Fri, 2012-09-28 01:55
ช่วงหนึ่งจากเสวนา "จินตนาการใหม่ทางมานุษยวิทยา" ในงานประชุม "สะท้อนย้อนคิดสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่" ยศ สันตสมบัติ เสนอจินตนาการใหม่ต้องการหลักการใหม่ - กรอบกติกาใหม่ที่พร้อมให้คนสามารถสร้างทางเลือกใหม่ในชีวิต ความคิด และการจัดองค์การสังคม
21 ก.ย. 2555 ณ ห้องประชุมชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสำนักพิมพ์คบไฟ จัดการประชุมวิชาการ "สะท้อนย้อนคิดสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่" โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “จินตนาการใหม่ทางมานุษยวิทยา”
มีวิทยากรคือ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ และมี ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ เริ่มอภิปรายโดยเสนอว่ามีสิ่งที่เรียกว่ามานุษวิทยาไทย (Thai Anthropology) โดยนักวิชาการรุ่นหลังๆ มักจะยึดติดกับวิกฤติเชิงอัตลักษณ์ (Identity Crisis) ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง คิดว่าการเอาแนวคิดทฤษฎีฝรั่งมาใช้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วพยายามแสวงหาแนวทางของไทย ซึ่งในความเป็นจริง 50 ปีที่ผ่านมา มานุษยวิทยาไทยมีอะไรเป็นของตัวเองเยอะมาก ในแง่สังคมศาสตร์เราทำงานวิจัย เราสร้างแนวคิด (Concept) เยอะมาก สมัยตนเรียนปริญญาตรี เวลาคนพูดถึงมานุษยวิทยาคลาสสิก คนมักจะพูดถึงพระยาอนุมานราชธน แต่ตนกลับคิดว่างานคลาสสิกของมานุษยวิทยาจริงๆ คือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” (โดยจิตร ภูมิศักดิ์) ซึ่งได้ปรับ Concept แล้วเอามาใช้ในบริบทของสังคมไทย
สิ่งที่เราเห็นคือมานุษยวิทยาไทยมันบรรลุวุฒิภาวะ ถึงระดับที่มันมี Dialogue กับโลก สมัยก่อนฝรั่งมาทำวิจัยเมืองไทย คนไทยเป็นผู้ช่วยวิจัย เดี๋ยวนี้เรานั่งเถียงกับฝรั่งตลอดเวลา ไม่ใช่การพูดข้างเดียวแล้ว ดังนั้นวิกฤติอัตลักษณ์จึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเอง นอกจากนั้นเรามีภาควิชาเกิน 10 มหาวิทยาลัย มีแหล่งที่สอนสังคมวิทยามานุษยวิทยาเยอะมาก แล้วแต่ละแห่งก็มีจุดแข็งในตัวเอง เรามีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ทำให้มานุษยวิทยาไทยเติบโตเยอะมาก มีงานประชุมประจำปีทุกปี มีการนำเสนองานวิจัยใหม่ๆ ตลอด สิ่งที่เรียกว่ามานุษยวิทยาไทยจึงเกิดและดำรงอยู่
ส่วนที่สำคัญคือภาษาของมานุษยวิทยาได้ถูกใช้โดยคนทั่วไป ซึ่งหมายความว่ามันขายได้ เช่น เรื่องการเปิดพื้นที่, สิทธิชุมชน ชาวบ้านก็พูด ทั้งที่เป็นแนวคิดชั้นสูงในทางมานุษยวิทยา การที่แนวคิดมันถูกนำไปใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเนื้อหาของวิชาการมันไปรับใช้ สังคม คนสามารถเอามันไปใช้ ไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการ
แต่ทั้งนี้เราไม่ควรคิดถึงมานุษยวิทยาในแง่แยกออกเด็ดขาดจากวิชาอื่นๆ เช่น รัฐศาสตร์,ประวัติศาสตร์, จิตวิทยา, ภูมิศาสตร์ เป็นต้น มันไปด้วยกัน สังคมไทยเป็นสังคมที่บางครั้งมักจะขีดอาณาจักรของตัวเอง แม้แต่ในภาคเดียวกันก็แยก ซึ่งเป็นการคิดแคบ สมัยปี 1980 ที่ตนเรียนมีบทความของ Clifford Geertz ชื่อ “Blurred Genres” พูดถึงว่าสาขาวิชา (Discipline) ต่างๆ ในโลก ว่าพรมแดนมันเริ่มเบลอ พร่ามัว ฉะนั้นวิธีคิดแบบ Trans-discipline มันเข้ามาแทนที่การแยกสาขาวิชา แต่ไม่ได้หมายความว่าสาขาวิชาไม่จำเป็น แต่สาขาวิชามันจะต้องมองออกไปว่าใครคนอื่นเขาทำอะไรบ้าง ในต่างประเทศมันเปลี่ยนสาขากันเป็นว่าเล่น พรมแดนทางวิชาการมันพร่ามัว แต่มันทำให้จินตนาการมันแจ่มชัดขึ้น เป็นเหมือน paradox เพราะพอสาขาวิชามันเบลอ จินตนาการมันชัด
ยศกล่าวต่อว่าเมื่อพูดถึง “จินตนาการ” ตนก็กลับไปหางานของ C.Wright Mills เป็นนักสังคมวิทยาในอเมริกา เขียนเรื่อง “จินตนาการทางสังคมวิทยา” [Sociological Imagination (1959)] อธิบายว่าจินตนาการคืออะไร เขาบอกว่ามันคือการตั้งคำถาม เพื่อทำความเข้าใจต่อความเคลื่อนไหวของสังคมโลก แล้วเอาจินตนาการนั้นมาทำความเข้าใจตัวเอง ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ในกระแสโลกปัจจุบัน และจินตนาการเป็นพลังที่จะปลดเปลื้องโซ่ตรวนทางความคิด เพราะโลกทำให้เรายึดติดกับความเจริญทางวัตถุ Mills ซึ่งเป็นมาร์กซิสต์ที่ไม่ได้รับการยอมรับในอเมริกา ก็จะพูดถึง Emancipation โดยเชื่อว่าเราต้องทะลวงโซ่ตรวนเพื่อไปสู่เสรีภาพ โดยการใช้จินตนาการ สำหรับ Mills การตั้งคำถามคือพลังเพื่อปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความไม่รู้และความประมาท ไปสู่เสรีภาพที่จะกำหนดชะตาชีวิตตนเอง
นอกจากนั้น จินตนาการยังมีบริบทของมัน ในทางมานุษยวิทยาจินตนาการเกิดขึ้นในคลื่นความคิด 3 ระลอกด้วยกัน ระลอกแรกคือเศรษฐศาสตร์การเมือง ระลอกสองประมาณปี 80 ขึ้นไป อเมริกาเข้าสู่วิกฤติของความคิด แล้วเกิดสกุลต่างๆ เช่น Cultural Critique, Writing Culture, Post Modernism ระลอกที่สามก็คือทุนนิยมยุคหลัง หรือ Globalization, Tran-Nationalism บริบทที่เปลี่ยน ทำให้จินตนาการทางสังคมเปลี่ยน คนก็ต้องพยายามวิ่งตามบริบทที่เปลี่ยน เพื่อทำความเข้าใจ
ยศเสนอว่าสามารถแยกจินตนาการออกเป็นมิติต่างๆ 6 ระดับ ได้แก่ ระดับแรกคือชื่อของงาน “สะท้อนย้อนคิด” (Reflexivities) หรือไปอีกขั้นคือการวิจารณ์วัฒนธรรม มิติที่สองคือการทำลายมายาคติ เปิดโปงสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นมันว่างเปล่า หรือไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นจริง มิติที่สามคือการเปิดพื้นที่ โยงไปถึงเรื่องตัวตน อัตลักษณ์ทางสังคม ทางชาติพันธุ์ มิติที่สี่คือเรื่องการสร้างความเข้าใจ มานุษยวิทยามีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจ ให้มนุษย์มันเข้าใจกัน ให้คนเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มิติที่ห้าคือสร้างหรือนำเสนอทางเลือกเชิงโยบาย และมิติสุดท้ายคือการนำเสนอหลักการหรือวิธีคิดใหม่ ซึ่งยังทำกันค่อนข้างน้อย
จุดแข็งของมานุษยวิทยา คือการพยายามสร้างเสียงให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งเวลาที่เขาพูดเองไม่ค่อยมีคนฟัง จินตนาการเก่าที่ทำกันมา 30 ปี ก็คือเราก็พูดวิพากษ์ปัญหาการพัฒนา พูดถึงการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองชนบท พูดถึงอุตสาหกรรม พูดถึงการดูดซับทรัพยากรของกทม. พูดถึงเกษตรชนบทล้มละลาย การเปลี่ยนมือของที่ดิน จนกระทั่งเราพูดถึงการเปลี่ยนองค์กร เช่น ภาคเหนือองค์กรเหมืองฝายมันเข้มแข็ง เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว จะเอาอะไรมาแทน จะสร้างองค์กรอย่างไร เป็นจินตนาการที่จะต้องคิดกันต่อไป
ส่วนสิ่ง ที่เป็นจินตนาการในปัจจุบัน อาจจะไม่ใหม่ ก็คือปัญหาของโลกมันบีบคั้นเข้ามา การว่างงานในยุโรป-สหรัฐ จีนก็ขยายอิทธิพลในอาเซียน ประสิทธิภาพการแข่งขันท่ามกลางเศรษฐกิจโลก ในบ้านเราปัญหาก็ยังอยู่ ทั้งการแย่งชิงทรัพยากรดินน้ำป่า ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เรามีระบบจัดการทรัพยากรที่ยังคงป่าเถื่อนล้าหลัง เรามีสื่อที่ไม่มีเสรีภาพ เรามีระบบกฎหมายที่ล้าหลัง
จินตนาการอีกส่วนที่ยังไม่ค่อยมี อ.อานันท์ (กาญจนพันธุ์) ใช้คำว่า Invisible People คือคนชั้นล่างที่เคยเป็นเกษตรกรมาก่อน พอเปลี่ยนไม่ทำการเกษตรแล้ว เราเริ่มมองไม่เห็น ประเด็นคือเราต้องทำความเข้าใจสังคมชนบทแบบใหม่ ซึ่งมันเปลี่ยนเยอะมาก ชนชั้นมันซับซ้อนหลากหลายมากขึ้น ชนชั้นกลางเราก็ยังไม่รู้จัก ชนชั้นที่ไม่ใช่ชั้นกลางก็ยิ่งไม่รู้จัก หรือชนชั้นผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งไม่ใช่ตาสีตาสา แต่เป็นคนที่สนใจการเมือง สนใจนโยบาย พยายามรักษาผลประโยชน์ของเขา เราอาจจะต้องสร้างจินตนาการใหม่ๆ ที่พูดถึงคนเหล่านี้
ยศเสนอต่อไปว่าการเมืองก็ไม่ได้ง่ายเหมือนเดิม ต้องใช้จินตนาการมาก การบริหารจัดการสังคมไทยอาจต้องปฏิรูปใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเมือง ตุลาการ สถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบราชการ ประเด็นที่ตนคิดว่าอาจต้องใช้จินตนาการมากที่สุดก็คือเรื่องของอำนาจนำ (Hegemony) ตั้งแต่น้ำท่วมปีที่แล้ว เห็นชัดว่าไม่มีใครฟังใครอีกแล้ว อย่างเรื่องรื้อบิ๊กแบ็ค สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจนำมันล้มเหลว ที่มันลึกกว่านั้นคือคนมันไม่คุยกัน ไม่มีเวทีจะพูดคุย จะทำอะไรจึงต้องปิดถนน นำไปสู่ความรุนแรง อำนาจนำแบบเดิมๆ ตั้งแต่นาฏรัฐ รัฐราชการ ไปถึงการปฏิวัติของทหาร มันใช้ไม่ได้อีกต่อไป ทหารจะปฏิวัติก็ได้ แต่ปฏิวัติแล้วคุณจะทำอะไร ทหารก็เข้าใจ แต่บางครั้งโดนสั่งมาก็ทำ
จินตนาการ ใหม่นี้ต้องพูดถึงเรื่องการนำเสนอหลักการใหม่ เพราะสังคมตอนนี้ต้องการหลักการใหม่ ต้องการกรอบกติกาใหม่ กติกาที่พร้อมให้คนสามารถสร้างทางเลือกใหม่ในชีวิต ทางเลือกในทางความคิด ซึ่งสังคมไทยอับจนมาก จะพูดอะไรก็ต้องระวัง และทางเลือกในการจัดองค์การสังคม รวมทั้งทางเลือกในการบริหารจัดการความขัดแย้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยจินตนาการทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วจินตนาการทางสังคมจำเป็นต้องมองในทุกมิติทุกสังคม ตั้งแต่ระดับเล็กไปถึงระดับใหญ่
ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล กล่าวถึงหนังสือ “จินตนาการทางมานุษยวิทยา แล้วย้อนมองสังคมไทย” ของอานันท์ กาญจนพันธุ์ โดยจะหยิบยกสามเรื่องจากหนังสือมาสนทนา และคิดต่อหรือจินตนาการต่อ ได้แก่เรื่องความซ้อน เรื่องพื้นที่ความรู้ และเรื่องจินตนาการ
ประเด็นแรกเรื่องความซ้อน ในหนังสือเล่มนี้ มีการใช้คำว่า “ซ้อน” หลายรูปแบบ เช่น ซับซ้อน เชิงซ้อน กลไกเชิงซ้อน วิธีคิดเชิงซ้อน ทีนี้การซ้อนแปลว่าอะไร เท่าที่อ่านอย่างน้อยถูกใช้ในสามด้าน ด้านแรกคือใช้เมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ในโลกปัจจุบัน โดยปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนนี้อาจแบ่งได้สามแบบ แบบแรกคล้ายๆ ขนมชั้น คือมีหลายสิ่งในบริเวณเดียวกัน แต่อาจจะไม่ขัดแย้งกัน เช่น วัฒนธรรมลูกผสม หรืออัตลักษณ์ แบบที่สองใช้ในกรณีที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายๆ ทิศทางในบริเวณเดียวกัน เช่น การกล่าวถึงพื้นที่ชนบท ที่มีทั้งคนชนบทออกมาในเมือง คนในเมืองกลับไปทำเกษตรในชนบท แบบที่สามคือเรื่องการอ้างสิทธิในพื้นที่เดียวกัน เช่นในป่า รัฐบาลก็จะอ้างสิทธิว่าเป็นอุทยานฯ เป็นสมบัติของชาติ ขณะชาวบ้านที่อยู่มาก่อนก็อ้างสิทธิการอยู่อาศัยมาก่อน วิธีที่ใช้ป่าก็มีความแตกต่างกัน ขณะที่รัฐมองว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ ชาวบ้านมองว่าอยู่ได้
ด้านที่สองคือซ้อนในฐานะที่เป็นวิธีคิด แต่ในหนังสือก็ไม่ได้นิยามว่าวิธีคิดเชิงซ้อนเป็นอย่างไร แต่นิยามในเชิงตรงข้าม คือนิยามว่าวิธีคิดแบบไหนไม่เอา ซึ่งมีสองแบบ หนึ่ง ก็คือไม่ยึดกรอบเดี่ยว และสองคือไม่ติดกับคู่ตรงข้าม มีข้อสังเกตว่าถ้ามองว่าปรากฏการณ์ในโลกปัจจุบันมันมีความซ้อน ทำให้นึกถึงคำที่เคยได้ยิน คือคำว่า Multiple-relationship คล้ายๆ ความสัมพันธ์เชิงซ้อนของอานันท์ แต่เขาพูดถึงสังคมโบราณมาก ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของผู้ชายคนหนึ่งกับลูก มันก็เป็นทั้งพ่อ-ลูก, คนที่สอนการล่าสัตว์, สอนการเลี้ยงวัว, เป็นคนทำพิธี, เป็นผู้ปกครอง มันมีหลายมิติซ้อนอยู่ในความสัมพันธ์ ดังนั้นมันก็ซ้อนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว คำถามคือมันซ้อนต่างจากเดิมอย่างไร
ด้านที่สามคือซ้อนในฐานะยุทธศาสตร์หรือกลวิธีที่ผู้เขียนใช้ เช่น กล่าวว่าเรื่องที่เขียนมัน “ซับซ้อนอยู่สักหน่อย” ต้องตั้งใจอ่าน เป็นกลวิธีให้ผู้อ่านเจริญสติ คือต้องอ่านอย่างมีสมาธิ ไอ้ซ้อนๆ ก็กลัวอ่านไม่รู้เรื่อง ดร.ปริตตาได้ยกตัวอย่างถึงทฤษฎี “ไข่มดแดง” ที่อธิบายความซับซ้อนของความสัมพันธ์เรื่องสิทธิ และประเด็นเรื่องเสียงของบุคคลต่างๆ ในการอ้างสิทธิ
เรื่องที่สอง คือเรื่องพื้นที่ความรู้ เท่าที่เข้าใจคือหมายถึงความรู้ทางมานุษยวิทยาจะเกิดหรือถูกสร้างขึ้นมาได้ อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อมันมีปฏิบัติการ จะนั่งอ่านหนังสือหรือไปภาคสนามแล้วเอามาเขียนอย่างเดียว ยังมีข้อจำกัดอยู่ สิ่งที่จะเกิดความรู้อย่างแท้จริง และเป็นความรู้ที่เป็นมรรคผลกับคนที่ด้อยโอกาส จะต้องไปร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมปฏิบัติการ ร่วมรณรงค์ ร่วมต่อสู้ ร่วมหาทางออกด้วย ในกิจกรรมทั้งหมดนี้ บริเวณของการแลกเปลี่ยนกันคือสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่ความรู้” หรือ “พื้นที่สังคม”
ในพื้นที่นี้ ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร ทุกคนต้องถอดหัวโขน จะเป็นอาจารย์ เป็นอธิบดี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ก็จะต้องมาคุยอย่างเท่าเทียมกัน สองคือจะต้องมีการใช้ภาษา ใช้ความรู้ความคิดที่หลากหลาย ไม่ได้ใช้แต่กระแสหลัก ไม่ใช่ภาษาของราชการ ของนักกฎหมาย แต่เป็นภาษาที่มีการแลกเปลี่ยนกัน สามคือมีการตัดสินใจร่วมกัน สี่คือมีการหาทางออกโดยการจัดการอย่างมีส่วนร่วม
ปริตตาเห็นว่าเรายังต้องช่วยบ่มเพาะความคิด คำอธิบายว่าทั้งหมดนี้มันนำไปสู่อะไร นำไปสู่คำอธิบายใหม่ จินตนาการใหม่ หรือไม่ ชนิดของความรู้มานุษยวิทยาใหม่หรือเปล่า หรือทั้งหมดก็ไม่ต่างจากที่เอ็นจีโอทำมาก่อน และทำเก่งกว่าตั้งเยอะ
เรื่องที่สาม คือเรื่องจินตนาการ คำถามคือจินตนาการหน้าตาเป็นอย่างไร มานุษยวิทยาใช้จินตนาการอย่างไร หรือจินตนาการมานุษยวิทยาแตกต่างจากใครต่อใคร เช่น นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน หรือคนทั่วไปอย่างไร ดร.ปริตตากล่าวถึงงานของ C.Wright Mills ซึ่งเสนอว่าจินตนาการทางสังคมวิทยาคือความสามารถในการที่จะเชื่อมโยงข้อเท็จ จริงที่มีปริมาณมากมายมหาศาล ออกมาเป็นภาพบางอย่างว่าโลกเราหน้าตาเป็นอย่างไร มันจะเคลื่อนไปอย่างไร เราเป็นส่วนไหนของโลก มันกำลังเกิดอะไรขึ้นในโลก และมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา
Mills ยังกล่าวถึงยุคสมัยที่อยู่ว่าเป็นยุคของความอึดอัด และไม่อยากจะแยแสกับอะไร ในยุคแบบนี้ ที่ยุคที่เราถูกบดบังท่วมท้นด้วยข้อมูล การจะมีจินตนาการสังคมวิทยา จะต้องมี หนึ่ง ความสามารถในการเปลี่ยนมุมมอง จากมุมหนึ่งไปยังอีกมุม สลับไปมาได้ เห็นความเชื่อมโยงระหว่างมุมมอง สองคือมีวิธีคิดใหม่ๆ สาม Trans-valuation คล้ายๆ คือการสร้างวิธีที่จะข้ามขัดแย้งของคุณค่าต่างๆ สร้างวิธีที่จะหาคุณค่าท่ามกลางความขัดแย้งของคุณค่า และสุดท้ายคือการเชื่อมโยงกับปัญหาความทุกข์ยากของบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัว กับโครงสร้างสังคม ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะ
ช่วงท้าย ปริตตาได้ทดลองเสนอว่าจินตนาการของศิลปิน กับจินตนาการทางมานุษยวิทยามีความใกล้เคียงกัน เวลาศิลปินวาดรูป มันไม่ได้มีภาพชัดๆ มีเป็นคำๆ ทฤษฎี จินตนาการไม่สมบูรณ์ในตัวเอง แต่ในกระบวนการที่เราปั้น เราวาด เราเขียนแต่ละครั้ง มันเป็นการโต้ตอบระหว่างจินตนาการกับปฏิบัติการ ขณะเดียวกันจินตนาการเป็นการโต้ตอบระหว่างตัวเรากับ subject ที่เราถ่ายทอด จินตนาการจึงมีการโต้ตอบกับหลายๆ สิ่ง ไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์แต่ต้น แต่สำหรับนักสังคมวิทยา ภารกิจคือการแสดงให้เห็นว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอะไร กระแสอะไรในโลก แต่มานุษยวิทยาอาจจะอยู่ตรงกลางระหว่างสองอันนี้ ระหว่างจินตนาการที่ Mills พูดถึงระบบพูดถึงโครงสร้าง ให้ภาพรวมใหญ่ๆ กับจินตนาการของศิลปิน ที่จะเจาะจะดึงเอาความรู้สึกของคนออกมา อย่างมีชีวิต อย่างสะเทือนอารมณ์
ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล กล่าวว่าเมื่ออ่านงานอาจารย์ อานันท์และงานของ C.Wright Mills รู้สึกสองอย่าง คือเรื่องแรก รู้สึกถึงเสียงวิพากษ์ โดยเฉพาะการวิพากษ์ว่าการทำงานสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ผ่านมาและกำลัง เป็นอยู่ ว่ามีปัญหาและข้อจำกัดอย่างไร ในกรณีของ Mills ได้วิพากษ์การวิจัยและเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งในช่วงที่ Mills เขียนกำลังสถาปนาอำนาจ และในที่สุดเปลี่ยนทิศทางการวิจัยของสังคมวิทยาในอเมริกาให้เป็นในเชิง ปริมาณ
Mills ยังวิจารณ์ทฤษฎี โดยเฉพาะทฤษฎีใหญ่ Grand Theory ทั้งหลาย อันที่หนึ่งคือพวกนี้เขียนทฤษฎีจนไม่มีใครเข้าใจเลยว่าเขียนอะไร เขียนแล้วต้องแปล สองคือมันใหญ่เกินไป General ทั่วไปเกินไป จนมองไม่เห็น ทำให้ไม่รู้ว่าจะทำอะไร พอมาถึงยุคนี้ Grand Theory มันพินาศไปหมดแล้ว ตอนนี้ที่มีคือตลาดของมโนทัศน์ คล้ายๆ ตำราทางวิชาการ มีมโนทัศน์หลากหลายให้หยิบฉวยมาเลือกใช้ มันจะละเอียดเล็กๆ เช่น เรื่อง Identity ของผู้หญิง ของผู้ชาย ของเด็ก ของคนแก่ ของคนชายชอบ ฯลฯ
ยุคสมัยของเรามันจึงไม่ได้อับจนเรื่องทฤษฎี แต่ถูกทฤษฎีมโนทัศน์ท้วมทับ จนไม่รู้จักอะไรอีกต่อไปแล้ว มันอาจจะมาพร้อมบริบท ที่สังคมตอนนี้ถูกมองว่ามัน fragmented-fluid มันซ้อนไปหมด มโนทัศน์ที่เกิดก็เอาไปจับปรากฏการณ์เล็กๆ เหล่านี้ ปัญหาก็คือมันก็จินตนาการอะไรไม่ออก เพราะมันเล็กเกินไปหรือไม่
Mills ยังพูดว่าตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว ที่เป็นเวลาเป็นยุคของความอึดอัด ความเฉยเมย ไม่แยแสว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร เฉื่อยเนือย แต่ขณะเดียวกันคนจำนวนมากก็จะมีอาการรู้สึกกลัดกลุ้ม กระวนกระวาย แต่ไม่เข้าใจว่าไม่พอใจอะไร ปัญหาอันนี้ Mills เห็นว่าทำให้จินตนาการทางสังคมวิทยามีความสำคัญ ถามว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหรือไม่ในบ้านเรา
สายพิณเห็นว่าจากแวดวงเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งนักศึกษานักวิจัยก็จะมีปัญหาแบบนี้ มีลักษณะที่เป็นผลมาจากความเข้าใจโลกว่ามันแตกกระจาย แยกเป็นชิ้นเล็กๆ personal is political เรื่องของคนๆ หนึ่งก็เป็นเรื่องทางการเมือง แต่ไม่ได้ชี้ว่าเรื่องการเมืองก็เป็นประเด็นสาธารณะได้ อะไรที่ขาดไป Mills ก็บอกว่าต้องดูประวัติศาสตร์ ว่าแต่ละยุคสมัยมันมีเงื่อนไขที่ทำให้ชีวิตของเขาเป็นแบบนั้น เช่น จะทำความเข้าใจคนทีไปทำศัลยกรรมเสริมความงาม ก็อาจไม่ใช่แค่ไปฟังเสียงของผู้หญิงหรือผู้ชายที่ไปทำ อาจจะต้องมองบริบททางประวัติศาสตร์ ในโลกยุคนี้แล้วความหมายของศัลยกรรมมันเคลื่อนไปแล้ว หรือการทำศัลยกรรมมันไปเกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคม โครงสร้างทางสังคมอย่างไรบ้าง ถามว่าจินตนาการคืออะไร มันจึงอาจคือวิธีคิด การคิด การเชื่อมโยง โดย “คิด” อาจฟังดูเป็นวิชาการดูซีเรียส แต่ “จินตนาการ”ฟังดูเหลวๆ ฟุ้งๆ ไม่มีรูป
เรื่องที่สอง โจทย์คล้ายๆ ว่าเราจะไปทางไหนกัน ตอนนี้เราต้องทนกับอะไรบ้าง หลายคนพูดถึงระบบราชการ ที่เป็นปัญหามา หรือระบบประกันคุณภาพการศึกษา TQF ที่พูดถึงกัน เป็นภาวการณ์ที่เราต้องทน คำถามคือเราต้องทำอะไร ก็ต้องสอนหนังสือ และทำวิจัยด้วย เมื่ออ่านหนังสือของอ.อานันท์ ก็พบว่าข้อมูลจำนวนมากที่พูดถึง เป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ในยุคนี้ที่มีข้อเรียกร้องในทางวิชาการ ทางสังคมเยอะแยะ คิดว่าเราคงต้องทำงานด้วยกัน อาจารย์ทั้งสองท่านที่พูดก่อนหน้าก็ทำให้รู้สึกว่างานทางมานุษยวิทยามันไม่ ใช่เรื่องที่เรียนรู้ในห้องเรียน ส่วน Mills เสนอว่าการวิจัยทางสังคมศาสตร์มันเป็นงานฝีมือ ตั้งแต่การได้ข้อมูลมา การค้นหาความรู้ การนำเสนอความรู้ นี่คือสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ งานมานุษยวิทยาก็น่าจะเป็นแบบนั้น