บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

สมบัติ จันทรวงศ์: ประชาธิปไตย VS ศีลธรรม ข้อถกเถียงเชิงปรัชญาแห่งยุคสมัย

ที่มา ประชาไท

 

สมบัติ จันทรวงศ์ อาจารย์ด้านปรัชญาการเมือง นำเสนองานวิจัยเรื่องประชาธิปไตยไทย: ปรัชญาและความเป็นจริง ขุดถึงราก ตั้งคำถาม ชวนถกเถียงประชาธิปไตยและศีลธรรม แถมท้ายด้วยการวิจารณ์จาก ปิยบุตร แสงกนกกุล จากนิติราษฎร์ และใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ชื่อดัง

(26 ก.ย.55) ในการเสวนาเรื่อง “ความมั่นคงมนุษย์: ความมั่นคงทางการเมืองในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไทย” ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการนำเสนองานวิจัย หัวข้อ “ประชาธิปไตยไทย : ปรัชญาและความเป็นจริง” โดย สมบัติ จันทรวงศ์  และการวิจารณ์โดยปิยบุตร แสงกนกกุล และอธึกกิต แสวงสุข หรือ "ใบตองแห้ง"

นำเสนองานวิจัย“ประชาธิปไตยไทย : ปรัชญาและความเป็นจริง”


สมบัติ จันทรวงศ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เริ่มต้นด้วยการอ้างอิงคำพูดของนักรัฐศาสตร์เกี่ยวกับประชาธิปไตยไทย
"เรามีโครงสร้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนยังมีความคิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"
เกษียร เตชะพีระ 4 ก.พ.2555
"อย่างผมพูดจริงๆ นะครับ ผมไม่ค่อยสนับสนุนการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งมาอยู่ในวัฒนธรรมไทยแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าจะเอามา ต้องเอามาใช้แบบที่ว่าปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม แต่จะปรับอย่างไรหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ถ้าไปแข่งขันกันก็จะกลายเป็นกึ่งๆ การแทงพนัน และคนก็ไม่ค่อยนับถือการเลือกตั้ง ถ้าผมบอกว่าผมมาจากการเลือกตั้ง ทุกคนก็เฉยๆ แต่ถ้าบอกว่าผมมาโดยพระบรมราชโองการ ยอดเลย เพราะฉะนั้น เราไม่ได้นับถือการเลือกตั้งแบบนี้ น่าจะต้องเอามาคิดให้ปราณีต ผมว่านี่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม จะต้องปรับ จะต้องเอากลไกอื่นมาใช้กับสังคมไทย จะใช้ได้อย่างไร ได้แค่ไหน"
เอนก เหล่าธรรมทัศน์
เมืองไทยหลังขิงแก่ 1 หน้า 78-79
จากข้อสังเกตดังกล่าว ทำให้ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วประชาธิปไตยในไทยต้องอธิบายตัวเองว่าทำไมระบอบประชาธิปไตยถึงควรเป็น ระบอบที่ชอบธรรม ทำไมคนที่มาจากการเลือกตั้งควรได้รับการยอมรับนับถือ เพราะถ้าคนไม่ยอมรับนับถือประชาธิปไตย เราจะมีปัญหามาก
เมื่อดูการเกิดของประชาธิปไตยในสังคมตะวันตกยุคใหม่ มีแรงต่อต้านโจมตีอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง งานของ David Spitz พูดถึงแนวคิดต่อต้านประชาธิปไตยว่ามีสองสำนักใหญ่ คือ
1) ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะในทุกสังคมต้องมีชนชั้นผู้ปกครอง ซึ่งแยกเป็นสองทฤษฎีย่อย คือ หนึ่ง ชนชั้นผู้ปกครองเป็นความจำเป็นในการจัดองค์กร ไม่ว่าจะองค์กรเล็กหรือใหญ่ สุดท้ายอำนาจบริหารจัดการขึ้นกับคนเพียงไม่กี่คนทั้งนั้น โดยคนที่มีโอกาสมากในการเข้ามาจัดองค์กร โดยทั่วไปคือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีคุณสมบัติเด่นบางอย่าง สอง ชนชั้นผู้ปกครองในฐานะการสมคบกันขึ้นสู่อำนาจ อธิบายว่าผู้ปกครองเป็นคนพิเศษ ซึ่งกระหายอำนาจ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจ ดังนั้นประชาธิปไตยในฐานะที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วมจึงเป็นไปไม่ได้
2) ประชาธิปไตยเป็นไปได้ แต่ไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา กลุ่มนี้มองว่าถ้าจะเอาคนที่จะเป็นผู้ปกครอง ต้องเอาคนที่ดีที่สุด ไม่เอาคนธรรมดา ดังนั้น กลุ่มนี้จะโยงกับความคิดเรื่องอภิสิทธิชน ซึ่งเป็นทฤษฎีเก่าแก่ สืบสายจากสมัยเพลโตที่มองว่า ประชาธิปไตยที่มองว่าทุกคนเท่าเทียมกันเป็นการฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจัดให้คนไม่เท่ากัน ทุกสิ่งมีตำแหน่งแห่งที่ในลำดับชั้นอยู่แล้ว ประชาธิปไตยคือการทอนให้ทุกอย่างลงมาเท่ากันหมด มองที่ปริมาณอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ ยังไม่ต้องพูดว่าที่บอกว่าคนเท่ากันนั้นเท่ากันตรงไหน เราเห็นความไม่เท่ากันมากกว่าที่เท่ากัน
เพราะฉะนั้น กว่าที่ประชาธิปไตยจะพัฒนามาได้ ต้องใช้ความพยายาม มีพัฒนาการความคิดที่ยาวนาน ข้อกล่าวหาทั้งหลายเหล่านี้ยังมีอิทธิพลมากในสังคมไทย และยิ่งมีการพูดถึง "มวลมหาประชาชน" มากขึ้น ก็ยิ่งน่าหวาดเสียวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีตัวแปรเพิ่มขึ้นมาเมื่อเกิดศาสนาคริสต์ ทำให้คู่ต่อสู้เปลี่ยน ไม่ใช่แบบที่เพลโตบอกว่าเป็นคนที่รู้กับไม่รู้ แต่เป็นระหว่างพระมหากษัตริย์และพระ กับฝ่ายที่นับถือศาสนาคริสต์แต่ไม่ยอมรับอำนาจกษัตริย์ โดยกษัตริย์อิงคำสอนศาสนาคริสต์ อ้างว่าได้รับอำนาจพิเศษจากพระเจ้า คนทั่วไปมีหน้าที่เชื่อฟังกษัตริย์ กษัตริย์จะทำดีหรือชั่วก็ไปรับผิดชอบต่อพระเจ้าเอง
กรณีนี้ไม่ว่าฝ่ายไหนก็อิงศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยกันทั้งคู่ พิสูจน์เชิงประจักษ์ไม่ได้

แนวคิด ‘เทวสิทธิ์’ เป็นเรื่องสมมติ ‘ประชาธิปไตย’ ก็เรื่องสมมติเช่นกัน
ถ้า เรามองว่าทฤษฎีเทวสิทธิ์เป็นการอ้างตำนาน สิ่งที่ไม่เป็นจริง บุญญาธิการ บาปบุญ กฎแห่งกรรมที่มองไม่เห็น ประชาธิปไตยก็กำเนิดจากการสร้างขึ้นมาเช่นกัน โดยมีรากฐานจากสิ่งสมมติว่า ตามหลักตรรกะ ถ้ามีสังคมการเมือง รัฐบาล ต้องมีสภาพก่อนที่จะไม่มีสังคมและรัฐบาล ในสภาพนั้นทุกคนต้องเท่ากัน เพราะยังไม่มีอะไรกำหนด เรียกว่า "สภาพธรรมชาติ"
โดยสิ่งที่ทำให้มนุษย์เท่ากันคือ ความเสมอภาคในการปกปักษ์ชีวิตตัวเอง นั่นคือ ทุกคนมีศักยภาพที่จะฆ่าคนอื่นได้เท่ากัน เพราะฉะนั้น ในยามหลับ คนฉลาดอาจถูกคนโง่ฆ่าได้ คนแข็งแรงก็ต้องมีวันเผลอถูกคนอ่อนแอฆ่าได้ เพราะฉะนั้น หลักที่บอกว่ามนุษย์เท่ากันเริ่มต้นจากสิ่งที่ต่ำมาก คือ ความสามารถที่บอกว่าเราฆ่าคนอื่นได้ นี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเสรีนิยมในปัจจุบัน คือเอาสิ่งที่ต่ำที่สุดของมนุษย์มาเป็นเกณฑ์บอกว่า เราเท่ากันเพราะเรามีสิทธิปกปักษ์รักษาตัวเรา ซึ่งมาจากสภาพธรรมชาติ  เหล่านี้ก็เป็นเรื่องสมมติ เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยต้องยอมรับว่ากำเนิดของตัวเองก็เป็นข้อสมมติ ไม่ใช่ของจริง
เมื่อถือว่ามนุษย์เท่ากัน สิ่งที่นอกเหนือจากความสามารถในการฆ่าคนอื่นก็คือเหตุผล มนุษย์มีเหตุผลเหมือนกัน ส่วนเกณฑ์ที่เข้ามาแทนพระเจ้าคือธรรม ชาติ เริ่มตั้งแต่สภาพธรรมชาติ มีการพูดถึงกฎแห่งธรรมชาติ สิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ และผูกพันทุกคนเหมือนกันหมด เพราะเราจะยอมรับคนอื่นก็ต่อเมื่อเราคิดถึงตัวเอง ด้วยวิธีคิดแบบนี้พัฒนาไปสู่อำนาจในการปกครอง เพราะเมื่อไม่มีอะไรบอกว่ามนุษย์คนไหนเหนือกว่า จึงต้องอาศัยความยินยอม ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลมาจากความยินยอมของประชาชนภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง

ความสัมพันธ์ ประชาธิปไตย-การปฏิวัติ
ตรง นี้เองที่การเปลี่ยนจากสังคมจารีตสู่สังคมประชาธิปไตยอาศัยกรอบความคิด เรื่องสิทธิตามธรรมชาติและความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องสมมติ โดยมีชนชั้นนำเป็นผู้กระจายความคิดออกไป เพราะฉะนั้น การปกครองด้วยเสียงข้างมาก จึงเป็นรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับคำสอนเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ เพราะการยินยอมให้คนอื่นปกครองตัวเรา เป็นสิ่งที่มีเงื่อนไขตามมาเสมอ
มนุษย์ยอมสละสิทธิอำนาจธรรมชาติตามเดิมเพื่อมาอยู่ในสังคมการเมือง เพื่อมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย เป็นการยอมแต่ต้องมีเงื่อนไข ดังนั้นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นพร้อมกับทฤษฎีการปฏิวัติ ว่าหากทำไม่ถูกเงื่อนไข ประชาชนสามารถถอนคืนได้ตลอด ความชอบธรรมที่รัฐบาลประชาธิปไตยได้มาไม่ใช่ได้แล้วได้เลย แต่ยืดได้หดได้ ซึ่งทุกรัฐบาลต้องตระหนัก
ข้อสมมติต่อมาคือประชาธิปไตยเริ่มจากการมองที่ปัจเจกบุคคลเป็นหลัก การรวมเอาปัจเจกบุคคลมารวมเป็นสังคมก็เป็นสิ่งสมมติ และสิ่งที่มักลืมกันก็คือการมองว่าการตัดสินใจโดยส่วนเดียวของประชาชนเป็น การตัดสินใจของเสียงข้างมาก ซึ่งแทนทั้งสังคม ทั้งที่นี่คือเรื่องสมมติ เพราะหากดูระบบเลือกตั้งประเทศ ไทย จะเห็นว่า ตามหลัก เขตเดียวคนเดียว อาจจะไม่ถึง 30% ของทั้งประเทศ แต่ตัดสินแทนทั้ง 63 ล้านคน เพราะฉะนั้น ข้อจำกัดของเสียงข้างมากจึงคือ ความถูกต้อง ความเป็นธรรมและยุติธรรม เพราะเสียงข้างมากเป็นทรราชได้เสมอ ดูได้จากประวัติศาสตร์อเมริกัน ช่วง 1776-1787 ว่าเกิดอะไรขึ้น คล้ายกับบางอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ขอลงรายละเอียดตรงนี้
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นดูได้จากประวัติศาสตร์ช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา โดยจะพูดถึงการปฏิวัติในอเมริกัน ฝรั่งเศส และไทย

แนวคิด “ความเท่าเทียม” ในอเมริกา และการกันศาสนาออกจากการเมือง
การ ปฏิวัติของอเมริกา ในปี 1776 เมื่อเกิดขึ้น มีผู้คนจำนวนมากแสดงความผิดหวังเพราะว่าไม่ได้ทำลายระบบทาส การกดขี่ผู้หญิงก็ยังอยู่ ช่วง 1776-1789 จริงๆ แล้วมีการต่อสู้ทางความคิดมาก่อนหน้านั้นนานพอสมควร ที่เรียกว่ายุคแห่งการรู้แจ้ง ยุคแห่งภูมิธรรมทั้งหลาย ซึ่งมาจากความคิดแหวกแนวในสมัยนั้น คือความคิดของ Spinoza ที่บอกว่าทุกอย่างในโลกเป็นอย่างเดียวคือ สสาร เพราะฉะนั้นมันไม่มีความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า จิตวิญญาณทั้งหลายเป็นเรื่องของสสารทั้งสิ้น เราต้องดูโลกอย่างที่มันเป็นจริง โดยเหตุผลของมนุษย์อาจจะไม่ใช่สิ่งซึ่งทรงพลังมากที่สุด แต่คือความอยากความปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นร่างกายกับจิตวิญญาณจึงไม่ใช่ของคนละส่วนกัน แต่เป็นส่วนเดียวกัน
มันก็เหมือนกับสสารซึ่งอยู่ภายใต้กฎการควบคุมทางฟิสิกส์อย่างเดียวกัน มนุษย์ทุกคนปรารถนาความสุขตามแบบของตัวเองเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่มีใครมีสิทธิบอกว่าของใครดีกว่า เพราะฉะนั้นความรู้สึกทั้งหลายของมนุษย์ต้องไม่ถูกกดกั้น ความปรารถนาทางเพศต้องไม่ถูกถือว่าเป็นบาป หรือตำหนิว่าชั่วร้าย สังคมต้องยอมรับว่าไม่อาจนำมนุษย์ไปสู่คุณธรรมได้โดยการกล่อมเกลาให้มนุษย์ เป็นคนดี แต่สามารถมีพลเมืองดีได้โดยไม่ต้องมีคนดี เพราะฉะนั้นกติกาหลักจึงคือ ต้องสร้างกฎหมายบังคับทุกคนอย่างเท่าเทียม แล้วทุกอย่างจะดีเอง ศาสนาที่เป็นอยู่เกิดจากความกังวลของมนุษย์แต่ดั้งเดิม ศาสนาคริสต์ที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่านับถือ เพราะก็เป็นพันธมิตรที่ดีของสถาบันกษัตริย์ หลอกให้ประชาชนไปรบในสงครามและล้มตายจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ทางออกของปัญหาความเสื่อมทรามของสังคมยุโรป จึงอยู่ที่การล้มล้างตำแหน่งอภิสิทธิ์และอคติทั้งปวง ทดแทนด้วยสังคมที่ยึดหลักของความเสมอภาค โดยอาศัยยุทธวิธีดังนี้ หนึ่ง โจมตีข้อผิดพลาด สอง ป่าวประกาศสัจธรรมให้โลกรู้ ขั้นตอนสำคัญแรกของการป่าวประกาศคือให้การศึกษาแก่สาธารณชนเสียใหม่ และล้มล้างศาสนจักรและรัฐบาล นี่คือเป้าหมายการต่อสู้ก่อนเกิดการปฏิวัติ 1789
โดยสรุป นักคิดยุคนั้นต้องการความเสมอภาค ทางเชื้อชาติ เสรีภาพในการใช้ชีวิต ในการแสดงออกอย่างสมบูรณ์ กันศาสนาจากการเมืองและการศึกษาโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้สังคมรู้แจ้งและประจักษ์ถึงประโยชน์

‘กลไกตลาด’ ช่วยแก้ปัญหาความเห็นแก่ตัวแทนศาสนา
ก่อน เกิดการปฏิวัติ 1789 ในฝรั่งเศส คนที่คิดแบบเดิมว่าล้มอำนาจกษัตริย์ แต่ไม่ต้องล้มสถาบันศาสนา มีความคิดว่าถึงมนุษย์จะเห็นแก่ตัว แต่ในที่สุดระบบตลาดเสรีจะช่วย คือ ในทางความคิดต้องเข้าใจงานของ John Locke  ที่เน้นเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค แต่เสรีภาพ-เสมอภาคส่วนบุคคล ไม่พูดถึงส่วนรวม มี Adam Smith เข้ามาบอกว่าปล่อยให้เห็นแก่ตัวไป แต่กลไกของตลาดจะมีมือที่มองไม่เห็นทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมขึ้นมาเอง แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สังคมยุโรปเปลี่ยนได้ทันใจ เพราะฉะนั้นจึงเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 แต่ก็จะเห็นว่าจบลงด้วยประหารผู้คนมหาศาล จนต้องคิดเครื่องมือกิโยติน เพราะประหารไม่ทัน และท้ายที่สุด คนคิดกิโยตินเองก็ถูกประหารชีวิต

2475 ประชาธิปไตยแหว่งวิ่น ชนชั้นนำไทยไม่ธรรมดา
สังคม ไทยมีความรู้เรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสน้อยมาก โดยก่อน 2475 ไม่มีงานภาษาไทยที่พูดเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสเลย หลัง 2475 พบงานของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งเป็นเจ้าที่ชื่นชอบคณะราษฎร หลังจากนั้นมีอีกเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ทำโดย อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย เข้าใจว่าปัจจุบันยังคงมีน้อยเล่มอยู่
150 ปีหลังปฏิวัติฝรั่งเศส เกิด 2475 ในประเทศไทย ได้สอบถามจาก อ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง 2475 ว่าสมัยนั้นมีการพูดถึงหลักการความเสมอภาคของมนุษย์หรือไม่ ซึ่งได้คำตอบว่าไม่มี ส่วนตัวหาดูก็ไม่เจอ พูดง่ายๆ คือก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส สนามความคิดที่ต่อสู้กัน คนซึมซับเข้าไปมหาศาล แต่ตอนเกิด 2475 ของประเทศไทย แทบจะไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นเลย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยมาก นี่คือสิ่งที่อธิบายว่าทำไม อ.เกษียรจึงบอกว่าเรายังคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ขณะที่เรามีโครงสร้างแบบประชาธิปไตย
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะชนชั้นนำของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยสามารถดัด แปลง ประนีประนอม อิทธิพลและผลกระทบของทางตะวันตกให้เข้ากับสังคมและประเพณีแบบเดิมของไทยได้ มากที่สุด เป็นเนื้อเดียวกัน แม้แต่พระพุทธศาสนาก็ถูกดัดแปลงให้เป็นเครื่องมือของรัฐในการส่งเสริมความ คิดแบบชาตินิยม แต่คณะราษฎรไม่ได้ทำตรงนี้ ทำไม่ได้ หรือไม่มีเวลาทำก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นมันก็เลยขาดวิ่น

ประกาศฉบับหนึ่งคณะราษฎรกับหลักการที่หายไป
เคย ถกเถียงกับ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บอกว่าแถลงการณ์ของคณะราษฎร์ข้อที่หนึ่งเป็นคำประกาศอันยิ่งใหญ่ แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่มีอะไรที่เป็นหลักการเลย เป็นเรื่องเฉพาะทั้งสิ้น โดยเริ่มต้นบอกว่า "ตั้งแต่กษัตริย์องค์นี้..." ก็จบแล้วเพราะพูดถึงตัวบุคคลโดยเฉพาะ ไม่ได้พูดถึงหลักการโดยทั่วไป พูดง่ายๆ คือเมื่อนักรัฐศาสตร์มาดูเอกสารเหล่านี้จะตีความแบบเดียวกับที่ อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ตีความว่า การเปลี่ยนแปลง 2475 กำหนดให้ความเป็นพลเมืองทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน มันกลับหัวกลับหาง มันต้องความเป็นมนุษย์ที่มันเท่ากัน จึงทำให้เรามีสิทธิความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน แต่ 2475 กลับบอกว่าทุกคนเป็นพลเมืองเท่ากัน จึงต้องเท่ากัน
ที่สำคัญ 2475 ไม่ได้ใช้ฐานทางศาสนาพุทธเลย นักวิชาการสายพระบอกว่าศาสนาพุทธอิงแอบกับสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด ไม่ได้มีส่วนเกื้อหนุนในทางประชาธิปไตยสักเท่าใดเลย  หากพูดว่าศาสนาพุทธพูดเรื่องความเสมอภาคนั้น ไม่เถียง แต่ความเสมอภาคของมนุษย์ในแง่ของโอกาสในการหลุดพ้น ไม่สามารถใช้อธิบายข้อผูกพันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ มันคนละเรื่องกันกับกรณีของศาสนาคริสต์ เพราะฉะนั้น กระบวนการทางประชาธิปไตยไทย จึงไม่สามารถแจกแจงได้ว่าหลักการในทางทฤษฎีของประชาธิปไตยของตนนั้นคืออะไร
เมื่อหลายสิบปีก่อนได้รับเชิญไปพูดเรื่องรัฐธรรมนูญที่ฟิลิปปินส์ หลังโค่นมาร์กอสได้หนึ่งปี ได้แสดงความยินดีกับเขาและบอกว่าประชาธิปไตยมีสองหลัก คือ หนึ่ง หลักการทางทฤษฎี สอง หลักการทางปฏิบัติ สองหลักนี้ต้องไปด้วยกันและสอดคล้องกัน ที่สำคัญที่สุดคือ หลักการทางทฤษฎี โดยเปรียบเทียบกับผู้ชายผู้หญิงที่แต่งงานกันด้วยความรัก ความรักจึงคือหลักการทางทฤษฎี เมื่อต้องแบ่งงานบ้านกันทำ เป็นทางปฏิบัติ จะจัดแจงอย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่หลักการทางทฤษฎีหรือความรักมั่นคง  แต่ถ้าเลิกรักกันเสียแล้ว แค่หยิบแก้วน้ำให้ยังไม่อยากหยิบเลย

สภาพเน้นการปฏิบัติ’เลือกตั้ง’ แต่ขาดรากทางปรัชญา
ใน สังคมไทย ตอนนี้กลับตาลปัตร คือเราให้ความสำคัญกับหลักการทางปฏิบัติ คือการเลือกตั้ง แต่ไม่พูดเรื่องหลักการทางทฤษฎีว่าเราเท่ากันตรงไหน เพราะถ้าพูดได้ว่าเราเท่ากันตรงไหน จะบอกได้ว่าเสรีภาพของเราควรจำกัดอยู่ตรงไหน ตรงนี้คือปัญหาใหญ่ และเราพลาดโอกาสเพราะ 2475 ไม่ได้คุยกันเลย

นิติราษฎร์ การป่าวประกาศสัจธรรม และเรื่องที่ทำไม่ได้ (ง่าย)
ความ พยายามที่จะนำมาคุยกันใหม่มาจากกลุ่มนิติราษฎร์ โดยแถลงการณ์ของนิติราษฎร์ฉบับที่ 1 เรียกตัวเองเป็นภาษาอังกฤษว่า Enlightened Jurists โดย Enlightened คือภูมิธรรม ยุคแห่งความรู้แจ้ง เมื่อไปดูในงานที่นิติราษฎร์ทำต่อๆ มาก็จะยิ่งเห็นชัดเจนว่า ถอดแบบจาก Enlightenment 1789 รวมทั้งยุทธศาสตร์ก็ออกมาในแนวเดียวกันคือ ชี้ความผิด และป่าวประกาศสัจธรรม แถลงการณ์ของ อ.วรเจตน์ก็ใช้คำของคานท์ เรื่องการกล้าแสดงปรีชาญาณเต็มไปหมด แต่ตรงนี้คิดว่ายังอยู่ในขั้นที่จะต้องต่อสู้กันต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ตัวเลขปี 2550 เรื่องคนรวยคนจนในประเทศไทย ประชากรไทยที่มีรายได้สูงสุด 20% มีส่วนแบ่งรายได้รวมกัน 54.9% ของทั้งประเทศ ส่วน 20% ของคนที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งรวมกัน 4.4%
การจะทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศที่ต่างกันทางเศรษฐกิจขนาดนี้ไม่ ง่าย งานวิจัยไหนๆ ก็บอกว่า ยากที่จะเกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำขนาดนี้
กรณีการถือครองที่ดิน มูลนิธิสถาบันที่ดิน พบว่า ที่ดินในการครอบครองของประชาชนทั่วไป 120 ล้านไร่ มากกว่า 90% กระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียง 10% เท่านั้น และ 70% ของที่ดินที่มีการถือครองถูกปล่อยไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถามว่ามีรัฐบาลไหนบ้างที่พยายามจะแก้ไขตรงนี้ หรือถ้าพยายามจะแก้จริงๆ จะทำได้สำเร็จหรือไม่ นี่คือคำตอบ

วัฒนธรรมใหม่ ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มี ‘จริยธรรม’  เน้นการไม่ตัดสิน
เพราะ ฉะนั้น มองว่า ในขณะที่การปฏิวัติด้านการเมืองโดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเสมอภาคยังอยู่ใน ระดับของการก่อร้างสร้างตัว สิ่งที่ก้าวหน้ามากในสังคมไทยคือแนวรบด้านวัฒนธรรมหรือด้านสังคม คือแนวคิดที่สืบทอดมาจากนักคิดยุคการรู้แจ้งที่บอกว่า เหนืออื่นใด มนุษย์คือผู้มีสิทธิ สิทธิคือสิ่งที่มาก่อนแม้แต่สิ่งที่ดีงาม เพราะฉะนั้น หลักการใดก็ตามที่จะเป็นรากฐานในการกำหนดสิทธิของมนุษย์ จึงไม่ต้องพึ่งพาหรือผูกพันกับกรอบแนวคิดว่าด้วยชีวิตที่ดีแบบใดเลย วัฒนธรรมใหม่นี้คือวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ทำได้ สำนึกเรื่องบาปบุญคุณโทษถูกแทนด้วยมโนทัศน์เรื่องความเจ็บป่วย คนทำชั่วทั้งหลายคือคนป่วยทั้งสิ้น ถ้ารักษาให้ถูกก็จะไม่ทำชั่ว สังคมยุคใหม่คือสังคมที่ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์เหลืออยู่เลย มีผู้นำทางวัฒนธรรมพูดว่าแม้แต่ความรักระหว่างพ่อแม่ลูกไม่ใช่เรื่องทาง ธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องขนบประเพณี
ทุกวันนี้ไม่มีใครพูดเรื่องจริยธรรม เพราะจะถูกถามกลับว่า จริยธรรมของใคร เมื่อไหร่ ชนชั้นไหน เสื้อสีอะไร ความแตกต่างด้านจริยธรรมของผู้คนในสังคมมีฐานะไม่แตกต่างอะไรจากความแตกต่าง ด้านรสนิยม เฉกเช่นเดียวกับความแตกต่างเรื่องเครื่องแต่งกายหรืออาหาร ซึ่งเป็นความพอใจส่วนตัว ความก้าวหน้าในความคิดเรื่องอิสระเสรีดังกล่าวทำให้ขันติธรรมเป็นคุณธรรมสุด ยอดของสังคมไทยทุกวันนี้ คือต้องไม่ไปประเมินคุณค่าทางจริยธรรมของผู้อื่น

ศีลธรรมของพลเมือง (ไม่) จำเป็น ?
ทุก วันนี้ เรากำลังไปสู่จุดที่บอกว่าสัมพันธภาพทางศีลธรรม ก็เฉกเช่นเดียวกับสัมพันธภาพทางวัฒนธรรม ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของมันเอง คือทุกคนต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นที่จะตามใจตัวเอง มุมมองด้านจริยธรรมที่แท้จริงคือการปฏิเสธน้ำหนักของจริยธรรม หลายคนเรียกตัวเองว่าเสรีนิยม แต่ถ้าพูดแบบนี้ เท่ากับลืมคิดไปว่า กำลังบอกว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องสนใจคุณธรรมของพลเมือง เพราะสิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่คุณลักษณะที่ดีของพลเมือง แต่เป็นสถาบันทางการเมืองและสังคมทั้งหลายที่เป็นสถาบันเสรี ประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่ระบบกฎหมายที่ทำให้ผู้คนที่มีต่างกันมากมายสามารถ อยู่รวมกันได้ นี่กลับไปสู่สภาพธรรมชาติแบบเดิม เราเป็นแค่ปัจเจกที่มาอยู่รวมกัน ทุกคนมีผลประโยชน์ของตัวเองไม่ขึ้นต่อกันและกัน และแลกเปลี่ยนกันโดยกลไกตลาดเสรี
คำถามคือว่าจริงๆ แล้วเป็นแค่นี้พอไหม เพราะถ้าเรายอมรับตรงนี้ ต้องย้อนกลับไปด้วยว่าแต่เดิม เราคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์เปราะบางจึงต้องระมัดระวัง มีกฎกติกา ถ้าเช่นนั้น กรณีโฆษณาทางวิทยุรณรงค์ไม่ให้เด็กท้องก่อนแต่ง ทำไมเราต้องสนใจเรื่องนี้ หรือเรียกร้องให้ควบคุมตัวเอง เพราะคติเสรีนิยมบอกว่าเราต้องปล่อยตัวเอง ความอับอายต้องถูกทำให้หมดไป โดยมีผู้นำทางความคิดทางวัฒนธรรมบอกว่า เจตนาใดที่เคยถูกมองว่าผิดทำนองคลองธรรม ถามว่าลึกๆ ในใจอยากได้ใช่ไหม ถ้าอยากทำก็ทำไปเลย ถ้าไม่ถูกจับได้ นี่ไม่ต่างอะไรจากความสามารถในการฆ่า คือมองว่าทุกคนชั่วเหมือนกันหมด เพียงแต่ถูกจับได้หรือไม่ถูกจับได้

ความลักลั่นของเสรีนิยมแบบไทยๆ 
ที นี้ ที่ตลกคือการเมืองไทยในปัจจุบัน จากการสำรวจของมูลนิธิเอเชียว่า สังคมไทยต้องการประชาธิปไตยแบบไหน ได้คำตอบว่า ต้องการให้ทุกคนมีส่วนในการปกครอง เมื่อถามต่อว่าสังคมไทยมีคนรวย เด่น มีการศึกษา ควรทำอย่างไร ได้คำตอบว่า เรียกร้องให้เอื้ออาทรคนระดับล่าง  ซึ่งมันขัดกัน ตามหลักการแล้ว สองอย่างไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าต้องการเสรีนิยม ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง คนรวยก็ควรอยู่ของคนรวย ไม่ต้องยุ่งกับคนจน เพราะอย่าลืมว่า ความเสมอภาคในโอกาสก็คือโอกาสที่ทุกคนจะไม่เท่ากันในตอนจบ
จากการสำรวจของมูลนิธิเอเชีย พบด้วยว่า ผู้คนส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐแทรกแซงกลไกตลาดเสรีและเกื้อหนุนประชาชนมาก ขึ้นในด้านเศรษฐกิจ แต่อีกด้านคือสังคมและวัฒนธรรม ก็เรียกร้องให้รัฐเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเสรีภาพส่วนบุคคลในเรื่องครอบครัวและเสรีภาพทางเพศ ตรงนี้จะเห็นว่าเสรีนิยมในปัจจุบันเอาสองอย่างมาใส่ด้วยกันคือ หนึ่ง คติประโยชน์นิยม ประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นตัวชี้นำ ฟังแล้วดูดี แต่มีเงื่อนไขนิดเดียวคือ ถ้าหากว่าสังคมหมู่มากบอกว่าห้ามฆ่าคน ไม่ได้หมายความว่าการฆ่าคนไม่ดีในตัวของมันเอง แต่หมายความว่าการไม่ฆ่าคนทำให้คนหมู่มากมีความสุข กลับกัน ถ้าการฆ่าคนทำให้คนหมู่มากมีความสุขก็อาจถูกต้องตามกฎหมายได้
เพราะฉะนั้น แนวคิดนี้มีข้อจำกัดของมัน ถ้าจะเอาศีลธรรมออกจากการเมือง คำถามคือ กฎหมายเพียงเพียงพอจริงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่พอ เพราะกลไกของรัฐไม่เคยที่เพียงพอที่จะเอาคนมาลงโทษได้ ถ้าคนไม่กลัวกรรมจากการทำความผิด อย่างไรกฎหมายก็ไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรานึกแต่จะใช้ตัวบทกฎหมายเป็นเกณฑ์อย่างเดียว อาจทำให้คนก่ออาชญากรรมร้ายแรง ยิ่งกว่า เพื่อหนีอาชญากรรมเบื้องต้น เช่น ขับรถฝ่าไฟแดง ตำรวจไล่จับ ถ้ามองว่าซิ่งทันก็หนีพ้น จึงซิ่ง แต่ก็ปรากฏว่าไปชนรถตู้แล้วคนตายเก้าคน เป็นต้น

ผิด !  เอาศีลธรรมออกจากการเมือง
เพราะ ฉะนั้น มองว่าการเอาศีลธรรมออกจากกฎหมายโดยสิ้นเชิงเป็นเรื่องที่ผิด แม้แต่เรื่องขันติธรรมที่พยายามบอกว่าต้องละเว้นจากการมีข้อวินิจฉัยทาง ศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้นนั้น คิดว่าไม่ถูก เพราะขันติธรรมที่แท้จริงคือการอดกลั้นต่อสิ่งชั่วร้ายบางอย่าง โดยฝืนกับความรู้สึกที่ไม่อยากอดทน เฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่เลวร้ายกว่าเท่านั้น เราอดทนอดกลั้นกับสิ่งที่ชั่วบางอย่างไม่ได้หมายความวาเราเห็นด้วยกับสิ่ง ที่ชั่วนี้ แต่เราอดทนเพื่อไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายกว่ามันเกิดขึ้น หรือเราอดทนเพื่อสิ่งที่อยู่สูงกว่าต่างหาก
เพราะฉะนั้น การมีขันติธรรมจึงต้องมีวินิจฉัยเชิงศีลธรรมอยู่ด้วยเสมอ ว่าตรงไหนที่เราควรอดกลั้น หรือตรงไหนที่อดกลั้นไม่ได้ เพราะบางครั้งเราต้องปรามความเห็นที่ผิดเพื่อปกป้องรักษาความจริง แต่บางครั้ง เราต้องมีขันติธรรมต่อความเห็นผิดๆ เพื่อเห็นแก่สันติสุข ความจริงและสันติสุขเป็นของดีด้วยกันทั้งคู่แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน การประนีประนอมในเรื่องหลักการศีลธรรมนั้นเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย
จากบทสนทนาระหว่างโสเครตีสกับยูไทโฟร โสเครตีสกล่าวว่า ถ้าเราเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของขนาดของสิ่งต่างๆ ก็ควรยุติการเห็นไม่ตรงกันด้วยการวัด ตกลงกันเรื่องของน้ำหนักที่แตกต่างด้วยการชั่ง แต่การเห็นไม่ตรงกันที่เราไม่สามารถจะตกลงกันได้และทำให้เราเป็นศัตรูกันคือ เรื่องเกี่ยวกับความถูกผิด สูงส่ง ต่ำทรามและดีเลว เรากลายเป็นศัตรูกันเป็นเพราะเราเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถตกลงกันได้อย่างเป็นที่พอใจ

สังคมเห็นไม่ตรงกันเรื่องศีลธรรม การปกครองด้วยเสียงข้างมาก เป็นเรื่อง ‘เพ้อเจ้อ’
ถ้า เป็นความเห็นไม่ตรงกัน เป็นความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ส่วนตัวไม่กลัวเท่าไหร่ เพราะยังมีทางตกลงกันได้ แต่ถ้าเป็นความเห็นไม่ตรงกันเรื่องศีลธรรม สำนึก จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้น สังคมปัจจุบันที่คนยอมรับว่าเป็นสังคมทุนนิยมเสรี ซึ่งปกติมีความแตกต่างทางผลประโยชน์และเศรษฐกิจเป็นตัวแบ่งแยกผู้คนอยู่แล้ว โดยผู้คนยังมีความคิดเรื่องศีลธรรมอย่างเดียวกัน ความแตกต่างในสังคมทุนนิยมนั้นยังพอทน แต่สังคมทุนนิยมเสรีแตกต่างกันทางฐานะ เศรษฐกิจ สังคม แล้วยังมีความแตกต่างในเรื่องว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่วด้วยแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ก็อย่างที่เห็น คือต้องฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง
ดังนั้นในสังคมแบบนั้น การปกครองโดยเสียงข้างมากเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ สังคมที่คนเห็นไม่ตรงกันเรื่องศีลธรรม การปกครองโดยเสียงข้างมากไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งที่แบ่งแยกเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยออกจากกัน จะมีความเป็นพื้นฐานหรือหนักแน่นยิ่งกว่าสิ่งที่รวมพวกเขาเข้าเป็นสังคม เดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือกรณีของอเมริกา ช่วงสงครามกลางเมือง ฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้มีสิ่งที่ร่วมกันหลายเรื่อง แต่พอประเด็นเรื่องทาสเข้ามา ทำให้ความเหมือนกันที่มีทั้งหมดหมดความสำคัญไปเลย  สังคมไทยตอนนี้ก็คล้ายๆ อย่างนั้น แต่เรามีทางเลือกว่าจะปล่อยคนดำให้หมดเลย หรือจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

ถึงเวลาถกเถียงฟันธงทางทฤษฎี
เพราะ ฉะนั้น ถึงตอนนี้ประชาธิปไตยไทยต้องตัดสินใจ ต้องมีพื้นฐานทางทฤษฎีที่ชัดเจนฟันธงเลยว่ามันคืออะไร จะมาอ้ำๆ อึ้งๆ ไม่ได้ จริงๆ ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ เพราะผู้นำความคิดปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์ พอเป็นนักประวัติศาสตร์การจะพูดถึงสิทธิตามธรรมชาติ กฎแห่งธรรมชาติ ความจริงที่เป็นนิรันดร์ พูดไม่ได้  นักประวัติศาสตร์ยอมรับตรงนี้ไม่ได้เพราะต้องไปตามเงื่อนไขทางสังคมและ เศรษฐกิจ แต่พอพูดถึงเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจ ปัญหาก็เกิดขึ้นทันทีว่า ตกลงที่พูดอย่างนี้เพราะเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจทำให้พูดอย่างนี้ใช่ไหม ตกลงที่พูดมาเป็นสัจธรรม เพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจทำให้เป็นแบบนั้น ต่อไปมันเปลี่ยนก็อาจทำให้มันเปลี่ยนไปอีก เพราะฉะนั้น จึงคิดว่า เราต้อง settle down พื้นฐานทางทฤษฎีตรงนี้ให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร
ที่สำคัญอีกอย่างคือ เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยในปัจจุบัน อยากให้เทียบว่า ตอน 2475 คณะราษฎรวิจารณ์ระบอบกษัตริย์เละเลย เพราะว่าได้เห็นสิ่งที่เป็นจริง แต่ประชาธิปไตยของคณะราษฎร์ยังอยู่ในแผ่นกระดาษ ยังมาไม่ถึง ความฝันย่อมสวยกว่าความจริงเสมอ แต่พอมาตอนนี้ จะพูดถึงประชาธิปไตยราวกับว่ามันสวยต่อไปไม่ได้ ต้องพูดจากความจริงในปัจจุบันว่าอะไรที่ไม่ดี ถ้าไม่พูดตรงนั้นด้วย จะเหมือนกับกำลังเพ้อเหมือนคนหนุ่มสาวที่มีความรัก

ประชาธิปไตยแบบภาวะตกหลุมรัก
ขอ จบด้วยข้อเขียนเรื่องความรักของคนหนุ่มสาว "ความรักของคนหนุ่มสาวเป็นอะไรบางอย่างที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น รุนแรง และหุนหัน ตราบเท่าที่ยังมีอารมณ์รักอยู่ มันฉุดดึงตัวตนของมนุษย์ทั้งตัวเข้าไปอยู่ใต้กระแสลม ห่าฝนและคลื่นกระแสไฟฟ้าของมัน ความรักเช่นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมจริง จากทัศนะมุมมองของสมัยใหม่ 9 ใน 10 ของสิ่งซึ่งคู่รักเห็นขณะที่พวกเขาจ้องมองตากัน เป็นสิ่งที่จินตนาการเอาเอง มันไปกันได้กับเหตุผลเฉพาะตราบเท่าที่เหตุผลไม่ได้ท้าทายภาพลวงตานั้น มันเป็นเรื่องที่เพ้อฝันเป็นไปไม่ได้ เพราะคู่รักไม่มีสำนึกในเรื่องข้อจำกัดของตนเองเลย มันอาจนำไปสู่การเสียสละอำนาจที่มีได้ เพราะด้วยเหตุผลที่ไม่ตระหนักในเรื่องข้อจำกัดของตนเอง คู่รักจึงอยากจะทุ่มเทอย่างสุดตัวให้แก่กันและกัน ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเรื่องเห็น แก่ตัวอย่างสุดๆ เพราะในช่วงแรกรัก เขาอาจจะไม่ได้ยินอะไรอื่นเลย และหากว่าจะมีใครอื่นอยู่ด้วย คนอื่นๆ ก็ไม่สำคัญทั้งสิ้น แน่นอนว่าชายหรือหญิงที่ไม่เคยมีความรักนั้นก็เหมือนกับคนที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่กระนั้นก็ตาม ความรักของหนุ่มสาวก็ไม่ใช่ทั้งหมดของความรักและโดยตัวมันเองแล้วก็ไม่ใช่ สิ่งที่สมบูรณ์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ

"อุดมคติทางการเมืองของคน หนุ่มสาวมีลักษณะคล้ายความรักของคนหนุ่มสาวทั้งปวง ข้อแตกต่างที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่า สิ่งที่ถูกรักไม่ใช่ตัวบุคคล เป็นอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า เพราะฉะนั้นผลกระทบโดยรอบจึงใหญ่เป็นเงาตามตัว และโดยที่ความรักของคนหนุ่มสาวสามารถพัฒนาเป็นความรักของผู้ใหญ่ได้ อุดมคติทางการเมืองก็สามารถพัฒนาเป็นอุดมคติที่มีวุฒิภาวะได้เช่นกัน แต่ในทำนองเดียวกับที่ความรักของคนหนุ่มสาวมักจะจบลงที่ความผิดหวัง อุดมคติทางการเมืองก็มักจะแปรเปลี่ยนเป็นการมุ่งเยาะเย้ยถากถางหรือเสื่อม ถอยลงเป็นความบ้าคลั่ง มันไม่เพียงแต่จะแตกต่างจากความประเสริฐในทางการเมือง แต่มันจะกลายเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่ที่เต็มไปด้วยอันตราย มันสามารถทำให้คนหนุ่มสาวมีความใฝ่ฝันที่สูงส่งยิ่ง แต่กลับจะทำให้เขาต้องบาดเจ็บพิการแทน"
ขอให้เรามีความหวังว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเราจะพัฒนาเช่นเดียวกับ ความรักของหนุ่มสาวไปเป็นความรักของผู้ใหญ่ที่ยั่งยืนต่อไป และฝากถึงนักประวัติศาสตร์ว่าเวลาบอกว่า ประวัติศาสตร์หวนคืนไม่ได้ เป็นอุปมาอุปไมยที่มีพลังมาก ในทำนองเดียวกัน เข็มนาฬิกากระโดดข้ามไม่ได้ ต้องค่อยๆ ไป ถ้ามันหมุนหวนคืนไม่ได้ ก็วิ่งเร็วไปข้างหน้าไม่ได้เช่นเดียวกัน
อุดมการณ์นั้นจะมีรายละเอียดอย่างไรอาจยังไม่ปรากฏชัด แต่ขอให้หวังว่า จะได้พบกับประชาธิปไตยที่ไม่ปฏิเสธมิติของศีลธรรม ไม่ปฏิเสธความดีความชั่วว่ามีอยู่จริง ไม่ปฏิเสธความเป็นธรรมชาติของความรักและความเป็นธรรมชาติของครอบครัวมนุษย์ เพราะนั่นเป็นสถาบันหลักที่เป็นรากฐานทางการเมืองที่ใหญ่กว่า แต่อาจจะมีความเป็นธรรมชาติน้อยกว่า จึงต้องพึ่งพาวัฒนธรรมหรือความเห็นร่วมกันของมนุษย์มากกว่า
ขออย่าให้หลงผิดถึงขนาดว่าเพื่อจะต่อสู้กับสิ่งซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็เต็มใจที่จะทำให้ประชาธิปไตยที่จะก่อตัวขึ้นในอนาคต กลายเป็นประชาธิปไตยที่ตัดขาดจากศีลธรรมและธรรมชาติ เพราะนั่นจะไม่ใช่ประชาธิปไตยของมนุษย์แต่อาจเป็นผลผลิตของอะไรบางอย่างที่ วิญญูชนอย่างผมไม่อาจนับได้ว่าเป็นมนุษย์


 


วิจารณ์และแลกเปลี่ยนความเห็นต่อบทความที่นำเสนอ

ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์

มีประเด็นวิจารณ์ 6 ประเด็น ได้แก่
1) กรณีที่บทความระบุว่า ความคิดของปัญญาชนสาธารณะที่พูดเรื่องประชาธิปไตยตอนนี้ออกมาทางปีก Radical Enlightment ตอนที่ทำนิติราษฎร์ขึ้นมา นั่งคุยเรื่องความคิดว่าจะสื่อสารกันอย่างไร ที่เสนอ Enlightenment ขึ้นมา เพราะคิดว่าสภาพสังคมปัจจุบันของไทย แม้ทางกายภาพดูเป็นสมัยใหม่ แต่ทางความคิดจิตใจยังไปไม่ถึงสมัยใหม่ เช่นนี้ ถ้าความคิดของนิติราษฎร์เป็นความคิดที่ radical หรือไปในทางที่สุดโต่งรุนแรง นั่นอาจหมายความโดยปริยายว่าสังคมไทยปัจจุบันยังไม่ถึงความเป็นสมัยใหม่ก็ ได้ เพราะแนวคิด Enlightenment เกิดในช่วงศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งเป็นการเขย่าของเดิม
2) เห็นด้วยว่า ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีโอกาสปูพื้นความคิดเรื่องประชาธิปไตยน้อยมากเมื่อเทียบกับปฏิวัติฝรั่งเศส มองว่าอาจเพราะชนชั้นกระฎุมพีไทยไม่โตเท่ากับชนชั้นกระฎุมพีช่วงการปฏิวัติ ฝรั่งเศส  1789 ซึ่งชัดมากว่า ระบอบเดิมนั้นไม่มีที่ให้คนพวกนี้ขึ้นไป ขณะที่ของไทยเป็นการระเบิดเพราะคนในระบบราชการเดิม โดยเฉพาะทหารชั้นกลางลงมา ดังนั้น การก่อตัวของ 1789 กับ 2475 จึงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
นอกจากนี้ ในแง่บุคลิกภาพส่วนตัว หากมองปรีดี พนมยงค์ ในฐานะมันสมองของคณะราษฎร จะเห็นว่าปรีดีไม่อินกับการปฏิวัติ 1789 เนื่องจาก หนึ่ง ช่วงที่ปรีดีเรียนที่ฝรั่งเศส ในช่วง 1920 เป็นช่วงสาธารณรัฐที่สาม ซึ่งการปฏิวัติฝรั่งเศสเคลียร์หมดแล้ว และพูดกันเรื่องสังคมนิยมและสวัสดิการต่างๆ โดยจะเห็นว่าปรีดีพูดถึงเรื่องภราดรภาพ สวัสดิภาพ ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การกระจายความเสมอภาคทางรายได้
สอง จากคำนำของ อ.ปรีดี ที่เขียนในหนังสือเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ระบุว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ไม่ใช่การปฏิวัติที่สมบูรณ์เพราะไม่ได้ทำเรื่องเศรษฐกิจ จนสุดท้ายมีการเสียชีวิต มีความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้น จะเห็นชัดว่าปรีดีไม่ได้เชียร์การปฏิวัติ 1789 และเมื่อดูในกลุ่มคณะราษฎร ก็พบว่าแทบไม่มีใครเชียร์การปฏิวัติ 1789 เช่นกัน อาจมีเพียงเตียง ศิริขันธ์ ที่เขียนหนังสือ "หัวใจปฏิวัติฝรั่งเศส" ซึ่งก็ไม่ได้พูดเชิงวิธีคิด ปรัชญาการฟอร์มตัวของความคิดแบบ 1789 แต่พูดเชิงโรแมนติก ชื่นชมความเสียสละของการปฏิวัติและเล่าข้อเท็จจริงมากกว่า ขณะที่งานภาษาไทยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่วิเคราะห์เหตุปัจจัยมีน้อย มีเพียงใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่เท่านั้น  ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง 2475 อาจเชื่อมกับการปฏิวัติ 1789 ได้นิดหน่อย แต่มันสมองขอคณะราษฎรไม่ได้รู้สึกถึง 1789 ในเชิงชื่นชมเท่าไหร่
3) ศีลธรรม ปัญหาของภาษาไทยคือพอแปลว่า ศีลธรรม แล้วไปเชื่อมกับศาสนาพุทธตลอด ถ้าศีลธรรมแปลจาก moral ซึ่งเป็นธรรมในทางปรัชญา ไม่น่าจะโยงกับศาสนาพุทธเท่าไหร่ แต่พอแปลเป็นภาษาไทย มันจะลากเข้าสู่พรมแดนของศาสนาพุทธตลอดเวลา
ที่ อ.สมบัติบอกว่าเป็นเทรนด์ว่าเมื่อพูดถึงศีลธรรม จะมีคำถามว่าศีลธรรมของใคร ทำไมต้องมีศีลธรรม จะบอกว่าพวกนี้วิจารณ์อย่างเดียวก็พูดได้ แต่ถ้าดูเหตุปัจจัยว่าทำไมเขาถึงเริ่มวิจารณ์ มองว่าเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยคำว่าศีลธรรมไปโจมตีคนอื่นตลอดเวลา จึงเกิดการตั้งคำถามกลับ นอกจากนี้ การโจมตีแบบไม่เสมอภาค ประเภทที่ว่าพอเป็นฝ่ายตัวเอง การประเมินเรื่องศีลธรรมจะอ่อนลง ทำให้คนเริ่มตั้งข้อสงสัยกลับมาและวิจารณ์ว่าไม่ต้องมีศีลธรรมก็ได้
ปัญหาคือตกลงแล้วศีลธรรมคืออะไร ในยุคนี้ประเมินยาก เสนอว่าจำเป็นจะต้องมีสนามที่มีอิสระและเสมอภาคเป็นธรรมในการถกเถียงกันได้ แต่ตอนนี้ในสังคมไทย ยังหาสนามเช่นนี้ไม่ได้
4) เห็นด้วยว่าประชาธิปไตยโดยไม่มีหลัก เช่น บอกว่าเสียงข้างมากแล้วได้ตลอดนั้นไม่ถูกต้อง แต่จะสังเกตได้ว่า สังคมประชาธิปไตยหรือที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยจะเกิดปัญหาคล้ายกัน คือมีความขัดแย้งระหว่างองค์กร สถาบันการเมือง บุคคลต่างๆ ที่มีฐานจากการเลือกตั้ง กับองค์กร สถาบัน บุคคลต่างๆ ที่ไม่มีฐานจากการเลือกตั้ง ฝ่ายที่หนึ่งคือเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลที่ประชาชนสนับสนุน อีกข้างคือ ศาล องค์กรอิสระ องค์กรตรวจสอบต่างๆ
แม้ว่าจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้สองสิ่งอยู่ด้วยกันได้ คิดว่าต้องยืนพื้นก่อนว่าประชาธิปไตยแบบผู้แทน แบบเลือกตั้ง ต้องเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ จากนั้นองค์กรที่มาตรวจสอบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยพอสมควร เช่น หลังรัฐประหาร โผล่มา คนจะตั้งคำถาม จึงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามาจากรัฐธรรมนูญกำหนดแน่นอน ที่มาขององค์กรมีจุดเชื่อมกับประชาชนอยู่บ้าง ก็จะชอบธรรมทางประชาธิปไตยพอสมควรที่จะตรวจสอบองค์กรจากการเลือกตั้ง
5) ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย ที่ อ.สมบัติบอกว่าถ้าอยากเสนอไอเดียว่าประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ควรต้องได้พูดออกมา ปัญหาคือทุกฝ่าย ปัญญาชนหรือคนส่วนใหญ่ที่อยากพูดเรื่องนี้พูดได้ไม่หมด ถ้าพูดได้หมดจะถกเถียงกันได้สนุกกว่านี้ การพูดได้ไม่หมดหมายความว่า สภาพสังคมไทยยังไม่มีสนามที่ฟรีและแฟร์ ถ้ามี สังคมประชาธิปไตยจะเดินหน้าไปได้ เช่นกรณีโสเครตีสกับยูไทโฟรเถียงกัน บางเรื่องไม่รู้ว่าใครถูกผิด แต่ถ้ามีสนามที่ว่า ก็จะได้เถียงและแสดงเหตุผลของตัวเอง
6) อุดมคติทางการเมือง-ความรัก ฝ่ายที่นำเสนอความคิดในทาง enlightenment มาทางประชาธิปไตย ถ้าเราบอกว่าพวกนี้เป็นพวกอุดมคติทางการเมือง ที่พยายามจะผลักดันกู่ร้องป่าวร้องประกาศให้คนมาสนใจและบอกว่าสิ่งที่เป็น อยู่เป็นสิ่งที่ผิดและมีสิ่งใหม่มาป่าวประกาศ ถ้าบอกว่านี่เป็นอุดมคติทางการเมืองคล้ายความรัก ก็ต้องเอามาใช้กับฝ่ายที่ครอบงำสังคมไทยในปัจจุบันอย่างพวกนิยมเจ้าเช่นกัน บางทีที่ทำไปก็กำลังกู่ร้องป่าวประกาศในนามของความรักเช่นกัน ดังนั้น ถ้าทั้งสองข้างต้องการรณรงค์ ก็จะกลับไปจุดที่บอกว่าต้องมีสนามให้เถียงกันได้
อนาคตของสังคมไทยจะเป็นอย่างไรจะเข้าสู่ย่อหน้าสุดท้ายที่ อ.สมบัติว่าหรือไม่ คิดว่า ปัจจุบันฝ่ายนิยมเจ้า ครอบงำรัฐไทยมาตลอดทั้งด้านอุดมการณ์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเปลี่ยนผ่านไม่แน่เสมอไปที่จะบอกว่าฝ่ายที่กำลังนำเสนอสิ่งใหม่จะนำไปสู่ ความรุนแรงเสมอไป ตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายที่กำลังครอบงำสังคมไทย รู้ว่ากำลังมีสิ่งใหม่และต้องการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน แล้วเปิดโอกาสให้คุย ความรุนแรงจะไม่เกิดโดยอาจจะหาโมเดลที่สมดุลได้ แต่ถ้าข้างหนึ่งกำลังกู่ร้องป่าวประกาศ อีกข้างบอกว่าเดี๋ยวจะรุนแรง ให้หยุดเสีย ก็อาจกลายเป็นความรุนแรงขึ้นไปอีกได้
ดังนั้น กติกาพื้นฐานที่ให้พูดคุยได้ทุกเรื่องต้องเริ่มก่อน จากนั้น จะช่วยกันตอบได้เองว่าสังคมไทยจะเดินไปทิศทางใด


อธึกกิต แสวงสุข
คอลัมนิสต์นามปากกา “ใบตองแห้ง”

คง ไม่สามารถวิจารณ์เชิงปรัชญาประชาธิปไตยได้มาก แต่ขอพูดจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ อ.สมบัติบอกว่า นิติราษฎร์กำหนดจุดยืนอยู่ในกลุ่มนักคิดภูมิธรรมหัวรุนแรงนั้น มองว่าต้องอธิบายปรัชญากับความเป็นจริง เวลาที่นิติราษฎร์เสนอข้อเสนอต่างๆ ปรัชญานั้นเป็นตัวหนึ่ง แต่ความจริงอาจจะเป็นอีกอย่างก็ได้ในทางปฏิบัติ เช่น ถ้านิติราษฎร์เสนอแก้มาตรา 112 มีคนถามว่าทำไมแรงจัง ส่วนตัวมองว่านี่คือทฤษฎี นิติราษฎร์ในฐานะนักกฎหมายเสนอแบบนี้ ส่วนจะแก้อย่างไรให้สมดุลได้ก็แก้กันไป หรือ กรณี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นหลักที่พูดตรงๆ แบบสมบูรณ์แบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จในวันนี้ พรุ่งนี้ ทุกคนก็ยอมรับว่าต้องค่อยเป็นไป
ที่พูดอย่างนี้ เพราะในสังคมไทย ถ้าใช้คำว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์มาตั้งนาน ตั้งแต่หลัง 14 ต.ค.16 โดยเฉพาะหลัง 6 ต.ค.19 ที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ คิดว่าสังคมไทยอยู่ในสถานะที่อะลุ่มอะล่วยระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ มาตลอด จะเรียกว่าประชาธิปไตยไหม ก็เป็นในระดับหนึ่ง คือไม่มีความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจ มันมีการประนีประนอม มีการเฉลี่ยอำนาจซึ่งกันและกัน อาจเรียกว่าเดินทางสายกลางมาตลอด และขัดแย้งกันช่วง พ.ค.35 และยุคทักษิณ ชินวัตร
ช่วงที่เกิดปัญหา อำมาตย์ที่คิดว่าเดินสายกลางมาตลอด กลับยอมรับทางสายกลางนั้นไม่ได้ และกลับไปสู่ความ radical ใช้ความรุนแรง โค่นล้มฝ่ายตรงข้ามชนิดที่จะเอาให้เหี้ยนเตียน ซึ่งจริงๆ มันขัดกับธรรมชาติที่เขาเดินมา อธิบายแบบธงชัย วินิจจะกูล คือ มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยที่ฝ่ายอำมาตย์มีอำนาจ แทรกแซง ดูแล ซึ่งในด้านหนึ่งสังคมไทย รับว่า มีการดูแลโดยธรรมอยู่บ้าง มีผลประโยชน์บ้าง ยอมรับกันได้  จนมาไม่อะลุ่มอะล่วยกับระบอบทักษิณ
ส่วนตัวใกล้ชิดกับ อ.วรเจตน์ ตั้งแต่ปี 48-49 ตอนปี 49 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการหันคูหาเลือกตั้งหันหลังเป็นโมฆะ นั้น อ.วรเจตน์มองว่าตามหลักกฎหมายแล้วผิด แต่ก็เงียบเพราะเข้าใจว่า ถ้ากลับไปสู่การเลือกตั้งใหม่ เลือก กกต.ใหม่ ก็โอเค เพราะประชาธิปไตยทางหนึ่งก็คือการประสานความขัดแย้งด้วยการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาล การถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครบอกว่า การเอาเงื่อนไขของการหันคูหามาล้มการเลือกตั้งมันไม่ถูก
ส่วนตัวเตรียมใจว่า ถ้าพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งแล้วจะมีการเอาอำนาจนอกระบบหรือมวลชนมาต่อ รองบีบไม่ให้ทักษิณเป็นนายกฯ ด้วยเหตุผลว่าไม่เหมาะสม ก็ยอมรับได้ เพราะยังอยู่ในกรอบของทางสายกลาง เพราะหลักประชาธิปไตยขั้นต้นคือไม่ทำลายความเห็นต่างที่เห็นชัดเจนในสังคม ไทย ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีการปลุกระดมขึ้นมาเพื่อทำลาย ความเห็นต่าง เรื่องศีลธรรม-คนดี ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง บุกมาจากเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทั้งที่ก่อนปี 49 เราไม่เคยขัดแย้งกันเรื่องทฤษฎีเหล่านี้เลย
มีคำถามสองข้อ คือ ปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราถึงมาขัดแย้ง อย่างที่อ.สมบัติว่า หรือคนกลุ่มหนึ่งปั้นปัญหาขึ้นมา ทั้งที่เมื่อก่อนตัวเองก็ยอมรับประชาธิปไตยเลือกตั้ง พ.ค.35 ก็ชูการเลือกตั้ง แต่พอต้องการเอาชนะทางการเมือง ก็บอกว่าเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย เชื่อคนดี ศีลธรรม ขึ้นมา ปลุกความคิดกษัตริย์นิยมขึ้น ยกตัวอย่างว่า ก่อนยุครัฐบาลทักษิณ ในหลวงพระราชทานพระบรมราโชวาท มีการนำเสนอที่พอเหมาะพอควร  แต่พอยุคทักษิณ สื่อพาดหัวใหญ่มาตลอด หนังสือพิมพ์ยุคทักษิณเป็นต้นมาชูหนักมาก คล้ายกับเอาทุกอย่างมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง
เพราะฉะนั้น ความสับสนเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น ตั้งคำถามว่าสับสนจริงหรือแกล้งสับสน อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ว่ามีข้อถกเถียงจริง ก็มองว่ามีได้ เพราะเราก็มาถึงจุดที่ต้องถกเถียงกันว่าจะไปอย่างไรต่อ  ถ้าพูดแบบผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ ก็สนับสนุนหลักการประชาธิปไตยว่าอยู่บนหลักความเท่าเทียมเสรีภาพ อาจไม่ต้องเกิดในพรุ่งนี้ก็ได้ แต่สิ่งที่ควรจะต้องเกิดคือการสร้างสมดุลแห่งอำนาจที่เกิดการยอมรับซึ่งกัน และกัน ขั้วอำนาจต่างๆ ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกันได้ เพราะเมื่อก่อนประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ มีแต่ผู้มาจากการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย ระบบราชการและฝ่ายอำมาตย์ แต่พอระบอบทักษิณมา ตามที่เกษียร เตชะพีระ พูดคือ กลุ่มทุนใหม่ คนชั้นล่าง คนชนบท ที่ฮือขึ้นมากับการเลือกตั้ง ก็ต้องมีการหาจุดสมดุลใหม่ของสังคม แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยสูงสุดก็จะเป็นเป้าหมาย แม้รูปแบบที่จะไปไม่ต้อง 100% แต่ขอให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้
3-4 เดือนนี้ เราอยู่ในปัญหาใหม่ว่าสังคมเริ่มยอมรับกลายๆ แล้วว่า รัฐประหารไม่ได้ ใช้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไม่ได้ มองว่าต้องยอมให้รัฐบาลเพื่อไทยอยู่ยาว แต่จะอยู่แบบแย่ๆ ไม่เป็นที่ยอมรับ วิพากษ์ ย่ามใจ เหลิงอำนาจ ทุจริต แต่ความขัดแย้งจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อไป ซึ่งนี่เป็นจุดที่ก็อึดอัด เพราะไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ อย่างเรื่องคอร์รัปชั่น บางครั้งไม่ได้พูดเพราะไม่แน่ใจว่าโจมตีเกินเลยไหม แต่ก็มีคนในพรรคเพื่อไทยเองเล่าให้ฟังว่ามีที่จริงหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้ คือ ผู้อยู่ตรงข้ามรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างที่มากกว่าตรวจสอบรัฐบาล แต่เป็นการล้มรัฐบาลและล้มรากฐานของประชาธิปไตย เช่นพยายามจะยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเสื้อแดงรับไม่ได้ เกิดการต่อต้านมาก จนไม่ฟังว่าที่ตรวจสอบรัฐบาลนั้นจริงไหม บางที จริง แต่การที่ฝ่ายค้าน พันธมิตรฯ หรือสื่อ ให้น้ำหนักมากจนเห็นว่าต้อการยุบพรรค ล้มรัฐบาล กลับสู่ระบอบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ถูกต่อต้าน
เรื่องประชาธิปไตยกับศีลธรรม มองว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ปฏิเสธศีลธรรม แต่ระยะเฉพาะหน้า อย่าเอาศีลธรรมมาปิดกั้นเสรีภาพ การแสดงความเห็น การวิจารณ์ ไม่ว่าในระบอบจารีตนิยมหรือ สังคมนิยม ถูกบอกว่าคนดีเท่านั้นถึงมีสิทธิพูด ซึ่งความจริงไม่ใช่ สิ่งเหล่านี้ถูกใช้ทั้งในป่าในความคิดแบบสังคมนิยม ตอนหลังเติ้งเสี่ยวผิงถึงบอกว่าแมวสีไหนก็จับหนูได้ เพราะถ้าเอาคนมีคุณธรรมมาบริหาร เศรษฐกิจก็คงไม่ไปไหน
อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมแบบที่พูดไม่ได้บอกว่าคนเป็นชู้นั้นเป็นคนดี แต่ศีลธรรมขั้นต่ำของการอยู่ร่วมกันคือไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ส่วนการจะว่าเขาถูกผิดดีเลวก็เป็นเสรีภาพ ไม่ได้หมายความว่ายอมรับพฤติกรรมแบบนั้นว่าดี แต่ยอมรับว่าไม่ได้เลวร้ายขนาดอยู่ในสังคมร่วมกันไม่ได้ และถ้าเขาทำบทบาทในสังคมเช่นเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี ตราบที่ไม่กระทบที่ทำงานก็ต้องยอมรับ
การดีไม่ดีเป็นมาตรฐานของคนที่จะคิดกันเอง เพราะมาตรฐานของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ซึ่งเรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับการใช้ในตุลาการภิวัตน์ ซึ่งจะเห็นว่าหลายเรื่องเป็นเรื่องที่เรียกร้องทางคุณธรรมจริยธรรม เช่น กรณียงยุทธ ทางจริยธรรมแล้ว ควรจะลาออก แต่เรื่องกฎหมายไปเถียงกันอีกที แต่สังคมไทยพอเจอนักการเมืองไม่มีมารยาทก็พยายามไล่ ชนิดให้พ้นจากตำแหน่งหรือต้องติดคุก ซึ่งเรื่องนี้ลำบาก เพราะมาตรฐานศีลธรรมของคนไม่เท่ากัน

สมบัติ จันทรวงศ์
ถ้า ทุกคนเป็นพลเมืองดี สังคมต้องมีปัญหาแน่ ยกตัวอย่างกรณีเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์ ถ้าทุกคนเป็นคนดี เคารพกฎหมาย ยิวก็คงตายหมด ดังนั้น ต้องเป็นคนดี ออกมาต่อต้านนาซี ทรยศประเทศชาติของตัวเองเพื่อมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีแต่คนที่เคารพกฎหมายอย่างเดียว มีปัญหาแน่นอน
มีอะไรบ้างที่ทำแล้วกระทบตัวคุณคนเดียวโดยไม่กระทบสังคม ความเชื่อส่วนตัวนั้นกระทบสังคมทั้งนั้น เช่น สำมะเลเทเมา มีลูกแล้วทิ้ง สังคมก็ต้องเลี้ยง ต้องเก็บภาษีเพิ่ม แต่จะแค่ไหน ความผิดของนักการเมืองบางอย่างไม่ควรจ้องจับผิดเขา เพราะเขาทำประโยชน์ได้มากกว่า แต่ขณะเดียวกันความผิดบางอย่างถ้ายอมรับได้ สังคมเจ๊ง เช่น ทุกวันนี้ คน 70% บอกว่านักการเมืองโกงได้ ตราบเท่าที่แบ่งบ้าง นี่เป็นความเสียหายเพราะส่งเสริมให้คนโกงได้
ภูมิธรรมแบ่งได้หลายสาย สิ่งที่นิติราษฎร์พยายามทำคือแบบฝรั่งเศส โจมตีข้อผิดพลาด ป่าวประกาศสัจธรรม นั้นยังไม่ถูกต้อง ถ้าจะแนะนำ อ.ปิยบุตร ต้องอ่าน The Prince เพราะ The Prince บอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดที่นักการเมือง หรือผู้นำต้องทำคือ การเปลี่ยนแปลง การนำเอาสิ่งใหม่เข้ามาในสังคม ซึ่งยากเพราะคุณประโยชน์ของของใหม่ คนมองไม่เห็น แต่คนที่ได้ประโยชน์จากของเดิมมี จำนวนมากและพร้อมจะเป็นศัตรู คนที่จะเชียร์ต้องเชียร์ลับๆ ไม่กล้าออกมา เพราะกฎหมายอยู่อีกข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนที่จะนำการเปลี่ยนแปลง ตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องอ่านการเมืองเป็น เล่นการเมืองเป็น คิดเป็น วางแผนเป็น ซึ่งนิติราษฎร์ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ
สอง ที่ต้องท้วงติงคือ เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่โดยไม่มีศีลธรรม อย่างทั้งสองท่าน (ปิยบุตร-อธึกกิต) ที่มาพูด ต้องแน่ใจว่าซื่อสัตย์สุจริต หมายความอย่างที่พูดจริงๆ ต้องทึกทักว่าท่านมีตรงนี้ก่อนไม่เช่นนั้น เราจะนั่งฟังท่านได้อย่างไร ดังนั้น คนที่บอกไม่ต้องเชื่อศีลธรรม เหมือนกับการที่ตนเองเป็นคนกรุงเทพฯ แล้วพูดว่า คนกรุงเทพโกหกทุกคน เชื่อได้ไหม นั่นก็ต้องยกเว้นตนเองคนหนึ่งสิ่งที่พูดถึงจะเป็นจริง เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธเรื่องศีลธรรมไม่ได้ ยิ่งนักการเมืองที่มีอำนาจตัดสินใจต่อส่วนรวม ยิ่งต้องมีมากกว่าคนอื่น ถ้านักการเมืองผิดศีลข้อสามก็ต้องสงสัยว่า เขาจะไม่ผิดข้ออื่นด้วยหรือ ในเมื่อมีอำนาจเอื้อให้ทำได้ง่าย
สาม อย่าคิดว่ากระบวนการประชาธิปไตยเป็น Self correcting process กระบวนการประชาธิปไตยไม่มีอะไรที่บอกว่าจะแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองได้ ไม่มีหลักประกันว่า ไปนานๆ แล้วทุกอย่างจะดีเอง ถ้าไม่วางแผน ไม่ออกแบบสถาบันไปช่วยอาจจะเละก็ได้
ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ มีการศึกษาว่า มีคนชั้นสูงซึ่งมีฐานะได้เปรียบ คนข้างล่างไม่มีเลย พรรคสังคมนิยมในอังกฤษพยายามเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ซึ่งไม่มีปรากฏในงานนิติราษฎร์หรือข้อคิดของเสื้อแดง นั่นคือ การปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้ลูกคนระดับล่างที่มีปัญญาไต่ขึ้นมาได้ เพราะความสามารถสติปัญญาเป็นสิ่งที่กระจายไปทั่ว แค่เอาเงินมาแจกร้อยชาติก็หมด แต่ไม่ทำให้คนเท่ากัน ถามว่า เห็นนโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองไหนบ้างที่พูดเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องที่ชี้ว่าใครที่คิดอะไรอย่างจริงจัง
เราไม่เห็นวิสัยทัศน์นี้เลยในส่วนของคนที่บอกว่าป่าวประกาศการเปลี่ยนแปลง
2475 คือผลพวงการปฏิรูปการศึกษาของรัชกาลที่ 5 ถ้ารัชกาลที่ 5 ไม่ปฏิรูปการศึกษา คนอย่าง ปรีดี จอมพล ป. พระยาพหลฯ จะโผล่มาได้หรือ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ประชาธิปไตยไม่ใช่กระบวนการที่แก้ไขตัวเองได้ เพราะประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าอาจไปทางไหนก็ได้ และไม่เห็นว่าเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่แท้นั้นเป็นอย่างไร
เวลาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค มีข้อถกเถียงกันมากว่าควรมีข้อจำกัดหรือไม่ แนวคิดสมัยใหม่บอกให้ปล่อยเต็มที่ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย กรณี The Innocence of Muslim เห็นได้ชัด อเมริกันบอกว่ามีอิสระจะพูดอะไรก็ได้ แต่หาเรื่อง มันทำให้เกิดความขัดแย้งมหาศาล ศาลสูงอเมริกาเองเคยตั้งธงไว้ว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็น ถ้าแสดงความเห็นแล้วจะเกิดอันตรายที่ชัดเจนปัจจุบันทันด่วน ไม่มีสิทธิพูด เช่น พูดในโรงหนังว่าไฟไหม้ ทั้งที่ไฟไม่ไหม้ ไม่มีสิทธิพูด
เพราะฉะนั้น ข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ที่วัตถุประสงค์ว่า พูดเพื่ออะไร
ประชาธิปไตยที่เชิดชูความเสมอภาคและเสรีภาพในการแสดงออกต้องมีข้อจำกัด ทั้งในทางศีลธรรมและทางปฏิบัติ ประชาธิปไตยก็เป็น myth เป็นสิ่งซึ่งถูกสร้างขึ้น มีข้อสมมติเต็มไปหมด ทำให้ต้องจัดองค์กรเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุล อย่าลืมว่าประชาธิปไตยของไทยเป็นแบบรัฐสภา ซึ่งโดยหลักการไม่ได้ตรวจสอบและถ่วงดุลที่เข้มแข็งเท่า แบบประธานาธิบดี เราจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้ามีอยู่ ภายใต้ความกดดันแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก มีคนถามว่าจะจบอย่างไร คุณถามคำถามผิด มันเพิ่งจะเริ่มต้น

ปิยบุตร แสงกนกกุล
ส่วน ตัวไม่ได้ปฏิเสธเรื่องศีลธรรม เพียงแต่ถ้าจะมีเกณฑ์วัดทางศีลธรรมต้องมาตรฐานเท่ากัน เช่น วัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ แต่สถาบันการเมือง องค์กรสาธารณะทั้งหมดต้องถูกวัดด้วย
ประเด็นเสรีภาพ ข้อจำกัดที่ว่าจะไปกระทบอย่างอื่น ในทางกลับกัน ปัญหาอยู่ที่คนรู้สึกถูกกระทบหรือไม่ กรณีเรื่องตะโกนไฟไหม้ในโรงหนังนั้นชัดเจน แต่มีเรื่องบางเรื่องที่สังคมบอกว่าแบบนี้พอจะพูดได้บ้าง แบบนี้พูดไม่ได้ สุดท้ายมาตรฐานอดทนอดกลั้นมันจะแค่ไหน เพราะบางทีคนที่ทนไม่ได้เลย เราต้อง concern เขาตลอดเวลา จะสลับกันทนได้หรือไม่ การจะมีข้อจำกัดที่ชัดเจนอาจจะยาก

อธึกกิต  แสวงสุข
ประเด็น ศีลธรรม สังคมประชาธิปไตยขีดกรอบว่าสิ่งที่ผิดคือสิ่งที่กระทบต่อคนอื่น กระทบสิทธิของผู้อื่น แต่นอกเหนือจากนั้น ดีเลว คือเรื่องที่เราด่ากัน ถ้าไม่กระทบการอยู่ร่วมกันในสังคมก็ปล่อยให้เป็นเสรีภาพในการด่ากัน นั่นคือศีลธรรม
ยกตัวอย่างคดีทักษิณ ติดคุกสองปี คดีนี้ตามหลักเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักการเมือง มีความเคลือบแคลงสงสัยต้องตำหนิ ทางการเมืองถูกอภิปราย ถูกไล่ หรือปลดออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ควรเป็นความผิดอาญา
เรื่องถูกผิดในสังคมควรมีสองระดับ หนึ่ง คือ ผิดกฎหมาย เช่น ทุจริต ขับรถชนคนตาย สอง มาตรฐานที่เรียกร้องสูงกว่าคนอื่น เช่น เป็นนักการเมือง พระ นักข่าว อาจารย์ ไม่ใช่ความผิดอาญา แต่ต้องถูกด่า


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker