ตุลาการภิวัฒน์ คือ ศัพท์บัญญัติ ที่คนในแวดวงตุลาการ นักการเมือง นักวิชาการ และนักปลุกระดมมวลชน ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อรองรับการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายทางการเมืองของ "มือที่มองไม่เห็น" ที่ใช้ ศาล ผู้พิพากษา และ สถาบันตุลาการ เป็นเครื่องมือทำลายล้างอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ
การขับเคลื่อนของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ส่งผลอย่างรุนแรง และร้ายแรง ในสังคมการเมืองไทย จนกระทั่ง อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ ตกอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถเดินเหินได้สะดวก
อย่าว่าแต่จะเดินเยื้องย่างไปไหนเลย แม้กระทั่งจะยืนตรง ทรงตัวให้มั่น ก็ยังลำบาก
1 รัฐบาล ต้องล้มไป ทั้งๆ ที่มีเสียงในรัฐสภามากที่สุด เป็นรัฐบาลพรรคเดียวในครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
1 นายกรัฐมนตรี ต้องตกเก้าอี้ไป ทั้งๆ ที่มีประชาชนให้การสนับสนุนมากที่สุด และยังคงเชื่อมั่นศรัทธาไม่เสื่อมคลาย เรียกร้องให้
1 พรรคการเมือง ต้องถูกยุบไป ทั้งๆ ที่เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนมากที่สุด
1 ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องลาออกไป ทั้งๆ ที่ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้น
เหล่านี้คือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว หลังจากขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ขับเคลื่อนและพัดผ่าน เหลือทิ้งไว้แต่ความคับข้องใจ ความสงสัย ความไม่เข้าใจ ความสับสน กระทั่งนำมาสู่ความไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา และไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อศาล
บทบาทของศาล ความเที่ยงตรงของศาล และการเลือกข้างของศาล คือ คำถามที่เกิดขึ้นในหัวใจของประชาชนจำนวนมาก หลังจากที่ได้เห็นบทบาทอันแหลมคมที่ถูกใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงทำร้ายอำนาจบริหาร และ อำนาจนิติบัญญัติ อย่าเมามันและต่อเนื่อง
ทั้ง รัฐบาล และ รัฐสภา ถูกพิษภัยของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ จนไม่สามารดำเนินงานได้
1 นายกรัฐมนตรี กำลังถูกขึงอยู่ในศาล ทั้งศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และ ศาลเตี้ย หรือ คตส. ที่เพิ่งยุบเลิกไปเพราะหมดสิ้นอายุขัย ตามเวลาที่เผด็จการกำหนดไว้
1 รัฐบาล กำลังจะถูกส่งเข้าไปอยู่ในวงล้อมของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ เพื่อรอการสำเร็จโทษ อันเป็นเป้าหมายของ "มือที่มองไม่เห็น" ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลที่ประชาชนเสียงข้างมากเลือกเข้ามา
1 พรรคการเมือง กำลังจะถูกยัดเยียดข้อหาว่ากระทำความผิด และต้องโทษยุบพรรค ด้วยข้อหาทุจริตเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจมากที่สุด และลงคะแนนเลือกตั้งมากเป็นอันดับหนึ่ง
1 ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำลังถูกลิ่วล้อบริวารของเครือข่าย "มือที่มองไม่เห็น" เล่นงานด้วยความเท็จ เพื่อเปิดโอกาสให้ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ แทรกตัวเข้ามา และนำเข้าสู่กระบวนการถอดถอน
เหล่านี้คือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หากว่าขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ยังคงขับเคลื่อนได้อย่างอิสระเสรี ไม่มีใครกล้าขัดกล้าขวาง เพราะเกรงกลัวว่าจะต้องได้รับโทษ
เนื่องจากในสังคมไทย ถูกทำให้เชื่อว่า ตุลาการ หรือ ศาล เป็นชนชั้น เป็น สถาบันที่จะแตะต้องไม่ได้ ตุลาการ และ ศาล อยู่ในสถานะที่ผู้ใดจะวิพากษ์วิจารณ์ แสดงเหตุผลคัดค้านไม่ได้ กระทั่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง คำพิพากษา ของศาล ก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะมีเหตุผล หรือ ข้อเท็จจริงหนักแน่น สมบูรณ์ ครบถ้วนมากเพียงใดก็ตาม
จึงต้องยกให้เป็นความชาญฉลาดของ "มือที่มองไม่เห็น" ที่เลือกใช้ศาล ตุลาการ และผู้พิพากษา เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม และเพื่อแสวงหาประโยชน์ และบรรลุเป้าหมายของตนเอง เนื่องจาก ใครก็ตามเมื่อเผชิญหน้ากับขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ทั้งในศาล และ นอกศาล ไม่ว่าจะมีอิทธิฤทธิ์ อิทธิเดชมากเพียงใด ก็จะตกอยู่ในสภาพมัดมือมัดเท้า ปิดปาก แล้วถูกโยนเข้าสู่เวทีต่อสู้ที่มุ่งหมายเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
นี่เองจึงเป็นเหตุที่ทำให้ 1 นายกรัฐมนตรี 1 ประธานรัฐสภา 1 พรรคการเมือง และ 1 รัฐบาล ต้องล่มสลายไป โดยไม่อาจจะป้องกันตัวเองได้ เพราะไม่อาจจะโต้ตอบได้
ทั้งยังเป็นเหตุให้ 1 นายกรัฐมนตรี 1 ประธานรัฐสภา 1 พรรคการเมือง และ 1 รัฐบาล กำลังถูกต้อนเข้ามุมอับ จนต้องยอมรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวเอง โดยไม่อาจจะปฏิเสธได้
ข้อหาหมิ่นศาล ละเมิดอำนาจศาล ขัดคำสั่งศาล ซึ่งมีโทษจำคุกเป็นเหมือนเกราะเพชร ยันต์วิเศษ ที่ห่อหุ้มคุ้มครองศาล และตุลาการ จนไม่มีใครกล้าตอแย ต่อสู้ด้วย
แม้จะไม่เห็นด้วยก็ต้องปิดปาก แม้จะไม่ยอมรับ ก็ต้องก้มหน้านิ่ง แม้จะไม่ได้ทำผิด แต่ก็ต้องรับโทษ
คำสั่ง คำพิพากษาของ ศาล และ ตุลาการ ของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ไม่แตกต่างจากนิ้วเพชรของนนทุกข์ ที่ชี้ตายให้แก่ใครก็ได้ หากไม่เป็นที่พึงใจตนเอง
นนทุกข์ เป็นผู้มีนิ้วเพชร ตามที่พระอิศวรมอบให้ แต่นนทุกข์ใช้นิ้วเพชรโดยไม่สุจริต ใช้ตามอำเภอใจของตนเอง ไม่คำนึงทุกข์ร้อนของผู้อื่น ใช้เพื่อรังแกและสะสางความแค้นในใจตนเป็นสำคัญ สุดท้ายพระอิศวร ก็ต้องส่งพระนารายณ์ มากำจัดนนทุกข์ เพื่อหยุดยั้งฤทธิ์ร้ายของนิ้วเพชร
ศาล และ ตุลาการ เป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ ตามที่กฎหมายกำหนดและให้อำนาจไว้ ด้วยความเชื่อถือ เชื่อมั่นว่าศาล และตุลาการ เป็นผู้ทรงคุณธรรม ทรงไว้ซึ่งคุณงามความดี เป็นกลาง สุจริต และเที่ยงธรรม และได้สร้างระเบียบ ข้อกำหนด จริยธรรม ต่างๆ ไว้เป็นกรอบแห่งการปฏิบัติตนของผู้พิพากษา เพื่อที่จะรักษาความเป็นกลาง ความสุจริตเที่ยงธรรม และไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด กลุ่มใด อันจะทำให้วาจาสิทธิ์ของศาล ถูกใช้ไปในทางที่ทำให้สังคม ประชาชน ได้รับความเดือดร้อน
ที่สำคัญคือ มีข้อกำหนดต่างๆ มากมาย ที่ห้าม และป้องกัน ไม่ให้ศาลเข้าไปพัวพัน เกี่ยวข้อง กับประเด็นข้อขัดแย้ง และผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะไม่ให้ศาลมีอคติ หรือ มีผลประโยชน์ส่วนตนทั้งในรูปธรรม นามธรรม พัวพันกับประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่คู่คดี
แต่ทว่า หลังจากที่ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ อุบัติขึ้นในประเทศไทย นับแต่กลางปี 2548 เป็นต้นมา กลับปรากฎร่องรอยความไม่ปกติของศาล และ ตุลาการ ค่อนข้างมาก การปะทะคารมกันอย่างดุเดือด การแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยของผู้พิพากษา ตุลาการ คนสำคัญของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่มีต่อผู้หนึ่งผู้ใด คณะบุคคลหนึ่งคณะบุคคลใด พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการ เมืองใด อย่างมีอคติ และมีทัศนคติในเชิงลบ เชิงร้าย
นอกจากนี้ ยังปรากฎว่าตุลาการคนสำคัญของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ยังเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองกับคณะเผด็จการ และ ร่วมโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วได้รับตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหารของรัฐบาลเผด็จการ เป็นรางวัลตอบแทน ทั้ง ตำแหน่งปลัดกระทรวง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ที่คณะเผด็จการแต่งตั้งขึ้น ด้วยคำสั่งของคณะเผด็จการ มิได้เป็นโดยกฎหมายในภาวะปกติ
ปรากฎการณ์ทั้งก่อนการรัฐประหาร การรัฐประหาร และหลังการรัฐประหาร มาจนถึงขณะนี้ จึงเป็นการยืนยันและแสดงให้เห็นว่าขบวนการตุลาการภิวัฒน์ มีส่วนร่วมกับขบวนการทางการเมืองนอกระบบ เพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมือง แสวงหาประโยชน์ส่วนตนของสมาชิกในขบวนการตุลาการภิวัฒน์ อย่างที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้
บัดนี้ ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่เคยเข้ารับใช้คณะเผด็จการทหารทำลายนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้กลับคืนสู่สถานะเดิม คือ กลับเป็นผู้พิพากษา ในศาลต่างๆ และกำลังทำหน้าที่ขับเคลื่อนขบวนการตุลาการภิวัฒน์ อย่างหนักหน่วงหนักแน่น และขมักเขม้นยิ่งนัก โดยมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อีกครั้งหนึ่ง
เพียงแต่ครั้งนี้ ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ไม่ได้แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังอีกต่อไป หากแต่ เสนอตัวมาอยู่แถวแรก เป็นแนวหน้าในการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตย แทนคณะเผด็จการทหารที่เคยถูกใช้เป็นแนวหน้า เมื่อปี 2549
เหตุที่จำเป็นต้องใช้ตุลาการภิวัฒน์ เป็นแนบรบ แนวรุก และแนวหน้า ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการจะพังพินาศ และความเสื่อมถอยของสถาบันตุลาการ ที่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชา ชนเพิ่มมากขึ้น ก็เนื่องจากการใช้คณะเผด็จการทหาร เมื่อปี 2549 -2550 ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ "มือที่มองไม่เห็น" ตั้งใจหวังไว้ หลังจากที่ผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ปรากฎว่าพรรคพลังประชาชน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุด และได้เป็นรัฐบาล โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช ศัตรูหมายเลขหนึ่งของ "มือที่มองไม่เห็น" เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ "มือที่มองไม่เห็น" แทบจะกระอักเลือดตาย จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ไพ่ใบสุดท้าย คือ ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ มาเป็นแนวหน้า ออกรบแทน
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เราได้เห็นการขับเคลื่อนของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ อย่างเข้มข้น หนักหน่วง คดีหลายคดีที่อยู่ในความดูแลของศาลหลายศาล จึงถูกจัดวางให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี และวินิจฉัย พิพากษา ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ต่อเนื่องกัน เพื่อเป็นการสร้างกระแสบางประการให้เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะไล่ต้อนรัฐบาล ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี ที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตของ "มือที่มองไม่เห็น" ให้เข้าสู่มุมอับ หนีไม่ออก และถูกลดทอนความชอบธรรมที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไป แม้ว่าจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดก็ตาม จากนั้นขบวนการพันธมิตร ที่รออยู่กลางถนนก็จะเข้ารับไม้ต่อ ทำหน้าที่ขย้ำรัฐบาลที่อ่อนแอเต็มทีแล้ว
จากปี 2548 เป็นต้นไปมา จนถึงปัจจุบันนี้ นับแต่มีขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ปรากฎขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้แก่ประเทศไทย หาทางยุติปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีรับสั่งฝากความหวังไว้กับตุลาการ และทรงกำชับด้วยว่า
"ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ถ้าทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ ตะกี้ที่ปฏิญาณไป ดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ
ทว่านับแต่พระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 ที่ทรงฝากความหวังไว้กับตุลาการ ว่าจะแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง นำความสงบคืนสู่ประเทศ สร้างความสมานฉันท์แก่คนในชาติ ยุติความขัดแย้ง และความแตกแยก และสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยให้ได้ กลับปรากฎว่าจน ถึงขณะนี้ นอกจากขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ศาล ตุลาการ ผู้พิพากษา จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสฝากความหวังไว้
นับแต่ไม่สามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้ เพราะถูกเผด็จการทหารฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนแตกแยกกันมากขึ้น ความขัดแย้งทางการเมือง สังคม ลุกลาม ขยายตัว ร้าวลึกถึงชนชั้นรากหญ้า ประเทศชาติแตกแยกเป็นหลายเสี่ยง สังคมเต็มไปด้วยเสียงขัดแย้ง ทะเบาะเบาะแว้ง ไม่รู้จักจบสิ้น
คงไม่ปรักปรำกันเกินไป หากจะบอกว่าความขัดแย้งที่ร้าวลึกและรุนแรงของสังคมไทย ประชา ชนคนไทย จนยากเยียวยาให้กลับมาสมานฉันท์กันดังเดิม และไม่เห็นแนวทางที่จะนำความสงบมาสู่สังคมไทย เช่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหวัง และประชาชนคนไทยเฝ้ารอ หลายส่วนน่าจะมาจากการเข้ามามีบทบาททางการเมือง ครอบงำการเมือง ชี้นำการเมือง อย่างมีเป้าหมายแอบแฝง อย่างมีอคติ อย่างไม่สุจริต เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของใครบางคน หรือ ตนเอง
เหล่านี้ คือ ผลพวงของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ น่าจะเรียกได้ว่า เป็น ตุลาการพิบัติ มากกว่า
ตุลาการพิบัติ ที่หมายความถึง ความฉิบหาย ความหายนะของประเทศไทย และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันเกิดจากขบวนการตุลาการภิวัฒน์
หรือ
ตุลาการพิบัติ ที่หมายความถึง ความฉิบหาย ความหายนะของสถาบันตุลาการ อันเกิดจากขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ไม่ได้แตกต่างนนทุกข์ที่มีนิ้วเพชร
นับจากนี้ไป ตุลาการพิบัติ จะเป็นกลุ่มพลังอำนาจที่มีพลานุภาพอย่างมหาศาล ในการเข้าทำร้าย ทำลาย และเข่นฆ่าอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ อย่างที่ไม่มีใครจะรับมือได้ อีกต่อไป
อำนาจอธิปไตย ที่แบ่งเป็น สามฝ่าย คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ กำลังจะถูกครอบงำ และรวบไว้ในมือของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ก่อให้เกิดสภาพตุลาการพิบัติ ที่จะนำมาซึ่ง ความวิบัติ ฉิบหาย หายนะของอำนาจอธิปไตย การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประเทศไทย ในที่สุด
เว้นแต่ ประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง จะตื่นขึ้นมากำกับดูแลการใช้อำนาจอธิปไตย ของตนเอง ด้วยตนเอง มิใช่ปล่อยให้ผู้อื่นมาแอบอ้างและใช้อำนาจอธิปไตย ของประชาชน อย่างไม่ชอบธรรม ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อีกต่อไป
"ตื่นเถิด ชาวไทย อย่ามัวหลับใหล ลุ่มหลง ชาติจะเรืองดำรง ก็เพราะไทยทั้งหลาย ถ้ามัวหลับ มัวหลง เราก็คงมลาย..."
ฟ้าฟื้น
จาก thai-grassroots