นับตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 โดย พรรคพลังประชาชนได้คะแนนเสียงท่วมท้นจากมหาประชาชนชาวไทย สร้างความตกตะลึงให้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สู้อุตส่าห์สร้างบันได ให้พวกตัวได้เดินโฉบฉายไปมาอย่างสบายอารมณ์
ทุกสิ่งอย่างที่คณะปฏิวัติได้สรรค์สร้างร่างไว้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ และกฎหมาย เพื่อให้เกมการเมืองเป็นไปตามหมากที่วางไว้บนกระดานต้องล้มครืน เพราะพรรคพลังประชาชน โดยเฉพาะ “รัฐธรรมนูญฉบับ 2550” หรือ “ฉบับกับดัก” กลับกลายเป็น “คนทำไม่ได้ใช้...คนใช้ไม่ได้ทำ” ซึ่งหมายความรวมถึงประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่มาตามสายธารของกฎหมายด้วย
รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ถึงที่มาและปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับขวานทองไทย อันเนื่องมาจากกระบวนการบริหารชาติบ้านเมือง ในการควบคุมหางเสือของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องมีอันชะงักงัน สะดุดตออย่างไม่ได้ตั้งใจหลายร้อยหน และผู้ที่ได้รับแรงกระแทกเหล่านั้นรุนแรงที่สุดคือ
“ประชาชน”
กระแสวิพากษ์ออกมาตั้งแต่มีการประกาศให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งในรูปแบบประชาธิปไตย อารยประเทศหวนกลับมาขานรับชาติไทยอีกครั้ง ก็มีหลายกระแสเร่งเร้าให้รัฐบาลทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ นักกฎหมาย องค์กรภาคประชาชน หรือแม้แต่บรรดา ส.ส. ฝ่ายค้าน–รัฐบาล และ ส.ว.
ย้อนภาพกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการจัดสัมมนาของกลุ่มนักธุรกิจรายย่อย “ข้อเสนอทางการเมืองของผู้ประกอบการรายย่อย 8 ธุรกิจหลัก”
นำโดย นายกิติชัย ศรีจำเริญ ประธานบริหาร บริษัท ฮัลโล บางกอก ไตรวิชั่น จำกัด ได้ทำการรวมตัวกันขึ้นเวที เพราะสุดอดกลั้นจากผลกระทบที่ได้รับจากปัญหาที่หมักหมมมานาน ที่อาจจะกลายเป็นเชื้อราฆ่าธุรกิจ อันมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ โดยนักธุกิจเหล่านี้มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เขียนขึ้นมาเพื่อเช็กบิลผู้บริหารคนเก่า ปิดโอกาสคนอื่นที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เป็นเรื่องของการชิงอำนาจ โดยไม่สนใจปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
หลังการเกิดปฏิวัติขึ้นเมื่อปี 2549 ทำให้ขาดผู้จัดการประเทศ ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง การลงทุนกับนักธุรกิจต่างชาติ เป็นไปด้วยอาการตะขิดตะขวงใจ เรียกง่ายๆ ว่า “ธุรกิจดิ่งลงเหวแบบสุดโต่ง” ตรงกันข้ามกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ “ธุรกิจโตสุดโต่ง”
โดยทางออกที่กลุ่มนักธุรกิจทำการเสนอ คือ รัฐบาลควรรีบเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจะส่งผลให้รัฐบาลไร้เสถียรภาพ และจะเกิดความพะว้าพะวังในการบริหาร และนำรัฐธรรมนูญ 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาใช้ใหม่อีกครั้ง เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ถูกแก้ไขและนำมายัดเยียดให้ประชาชนรับอย่างไม่เต็มใจ เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาล ปลดล็อกทางพันธนาการ เพื่อให้การบริหารงานลื่นไหลได้อย่างคล่องตัว ประชาชนได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่
นอกจากนี้มุมมองของนักธุรกิจรายย่อย กับกลุ่มที่ลุกฮือต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คือกลุ่มคนที่ไม่เคยทำประโยชน์ ให้คนในประเทศที่มีธุรกิจรายย่อยจำนวนมาก และคนเหล่านี้ควรที่จะเรียนเรื่องการบริหารจัดการ และควรลดความคิด และหยุดปล่อยข่าวเพื่อกระทบต่อความเชื่อมั่น และหยุดดึงฟ้าต่ำในการนำสถาบันเบื้องสูงมาแอบอ้าง
จากเดือนนั้น จนกระทั่งเดือนนี้ มีรัฐมนตรีลาออก คือ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
อันเนื่องมาจากแรงบีบ แรงกดดันของฝ่ายค้าน และ ส.ว. ลากตั้ง ที่ผสานกำลังขับไล่ โดยนำ “ชาตินิยม” เข้ามามีส่วนในการปั้นน้ำเป็นตัว กรณีหมิ่นเบื้องสูง และกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่รัฐบาลกี่ยุคกี่สมัยทำมาก็ไม่เห็นมีปัญหา ยกเว้นรัฐบาลนายสมัคร นอกจากนี้คดีความของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกศาลฎีกาตัดสินให้มีความผิดฐานทุจริตการเลือกตั้ง เท่านั้นยังไม่สาแกใจ เพราะยังคงมีการเดินหน้าถอดถอน รัฐมนตรีทั้งคณะอีกกระทง
อะไรกันประเทศไทย!!!
รัฐบาลได้ใช้ยุทธศาสตร์ถอยทุกก้าว แม้ก่อนนี้รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเตรียมผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ ก็ชะงักงันไปตามระเบียบ เพราะแรงขับหลายด้านจาการเมืองข้างถนน จากมวลชนพันธมาร เมื่อถึงห้วงเวลาขณะนี้ที่นายสมัคร เริ่มตื่นเพื่อประชาชนอีกครั้ง ประกาศกร้าวว่ารัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามความชอบธรรม เป็นสัญญาณอันสำคัญจากผู้คุมรัฐนาวา เพื่อเตรียมสลัดโซ่ตรวนที่ทำให้นักการเมือง มีสถานภาพยิ่งกว่าโจร
นักวิชาการ นักกฎหมาย และองค์กรภาคประชาชน ต่างให้การขานรับสนับสนุนอีกครั้งหนึ่ง โดยเปิดไฟเขียวให้รัฐบาล เร่งผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติที่กำลังจะเปิดประชุมในเดือนสิงหาคมนี้ โดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติที่จะถึงนี้ ควรที่จะมีการดำเนินการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เข้าสู่ที่ประชุมสภา โดยให้เป็นไปตามความรับผิดชอบจากผู้ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีอำนาจที่จะดำเนินการอยู่แล้ว
เพราะเมื่อมองในแง่ของเนื้อหาสาระแล้ว ในขณะนี้การทำงานของรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง และไม่เป็นไปตามความคาดหมายของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้บริหารประเทศด้วยข้อจำกัด ทำให้เกิดความยุ่งยาก อย่างไรก็ตามตนยังไม่เห็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพราะต่างคนต่างความคิด และแนวทางก็มีร้อยแปด แต่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่สมควรจะทำอย่างยิ่ง
ส่วนเหตุผลที่ว่า “ต้นเหตุของปัญหาคือรัฐธรรมนูญ” อ.วสันต์ ลิมป์เฉลิม อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และ สมาชิกนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี ให้ความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน โดยรัฐบาลควรเดินหน้านำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติโดยเร็ว ดังจะเห็นว่าผลพวงจากกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเช่น มาตรา 237 ส่งผลกระทบและปัญหาต่อรัฐบาลอย่างชัดเจน เพราะขณะนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ยังมองไม่เห็นทางออกที่ดีที่สุด แต่เมื่อต้นเหตุคือรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเริ่มต้นสางปัญหาตรงจุดนั้น หรือจะรอให้ทุกอย่างเละเทะไปเสียก่อนจึงจะมีการแก้ไขหรืออย่างไรกัน
ฟาก ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) เสนอว่า ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ คือต้องเร่งผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพื่อคัดค้านการเกิดรัฐประหารโดยคณะตุลาการภิวัตน์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนแต่ละกลุ่มในแต่ละจังหวัดได้มีการเตรียมตัวเพื่อจัดตั้งมวลชน เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่สถานการณ์ในปัจจุบันก็เป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ห่วงว่าถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ หรือหากเกิดการรัฐประหาร จะรับมืออย่างไร จะปกป้องประชาธิปไตยไว้อย่างไร
ท้ายสุดแล้วประธาน คปพร. เชื่อว่าการผลักดันและเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือทาง คปพร. ก็อาจจะได้รับการขัดขวางจากคนบางกลุ่ม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คงไม่มีกลุ่มใดที่อยากจะได้รับความพ่ายแพ้ แต่รัฐบาลคงสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
นอกจากนี้ความคิดเห็นของนักกฎหมายอย่าง นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุชัดเจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ทางสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ทำการเตือนมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้เป็นเวลา 3 เดือนแล้วว่า รัฐบาลควรเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 โดยเร่งด่วน เพราะถ้าไม่เร่งแก้ไขจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา ทั้งด้านการบริหาร และด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติจะเสียหายหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 237 และการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งในขณะนี้เห็นได้ชัดแล้วว่า อำนาจของ ส.ว. 74 คน สามารถจัดการทุกอย่าง “ล้นฟ้า”
ขณะที่เสียงของรัฐบาลยังคงยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้กระทำเพื่อตนเอง แต่เพื่อ อนาคต โดย นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการทำประชามติ แก้ต่างว่าหลายคนยังคงเข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการปกป้องตนเอง เพื่อไม่ให้มีการยุบพรรค จึงขอเรียนว่าการเดินหน้าในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการแก้ไขเพื่ออนาคต ที่ประเทศจะสามารถบริหารงานได้
จะด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่ ณ บัดนี้ ปัญหาได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ประชาชนต้องแบกรับภาระในสภาวะเศรษฐกิจที่สุดจะฝืดเคือง ที่เกิดจากปัญหาการ “แย่งชิงอำนาจ” ของนักการเมือง และของกลุ่มอำมาตย์ที่ต้องการให้วงจร หรือวัฏจักรการโกงกินบนหลังประชาชน ยังดำรงอยู่
ณ วันนี้ ไม่เหลือที่ให้รัฐบาลถอยอีก เมื่อหลังติดฝา หมดหนทางที่จะ “ปลดชนวนอุบาทว์” หนทางเดียวของนักรบผู้กล้า คือ “สู้...สู้จนสุดใจ” การมีอำนาจ แต่ไม่ได้ลงมือทำ ก็คือ “ผู้ไร้อำนาจ” เท่านั้นเอง