รายงานพิเศษ
1.สิริพรรณ นกสวน 2.กิตติศักดิ์ ปรกติ 3.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร 4.ทวี สุรฤทธิกุล |
เพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร
ชู ธงเพื่อช่วยเหลือผู้มาร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วยบริสุทธิ์ใจ โดยไม่เกี่ยวกับนักการเมืองสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 รวมทั้งแกนนำม็อบต่างๆ
ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยต่างวิจารณ์ว่าทำโดยมี วาระซ่อนเร้นทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียง การช่วยเหลือตำรวจ ทหาร และพวกพ้องของตนเอง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา
และต่อจากนี้คืออีกมุมมองหนึ่งของนักวิชาการต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภูมิใจไทย
สิริพรรณ นกสวน
อาจารย์ภาควิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
กฎหมาย นิรโทษกรรมเป็นเกมทางการเมืองที่ไร้ราคามากหากจะนิรโทษกรรมไทยมุงซึ่งเป็น พวกที่ไม่มีความผิดอยู่แล้ว จะไปนิรโทษกรรมทำไม เพราะยังไม่มีกระบวนการทางกฎหมายตัดสินว่าใครผิดใครถูก
เรื่องนี้จึงไร้สาระมาก เป็นเรื่องที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังว่าการเสนอให้นิรโทษกรรมกำลังทำอะไร เป็นการต่อรองกลบเกลื่อนอะไรอยู่
การนิรโทษกรรมที่เสนอมาจึงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเนื้อ หายังไม่ชัดเจน ตรรกะก็ยังไม่ชัดเจน อาจมีการหมกเม็ดอะไรอยู่
อีก ทั้งประชาชนไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง-เสื้อแดงที่ไปร่วมชุมนุม ยังไม่มีใครถูกตัดสินโทษเลย ซึ่งการนิรโทษกรรมคือต้องเป็นการตัดสินโทษแล้ว แต่นี่ยังไม่มีกล่าวโทษ สังคมตอนนี้กำลังมืดบอด จึงหันมาเสนอ มาพูดถึงเรื่องนี้กัน
ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดถึง ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลย แต่จะพูดเมื่อการดำเนินคดีพิจารณาเสร็จแล้วค่อยมาคิดกัน แต่เท่าที่มองปัญหาขณะนี้แล้ว ไม่น่าจะไปได้
การนิรโทษกรรมต้อง เป็นการเห็นพ้องต้องกัน แต่ในสถาน การณ์ที่เกิดความแตกแยกขัดแย้งแล้วยังนิรโทษกรรม จะทำให้ยิ่งแตกแยกขัดแย้งกันมากขึ้น
เพราะจะไม่ผิดทั้งคู่ไม่ได้ สังคมจะไม่มีทางเดิน
กิตติศักดิ์ ปรกติ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การ นิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับประชาชนนั้น ขณะนี้คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างไม่เรียกร้องให้ตัวเองได้รับนิรโทษกรรม เพราะต้องการพิสูจน์ความถูกผิด
ขณะเดียวกันประโยชน์ของรัฐในเรื่อง ความมั่นคงคืออะไร ถูกก็ว่ากันไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด หากว่าเราไม่ตัดสินถูกผิด จะทำให้ระบบมันเสียหายทั้งหมด
เพราะต่อไป หากว่าใครทำอะไรที่อาจถูกกล่าวหาว่าตัวเองผิด ก็ไปใช้วิธีแบบนักการเมืองแทน นักการเมืองจะเข้ามาแทนที่นักกฎหมาย เข้ามาแทนที่ศาล เข้ามาแทนที่ความถูกผิด
ในที่สุดระบบปกครองที่เราบอกว่าเราปกครองตามกฎหมายก็กลายเป็นปกครองกันตามใจนักการเมือง ทำให้ระบบเสียไป
แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่เห็นชัดเจนว่าไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง อันนี้อนุญาตให้มีนิรโทษกรรมได้
แต่ การนิรโทษกรรมไม่ใช่ไปป้องกันหรือไปแก้ไขไม่ต้องตัดสินคดีที่มีความผิด แต่ว่ามันตัดสินคดีไปแล้วเกิดความไม่เป็นธรรมที่สามัญชน สามัญสำนึก การนิรโทษกรรมก็เป็นไปได้
โดยทั่วไปการนิรโทษกรรมก็ทำเฉพาะกรณีที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งเท่านั้น
ไม่ มีการนิรโทษกรรมที่บอกว่าเป็นเหตุผลทางการเมือง เพราะหากทำแบบนี้บ่อยๆ เท่ากับว่า การเมืองเข้าแทนที่กฎหมาย ในที่สุดก็ไม่ได้ปกครองโดยกฎหมายแต่ปกครองโดยอำนาจการเมือง เป็นสิ่งที่เราต้องการขจัดออกไป ต้องปกครองโดยหลักถูกผิด
หลัก นิรโทษกรรม คือ เมื่อทำแล้วความเป็นธรรมมันปรากฏขึ้นหรือชัดเจนขึ้น แต่ถ้าทำแล้วทำให้ความเป็นธรรมหรือความถูกผิดมันเลอะเลือน อันนี้มันไม่ใช่การปกครองโดยกฎหมาย
อย่างกรณีมีการตัดสินคดีที่ ผิด คดีมันถึงที่สุดไปแล้ว ปรากฏหลักฐานว่าศาลตัดสินผิด กฎหมายบอกว่าให้ศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ และอาจต้องใช้เวลา ก็อาจใช้วิธีนิรโทษกรรมได้
แต่นิรโทษกรรมแล้วไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก มันก่อให้เกิดผลเสียหาย
ฉะนั้นเหตุผลการนิรโทษกรรมก็คือเหตุผลทางการเมือง ซึ่งผู้ที่เสนอเข้ามาต้องการหาเสียงมากกว่า
อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์
ขณะ นี้คนเข้าใจว่าการนิรโทษกรรมคือยกโทษให้ทั้งหมด ลักษณะที่ทำมันเหมือนจะนิรโทษกรรมผู้บริสุทธิ์ หากเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ไม่มีโทษอยู่แล้ว มันอยู่ที่ว่าเมื่อบริสุทธิ์จริง ศาลคงไม่ฟ้อง
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าพรรคภูมิใจไทยคิดอะไร เป็นการโยนหินถามทางแล้วต้องการอะไร ต้องถามนายเนวิน ชิดชอบ และนายบรรหาร ศิลปอาชา ว่าจริงๆ แล้วต้องการอะไร
จะได้ชื่อเสียงกับคนอีสานหรือไม่ หรือผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมแล้วจะทำให้ภาพพจน์ตัวเองดีขึ้น
คิด ว่าเหตุผลที่อ้างในการเสนอนิรโทษกรรมนั้นไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง ถ้านิรโทษกรรมจริงๆ ต้องชัดเจนว่าลบทั้งหมดหรือไม่ ตั้งแต่ฝ่ายเสื้อเหลืองบอกว่าไม่ต้องการปรองดอง เพราะมันเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว
ดังนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าขณะนี้คนไม่พูดความจริง สื่อนำความไม่จริงมาเสนอ สังคมก็เข้าใจผิดกันใหญ่ อยู่ที่ว่าคนเสนอนิรโทษกรรมมันมีอะไรอยู่ในใจหรือไม่ ต้องทำให้ชัดเจน ขณะนี้มันยังไม่แจ่มชัดในการนำเสนอ
หากประชาชนไม่เกี่ยวข้องเขามา ชุมนุมกัน มันจะผิดได้อย่างไร เรื่องนี้มองว่ามันเป็นการหาเสียง หาคะแนนนิยม และเป็นการหวังดี อยากให้เกิดความสงบสุขในประเทศ แต่มันไม่ชัดเจนคนเลยเข้าใจไม่ตรงกัน เหลืองก็ไม่เอา แดงก็ไม่เอา
ส่วน จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น อยู่ที่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลเพราะมีเสียงมากในสภา และการที่พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ไปพบแกนนำนปช.ในเรือนจำก็คือแสดงให้เห็นว่าหวังดีกับบ้านเมือง ต้องการปรองดอง
แต่การปรองดองมันต้องพูดความจริงออกมา
ทวี สุรฤทธิกุล
อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
หากมีกฎหมายนิรโทษกรรม จะไปยกเลิกกระบวนการยุติธรรมบางส่วน เพราะมีบางคดีที่ดำเนินการอยู่ ทำให้คนที่จะสนับสนุนรู้สึกลำบากใจ
ถ้า เป็นคดีที่ยังไม่เข้าสู่ศาล คงไม่เป็นไร น่าจะกระทำได้ แต่คดีที่เข้าสู่ศาลก็ต้องพิจารณา แต่หลักกฎหมายเป็นคุณ ส่งผลย้อนหลังให้ผู้เสียหายโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
ผมเห็นด้วยหาก นิรโทษกรรมประชาชนคนบริสุทธิ์ที่ไปชุมนุมตามกระแส ไปแบบไทยมุง ไปด้วยความเห็นใจกัน ต้องดูว่าเข้ากรอบความผิดหรือไม่ มีการถืออาวุธ ไปตีใครบาดเจ็บหรือไม่
ถ้าอาวุธที่ใช้เป็นอาวุธสงครามก็เป็นความ รุนแรงแน่นอน แต่ถ้าใช้ไม้ หนังสติ๊ก อาจเป็นการแสดงอารมณ์ทั่วไปไม่ร้ายแรง คนที่ไปร่วมเย้วๆ ไม่ได้ตั้งใจเจตนาก่อเหตุความรุนแรง อาจถูกชักจูง ล่อลวงให้กระทำความรุนแรง ไม่น่าเข้าข่ายผิด
แต่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคนมีคดีความ เป็นแกนนำ ตัวการ ส่วนนี้น่าจะได้รับโทษก่อนค่อยขออภัยโทษทีหลัง
การ พยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ไม่มีการนิรโทษกรรมนักการเมือง ผมมองว่าค่อนข้างลำบาก เพราะกลัวจะมีการหมกเม็ด สร้างเงื่อนไขอะไรหรือไม่
เสื้อแดงห่วงว่า จะมีการอภัยโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ผู้สั่งการ นายกฯ ศอฉ. ยกโทษให้หมด เพราะหากจะเขียนยกเว้นจะน่าเกลียดและเป็นไปได้ยาก
การ นิรโทษกรรมคนบริสุทธิ์ตอนนี้ หากทำได้เร็วก็น่าจะเหมาะ หากปล่อยไปยิ่งสร้างความขุ่นข้องหมองใจ โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกไล่ล่า ไม่เป็นอันกินอันนอน
ถ้ารัฐบาลตกลงกันได้ พรรคภูมิใจไทยคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ น่าจะประกาศนโยบายยกโทษให้คนที่ไม่ได้ก่อความรุนแรง ส่วนคนที่ก่อเหตุรุนแรง ยังยืนยันว่าต้องรับผิด ต้องชี้แจงว่ากระบวนการจะทำอย่างไร
รัฐบาลต้องกล้าหาญในการผลักดันให้เกิดความสงบสุข โดยนิรโทษกรรมให้กับคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย