รัฐสภา 25 ก.ค.-คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ เสียงส่วนใหญ่ สรุปที่มา ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อ้าง คมช.เป็น "รัฏฐาธิปัตย์" แค่วันเดียว ก่อนถวายคืนพระราชอำนาจ ระบุบทเฉพาะกาลมาตรา 309 ไม่อุ้มสิ่งที่ไม่ถูกต้อง “สุทิน คลังแสง” เตรียมหารือพรรคพลังประชาชนยื่นถอดถอน ขณะที่ กมธ.ซีกพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นต่าง ยืนยัน ป.ป.ช.มีที่มาถูกต้อง
นายสุทิน คลังแสง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่ผู้ร้องขอให้สอบสวนที่มาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยหลังจากได้พิจารณาประเด็นดังกล่าว ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ที่มา ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจารีตประเพณีตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ป.ป.ช.ชุดนี้เกิดจากประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 ก.ย. 2549 และประกาศ คปค.ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 31 ก.ย. 2549 ลงนามโดยประธาน คมช.ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง วันที่ 20 ก.ย. 2549 จึงไม่ถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เพราะเท่ากับเป็นการถวายคืนพระราชอำนาจ ดังนั้น จึงถือว่า ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง” นายสุทิน กล่าว
นายสุทิน ยังกล่าวถึง รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ในบทเฉพาะกาล ที่รับรองสถานะของ ป.ป.ช. ว่า แม้มาตราดังกล่าวจะให้การรับรอง แต่ก็เป็นการรับรองเฉพาะในสิ่งที่ถูกกฎหมาย เมื่อ ป.ป.ช.มาโดยไม่ชอบตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ในข่ายการรับรอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการถกเถียง จึงขอเสนอให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ นำประเด็นเรื่ององค์รัฏฐาธิปัตย์ไปวินิจฉัย และหาข้อสรุปต่อไป
นายสุทิน กล่าวว่า กรรมาธิการฯ คงทำได้เพียงนำเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทราบ แต่ถ้าจะมีประชาชน หรือ ส.ส.ดำเนินการ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ ขอเสนอให้องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยตามกฎหมาย นำข้อศึกษานี้ไปวินิจฉัย
“กรรมาธิการฯ ไม่มีหน้าที่ถอดถอน แต่ถ้าเป็น ส.ส.ก็ดำเนินการได้ ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้เข้าหารือที่ประชุมพรรคพลังประชาชน ว่าจะยื่นถอดถอนหรือไม่ ถ้า ส.ส.เข้าชื่อยื่นถอดถอน ก็เป็นเอกสิทธิส่วนบุคคล” นายสุทิน กล่าว
ทั้งนี้ นายอับดุลการิม เด็งระกีนา ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ในซีกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เข้าร่วมประชุม ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากเห็นว่า คปค.เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ ที่มีความชอบธรรมในการแต่งตั้ง ป.ป.ช. ประกอบกับต่อมาได้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 ได้ให้การรับรองเอาไว้ว่า การกระทำที่เกิดขึ้นของ คปค.ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงเห็นว่า ป.ป.ช.มีที่มาที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ แต่เมื่อคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากมีความเห็นเช่นนี้ เราในฐานะที่เป็นเสียงข้างน้อยก็ต้องให้ความเคารพ.-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-07-25 16:51:26