บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

‘ปฏิทรรศน์’ ในคำสอนของพุทธศาสนา

ที่มา ประชาไท

คำ สอนของพุทธศาสนามากไปด้วยลักษณะ “ปฏิทรรศน์” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า paradox หรือ ลักษณะย้อนแย้งในตัวเอง เช่น พุทธศาสนาบอกว่าสรรพสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่อาจยึดถือได้ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา แต่พุทธศาสนาก็บอกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

แต่ที่ จริงลักษณะย้อนแย้งในตัวเองก็มีอยู่ในความรู้อื่นๆ ด้วย เช่นLeontief'sparadox คือ ปัญหาว่าทำไมประเทศที่อุดมด้วยปัจจัยทุนจึงมีการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงาน เป็นหลัก Giffen'sparadox ปัญหาว่าทำไมบางสินค้า ยิ่งขึ้นราคา คนยิ่งซื้อ (เช่น ขนมปัง ในยามสงคราม) Diamond-waterparadox (paradox of value) ปัญหาว่าทำไมน้ำจึงถูกกว่าเพชร ทั้งๆ ที่คนต้องการน้ำมากกว่า
ฉะนั้น ภาวะย้อนแย้งในตัวเองไม่ใช่ปัญหาที่อธิบายไม่ได้เสมอไป และนอกจากจะอธิบายได้แล้ว ดูเหมือนพุทธศาสนาจะยืนยันด้วยซ้ำไปว่า สัจธรรมหรือความจริงมันมีลักษณะปฏิทรรศน์ หรือย้อนแย้งในตัวเองเช่นนั้นเอง (ตถตา)
เช่น โดยความจริงตามกฎธรรมชาติ (ไตรลักษณ์) สรรพสิ่งเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่อาจยึดถือได้ว่าเป็นตัวฉัน หรือของฉัน เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้น แปรเปลี่ยน และเสื่อมสลายไปตามวิถีทางของธรรมชาติ แต่ทว่าการที่จะเข้าถึงหรือรู้แจ้งความจริงตามกฎธรรมชาติดังกล่าวที่มีผลต่อ การสลายความยึดถือว่ามีตัวฉัน ของฉันได้ จำเป็นต้องเดินตามหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่างเข้มงวด
ถึงตรงนี้มัน มีสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” ที่พูดถึงได้สามความหมายแล้ว 1) ในความหมายทางอภิปรัชญา หรือ “ปรมัตถสัจจะ” สรรพสิ่งเป็นอนัตตาไม่มีตัวตนที่อาจยึดถือว่าเป็นตัวฉัน ของฉันได้ 2) ในความหมายตามสมมติ หรือ “สมมติสัจจะ” ตัวตนคือ “จินตภาพ” ที่เราสร้างขึ้น และเราก็ยึดมั่นว่าตัวตนตามจินตภาพนั้นคือตัวฉัน หรือตัวตนของฉัน และ 3) ตัวตนทางศีลธรรม (moral self) คือ ตัวตนในความหมายของ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ซึ่งได้แก่คุณลักษณะทางจิตปัญญาบางอย่าง ที่สามารถเข้าใจสัจธรรมตามกฎธรรมชาติ และสลายความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน ของฉัน ได้
ตัว ตนในสามความหมายนี้ มีลักษณะย้อนแย้งในตัวเองอย่างชัดเจน แต่ลักษณะย้อนแย้งมันคือความจริงตามกฎธรรมชาติใช่หรือไม่ เช่น ธรรมชาติสร้างชีวิตเรามาให้ต้องแก่ เจ็บป่วย และตาย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ธรรมชาติก็สร้างจิตใจเราให้มีเสรีที่จะไม่ยอมรับความจริงนั้น ฝืน หรือต่อต้านความเป็นจริงนั้น คนเรานั้นรู้ทั้งรู้ว่าผลสุดท้ายของการดิ้นรนเพื่อที่จะมีจะเป็น หรือยื้อแย่ง แข่งขัน กดขี่เบียนเบียนกันและกันคือ “ความว่างเปล่า” แต่ชีวิตจริงก็ดำเนินไปเช่นนี้ ขัดแย้งกับวิถีของธรรมชาติเช่นนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย และโลกก็ถูกออกแบบให้เป็นเวทีแห่งการดิ้นรน แข่งขันกันเช่นนี้ตลอดมา
ความ จริงแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์ก็ยิ่งมีลักษณะย้อนแย้งในตัวเองอย่างซับซ้อนยิ่ง มนุษย์เป็น “สัตว์ที่มีเหตุผล” จริงหรือ? ทำไมในนามของพระเจ้า ในนามของศาสนา ศีลธรรม เราจึงมีสงครามและการเข่นฆ่า บางครั้งมนุษย์ก็ทำสงครามในนามของความรักและสันติภาพ มนุษย์ปรารถนาความมั่นคงและสันติภาพ แต่เขาก็สร้างอาวุธและสิ่งที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงและสันติภาพขึ้นมามาก มาย มนุษย์อาจจะสาดห่ากระสุนและทิ้งระเบิดถล่มฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยม ขณะเดียวกันเขาก็หลั่งน้ำตาให้กับการบาดเจ็บและความตายของพวกเดียวกัน
ภาวะ ย้อนแย้งในตัวเองแห่งธรรมชาติของมนุษย์ดังกล่าวเป็นต้นนี้ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ภาวะขัดแย้งในตัวเอง” (self conflict) ที่พุทธศาสนาอธิบายว่าเป็น “ทุกขสัจจะ” ของชีวิตและโลก คือชีวิตและโลกมันก็เป็นของมันเช่นนี้ ดำเนินไปบนความทุกข์หรือความขัดแย้งเช่นนี้
แต่ พุทธศาสนาก็มองว่า ทุกขสัจจะเป็นความจริงที่เราต้องเผชิญ เรียนรู้และอยู่กับมันหรือจัดการกับมันอย่างตรงตามเงื่อนไขหรือเหตุปัจจัย เช่น ทุกข์ในทางจิตใจเป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลควรสร้างคุณลักษณะทางจิตปัญญา บางอย่างเพื่อสลายความรู้สึกยึดมั่นในตัวฉัน ของฉัน ทุกข์ทางสังคมเป็นเรื่องที่สังคมต้องสร้างระบบหรือกติกาที่ยุติธรรมในการ อยู่ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม โดยที่พุทธศาสนามีพัฒนาการมาภายในบริบทของสังคมแบบราชาธิปไตย ซึ่งความมั่นคงของพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับ “ราชูปถัมภ์” ในเรื่องการแก้ทุกข์ทางสังคม คำสอนพุทธศาสนาจึงถูกนำเสนอ และตีความสนับสนุนความสำคัญของ “ตัวบุคคล” มากกว่าความสำคัญของ “ระบบ” คือความสงบสุขของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับคุณธรรมของตัวบุคคลที่เป็น “ธรรมราชา” หรือผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
แต่เราอาจเข้าใจได้ ว่า ในยุคที่พระราชามีอำนาจสูงสุด หรือมีสถานะเป็นเสมือน “รัฐ” นั่นอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พุทธศาสนาจะเสนอหลักศีลธรรมสำหรับผู้ปกครอง เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองในยุคนั้นๆ
เมื่อ ปัจจุบันนี้ โลกเปลี่ยนไปแล้ว สังคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องการ “ระบบที่ดี” ที่สร้างขึ้นบนหลักเสรีภาพ และความเสมอภาค หากพุทธศาสนายังเสนอหลักศีลธรรมทางการเมืองเหมือนสมัยราชาธิปไตย คือเสนอเพื่อ “ยกย่องตัวบุคคลเหนือระบบ”
เช่น อ้างเรื่อง “เผด็จการโดยธรรม” ที่ถือว่า ผู้ปกครองที่มีคุณธรรมหรือธรรมราชาสามารถใช้อำนาจเผด็จการเพื่อให้เกิดความ ถูกต้อง หรือเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้ เป็นต้น ก็จะกลายเป็น “ข้อเสนอผิดยุค” ที่อาจสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ดังในความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นมา ฝ่ายพันธมิตรมีการอ้างวาทกรรม “เผด็จการโดยธรรม” ของท่านพุทธทาสเป็นวาทกรรมหลักอย่างหนึ่งในการต่อสู้เรียกร้อง “อำนาจพิเศษ” เข้ามาแก้ปัญหาการเมือง เป็นต้น
แท้จริงแล้ว คำสอนของพุทธศาสนามีลักษณะปฏิทรรศน์หรือ “ย้อนแย้งในเชิงความหมาย” ในหลายเรื่องมาก หากไม่พิจารณาให้ดี เราอาจนำสิ่งที่ “ย้อนแย้งเชิงความหมาย” มาสร้าง “ความขัดแย้งกับโลกที่เป็นจริง” หรือ “โลกที่ควรจะเป็น” ได้ง่ายๆ หรืออย่างไม่มีเหตุผลได้เช่นกัน

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker