัฐบาลสองยุค อันนี้ต้องปรับทั้งคู่ แต่จำนำข้าวสาหัสกว่าเพราะงบประมาณเยอะกว่า ช่องทางการรั่วไหลเยอะกว่า ประกันรายได้ก็รั่วไหลได้เหมือนกัน การขึ้นราคาของเจ้าของที่ดินก็มีเหมือนกัน แต่การรั่วไหลในขั้นตอนต่างๆ น้อยกว่าในแง่มันเข้าบัญชีโดยตรงของชาวนา และกลไกตลาดมันก็ทำงานได้ การจะต้องมีค่าเช่าไซโล ค่าแปรสภาพ การหาประโยชน์จากความชื้น หรือรัฐรับซื้อข้าวผู้เดียวและปล่อยราคาเท่าไรไม่มีใครรู้ ปล่อยให้ใครไม่ชัดเจน มันมีปัญหาอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กัน
การผูกขาดตลาดโดยรัฐเป็นปัญหา แต่ก่อนรัฐบาลจะทำแบบนี้ กลไกตลาดที่มันเป็นมาก็ไม่ได้ช่วยทำให้ชาวนาได้รับราคาที่เป็นธรรมไม่ใช่หรือ
ถ้า ดูตลาดข้าวอย่างเป็นกลาง เอาดัชนีราคาข้าวของไทย เทียบกับราคาข้าวในตลาดโลก เทียบดูแล้วเห็นว่ามันยังเป็นกราฟตัวเดียวกัน โอเค ชาวนาขายข้าวได้น้อยกว่า แต่มันยังสะท้อนกับราคาในตลาดโลก หมายความว่าราคาที่ชาวนาได้รับเป็นไปตามตลาดโลก ไม่ได้ถูกกดราคาแต่ประการใด แต่ แต่ แต่ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันมีการเอาเปรียบเกษตรกรเกิดขึ้นจริงๆ ในกลไกการค้าด้วย ที่ชาวบ้านมีอำนาจการต่อรองน้อย
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เคยศึกษาเรื่องนี้ที่ปราจีนบุรี การหักเปอร์เซ็นต์ข้าวที่โรงสีทำ กับกรณีที่เมื่อมีการรวมตัวของเกษตรกร ปรากฏว่าชาวนาในพื้นที่ ได้ส่วนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5 ล้าน หมายความว่า กลไกที่ชาวนาถูกเอาเปรียบมันมีอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุดกลไกตลาดมันก็ทำงาน แล้วเราก็รู้ว่าเราจะแก้ตรงไหนให้ชาวนาไม่เสียเปรียบ แก้ปัญหาในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดมันมีกลไกตลาดกลางที่มันอยู่ได้ ถ้าให้ระบบตลาดมันทำงาน เราเห็นจุดบกพร่องว่าจะแก้ตรงไหน แต่ถ้ารัฐเป็นคนมาผูกขาดแล้วมันโคตรไม่โปร่งใสเลย คุณเชื่อได้ยังไงภายใต้รัฐแบบนี้ที่จะผูกขาดแล้วมีประสิทธิภาพ ไม่มีทาง
ในฐานะที่ทำงานร่วมกับชาวนาในบางพื้นที่ด้วย มีความขัดแย้งทางความคิดหมู่ชาวนามากน้อย ขนาดไหน
พี่ น้องที่เป็นชาวนา เขาคิดว่าโครงการแบบนี้จริงๆ แล้วชาวนาได้ประโยชน์ ฉะนั้น ถ้าอยู่ๆ จะไปเลิกโครงการแบบนี้ ชาวนาคงไม่เห็นด้วย เพราะเขาลำบาก มีปัญหาสะสมอะไรต่อมิอะไร ข้อเสนอส่วนหนึ่งของเขาคือ ต้องปรับโครงการให้มันได้ประโยชน์กับชาวนามากขึ้นและลดปัญหาที่เกิดขึ้นจาก กลไกพวกนี้ ก็คือคงโครงการรับจำนำเอาไว้แต่ต้องแก้ปัญหาพวกนี้ไม่ให้มีผลข้างเคียงอย่าง ที่ว่า ซึ่งตรงนี้หลายคนก็เสนอมาบ้างแล้ว ราคาจำนำไม่ควรเกินเท่าไหร่ หรือจำกัดตัวขนาดของปริมาณการรับซื้อข้าว ไม่จำเป็นต้องรับซื้อทั้งหมดแบบไม่มีเพดาน เป็นต้น มันจะลดงบประมาณลงได้ นี่คือชุดว่าด้วยเรื่องการปรับ หรืออีกอันคือต้องมีชั้นคุณภาพข้าว ว่าข้าวแบบนี้ราคาเท่าไร ไม่ใช่แค่ว่า แบ่งเป็นข้าวขาว กับข้าวหอมมะลิ อย่างที่เป็นอยู่
มีการแบ่งตามระดับความชื้นอยู่แล้ว
อัน นั้นเป็นเรื่องทั่วไปอยู่แล้ว คุณภาพข้าวหมายถึงพันธุ์ข้าว เช่น ตอนนี้มันพันธุ์อะไรก็ได้ เขาปล่อยผี มี 18 สายพันธุ์ที่ลิสต์ไว้ สายพันธุ์ที่แย่ก็ยังซื้อราคา 15,000 บาทต่อตัน สายพันธุ์อายุสั้นคุณภาพไม่ดีก็ยังขายได้ มันต้องมีชั้นว่า พันธุ์นี้ได้ราคานี้ พันธุ์นี้ได้อีกราคาหนึ่ง
เพื่อแก้ปัญหาอะไร
แก้ ปัญหาการปลูกข้าวในระยะยาว ไม่อย่างนั้นโครงการจำนำข้าวจะทำให้คนปลูกข้าวไม่มีคุณภาพมาขาย อาจจะผลผลิตสูงแต่คุณภาพแย่มาก ข้าวลูกผสมผลิตอาจจะสูง แต่คุณภาพแย่มาก แต่เมื่อขายได้ราคาดีพอกับข้าวที่คุณภาพดีกว่า ยิ่งพวกที่ทำอินทรีย์ก็น่าจะได้รับชดเชยให้กับผู้ประกอบการหรือชาวนาที่ทำ ข้าวอินทรีย์ ซึ่งเขามีระบบของเขาอยู่ เขาไม่จำนำหรอก คุณต้องคิดระบบมาสนับสนุนเขา
ในโครงการจำนำข้าวไม่มีกรณีของข้าวอินทรีย์ใช่ไหม
ไม่มี ข้าวอินทรีย์ก็เหมือนข้าวเคมี คุณมาขายกับเราก็ได้ เราก็ให้ 20,000
ตลาดข้าวอินทรีย์กระทบขนาดไหน
เขา ก็บอกว่าตอนนี้อยู่ยากมาก แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะส่วนหนึ่งมันเป็นระบบที่ทำด้วยกันมานาน ตอนนี้เขาต้องยกระดับราคามาอย่างน้อยที่สุดเท่ากับราคาจำนำของรัฐ แต่เขาจ่ายเงินเร็วกว่า ส่วนที่รับจำนำ บางพื้นที่รอสามเดือนแล้วยังไม่มาเลย ทั้งที่ตาม ครม.บอกให้ใช้เวลา 3 วัน
กลับมาที่เรื่องเดิมความเห็นของชาวนา กลุ่มหนึ่งชอบโครงการรับจำนำแต่ควรปรับ
ใช่ อันนี้ก็เป็นกลุ่มที่อยากให้ปรับปรุงระบบรับจำนำ พี่น้องส่วนหนึ่งในภาคกลางที่เราทำงานด้วยเสนอแบบนี้
อันที่สองคือ ประกันรายได้ พี่น้องที่เสนอแบบนี้เยอะเลย ถ้าทางใต้ หรือพื้นที่ที่ปลูกข้าวน้อย เขาอยากได้แบบนี้เพราะเงินมันเข้าบัญชีเขาเลย ดูพื้นที่การปลูกแล้วให้เงินตามพื้นที่การปลูกเราเลย ฉะนั้นกลุ่มที่มีข้าวน้อยจะชอบแบบนี้ ไม่ต้องยุ่งอะไรมาก แค่มาขึ้นทะเบียน ทำประชาคมแล้วก็รอรับเงินเลย
ความเห็นผมคือ ถ้ามีโอกาสให้ชาวนาได้วิเคราะห์สองโครงการนี้อย่างกว้างขวาง ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เช่น การใช้งบประมาณเท่าๆ กัน ที่เราวิเคราะห์กันเราเชื่อว่าชาวนาส่วนใหญ่ที่เป็นรายย่อย จะเลือกประกันรายได้ แต่ต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านภายใต้เงื่อนไขเดียวกันด้วย มันวิเคราะห์ภายใต้คนละเงื่อนไขไม่ได้ เช่น รัฐบาลที่แล้วเสนอว่าให้มีส่วนต่าง 25% ของราคาตลาด แต่พรรคนี้ไปใหญ่เลย เสนอเป็นเท่าตัวเลย มันเป็นเงื่อนไขคนละอัน ให้ดูผลระยะยาวด้วยว่ารัฐบาลจะทำได้นานแค่ไหนด้วยนะ
ทางเลือกที่สามคือ อย่างที่พูดไปแล้ว เพราะสองอันนี้ไม่พอ มันไม่แตะเรื่องโครงสร้างเลย ระยะยาวจะอยู่ยังไง ในขณะที่เวียดนามเขาทำโครงการ 3 ลด 3 เพิ่มแล้ว เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นโครงการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต คุณภาพและกำไร ในส่วนลดต้นทุน คือ ลดพันธุ์ข้าวต่อไร่ลงให้ใช้พันธุ์ข้าวน้อยลง ใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลง ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อยลง เป็นโครงการรัฐบาลที่ทำในสองพื้นที่หลัก และกำลังจะทำทั่วประเทศ เขาเป็นรัฐบาลสังคมนิยม งานแบบนี้เขาก็ทำสเกลใหญ่ได้ อันนี้แหละคือยุทธศาสตร์ของการแข่งขัน การอยู่รอด การรับมือกับการเปิดตลาดอาเซียน
ประเมินว่าถ้ายังทำโครงการในลักษณะนี้อยู่ เมื่อเปิดตลาดอาเซียนแล้ว สถานการณ์จะเป็นยังไง
ถ้า เรามีระบบการเมืองที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอยู่ในบริบทแบบสังคมไทยจริงๆ และเห็นข้อมูลการวิพากษ์วิจารณ์ เห็นข้อมูล เห็นการท้วงติงขนาดนี้มันหยุดแล้ว แต่นี่เกิดอะไรขึ้นไม่รู้ในระบบการเมือง ในรัฐบาล มันอันตราย ในแง่หนึ่งคือไม่รู้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการทำเรื่องโครงการรับจำนำคือ อะไร เลยคาดการณ์ตอนนี้ได้ยาก แต่ถ้าโดยสามัญสำนึกและมาตรฐานทั่วไปแล้ว ทำแบบนี้ทำได้ไม่เกิน 3 ปีก็ต้องหยุด เพราะรับภาระหนักเกินไป และสร้างปัญหามากเกินไป ยังไงก็ต้องหาทางลงแล้ว
ถ้าวิเคราะห์เรื่องการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือการเปิดเสรี เราก็จะเห็นเลยว่าเราต้องทำอะไร จะเห็นคำตอบชัดเลยว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่ทางออก มันเป็นโครงการ ใช้คำว่าอะไรดี ระยะสั้นก็คงไม่ได้ มันไม่ใช่ทางออก มันต้องหลุดออกไปจากการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเดียว ต้องมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาของเกษตรกรจริงๆ ปัญหาของประเทศจริงๆ มันก็จะง่ายขึ้นในการแก้ปัญหา แต่ดูๆ บรรยากาศตอนนี้ แม้กระทั่งคนที่วิจารณ์โครงการจำนำข้าวก็ถูกมองโยงไปเป็นประเด็นทางการเมือง ถูกมองไปถึงเรื่องทางการเมืองแบบไม่ควรจะเป็นด้วยนะ ซึ่งมันน่าสังเวช


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker