บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ถึงเวลา...ปฏิรูปกฎหมาย?

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมของไทย ยังเป็นเรื่องที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แม้จะเชื่อมั่นกันว่า กฎหมายกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดีพอสมควร แต่ในทางปฏิบัติยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง

ดังนั้น การปฏิรูปกฎหมายจึงจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทั้งการปฏิรูปตัวบทกฎหมาย ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และปฏิรูปความคิดของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวในการบรรยายเรื่อง “สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม” ในงานส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย โดยระบุว่า

“ยุคเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมไทย ได้พัฒนามาจากระบบไต่สวนที่ไม่แยกอำนาจหน้าที่การสอบสวนฟ้องร้องกับการพิจารณาพิพากษาออกจากกัน การตรวจสอบความจริงในระบบไต่สวนจึงมีชั้นเดียว คือ การตรวจสอบโดยศาล ในระบบไต่สวน “ผู้ถูกกล่าวหา” เป็น “กรรมในคดี” จึงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นระบบกล่าวหา ได้แยกอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความจริงออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ การตรวจสอบความจริงในชั้นเจ้าพนักงาน และการตรวจสอบความจริงในชั้นศาล โดยกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ต้องหามีสิทธิต่างๆ ในการต่อสู้ทางคดี ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ วิธีพิจารณาคดีอาญาที่ดีต้องตามตำรานั้นได้กล่าวไว้ว่า ต้องมี 3 ส่วน คือ ต้องมีความเป็นเสรีนิยม พูดถึงการคุ้มครองสิทธิ มีความเป็นประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น การที่จะพิจารณาพิพากษาต้องกระทำโดยเปิดเผย และเป็นการกระทำเพื่อสังคม ให้สังคมได้รับรู้ ตระหนัก และเห็นว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง

อีกทั้งนัยที่สำคัญในตัวกฎหมายประกอบด้วย 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นกฎหมายที่รักษาความสงบเรียบร้อย ประการที่สอง เป็นกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองสิทธิ เป็นกฎหมายที่ดูแลให้เกิดความถูกต้อง และเป็นกฎหมายที่วางกรอบการใช้อำนาจ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็จะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะการตรวจสอบความจริงที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนในชั้นเจ้าพนักงานนั้นมีความสำคัญสูงสุด จึงต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาเสมอ

ขั้นตอนของการตรวจสอบชั้นเจ้าพนักงาน ต้องเริ่มจากการพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นความผิดอาญาหรือไม่ และเป็นความผิดฐานใด และเมื่อเห็นว่าเป็นความผิดอาญาแล้ว จึงเริ่มขั้นตอนพนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยาน หลักฐานทั้งปวง เพื่อยืนยันการกระทำนั้นต่อศาล ไม่ใช่เริ่มนำตัวมาจับขังไว้ แต่ต้องเริ่มจากการตรวจสอบความจริง และมีการรวบรวมหลักฐานเพื่อระบุว่าผิดจริงจึงสามารถนำตัวมาได้ และมีการใช้มาตรการบังคับเพื่อการรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น การค้นตัว จริงๆ จะต้องกระทำเมื่อถึงคราวจำเป็นและทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ บทบาทการตรวจสอบในการออกหมายค้นและการขอหมายจับของศาล ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งเป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และความจำเป็นของการขอออกหมายค้น หมายจับ ยังไม่แสดงถึงความเป็นเสรีนิยมในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร และหลายส่วนก็ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายเท่าที่ควร อย่างเรื่องของการขอหมายค้น หมายจับ รวมทั้งความสมบูรณ์ของการแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งยังไม่สมบูรณ์นัก การแจ้งข้อกล่าวหาที่สมบูรณ์จะต้องแจ้งว่าการกระทำของเขาคืออะไร และผิดกฎหมายอย่างไร

ด้านการรวบรวมพยานหลักฐานเสียก่อน และการที่จะดึงตัวเพื่อจะมีจุดมุ่งหมายไว้พิจารณาคือ ประการแรก เพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไม่ได้สอบปากคำผู้ต้องหาก็จะไม่สามารถฟ้องได้ ประการที่สอง จำเป็นที่จะต้องคุมตัวไว้ แต่เมื่อสอบปากคำแล้วเท่านั้น

ซึ่งการที่คุมตัวไว้นั้นจำเป็นหรือไม่ จะต้องตอบคำถามได้ว่าทำไมถึงต้องจำเป็น เช่น การฟ้องจำเป็นที่ต้องมีตัวผู้ต้องหา หรือการพิจารณาคดีก็จำเป็นที่จะต้องมีตัวผู้ต้องหาเช่นกัน

เพราะฉะนั้นในชั้นเจ้าพนักงานมี 2 เรื่องที่จะต้องพิจารณาให้ดี ซึ่งถ้าไม่มี 2 อย่างนี้แล้วโดยหลักการจะคุมตัวบุคคลไว้ไม่ได้ กระบวนการเอาตัวบุคคลไว้ใต้อำนาจรัฐมันเป็นกระบวนการเดียว นั่นหมายถึงว่า การออกหมายจับหรือการจับตัว การควบคุมขัง ทุกอย่างนี้คือเรื่องเดียวกัน ที่มีเป้าหมายเดียวกัน

ตรงจุดนี้เราควรพัฒนาเรื่องการเคารพสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาให้มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้อาชีพนายประกันและบริษัทประกันเสรีภาพที่เข้ามาหากินในขั้นตอนการขอประกันตัวของผู้ต้องหา และได้ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลจากการประกันเสรีภาพ ซึ่งระบบอยางนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหากว่าปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะถูกกำจัดออกไปจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ถูกซ้ำเติมซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นประชาชนยากจน กระทรวงยุติธรรมจึงต้องเข้าไปดูแลแก้ไข

ด้านการพิจารณาถึงความจำเป็นลำดับต้น ที่จะพิจารณาดึงตัวบุคคลไว้ภายใต้อำนาจรัฐนั้นคือ มีการหลบหนีและการยุ่งเหยิงในพยานหลักฐาน หรืออย่างเช่น ถ้าปล่อยตัวไปจะกลับไปกระทำผิดซ้ำ อย่างนี้เป็นต้น ในส่วนของการกระทำผิดร้ายแรงนั้น เป็นประเด็นรองที่ใช้ในการพิจารณา เช่น การกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น ก็สามารถที่จะยอมให้ประกันปล่อยตัวออกไปได้ ถ้าผู้นั้นไม่มีท่าทีที่จะแสดงการหลบหนีหรือยุ่งเหยิงเกี่ยวกับคดี

แต่ว่ามักมีความเข้าใจผิดกันมากว่า ความผิดร้ายแรงเป็นสาเหตุที่เพียงพอในการคุมตัวบุคคล แต่จริงๆ แล้วควรที่จะมีการพิจารณาในหลายด้าน เพราะถ้าให้มีความเสรีนิยมแล้วนั้น ต้องมีองค์ประกอบให้ครบในหลายด้าน

กรณีเรื่องการแจ้งข้อหานั้น แม้จะมีการแก้ไขไปแล้ว แต่ความจริงนั้นยังไม่ถือว่าสมบูรณ์ ซึ่งกฎหมายกล่าวว่า ให้แจ้งการกระทำที่ผู้ต้องหากระทำผิดแล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ

ในส่วนของการเรียกตัวผู้ถูกกล่าวหานั้น ต้องพิจารณาจากความจำเป็นอย่างไร ความจำเป็นนั้นคือ เพื่อต้องการจะสอบปากคำหรือว่ามีทีท่าว่าจะหลบหนี ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นนี้มาเป็นที่กล่าวถึงบ่อยมากในช่วงนี้ ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ที่จะมีการสร้างมาตรฐานที่ดีให้เกิดขึ้น

ต่อมานั้นคือ การขอหมายจับก็ต้องเกิดในความจำเป็นที่จะเกิดขึ้นนั้นจากที่มีการกล่าวไว้ก่อนหน้าคือ หลบหนี ยุ่งเหยิงกับคดี หรือว่ามีการกระทำผิดซ้ำ แต่กฎหมายในบ้านเรานั้นพิจารณาจากโทษร้ายแรง นั่นคือ โทษเกิน 3 ปี

ซึ่งตรงนี้นั้นเกิดจากความบกพร่องในข้อกฎหมาย การขอหมายจับในต่างประเทศนั้น จะต้องผ่านพนักงานอัยการ แต่ว่าตามกฎหมายของบ้านเรานั้นไม่จำเป็น สาเหตุที่ต้องมีการผ่านขั้นตอนอัยการก่อนนั้น เพื่อที่จะต้องตรวจสอบโดยชั้นหนึ่งก่อนว่ามีความผิดจริงหรือเปล่า มีเหตุจำเป็นอย่างไร เมื่อผ่านความเห็นของอัยการแล้ว จึงส่งต่อให้กับทางศาลแต่นั้น ไม่ได้หมายความว่าเมื่อศาลได้รับเรื่องแล้วศาลจะต้องอนุญาตโดยทันที แต่ศาลจะต้องนำมาเพื่อพิจารณาอีกขั้นตอนโดยละเอียดรอบคอบ

เพราะฉะนั้นปัญหาในการกระทบกระทั่งสิทธจึงเกิดได้ยาก แต่ว่าในขั้นตอนของกฎหมายไทยนั้นสามารถเกิดได้

ดังนั้น การขอหมายจับในกฎหมายไทยนั้นยังไม่เป็นไปตามกฎหมายเท่าที่ควร ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว ภารกิจของผู้พิพากษาจะต้องเป็นบุคคลที่ถือครองความยุติธรรมซึ่งต้องมีความเป็นเสรีนิยมสูงสุด เพราะฉะนั้นในการตรวจสอบการออกหมายจับของศาลนั้น คิดว่ายังขาดความมีเสรีนิยมแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในบทบาทที่ตัวเองซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิ

ในด้านการตรวจสอบในชั้นศาล การฟ้องคดีนั้นคือ การยืนยันการกระทำ การยืนยันข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวน แต่จริงๆ แล้วการฟ้องคดีของอัยการนั้นก็ยังไม่ถือว่าถูกต้องตามหลักกฎหมาย ในเรื่องของการบรรยายฟ้องต้องบรรยายการกระทำ ซึ่งการกระทำนั้นเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องใช้ในการพิจารณา แต่ของบ้านเรานั้นทำเพียงแค่ให้ครบองค์ประกอบของกฎหมาย

ซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมาย ซึ่งหากเราพิจารณาในมาตรา 158 การฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำ แต่ของเรานั้นไม่มีการกระทำใดๆ เลย แม้ว่าพนักงานอัยการจะเห็นผู้ต้องหานี้กระทำโดยป้องกันตนเอง แต่ไม่มีข้อเท็จจริงอะไรเลย ซึ่งไปฟ้องจำเลยว่าฆ่าคนตายนั้นเพราะว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ แต่หากศาลเห็นว่าไม่ได้เป็นกระทำที่เกินกว่าเหตุ จะสามารถทำการตรวจสอบได้

แต่การทำงานบ้านเราโดยการทำงานของอัยการนั้นไม่สามารถตรวจสอบได้เลย และถ้าหากการตรวจสอบความจริงเจ้าพนักงานมีความเกินภาวะวิสัยที่ได้กล่าวเอาไว้นั้น แล้วการฟ้องของอัยการถูกกฎหมายนั่นเท่ากับว่าได้คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาที่ดี และถูกต้อง

ซึ่งในความคิดเห็นว่า หากขั้นตอนในการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์แล้วนั้น จะไม่มีโอกาสที่จะถูกยกฟ้องได้เลย ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการลงโทษได้ถึง 99.61 เปอร์เซ็นต์ แต่ของประเทศไทยเรา ถ้าหากว่าจำเลยปฏิเสธนั้นประกันตัวได้ หรืออาจจะ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเนื่องจากกระบวนการตรวจสอบของเรานั้นยังไม่ดีพอ จึงส่งผลไปถึงศาล

เพราะฉะนั้น สิทธิของผู้ถูกกล่าวนั้นต้องให้ความสำคัญในการดำเนินคดี ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐก็ตาม ควรใช้เท่าที่จำเป็นและตามสมควร สิทธินั้นแบ่งออกได้เป็น 2 หลัก นั่นคือ สิทธิในการกระทำ เช่น มีสิทธิในการให้การ สิทธิในการตั้งทนายซึ่งผู้ต้องหานั้นมีสิทธิที่จะไม่ให้การได้ จะบังคับก็ไม่ได้ ซึ่งกฎหมายมีเขียนไว้ทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นตามนั้น ดังนั้นสิทธิในการอยู่เฉยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมีระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ให้กระทำการใดที่กระทบต่อเสรีภาพผู้ต้องหา

อีกประการต่อมานั้นสำคัญอย่างยิ่ง ที่อยากจะฝากถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นั่นคือ สิทธิในการตั้งทนายของประเทศไทยนั้นยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ซึ่งกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้พิการทางสายตา หรือมีปัญหาในการได้ยิน ซึ่งบ้านเรายังไม่มีทนายให้นั้น ความจริงมันจำเป็นอย่างมาก

โดยสรุปว่า ตามกฎหมายกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบัน สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดีพอสมควร แต่ทางปฏิบัติยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง การปฏิรูปกฎหมายต้องทำพร้อมกัน 3 อย่าง คือ ปฏิรูปตัวบทกฎหมาย ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และปฏิรูปความคิดของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

ผมคิดว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานใหม่ เป็นมิติใหม่ของสังคมไทย ที่จะปฏิรูปความคิดของคนในองค์กรได้ และจะทำให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนได้”


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker