บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ธงชัย วินิจจะกูล : 'สนทนาท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบ’

ที่มา ประชาไท

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2553 ที่ห้องประชุม ศ.ดร.มล.ตุ้ย ชุมสาย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาหัวข้อ ‘สนทนากลางฝุ่นตลบหลังเดือนพฤษภา: ประเด็นและคำถามจากเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต’ มี ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากร ‘ประชาไท’ นำเสนอรายละเอียดของการอภิปราย ซึ่งมีดังต่อไปนี้

ธงชัย วินิจจะกูล เมื่อ 28 ก.ค.
ระหว่างงานเสวนา ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บรรยากาศวงเสวนา ‘สนทนากลางฝุ่นตลบหลังเดือนพฤษภา: ประเด็นและคำถามจากเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต’ ซึ่งมีธงชัย เป็นผู้อภิปราย เมื่อ 28 ก.ค. ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

0 0 0

เรื่องที่ผมจะพูด เริ่มมาจาก บก.หนังสือ “อ่าน” หลายคนคงรู้จักใช่ไหมครับ จะให้ผมช่วยเขียน แล้วจนหมดเวลาแล้ว คือสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมสารภาพว่าเขียนไม่ออก คิดว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกเหมือนหลายๆ คนที่เขียนไม่ออก ไม่ใช่เพราะไม่มีอะไรจะพูด แต่เพราะมีเยอะเกินไป มันมีเยอะเกินไปแล้วไม่สามารถประมวลสิ่งที่มีอยู่ เรียบเรียงออกมาเป็นคำพูดและตัวหนังสือไม่ออก มันสับสนปนเป ฉะนั้นตอนที่ผมรับทาง มช. ว่าจะคุย ผมก็คิดในใจว่ามาคุยในเรื่องที่เขียนไม่ออกนี่แหละ โดยที่ไม่ต้องคาดหวังด้วยซ้ำว่าจะฟังรู้เรื่องมากน้อยแค่ไหน คือเป็นทั้งการลองความคิดของตัวเอง ลองนึกถึงหนังสือ “อ่าน” ก็แล้วกันนะฮะ นั่นคือประเภทงานที่ผมจะพูดต่อ

เพราะฉะนั้น มันมีเรื่องหลายเรื่องในหัวที่ควรจะคุยกัน แต่ขอไม่คุย ถ้าหากว่าจะคุยกันตอนมีเวลาหลังจากนี้ค่อยว่ากัน เช่น เหตุที่มาของปัญหา มีคนเขียน มีคนพูดถึงเยอะแยะแล้ว พูดกันอีกก็ได้ แต่ผมไม่ได้เตรียมเรื่องนี้ เหตุที่มาของปัญหามองในเชิงโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงชนบทไทย ความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ช่องทางทางการเมือง (แบบที่ชนชั้นนำของสังคมไทยไม่คิดว่าประชาชนชั้นล่างจะมีความสามารถทำได้) แล้วเมื่อเขามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการการเลือกตั้ง ทำอีท่าจึงไหนจึงเกิดความขัดแย้งกับชนชั้นนำของไทยได้ เราจะยินประเด็นนี้บ่อยใช่ไหมครับ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคุยก็ได้ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ผมเตรียมไว้

ประเด็นต่อไปที่คิดว่าคุยได้ แต่ผมไม่ได้เตรียม กีมีเช่น ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวหลังจากนี้มีประเด็นอะไรบ้างที่น่าคิด นี่อีกเหมือนกันแต่ละเรื่องเราคุยได้เป็นชั่วโมง แต่อย่างที่บอก ผมเชื่อว่าหลายท่านในทีนี้ ทั้งรู้มากกว่า และคุยได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าหลังจากนี้แล้วจะเสนอออกมาจะคุยก็ได้ แต่หนึ่ง ผมไม่ได้เตรียม สองผมไม่คิดว่าผมรู้เรื่องพวกนี้ดี จะเป็นการคุยในเรื่องที่ผมไม่ได้เตรียมมา เอาแค่สองประเด็นนี้คุณก็เห็นแล้วว่าเรื่องมันเยอะขนาดไหน ที่จะต้องคิดและเรียบเรียงออกมา

แต่เรื่องที่ผมเตรียมมาและอยากคุยคือเรื่องที่เป็นทั้งประสบการณ์ และความสนใจที่ผมทำมาหลายปี หลายคนอาจจะพอรู้ ก็คือประเด็นที่ว่า เราจะอยู่อย่างไรและจะจัดการอย่างไรกับประวัติศาสตร์ที่โหดร้าย นี่คือเรื่องที่ผมเตรียมมา

หลายคนคงพอนึกออกนะตรับ ทั้งในแง่ประสบการณ์ ในแง่ที่ว่าคิดกับมันมาสามสิบกว่าปีของชีวิต และเขียนมาบ้างก็คือ เราจะ Deal(จัดการ) อย่างไรกับประวัติศาสตร์ 6 ตุลา วันนี้ผมไม่ได้มาพูดเรื่อง 6 ตุลา แต่ว่าอยู่ในประเด็นนะ ผมเรียกว่ามันเป็น “ประวัติศาสตร์ที่โหดร้าย” ทั้งในความหมายที่ว่ามันเป็น Tragedy (โศกนาฏกรรม) ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในแง่ที่เป็นความทรงจำ หรือเป็นความร้าวลึกทางประวัติศาสตร์ที่มีปัญหากับสังคมไทย และสังคมไทยพยายามจัดการกับมันทั้งสำเร็จ และไม่สำเร็จไปในแง่ต่างๆ กัน ผมพยายามเอาบทเรียน ประสบการณ์ที่เคยคิดกับเรื่องนี้ มาคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาที่ผ่านมา ซึ่งยังสดๆอยู่ ต่างกับที่ผมคิดกับเรื่อง 6 ตุลา ซึ่งผมเริ่มลงมือคิด ลงมือเขียนหลังจากมันผ่านมาแล้วประมาณ 20 ปี และคิดกับมันต่อมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นผมจะพูดเรื่องนี้


“ภาวะฝุ่นตลบ” ก็คือ ภาวะหลังเหตุการณ์ซึ่งมันซับซ้อน
และที่สำคัญมากมันเป็น “โศกนาฏกรรม” คือ Tragedy
เมื่อมันเสร็จสิ้นลงไป เป็นปกติเลยไม่ว่าสังคมไหนหรือที่ไหน
จะเต็มไปด้วยเรื่องราว คำอธิบาย
จะเต็มไปด้วย Fact หรือข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ไม่ลงตัว

นิยาม ‘ภาวะฝุ่นตลบ’

เวลาเราตั้งหัวข้อ ผมจึงตั้งว่า สนทนาท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบ” ผมจะเริ่มเลยว่า ฝุ่นตลบ” แปลว่าอะไร จากนั้นผมมีอยู่ด้วย 4-5ประเด็นใหญ่ๆ ว่า เราจะอยู่และเราจะ deal อย่างไร คือจะจัดการอย่างไรกับสภาวะฝุ่นตลบและคงอีกไม่นานจะเริ่มลงตัว และจะลงตัวแบบที่หลายคนคงไม่อยากจะให้มันลง อย่างนั้น เราจะสู้กับมันอย่างไร

พูดกันอย่างเปิดเผยไม่ต้องปิดบังกันหรอกว่า (ถ้าหาก)ใครในที่นี้เกลียดเสื้อแดงหนักหนา คุณก็จะเจอว่า “ภาวะฝุ่นตลบ” ที่มันลงตัวในอีกไม่นานนักนี้จะเป็นภาวะที่คนเกลียดเสื้อแดงอาจจะพอใจ แต่สำหรับคนอย่างผม สำหรับคนอีกหลายๆ คนในที่นี้ อาจไม่ได้เชียร์เสื้อแดงหนักหนา แต่มีความเห็นอกเห็นใจอยู่ ก็จะรู้ว่าเป็นภาวะที่เริ่มลงตัวแบบที่ไม่น่าพอใจ และบทเรียนจากกรณี 6 ตุลาคือเรื่องแบบนี้เราสู้กันมาเป็นสิบๆ ปี และไม่รับประกันนะว่าจะชนะ อย่างน้อยที่สุดก็คือคนรุ่นผม เอาเป็นว่าผมและเพื่อนหลายๆ คน เราอยู่กับมันมา 30 ปีแล้ว มันไม่ง่าย และเผลอๆ เราก็อยู่กับมันตลอดจนเกษียณ จนตาย และที่แน่ๆ คือเราตายไปแล้ว สังคมไทยก็ยังอยู่กับมันแบบนั้น

4-5 ประเด็นที่จะพูดถึงก็คือว่า “สังคมไทยจัดการกับเรื่องโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น (อย่างไร)แบบไหน” สังคมไทยมีวิธี มีค่านิยม มีรากฐานทางภูมิปัญญาที่จัดการกับเรื่องโศกนาฏกรรมอย่างที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง และเราก็ดูกันว่า อะไรที่น่าพิสมัยหรือไม่น่าพิสมัย อะไรที่เราพอจะสู้ อะไรที่พอจัดการกับมันได้ให้ดีที่สุดเท่าที่คนที่ตกเป็นเหยื่อ คนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำในเหตุการณ์ที่ผ่านมา พอจะอยู่กับมันได้ อย่าเรียกว่าพึงพอใจเลย และจะสู้กับมันอย่างไร นี่คือประเด็นที่ผมจะคุย หวังว่าจะใช้เวลาไม่มากจนเกินไป และหลังจากนั้นจะคุยกันต่อเรื่องนี้หรือจะเปลี่ยนประเด็นเป็นเรื่องอื่นก็ตามใจ

ภาวะฝุ่นตลบ” ก็คือ ภาวะหลังเหตุการณ์ซึ่งมันซับซ้อนและที่สำคัญมากมันเป็น “โศกนาฏกรรม” คือ Tragedy เมื่อมันเสร็จสิ้นลงไป เป็นปกติเลยไม่ว่าสังคมไหนหรือที่ไหน จะเต็มไปด้วยเรื่องราว คำอธิบาย จะเต็มไปด้วย Fact หรือข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ไม่ลงตัว ฝุ่นตลบของผมหมายความว่าแบบนี้

ยกตัวอย่างในกรณีปัจจุบัน ในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ เราได้ยินเรื่องตั้งเยอะ ซึ่งตอบไม่ได้ หรือไม่มีทางกระจ่างได้ง่ายๆ และคนส่วนใหญ่โดยปกติในสังคมจะคาดหวังว่าจะทำความกระจ่างได้สักวันน่ะ แต่บทเรียนจากเหตุการณ์จำนวนมากในโลกรวมถึงในเมืองไทยเองนี้ ให้อีก 50 ปีหลายเรื่องก็ไม่กระจ่าง คนที่เรียนประวัติศาสตร์จะรู้ว่า ผ่านไปอีกหลายสิบปี เป็นร้อยปี ความรู้ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นนักสืบและจัดการ Fact อย่างลงตัว ไม่มีหรอกครับ ความรู้หลายอย่างจะไม่ลงตัวไปอีกนาน ภาวะไม่ลงตัวเหล่านั้นสำหรับคนบางคนเขาพอใจที่ไม่ให้ลงตัวอย่างนั้น สำหรับหลายคนจะอึดอัด แล้วแต่ว่าคุณเป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ในกรณีปัจจุบันยกตัวอย่างเช่น ผมเชื่อว่ามีความพยายามอธิบายเรื่องคนเสื้อดำ และความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อดำกับแกนนำ กับทหาร กับกองทัพ ผมเชื่อว่าเถียงไปอีกนานก็เผลอๆ สรุปไม่ได้

สรุปไม่ได้” นี่ผมไม่ได้หมายถึงคณะกรรมการของรัฐบาลสรุปไม่ได้นะครับ เขาสรุปได้อยู่แล้วล่ะ แต่เขาสรุปอย่างที่เขาสรุป ไม่ได้แปลว่าสังคมจะต้องสรุปอย่างเดียวกัน ผมพูดในแง่นี้

เรื่องการใช้อาวุธ กระทั่งยกตัวอย่างย้อนกลับไป 6 ตุลา แม้เรื่องการแสดงละคร ปัจจุบันคนจำนวนมากก็ยังเชื่ออยู่ใช่ไหมครับว่ารูปภาพการแสดงละครตอน 6 ตุลา แต่ง แต่งรูป เรียนด้วยความซื่อสัตย์ ในฐานะที่ทำวิจัย รูปนั้นเผลอๆ ไม่ได้แต่งครับ ผมคิดว่าไม่ได้แต่ง เป็นความบังเอิญซึ่งไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไรดี แต่พอพูดแบบนี้หลายคนอาจไม่เชื่อ ถ้าอย่างนั้น ถ้าผมบอกว่าแต่งก็ได้ ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งไม่น้อยในสังคม ไม่เชื่อ

ปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นในการยิงกันตรงใต้สะพานตรงพหลโยธิน (หมายเหตุ - กรณีที่มีการถกเถียงกันว่าทหารถูกยิงหรือยิงกันเอง เมื่อ 28 เม.ย. 2553 ที่ถนนพหลโยธิน ใต้ทางด่วนดอนเมืองโทรลเวย์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง) ยิงกันเอง จบ หลายคนคงเชื่ออย่างนั้น ผมก็เชื่ออย่างนั้น ผมว่ารัฐบาล (คงจะ)ทำให้เรื่องออกมาไม่เป็นแบบนั้น

ตกลงยิงคนตรงวัดปทุมวนารามแนวราบหรือแนวบน ยิงจากที่สูงหรือที่ราบ ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องพวกนี้จะสรุปได้ สำหรับคนในภาวะที่แตกเป็นขั้ว ต้องบอกว่าต่างฝ่ายต่างสรุปได้ทั้งนั้น นี่พยายามพูดอย่างไม่ใช่เพื่อความเป็นกลางนะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคือ “ภาวะฝุ่นตลบ” คือภาวะที่มีเรื่องราวจำนวนมากที่สังคมตกลงไม่ได้หรอก

และความคิดที่ว่าเออน่า นักประวัติศาสตร์เอย กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเอย สืบสวนไปแล้วจะเจอ fact จำนวนหนึ่งซึ่งสามารถ Conclusive (เป็นข้อสรุป) ผมว่าไม่ได้

แต่ในภาวะที่ฝุ่นตลบ เต็มไปด้วยเรื่องราวทั้งหลาย หรืออีกเรื่องก็ได้ที่กำลังฮิตกันอยู่ ผมฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ... ตกลงคุณจะด่าแกนนำดีไหม เขาตัดสินใจถูกและผิด เพราะอะไรบ้าง เงื่อนไขอะไรบ้าง ความพลาดอยู่ตรงไหน บางคนก็รู้ดีว่าแหมมันต้องเป็นอย่างนี้แต่ต้น บ้างก็ว่าไม่รู้ว่ามันจะมีการพลิกผันอย่างนู้นอย่างนี้ก็ว่าไป ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เผลอๆ สรุปไม่ได้ ผมพูดอีกครั้งนะฮะสรุปไม่ได้นี่ไม่ได้หมายถึงความเชื่อของแต่ละคน แต่ละคนอาจสรุปได้ก็ได้ แต่ผมหมายถึงว่า โดยรวมๆ ของสังคมสรุปได้ไหม ผมว่ายาก ต่อให้คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาสรุป คนจำนวนไม่น้อยก็จะยังไม่เชื่อ ผมก็ไม่เชื่อ

แล้วจะอยู่อย่างไรกับเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมที่สรุปไม่ได้ หมายความว่า สังคมนั้นจะไม่ยอมสรุป ไม่สร้าง Value (การประเมินคุณค่า) ไม่สร้างบทเรียน ไม่สร้างอะไรเลยหรือ ตรงข้ามฮะ ทุกสังคม ทั้งๆ ที่ Fact เหล่านั้นสรุปไม่ได้เนี่ย (ต่างพากัน)สรุปบทเรียนกันเป็นประจำ

เราชอบบอกว่าเราไม่สรุปบทเรียนในอดีต ไม่จริงนะครับ เราสรุปกันมากเหลือเกิน คือต่างคนต่างสรุป เราสรุปเข้าข้างตนเอง สรุปเข้าข้างคนมีอำนาจ สรุปเข้าข้างปัจจัยจำนวนหนึ่งที่ทำให้ดูเหมือนสรุปได้ เพราะว่ามนุษย์เราทนไม่ได้หรอกครับที่เรื่องที่ร้ายแรงขนาดนั้นจะไม่ลงตัว

มนุษย์เรามีสภาวะอย่างหนึ่งก็คือ ต้องการพยายามเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างเป็นเหตุเป็นผล ทั้งที่ความเป็นจริงหลายเรื่องไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าไหร่

ทั้งๆ ที่ Fact จำนวนมหาศาลไม่ลงตัว คนเราอึดอัด พวกเราแต่ละคนลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าร้าย หรือถือว่าเศร้าสำหรับชีวิตเรา เราทนได้ไหมที่จะอยู่กับมันโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแน่ๆ ตกลงไม่รู้ใครถูกใครผิด เราทนไม่ไหวหรอก สุดท้ายต่างคนต่างสรุปไปตามที่ตัวเองต้องการ ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนผิดหมดด้วยนะ แต่นี่ผมกำลังอธิบายปรากฏการณ์ (ของมนุษย์กับ) สังคม

เอาใหม่นะครับ แทนที่จะบอกว่า Fact ต่างๆ ที่ไม่ลงตัว สังคมสรุปไม่ได้ใช่ไหม ไม่จริง สังคมสรุปอยู่เป็นประจำ แต่กลับไม่ได้แปลว่าเพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ลงตัว แต่สรุปด้วยอำนาจ สรุปด้วยอำนาจของคณะกรรมการ สรุปด้วยอำนาจของรัฐบาล สรุปด้วยอำนาจของประวัติศาสตร์ สรุปด้วยอำนาจของนักเขียนหนังสือ สรุปด้วยสื่อมวลชน สรุปด้วยอำนาจสารพัดชนิดเพื่อจะได้ลงตัวตามที่มุมมองของคนเหล่านั้นมีอยู่ ทั้งที่ข้อเท็จจริงจากเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นไปตามนั้น แต่สังคมจะต้องพยายามทำให้มันลงตัว

ตกลงใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ผมว่าสุดท้ายหาไม่เจอ (หรือเจอตามที่อำนาจต้องการให้เจอ) ตกลงใครเผาบิ๊กซี ตั้งกี่ชั่วโมงหลังจากสลายการชุมนุมไปแล้ว คนสลายไปเรียบร้อยทำไมบิ๊กซีเพิ่งโดนเผา ภาวะฝุ่นตลบคือภาวะนี้ และภาวะฝุ่นที่จะหายตลบคือภาวะที่ผมเพิ่งบอกไป คือสุดท้ายจะมีการสรุป ไม่ใช่เพราะได้ข้อเท็จจริงที่ลงตัว แต่เพราะคนเราทนไม่ได้ที่จะอยู่อย่างอึดอัดโดยที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มันก็ต้องสรุปสักอย่าง จึงใช้ปัจจัยที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงของตัวเหตุการณ์มาช่วยสรุป ส่วนใหญ่คือการใช้อำนาจสื่อ ใช้อำนาจรัฐ ใช้อำนาจนักวิชาการ ใช้อำนาจอะไรก็แล้วแต่ที่ช่วยทำให้มันลงตัว ทั้งที่พอเราใช้ปัจจัยเหล่านั้นมาเท่ากับว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปเหล่านั้นก็อยู่อย่างอึดๆ อัดๆ ไปอีกนานในชีวิต

เพื่อนฝูงผมหลายคนจากรุ่น 6 ตุลา ถามว่ามีข้อสรุปอะไร สุดท้ายก็ยังอึดอัด ตอน 20 ปี 6 ตุลา เราจัดนิทรรศการว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนตี 5 ของวัน(จะเปิดนิทรรศการ) นั้นเราตัดสินใจงถอดรูปหนึ่งออก เพราะขืนไม่ถอดเดี๋ยวยุ่งอีก เดี๋ยวโดนมาตรา 112 เท่ากับว่าคนที่ไปดูนิทรรศการ ไม่เห็นทุกอย่างที่เราต้องการจะพูด เท่ากับการจัดนิทรรศการ 20 ปี 6 ตุลาเราพูดไม่หมด เพราะขืนพูดหมดก็ (หยุดพูด) เอาเป็นว่าพูดไม่หมดก็ต้องอยู่ไป ต้องพูดไม่ออก

ภาวะที่ฝุ่นตลบแล้วไม่ลงตัว” จะเกิดเรื่องต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน หลายประเด็นที่ผมจะพูดในวันนี้ ผมบอกคุณก่อนเลยว่า ... ถ้านักศึกษาหรือเพื่อนอาจารย์ที่อยู่ในทีนี้ อยากจะลองคิดนะ ผมเจอว่า การใช้เหตุใช้ผลล้วนๆ หลายอย่างใช้ได้แค่ขั้นหนึ่ง หมายถึงการพยายามเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ใช้เหตุ ใช้ผล เถียงด้วยเหตุด้วยผลทั้งหลาย เถียงกันได้แค่ขั้นหนึ่ง สุดท้ายผมใช้วรรณคดี ใช้วรรณกรรม อ่านหนังสือ อ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วพยายามนึก ใช้จินตนาการว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่างานเขียน หรืองานที่ช่วยให้เราคิดในเชิงที่เข้าใจโศกนาฏกรรมที่ดี ไม่ใช่งานทางสังคมศาสตร์ ไม่ใช่รัฐศาสตร์ บางครั้งเท่านั้นที่เป็นประวัติศาสตร์ งานที่ช่วยให้เราจัดการกับโศกนาฏกรรมได้ดี หมายถึงช่วยให้เรารู้จักคิด คือพวกหนัง วรรณกรรม วรรณคดี

โศกนาฏกรรม” ที่ผมใช้หลายครั้งหมายถึงอะไร ผมใช้คำ “โศกนาฏกรรม” ในความหมายของพวกวรรณคดี ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องของการที่มีคนตายกี่คน มีความทุกข์ยากขนาดไหน นั่นเป็น “โศกนาฏกรรม” ในความเข้าใจทั่วไป ซึ่งไม่ผิด ผมก็ใช้ในความหมายนั้นด้วย แต่ “โศกนาฏกรรม” ในความหมายของวรรณคดีกว้างกว่านั้น คือวรรณคดีประเภทหนึ่งคือ “โศกนาฏกรรม” หรือ “Tragedy” ในความหมายว่า ภาวะที่มนุษย์นี้ ไม่ว่าคุณทำอะไรก็มีความสูญเสีย ไม่ว่าคุณตัดสินใจอย่างไรก็มีคนเจ็บตัว ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นมันมีด้านเสียซึ่ง Costly ราคาแพง ไม่ว่าแพ้หรือชนะก็หัวเราะไม่ออก ภาวะโศกนาฏกรรมทางวรรณคดีหรือภาวะที่มนุษย์เจอ Dilemma เจอภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก(อย่างรุนแรงต่ออารมณ์ความรู้สึก) ต้องตัดสิน ต้องทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ว่าทำอะไรลงไป มันไม่มีแต่ด้านดี นี่ผมถึงบอกว่าผมใช้วรรณคดีเพื่อคิดถึงเรื่องพวกนี้ เพราะ...ช่วยให้เราคิดเรื่องพวกนี้อาจจะดีกว่าตำราสังคมศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น

พูดในภาษาผมตั้งแต่ต้นคือว่า
ฝ่ายที่มีอำนาจจะเป็นผู้กำหนดให้ฝุ่นหายตลบแบบใด
อาจไม่ง่ายแบบ 6 ตุลาก็ได้
แน่นอนมันขึ้นอยู่กับเราด้วย ...

ฝุ่นหายตลบโดยรัฐ

ฝุ่นจะหายตลบได้อย่างไรบ้าง หนึ่ง เรามักกล่าวกันว่า “ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์” มันไม่ง่ายแค่นั้นหรอกครับ ไม่จริง จริงเป็นเพียงบางส่วน นั่นเป็นความเข้าใจง่ายๆ

คนชนะเขียนประวัติศาสตร์ บ่อยครั้งเป็นแบบนั้น บ่อยครั้งไม่ใช่ หมายความว่าคนแพ้เขียนประวัติศาสตร์ด้วยหรือ คนแพ้ก็ไม่ค่อยได้เขียนหรอกครับ (แต่)สังคมที่คลี่คลายไปเขียนประวัติศาสตร์ ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ระยะสั้น เช่น รัฐบาล เขียนอยู่ตอนนี้ ศอฉ. เขียนอยู่ตอนนี้ เวลาผ่านล่วงเลยไป ความทรงจำที่จะมีต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ตามเกณฑ์คุณค่า ตามบรรทัดฐานของสังคมที่เปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างกลับไปที่ 6 ตุลา เพราะเกิดนานแล้ว หลัง 6 ตุลาใหม่ๆ การประชุมอย่างนี้จัดไม่ได้ รายละเอียดมันมีเยอะ เพราะว่าความขัดแย้งตอนนั้นเป็นความขัดแย้งในเมือง เป็นความขัดแย้งที่เกิดในหมู่ปัญญาชน ในมหาวิทยาลัยจึงเป็นเป้าหมาย จัดไม่ได้ จะคุยกันต้องลงใต้ดิน ตอนนี้ไม่ใช่เพราะว่าการปราบปรามครั้งที่ผ่านมาเบากว่า 6 ตุลา แต่เพราะว่าแนวหน้าของการปะทะไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นตอนนี้คนที่คุยไม่ได้หมายถึงคนที่อยู่ตามรอบๆ เชียงใหม่ ไม่ใช่มหาวิทยาลัย

เอาใหม่นะ ผมไม่ได้บอกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้เบากว่า 6 ตุลา เพียงแต่มันเกิดคนละที่ แนวหน้าของความขัดแย้งไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย เราจึงยังคุยในมหาวิทยาลัยได้ แต่คนที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ และเสี่ยงต่อการถูกจับอยู่รอบๆ เชียงใหม่ อยู่ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี หรืออีกหลายๆ แห่ง คนเหล่านั้นยังหลบๆ ซ่อนๆ เพราะถูกตามล่าตามจับ อย่างพวกเราอาจจะโดนก็ได้นะ เดี๋ยวอาจจะโผล่มา แต่เราพอรู้ว่าเราจัดคุยแบบนี้ได้

กลับไปที่เหตุการณ์ 6 ตุลา หลังจากนั้น 2-3 เดือน บรรดาคนที่เห็นอกเห็นใจฝ่ายนักศึกษาที่ถูกปราบปรามคุยอย่างนี้ไม่ได้นะ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ต้องเข้าป่า ประมาณ 3 เดือน คนที่มีส่วนในการฆ่ายังร่าเริง ยังแสดงความดีอกดีใจจากการที่รักษาประเทศชาติไว้ได้สำเร็จด้วยการฆ่าคอมมิวนิสต์ ถึงประมาณธันวาคมหรืออาจจะเลย(ไปอีก)นิดหน่อย เช็คในหนังสือพิมพ์ได้เลย มีปัจจัยหลายอย่างที่จะไม่กล่าวในที่นี้ว่าความร่าเริงจากการปราบปรามได้สำเร็จถึงได้ปรับไป เอาเป็นว่ารวมๆ ก็คือทุกอย่างปรับตัว มันเปลี่ยนตลอดเวลา รวมทั้งอารมณ์ของคนหลัง 6 ตุลาก็เริ่มเปลี่ยน รวมทั้งความล้มเหลวของรัฐบาลธานินทร์ (กรัยวิเชียร) คนเริ่มวิจารณ์รัฐบาลธานินทร์มากขึ้น การพูดเรื่อง 6 ตุลาก็เป็นไปได้มากขึ้น รวมทั้งข่าวสารรูปภาพจากต่างประเทศเริ่มไหลกลับเข้ามา ตอนนั้นไม่มีรูปเยอะอย่างยุคนี้นะ ยุคนี้รูปเยอะมาก ตอนนั้นไม่มีอะไรเลย กว่ารูปจะกลับเข้ามาได้ใช้เวลา 3 เดือน รูปแรกที่ออกสู่สาธารณะในไทย เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาแล้ว 6 เดือน ออกปุ๊บหนังสือเล่มนั้นถูกปิดทันที แต่ทุกอย่างเปลี่ยน

ในประเด็นนี้ ไม่ต้องการจะบอกว่า ผู้ชนะไม่ใช่คนเขียนประวัติศาสตร์เสมอไป ผู้ชนะเป็นเพียงแค่คนมีอำนาจ และมีอิทธิพล ที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์แบบที่เขาต้องการ แต่เขาไม่ได้กุมอำนาจไปตลอดหรอก

.... ไม่มีทางที่เขาจะกุมการเขียนประวัติศาสตร์ได้ตลอดไป ทุกอย่างเปลี่ยน ทำไมเมื่อ 20 ปี หลัง 6 ตุลา สามารถจัดงานรำลึกได้ เพราะกระแสเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะอีกหลายเรื่องมันเปลี่ยนไปแล้ว เราจึงสามารถพูดได้ว่าอย่ามาทำร้ายคนเพราะเพียงแค่คิดต่างนะ ลองไปพูดแบบนี้เมื่อเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคมปี 2519 สิ พูดไม่ได้

ใครที่ชอบหาว่า (ผม) หมกมุ่นกับ 6 ตุลา (ถูก 6 ตุลาหลอกหลอน) ถ้าผมหมกมุ่น ผมไปนั่งคุยกับกระทิงแดงไม่ได้หรอกครับ (ผมทำ)งานวิจัยก็ต้องคุยกับพวกเขา (ผมรู้สึกสงบ)ทำใจได้แล้วจึงกลับไปคุย(กับพวกเขาได้เพือผลทางปัญญา) เราจะรู้ว่าพวกเขาก็เปลี่ยนความคิด ไม่ได้เปลี่ยนกลับกลายเป็นเห็นใจนักศึกษานะ ไม่มีทาง เขายังเชื่อว่าเขาทำถูก แต่คำอธิบายของเขาเปลี่ยนไป เจอคนที่ทำงานกับ พล.ต.จำลอง (ศรีเมือง) ทำงานกับสายข่าว ทบ. ความคิดเปลี่ยนไปมหาศาล เขาไปเรียนหนังสือเพิ่ม เขาอยู่กับมหาวิทยาลัย เขาเรียนปริญญาโท เขาอธิบายใหม่ เขาไม่ยอมรับว่าเขาผิด แต่เขาอธิบายความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อครั้ง 6 ตุลา เปลี่ยนไปจากเดิม

เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ชนะจะไม่ใช่คนเขียนประวัติศาสตร์ตลอดไป เขาอาจจะเขียนอีกสักไม่กี่เดือน และในภาวะปัจจุบัน ... อาจจะสั้นกว่าสามเดือนก็ได้ อาจจะยาวกว่าสามเดือนก็ได้ หรือระยะเวลาอาจจะไม่ใช่ปัจจัยไม่สำคัญ แต่...เขาจะกำหนดการเขียนประวัติศาสตร์หรือการเล่าเรื่อง (ไม่ตลอดไป)

หรือพูดง่ายๆ หรือพูดในภาษาผมตั้งแต่ต้นคือว่า ฝ่ายที่มีอำนาจจะเป็นผู้กำหนดให้ฝุ่นหายตลบแบบใด อาจไม่ง่ายแบบ 6 ตุลาก็ได้ แน่นอนมันขึ้นอยู่กับเราด้วย ... คือขึ้นอยู่กับคนอื่นด้วยว่าจะมีปากมีเสียงทำให้ฝุ่นตลบนานขึ้นอีก เพราะไม่ยอมให้อำนาจของรัฐกำหนดเรื่อง หรือกลับพอจะมีอำนาจจนทำให้การใช้อำนาจรัฐกำหนดเรื่องได้ง่ายๆ มันเป็นไปไม่ได้

ขอ Footnote (เชิงอรรถ) นิดหนึ่งว่า ทำไมผมถึงมาคุยเรื่อง Memory (ความทรงจำ) หลายคนอาจบอกว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะกำลังจะรบจะรากันอยู่แล้ว อันนี้ก็ขออภัยนะครับ เผอิญสำหรับผมเรื่องนี้สำคัญ และสำคัญยาวด้วย ถ้าพูดกันในแง่เพียงแค่ว่าคนตายจะเขาได้รับการแก้แค้นไหม สำหรับผมการแก้แค้นยาวนะครับ มันไม่สั้นๆ ตายแล้วเรียกคืนไม่ได้ แต่ในเวลาอนาคต เขาตายแบบไหน แล้วสังคมจะจดจำเขาแบบไหนอันนั้นต่างหากสำคัญ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้วการจดจำ และ Story ที่เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมันไปคู่กับการเปลี่ยนแปลงสังคม ไปคู่กันแปลว่า มันมีผลต่อการเปลี่ยนสังคม และการเปลี่ยนสังคมมีผลต่อ Story ที่จดจำ มันไปด้วยกัน

หรือพูดอีกอย่างก็ได้ ฟังดูแล้วอาจจะเว่อไปหน่อยนะ แล้วอาจจะไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร คุณก็ค่อยๆ คิด มันเป็นแนวรบหนึ่ง ผมถึงบอกว่า ถ้าวันนี้คุยเรื่องสถานการณ์ก็ได้แต่ขอหลังจากนั้น วันนี้ผมขอคุยถึงแนวรบที่ปกติคนไม่คิดกัน ก็คือแนวรบอันนี้

นั่นคือข้อที่หนึ่งว่า สังคมไทยใช้อำนาจแน่ แต่อำนาจในการกำหนดเรื่องให้ฝุ่นหายตลบไม่ได้อยู่กับคนที่ มีอำนาจฝ่ายเดียวอยู่ตลอดไป เพราะอำนาจไม่อยู่ในมือใครเป็นเวลานาน และสังคมเปลี่ยน

ผมอยากจะเชื่อว่า พูดภาษาวิทยาศาสตร์สักนิดหนึ่ง Rate (อัตรา) ในการเปลี่ยน ที่จะมีผลต่อการทรงจำเหตุการณ์เดือนพฤษภาที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าจะใช้เวลาสั้นกว่า 6 ตุลาเยอะ แต่มันขึ้นอยู่กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับฝุ่นหายตลบแบบรัฐบาล ขึ้นอยู่กับเรื่องนั้นด้วย

1984 คือสังคมที่อยู่ด้วยความกลัว
ไอ้คนที่ยังไม่โดนก็ต้องระวัง
เพราะอยู่ด้วยความกลัว
ไอ้คนที่โดนแล้ว
สักวันหนึ่งก็จะถูก break down
ในแง่ Spirit ไม่ใช่ในแง่ physical ไม่ใช่กายภาพ
แต่เป็นข้างใน ที่ทำให้ต้องยอมสยบ

ฝุ่นหายตลบแบบ ‘1984’

อันที่สอง อำนาจในการทำให้ฝุ่นหายตลบคืออะไร อันนี้ผมเรียนรู้จากหนังสือฝรั่ง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยตอนนี้ ผมนึกไม่ถึงนะครับ แต่ว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ

1984 เป็นเรื่องที่ว่าด้วยสังคมเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เวลาเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จใน 1984 เนี่ย มันไม่ใช่เพียงแค่การเอาปืนหรือการใช้ตำรวจไปจับ อันนั้นมันเถื่อนไปหน่อย ในความเป็นจริงสังคมต่างๆ เกิดขึ้นแบบนั้นหลายแห่ง และมันไม่ใช่เป็นเผด็จการแบบใน 1984 เป๊ะๆ หรอก เพราะนั่นคือในนิยาย

แต่สิ่งที่ 1984 ต้องการจะเน้น เน้นจนอาจจะเว่อ คือไม่มีในความเป็นจริง แต่เพื่อให้เราคิด ก็คือการใช้อำนาจกำราบปราบปราม(ความคิด) ไม่ใช่เพียงแค่จับคนขังเข้าคุก...ซึ่งคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่ 1984 ข้ามตรงนั้นไป แล้วกลับสนใจการใช้อำนาจบังคับบงการความจำและความรู้ของคน

ผมไม่รู้ว่าควรจะดีใจไหมว่าสังคมไทย มันไม่ได้เป็นขนาด 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ เพราะว่ามันยากที่สังคมไหนจะเป็นขนาดนั้น แต่ผมกลับคิดว่ามันน่าเสียใจ น่าห่วง ผมไม่เคยนึกว่าสังคมไทยจะมีส่วนหลายๆ อย่างที่ทำให้ผมคิดถึง 1984 แล้วผมคิดว่าทุกวันนี้มันเป็นแล้ว สำหรับคนที่เป็นนักข่าว ใส่ไปเลยก็ได้ว่า ธงชัยบอกว่าสังคมไทยทำอย่างกับตัวเองเป็น 1984 … ใช่!

ถ้าเราไม่คิดว่ามันจะเหมือนกันเป๊ะ เพราะไม่มีทางเหมือนกันเป๊ะ เพราะนั่นคือนิยาย ไม่เหมือนกันตั้งหลายอย่าง รวมทั้งการจับคนเข้าคุก และใช้อาวุธยังมีอยู่ ซึ่งใน 1984 เขาไม่ใช้วิธีเถื่อนๆ แบบนั้นแล้ว ความเป็นจริงเถื่อนกว่า

ประเด็นใหญ่ที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกคือการควบคุมบงการความคิด เรื่องง่ายๆ ที่เราเห็นอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์เนี่ยมันก็น่าเกลียดพอแล้ว ในความเป็นจริงมันลึกซึ้งกว่านั้น เช่นการไล่ล่าแม่มดอย่างที่มติชนเขา(เรียก) การลงโทษเด็กนักเรียนที่เชียงราย หรือการลงโทษคนที่เล่นในรายการอะไรนะ (นิ่งนึก)มาร์คเด็ก” น่ะครับ (หมายเหตุ - หมายถึง วิทวัส ท้าวคำลือ หรือ มาร์ค V11 หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันในรายการประกวดร้องเพลง True Academy Fantasia Season 7) พวกนั้นคือวิธีจัดการกับ “Thought crime” นี่เป็นศัพท์ของ 1984 “อาชญากรรมทางความคิด”

...มันเหลือเชื่อ... ปีสองปีก่อน บางคนอาจจะเคยได้ยินข่าว คือผมพยายาม Campaign(รณรงค์) เรื่อง...กฎหมายหมิ่น เพราะกฎหมายหมิ่นเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดเรื่องหนึ่งของ Thought crime ตอนนี้มันยิ่งกว่านั้นแล้วล่ะ มันไม่ใช่แค่กฎหมายหมิ่นแล้วนะ

นี่คือประเด็นที่สองที่อยากจะพูด การจัดการกับความรู้ความทรงจำที่ตัวเองไม่เห็นด้วยในฐานะที่มันเป็น Thought crime สังคมในโลกนี้เนี่ย ประเทศที่มันศิวิไลซ์ มีระดับความเจริญ อย่างเมืองไทย ไม่มีที่ไหนเขา deal กับ Thought crime อย่างนี้หรอก ถ้าคุณยังคิดถึงเกาหลีเหนือ ถึงอะไรก็ว่าไป แต่ในประเทศขนาดเมืองไทย เขาไม่จัดการกับ Thoughtcrime แบบนี้ แต่เมืองไทยทำ

มีหลายอย่างใน 1984 ที่ทำให้เราเรียนรู้การจัดการกับ Thought crime แบบที่เรานึกไม่ถึง ...ยกตัวอย่างเช่น มีศัพท์คำหนึ่งของออร์เวลล์ในเล่มนี้ คือเขาเรียก “Doublespeak” ผมไม่ทราบว่าฉบับแปลของคุณรัศมี (เผ่าเหลืองทอง) แปลว่าอะไร

Doublespeak ถ้า แปลเป็นไทยที่ใกล้ ก็ต้องบอกว่าเป็น "ลิ้นสองแฉก" ก็ยังไม่เชิงนะ แต่ทำนองนั้น "ปากว่าตาขยิบ" ทำนองนั้น พูดอย่างใจอย่าง ทำนองนั้น แต่ Doublespeak ความหมายที่มันโหดร้ายกว่านั้นก็คือว่า ในการพูดซึ่งดูเหมือนจะตีความได้อย่างเดียว มันหมายความได้ตรงข้ามกัน แล้วไอ้คนพูดไม่ใช่แกล้งนะ พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่อภิสิทธิ์พูดว่าต้องปรองดอง แล้วข้างหลังทำอย่างนี้ (เอานิ้วไขว้กันอยู่ข้างหลัง ซึ่งในวัฒนธรรมตะวันตกหมายความว่าตั้งใจและรู้ต้วว่ากำลังพูดปด) คือตัวเองไม่ซื่อสัตย์ ไม่จริงใจ แอบทำอย่างนี้ไว้ แต่กลายเป็นว่า ผมคิดว่าเขาไม่ได้ทำอย่างนี้เลย เขาเชื่อสิ่งที่เขาพูด เขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ แต่สิ่งที่อยู่ในหัวเขา มันแปลตรงข้ามกับที่มันควรจะเป็น

Doublespeak เป็นอย่างนั้น ในสื่อนั้นมีหลายอย่างที่เป็น Doublespeak คือว่าพูดออกมาแล้ว เราอ่านดูด้วยภาษาธรรมดา มันควรแปลว่าอย่างนี้ แต่ในสื่อสามารถอธิบายให้กลายเป็นอีกอย่างได้ สังคมไทยเต็มไปด้วย Doublespeak (คำว่า) “ปรองดอง” เป็น Doublespeak ไม่กี่วันก่อนผมดูทีวี อภิสิทธิ์พูดถึงเรื่องปฏิรูปการศึกษา ต้องการให้เด็กนักเรียนเรียนแล้วรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง คิดว่าเขาทำอย่างนี้ไว้ข้างหลังไหม (เอานิ้วไขว้กันอยู่ข้างหลัง) ไม่จริงใจ ผมว่าไม่นะ เขาไม่ได้ทำ แต่เพราะสำหรับเขา คำว่ารู้จักวิพากษ์วิจารณ์กับเป็นตัวของตัวเองเนี่ย มันแปลคนละอย่างกับที่เราคิดกัน

เอาเข้าจริง กลุ่มที่ทำ Doublespeak แบบที่ทำมานานแล้ว และทำกันอย่างเหลือเชื่อว่า Doublespeak ได้นาน ความหมายที่ควรจะง่ายๆ ชัดๆ ตรงๆ กลับกลายเป็นความหมายที่ตรงกันข้ามอย่างเหลือเชื่อ คือกลุ่มพันธมิตรฯ พันธมิตรฯนี่สร้าง Doublespeak มาหลายปีแล้ว คุณคิดว่าอภิสิทธิ์ต่างจากพันธมิตรฯมากอย่างที่คิดหรือ ไม่ใช่เรื่องการเมืองนะ ผมว่าเรื่องนี้ (ชี้ที่หัว) ผมว่าความคิดเขาไม่ต่างกัน นี่ไม่ได้พูดอย่างดูถูก หรือไม่ได้พูดเรื่องการเมืองนะ ...(แต่หมายถึงเรื่องความคิด)... อภิสิทธิ์เขาเรียน Oxford มา แปลว่าเขาต้องคิดไม่เหมือน(พันธมิตรหรือ?) คุณสังเกตดูนะครับ ผมคิดว่าอภิสิทธิ์คิดลงล็อกกับพันธมิตรฯ เกือบทุกเรื่อง การเมืองต่างหากล่ะที่อาจจะทำให้เขาต่าง ก็คือผลประโยชน์เขาอยู่ข้างประชาธิปัตย์ ขณะที่พันธมิตรฯ...ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ในแง่การคิดการเข้าใจสังคม ว่าอะไรเป็นยังไง ควรจะเล่นงานเรื่องเขาพระวิหารไหม ปรองดองยังไง ผมคิดว่าเขาคิดเผลอๆ ต่างจากพันธมิตรฯน้อยมาก ...เพียงแต่เขาไม่ใช่พันธมิตรฯเท่านั้นเอง ตรงข้ามกับที่คิดว่าเขาคิดต่างกัน แต่การเมืองใกล้กัน ผมกลับคิดว่าเขาคิดคล้ายกัน แต่การเมืองของเขา ผลประโยชน์หลักอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีข้อต่างอยู่

1984 สอนให้รู้ถึงว่าสังคม และรัฐ คือสังคมด้วยนะไม่ใช่รัฐอย่างเดียว...จัดการกับ Thought crime อย่างไร ... การจัดการอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก ก็คือ ... คุณอ่านคำสัมภาษณ์ของคุณสุวิชา ท่าค้อ หลังจากออกจากคุกไหมครับ ได้อ่านคำสัมภาษณ์ของคุณบุญยืน ประเสริฐยิ่งไหมครับ ทั้งสองอันลงในประชาไท หลังจากที่เขาสองคนโดนข้อหาหมิ่น ติดคุกอยู่คนละปีโดยประมาณ แล้วก็ออกมาใช่ไหมครับ ออกมาให้สัมภาษณ์ ผมขอเล่าความรู้สึกที่ผมมีแล้วกัน เป็นความรู้สึกที่ผมมีต่อคำสัมภาษณ์ทั้งสองนะครับ ในภาษาวิชาการก็คือเป็นการตีความโดยผม ผมไม่รับประกันว่าคุณสุวิชา กับคุณบุญยืนคิดอย่างนี้จริงไหม แล้ว...ผมก็ไม่แคร์ด้วยว่าจริงๆ เขาคิดอะไร เอาเป็นว่าเมื่อผมอ่านแล้วผมคิดอะไรอยู่ เกิดอะไรขึ้นในความคิดผม

ผมคิดถึงประมาณ 10 หน้าสุดท้ายของ 1984 ในเรื่อง 1984 คือรัฐควบคุม Thought crime อย่างที่บอก สุดท้ายมันเกิดกบฏขึ้นสองคน ผู้ชายชื่อวินสตัน ผู้หญิงชื่อจูเลีย สิ่งที่เขากบฏ เขาไม่ใช่มารวมตัวเป็นขบวนการเสื้อแดง ชุมนุม เดินขบวน ไม่ๆๆ 1984 กบฏอย่างที่ผมเห็นว่าเบากว่านั้นแต่กลับหนักที่สุด ...คือเบากว่าขบวนการเสื้อแดง และหนักยิ่งกว่า ก็คือเป็นการกบฏลงไปถึง individual คือในตัวเขา จูเลียกับวินสตันเนี่ย รับไม่ได้ อึดอัดทนไม่ไหว และการแสดงออกของเขา according ตามหนังสือนะ ก็คือว่าเขาละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมโอเชียเนีย (Oceania) ที่มี Big Brother ที่มีพี่เบิ้มคอยคุมอยู่ สองคนนี้ละเมิดด้วยการแอบมีเซ็กซ์กัน แอบมีเซ็กซ์กันแบบที่สังคมนั้นยอมไม่ได้ เซ็กซ์มีได้เฉพาะที่อนุญาต สองคนนี้แอบมีเซ็กซ์กัน

Big Brother นอกจากจะใช้ไม้ นอกจากจะใช้ก้อนอิฐ ที่คอยควบคุมแล้วเนี่ย ก็ใช้ดอกไม้ด้วย คือใช้ด้านที่ soft ลง คือมาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งชื่อนายโอไบรอัน มาเลียบๆ เคียงๆ มาตีสนิท มาทำตัวเป็นเข้าอกเข้าใจจูเลียกับวินสตัน สุดท้ายเนี่ยคนนั้นแหละคือ Big Brother เอง คือพูดง่ายๆ เป็นตัวสุดยอดของความเป็นจอมเผด็จการโหดร้าย จูเลียกับวินสตันก็ติดกับ ถูกจับไปทรมาน ถูกจับไปไหนก็แล้วแต่ แต่ 10 หน้าสุดท้ายจูเลียกับวินสตัน Break down ... คือทนไม่ไหว ยอมแพ้

การยอมแพ้ของจูเลียกับวินสตันคืออย่างไร คุณลองไปอ่านดูนะ เขาเขียนไว้นิดเดียว ประโยคเดียว แต่อ่านแล้ว ... ผมอ่านแล้วผมวูบเลย คือวินสตันขายจูเลีย จูเลียขายวินสตัน ต่างคนต่างโทษอีกคนหนึ่ง แล้วทันทีที่คุณขายอีกข้างหนึ่งปุ๊บ Big Brotherปล่อยทันที นึกภาพออกไหมครับ การทรมาน ทรมานให้ตายยังไง ไม่เท่ากับการที่ Spirit (จิตวิญญาณ) ของคุณหมด Spirit หมดในหนังสือเล่มนี้ก็คือคุณขายเพื่อน พอคุณขายเพื่อนปุ๊บ คุณหมดความเคารพตัวเองทันที คุณไม่เหลืออะไรเลย คุณกลับเป็นประชากรของโอเชียเนีย ของรัฐนั้นอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว ย้ำอีกครั้งนะครับ ทันทีที่ขาย ทั้งคู่ถูกปล่อยตัว

ผมไม่ได้บอกคุณสุวิชา คุณบุญยืนเป็นอย่างนี้นะ ไม่เลย ไม่ มีเซ้นส์นี้เลย แต่เซ้นส์ที่ผมได้ คือเวลาเราอ่าน เราเกลียดจูเลียที่ขายวินสตัน เกลียดวินสตันที่ขายจูเลียไหม เราเกลียดไม่ลง ผมไม่ได้บอกคุณสุวิชาหรือคุณบุญยืนคิดอย่างไร ผมไม่รู้จริงๆ แต่อ่านแล้วผมนึกถึง 10 หน้า สุดท้ายของหนังสือ ก็คือว่าจะให้คนมันทนอยู่ยังไงนะ ไม่ว่าเขาตัดสินใจ เขาทำอะไรก็แล้วแต่ เช่น คุณบุญยืนใส่เสื้อสีชมพูออกมาสัมภาษณ์เนี่ย ผมโกรธไม่ลง แต่ฉากนี้มันโหดร้ายซะยิ่งกว่าเอาเขาเข้าคุกนะ หรืออาจจะไม่ยิ่งกว่า แต่มันโหดร้ายไม่น้อยแหละ ทันทีที่คุณขายเพื่อน ก็คือขายวิญญาณตัวเองด้วย หมดความเคารพตัวเอง รัฐนั้นรู้ว่าไม่ต้องห่วงหมอนี่อีกต่อไปแล้ว This is 1984.

ผมคิดว่ารัฐกำลังชำระสะสางฝุ่นที่ตลบอยู่ให้ลงตัว ด้วยการทำให้ไอ้พวกคิดแบบหัวหมอ กระเหี้ยนกระหือรือ หรือคิดต่างทั้งหลายเนี่ย ถึงจุดหนึ่งต้องระวัง ต้องเกรง อยู่ด้วยความกลัว 1984 คือสังคมที่อยู่ด้วยความกลัว ไอ้คนที่ยังไม่โดนก็ต้องระวัง เพราะอยู่ด้วยความกลัว ไอ้คนที่โดนแล้ว สักวันหนึ่งก็จะถูก break down ในแง่ Spirit ไม่ใช่ในแง่ physical ไม่ใช่กายภาพ แต่เป็นข้างใน ที่ทำให้ต้องยอมสยบ แล้วสำหรับ 1984 การทำลาย Spirit สำคัญกว่าการทรมานทาง Physical

รัฐไทยอาจจะไม่ทำถึงขนาดนั้น แต่ที่เล่าให้ฟังก็คือว่า ลองนึกสิครับ เขาไล่จับ ไล่ขู่ อาจารย์สุธาชัย (ยิ้มประเสริฐ) ก็ปล่อย คนนั้นก็ปล่อย ผมเชื่อว่าอีกหลายคนก็ปล่อย ไม่ใช่เพราะเขากรุณา แต่เขาต้องการ(ทำให้กลัว ทำให้ท้อ ทำให้หมดแรงต่อต้่าน) แค่ไหนที่ Break down (ก็ยิ่งดี) ถึงจุดที่ว่าคนเป็นอันตรายน้อยลง ถึงจุดที่คนนี้ต้องระวัง ต้องกลัว

... เพื่อนอีกคนหนึ่งของเราในที่นี้เนี่ย ถูกจับหาว่าหมิ่นฯ แต่ปล่อยออกมา ทุกวันนี้ต้องพยายามไม่ทำอะไร(ทั้งนั้น) ความคิดเขาไม่เปลี่ยน ไม่เหมือน 1984 ยังไม่แย่ขนาดนั้น แต่สุดท้ายเขาต้องอยู่อีกแบบ แทนที่จะอยู่ได้อย่างเป็นมนุษย์ปกติ ซึ่งมีความเคารพ มีศักดิ์ศรีในตัวเอง อยู่ไม่ได้ ... individuality คือปัจเจกภาพของเขาต้องลดทอน ต้อง Compromise ไม่งั้นอยู่ในสังคมนี้ไม่ได้ สังคมกำลังทำอย่างนั้นกับคนจำนวนมาก

ตอนสุดท้ายของสุดท้ายเลยใน 1984 จูเลียกับวินสตันเดินมาจ๊ะเอ๋กัน พยายามจะไม่เจอกัน ไม่อะไรกันแล้วนะ เพราะกลัว แต่ยังมาจ๊ะเอ๋กัน ตรงนั้นจะเป็นที่ยืนยันเปิดเผยกันว่าต่างคนต่างขายกันและกัน แต่มันมีแว๊บหนึ่ง หนังสือมันก็ทะลึ่งนะครับ แว๊บหนึ่งที่ลึกๆ แล้ววินสตันยังหวนอาวรณ์ ยังหวนหาการมีเซ็กซ์กับจูเลียอยู่ ก็คือวินสตันไม่ได้เปลี่ยนนะ หรือเปลี่ยนแต่อาจจะไม่ได้มากถึงขนาดที่ Big Brother จะต้อง Clean หมด แต่แค่นั้นพอ แค่นั้นพอแล้วที่เขาจะได้ปล่อยตัว เพราะหมดพิษสงแล้ว

ถ้าโลกวันข้างหน้าเปลี่ยนความคิด
หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนเองนั่นแหละจะเป็นพวกแรกๆ เลย
ที่จะออกมาบอกว่าเห็นใจ ...
แล้วไอ้เมื่อ 3 เดือนหลังการปราบนั่นพวกคุณทำอะไร

ฝุ่นหายตลบโดย ‘สื่อมวลชน’

การจัดการความทรงจำอย่างที่สาม ผู้แสดงนำคือสื่อมวลชน อันนี้ยกตัวอย่างนิยายไทย ไม่ต้องไปฝรั่ง

มีใครอ่าน คำพิพากษา”?... คนที่ไม่ได้อ่านลองไปอ่านของชาติ กอบจิตตินะครับ การจัดการความทรงจำแบบที่สามนี้คือการจัดการแบบคำพิพากษา ...

นายฟัก เขาตั้งชื่อดีมาก ...ผมรู้ว่ากำลังเล่นกับภาษาอยู่... ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับแม่เลี้ยงตัวเอง ทั้งเรื่องคนเขียนทำให้เราต้องเลือกข้างว่าจะเชื่อฟักว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ก็ชักไม่แน่ใจ แต่ตามเรื่องอันนี้เป็น scandal เป็น crime เป็นสิ่งที่น่าเกลียดที่สุดอันหนึ่ง แล้วสังคมตัดสินทันที จนฟักอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ไม่ว่า fact จะคืออะไร แต่กระบวนการทางสังคมที่มีอำนาจทำให้สังคมตัดสินอย่างนั้นแล้ว สำหรับสื่อมวลชน fact คืออะไรเรื่องหนึ่ง แต่เขาพิพากษาได้ แล้วถ้าโลกวันข้างหน้าเปลี่ยนความคิด หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนเองนั่นแหละจะเป็นพวกแรกๆ เลยที่จะออกมาบอกว่าเห็นใจ (ดูอย่างกรณี 6 ตุลาที่สื่อมวลชนออกมาบอกว่าเห็นใจคนที่เดือนร้อนจาก 6 ตุลา) แล้วไอ้เมื่อ 3 เดือนหลังการปราบนั่นพวกคุณทำอะไร ช่วงที่สถาปนาว่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์เลวระยำโหดเหี้ยมเป็นปีศาจอย่างไร ก็คือ สื่อมวลชน(อีกน่ะแหละ) ไอ้พวกเราก็เป็นปัจเจกชนที่อำนาจไม่พอ อยากจะให้คนคิดกับ 6 ตุลาใหม่ เราก็ต้องเขียนไปลงหนังสือพิมพ์อยู่ดี ก็ต้องพึ่งสื่อมวลชนอยู่ดี สื่อมวลชนลงให้เราก็ดีใจ นักข่าวมาทำข่าวเราก็ชอบ แต่สุดท้ายพวกนี้นี่แหละที่บอกว่าสังคมไทยโหดเหี้ยมมากนะที่ทำกับนักศึกษาแบบนั้น แล้วใครล่ะ(ที่พิพากษานักศึกษาแบบนั้น)มาก่อน

วิธีจัดการกับความรู้และโศกนาฏกรรมอย่างที่สามนี่สั้นๆ แค่นี้ สื่อมวลชนทำตัวเหมือนอย่างครูใหญ่ หรือสังคมในหมู่บ้านของหนังสือเรื่อง คำพิพากษา”

การพยายาม encourage กันทางศีลธรรมไม่ใช่เรื่องผิด
ทุกๆ คนต้องมี จะพุทธหรือศาสนาอะไรก็แล้วแต่
หรือไม่เชื่อศาสนาอะไรเลยก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีศีลธรรม
คนเราต้องมีเรื่องนี้อยู่ แต่เมื่อไหร่ก็แล้วแต่
ที่คุณทำให้การจัดการเรื่องนี้เป็นเรื่องทางศีลธรรม
ที่ไม่เกี่ยวกับ Social-relation ที่ไม่เกี่ยวกับกลไกทางสังคมเลย
มันจะเกิดภาวะที่ สังคมไทยบอกว่า
จงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ โดยไม่มี Public Policy ที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่นหายตลบด้วย ‘ศีลธรรม’

อันที่สี่ ไม่ใช่วรรณคดีแต่ผ่านหนังสือเหมือนกัน ใครเคยเห็น หนังสือ ฅ.คน ฉบับพิเศษ” บ้างไหม ... พาดหัวที่หน้าปกก้าวข้ามความเกลียดชัง” หนังสือเล่มนั้นค่อนเล่มจะเป็นรูปภาพ เนื้อหาสาระที่เป็นตัวหนังสือมีแค่ 2 อย่างเท่านั้น คือสัมภาษณ์อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และสัมภาษณ์พระไพศาล วิศาโล พาดหัวก็ “ก้าวข้ามความโกรธเกลียด” ทำนองนี้ แต่มี “ชิงชัง” ไหม ไม่แน่ใจ

ผมฝากให้คุณไปทำการบ้าน ...ลองไปหาดูแล้วไปดูคำสัมภาษณ์ของคนสองคนนี้ แล้วนับดูว่ามีคำว่า “ความยุติธรรม” กี่ที่

ประเด็นคืออะไร “โศกนาฏกรรม” ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในสังคมไทยหลายครั้งทำโดยชนชั้นปกครองและคนมีอำนาจ แล้วคนมีอำนาจเองนั่นแหละที่มาพูดเรื่องปรองดอง ในสมัย 6 ตุลา หลังจากนั้นหลายปีก็เหมือนกัน เขาใช้คำว่า“สมานฉันท์” เขานิรโทษกรรมพวกผมหลายปีหลังจากนั้น เหตุที่นิรโทษกรรมก็เพื่อ “ความสมานฉันท์” พอมหาวิทยาลัยหลายแห่งจะจัดงานต้อนรับคนที่ออกจากคุก เขาก็มีคำสั่งออกมาว่าอย่าต้อนรับเพราะมันจะยิ่งจุดความขัดแย้งกัน สมานฉันท์ดีกว่า หลายที่ก็ต้องเลิก ตอนที่ชักชวนเอาผู้พัฒนาชาติไทยกลับมาส่วนใหญ่ก็พูดเรื่องนี้ ใช้คำประมาณนี้ เพื่อกลับมาคืนดีกัน สมานฉันท์กัน หยุดการชุมนุม หยุดการต้อนรับ หยุดการพูด แล้ว 6 ตุลาถูกเบรกเป็นเวลานานหลายปีโดยมหาวิทยาลัยต่างๆด้วยข้ออ้างนี้ ที่เราจะได้ยินบ่อยคือ “อย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ”

ประเด็นคือ สิ่งที่เรียกว่า ความสมานฉันท์ ปรองดอง อะไรทำนองนี้ทั้งหมดในสังคมไทยไม่ผูกติดกับความยุติธรรม ผมอยากจะออกจาก ฅ.คน ไปหาหนังเรื่อง “Invictus” ขอยกตัวอย่างฉากเดียวที่บอกถึงธีมในหนังเรื่องนี้ ...สังคมแอฟริกาใต้เต็มไปด้วยการเหยียดผิว หลังจากยกเลิกการเหยียดผิวได้โดยผู้นำของฝ่ายคนผิวดำเป็นคนติดคุก เนลสัน แมนเดลล่า (Nelson Mandela) ต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

Invictus เป็นเรื่องตอนที่แมนเดลล่าเป็นประธานาธิบดีและต้องการใช้ทีมรักบี้ซึ่งมีรากผูกติดกับคนผิวขาว (คิอเป็นตัวแทนของระบอบเหยียดผิว) ให้เป็นพาหะในการสร้างความสมานฉันท์ของคนต่างสี ฉากตอนช่วงต้นๆ ผ่านไปสัก 10 กว่านาที คนผิวดำประชุมกันมีมติว่าจะแอนตี้ทีม Springboks ของพวกผิวขาว แมนเดลล่าค้าน(มติดังกล่าว) และ(เสนอว่า)ต้องต้อนรับทีมนี้ในฐานะที่จะเป็นจุดเชื่อมคนหลากสีผิวเข้าด้วยกัน เหตุผลของแมนเดลล่าคือ ต้องก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง

คุณนึกให้ดีนะ เวลามีคนมาบอกว่าให้ก้าวข้ามความโกรธ เกลียด ชิงชัง โดยอย่าเพิ่งนึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม แต่นึกถึงมันอย่างเป็นคอนเซ็ปท์โดดๆ การก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง มันดีใช่ไหม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Invictus แมนเดลล่าซึ่งต้องถือว่าเป็นผู้นำของผู้ที่เป็นเหยื่อ ผู้นำคนผิวดำ เป็นฝ่ายออกมาต่อสู้กับพลพรรคของตัวเองว่า อย่าจมอยู่ในความโกรธ เกลียด ชิงชัง เราต้องก้าวข้ามตรงนั้นไปให้ได้ สังคมมันจึงจะกลับสู่สภาวะที่อยู่กันได้และเป็นปกติ แมนเดลล่าพูดกับคนผิวดำ พลพรรคของเขาเอง แน่นอนว่าคนของเขาไม่เห็นด้วยเยอะแยะ แต่อย่างน้อยมันก็พอฟังขึ้น มันทำให้เราเกิดโจทย์ว่าจะแอนตี้ Springboks แอนตี้คนผิวขาวต่อไปดี หรือจะก้าวข้ามไป นี่เป็น Agenda (วาระ) ที่ต้องคิดต้องเถียงกัน

ผมสมมติว่า ลองนึกภาพคนที่พูดแทนที่จะเป็นแมนเดลาพูดกับคนผิวดำด้วยกัน นึกภาพเป็น เฟเดอริค ดับเบิลยู เดอเคิล์ก (Frederik Willem de Klerk) คือ ผู้นำคนขาวคนสุดท้ายที่ก่อไม่รู้กี่รายการเรื่องการเหยียดผิว แล้วมาพูดกับคนผิวดำว่าเราต้องก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง มันต่างกันใช่ไหม ต่างกันลิบลับทันที แม้จะเป็นพูดคำเดียวกันนี้ นัยยะทั้งหมดมันคนละเรื่อง ตรงกันข้ามกันเลย อันหนึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ มันคือความสง่างาม อีกอันหนึ่งคือความน่าขยะแขยง

ทีนี้มาลองนึกถึงสังคมไทยใครพูดเรื่องปรองดอง เดอเคิล์ก ... เดอะมาร์ค แล้วที่น่าเศร้าคือคนตั้งเยอะตั้งแยะในสังคมไทยรับความน่าขยะแขยงนี้ได้ว่าคนที่ลงมือ (เป็นคนพูดเอง)... ให้คนอื่นเขามาพูดเรื่องปรองดอง คุณอย่าพูด ทันทีที่คนลงมือสั่งเองเป็นคนพูด ... สำหรับผมมันน่าขยะแขยง คุณไม่มีสิทธิ์พูด คุณเอาคนกลางๆ ซึ่งไม่รู้ว่ามีเหลืออยู่ไหม เอามาพูดก็ว่าไป แต่คุณไม่มีสิทธิ์พูด

ประเด็นที่สี่ที่จะพูดคือ คำว่าปรองดองในสังคมไทย มันทำงานแบบไทยๆ หนึ่ง คือ ไม่ผูกติดกับเรื่องความยุติธรรม สอง ใครๆ ก็พูดได้ ทั้งที่การปรองดอง... “Forgiveness” ...คำสำคัญของแมนเดลล่าที่เขาใช้ คือ “Forgiveness” ...ถ้าฝั่งตรงข้ามมาบอก forgive มันฟังไม่ได้ แต่ถ้าแมนเดลล่า ซึ่งเขาติดคุกมา 20 กว่าปี บอกว่า forgive เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราก็ต้องฟัง

...เรื่องนี้เป็นลักษณะของสังคมไทย เป็นมานาแล้ว แล้วนิตยสาร ฅ.คน ในคำสัมภาษณ์ของเสกสรรค์ ซึ่งในช่วงหลังมีความสามารถเรื่องพุทธศาสนามากขึ้นเยอะ ...ไม่ได้ประชด พูดแบบแฟร์ๆ...กับของพระไพศาลก็เป็นพระอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องการบอกคือ อะไรคือ Forgiveness ในสายตาของสองคนนี้ ไม่ใช่ Forgiveness ในความหมายเดียวกับอีกหลายๆแห่งในสังคมอื่น ผมจะไม่วิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดีแต่จะบอกว่ามันต่างกัน forgiveness ในสายตาของสองท่านนี้ มันเป็น Forgiveness ในระดับ Individual แต่ไม่ใช่ Forgiveness ในเชิง Social-relation เป็นระดับจิตใจแต่ละคน แต่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมที่ให้อภัยกันและกัน

ยกตัวอย่างเทียบไปนอกเรื่องนิดหนึ่ง สังคมไทยมีคนจนเยอะแยะ พูดกันมานานแล้ว คุณคิดว่าต่างกันไหม ที่คนระดับผู้บริหารเห็นคนจนแล้วบอกว่า “จงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่” (ผู้ฟังหัวเราะ) กับบอกว่า “จงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ แต่เราจะมี Public policy เหล่านี้ออกมา” ต่างกันใช่ไหมครับ และสังคมไทยมักจะเป็นแบบแรก

พูดง่ายๆ ว่า การพยายาม encourage (ส่งเสริม) กันทางศีลธรรมไม่ใช่เรื่องผิด ทุกๆ คนต้องมี จะพุทธหรือศาสนาอะไรก็แล้วแต่ หรือไม่เชื่อศาสนาอะไรเลยก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีศีลธรรม คนเราต้องมีเรื่องนี้อยู่ แต่เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่คุณทำให้การจัดการเรื่องนี้เป็นเรื่องทางศีลธรรม ที่ไม่เกี่ยวกับ Social-relation ที่ไม่เกี่ยวกับกลไกทางสังคมเลย มันจะเกิดภาวะที่ สังคมไทยบอกว่าจงพอใจในสิ่งที่มีอยู่โดยไม่มี Public Policy ที่เกี่ยวข้อง จบ “ก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง” (เฉยๆ) กับ “ก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง แล้วมีกระบวนการที่ให้เกิด Social-Justice” มันต่างกันนะ

ผมเอง ผมไม่ได้บอกนะว่าการ “ก้ามข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง” เป็นเรื่องเลว ... เป็นเรื่องดี แต่เมื่อไหร่พูดโดยไม่มีกลไกที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างคน มันฟังแล้วเหมือนกับบอกว่าจงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ก็จบแค่นั้น ใช่ไหมฮะ ผมไม่ได้เรียกร้องว่าห้ามพูดเรื่อง(๋ศีลธรรม)พวกนี้ แต่คิดดูนิดหนึ่งว่าการพูดเรื่องพวกนี้โดยที่ไม่มีมิติกลไกทางสังคมจัดการปัญหานี้ มันไม่เข้าท่า

แล้วสิ่งที่ควรต้องทำก็ง่ายนิดเดียว จัดการให้มีกลไกจัดการเรื่องความยุติธรรมซะ เวลาผมอ่านคำสัมภาษณ์ของทั้ง 2 ท่าน ผมถึงรู้สึกอย่างนี้ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ผมทำเรื่อง 6 ตุลา ... ท่านไม่ผิดเลยที่ท่านพูดเรื่องศัตรูสำคัญของ 6 ตุลาคือ Evil (ปีศาจ) ในตัวคน แต่ถ้าท่านผู้แค่นี้ว่า Evil ในตัวคนแล้ว Full stop ก็เกิดภาวะอย่างที่เห็น มันไม่มีการจัดการเรื่องความยุติธรรม

ถ้าสักแต่ว่าก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชังแล้ว Forgive ซะ โดยคนพูดเป็นคนผิวดำ โดยคนพูดเป็น Victim เป็นคนที่ได้รับผลกระทบ มันเป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าพูดโดยคนที่มีอำนาจแล้วใช้กำลังก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมโดยตัวผู้พูดเองก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คำว่า Forgiveness ปรองดอง ก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง ในสังคมไทยเป็นแบบที่ไม่ผูกกับ Social mechanism เรื่อง Justice หรือเรื่องอะไรทั้งนั้น และเป็นมานานแล้วด้วย

ผมไม่กล้าสรุปนะว่านี่เป็นพุทธศาสนา ผมไม่กล้า ผมความรู้ไม่พอ ผมบอกได้ว่านี่เป็นแบบไทยๆ ที่เป็นมา ส่วนจะเป็นพุทธศาสนาทุกที่ไหม ผมไม่กล้า... หวังว่าคนในที่นี้คงไม่มาหาว่าผมลบหลู่พุทธศาสนานะ ผมกำลังพูดถึงภูมิปัญญา พูดถึงความรับรู้ในสังคม เรื่องนี้เป็นเรื่องต้องคิด เราไม่พูดถึงปรองดอง โกรธเกลียด Forgiveness ทั้งหลายโดยผูกพันกับกลไกเพื่อจะแก้ปัญหาในสังคม มันก็มีค่าเท่ากับ “ความยากจนก็ทนๆ ไปเถิด” โดยไม่ผูกกับกลไกทางนโยบายสาธารณะที่จะแก้ปัญหาความยากจน ทำนองเดียวกัน

สี่อันนี้... ผมไล่ไปเรื่อยๆ ว่า ฝุ่นจะหายตลบด้วยวิธีการเหล่านี้ ผมไม่บอกว่าทางออกคืออะไร เพราะผมก็คิดไม่ออกเหมือนกัน แต่อย่างน้อยคือบอกทางพวกเรา หรือชวนชี้ให้พวกเราคิดว่า เราจะสู้กับการใช้อำนาจสถาปนาให้ความรับรู้กับเหตุการณ์ที่ผ่านไปหรือทำให้ฝุ่นหายตลบ แบบใช้อำนาจ แบบ 1984 เราต้องสู้กับเรื่องแบบนี้ หรืออย่างน้อยๆ เช่น Determined ทำใจให้ดีนะ อย่ายอมให้เขา Breakdown ง่ายๆ แต่ถ้าเขา Breakdown ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องประณามกัน เป็นน่าเห็นใจ คิดให้ดีเรื่องการก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง เวลาเจอเรื่องพวกนี้บางคนปฏิเสธง่ายเกินไป ผมคิดว่าไม่ใช่ว่าจะบอกทันทีว่าที่พูดแบบนั้นผิดหมด บ่อยครั้งมันไม่ได้ผิด แต่เวลาเราบอกว่ามันไม่ได้ผิด แล้วมันผิดตรงไหน ผมพยายามจะลองเสนอว่านี่ไงผิดตรงที่มันไม่ผูกกับกลไกทางสังคมเพื่อจัดการเรื่องความยุติธรรม ดังนั้นเท่ากับบอกทางออกด้วยว่า ถ้าหากคุณคิดจะปรองดองจริง กรุณาทำนะ แล้วถ้าจะทำสิ่งนั้น คนที่มีส่วนในการทำ ในการลงมือ ทำไม่ได้ คุณต้องให้ Victim เป็นคนทำ

การปรองดองและการสถาปนา Justice อย่างที่ดีที่สุด ต้องให้ Victim เป็นคนทำ แล้ว Victim กรุณา Sophisticated กรุณามีความ Fair และเถียงกันเองว่าไม่ได้มาด้วยการแก้แค้นนะ การแก้ปัญหาไม่ใช่ว่า กูมีอำนาจแล้วกูแก้แค้นมึงพรุ่งนี้ ไม่จบนะ ถึงตรงนี้ Victim ด้วยกันจะพูดเรื่อง ก้าวข้ามความโกรธเกลียดชิงชัง พูดเรื่อง Forgiveness อะไรพวกนี้ แต่ไม่ใช่คนที่ลงมือฆ่ามาพูด

6 ตุลานี่กล้าไหม ปล่อยให้ Victim ตั้งกรรมการ พฤษภาที่ผ่านมากล้าไหมให้ Victim ตั้งกรรมการ แล้วปล่อยให้คนที่เห็นอกเห็นใจเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำทั้งหลาย ทะเลาะกันว่าควรจะเล่นงานแก้แค้นแค่ไหน ผมมั่นใจว่า คนอย่างพวกเราไม่ใช่คนที่จะสักแต่ว่าแก้แค้นเพื่อให้ความรุนแรง feed ความรุนแรงไปไม่รู้จบ

ในแนวรบอันหนึ่งคือเรื่องความทรงจำ
ในแนวรบเรื่องนี้ เราจะเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นยังไง
มันเริ่มแล้ว ไม่ใช่ต้องรอให้ผ่านไป 10 – 20 ปี
อย่ารอนานอย่าง 6 ตุลา มันเริ่มแล้ว
แล้วเราทุกคนมีส่วนได้ มีส่วนร่วม

ฝุ่นหายตลบโดย ‘นักวิชาการ’

ประเด็นที่ห้า ฝุ่นหายตลบแบบสุดท้ายคือแบบนักวิชาการ มาหมดแล้วนะรัฐบาล สื่อมวลชน สุดท้ายคือนักวิชาการ คุณเห็นการถกเถียงว่าการด่าแกนนำว่าผิดไม่ผิดแค่ไหนไหมครับ ผมจะไม่ Join นะว่าตกลงผมคิดว่าไง ผมไม่ร่วม แต่ผมให้ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง มันเป็นเหตุเป็นผลเป็นบ้าเลย หมายความว่าไง การอภิปรายว่าใครถูกและผิด สรรหาเหตุผลต่างๆ มาหมด ผมถามหน่อยนะครับว่าการสู้กับความอยุติธรรมถึงขนาดเอาชีวิตเข้าแลกนี้ มันเป็นเหตุเป็นผลไหม

เอาใหม่นะครับ คราวนี้ผมไม่รู้ว่าผมใช้คำถูกไหม พอดีผมอาจจะคิดเป็นภาษาอังกฤษเกินไปหน่อย ก็คือว่าการที่ยอมตายในการสู้กับความอยุติธรรม การที่ยอมตายเพื่อความยุติธรรม มัน Rational ไหม สมเหตุสมผล ในที่นี้คือ มนุษย์ปกติเขาไม่ทำกันหรอก ไม่สมเหตุสมผลไม่ได้แปลว่าเป็นบ้า หรือไม่ได้แปลว่าปัญญาอ่อน หรือไม่ได้แปลว่าโง่เง่าอย่างที่ชอบด่ากัน แต่มันดูไม่สมเหตุผลในความหมายว่า อย่างเช่น เพื่อนผมบอกว่า รังแกกูมาก กูไม่ว่านะ รังแกลูกกูเมื่อไหร่กูสู้ สมเหตุไหม ผมว่าสมเหตุสมผลนะ แต่สมเหตุสมผลนี้ไม่เห็นจะเป็นเหตุเป็นผลตรงไหน คือ (ถ้าแกล้งกู กูทนได้) ถ้าแกล้งลูกกู กูสู้

การทำร้ายกัน การทำให้เกิดความอยุติธรรมอย่างหนักจนคนทนไม่ไหวแล้วจะสู้ ถึงขั้นยอมตายได้ มันไม่ปกตินะ เพราะปกติเรารักชีวิต แต่ผมถามว่ามนุษย์เป็นอย่างนี้มากี่ร้อยกี่ล้านคนแล้วในประวัติศาสตร์ เยอะมาก มนุษย์เป็นล้านที่ไม่สมเหตุสมผลเลย ผมคิดว่านักวิชาการหาความสมเหตุสมผลจนสุดโต่ง มนุษย์ปกติเนี่ย สมเหตุสมผลถึงขีดหนึ่งแค่นั้นแหละครับ เลยไปจากนั้นไม่ใช่เรื่องความสมเหตุสมผล เลยไปกว่านั้นเป็นเรื่องใจ สัญชาติญาณ Reaction หลายอย่างไม่สมเหตุสมผลเลย

และความไม่สมเหตุสมผล ขอย้ำว่าไม่ได้แปลว่าไร้เหตุผลนะ ไม่ได้แปลว่าเลวเสมอไป ไม่ได้แปลว่าเลว ด้วยซ้ำไป ไม่ได้แปลว่าผิดด้วย แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันถูก และผมไม่กล้าบอกว่ามันควรจะทำ แต่มนุษย์เป็นอย่างนี้ การถกเถียงของนักวิชาการมักจะหาเหตุผล ทั้งที่มนุษย์ปกตินะถึงจุดหนึ่งมันไม่เป็นเหตุเป็นผลหรอก และความไม่เป็นเหตุเป็นผลนี้ไม่ใช่เรื่องความเลวร้ายที่ต้องประณามกัน อาจไม่ใช่ทุกครั้งนะ แต่บ่อยครั้งไม่ใช่เป็นเรื่องความเลวร้ายที่ต้องประณามกัน บ่อยครั้งเป็นเรื่องเห็นอกเห็นใจกันได้ บ่อยครั้งเป็นเรื่องที่แสนจะเป็นมนุษย์ ก็คือถ้าไม่เป็นอย่างนั้น อาจมีเหตุมีผลไปหมดนะแต่ไม่ใช่เป็นคนเท่าไหร่ เพราะคนปกติถึงจุดหนึ่งจะมีการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ ด้วย...ความเสี่ยง

เคยได้ยินคำกล่าวไหมว่า คนที่หิว อดอยากเจียนตายยังไง ยากนะที่เขาจะยอมไปเสี่ยงชีวิตด้วย มี...คนที่ต่อสู้กับความหิว(ด้วยชีวิต)น่ะ แต่ไม่ง่ายนะ เขาจะหาวิธีอื่น คนไม่เอาชีวิตเข้าแลกง่ายๆ หรอก แต่กลายเป็นว่า ความยุติธรรมนี้ คนเอาชีวิตเข้าแลกมาไม่รู้เท่าไหร่ ถามว่าความยุติธรรมคืออะไร กินได้ไหม จับต้องได้ไหม ทำให้ร่างกายเราอุ่นขึ้นไหม ทำให้เรามีที่พักอาศัย ทำให้เรารักษาโรคได้ไหม ในตัวมันเองไม่ได้สักอย่างเดียว แต่มนุษย์มีความตระหนักรู้ว่า ความยุติธรรมหมายถึง social-relation ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ปกติ และถ้าเกิดความอยุติธรรมที่ดีกรีที่มันแรงจนชีวิตเราอยู่ปกติไม่ได้ มนุษย์จึงรู้ว่าเขาจึงยินดีที่จะตายเพื่อความยุติธรรม เพื่อสู้กับความอยุติธรรม ความสมเหตุสมผลในความหมายที่ว่าต้องเป็นเหตุเป็นผลไปหมด ถึงตรงนั้นมันไม่ apply แล้ว

ผมไม่กล้าบอกว่าแกนนำถูกหมด ผมไม่รู้พอ ผมบอกได้เลยว่า คนตั้งเยอะที่บอกว่ากูจะสู้จนตายเนี่ย มันเป็นความไม่สมเหตุสมผลที่แสนจะสมเหตุสมผล และผมอธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลทางวิชาการด้วย บอกได้เลยว่าก็คนตัดสินใจอย่างนั้นน่ะ แล้วเรื่องพวกนี้ผมคิดว่าทุกคนเคยอ่านมา ทุกคนเคยดูหนังมา เคยฟังเพลงมา มีเรื่องตั้งเยอะที่เราอธิบายเรื่องที่ว่าคนตั้งเท่าไหร่ตายด้วยความรัก มัน Idiotจะตายไป คนเรายินดีเสี่ยง คนเรายินดีเอาตัวเข้าแลก คนเรายินดีทำหลายๆ อย่างที่ดูเหมือนไม่คุ้มเลย เพราะสิ่งที่เขาทำไม่ใช่เรื่องคุ้มหรือไม่คุ้ม และถึงบอกว่าคุ้มหรือไม่คุ้มก็ไม่รู้จะวัดตรงไหนด้วย และการวัดของคนเรื่องคุ้มหรือไม่คุ้มก็ไม่เหมือนกัน

ผมไม่กล้าบอกด้วยซ้ำว่าการตัดสินใจเหล่านั้นแปลว่าถูก ผมไม่กล้าพูด ผมว่ามันตัดสินลำบากมากที่จะบอกว่าพวกเขาทำอย่างนั้นมันไม่เป็นเหตุเป็นผล ทำไมไม่คิดขนาดนั้นขนาดนี้ ถ้าคนเราเป็นขนาดนั้นได้ก็คงดี ...แต่ถ้าคนเราเป็น Rational ไปหมด ไม่เกิดการปฏิวัติที่ไหนเลยสักแห่งเดียว ปฏิวัติฝรั่งเศสก็ไม่เกิด คุณว่าผู้นำปฏิวัติฝรั่งเศสพาคนไปตายไหม อื้อเลย ตายอื้อเลย ผู้นำปฏิวัติรัสเซีย จีนพาคนไปตายเยอะแยะเลย ปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้เกิดเสรีภาพแล้วยกย่องทำไม ประเทศฝรั่งเศสยกย่องวันที่ 14 กรกฎา ยกย่องทำไม พาคนไปตายเยอะแยะ ผมคิดว่าในภาวะหนึ่งการตัดสินใจบางอย่างมันแสนจะไม่สมเหตุสมผล และมันก่อผล ก่อผลหมายถึงลบก็ได้ บวกก็ได้นะ และผลนั้นมันมหาศาล

ผมไม่กล้าบอกว่า การตัดสินใจที่จะเอาชีวิตเข้าแลกนี้(ถูกต้อง ต้องสนับสนุน) เพร่ะผมคิดว่าบ่อยครั้งผิดแต่ผมไม่กล้าบอกว่าการตัดสินใจเอาชีวิตเข้าแลกเป็นเรื่องผิดอีกเหมือนกัน จะบอกว่าผม Sit on the fence (แทงกั๊ก) ก็ได้ เพราะถึงที่สุดนั่นคือการตัดสินใจของแต่ละคนที่ผมดูถูกเขาไม่ลง บอกได้(แต่เพียงว่า) ถ้าผมไม่กล้าตัดสินใจเอาตัวเข้าแลก ผมก็กรุณาหุบปากซะ

ประเด็นนี้ก็คือ นักวิชาการพยายามทำให้ฝุ่นหายตลบด้วยเหตุด้วยผล ทั้งที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพฤษภาที่ผ่านมาหลายเรื่องมันไม่ใช่เรื่องของเหตุของผล ไม่ใช่เรื่องความหมายลบนะ มันเป็นเรื่องที่ Beyond (นอกเหนือจาก) เรื่องเหตุและผลที่จะต้องมานั่งอธิบายกัน มันเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่านั่นคือการตัดสินใจของมนุษย์ นั่นคือโศกนาฏกรรม พฤษภาที่ผ่านมา 6 ตุลา และอีกหลายกรณีมันคือโศกนาฏกรรมในความหมายนี้ จะเห็นว่าไม่ว่าตัดสินใจอย่างไร มันก็มีผลเสีย แม้ว่าตัดสินใจแล้วออกมาชนะ ออกมามีผลดีมหาศาล ก็มีผลเสียพ่วงมาด้วยเยอะแยะ

มนุษย์อยู่ในจุดที่เป็นโศกนาฏกรรมจึงเป็น “Dilemma” ที่ต้องตัดสินใจ ถ้าตัดสินใจเลิกสลายก่อนแล้วทำต่อไปยาวๆ ผมเห็นด้วยกับ(อย่างนี้)นะครับ โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยว่าเขาจะชุมนุมต่อ แต่พอเขาชุมนุมต่อแล้วมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ผมสารภาพว่าผมด่าเขาไม่ลง ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมที่ได้ตัดสินใจ แล้วการตัดสินใจครั้งนี้มันแพ้ มันเสียหายหนัก

เพียงแต่ ผมอยากจะถามว่า คุณคิดว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสนี้ … “เข้าใจสถานการณ์ที่ดี ประเมินสถานการณ์ถูกต้อง จะนำไปสู่ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ถูกต้องและได้รับชัยชนะ” โอ้โฮ มนุษย์ถ้ามันง่ายอย่างนั้นก็ชนะมาไม่รู้ต่อกี่ครั้ง ใช่ไหมฮะ มันไม่มีน่ะ Pre-condition 3ชั้น

เข้าใจสถานการณ์ ประเมินถูกต้อง จึงนำไปสู่การปฏิวัติที่ถูกต้อง และจะนำไปสู่ชัยชนะ” คุณต้องการ 3 ชั้นที่ลงล็อกกันพอดี ชีวิตมนุษย์จริงๆ มันไม่ง่ายขนาดนั้น พวกเราในห้องนี้ตัดสินใจเรื่องใหญ่เรื่องเล็กผิดกันมาไม่รู้กี่ครั้ง ใช่ไหมฮะ เราตัดสินใจผิดมากี่ครั้งแล้วในชีวิตเราเอง เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่นัก ผมตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตผิดมาแล้วในเรื่องที่ใหญ่ หลายคนในที่นี้อาจยังไม่เคย

...ในเรื่องเล็กๆ ที่เราตัดสินใจผิดอยู่ที่วัน เราจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาเพื่อมา มช. ดีเนี่ย เลี้ยว...ไปผิดที่เจอรถติดงานโอท็อป ...นี่เป็นการยกตัวอย่างเรื่องเล็กๆ และเป็นเรื่องตลก แต่ถ้าคุณคิดถึงเรื่องที่ไม่เล็ก และไม่ตลกนั้น มันเป็นโศกนาฏกรรม บ่อยครั้งฐานข้อมูลในการประเมินมันคือชุดเดียวกัน บ่อยครั้งคนๆ เดียวกันประเมินข้อมูลเหมือนกัน คนๆ เดียวกัน ยังไม่สามารถบอกได้เลยว่าต้องตัดสินใจอย่างนี้แน่ ไม่ตัดสินใจแบบนั้นแน่ มีกี่ครั้งที่ประมวลข้อมูลแล้ว ประเมินแล้ว ก็ยังลังเลว่าเอายังไงดีวะ มีอยู่แทบทุกวัน เพราะเมื่อประมวลข้อมูล ประมวลสถานการณ์แล้ว มันยังไม่ได้นำไปสู่คำตอบว่าเราควรตัดสินใจอย่างไร เรายังลังเลอยู่ดีว่าจะเอาไงดี แล้วในชีวิตมีกี่ครั้งที่บอกว่า “เอางี้ละวะเป็นไงเป็นกัน” บ่อยจะตายไป หรืออาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ในโศกนาฏกรรม(เป็นแบบนี้)แทบทุกครั้ง มันจะอยู่ในภาวะที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะ “รู้แล้วประเมินอย่างถูกต้อง จึงนำกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ถูกต้อง แล้วได้ชัยชนะ” ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่เป็นโศกนาฏกรรม ถ้าเป็นแบบนี้เขาเรียก เล่นขายของ

นักวิชาการจะทำให้ฝุ่นหายตลบ ด้วยการทำให้ทุกอย่างหรือหลายอย่างมันเป็นเหตุเป็นผลจนเกินไป ตรงนี้ผมพูดเหมือนกับแย้ง ผมขอบอกเพียงแต่ว่าเมื่อเหตุการณ์พฤษภาที่ผ่านมา ถึงจุดหนึ่ง ผมต้องหยุดคิดในความหมายของการหยุดคิดเชิงเหตุผล แล้วพยายามที่จะ(ทำอย่างที่)คุยในวันนี้ โดยอ่านนิยาย นึกถึงนิยายเรื่องที่เคยอ่าน นึกถึง Tragedy ที่เคยอ่าน พยายามทำความเข้าใจว่าคนเราอยู่ในภาวะอย่างไร นึกถึงตัวเองเมื่อ 6 ตุลา ว่าเราอยู่ในภาวะอย่างไร แล้วจะรู้ว่ามันจะยากลำบากเพียงไหนที่จะต้องตัดสินใจแล้วออกหัวหรือออกก้อย

ผมไม่ได้ปฏิเสธ หรือต้องการให้พวกเราปฏิเสธการใช้เหตุใช้ผล ผมบอกแต่เพียงว่า... การมีความรู้ การมีเหตุผล เป็นเรื่องจำเป็นมาก แต่มี Limit ...เกินไปจากนั้นมันไม่ใช่เรื่องของเหตุผล ถ้าเราตัดสินใจแล้วได้ดีก็ดีไป เมื่อเราตัดสินใจไม่ได้ หรือเมื่อเราตัดสินใจต่างจากคนอื่น ไม่ว่าจะลงบางซื่อหรือลงหัวลำโพงมันมีโศกนาฏกรรมทั้งนั้น เราน่าจะเห็นอกเห็นใจคนที่ตัดสินใจต่างจากเราได้

ทั้งหมดที่พูดมานี้เพื่อจะบอกว่าในแนวรบอันหนึ่งคือเรื่องความทรงจำ ในแนวรบเรื่องนี้ เราจะเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นยังไง มันเริ่มแล้ว ไม่ใช่ต้องรอให้ผ่านไป 10 – 20 ปี อย่ารอนานอย่าง 6 ตุลา มันเริ่มแล้ว แล้วเราทุกคนมีส่วนได้ มีส่วนร่วม ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษเลย ...หลายๆ คนทำอยู่มันมีผล มันมี Effect ต่อเรื่องความทรงจำ ว่าเราจะรับรู้เหตุการณ์พฤษภาคมที่ผ่านมาอย่างไรด้วย มันมีผลทั้งนั้น

และการรับรู้เหตุการณ์พฤษภาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตด้วย มีผล เชื่อผมสิ ถ้าเมื่อไหร่ถูก Breakdown อย่างวินสตัน จูเลีย ในเรื่อง 1984 สยบต่อคำพิพากษาอย่างนายฟักในคำพิพากษา หรือถูกทำลายและทำร้ายด้วยอำนาจรัฐอย่างที่เขากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ และไม่สามารถคิดอย่างซับซ้อน ติดกับอยู่กับความเป็นเหตุเป็นผลโดยไม่ตระหนักว่ามันมี Limit ....ความเข้าใจเหตุการณ์พฤษภาที่ผ่านมาจะเป็นแบบหนึ่ง เช่น อันนี้ยกตัวอย่างนะ เพราะผมไม่รู้จริงๆ ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เช่น ทำให้พลังการเถียงคณะกรรมการอะไรก็แล้วแต่ที่เขาตั้งขึ้นมา มันไม่คม มันไม่ดีพอ หรือทำให้เขา Dominated เกินไป ในขณะที่เราอาจมีวิธีอื่น เราอาจมีความรู้แบบอื่น เราอาจจะสามารถเถียงแบบอื่นได้

ความรับรู้กับเหตุการณ์พฤษภาที่ผ่านมามีผลมาก อาจจะไม่โดยตรง แต่มีผลมากต่อการที่รัฐบาลจะมีอำนาจทำอะไรตามใจชอบหรือไม่ในอีกปีสองปีข้างหน้า เขาจะเลือกตั้งแล้วจะชนะไหม เขาเลือกตั้งแล้วจะชนะแค่ไหน ชนะแบบไหน หรือเลยไปจากการเลือกตั้ง ถ้าเหตุการณ์สำคัญของสังคมไทยที่ทุกคนเล็งอยู่...ได้เกิดขึ้น ความรับรู้ในเหตุการณ์พฤษภาที่ผ่านมามีผลอย่างมาก

อย่ายึดถือประเมินตัวเองสูงว่า ทำอะไรก็ได้ตามใจ ...ในขณะเดียวกันอย่าดูถูกตัวเอง แม้กระทั่งจูเลีย-วินสตัน การที่นายวินสตันยังเก็บเรื่องมีเซ็กส์กับจูเลียไว้ในใจ enjoy กับการที่มีเซ็กส์กับจูเลียเนี่ย มันกบฏมากนะ ลึกๆ จิตใจเขาไม่รับ Big Brother เขาไม่รับ เขาอาจยอมสยบ แต่ไม่รับ รอวันที่จะโผล่ ถ้าพูดอย่าง 1984 นะ

เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่พยายามคิดพยายามพูดคือไม่ใช่แค่มีจิตใจอย่างชาวพุทธอย่างอาจารย์เสกสรรค์ หรือพระไพศาลพูด เพราะการคิดเรื่องพวกนี้มันนำไปสู่ Social action นำไปสู่โครงการทางสังคมได้

....

แค่นี้ แล้วจะคุยเรื่องอื่นต่อ หรือเรื่องนี้ต่อก็ได้

หมายเหตุ : สัญลักษณ์การเน้นทั้งหมด เป็นการพิจารณาโดยกองบรรณาธิการ
(โปรดติดตาม บทตามและการสนทนา หลังการอภิปราย เร็วๆ นี้)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker