บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วิสัยทัศน์ รัฐมนตรีลูกชาวไร่

ในวันที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่งอยู่ในฟากสมาชิกรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติ เขาได้ชื่อว่า ทำงานถึงลูกถึงคนที่สุดคนหนึ่ง ฉายาอีโต้อีสานมิได้ได้มาเพราะโชคช่วย หรือซื้อหาใครมา

วันนี้บุญพาวาสนาช่วย ได้โอกาสแสดงฝีมือการทำงานในฝ่ายบริหาร ธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ ประชาทรรศน์ ประกาศก้อง รัฐมนตรีชาวไร่ จะทำงานเพื่อเกษตรกร เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้นำเงินตราเข้าประเทศ เปิด 4 ยุทธศาสตร์ ชูผลงานเพียบ พืชพลังงาน ตั้งเป้า “ไทยเป็นโอเปก” ผลิตเอธานอลใช้เองและส่งออก ทดแทนน้ำมันที่มีราคาแพงหูฉี่ วาดฝัน “อีสานศูนย์กลางอินโดจีน” แปรรูปยางพาราทำยางรถส่งออกอินโดจีน พร้อมแก้ปัญหาสหกรณ์การเกษตรที่หมักหมมมานาน เพื่อเป็นแหล่งทุนของเกษตรกรไทย ชี้พันธมิตรฯ เป็นเพียงบันไดให้คณะรัฐประหาร หากทหารไม่เล่นด้วยก็หมดความหมาย เชื่อเป็นไปตามยถากรรม!

“ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ก็แถลงผลงานเมื่อวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ แล้วก็เริ่มทำงานอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ก็วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผมได้รับหน้าที่ให้กำกับดูงานทั้งหมด 5 หน่วยงานด้วยกัน ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การยาง...รวมแล้วเป็น 5 องค์กร

และหลังจากได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วยงานต่างๆ ทั้ง 5 หน่วยงานแล้ว ก็ได้มีการประชุมมอบนโยบายให้กับข้าราชการทั้ง 5 องค์กร เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้ก็ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ผมต้องการให้ทั้ง 5 หน่วยงานนี้ทำงานแบบบูรณาการเข้าด้วยกัน ซึ่งมันจะสอดคล้องกันเลยทั้ง 5 หน่วยงาน โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรนั้นเขามีนักวิชาการ มีดอกเตอร์กว่า 200 คน มีบุคลากรเยอะ มีศูนย์วิจัยต่างๆ ศูนย์บริการตามพื้นที่ต่างๆ ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็เป็นกรมใหญ่ที่จะต้องดูแลพี่น้องในสังกัดสหกรณ์ต่างๆ

ทีนี้สำหรับนโยบายที่ผมวางไว้ก็คือ 4 ยุทธศาสตร์ ในการบริหารหน่วยงานทั้งหมด ยุทธศาสตร์แรกคือ Food Safety อาหารปลอดภัย ตรงนี้กรมวิชาการเกษตรจะเป็นเจ้าภาพ เพราะว่าเรามีสินค้าการเกษตร เรามีพืชผัก ผลไม้ ในการที่จะส่งออกไปต่างประเทศ เรามีพระราชบัญญัติกำกับดูแลในส่วนของกรมวิชาการเกษตร

ในการที่จะตรวจสอบดูแลสินค้าทางการเกษตร ก่อนที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ เริ่มต้นในการกำหนดยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จนออกมาเป็นผลผลิต จะต้องปลอดภัย ในยุคสมัยแบบนี้ที่ทั่วโลกเขาต้องการความปลอดภัยนั้น ตรงนี้จะเป็นการเริ่มต้นที่เราจะต้องเข้าไปดูแลในเรื่องของสารเคมีต่างๆ ในกระบวนการผลิต ว่าจะมีวิธีการอย่างไรถึงจะมีความปลอดภัย เพราะว่าเวลาเราส่งออกไปยังต่างประเทศจะต้องปลอดภัย 100% มีอะไรปนเปื้อนนิดเดียวก็ไม่ได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ถ้าส่งออกไป 25 ชนิด มีการเจือปนสารพิษไปสัก 5 ชนิด มันก็จะกระทบอีก 20 ชนิดไปด้วย แล้วเขาก็จะไม่รับสินค้าของเรา ตรงนี้คือปัญหาที่กรมวิชาการเกษตรจะต้องดูแล คือ Food Safety...ผมบอกว่าไม่ต้องครัวไทยสู่ครัวโลกหรอก ครัวอุดรสู่ครัวกรุงเทพฯ ผมมีโครงการที่จะทำครัวอุดรสู่ครัวกรุงเทพฯ จะทำ 4 มุมเมือง เหมือนตลาด 4 มุมเมืองในกรุงเทพฯ และจะทำเขื่อนห้วยหลวง ซึ่งมีน้ำ มีพื้นที่ มีศูนย์วิจัย มีความพร้อมในการทำเป็นศูนย์กลาง สินค้าจากเขื่อนห้วยหลวงสู่กรุงเทพฯ จะเป็นสินค้าที่ปลอดภัย นี่คือยุทธศาสตร์นำร่องที่ผมวางไว้ คือ Food Safety อาหารปลอดภัย

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องพืชพลังงานทดแทน ตรงนี้ผมถนัด ในสภาวะที่เกิดวิกฤติพลังงาน น้ำมัน ประเทศไทยไม่มีบ่อน้ำมัน อย่างดีก็มีก๊าซธรรมชาติอะไรบ้าง แต่เรามีน้ำมันบนดิน ผมเคยเป็นชาวไร่อ้อยมาก่อน ผมเคยเป็นเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานแห่งประเทศไทย เราต่อสู้ร่วมกันในการที่จะเอาอ้อยไปทำเอธานอล ไปทำพืชพลังงานมานานเป็น 10 ปีครับ

ผมเห็นประเทศบราซิลเขาเอาอ้อยมาทำพืชพลังงานเกือบ 100% เอาอ้อยมาทำเป็นพืชพลังงาน เราต้องการเห็นประเทศไทยเป็นแบบนั้นบ้าง หวังว่าในอนาคตคงทำได้ พอผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ผมก็ไปศึกษาว่าทำไมบราซิลถึงประสบความสำเร็จ ที่บราซิลประสบความสำเร็จเพราะว่าเขามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรมาจากชาวไร่อ้อย เขามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาจากชาวไร่อ้อย เขาสู้มานานกับพวกค้าน้ำมัน และเราก็อยากทำอย่างนั้นบ้าง บังเอิญกับวิกฤติภาวะน้ำมันที่ขึ้นทุกวัน

ทุกวันนี้กว่า 40 บาทแล้ว เกษตรกรที่เขาใช้น้ำมันดีเซลก็กว่า 40 บาทเหมือนกัน จุดนี้ทำให้เกิดปัญหา พอมีปัญหาตรงนี้จะทำอย่างไร เราก็มาดูสิว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ก็ไปดูว่าพืชพลังงานของเรามีกี่ตัวที่เป็นเศรษฐกิจ เอาตัวหลักๆ ก็มีอ้อย มันสำปะหลัง แล้วก็ปาล์ม ที่ปลูกกันในภาคใต้ ใช้ทำไบโอดีเซล

อ้อยปลูกส่วนใหญ่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งทั่วประเทศมีกว่า 73 ล้านตัน ใช้ผลิตน้ำตาลใช้ภายในประเทศ 20 ล้านตัน ส่งออกประมาณ 51 ล้านตัน แล้วเอามาทำเอธานอลประมาณ 3 ล้านตันเท่านั้นเอง มันสำปะหลังมีอยู่ 27 ล้านตันทั่วประเทศ ฉะนั้นผมก็ลองมาคิดว่าเราจะขยายผลอย่างไรในภาวะน้ำมันแพงแบบนี้ คิดจะทำเอธานอล ผมก็ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ซึ่งผมเป็นประธานในเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ท่านนายกฯ ก็เห็นด้วย เพราะว่าจะได้เป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรด้วย ประชาชนด้วย รัฐบาลก็ได้ด้วย

ทีนี้ในการดำเนินนโยบายเราต้องทำออกมาให้เป็นรูปธรรม เพราะเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ราคาอ้อยอยู่ 600 บาท ก็ขายทำน้ำตาลอย่างเดียว ราคาก็ต่ำ พอมีการปรับราคาน้ำตาล ไปใช้หนี้ เขาก็ทำประโยชน์ให้กับพี่น้องเกษตรกร และต่อไปก็ไม่ต้องไปปรับราคาน้ำตาล ปรับเข้ากองทุนเอาไปใช้หนี้ ธกส. ไม่ได้มีผลประโยชน์อย่างที่เขาว่ามาหรอก นายกฯ ไม่ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่ได้ เสร็จเรียบร้อยต่อไปเราไม่ต้องไปปรับราคาน้ำตาลอีกแล้ว เราก็จะเอาผลผลิตอ้อยที่มีอยู่ไปทำเอธานอลใช้ภายในประเทศ ทดแทนน้ำมันที่มีราคาสูง ที่เหลือก็ส่งออก หลังจากที่ประเทศไทยพูดถึงเรื่องนโยบายพลังงานทดแทน พวกแขกมันออกมาโวยวายเพราะว่ากลัวขายน้ำมันไม่ได้ บอกว่าจะเกิดวิกฤติ ผมบอกเลยว่าพอ ประเทศไทยจะผลิตน้ำตาลเพียงพอ ส่งออกก็มี เวลาเราส่งออกเขากดราคาต่ำ เวลาน้ำมันส่งให้เราราคาสูง เราก็คิดที่จะผลิตพืชพลังงานของเราที่มีอยู่บนพื้นดิน น้ำมันบนดิน

ผมก็เลยคิดว่าเราจะต้องเอาประเทศไทยเป็นโอเปกของพืชพลังงาน เป็นประเทศที่ 2 ของโลกรองจากบราซิล ผมไปพูดที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ จะเห็นผลเริ่มต้นภายในปีนี้ หมายถึงว่า เอธทานอลที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ตอนนี้มีกว่า 40 โรงงาน และที่ผลิตได้ตอนนี้ 1 ล้าน 5 แสนลิตร ใช้ในประเทศ ที่ ปตท. ซื้อ บางจากซื้อไปประมาณ 8 แสนลิตร ที่เหลือส่งออก 7 แสนลิตร เพราะว่าความต้องการของคนในประเทศยังไม่เยอะ เราเลยใช้น้อย ซึ่งเรากำลังค่อยๆ ปรับสภาพไป

ส่วนกำลังการผลิตของเราก็กำลังดำเนินการก่อสร้างตามนโยบายของรัฐอีกกว่า 40 โรงงาน รวมแล้วปลายปีนี้ หรือปี 2552 เราจะสามารถผลิตเอธานอลจากทั่วประเทศได้ประมาณ 2 ล้าน 5 แสนลิตรต่อวัน ดังนั้นเราต้องบริหารงานการตลาดออกไป เราจึงมีนโยบายในการบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงพลังงาน บางจากจะซื้อเท่าไร ปตท. จะซื้อเท่าไร

กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องนำเข้ารถที่ใช้ E85 ได้ จากนโยบายนี้แหละ จากตอนนี้เรามี E5 E10 E20 หากต้องการสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรจริงๆ ต้องใช้ E85 ทุกกระทรวงบูรณาการการทำงานกัน โดยผ่านคณะรัฐมนตรี ชุดนี้ได้มีมติออกมาเพื่อส่งเสริม รมว.อุสาหกรรม นัดประชุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ นัดผู้ประกอบการบออกว่าจะทำอย่างไรกับนโยบายนี้ มี 6-7 บริษัท เข้ามาให้ความเห็น และดำเนินการไปแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ใช่กลับหัวกลับหางที่จะทำให้ได้ทันที มันต้องดำเนินการเป็นสเต็ปๆ ไป จะต้องมีสถานีบริการ กระทรวงอุตสาหกรรมระบุชัดเจนว่า หลังจากที่มีมติ ครม. ออกไป อีก 5-6 เดือน จะมีสถานีบริการ E85 ไม่ต่ำกว่า 50-60 ปั๊ม...”

รัฐมนตรีชาวไร่ ธีระชัย แสนแก้ว ประกาศแก้ปัญหาวิกฤติพลังาน ด้วยผลผลิตทางการเกษตร ปีหน้าทุกอย่างไปโลด

“มีน้ำมันเติมแน่นอน E85 และ E20 เติมกันได้ แล้วมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขวิกฤติพลังงานที่มี นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ผมไปประชุมร่วมด้วย โดยมีการหารือกันว่า รถยนต์ที่ใช้เบนซินและดีเซลในประเทศไทยมีจำนวนเท่าไร ซึ่งรถยนต์ใช้ดีเซลมีอยู่เยอะมาก เราจะดูกันว่าจะทำอย่างไรที่จะปรับเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้ E85 ได้ ผมมาคิดขึ้นได้ว่า เริ่มแรกที่ดำเนินการช่วงแรก รถนำเข้าจากบริษัทต่างๆ ที่นำเข้ามาจากยุโรป ที่จะใช้ E85 ก็ว่ากันไป คุณจะทดสอบ จะทำอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ในขณะเดียวกัน ผมดูแลกรมวิชาการเกษตร ก็สั่งการให้ไปทดสอบดูว่า เครื่องรถกระบะนี้จะใช้กับ E85 ได้อย่างไร ก็เป็นส่วนหนึ่ง รถที่มีอยู่ ถ้าหากเรายกเครื่องดีเซลออก แล้วเอาเครื่องที่รองรับ E85 คือนำเข้าเครื่องก่อนว่าจะเป็นเครื่องละเท่าไร 80,000-100,000 บาท เอามายกเครื่อง เขาจะใช้ได้ทันที เพราะเขาสามารถผลิตน้ำมันบนผืนดินได้เอง อันนี้ยุทธศาสตร์ที่สอง ไปได้ยาวเลย

กระทรวงเกษตรฯ ได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ ต่อไปหากมันสำปะหลัง อ้อย เกิดมีราคาในตลาดโลกดี เราจะมาทำไบโอดีเซลนี้อีกไหม ผมยืนยันว่าต้องทำต่อไป เราต้องเพิ่มผลผลิต กรมวิชาการเกษตรต้องไปทำการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในพืชเหล่านี้ เช่น อ้อยมีกำลังการผลิตในประเทศ 6.4 ล้านไร่ ผลผลิตได้ 73 ล้านตัน ถัวเฉลี่ย 10 ตันต่อไร่ ซึ่งน้อยไป เราจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่เป็น 13-15 ตันต่อไร่ ได้หรือไม่ ตอนนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการดูแลครบวงจรทั้งหมด เอาอ้อยพันธุ์ดี เช่น ขอนแก่น 2 ขอนแก่น 3 ขอนแก่น 4 ขอนแก่น 5 ออกมาให้เหมาะสมกับพื้นดิน มีน้ำหนัก มีความหวานพอ เหมาะสมที่จะผลิตเอธานอล”

ให้คำหวาน ต่อไปพี่น้องเกษตรกรจะอยู่ดีกิน มีเรื่องทะเลาะกันเรื่องเดียวระหว่างผัว-เมีย คือ จะซื้อรถสีอะไรดี

“ผมต้องการให้ภาคอีสานเป็นศูนย์กลาง แล้วทีนี้มีการประชุมกันคุยกัน วางยุทธศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลาง คือมี อุดรธานี หนองคาย และเลย โดยจะหาที่ดินแล้วเอานักลงทุนมาลงทุน ประเทศไทยลงทุนในภาคอีสานมีแค่ 4-5 โรงงาน เช่น ยางรถอีแต๋น ยางรถมอเตอร์ไซค์ ส่งออกไปอินโดจีน นี่มันถมเถแล้ว เราไม่ใช่ต้องไปต่อสู้กับยางอะไรเยอะ บริดจสโตน เรเดียล เราทำง่ายๆ ตรงนี้ก่อน ไม่ใช่เราส่งยางธรรมชาติไปจีน แล้วจีนเอาไปแปรรูปส่งมาขายให้เราอีกที

จากที่เรามีการแปรรูปในประเทศไทย 10% เพิ่มมาเป็น 15-20% ทีนี้ผู้ประกอบการที่เขาขายยางธรรมชาติเขาบอกว่า ขายแค่น้ำยางธรรมชาติ เขามีกำไรเพียงพอแล้ว เลยทำให้มีปัญหา แต่เขาพร้อมนะครับ แต่ต้องดูเรื่องภาษีอะไรต่อมิอะไร ผู้ลงทุนเขาพร้อมจะลงทุนในการแปรรูปยางพาราในภาคอีสาน เพราะน้ำยางจากภาคอีสานเป็นน้ำยางบริสุทธิ์ เพราะว่าฝนไม่ตกเยอะเท่าไรนะครับ ในชีวิตของผมที่เป็นรัฐมนตรีนี่จะมีความสุขมากแล้วครับ หากทำการแปรรูปยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท เป็น 2.4 แสนล้านบาท ภายในพริบตาเลยนะครับ

ยุทธศาสตร์เรื่องยางพาราตอนนี้ เราจะต้องดูเรื่องของโลจิสติกส์ หรือระบบขนส่งด้วยนะครับ เช่น ข้ามลาว มุกดาหารมีสะพานข้ามแล้ว ขณะนี้ จ.นครพนม กำลังจะวางศิลาฤกษ์กันแล้ว ในอีก 5-6 ปีคงจะเสร็จ เมื่อเสร็จแล้วเราไม่ต้องส่งลงเรือทางภาคตะวันออก ส่งขึ้นไปทางด้านบนเลยตรงๆ ไม่ต้องอ้อม ข้ามมุกดาหารไปสะหวันนะเขต จากนั้นไปท่าเรือดานัง จากดานังส่งต่อไปจีน ใช้เวลา 8 ชั่งโมงถึงนะครับ อันนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่จะต้องทำ เพื่อรองรับผลผลิตยางพาราในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่ผลผลิตจะออกมาไม่ต่ำกว่า 2 ล้านไร่ เพราะพื้นที่มีความเหมาะสม เดี๋ยวนี้กรีดยาง ราคายางแบบนี้ ผัวเมียทะเลาะกันเรื่องไปเลือกสีรถ”

ประชาทรรศน์ รายสัปดาห์ ฉบับที่ 76 ประจำวันเสาร์ที่ 12 - วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2551 วางแผงแล้ววันนี้ อย่าลืม อย่าพลาด เนื้อหาในเล่มเปี่ยมข้อมูลที่เล่มอื่นไม่มี ถึงมีก็ไม่เหมือน

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker