บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

นานาทัศนะ: ทำอย่างไร หากมีการ "ขัดขืนมติมหาชน" อีกครั้ง

ที่มา ประชาไท

 
เนื่องในเดือนแห่งการรำลึกรัฐประหาร ๑๙ ก.ย.  ฟังทัศนะนักต้านรัฐประหารสามรุ่น – ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’ นักต้านรัฐประหาร ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ‘สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์’ นักต้านรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ และ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ นักต้านรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ กับคำถามที่ว่า "หากมีการขัดขืนมติมหาชนอีกครั้ง" เราควรทำเช่นไร?
อนึ่งบทสัมภาษณ์นี้เป็นการสัมภาษณ์ทัศนคติสั้นๆ ว่าหากมีการค้านมติมหาชนจากคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจ ประชาชนควรทำเช่นไร (เป็นการสัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา และตัดบางส่วนบางจากหนังสือประชาชนต้านรัฐประหาร)

อุทัย พิมพ์ใจชน


"ผมคิดว่าถ้าใครคิดทำรัฐประหารอีก ก็เป็นการฆ่าตัวตาย ถ้าฆ่าตัวเองแล้วไม่ตายก็เป็นการฆ่าประเทศชาติตาย มีอยู่สองอย่าง ผมเชื่อว่าประชาชนยอมไม่ได้หรอก"

นอกจากนี้อุทัยยังมองว่าสังคมไทยไม่อดทนพอให้มีวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙
“ผมมองว่ามันเป็นความไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย คือถ้าทหารไม่เข้ามายุ่งแล้วปล่อยให้มันเกิดวันที่ ๒๐ มันจะเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย เพราะสภายังมีอยู่ในตอนนั้น แม้อาจจะมีการปะทะกัน แต่ผมไม่เชื่อว่าจะมีการเสียเลือดเนื้อมากมาย อย่างดีก็แค่ผลักกันไปผลักกันมา เพราะสมัยนี้มันมีอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน มีแก๊สน้ำตา มีโล่ มีปืนฉีดน้ำแล้ว มันไม่เหมือนกับตอน ๑๔ ตุลาหรือพฤษภาทมิฬ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ไม่มี”
“และตอนนั้นคนรักทักษิณก็เริ่มลดลง แต่คนชังเริ่มเพิ่มขึ้น เกิดการประท้วงขนาดใหญ่แบบนั้นผมก็เชื่อว่าทักษิณอยู่ไม่ได้ และถ้าสภายังมีอยู่ก็ต้องมีการไต่สวนกันไปตามระบบ แต่เราดันไม่เชื่อกระบวนการประชาธิปไตย ทำให้ทหารออกมายึดอำนาจ กลับไปตั้งอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาไต่สวนแทนสภา มันก็เลยเสียหายมาจนถึงปัจจุบันนี้”
“ผมย้ำให้เห็นว่าเพราะเราไม่เชื่อในกระบวนการประชาธิปไตย เราไปเชื่อในกระบวนการอื่นเลยเกิดเหตุการณ์ ๑๙ กันยา กลายเป็นชัยชนะของทหารไม่ใช่ของประชาชน ผมคิดว่ามันผิดมหาศาลและเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเราไม่เชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย”
สำหรับการรัฐประหารหรือการค้านมติมหาชนในรูปแบบอื่นๆ เช่น ตุลาการภิวัฒน์ ฯลฯ ในอนาคตอุทัยมองว่า
“ผมคิดว่ามันคาดเดายาก แต่จากบทเรียนที่เราเคยผ่านมามันชี้ไปว่าถ้าใครขืนทำอีกมันไปไม่รอด อย่างครั้งล่าสุดถึงแม้คณะก่อการอย่าง คมช. จะเอาตัวรอดกันไปได้ แต่ประเทศชาติมันก็ไปไม่รอด”
“ถ้าต่อไปใครจะทำอีกผมกลับมองว่าผู้ก่อการจะไปไม่รอดแต่ประเทศชาติจะ รอด เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้มากขึ้นแล้ว รู้เท่าทันการรัฐประหาร รู้ว่าการรัฐประหารมันไม่เกิดประโยชน์ มันมีแต่ทำให้เกิดโทษหนักขึ้นไปอีก ส่วนรูปแบบอื่นๆ ก็ยาก เพราะเดี๋ยวนี้ประชาชนมีกลุ่มต่างๆ ที่มีพลังพร้อมที่จะต่อต้านเสมอ”

เกี่ยวกับอุทัย พิมพ์ใจชน

อุทัย พิมพ์ใจชน เกิดวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่จังหวัดชลบุรี เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ สำเร็จการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต สำนักการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
อุทัย พิมพ์ใจชน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากการชักชวนของนายธรรมนูญ เทียนเงิน สมาชิกพรรค จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ จอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ยึดอำนาจตัวเอง นายอุทัย พิมพ์ใจชน พร้อมด้วย ส.ส. อีก ๒ คน คือนายอนันต์ ภักดิ์ประไพและนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏ ถือเป็นท้าทายอำนาจของผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา แต่แล้วทั้งสามคนตกเป็นจำเลยและถูกจำคุก ด้วยอำนาจของเผด็จการ ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พ้นวาระและประกาศวางมือการเมือง นายอุทัยได้ลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป กับ นายชวน หลีกภัย เพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นเดียวกับ และ พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่าย โดยนายอุทัยได้รับการสนับสนุนจาก นายธรรมนูญ เทียนเงิน อดีตเลขาธิการพรรค ด้วยความเป็นคนชลบุรีด้วยกัน ปรากฏว่า ที่ประชุมพรรคได้เลือก พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป หลังจากนั้นไม่นาน นายอุทัยก็ได้ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเองทั้งพรรคก้าวหน้า และพรรคเอกภาพ
อุทัย ได้ตกเป็นข่าวฮือฮาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ขณะดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อถูกติวเตอร์คนหนึ่ง ปาถุงอุจจาระ ใส่ขณะแถลงข่าว หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น นายอุทัย ไม่ได้ดำเนินคดี หรือตอบโต้ใด ๆ กับผู้ก่อเหตุ ซึ่งส่งผลดีกับภาพลักษณ์ของนายอุทัย ในฐานะเป็นผู้มีอาวุโส ที่ไม่ใช้อำนาจกับผู้ด้อยอำนาจกว่า
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นายอุทัยได้รับเลือกให้เป็น ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง นายอุทัยก็ได้ย้ายตัวเองเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร ต่อมาในการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ท้องสนามหลวง นายอุทัยได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ต่อมาในการเลือกตั้งวุฒิสภาชิกเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ นายอุทัยก็ได้ลงรับสมัครในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่ ๑๒  
ก่อนการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ อุทัยเป็นบุคคลหนึ่ง ที่แสดงความเห็นอย่างชัดแจ้ง ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐


0 0 0
สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์



"สังคมไทยควรตั้งสติให้ดี และลองศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยสติปัญญา เราก็จะพบว่าการรัฐประหารทุกครั้งส่งผลเสีย ส่งผลให้ประเทศนี้เกิดความหายนะและส่งผลกระทบมากมาย ... ในแง่นี้สังคมต้องสรุปบทเรียนได้แล้วว่าจะต้องไม่ยอมรับการรัฐประหารในทุกๆ กรณี ... สำหรับฝ่ายประชาธิปไตย เราก็ต้องกระทำการมันให้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ..."

สำหรับทัศนะที่ว่าการรัฐประหารหรือการค้านมติมหาชนในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกไหมนั้น สิริวัฒน์ให้ความเห็นว่า
“ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะว่าสังคมไทยยังมีฝ่ายปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยอยู่ จริงอยู่ว่าโลกเคลื่อนตัวไปตามระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้นจะมีความขัดแย้งบ้าง แต่ในสังคมไทยฝ่ายที่ครองอำนาจและมีผลประโยชน์อยู่เดิมไม่ยินยอมให้ใช้ระบอบ ประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สามารถต้านกระแสโลกได้ เขาจึงสร้างระบบการศึกษา ความคิดคนให้ไม่เป็นประชาธิปไตยมาต้านทานไว้”
“ทุกวันนี้ผู้นำทหารและผู้มีอำนาจบางคนก็ยังไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องการมีอำนาจ ต้องการให้เครือข่ายตนเองยังมีอำนาจผลประโยชน์ต่อไป โดยใช้วิธีที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตย รวมถึงยังมีการบิดเบือนหลักการทางศาสนามาใช้ ต่อสู้กับระบอบประชาธิปไตย เสนอความคิดผิดๆ ว่าพระพุทธศาสนาปฏิเสธประชาธิปไตยและเสียงส่วนใหญ่ เช่นอ้างว่าพุทธศาสนาสอนให้ไม่เอาระบบโลกาธิปไตย หรือประชาชนเป็นใหญ่แต่ให้ยึดธรรมมาธิปไตย หรือธรรมเป็นใหญ่และไม่ให้ยึดอัตตาธิปไตยหรือตัวเองเป็นใหญ่ฟังดูจะเคลิ้ม แต่แท้ที่จริงพุทธศาสนาพูดถึงตัวบุคคลที่เป็นผู้นำมิใช่ตัวระบบ”
“กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยพยายามบิดเบือนหรือมีวาทกรรมว่า “ควรใช้ธรรมมานำสังคมแทนประชาธิปไตย” นี่ก็เจตนาให้ผู้คนเห็นว่าหลักการทางศาสนาสูงส่งกว่าหลักการทางการเมืองผู้ คนจำนวนหนึ่ง จึงหลงไปปฏิเสธประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ควรใช้ทั้งสองหลักศาสนาใช้กับปัจเจกบุคคล หลักประชาธิปไตยใช้กับทั้งปัจเจกบุคคลและรัฐ เพราะมันไม่ได้ขัดกันแต่ประการใด เผด็จการต่างหากที่ขัดกับหลักการทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน เรื่องคนดี นี่เป็นการแอบอิงศาสนาที่ผิดไปจากหลักธรรมคำสอน”
“เพราะพุทธศาสนานั้นสอนให้พิจารณาตัดสินจากกรรมหรือการกระทำดูกันเป็น กรรมๆ ไป พุทธจึงพูดเรื่องทำดี ทำชั่ว มากกว่าเรืองคนดีคนชั่ว และพุทธไม่เชื่อเรื่องชาติกำเนิดว่าถ้าชาติกำเนิดดี จะดี วรรณะดีจะดี แต่เชื่อว่าดีหรือชั่วเกิดจากการกระทำ การใช้หลักคิดหรือคำอธิบายต่างๆ ที่แอบอิงกับการตีความศาสนาในแบบที่กล่าวไปนี้ มันจะบั่นทอนเรื่องแนวคิดประชาธิปไตย และพวกเขาก็ยังจะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการคัดค้านเสียงของคนส่วน ใหญ่”

เกี่ยวกับสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์
สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๘ เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต (ม.รามคำแหง) ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม (นิด้า)
ในขณะที่เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สิริวัฒน์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมนักศึกษา โดยเขาได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ – ๒๕๓๔ และเขายังเป็นแกนนำนักศึกษาคนสำคัญในขบวนการต่อต้านคณะรัฐประหาร
หลังจากเรียนจบเขายังได้ทำงานด้านพัฒนาสังคม โดยเป็นประธานมูลนิธิพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนฯ จ.นครศรีธรรมราช และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จ.นครศรีธรรมราช ในปี ๒๕๔๙ และได้รับเลือกอีกครั้งในปี ๒๕๕๑ โดยเป็นประธานกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา ๓ สมัย
บทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง กอปรกับที่เคยเป็น 'เด็กกิจกรรม' เขาจึงไม่ละเลยที่จะพูดถึงการให้โอกาสเยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศตาม ครรลองประชาธิปไตย เช่น การอภิปรายเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในเดือนเมษายน ๒๕๕๕ สิริวัฒน์ได้อภิปรายเสนอให้ตัวแทนเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่

นักศึกษารามคำแหง 'แนวหน้าต่อสู้เผด็จการ' ที่สังคมไทยมักจะลืม
หนึ่งในอดีตนักศึกษารามคำแหง ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มักจะเป็นแถวหน้าในการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเกิด วิกฤตการเมืองเสมอ แต่นักบันทึกประวัติศาสตร์มักจะมองข้าม สิริวัฒน์ได้บันทึกความทรงจำที่มีต่อรามคำแหง ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ ...
ความทรงจำที่มีต่อรามคำแหง
     
ผมสมัครเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ รามคำแหงเมื่อปี ๒๕๓๐ ในช่วง ๖ ปีแรก นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๖ ผมได้ทำกิจกรรมสมดังตั้งใจ แต่กว่าจะจบการศึกษาก็ในราวปี ๒๕๔๐ ต้องใช้เวลาเก็บตก ๓-๔ วิชาอยู่นานพอสมควร เพราะหลังเสร็จภารกิจในการต่อสู้กับเผด็จการ รสช. เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว ผมก็ออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวไปด้วยเรียนไปด้วย สรุปว่าผมใช้เวลาเรียนที่รามคำแหงกว่าสิบปี แต่ก็ไม่เสียดายเวลาที่สัมผัส สัมพันธ์กับรามคำแหง แม้เวลานานขนาดนั้น ผมได้พบพานด้านที่ลำเค็ญบ้าง แต่ผมถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าและมีความหมายกับชีวิตของผมมากเหลือเกิน
   
หากถามถึงความประทับใจที่มีต่อรามคำแหงนั้นมีมากมาย ผมขอกล่าวสรุปไว้สองประการสำคัญ คือ
    
ประการแรก ระหว่างที่ผมทำกิจกรรมตั้งแต่เป็นนักศึกษาปี ๑ เรื่อยมา ผมมีโอกาสศึกษาและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ช่วงที่สำคัญของประเทศ นั่นคือ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จำได้ว่าในช่วงปีแรก ผมได้ร่วมทำนิทรรศการและฉายวีดิทัศน์เหตุการณ์ดังกล่าว กระทั่งต่อมา ก็ได้จัดกิจกรรมวิชาการ กิจกรรมเวทีต่างๆ มากมาย เพื่อให้เพื่อนนักศึกษาเข้าใจประวัติศาสตร์และสานต่อเจตนารมณ์ที่ดีงาม ซึ่งตัวเราเองก็ได้ศึกษาและซึมซับประวัติศาสตร์เหล่านั้น และแน่นอนที่สุด ผมได้ทราบว่า รามคำแหงเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สำคัญนั้น จนมีคำกล่าวถึง วันประชามหาปิติ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่นักศึกษาและประชาชนร่วมต่อสู้จนเอาชนะเผด็จการทหารว่า ‘เริ่มต้นที่รามคำแหง จบลงที่ราชดำเนิน'
    
ประการที่สอง คือ ชาวรามคำแหงร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการ รสช. ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผมได้มีส่วนร่วมโดยตรง นั่นคือ ช่วงเวลานั้น ชาวรามคำแหงได้เข้าไปมีส่วนร่วมสำคัญในการต่อต้านคณะรัฐประหาร ด้วยการชุมนุม ถึงแม้ต่อมาจะถูกจับกุมคุมขัง ๑๕ คนก็ตาม ซึ่งหลังจากนั้น กระบวนการต่อสู้ก็พัฒนามาจนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ มีการชุมนุมใหญ่ที่ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินนอก ในกรุงเทพมหานคร และการชุมนุมก็ถูกทหารเข้าสลายโดยใช้ความรุนแรงจนผู้คนแตกกระเจิง เหตุการณ์มีแนวโน้มว่าทหารจะคุมสถานการณ์ได้ และได้รับชัยชนะสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป ต่อเมื่อชาวรามคำแหงไม่ยอมแพ้ โดยได้รวบรวมนักศึกษา ประชาชน รวมตัวกันชุมนุมที่ลาน สวป. มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนกระทั่ง เผด็จการทหารต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด
    
ณ วันนี้ ถ้าถามว่าผมหวังให้เกิดอะไรขึ้นกับรามคำแหง ขอตอบว่า ผมอยากเห็นนักศึกษารามคำแหงมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคม ด้วยเหตุที่รามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานของคนจนมีโอกาส เรียนในอัตราค่าเล่าเรียนที่ไม่แพง จำนวนนักศึกษาก็มากพอและมีรากฐานทางความรู้สึกนึกคิดที่จะก่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไรจึงจะทำให้คนหนุ่มสาวรวมพลังเดินไปในทิศทางดังกล่าว และหากว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ที่จะสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาในเชิงสร้าง สรรค์ หากทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นทางหนึ่งในการที่จะบรรลุสมดังตั้งใจได้

0 0 0

สมบัติ บุญงามอนงค์



"ก็ต่อต้านนั่นแหละ แต่ผมอยากจะเสนอว่าเนื่องจากการต่อต้านในรอบที่ผ่านมามันเกิดการสูญเสียเยอะ ผมเสนอวิธีการต่อต้านที่เรียกว่า ‘ป่วน’  คือเรายังไปติดกรอบภาพของการต่อต้านที่ต้องมาเผชิญหน้ากันแบบเอาเป็นเอาตาย จากประสบการณ์ในปี ๒๕๕๒ –๒๕๕๓ ผมไม่อยากให้เรามีความเสี่ยงขนาดนั้น แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ก็ทำไม่ได้ ผมอยากเสนอวิธีการต่อต้านแบบป่วน คือทำให้กลไกและความชอบธรรมของฝ่ายชนชั้นนำหมดสภาพลง"

นอกจากนี้สำหรับประเด็นที่ว่าการค้านมติมหาชนโดยอำนาจนอกระบบในอนาคตจะมีอีกไหมนั้น สมบัติมองว่า
“ก็อาจเป็นไปได้ แต่ว่าผมมองว่าเป็นวิวัฒนาการของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย โดยที่พลังอนุรักษ์นิยมเขาก็จะเหนี่ยวรั้งไว้อย่างสุดฤทธิ์ พอถึงจุดที่เหนี่ยวไม่อยู่แล้วมันพลาดหลุดมือจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่คุณจะไปห้ามให้เขาเหนี่ยวรั้งไม่ได้ พลังอนุรักษ์นิยมมันต้องเหนี่ยวอยู่แล้ว แต่วิธีการที่จะเหนี่ยวรั้งไว้จากนี้ไปพวกเขาจะรอบคอบกว่าเดิม เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาพวกเขาพลาดไป และทุกครั้งที่พวกเขาพลาดก็จะทำให้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีพลังมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่มีม๊อบพันธมิตรฯ เสื้อแดงกลับโตขึ้น หรือหลังจากคุณทำรัฐประหาร คุณปราบปรามประชาชน ก็กลับพบว่าเสื้อแดงขยายตัวขึ้น”
“ถ้าหากมีการเหนี่ยวรั้งโดยพลังอนุรักษ์นิยมอีกครั้งในอนาคต ขณะที่ประชาชนโตขนาดนี้ ก็ถือได้ว่าว่ามันเป็นการใช้ทุนในอนาคตเลย เหมือนคุณเล่นการพนันแล้วต้องกู้มาเล่น คุณไม่ได้เล่นจากสิ่งที่คุณมีในตอนนี้ให้หมดตัวนะ แต่คุณเอาอนาคตคุณมาเล่นเลย ผมคิดว่ามันอันตรายมาก ฉะนั้นตอนนี้ผมคิดว่าจังหวะจะโคนของอำมาตย์จะระวังตัวมาก และกำลังพยายามหาจุดประนีประนอม เช่นเราจะเห็นบรรยากาศการปรองดองหรือจู๋จี๋กันระหว่างรัฐบาลกับพลเอกเปรม หรือหลายๆ คน เริ่มเห็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน นี่เป็นการประนีประนอมของชนชั้นนำ ซึ่งเมื่อก่อนมันมีเพียงแค่การต่อรองกันของคนชั้นนำ แต่เดี๋ยวนี้มันมีอีกมิติหนึ่งคือพลังจากข้างล่าง ตอนนี้คนข้างล่างเริ่มต่อต้านวิธีคิดของชนชั้นนำแบบนี้แล้ว”
“ดังนั้นก็อาจจะมีนะ อะไรที่มันเพี้ยนๆ ที่จะออกมาขัดขวางมติมหาชน และนั่นมันก็อันตรายสำหรับเรา”

เกี่ยวกับ สมบัติ บุญงามอนงค์
สมบัติ บุญงามอนงค์ (ชื่อเล่น: หนูหริ่ง, หรือนามแฝงที่ใช้ในอินเตอร์เน็ท: บ.ก.ลายจุด) เป็นแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง และประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา
สมบัติ เป็นแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ต่อต้านการทำรัฐประหารและรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช. โดยก่อนหน้านั้น เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่าย ๑๙ กันยา ต้านรัฐประหาร และต่อมาได้เข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยสมบัติ เป็นแกนนำ นปก.รุ่น ๒ ภายหลังแกนนำ นปก.รุ่นแรก ถูกคุมขัง อีกทั้งยังเป็นผู้
เสนอการรณรงค์ "แดงไม่รับ" เป็นสีตรงข้ามกับสีเขียวรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำให้ผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะคณะรัฐประหาร ของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน นิยมใส่เสื้อสีแดงมาร่วมชุมนุมหรือกิจกรรมการเมืองจนถึงปัจจุบัน
หลังจากการเลือกตั้งและ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเมืองไทย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลับออกมาประท้วง เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่อ้างว่าอยู่ภายใต้อำนาจของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในช่วงเวลานั้น นายสมบัติ ร่วมจัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ เพื่อต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ นายสมบัติ ยังเป็นผู้จัดทำสติกเกอร์ข้อความ "เบื่อม๊อบ พันธมิตร"
สมบัติ เคยถูกจับที่สถานีขนส่งเชียงราย ขณะที่เขารณรงค์ปราศรัยไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ก่อนที่จะมีการลงประชามติ เนื่องจากจังหวัดเชียงรายมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เขาและเพื่อนอีก ๑ คนถูกควบคุมตัวในค่ายทหารบกเชียงรายเป็นเวลา ๑ วันก่อนถูกปล่อยตัวออกมาเนื่องจากมีแรงกดดันจากสาธารณะและมวลชน นปก ที่หน้ากองทัพภาคที่ ๑
นอกจากนั้นยังเคยถูกพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร และ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ฟ้องหมิ่นประมาทกรณีซุ้มปาเป้าที่สนามหลวง เขาเข้ามอบตัวและไม่ขอประกันตัวในช่วงแรก ๆ และอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ๑๑ วัน ก่อนขอประกันตัวต่อศาลโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์
ภายหลังเหตุการณ์ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ และ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เขาได้เดินทางไปผูกผ้าสีแดงบริเวณป้ายแยกราชประสงค์ โดยเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กระชับพื้นที่ ที่นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากออกมาแสดงความรับผิด ชอบ ทำให้เขาถูกคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยถูกคุมตัวที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค ๑ จังหวัดปทุมธานี เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับสู่ปกติแล้วศาลจึงอนุญาตปล่อยตัว
ภายหลังได้รับการปล่อยตัวสมบัติได้เดินทางมาที่แยกราชประสงค์ และได้นำผ้าสีแดงไปผูกที่ป้ายแยกราชประสงค์อีกครั้ง นอกจากนี้ได้ทำกิจกรรม “ที่นี่มีคนตาย” แสดงการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ประกอบด้วย โดยนายสมบัติระบุว่าจะทำกิจกรรมทำนองนี้ทุกวันอาทิตย์แต่จะเปลี่ยนสถานที่ไป เรื่อยๆ
ภายหลังการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๔ สมบัติกลับไปทำงานด้านสังคมอีกครั้งกับมูลนิธิกระจกเงา หลังจากที่เขาลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา ในครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้เสื้อสีแดง.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker