24 กันยายน 2555
มาอ่านตัวอย่างการลุกขึ้นมารับผิดของรัฐบาลประเทศอื่นในกรณีการทำร้ายประชาชน
สส. จารุพรรณ กุลดิลก ได้ยกตัวอย่างไอร์แลนด์เหนือ "มื่อทหารอังกฤษใช้อาวุธสงครามสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุม ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก"
อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ยกกรณีตัวอย่างการขอโทษของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต่อเหตุการณ์ ฮิลส์โบโรดร. สุธาชัย
* * * * * * * *
หากฉีกรายงานข้อเท็จจริง คอป. ช้าไป เราอาจเหมือนไอร์แลนด์เหนือเมื่อ 38 ปีที่แล้ว
ในภาพเป็นกิจกรรมการฉีกรายงานของ Lord Widgery หัวหน้าคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์ Bloody Sunday ในวันที่ 30 มกราคม 1972 ที่ไอร์แลนด์เหนือ เมื่อทหารอังกฤษใช้อาวุธสงครามสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุม ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
หลัง จากนั้นรัฐบาลอีงกฤษได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงขึ้นมา และกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมติดอาวุธ ทำให้เกิดความชอบธรรมแก่ทหารในการใช้อาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุม
ด้วย รายงานนี้เอง เป็นต้นเหตุในการทำให้เกิดความขัดแย้งที่ไอร์แลนด์เหนือตลอดมาเป็นเวลา 38 ปี จนกระทั่ง ได้มีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาชุดใหม่ โดยหัวหน้าคณะคือ Lord Saville และได้พิสูจน์ว่า ผู้ชุมนุมไม่มีการติดอาวุธ และไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้ายอย่างที่รายงานของ Lord Widgery ได้กล่าวหาไว้
ความจริงเกี่ยวกับ Bloody Sunday จึงปรากฎขึ้นในปี 2010 ที่ผ่านมานี้เอง และทำให้ความรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือยุติลง
รายงาน ของ คอป. ก็เช่นกัน เปรียบได้กับ ใบอนุญาตฆ่า (License to kill) ที่ทำการฟอกขาวให้กับฝ่ายปราบปราม ซึ่งก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์ หากเราให้ความชอบธรรมกับใบอนุญาตฆ่าคนมือเปล่านี้
เราไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบไอร์แลนด์เหนือ และเราไม่จำเป็นต้องรอถึง 30-40 ปี เพื่อเรียนรู็บทเรียนอันเจ็บปวดและสูญเสียพี่น้องในประเทศไปมากกว่านี้
สุด ท้าย หากเราฉีกรายงานที่ไร้มนุษยธรรมช้าเกินไป ประเทศเราก็จะอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง ไม่ต่างจากกรณี Bloody Sunday ที่โด่งดังไปทั่วโลก
"ฉีกความลวงกันเถอะ ก่อนที่มันจะสายเกินไป"........ "Tear down the Lies".........
************
มาดูว่า อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ยกกรณีตัวอย่างการขอโทษของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต่อเหตุการณ์ ฮิลส์โบโร
ที่มา เฟซบุ๊ค สุธา ยิ้มจากฮิลส์โบโรสู่ คอป.
เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายนที่ผ่านมานี้ นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ได้ออกมาให้คำแถลงต่อรัฐสภาอย่างเป็นทางการแสดงการขอโทษต่อสาธารณชน และต่อครอบครัวของผู้เสียหายในโศกนาฏกรรมกรณีฮิลส์โบโรเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ และนำมาซึ่งการแสดงการขอโทษอย่างเป็นทางการจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมฟุตบอลอังกฤษ เจ้าของสนามฮิลส์โบโร และผู้บัญชาการตำรวจยอร์คเชียร์ใต้ เป็นต้นกรณีฮิลส์โบโรเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๒ ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศของฟุตบอลเอฟเอคัพระหว่างลิเวอร์พูลและนอร์ติงแฮม ฟอเรสต์ ที่สนามฮิลส์โบโร ของเชฟฟิลด์ เวนเนสเดย์ ปรากฏว่าประชาชนที่เป็นแฟนบอลของทีมลิเวอร์พูล ได้พยายามเบียดเสียดเข้าไปชมการแข่งขันในอัฒจรรย์ฝั่งตะวันตก จนในที่สุด อัฒจรรย์พังลงมา ผู้ชมจำนวนมากจึงพยายามหนีออกมาพร้อมกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๙๖ คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ในรายงานขั้นต้น คือ รายงานเทเลอร์อธิบายว่า แฟนฟุตบอลลิเวอร์พูลเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรม เพราะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการก่อกวน ทั้งในและนอกสนามฟุตบอล ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างชมฟุตบอล การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในสนาม และการเข้าชมเกมการแข่งขันโดยไม่มีตั๋วเข้าชม เป็นต้น
กรณีนี้ก่อให้เกิดอคติกันมานานว่า แฟนบอลลิเวอร์พูลเป็นต้นเหตุของปัญหา จนกระทั่งได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อสอบสวนหาสาเหตุ และผลจากรายงานล่าสุด ได้แสดงให้เห็นว่า แฟนฟุตบอลลิเวอร์พูลไม่มีความผิด หากแต่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดของฝ่ายตำรวจยอร์คเชียร์ใต้ ซึ่งต้องทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย การขาดการบริหารจัดการที่ดีของทางสโมสรเจ้าของสนามแข่งขัน จึงทำให้เกิดการเสียชีวิตดังกล่าว และยังได้ข้อสรุปว่า รายงานเทเลอร์ฉบับเดิมมีความผิดพลาด มีเนื้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กล่าวหาแฟนลิเวอร์พูลอย่างผิดพลาด ก่อให้เกิดความอยุติธรรมซ้ำซ้อน (Double Injustice) เพราะนอกจากผู้ที่บริสุทธิ์และครอบครัวจะได้รับผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายและจิตใจจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวแล้ว ผู้บริสุทธิ์บางส่วนยังถูกสังคมและหน่วยงานของรัฐในขณะนั้นตราหน้าว่าเป็น ผู้ก่อเหตุของกรณีดังกล่าวอีกด้วย
เป็นที่น่าสนใจว่า ในกรณีของประเทศไทย ได้มีกรณีที่ผิดพลาดเกิดขึ้นจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐหลายเรื่อง แต่ยังไม่เคยมีการขอโทษต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการเลย เช่น เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ศาลฎีกาไทย ตัดสินประหารชีวิตจำเลย ๓ คนในคดีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ คือ ชิต สิงหเสนี บุศย์ ปัทมศริน และ เฉลียว ปทุมรส ทั้งที่ทั้ง ๓ คน เป็นผู้บริสุทธิ์ จนถึงปัจจุบันศาลก็ยังไม่เคยมีการขอโทษอย่างเป็นทางการ ต่อมา ในกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ เกิดกระแสการปลุกระดมประชาชน โดยการกล่าวหาขบวนการนักศึกษาว่า ก่อเหตุหมิ่นพระเดชานุภาพ ซึ่งนำมาสู่การสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน แล้วก่อเหตุรัฐประหาร ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจชัดเจนว่า ฝ่ายนักศึกษาไม่มีความผิด การกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสี แต่ก็ยังไม่มีการขอโทษต่อสาธารณชน หรือต่อขบวนการนักศึกษาอย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในผู้ก่อเหตุขณะนั้น คือ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่น่าจะแสดงการขอโทษต่อประชาชนมากที่สุด
ความผิดพลาดในอดีตของสังคมไทยที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง จนกระทั่งกรณีการสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. นำโดย คณิต ณ นคร คณะกรรมการชุดนี้ เริ่มทำงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และหมดวาระใน ๒ ปี ใช้งบประมาณไปราว ๖๕ ล้านบาท ในที่สุด ก็ได้มีการแถลงข่าวและเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายนที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า รายงานฉบับนี้ กลับเป็นที่วิจารณ์อย่างมากว่า มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และกลับช่วยปกปิดความอยุติธรรมที่ดำเนินการโดยรัฐเสียด้วยซ้ำ
เนื้อหาหลักในรายงาน ซึ่งหนา ๒๗๖ หน้า แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ที่สำคัญอยู่ในส่วนที่ ๒ เรื่อง สรุปเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ ส่วนที่ ๓ คือ สาเหตุและรากเหง้าของปัญหา ในส่วนที่ ๒ นอกจากการเลือกเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ มาแล้ว ก็ได้มาเน้นเฉพาะกรณีตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรง ๑๐ กรณี เริ่มจากเหตุการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคมวันที่ ๙ เมษายน ไปจนถึงเหตุการณ์บริเวณวัดปทุมวนาราม และการเผาอาคารสถานที่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ
๑. รายงานนี้ได้เน้นเป็นพิเศษถึงบทบาทของ”คนชุดดำ” ซึ่งหมายถึง กลุ่มบุคคลที่ใช้อาวุธสงครามต่อต้านรัฐบาล ที่ปรากฏตัวในพื้นที่ชุมนุม และได้อธิบายบทบาทของคนชุดดำเหล่านี้แทรกในเรื่องความรุนแรงทุกเหตุการณ์ และพยายามชี้ว่า ชายชุดดำเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการ์ด นปช. และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล
๒. ได้มีการรวบรวมเอาคำปราศรัยที่มีลักษณะยั่วยุ ชี้นำ และ ส่งเสริมความรุนแรงของแกนนำคนเสื้อแดงมาไว้ด้วย
๓. ได้มีการรวบรวมพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม การยึดอาวุธเจ้าหน้าที่โดยผู้ชุมนุม และพฤติกรรมคุกคามหน่วยแพทย์และพยาบาลตลอดจนการคุกคามสื่อมวลชนของกลุ่มผู้ ชุมนุมไว้ด้วย
กรณีเหล่านี้ทำให้การอธิบายเนื้อเรื่องในรายงานของ คอป.ฉบับนี้ มีลักษณะพิเศษในการสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิบัติการของฝ่ายทหารได้ เพราะสามารถอธิบายได้ว่า ความรุนแรงที่ฝ่ายอำนาจรัฐใช้ ก็เป็นการตอบโต้กับการก่อความรุนแรงของคนชุดดำ และยังเป็นการอธิบายด้วยว่า แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีแนวโน้มในการก่อความรุนแรงเช่นกัน ข้อเสนอลักษณะนี้ จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกับสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยืนยันว่าไม่มีการเข่นฆ่าประชาชนของฝ่ายทหาร มีแต่การยั่วยุของแกนนำเสื้อแดง และปฏิบัติการของคนชุดดำ
เป้าหมายของรายงานนี้ เห็นได้ชัดขึ้นในบทที่ว่าด้วยสาเหตุและรากเหง้าของปัญหา เพราะได้ยกเอาเรื่องปัญหารากฐากและเรื่องทางโครงสร้างสังคมมาอธิบาย และสรุปว่าประเด็นเหล่านี้ถูกทั้งสองฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างในการต่อสู้เพื่อ ช่วงชิงอำนาจรัฐในการเข้ามาบริหารประเทศ การอธิบายเช่นนี้ มีลักษณะที่ทำให้ความขัดแย้งเฉพาะกลายเป็นความขัดแย้งทั่วไป และจะไม่เห็นบทบาทของการแทรกแซงทางการเมืองของฝ่ายอำมาตย์ รวมทั้งบทบาทเฉพาะของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่จะไปเน้นเรื่องการเยียวยาและฟื้นฟู ซึ่งเป็นข้อเสนอหลักในส่วนที่สี่
ถ้าจะให้สรุปจากรายงานนี้ จะเห็นได้ว่า ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยและรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่ได้มีความผิดเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชน หรือถ้าจะมีบ้างก็เป็น”ความบกพร่อง”ของการปฏิบัติงาน และความรุนแรงด้านหนึ่งก็มาจากแกนนำของคนเสื้อแดงและปฏิบัติการของคนชุดดำ ความขัดแย้งทั้งหมดมีรากฐานของปัญหามาจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงได้นำมาสู่การที่ นายคณิตเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยทำงานเพื่อประเทศชาติและไม่เดินทางกลับประเทศไทย
ปัญหาอยู่ที่ว่า คำอธิบายเรื่องคนชุดดำในรายงานนี้ มาจากหลักฐานที่อ่อน และแทบจะไม่ต่างจากหลักฐานที่สุเทพ เทือกสุบรรณใช้แถลงต่อรัฐสภามาแล้ว และเป็นการย้ำว่า วาทกรรมเรื่องคนชุดดำถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างชอบธรรมให้กับฝ่ายทหารและยังขัด กับหลักเหตุผลว่า ขบวนการเสื้อแดงมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา การก่อความรุนแรงโดยฝ่ายผู้ชุมนุมจะทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาเร็วขึ้น กระนั้นหรือ ยิ่งกว่านั้น ยังข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นไปอย่างมีระเบียบและไม่มีความรุนแรง จนกระทั่ง รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันมีภาวะร้ายแรง และสั่งกระชับพื้นที่ในวันที่ ๑๐ เมษายน เหตุการณ์จึงเริ่มรุนแรง หรือกล่าวได้ว่า ความรุนแรงที่มีขึ้น เริ่มโดยฝ่ายรัฐที่ติดอาวุธพร้อม ดำเนินการกับประชาชนมือเปล่า จึงก่อให้เกิดการเสียชีวิตอย่างมากเช่นนั้น
ดังนั้นถ้าพิจารณาจากรายงานของ คอป. คงจะเป็นการยากที่ชนชั้นนำไทยจะมีสำนึก และขอโทษประชาชนในความผิดพลาด ดังที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กระทำ
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๗๘ ประจำวันเสาร์ ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๕