ในบทความ “ทำไม 6 ตุลา ถึงจำยาก” ของ อ.เกษียร เขียนไว้เมื่อปี 2539 ในบทความ อ.เกษียร ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ กระบวนการจำแบบ คูณร่วมน้อย (ครน.) และกระบวนการจำแบบ หารร่วมมาก (หรม.) การจำแบบแรกเป็นการเลือกจำแบบหลวมๆ เพื่อหาที่ยืนในประวัติศาสตร์ เพื่อส่งต่อไปยัง อนุชนรุ่นหลัง การจำแบบนี้ผู้ที่ตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงเป็นเรื่อง ของ “ผู้เสียสละชีวิตเพื่ออุดมคติ” สรุปคือเป็นการลดองค์ประกอบอื่นๆด้านเศรษฐกิจการเมือง พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด ให้เหลือแค่ภาพกว้างๆให้คนจดจำร่วมกัน ซึ่งต่างจาก วิธีการจำแบบ “หรม.”ที่หาจุดร่วมที่ตรงที่สุด ถูกต้องที่สุด แล้วจดจำ หากพ้นรุ่นคนที่จะจำอย่างถูกต้อง ก็ให้เรื่องนี้มันถูกลืมไปดีกว่ามานั่งจดจำแบบผิดๆกัน
ล่วงมากว่า 16 ปีแล้วที่ อ.เกษียร เสนอบทความนี้นานพอที่เราจะเห็นว่าสังคมเราคลี่คลายไปทางใด และเลือกที่จะจำอย่างไร ทุกวันนี้เมื่อผมมีโอกาสสอนนักศึกษาทุกรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติ ศาสตร์การเมืองไทย และถามเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ผมพบว่านักศึกษาไทยโดยมากมิใช่ไม่รู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ แต่กระบวนการจำของพวกเขาถูกทำให้เป็น Plot แบบแปลกๆ พร้อมทั้งการประดิษฐ์ชื่อเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นหู เช่น 16 ตุลาคม 2519 ; 6 ตุลาคม 2514 หรืออะไรประมาณนี้...มิได้หมายความว่าพวกเขาไม่แม่นประวัติศาสตร์ แต่น่าสังเกตุว่ากระบวนการจำของพวกเขาถูกลดทอนให้ เหตุการณ์ในทศวรรษ 1970 เป็นเรื่องของการเรียกร้องของคนหนุ่มสาวผู้รักในอุดมคติ นายทหารที่โหดร้าย คนไทยแตกสามัคคี และจบลงที่มีพระเอกขี่ม้าขาวทำให้คนไทยรักกันเหมือนเดิม นี่คือตัวอย่างปัญหาปลายทางของกระบวนการทำหลวมๆ แบบ ครน.
แต่เรื่อง การจำแบบครน.มิใช่ปัญหาของการพยายามครอบงำของฝ่าย อนุรักษ์นิยมที่พยายามจัดการความทรงจำร่วมของคนในสังคมเท่านั้น สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือในฝ่ายซ้าย หรือ ฝ่ายต้านอำนาจรัฐก็ยังมีปัญหาเรื่องการจำแบบ ครน.อยู่มาก เช่น การมองว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์การต่อสู้ของประชาชนที่ต่อเนื่อง เป็นการไขก๊อกเสรีภาพที่ถูกอัดอั้นมานานแล้วนำสู่การเรียกร้องปฏิรูป ประชาธิปไตยขนานใหญ่ในช่วงปี 2518-2519 ในประเด็นนี้ก็เป็นการมองแบบโรแมนติกว่าด้วยขบวนการต่อสู้ทางชนชั้นที่มี พัฒนาการเป็นเส้นตรง ซึ่งจากงานเขียนและบทสัมภาษณ์ของ อ.ธงชัย วินิจจะกุล เราก็จะเห็นได้ว่า 14ตุลา 16 มิได้เป็นเรื่องของการเสริมแรงประชาธิปไตยอย่างเดียวแต่ยังเป็นควาสำเร็จของ ฝ่าย สถาบันกษัตริย์ ในการสถาปนาอำนาจนำเหนือกลุ่มทหารต่างๆที่มีบทบาทอย่างสูงในช่วงแรกของ สงครามเย็น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มิใช่มีเพียงนักศึกษา ปัญญาชนหัวก้าวหน้าเท่านั้น ที่ลงชนบท แต่ยังหมายรวมถึงองค์กรจัดตั้งของฝ่ายขวาที่ขยายตัวอย่างมาก ดังที่ปรากฏในงานของ Andrew Turton ที่ระบุถึงการขยายตัวอย่างมหาศาลของ องค์กรจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านในช่วงปี 2516-2518
แล้วเราจะจำอะไรกัน....อย่างไรดี.....
ลอง ย้อนมองประเด็น “คนเสื้อแดง” ของโชติศักดิ์ ตามที่เขาได้ระบุไว้ในบทความ ผมเคยถามประเด็นนี้แก่นักศึกษา ปี1 ซึ่งโดยมากมีภูมิลำเนาโดยมากมาจากจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง นักศึกษากว่าครึ่งตอบในข้อสอบว่า “คนเสื้อแดงคือคนรักทักษิณ” เป็นคำตอบพื้นๆที่สำคัญไม่น้อย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอาจจะตอบด้วยโวหารที่ลึกซึ้งมากขึ้น แต่นัยยะก็ไม่พ้นเรื่องคน “คนไม่เอารัฐประหาร และต้องการรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (รัฐบาลทักษิณ)” แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนเสื้อแดง จะเป็นคนรักทักษิณ หรือไม่เอารัฐประหาร มันก็กำลังเผชิญแนวโน้มการเข้าสู่กระบวนการจำแบบ ครน. ขณะนี้รัฐประหารผ่านไปเพียงแค่ 6 ปี ความทรงจำร่วมเริ่มไขว้เขว และในอนาคตการจำแบบไม่เน้น เนื้อหา เมื่อเวลาล่วงไป “เสื้อแดง” ก็จะถูกวาง ใน Plot ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก อาจมีภาพของความเห็นอกเห็นใจในอนาคต หรือถูกสร้างให้เป็นเรื่องของนักอุดมคติที่เสียสละ กลายเป็นอภิมหานิทาน (Grand Narrative-ตามคำนิยามของ อ.เกษียร) แต่ในทัศนะส่วนตัวของผมความทรงจำแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ ได้ดีขึ้น และเป็นการส่งต่อ หรือผลิตซ้ำ Plot ประวัติศาสตร์ไทยแบบเดิมๆ
ที่ จริงมันก็ไม่ใช่เรื่องบาป อะไรที่แกนนำ นปก. (ชื่อแรกของนปช.) จะเคยโพกผ้าเหลือง ใส่เสื้อรักในหลวงต่อต้านรัฐประหาร หากย้อนไป ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการนักศึกษายังถือธงชาติพร้อมพระบรมฉายาลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องความผิดอะไรในแง่ของประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเจตนาของคนไม่กี่คนหากแต่มีปัจจัย ทางสังคมทั้งแนวดิ่งและแนวราบ (เหตุการณ์สะสมในอดีต และเหตุการณ์ร่วมสมัยในปัจจุบัน) ดังนั้นเรามิควรเหมารวมและลดทอน ทั้งในประเด็น “คนเสื้อแดง” หรือ “การใช้สีแดง” เพราะมันเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจต้นตอที่มาของปัญหาของขบวนการ
ที่ จริงแล้วการอธิบาย สังคมวิทยาว่าด้วยคนเสื้อแดง ถูกอธิบายโดยพิสดารโดยนักวิชาการทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งมิจำเป็นต้องพูดในที่นี้ เช่นเดียวกับเรื่องการใช้ “สีแดง”ในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองไทยก็มีการพูดกันมากมายในงานวิชาการทั้ง ไทยและเทศเช่นเดียวกัน แต่เรื่อง “ความทรงจำร่วม” เป็นเรื่องใหญ่ อีกสิบปีข้างหน้า เราจะจำคนเสื้อแดงอย่างไร สิ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือ ไม่ว่าเสื้อแดงจะเป็น “คนที่เสียสละเพื่ออุดมคติ” ตามคำอธิบายของเสื้อแดงกระแสหลัก หรือ “ชาวบ้านที่ถูกหลอกมาตาย” ตามคำอธิบายของฝ่ายต้านเสื้อแดงกระแสหลัก ก็ไม่พ้นเรื่องการนำสู่การจำแบบเหมาๆ Plot เดิมๆ การจัดการความจริงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อเนื่องไม่ว่าจะกลุ่มฝ่าย ขวา หรือฝ่ายก้าวหน้าก็ตาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำไม 6 ตุลาฯ จึงจำยาก ?(จำนวน 20 หน้า ปีที่พิมพ์:2539) เกษียร เตชะพีระ
http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&s_id=4&d_id=12
บันทึกถึงพวก "แดงความจำสั้น", "แดงแกล้งลืม" และ "แดงมาทีหลัง" Chotisak Onsoong
http://blogazine.in.th/blogs/iskra/post/3635