บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

โถ ค.อ.ป-รวย

ที่มา Voice TV

 ใบตองแห้ง Baitonghaeng



ใบตองแห้ง Baitonghaeng

VoiceTV Staff

Bio

คอลัมนิสต์อิสระ


อ่านรายงานฉบับเต็มของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.)  แล้วผมก็อุทานออกมาอย่างช่วยไม่ได้ว่า “โถ ค.อ.ป-รวย” (ก็ใช้เงินไปตั้ง 65 ล้านบาท เหลือ 11 ล้านบาท ฮิฮิ)

ที่โวยอย่างนี้ไม่ได้บอกว่ารายงานฉบับนี้เป็นเท็จ หรือบิดเบือนเสียทั้งหมด ตรงข้าม รายงานบางส่วนสรุปความจริงได้ค่อนข้างกระจ่างแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 2.3 ข้อค้นพบเฉพาะกรณีในการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ชุมนุมเกือบทั้งหมดเสียชีวิตเพราะกระสุนที่ยิงมาจากทางฝ่าย ทหาร

แต่ปัญหาอยู่ที่การนำเอาความจริงดังกล่าวมาตีความ โดยละเลยความรับผิดชอบของรัฐบาล และ ศอฉ.ผู้ออกคำสั่ง “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับพื้นที่”

รายงานบางส่วนเหมือนจะ “ดูดี” เช่น กล่าวถึงสาเหตุของปัญหา โดยวิพากษ์วิจารณ์หลักนิติธรรมตั้งแต่คดีซุกหุ้นมาจนถึงรัฐประหารตุลาการภิ วัตน์ แต่มีคำถามว่าเหตุใด จึงให้น้ำหนักกับคดีซุกหุ้น คดีฆ่าตัดตอน มากกว่ารัฐประหาร และการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ซึ่งตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ทำให้มวลชนเสื้อแดงโกรธแค้นเพราะถูกปล้นอำนาจ จึงลุกฮือ

ยิ่งกว่านั้น ส่วนที่ชวนให้ร้อง “ป-รวย” ที่สุดคือ เหตุใด อ.คณิต ณ นคร จึงหันมาเรียกร้องให้ทักษิณ “วางมือ” แต่ผู้เดียว เหตุใด อ.คณิตจึงไม่เรียกร้อง “ชนชั้นนำ” อีกฝ่าย ตุลาการ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ตลอดจนพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฯ ให้ “วางมือ” หรือ “ลดราวาศอก” ลงบ้าง

ย้ำว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัว อ.คณิตนะครับ ไม่อยู่ในรายงาน แถมยังขัดกับรายงานที่พยายามชี้ว่า “ผิดทั้งคู่” แต่ประธาน คอป.เอามาแถลงขโมยซีน มันจึงเป็นอะไรที่ “ป-รวย” มาก

1.ความจริงเรื่องชายชุดดำ

ผมไม่เคยตะแบงเรื่องชายชุดดำ เพราะเขียนมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์แล้วว่าชายชุดดำมีจริงในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ส่วนช่วงระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม ก็มี “กองกำลัง” คุ้มกันเส้นทางขนส่งเสบียงเข้าสู่ม็อบที่บ่อนไก่ ผมเคยระบุด้วยซ้ำไปว่า นอกจากกลุ่มมือยิงเอ็ม 79 ที่ถูกมองว่าเป็นลูกน้องเสธแดง รอบๆ ม็อบยังมีมาเฟียทหารนอกราชการ นักเลงในสังกัดเจ้าพ่อย่านประตูน้ำ ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องคละกันไปแต่ละเหตุการณ์ (แต่ใครจะเป็นชายชุดดำในเหตุการณ์ไหนก็ไม่สามารถยืนยันได้)

ฉะนั้นผมจึงเห็นว่า รายงานของ คอป.ข้อ 2.3 ที่สื่อเอาไปตีปี๊บว่า “ชายชุดดำมีจริง” นั้นกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะรายงาน คอป.ส่วนที่มาจากการพิสูจน์หลักฐานและงานนิติวิทยาศาสตร์ ระบุชัดเจนว่า “ชายชุดดำ” ไม่ได้ยิงใส่มวลชนเสื้อแดง แม้แต่ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ที่พรรคประชาธิปัตย์และ ศอฉ.กล่าวหาว่า “ชายชุดดำ” เป็นผู้ยิงใส่ทั้งสองฝ่าย คอป.ก็ชี้ว่าผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากฝ่ายทหารต่างหาก ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นก็ถูกทหารยิง

เหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผู้สื่อข่าวอิตาลีเสียชีวิต คอป.ก็ระบุว่ายิงมาจากทางทหาร เช่นเดียวกับการลอบสังหารเสธแดงประเดิมปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่” ก็ยิงมาจากตึกสูงที่ทหารควบคุม หรือพลทหารที่ถูกยิงเสียชีวิตที่อนุสรณ์สถาน คอป.ก็ชี้ว่าฝ่ายเดียวกันเข้าใจผิด

คอป.ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจาก “ชายชุดดำ”  9 คนเท่านั้นคือ ทหาร 6 คน ตำรวจ 2 คน และประชาชนกลุ่มคนรักสีลม 1 คน เกือบทั้งหมดมาจากการยิงเอ็ม 79 ยกเว้นกลุ่ม พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม 4 คนที่ระบุว่าเสียชีวิตเพราะระเบิดมือเอ็ม 67

แม้อันที่จริงจะรู้สึกว่า คอป.รวบรัดไปหน่อยในการสรุปว่าผู้ขว้าง เอ็ม 67 คือ “ชายชุดดำ” (ซึ่งเห็นอยู่คนละด้าน) แต่ถ้าถือข้อสรุปอันนี้ก็แปลว่าผู้ชุมนุมเกือบทั้งหมดจากที่เหลือ 83 ศพ เสียชีวิตจากการยิงของทหาร (คอป.ระบุว่ามีบางศพเสียชีวิตจากกระสุน .22 แม็กนั่มที่ทหารไม่มีใช้ แต่ก็สงสัยว่าอาจเป็นชาวชุมชนบ่อนไก่ที่ไม่พอใจผู้ชุมนุม)

ฉะนั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่าทหารไม่ได้ยิงใคร หรือที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามกล่าวอ้างว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพราะชายชุดดำ “ยิงกันเอง” จึงถูกจับเท็จด้วยรายงาน คอป.ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งมานี่เอง

รายงาน คอป.ชี้ชัดว่า ผู้เสียชีวิต 8 รายที่เสียชีวิตที่สี่แยกคอกวัว 5 รายที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และช่างภาพญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 เมษายน ผู้เสียชีวิต 22 รายที่บริเวณศาลาแดง สีลม บ่อนไก่ 20 รายที่ถนนราชปรารภ ดินแดง อนุสาวรีย์ชัย ระหว่างวันที่ 13 ถึง 18 พฤษภาคม และผู้เสียชีวิต  4 ศพบนเส้นทางกระชับพื้นที่ถนนราชดำริ พร้อมช่างภาพอิตาลี และ 6 ศพที่วัดปทุม เกือบทั้งหมดถูกยิงโดยกระสุนสงครามที่วิถีกระสุนมาจากฝ่ายทหาร

แม้กรณี 6 ศพที่วัดปทุมจะอ้างว่ามีการต่อสู้ ตั้งข้อสงสัยว่า 2 ใน 6 เป็นผู้ใช้อาวุธยิงต่อสู้ทหาร (ซึ่งรายละเอียดคงมีผู้ถกเถียงต่อไป) แต่รายงาน คอป.ก็ชี้ว่า 3 ใน 6 คือ “น้องเกด” นายอัครเดช ขันแก้ว นายมงคล เข็มทอง ถูกยิงระหว่างจะเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ

นอกจากนี้ คอป.ยังวิเคราะห์ภาพถ่ายทหารยิงปืนที่บ่อนไก่ โดยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศชี้ชัดว่าไม่ใช่กระสุนยาง แต่เป็นกระสุนจริง

ผมจึงเห็นว่ารายงาน คอป.ข้อ 2.3 สรุปความจริงในภาพรวมได้ชัดเจนว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ถูกทหารยิง แม้อาจมีข้อโต้แย้งเฉพาะกรณี แต่ปัญหาอยู่ที่ คอป.เอาข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ต่ออย่างไร

2.ยอมรับการตัดสินใจของ ศอฉ.?

ปัญหาคือ จากข้อเท็จจริงในข้อ 2.3 คอป.จงใจตอกย้ำข้อ 2.4 “พฤติการณ์ของคนชุดดำที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธสงคราม โดยปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่ชุมนุม” ทั้งที่เนื้อความก็มีอยู่ในข้อ 2.3 แล้ว เมื่ออ่านทั้งสองข้อเชื่อมกัน รู้สึกได้ว่า คอป.พยายามบอกว่าถ้าไม่มี “ชายชุดดำ” เข้ามาช่วย ผู้ชุมนุมก็คงไม่ตายมากขนาดนี้

เช่น กรณีที่สี่แยกคอกวัว หรือหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถ้าชายชุดดำไม่ยิงใส่ทหาร ทหารก็คงไม่ยิงใส่ผู้ชุมนุม ถ้า พล.ต.วลิต โรจนภักดี ไม่บาดเจ็บ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ไม่เสียชีวิต ทหารก็คงไม่สับสนจนยิงประชาชนตาย

สรุปว่าชายชุดดำไม่ได้ยิงเสื้อแดงหรอก แต่เข้ามาปะปนทำให้ทหารยิงเสื้อแดง (เป็นงั้นไป)

ที่จริงผมก็เข้าใจได้นะ ทหารก็ปุถุชน มีความกลัว มีความตกใจ โดนยิงใส่ก็ยิงตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพื่อนตาย นายตาย แต่การยิงใส่บริเวณที่มีผู้ชุมนุมหนาแน่น เพียงเพราะเห็น “ชายชุดดำ” ถืออาวุธอยู่ไม่กี่คน คอป.จะโทษว่าเพราะเมริงนั่นแหละ ชายชุดดำ เมริงผิด อย่างนั้นหรือ

หรือในการกระชับพื้นที่ราชประสงค์ คอป.ก็พยายามบ่งบอกว่า เพราะชายชุดดำทำให้ทหารชุลมุน สับสน หวาดกลัว จนยิงคนชุดแดงตายเป็นเบือ (ที่บ่อนไก่ถ้าไม่เผายางรถยนต์จนทัศนวิสัยมืดมัว ทหารก็คงไม่ยิงผิด)

ถามว่าเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม มีคนเห็นชายชุดดำชัดเจนที่ไหนบ้าง โอเค ที่บ่อนไก่ นั่นออกมาดวลกับทหารซึ่งหน้าเลย (พื้นที่ตรงนี้เชื่อกันว่าเป็นมาเฟียทหารนอกราชการ) นอกนั้นก็มีผู้ที่ซุ่มยิงเอ็ม 79 ออกมาจากสวนลุมพินี และผู้ที่ยิงเอ็ม 79 ประปรายทางราชปรารภ ดินแดง

แต่ถ้าดูรายงานข้อ 2.3.9 การเสียชีวิตที่ศาลาแดง สวนลุม บ่อนไก่ และ 2.3.10 การเสียชีวิตที่ราชปรารภ ดินแดง แม้อ้างคำบอกเล่ามีคนเห็นชายชุดดำ แต่ตอนที่ผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต ก็ไม่ได้มีชายชุดดำอยู่ใกล้ๆ เลยนี่ครับ เช่น รายงานการเสียชีวิตของนายชาติชาย ซาเหลา, การเสียชีวิตของนายกิตติพันธ์ ขันทอง, นายบุญทิ้ง ปานศิลา, นายสมาพันธุ์ ศรีเทพ, นายอำพล ชื่นศรี, นายชาญณรงค์ พลศรีลา, นายอุทัย อรอินทร์ บนถนนราชปรารภ คอป.ก็ชี้ว่าทิศทางยิงมาจากทหาร โดยไม่ได้บอกว่ามีชายชุดดำอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุมเหมือนวันที่ 10 เมษายน

เช่นเดียวกับการเสียชีวิตของนายธันวา วงศ์ศิริ, น.ส.สัญธนา สรรพศรี, นายมนูญ ท่าลาด, นายชาญณรงค์ พลศรีลา และช่างภาพเนชั่นถูกยิงบาดเจ็บ ก็ยืนยันว่าทหารยิง โดยไม่ได้มีชายชุดดำอยู่แถวนั้น

หรือท่านจะโทษว่าเป็นความผิดของชายชุดดำที่ทำให้ทหารประสาทแดกซ์ เห็นอะไรไหวๆ ยิงหมด

โอเค ผมเห็นด้วยว่าถ้าทหารเข้าขอคืนพื้นที่ หรือกระชับพื้นที่ แล้ว นปช.ไม่ต่อต้าน นั่งพับเพียบให้จับ ก็คงไม่มีใครตาย แต่ไม่แน่ใจว่าถ้า นปช.ต่อต้าน โดยไม่มีชายชุดดำ มีแต่บั้งไฟ ระเบิดปิงปอง หรือปืนสั้น แล้วจะไม่มีใครตายจริงหรือ

อย่าลืมว่าก่อนชายชุดดำโผล่มาในตอนค่ำวันที่ 10 เมษายน มีผู้ชุมนุมตายไปแล้ว 1 ราย คือนายเกรียงไกร คำน้อย ทหารใช้รถสายพานหุ้มเกราะปิดล้อมถนนราชดำเนิน ใช้ ฮ.ทิ้งแก๊สน้ำตา

เหตุใดจึงไม่ย้อนคิดบ้างว่าถึงไม่มีชายชุดดำ การตัดสินใจใช้กำลังทหารขอคืนพื้นที่ หรือกระชับพื้นที่ มันก็นำมาซึ่งความรุนแรงอยู่แล้ว อย่าสรุปง่ายๆ เพียงว่าเพราะปี 2552 ไม่มีชายชุดดำจึงไม่รุนแรง การปะทะกันของทั้งสองฝ่ายในปี 2553 ต่างยกระดับขึ้น อาทิเช่น มวลชนเสื้อแดงมีการจัดตั้งกันล้อมปลดอาวุธทหาร ทำให้ทหารเองก็หันมาใช้ทั้งโล่ กระบอง อาวุธกระสุนจริง

คอป.ไม่ได้วิเคราะห์วิจารณ์ตรงนี้เลย ว่าการตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ การตัดสินใจกระชับพื้นที่ราชประสงค์ สมควรแก่เหตุหรือไม่

คอป.ตกประเด็นใหญ่ จึงเขียนรายงานเสมือนยอมรับว่าการตัดสินใจของ ศอฉ.ถูกต้องชอบธรรมแล้ว

ถ้าเราย้อนลำดับเหตุการณ์ นปช.ชุมนุมที่ผ่านฟ้าตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม แล้วแยกไปยึดราชประสงค์วันที่ 3 เมษายน รัฐบาลซึ่งยอมให้ชุมนุมที่ผ่านฟ้ามาตลอดประกาศว่าการชุมนุมที่ราชประสงค์ผิด กฎหมาย ถัดมาวันที่ 7 เมษายน อริสมันต์นำม็อบปิดล้อมรัฐสภา มีบางส่วนบุกเข้าไปข้างใน รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที แม้การกระทำของอริสมันต์และแกนนำไร้สติชุดนี้ ถูกคัดค้านและประณามจากแกนนำอื่นๆ รวมทั้ง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาในขณะนั้น

ศอฉ.ประกาศปิดพิเพิลแชนเนล ซึ่ง คอป.ระบุว่า สมาคมนักข่าวฯ เองก็ยังคัดค้าน (จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ฮิฮิ) วันที่ 9 เมษายน นปช.หมื่นกว่าคนบุกไทยคม ปลดอาวุธทหารด้วยสองมือเปล่า แต่มอบอาวุธคืนทั้งหมด (ซึ่งต่างจากเหตุการณ์วันรุ่งขึ้น ที่ นปช.ไม่ยอมมอบอาวุธคืน จะเพราะอะไร ก็ไม่มีใครวิเคราะห์ อาจเป็นได้ว่า เป็น นปช.กลุ่มที่คุมไม่อยู่ หรือเป็นเพราะมวลชนตระหนักว่าจะถูกล้อมปราบแล้วก็คิดเอาอาวุธไว้ต่อสู้)

นั่นเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของ นปช.ซึ่งทำให้รัฐบาล “เสียหน้า” จำได้ไหมคืนนั้น อภิสิทธิ์ออกทีวี แสดงท่าทีแข็งกร้าว ทำนองว่าจะ “เอาคืน” แล้ววันรุ่งขึ้น ศอฉ.ก็ส่งทหารออกมาจากกองทัพภาคที่ 1 ขอคืนพื้นที่ผ่านฟ้า ทั้งที่ปัญหาอยู่ที่ราชประสงค์

ข้ามมาที่การกระชับพื้นที่ วันที่ 13-19 พฤษภาคม ก่อนหน้านั้นวันที่ 4 พฤษภาคม ภายหลังการเจรจา แกนนำ นปช. ยอมรับแผนปรองดองของรัฐบาล ซึ่งตกลงจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่วันที่ 15 พฤศจิกายน แต่แกนนำ นปช.แตกกันเอง วีระ มุสิกพงศ์ ถอนตัว  วันที่ 10 พฤษภาคม แกนนำที่เหลือตั้งแง่ ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มอบตัวด้วย วันที่ 11 นายสุเทพไปมอบตัวที่ดีเอสไอ แต่ นปช.ไม่ยอม ให้ไปมอบตัวที่กองปราบ แล้วก็แถลงในช่วงเย็นพาลไม่ยอมรับเงื่อนไข

วันรุ่งขึ้น ศอฉ.ประกาศตัดน้ำตัดไฟ ปิดเส้นทางเข้าออกทันที แล้ววันที่ 13 ก็ประกาศปิดล้อมพื้นที่อย่างสมบูรณ์ แล้วค่ำวันเดียวกันเวลา 19.00 น.เสธแดงก็ถูกสังหารเป็นประเดิม

ถามว่าการเจรจาสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่ การแก้ปัญหาการเมืองด้วยการเมือง ยังทำได้หรือไม่ ผมไม่ได้บอกว่า นปช.ถูก เพราะตอนนั้นผมก็เรียกร้องว่าควรยุติการชุมนุม นักวิชาการนักประชาธิปไตยที่เคยสนับสนุน ก็เรียกร้องให้ยุติการชุมนุม กระแสการเมืองในขณะนั้น หลังจากบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ หลังพลิกกลับไม่ยอมรับแผนปรองดองของรัฐบาล นปช.ซึ่งเหลือกำลังเพียงไม่กี่พันคน ก็ “พ่ายแพ้ทางการเมือง” โดยสิ้นเชิงแล้ว หากรัฐบาลขึงพืดต่อไปอีกไม่เกิน 7 วัน นปช.ก็ต้องยอมยุติม็อบ

แต่เหตุใด ศอฉ.จึงตัดสินใจใช้กำลัง (และอย่าลืมว่าระหว่างที่เจรจา ศอฉ.ก็ประดังทั้งผังล้มเจ้า ข้อหาก่อการร้าย โดยไปขอหมายจับแกนนำฐานก่อการร้าย วันเดียวกับที่ นปช.ยอมรับแผนปรองดอง)

การสังหารเสธแดงเป็นดาบสองคม ในทางยุทธวิธีทหาร อาจมองว่าไม่มีเสธแดงเสียคน การกระชับพื้นที่คงง่ายขึ้นเยอะ แต่ในทางการเมือง เสธแดงเป็นที่รักของมวลชน จึงทำให้เกิดความโกรธแค้น ตอบโต้ และมองว่ารัฐบาลกำลังจะใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าพวกเขา

3.ศอฉ.ไม่ผิด ทหารผิด

ในข้อ 2.6 “การใช้กำลังและอาวุธในการควบคุมฝูงชนและการสลายการชุมนุม” คอป.อุตส่าห์ตีตารางเปรียบเทียบคำสั่ง ศอฉ. กับการปฏิบัติที่แตกต่างจากมาตรฐาน ซึ่งสรุปได้ว่า ทหารไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ใช้กำลังเพียงเพื่อระงับยับยั้งเหตุเท่า นั้น ศอฉ.ให้แยกแยะผู้กระทำความผิด แต่ทหารกลับใช้กระสุนจริงยิงในแนวระนาบที่มีผู้ชุมนุมอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนานมาก โดยผลการชันสูตรศพ ไม่พบว่าผู้เสียชีวิตมีอาวุธหรือเป็นภัยร้ายแรง

นี่รวมทั้งกรณีใช้ปืนยิงรถตู้ ทำให้นายพัน คำกอง เสียชีวิต ซึ่งศาลชี้แล้วว่าเสียชีวิตจากปฏิบัติการของทหาร

แต่ คอป.สรุปเพียงว่าเมื่อ ศอฉ.มอบหมายภารกิจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการแล้ว ไม่มีการติดตามตรวจสอบประเมินผลการปฏิบัติ นอกจากการรายงานตามลำดับชั้น ทั้งที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานเกือบสองเดือน ระบบข่าวกรองทหารไม่มีส่วนสนับสนุนการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ต้องหาข่าวเอง ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

บลาๆๆ ฟังเหมือนดีแต่แปลว่า ศอฉ.แค่บกพร่องฐานประมาทเลินเล่อเท่านั้น (ขับรถประมาททำให้คนตาย 92 ศพ รอลงอาญา)  ซึ่งผมเห็นว่าไม่ใช่ การที่ ศอฉ.อนุญาตให้ใช้กระสุนจริง ให้มีพลแม่นปืนซุ่มยิง (ไม่ใช่สไนเปอร์) ให้ยิงได้เมื่อเห็น “ชายชุดดำ” ให้ใช้ปืนลูกซองยิงต่ำ เมื่อมวลชนบุกเข้าหา ฯลฯ แล้วสั่งให้ทหารเข้าไปสลายการชุมนุม เป็นคำสั่งที่เล็งเห็นผลได้ว่า ในสถานการณ์ตึงเครียด สับสน ในช่วงเวลากลางคืน ในภาวะอารมณ์ที่อาจโกรธแค้น หวาดกลัว ฯลฯ ทหารก็อาจเห็นผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ หรือมีแต่ไม่ใช่อาวุธร้ายแรง กลายเป็น “ชายชุดดำ” ไปได้

เช่นกรณีนายชาติชาย ซาเหลา ที่ถูกยิงระหว่างถ่ายกล้องวีดิโอในเวลากลางคืน หรือแม้แต่กรณีที่ทหารยิงกันเองตรงอนุสรณ์สถาน (จำได้ไหมตอนนั้นสื่อโจมตีกระหน่ำว่า นปช.ยิง)

การออกคำสั่งเช่นนี้ผู้รับผิดชอบ ศอฉ.ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมือง จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะคุณเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าจะทำให้มีคนตาย แต่กลับเลือกใช้กำลังโดยออกคำสั่งปลายเปิด ให้อำนาจตัดสินใจกว้างเมื่อเห็นว่าตัวเองจะมีอันตรายจากชายชุดดำ ผลก็คือ ไม่มีชายชุดดำตายซักคน มีแต่ชาวบ้านตาย

4.ลืมบริบท 2 มาตรฐาน

ข้อ 2.5 “ข้อค้นพบเกี่ยวกับพฤติการณ์การชุมนุมฯ” คอป.พยายามชี้ว่าการชุมนุม นปช.ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตำหนิตั้งแต่การเทเลือดว่ามีผลทางจิตวิทยาให้ผู้คนหวาดกลัว เป็นสัญลักษณ์ความรุนแรง และสร้างความกังวลต่อการจัดการด้านสาธารณสุขที่ต้องป้องกันไม่ให้เลือดไหล เข้าสู่ระบบน้ำสาธารณะ (เลือดสกปรก!)

คอป.ตำหนิการชุมนุมที่ตั้งการ์ดของตัวเอง ตรวจค้นอาวุธ ควบคุมตัวและทำร้ายเจ้าหน้าที่ ตำหนิการปราศรัยของแกนนำที่มีเนื้อหาส่งเสริมความรุนแรง (ให้พื้นที่ยืดยาว และชี้ว่าผิดกฎหมายอาญาด้วย) จากนั้นก็ระบุว่า นปช.ใช้ความรุนแรงในการบุกไปสถานที่ต่างๆ เช่น บุกรัฐสภา บุกไทยคม (คอป.ชี้ว่าแสดงพฤติกรรมเหยียดหยามศักดิ์ศรีเจ้าหน้าที่ทหาร คือให้คุกเข่า ปลดอาวธ ยกมือไหว้ราษฎร) กรณีวันที่ 10 เมษายน คอป.ก็ชี้ว่า มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรง ต่อสู้ขัดขวาง และประทุษร้ายเจ้าหน้าที่

“เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา อาวุธปืนลูกซอง และปืนเล็กกล เข้ามาสลายการชุมนุม... มีผู้ชุมนุมจำนวนมากได้เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ โดยใช้สิ่งเทียมอาวุธและอาวุธประดิษฐ์ เช่น ระเบิดเพลิง เข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร บางคนใช้อาวุธมีดและปืนไม่ทราบชนิด” (รายงานหน้า 168)

เมื่อมีผู้เสียชีวิตแล้ว เวทีปราศรัยยังยั่วยุให้ผู้ชุมนุมระดมเข้าไปช่วยผู้ชุมนุมในจุดปะทะ โดยแกนนำไม่ได้ห้ามไม่ได้บอกให้ผู้ชุมนุมถอย

พี่น้องเอ๊ย แบบนี้แปลว่าถ้าทหารตำรวจจะเข้ามาสลายการชุมนุม เราก็ไม่ควรต่อสู้ขัดขวาง ปล่อยให้เขายึดทำเนียบยึดสนามบินคืนแต่โดยดี

ใช่-พี่น้องเอ๊ย ผมกำลังจะบอกว่า รายงาน คอป.ไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ของพันธมิตรเลย พฤติการณ์ที่ใช้ความรุนแรงบุกยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ปิดล้อมหน้ารัฐสภา ครั้นถูกตำรวจสลายการชุมนุมโดยปืนยิงแก๊สน้ำตาซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัส และมีผู้เสียชีวิต (ที่จนบัดนี้ก็ยังถกเถียงกันว่าใช่แก๊สน้ำตาหรือเปล่า) พันธมิตรก็ขับรถชนตำรวจ (รอลงอาญา) ผู้ติดบัตรการ์ดพันธมิตรใช้ปืนยิงตำรวจ (บอกว่าเป็นบัตรหมดอายุ ไม่ใช่การ์ดตัวจริง)

เปล่า ผมไม่ได้บอกว่าพันธมิตรทำได้ นปช.ก็ทำได้ หรือ นปช.ทำถูกแล้ว ผมเห็นด้วยว่านี่ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ นี่เป็นการชุมนุมที่มีผู้ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง แต่ถ้าไม่กล่าวถึงการชุมนุมของพันธมิตรเป็นบริบท ก็เท่ากับตัดตอนประวัติศาสตร์ เพราะการก่อตัวเป็นเสื้อแดง เกิดหลังพันธมิตรปิดล้อมรัฐสภา คนเสื้อแดงล้นหลามไปร่วมรายการความจริงวันนี้ที่เมืองทองธานี ด้วยความคับแค้นโกรธเกรี้ยวต่อกระแสสังคม 2 มาตรฐาน ชนชั้นนำ สื่อ นักวิชาการ บุคคลสาธารณะ (รวมทั้งบางคนที่เข้ามาเป็นกรรมการ คอป.) ให้การปกป้องพันธมิตร การชุมนุมของ นปช.จึงเป็นปฏิกิริยาเลียนแบบสะท้อนกลับ มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว

คอป.ต้องถามตัวเองด้วยว่า ถ้าเห็นว่าคำสั่งสลายการชุมนุมของ ศอฉ.ถูกต้อง ชอบธรรม เหมาะสม ย้อนอดีตไปแป๊บๆ คอป.จะสนับสนุนให้รัฐบาลสมัคร สมชาย ใช้ทหารสลายม็อบยึดหน้ารัฐสภา ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน หรือไม่ (ขี้เกียจขุดแถลงการณ์เก่าๆ ขึ้นมาประจาน ใครมั่งที่โวยวายจะเป็นจะตายทั้งที่ปี 51 ตำรวจใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตา แต่ปี 53 ทหารใช้กระสุนจริง)

ย้ำว่าผมไม่ได้บอกว่าการเคลื่อนไหวของ นปช.เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญตามวิถีประชาธิปไตย แต่หาก คอป.จะสรุปเช่นนั้นก็ควรย้อนวิพากษ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ควบคู่เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน เพื่อเตือนสติสังคมไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าพันธมิตรลอยนวล แต่มวลชนเสื้อแดงติดคุกระนาว แค่เข้าร่วมการชุมนุมก็ติดคุก 6 เดือนฐานฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน บางคนถูกยิงบาดเจ็บนอนโรงพยาบาลยังถูกล่ามตรวน

คอป.ไม่ได้กล่าวถึงความอยุติธรรมในแง่นี้ให้ชัดเจน มีสรุปสั้นๆ แต่ไม่ชี้ให้เห็นภาพการกวาดจับมวลชนหลายร้อยคน ตั้งข้อกล่าวหาเกินเลยไม่ให้ความยุติธรรม ไม่ให้ประกันตัว ถูกเลือกปฏิบัติ อยู่ในฐานะผู้ด้อยโอกาสในการสู้คดี เพราะสถานการณ์หลังวันที่ 19 พฤษภาคม แกนนำถูกจับ หรือหนี เครือข่ายแตกกระสานซ่านเซ็น ศอฉ.ใช้อำนาจกึ่งเผด็จการ ปิดกั้นสื่อ กาง “ผังล้มเจ้า” กวาดจับผู้คนไปทั่ว สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว แม้แต่เด็กชูป้ายเห็นคนตายที่ราชประสงค์ ก็ยังถูกจับ

5.ข้อเสนอเนียนๆ

ในส่วนรากเหง้าของปัญหาและข้อเสนอแนะ คอป.แถลงออกมา “ดูดี” คือโทษทั้งสองฝ่าย ทั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลทักษิณ และรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ แถมใช้คำใหญ่อย่าง “กลุ่มทุนใหม่” “กลุ่มทุนเก่า” “แนวคิดแบบเสรีนิยมและแนวคิดความเป็นพลเมือง” ตรงข้ามกับ “วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้า” “ประชาชนระดับรากหญ้า” ขัดแย้งกับ “ชนชั้นนำ”

โอ้ ท่านยังเสนอให้แก้มาตรา 112 ด้วยนะครับ ก้าวหน้าสุดๆ

แต่อ่านไปอ่านมาก็ไม่แน่ใจว่า คอป.สรุปดี หรือทำให้ตัวเอง “ดูดี” กันแน่ เพราะพูดแบบ “เพลย์เซฟ” บางเรื่องก็ใจไม่ถึงจริง แถมทัศนะยังเป๋ไปเป๋มา

คอป.พูดถึงรากเหง้าของปัญหา ย้อนตั้งแต่คดีซุกหุ้นทักษิณว่า “หักดิบกฎหมาย” ไม่ผิดหรอกครับ ผมก็เห็นว่าคดีซุกหุ้นมีการช่วยเหลือกัน (โดยชนชั้นนำเองนั่นแหละช่วยทักษิณ) แต่อ่านทั้งหมดแล้วผมรู้สึกว่า คอป.ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากกว่าการวิพากษ์รัฐประหาร ซึ่งเป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตย ล้มกฎหมายสูงสุด ล้มระบอบ ไม่ใช่แค่หักดิบ คอป.ให้น้ำหนักกับคดีซุกหุ้นมากกว่าการใช้อำนาจตุลาการเข้ามาจัดการความขัด แย้งทางการเมือง ใช้องค์กรอิสระเปลี่ยนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ถ้าบอกว่าทักษิณผิด เพราะใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ ในการใช้อำนาจโดยมิชอบ แสวงผลประโยชน์ รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ก็ผิดยิ่งกว่า เพราะไปล้มล้างระบอบ และบิดเบือนอำนาจจนไม่ยึดโยงกับประชาชน ปัญหามันจึงยุ่งเหยิง แก้ไขไม่ได้ จนเกิดความขัดแย้งรุนแรง นองเลือด อย่างที่เห็น

คอป.ให้พื้นที่อย่างมากเพื่อวิพากษ์คดีซุกหุ้น ขณะที่พูดถึงรัฐประหารตุลาการภิวัตน์เพียงผ่านๆ พูดถึงคดียุบพรรคไทยรักไทย คดีสมัครทำกับข้าว คดียุบพรรคพลังประชาชน ในเชิงอรรถ พูดถึงการตั้ง คตส.มาเอาผิดทักษิณ แต่ไม่ยักพูดถึงคำพิพากษา “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” ไม่ยักพูดถึงคำพิพากษา “ได้ประโยชน์ไม่สมควรต้องยึดทรัพย์” ทั้งที่เป็นคดีสำคัญกระทบความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรม

ลองไปอ่านกันดูในข้อ 3.3 จะเห็นว่า คอป.เอาปัญหาในยุคทักษิณและยุครัฐประหารมาปนกันมั่วหมด แทนที่จะชี้ชัดเป็นขั้นตอนว่าฝ่ายหนึ่งได้อำนาจมาตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว เหลิงอำนาจ อีกฝ่ายหนึ่งก็ล้มประชาธิปไตยเสียเลย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถ่ายโอนอำนาจไปให้ตุลาการกุมอำนาจอธิปไตยเหนือประชาชน

เช่น 3.3.3.4 ความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรม ท่านพูดถึงคดีซุกหุ้น แล้วข้ามมารัฐประหารออกประกาศ คปค.เพิ่มโทษกรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง ตั้ง คตส. และมาตรา 309 จากนั้นก็วกไปฆ่าตัดตอน การแทรกแซงองค์กรอิสระ ผลประโยชน์ทับซ้อน พรก.ฉุกเฉินที่ออกในยุคทักษิณ แล้วก็การที่นักกฎหมายยอมรับประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย

3.3.3.5 เป็นเรื่องตุลาการภิวัตน์ 3.3.3.6 เป็นเรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระ (ยุคทักษิณ) โดยไม่แยกแยะว่าการแทรกแซงองค์กรอิสระเป็นปัญหาโครงสร้างในระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่รัดกุมพอ แต่ตุลาการภิวัตน์ขัดหลักประชาธิปไตยไปเลย

อ่านแล้วรู้สึกยังกะท่านจับฉ่าย เอาบทวิพากษ์ทั้งสองฝ่าย ที่น่าจะหยิบยืมมาจากที่โน่นที่นี่ใส่ๆ เข้าไป แต่มี agenda อยากด่าคดีซุกหุ้นเป็นพิเศษ (ย้ำว่าผมเห็นด้วย คดีซุกหุ้นเป็นการหักดิบกฎหมาย แต่หักดิบกฎหมายเพื่อเอาใจกระแสสังคม ที่ตอนนั้นใครๆ ก็อยากให้ทักษิณเป็นนายกฯ ตั้งแต่หมอเสมมาถึงสนธิ ลิ้ม ขณะที่คดียุบพรรค เป็นการหักดิบอำนาจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเมืองขัดแย้งแบ่ง 2 ฝ่ายแล้วเอาตุลาการมาหักดิบ คดีซุกหุ้นจึงไม่ส่งผลเสียทันที เพราะกระแสสังคมเฮโล แต่คดียุบพรรคเกิดปฏิกิริยาตอบโต้รวดเร็ว รุนแรง)

บางข้อแทนที่จะชี้ชัดก็พูดกำกวม เช่น 3.3.3.8 “การสร้างการรับรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐาน” ตกลงมันสองมาตรฐานจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพราะการสร้างการรับรู้ จึงทำให้เกิดความรุนแรง

3.3.3.14 “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ท่านพูดแต่ว่าคนบางส่วนมีทัศนคติทางลบ แล้วก็บอกว่าทั้งตัวรัฐธรรมนูญและความพยายามแก้ไขทำให้เกิดปัญหา เออ แล้วจะเอาไง

ครั้นมาถึงข้อเสนอแนะ จากที่พยายามให้ “ดูดี” วิพากษ์ทั้งสองฝ่าย ข้อเสนอกลับคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และชิ่ง

โดยเฉพาะข้อ 5.6 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่านบอกว่าปัญหาขัดแย้งเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาจากรัฐประหาร แต่ก็ห่วงว่าการแก้ไขอาจทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย จากนั้นก็เรียกร้อง 1,2,3 ว่าอย่าเพิ่งแก้ เรียกร้องรัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง ว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องหลักนิติธรรม หลักความเป็นกฎหมายสูงสุด ฯลฯ

อ้าว แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 สอดคล้องกับหลักนิติธรรมหรือเปล่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับหลักความ เป็นกฎหมายสูงสุดหรือเปล่า

ถ้า คอป.มีความกล้าหาญสักหน่อย ทำไมไม่เรียกร้องอีกฝ่ายด้วยละครับ เรียกร้องประชาธิปัตย์ พันธมิตร สื่อ สลิ่ม ตุลาการ ฯลฯ ว่าอย่าขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้มากที่สุด

อย่างนั้นสิ จะเป็นพระเอกตัวจริง

ส่วนเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และมาตรา 112 เป็นข้อเสนอที่เกือบจะปรบมือให้ (ถือว่าดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดทางสถานะของ คอป.) แต่ก็ขาดอีกนิดคือ ท่านควรจะเรียกร้องประชาธิปัตย์ พันธมิตร สื่อ สลิ่ม ให้มาก ว่าอย่าปลุกกระแสคลั่งเจ้ามาขัดขวาง ให้ร้ายป้ายสี รวมทั้งท่านน่าจะประณาม ศอฉ.ด้วยว่าการออก “ผังล้มเจ้า” เล่เก๊ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน คือชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้ยิ่งรุนแรง

อ้อ อุตส่าห์แถลงซะขนาดนี้แล้ว หวังว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ อ.คณิตเป็นประธาน จะรับเป็นเจ้าภาพ ระดมทุกฝ่ายมาช่วยกันแก้ไขมาตรา 112 เสียเลยนะครับ

6. พระเอกผิดคิว

ผมก็ไม่เข้าใจว่า อ.คณิตโผล่มาแย่งซีนคณะกรรมการด้วยการเปิดความในใจ เรียกร้องให้ทักษิณเสียสละ วางมือ ฯลฯ เพื่ออะไร เพราะนอกจากชิงพื้นที่สื่อ ท่านยังทำลายประเด็นที่ คอป.พยามสรุปให้ “ดูดี” มาทั้งหมด

เห็นด้วยไม่เห็นด้วยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เห็นชัดๆ ว่าไม่ใช่กาลเทศะ เพราะ คอป.พยายามวิพากษ์ทั้งระบอบทักษิณและรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ แต่ตัวประธานเป็นผู้หลักผู้ใหญ่กลับมาเรียกร้องให้ทักษิณวางมือ แล้วก็กลายเป็นพาดหัวสื่อที่จ้องอยู่แล้ว

อ้าว! ทักษิณผิดข้างเดียวงั้นหรือ ไหนบอกว่าการตั้ง คตส.มาตรวจสอบทักษิณทำให้เกิดความเคลือบแคลงหลักนิติธรรม

ท่านอาจบอกว่าเป็นการเรียกร้องให้เสียสละ เลียนแบบรัฐบุรุษ อย่าง อ.ปรีดี อ้าว ถ้าอย่างนั้นทำไมท่านไม่เรียกร้องให้อภิสิทธิ์เสียสละ ยุติบทบาทบ้างล่ะ เพราะอภิสิทธิ์ก็ถูกเกลียดชังเหมือนกัน ในฐานะผู้ใช้อำนาจปราบปรามการชุมนุมเมื่อปี 53 ทำไมท่านไม่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เสียสละบ้างล่ะ ให้ทหารเป็นกลาง ไม่มีประวัติพัวพันรัฐประหาร ไม่เอียงข้างทักษิณ มาเป็นผู้บัญชาการทหารบก

คือถ้าจะเรียกร้องให้กันเสียสละ มันก็เรียกร้องได้ทั้งนั้นละครับ สมมติเช่น เรียกร้องพลเอกเปรมเสียสละ ท่านถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร เพื่อรักษาสถาบัน ท่านควรยุติบทบาท ลาออก ย้ายจากบ้านสี่เสาไปอยู่กระต๊อบที่สงขลา ฯลฯ เรียกร้องพลเอกสุรยุทธ์เสียสละ เพราะท่านเคยเป็นไปนายกฯ ให้ คมช.ท่านควรลาออกจากองคมนตรี ไปบวชเป็นพระธุดงค์ตามความใฝ่ฝัน ฯลฯ

ถามว่าให้ทักษิณยุติบทบาทคืออะไร ก็ยังไม่ชัดเจน ให้กล้ำกลืนความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม เลิกต่อสู้ ยอมแพ้ อยู่เมืองนอกตลอดชีวิต ให้น้องสาวเป็นนายกฯ อีก 7 ปี หรือให้ถอนตัวออกจากการเมืองทั้งตระกูลชินวัตร ให้ยุบพรรคเพื่อไทย ให้เลิกโฟนอินอาจพอไหว แต่จะให้เลิกเกี่ยวข้องกับมวลชน ให้คนเสื้อแดงตัดทักษิณออกจากสารบบ ฯลฯ เอาขนาดนั้นไหม

มันคือความเกี่ยวพันที่แยกออกจากกันไม่ได้ ทักษิณคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม มวลชนรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกปล้นอำนาจ จึงต่อสู้ร่วมกัน แล้วท่านจะบอกทักษิณเสียสละ ยอมแพ้เสีย ให้อีกฝ่ายชนะ แล้วจะได้ค่อยๆ คืนสู่ความสงบอย่างนั้นหรือ มวลชนยอมหรือ

ผมก็อยากให้ทักษิณยุติบทบาทนะครับ แต่ถ้าผมเรียกร้องก็จะบอกว่าคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน คืนความยุติธรรมให้ประชาชนและทักษิณ เคลียร์ทุกสิ่งด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร คดีความทั้งหลายนับหนึ่งใหม่ จากนั้นจึงให้ทักษิณวางมือ ทั้งครอบครัวเลิกเกี่ยวข้องการเมือง ยกพรรคเพื่อไทยให้เป็นของมวลชนไป โดย “ชนชั้นนำ” อีกฝ่ายก็ต้องวางมือเลิกเกี่ยวข้องแทรกแซงการเมืองการปกครองเหมือนกัน

ส่วนข้อเรียกร้องที่สองของ อ.คณิต ยิ่งเลอะเทอะไปใหญ่ ที่บอกให้รัฐบาลทำเรื่องหักดิบกฎหมายให้กระจ่างชัด ทั้งคดีซุกหุ้น ฆ่าตัดตอน กรือเซะ ตากใบ โดยเนื้อหาไม่ได้เลอะเทอะ เพราะเป็นเรื่อง “หักดิบกฎหมาย” จริง แต่ฟังแล้วงงงวยว่าทำไมท่านเรียกร้องฝ่ายเดียว ทำไมท่านไม่เรียกร้องตุลาการ ทหาร ชนชั้นนำอีกฝ่าย ให้ทำเรื่องหักดิบระบอบประชาธิปไตยให้กระจ่างชัดด้วย

ผมก็ไม่รู้ว่า อ.คณิตมีปมอะไรหรือเปล่า อยากลบปมที่ตัวเองเคยเข้าไปร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อย่างนั้นหรือ แต่การเรียกร้อง “อะไรๆ ก็ทักษิณ” ได้ทำลายส่วนที่มีสาระมีคุณค่าของรายงาน คอป.ที่พยายามจะ “เป็นกาง” อย่างสุดชีวิต จนผู้คนมองข้าม ไม่สนใจ และเอาไปเป็นประเด็นการเมืองเพื่อเข่นฆ่ากันเช่นเคย

                                                                                                ใบตองแห้ง
                                                                                                19 กันยายน 2555
........................................


19 กันยายน 2555 เวลา 19:16 น.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker