มติชน 1 ตุลาคม 2555 >>>
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดงาน 2 ปี นิติราษฎร์ 6 ปีรัฐประหาร โดยบรรยากาศมีการตั้งหุ่นจำลองด้านหน้าหอประชุม และนำทองแผ่นมาปิดที่รูปดังกล่าวเพื่อเป็นการระลึกถึง และมีการเปิดวีทีอาร์ คำสัมภาษณ์ นายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังในครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร และผูกคอตายในเวลาต่อมา จากนั้นมีการกล่าวสดุดีลุงนวมทอง โดยนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว เรื่องนักกฎหมายไทยกับรัฐประหารว่า นักกฎหมายไทย กับรัฐประหารก็เหมือนผีเน่ากับโลงผุ ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ก็มีนักกฎหมายที่เข้าร่วมร่างประกาศเพื่อบังคับใช้อำนาจ ซึ่งแม้ว่าการก่อรัฐประหารจะทำโดยทหาร แต่ก็ยังใช้ข้าราชการ พลเรือน นักรัฐศาสตร์บริการ มาช่วยในสิ่งที่ไม่ถนัด คือ เรื่องกฎหมาย โดยมีการทำรัฐประหารมาหลายสมัย ซึ่งสมัยจอมพล ป. แม้ว่าจะบังคับใช้อำนาจแต่ก็ยังอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่เมื่อเข้าสู่สมัยจอมพลสฤษดิ์ มีการใช้อำนาจเผด็จการ มีการฆ่าประชาชน โดยทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย และทำให้เกิดความผิดเพี้ยนของอำนาจไปหลายอย่าง
หลายครั้งจากการรัฐประหารที่เห็น มักพบว่า นักกฎหมายที่เข้ามานั่งดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี เป็นนักเทคนิคด้านอธิปไตย ซึ่งเป็นคนเชื่อมรอยต่อของเผด็จการและประชาธิปไตย การรัฐประหารแต่ละครั้ง จึงเห็นคนเหล่านี้เข้ามาทำงาน ทำให้การเปลี่ยนระบอบการปกครองมีความลื่น เนียน โดยอาศัยคำว่า เป็นการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกัน ส่งผลให้การรัฐประหาร กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดาของการปกครองแบบไทย
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวเสวนาการรัฐประหารกับรัฐธรรมนูญว่า เมื่อ 19 ก.ย. 2554 ได้ตั้งคณะนิติราษฎร์ขึ้น เพื่อให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย แม้จะมีคนสนใจ แต่ก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อย้อนไปปีก่อน มีการเสนอการเอาผิดผู้ทำรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นข้อเสนอแรก จากนั้น ก็มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 มีการเข้าชื่อและอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ นับรายชื่อ เพื่อเข้าสู่การบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาของสภา จากนั้น มีข้อเสนอเพิ่มเติมทางกฎหมาย เรื่องการล้างนิรโทษกรรม และการปรองดอง เพื่อไม่ให้มีการนิรโทษคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ราชประสงค์ ส่วนข้อเสนอยุบศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นข้อเสนอที่หายไปอย่างรวดเร็ว ขอยืนยันว่า ข้อเสนอดังกล่าวทำอย่างรอบคอบ เพราะหากยังมีศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ไม่สามารถเดินหน้าได้
“สิ่งที่จะทำต่อไป คือ การเสนอข้อเสนอต่างๆ บนพื้นฐานหลักการทางวิชาการ ซึ่งคณะนิติราษฎร์ ไม่มีอำนาจทางการเมือง ทำให้ไม่สามารถผลักดันให้กลายเป็นกฎหมายได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตนจะไม่เลิกเพื่อหวังว่าจะมีประโยชน์ในวันข้างหน้า โดยประชาชนต้องช่วยกันเผยแพร่ เพื่อให้ฝ่ายการเมืองสนใจและตราเป็นกฎหมายต่อไป เช่น การล้างนิรโทษกรรม หากมีการทำรัฐประหารขึ้นอีกก็จะมีการทำนิรโทษกรรมขึ้นอีก โดยสื่อกระแสหลักละเลยการนำเสนอเรื่องผลพวงรัฐประหาร เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อการปรองดอง ซึ่งการปรองดอง ควรทำบนพื้นฐานที่ถูกต้อง ไม่ละเลยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ทั้งนี้กิจกรรมที่จะทำต่อเมื่อเข้าปีที่ 3 คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญต้นฉบับ เพื่อนำเสนอต่อไป
นายวรเจตน์ กล่าวว่า การรัฐประหารในระบบกฎหมายไทย ทำให้เกิดประเพณีว่า เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว ถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อออกกฎเกณฑ์มา ก็ต้อปฏิบัติตาม โดยนักกฎหมายไม่แยกแยะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการแย่งชิงอำนาจออกจากกัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหา เมื่อนิติราษฎร์ เสนอให้ล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร จึงมีเสียงค้านและให้นิติราษฎร์กลับไปค้านตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครั้งแรก ดังนั้น เพื่อให้สังคมเดินไปข้างหน้า ถ้าต้องการรัฐธรรมนูญเชิงสร้างสรรค์ เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันการเมือง สถาบันตุลาการ ศาล องค์กรอิสระ สถาบันทหาร โดยทุกอย่างต้องทำพร้อมกัน หากอยากมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ปฏิเสธไม่ได้ ว่า จะต้องเอาข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้ย้อนนำรัฐธรรมนูญก่อนปี 2490 มาเป็นต้นแบบ ซึ่งเชื่อว่ามีคนไม่เห็นด้วยแต่ต้องฟังเสียงของหลายๆคนเพื่อนำไปสู่การ เปลี่ยนแปลง
น.ส.สาวตรี สุขศรี นักวิชาการนิติราษฎร์ กล่าวว่า คอป.ควรเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการแอบอ้างความเป็นกลาง เพื่อรับรองความชอบธรรม ให้มีการปราบปรามประชาชน ซึ่งจากการอ่านรายงานของคอป.เกือบ 300 หน้า มีข้อสงสัย คือ คอป.ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลที่มีผลพวงจากรัฐประหาร ซึ่งจะมีความเป็นกลางในการตรวจสอบอย่างไร โดยครึ่งหนึ่งของรายงานอธิบายถึงปัญหา มากกว่าข้อเสนอที่จะทำให้เกิดความปรองดรอง ข้อสงสัยต่อมา คือ ความเป็นกลางของหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่พูดว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีความไม่เป็นกลางหลายคดี แต่กลับระบุเพียงคดีซุกหุ้นเพียงคดีเดียว และพบว่า เรื่องการชุมนุมปิดพื้นที่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ก่อให้เกิดปัญหาจำนวนมาก ขณะเดียวกันกลับไม่พูดถึงกรณีคนเสื้อเหลืองปิดสนามบินที่สร้างผลกระทบมหาศาล เช่นกัน
น.ส.สวตรี กล่าวต่อว่า ยังพบว่า คอป. บอกว่านักการเมืองคอร์รัปชั่น ในขณะเดียวกันกลับไม่มีการรายงานว่า การคอร์รัปชั่นของศาล องค์กรอิสระ หรือ องคมนตรี ที่มีข้อสงสัยเช่นเดียวกัน หรือ เรื่องชายชุดดำ ทำไมไม่มีใครชี้ว่าเป็นฝ่ายใคร ทั้งนี้พบว่าการสลายการชุมนุม มีหลักฐานจำนวนมาก ทั้งกระสุน รอยเลือด แต่กลับพบว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ก็มีการล้างเมืองครั้งใหญ่ทันที ทั้งที่มีหลักฐานจำนวนมาก ทั้งนี้มีข้อเสนอของคอป.จำนวนมาก เช่น การยุติความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งการเสนอเหล่านี้ ที่ คอป.มองว่าจะทำให้เกิดความไม่ปรองดองนั้น ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำยังเกิดขึ้นในสังคม ปัญหาของประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไข
(ที่มา:ข่าวสดออนไลน์)