คอลัมน์ : โต๊ะข่าวประชาทรรศน์
วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ในยุคที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพื่อให้อนุชนและคนสีกากีรุ่นหลังๆ ได้จดจำไว้ว่า ถูกแก๊งข้างถนนที่ชื่อว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยกพลไปยึดอย่างง่ายดาย
และยังเหิมเกริมประกาศก้อง จะกลับมายึดเมื่อไรก็ได้ โดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญ เยาะเย้ยก่อนจะสลายตัวว่า จะต้องสลายตัว เพราะสงสารบรรดานายพลตำรวจที่ทำงานอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนขาสั่น ไม่รู้จะออกไปกินข้าวเที่ยงอย่างไร จึงต้องสลายตัวด้วยความสงสาร
ตลอดเวลาที่แก๊งข้างถนนยึดถนนหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกือบ 2 ชั่วโมง บรรดาแกนนำได้สลับขึ้นไปพ่นน้ำลายปราศรัยโจมตีตำรวจด้วยถ้อยคำหยาบคายตามสไตล์
ในช่วงหนึ่ง แกนนำคนหนึ่งได้เปิดเผยว่า ก่อนวันที่จะยกพลไปยึดสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น มี “พลตำรวจเอก” คนหนึ่ง โทรศัพท์มาหา แล้วพูดว่าที่จะไปยึดนั้นไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เป็นซ่องโจร
พลตำรวจเอกคนนั้นจะเป็นใคร ผมไม่อยากจะเดา กลัวเดาถูกครับ
แต่ปัญหาอยู่ที่คำกล่าวหาว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นซ่องโจร เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก เพราะข้อหาซ่องโจรนั้น เป็นข้อหาที่ตำรวจยัดให้กับผู้ต้องหาที่จับกุมมาได้ แต่ไม่รู้จะตั้งข้อหาอะไร เพราะไม่มีของกลาง ไม่มีประจักษ์พยาน ก็ต้องยัดข้อหาซ่องโจรให้
การกล่าวหาสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นซ่องโจร นอกจากจะทำให้คนที่รับฟังการปราศรัย ทั้งที่ชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรับชมการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี หลายคนก็มีความเห็นคล้อยตาม เพราะในปัจจุบันนี้ ตำรวจนับได้ว่าเป็นข้าราชการที่ต้นทุนทางสังคมต่ำกว่าข้าราชการหน่วยอื่นๆ
อาจจะเป็นเพราะพฤติกรรมของตำรวจหลายต่อหลายครั้ง ไม่ต่างกับพฤติกรรมของโจร
แต่เป็นส่วนน้อย
ไม่ใช่มีตำรวจเลวมากกว่าตำรวจดี ตามที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตยโจมตีกล่าวหา ให้ดูสมเหตุสมผลว่าเป็นซ่องโจร
ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ไม่ว่าองค์กรใด หากมีคนเลวมากกว่าคนดี องค์กรนั้นก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้ โดยเฉพาะองค์กรตำรวจ ซึ่งถือเป็นขบวนการยุติธรรมขั้นต้น เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย หากเป็นซ่องโจรตามที่ถูกกล่าวหา สังคมนี้จะอยู่กันอย่างไร
แต่ผมก็แปลกใจว่า เหตุไฉนตำรวจไทยที่นั่งทำงานกันอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงมาถึงพลตำรวจที่ประจำอยู่ที่ป้อมยาม และตำรวจทั่วประเทศที่ได้รับชมการถ่ายทอดสดทางทีวี ไม่มีใครสักคนที่ออกมาปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของตำรวจ
หากจะกล่าวหากันว่า เมื่อไม่ปฏิเสธ ก็หมายถึงว่ายอมรับ ผมคิดว่าเป็นการให้ร้ายซ้ำเติมกันเกินไป ทั้งๆ ที่ใจก็อดคิดไม่ได้
คำด่าหยาบๆ คายๆ ตามสไตล์ของพันธมิตรฯ นั้น มีตำรวจอยู่คนเดียวเท่านั้นที่ฟังแล้วไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน ก็คือ รูปปั้นตำรวจที่ยืนอุ้มเด็กอยู่ตรงบริเวณที่กลุ่มพันธมิตรฯ ไปปักหลักยึดพื้นที่ไว้ชั่วคราวนั่นแหละ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่กลุ่มพันธมิตรฯ รวมตัวกันชุมนุมประท้วง ตั้งแต่ยึดถนนราชดำเนินเชิงสะพานมัฆวานฯ และยกพลมายึดหน้าทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นความผิดสำเร็จที่ตำรวจสามารถจะดำเนินคดีได้หลายคดี แต่ตำรวจกลับเงียบเฉย แม้แต่คดีที่มีประชาชนไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับแก๊งข้างถนน ก็ยังทำได้แค่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่กล้าแม้จะสอบพยานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับกุมผู้กระทำความผิด
เหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมานั้น ก็พอทำใจได้ว่า รัฐบาลต้องการประนีประนอม ไม่อยากจะใช้ความรุนแรง เกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลาย จึงทำได้แค่อารักขาไม่ให้แก๊งข้างถนนที่ยึดถนนหน้าทำเนียบรัฐบาลถูกทำร้าย ดูแลอารักขากันชนิดที่เรียกได้ว่า ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม
ปล่อยปละละเลยกันจนแก๊งข้างถนนเหิมเกริม บังอาจบุกยึดพื้นที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วกล่าวว่าเป็นซ่องโจร มีคนเลวมากกว่าคนดี ซึ่งถือว่าเป็นความผิดที่สำเร็จแล้วหลายข้อหา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้ทันที แต่ทุกคนกลับเงียบฉี่ ทำตัวเหมือนรูปปั้นตำรวจอุ้มเด็ก
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน จะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า หากยังไม่มีใครดำเนินการใดๆ กับแก๊งข้างถนนที่กล่าวหาว่ามีตำรวจเลวมากกว่าตำรวจดี และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเพียงซ่องโจร
ถือว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พร้อมใจกัน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยปล่อยให้ผู้กระทำความผิดซ้ำซากซึ่งหน้า ให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย เพียงเพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดดี
มาคิดอีกที หรือว่าที่แก๊งข้างถนนกล่าวหานั้นเป็นความจริง
เอกฉัตร