บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

นักปรัชญาชายขอบ: ดาบที่ประหารเสรีภาพ

ที่มา ประชาไท

นักปรัชญาชายขอบ

สิ่ง ที่จริงกว่าคำขวัญที่ว่า “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพประชาชน” นั่นคือ “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของสื่อ” แต่เมื่อสื่อที่พยายามให้พื้นที่เสรีภาพต้องถูกละเมิดเสรีภาพ สื่อทั้งหลายทำอะไรกัน?

คำขวัญที่ว่า “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพประชาชน” อาจไม่จริง เพราะที่จริงกว่าคือ “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของสื่อ” เนื่องจาก
ประการแรก สื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือของเอกชนก็ล้วนแต่เป็นสื่อที่มี “เจ้าของ” สื่อของรัฐตามหลักการแล้วประชาชนคือเจ้าของ แต่โดยพฤตินัยรัฐบาลคือเจ้าของ ฉะนั้น สื่อของรัฐจึงถูกใช้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล และมันก็ไม่มียุคไหนที่สื่อของรัฐจะถูกใช้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล และกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างน่าเกลียดเท่ากับยุคนี้
ส่วน สื่อของเอกชน ถ้าเจ้าของสื่อพยายามรักษาอุดมการณ์และจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ก็เป็นไปได้ว่าเสรีภาพของการเสนอและวิเคราะห์ข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นอื่นๆ จะดำเนินไปในทิศทางที่ปกป้องเสรีภาพของประชาชน แต่ถึงอย่างไรสื่อก็เป็นธุรกิจที่ทำธุรกิจโฆษณากับทั้งธุรกิจภาคเอกชน และงบโฆษณาของภาครัฐ เงื่อนไขทางธุรกิจก็อาจจำกัดเสรีภาพของสื่อได้ โดยเฉพาะในสงครามแห่ง “สี” สื่อที่ต้องคำนึงถึงลูกค้าจากทุกสีอาจไม่กล้าพอที่จะเปิดพื้นที่ให้กับ “ความจริง” หรือ “ความเห็น” ของสีใดสีหนึ่ง หรือเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองสีโต้แย้งกัน
ข้อจำกัด อีกอย่างคือ สื่อเป็น “พื้นที่ความเห็น” ของคนเพียงไม่กี่คน คือคอลัมนิสต์ไม่กี่คน แม้พื้นที่เปิดนอกเหนือจากคอลัมนิสต์ก็เป็นพื้นที่ความเห็นของคนมีชื่อเสียง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าคนธรรมดาสามัญ โนเนม หรือคนชั้นล่างแทบไม่ได้มีโอกาสใช้พื้นที่สื่อเหล่านี้เสนอความเห็นของตัว เอง
ที่แย่กว่านั้นคือ สื่อบางสื่อถึงขนาดมีกฎว่า ห้ามเสนอข่าว ความคิดเห็น บทความของบุคคลชื่อนั้นชื่อนี้ หรือของคนสีนั้นสีนี้ และที่แย่หนักเข้าไปอีกคือเวลาสื่อบางสื่อลงข้อคิดเห็น หรือบทความวิพากษ์วิจารณ์บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปแล้ว พอมีบทความหรือข้อคิดเห็นอีกด้านที่อธิบายข้อเท็จจริงและเหตุผลของผู้ถูก วิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความเสียหายไปแล้วนั้น สื่อ (ที่อ้างว่าเป็น “สื่อคุณภาพ” ด้วยซ้ำ) ก็ไม่นำเสนออีกด้านเฉยเลย ซึ่งตัวอย่างพื้นๆ เหล่านี้มันแสดงให้เห็นว่า “เสรีภาพสื่อ” ไม่อาจแทน “เสรีภาพประชาชน” ได้
ประการที่สอง ที่ว่าการปฏิรูปสื่อต้องให้สื่อตรวจสอบกันเองนั้น ก็มีข้อจำกัดมาก เพราะวัฒนธรรม “แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน” เป็นวัฒนธรรมที่แข็งของวงการสื่อ ไม่ต่างจากวงการอื่นๆ คนในวงการสื่อวิจารณ์คนอื่นได้หมดนอกจากคนในวงการตนเอง ปัจจุบันนี้เห็นมีวิจารณ์กันบ้าง แต่วิจารณ์ด้วยเงื่อนไขแห่ง “สี” ไม่ใช่วิจารณ์ด้วยเงื่อนไขของการปกป้อง/ไม่ปกป้องเสรีภาพประชาชน
ที่ น่าเศร้าคือ เวลาที่สื่อด้วยกันถูกคุกคามเสรีภาพ มีสื่อฉบับไหนบ้างที่ “ทำข่าว” เชิงเจาะลึกในเรื่องดังกล่าว ที่เห็นกันอยู่คือเสนอข่าวแบบผ่านๆ ไม่ขึ้นหน้าหนึ่งเหมือนข่าวดาราทำผู้หญิงท้องด้วยซ้ำ!
ผม แปลกใจมากว่า ทำไมเมื่อสื่อถูกคุกคามเสรีภาพ เช่น กรณี ผอ.ประชาไท ถูกจับด้วยข้อกล่าวหาทำผิดกฎหมายหมิ่นฯ ทำไมสื่อที่ต่างก็ชูคำขวัญว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” ไม่ทำข่าวแบบเจาะลึก เช่น ไปสัมภาษณ์ผู้ถูกจับกุม องค์กรสิทธิมนุษย์ชน ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ว่ามีความเห็นอย่างไรกับกฎหมายหมิ่นฯ เอาเนื้อหากฎหมายหมิ่นฯ มาวิพากษ์ว่ามันเป็นกฎหมายละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่จะพูดความจริงของ ประชาชนหรือไม่?
หรือ ไปถามนักนิติปรัชญาว่า กฎหมายเช่นนั้นเป็นกฎหมายที่ยุติธรรมหรือไม่? ถ้านึกไม่ออกว่าจะไปถามใคร ก็ไปถามคณะกรรมการปฏิรูประเทศ เช่น คุณอานันท์ ปันยารชุน คุณหมอประเวศ วะสี นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ได้ว่า สมควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นหรือไม่? เพราะคนเหล่านี้ต่างก็เคยเรียกร้อง “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” มาเป็นสิบๆ ปี แล้วการปฏิรูปประเทศถ้าไม่เปลี่ยน “โครงสร้างอำนาจ” หรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพูดความจริงของประชาชน ภาษีประชาชนที่เป็นค่าปฏิรูปฯ 60 ล้านบาท จะเสียเปล่าไหม?
สื่อ อย่างประชาไทพยามเป็นอิสระจาก “ทุน” หรือไม่สังกัดนายทุนใดๆ ที่จะมีอำนาจบงการทิศทางการทำหน้าที่สื่อ และพยายามเปิดพื้นที่เสรีภาพสำหรับทุกความเห็นจริงๆ นำเสนอข้อเท็จจริงบางเรื่องที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าเสนอ ฯลฯ ซึ่งความพยายามเหล่านี้คือความพยายามขยายพื้นที่เสรีภาพของประชาชน
“การ ขยายพื้นที่เสรีภาพ” มันต่างจากการพยายาม “ให้ปัญญา” ตรงที่อย่างหลังคุณรวบเสรีภาพไว้ที่ตัวคุณ แล้วก็ใช้เสรีภาพในการนำเสนอความคิดของคุณอย่างเต็มที่ และเสนออย่างผู้อบรมสั่งสอนราวกับว่าเป็น “สื่อศาสดา” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้าง “กลุ่มศาสนิกสื่อ” ที่เลื่อมใสศรัทธาในสื่อนั้นๆ แต่การขยายพื้นที่เสรีภาพคือการขยายพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ใครก็ ได้เข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าวได้
แต่ความเสี่ยงที่ หนักหนาสาหัสของสื่อที่มุ่งขยายพื้นที่เสรีภาพคือ การถูกลงดาบด้วยกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ดาบดังกล่าวนี้มีไว้ใช้เพื่อฟาดฟันฝ่ายที่มีความเห็นต่างทางการเมือง และข้อเท็จจริงก็คือว่าประชาไทเป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกสี เพียงแต่ว่าสีแดงอาจเข้ามาใช้มากกว่า สีเหลืองที่เข้ามาก็ด่าสีแดงได้เต็มที่ นี่คือ “เสรีภาพ” แต่ในที่สุดแล้วคนที่มาใช้พื้นที่ตรงนี้ก็จะรู้เองว่าการใช้เหตุผลน่าสนใจ กว่าการด่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะค่อยๆ พัฒนาไป ไม่ใช่เถียงด้วยเหตุผลไม่ได้ ด่าสู้ไม่ได้ แล้วจะเรียกหาดาบมาฟาดฟันอีกฝ่าย หรือผู้รับผิดชอบเว็บฯ
แต่ ก็นั่นแหละครับ ตราบที่ยังมีดาบอยู่ มันก็ต้องมีผู้ใช้ดาบอยู่วันยังค่ำ คำถามคือ ถ้าสังคมสังคมหนึ่งอนุญาตให้มีดาบเล่มหนึ่งที่ใครจะใช้มันฟาดฟันคนอื่นๆ ได้เลย หากเขาเชื่อว่า ตีความว่า เห็นว่า บุคคลคนนั้น (ที่ทำมาหากิน มีภาระรับผิดชอบจิปาถะ) เหมือนเขานี่แหละไปพูดความจริงด้านที่ไม่บวกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สังคมนี้ นับถือ และมันก็เป็นไปได้สูงมากว่าดาบอันนี้จะถูกใช้ฟาดฟันศัตรูทางความคิด ศัตรูทางการเมือง และ ฯลฯ สังคมเช่นนี้จะเป็นสังคมที่น่าอยู่ไหม? การที่รัฐยื่นดาบให้ประชาชนทุกคนใช้ประหัตประหารเสรีภาพกันได้ มันคือการยื่นหลักประกันความสงบสุขของสังคมหรือ?
หรือ หากมองลึกลงไปถึง “แก่นสาร” (essence) ความเป็นคนคือ “การมีเสรีภาพ” กฎหมายหมิ่นฯ เป็นกฎหมายที่ขัดแย้งกับ “ความเป็นคน” ดังกล่าวนี้หรือไม่? สื่อหากจะยังยืนยันคำขวัญ “เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพประชาชน” ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องความเป็นคนดังกล่าวนี้อย่างหนักแน่นเพียงใด?
โดยเฉพาะเมื่อสื่อด้วยกันเองที่พยายามยืนยันเสรีภาพของประชาชน ต้องถูกละเมิดเสรีภาพ สื่อทั้งหลายทำอะไรกันอยู่???!

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker