Sat, 2012-09-22 19:30
"คนดีก็มีที่ยืนเยอะ คนไม่ดีก็ยังมีที่ยืนอยู่ หน้าที่ของเราก็คือสร้างคนดี
เบียดคนไม่ดีให้ไม่มีที่ยืน ในชาติบ้านเมืองของเรา"
นี่คือ “วรรคทอง” ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
กล่าวให้โอวาทในพิธีมอบทุน "มูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์” เมื่อวันที่ 16
กันยายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า
“..สาเหตุที่กระผมต้องนำเรื่องนี้มาพูด
เนื่องจากต้องการให้ผู้ที่เป็นแบบอย่างแก่เยาวชนของชาติ
ได้ตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างคนดี
หากเราที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองช่วยกันพยายามสร้างจิตสำนึกให้
เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ บังเกิดความเข้าใจคุณธรรมจริยธรรมอย่างถ่องแท้
ชาติบ้านเมืองของเราจะไม่มีคนโกง...” (คม ชัด ลึก 16 ก.ย.55)
แม้จะเป็นไปได้ว่าผู้พูดมีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง
(ไม่มีวาระทางการเมืองแอบแฝง?) แต่ในทางข้อเท็จจริงและเหตุผล
เราก็ควรตั้งคำถามกับ “วาทกรรมสร้างคนดี-ขจัดคนเลว” อย่างยิ่งว่า ในที่สุดแล้วมันเป็นวาทกรรมที่สร้างปัญหา หรือแก้ปัญหาของระบบสังคมการเมืองตามที่เป็นอยู่กันแน่
ประการแรก พลเอกเปรมถูกยกย่องว่าเป็น
“เสาหลักทางจริยธรรม” ของชาติ แต่ “จริยธรรมของชาติ”
ตามนิยามของเขาเป็นจริยธรรมตาม “อุดมการณ์ราชาชาตินิยม” ที่ถือว่า
“ความดี/การเป็นคนดี หมายถึงการซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์
กษัตริย์” ชาติตามนิยามนี้ คือภาวะนามธรรมบางอย่างที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์
(ดังที่พลเอกเปรมมักพูดเสมอๆ ว่า “ชาติบ้านเมืองเป็นของศักดิ์สิทธิ์”)
ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นั้นอิงอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ที่
อยู่เหนือการตรวจสอบ ไม่ใช่ชาติตามนิยามของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ถือว่า
“ชาติคือประชาชน” ที่มาร่วมกันทำข้อตกลงแบ่งปันสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ภายใต้กติกาที่สร้างขึ้นบน “หลักความยุติธรรม”
ที่ถือว่าทุกคนมีเสรีภาพและมีความเป็นคนเท่ากัน
ฉะนั้น “จริยธรรมของชาติ” ตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมจึงเรียกร้อง
“ความจงรักภักดี” ต่อชนชั้นปกครองที่อยู่เหนือการตรวจสอบ
ซึ่งตรงกันข้ามกับจริยธรรมของชาติตาม “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ที่เรียกร้อง
“การตรวจสอบ” บุคคลที่มีบทบาทสาธารณะทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักเสรีภาพ
ความเสมอภาค
จริยธรรมแห่งสังคมประชาธิปไตยจึงหมายถึงการมีจิตสำนึกและความกล้าหาญในการปก
ป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเป็นจริยธรรมที่
“เสาหลักทางจริยธรรม” ของประเทศนี้ไม่เคยพูดถึงเลย
ประการที่สอง ฉะนั้นเมื่อพลเอกเปรมพูดถึง
“ความซื่อสัตย์ ไม่โกง” เขาจึงเน้นไปที่ความซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ชาติ
ศาสน์ กษัตริย์ ไม่ใช่ซื่อสัตย์ต่อ “อำนาจของประชาชน” และ “คนโกง”
ก็มักจะหมายเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นหลัก
ไม่ใช่เครือข่ายอำมาตย์ที่เป็นคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานจริยธรรมที่ยึด
อุดมการณ์ราชาชาตินิยม
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีการตั้งคำถามว่า
พลเอกเปรมและบรรดาเครือข่ายอำมาตย์ที่เป็นคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานดังกล่าว
ซื่อสัตย์ต่อประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อรัฐธรรมนูญห้ามทหารเกี่ยวข้องกับการเมือง
แต่ผู้นำกองทัพกลับให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อมวลชนอย่าง
เป็นปกติ เมื่อรัฐธรรมนูญห้ามองคมนตรีเกี่ยวข้องกับการเมือง
แต่ประธานองคมนตรีกลับสนับสนุนให้องคมนตรีมาเป็นนายกฯ ของคณะรัฐประหาร 19
กันยา 49 (สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด)
และกล่าวสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นนายกฯ
ของรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร (ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ)
เหล่านี้เป็นต้น ล้วนแสดงให้เห็น ปัญหา “ความไม่ซื่อสัตย์” ต่อ
“รัฐธรรมนูญ” และ “ประชาธิปไตย”
จริงอยู่ การที่นักการเมืองโกงงบประมาณแผ่นดินหรือโกงอะไรต่างๆ นั้น
ก็เป็นการกระทำที่ผิดหลักจริยธรรมทางการเมือง ผิดหลักการประชาธิปไตย
และผิดกฎหมาย
แต่การกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวนี้ก็เหมือนกับการทำผิดกฎหมายในกรณีอื่นๆ เช่น
ทำผิดกฎจราจร ปล้นทรัพย์ ฆ่าคน ฯลฯ
ซึ่งด้องแก้ไขด้วยการเอาผิดทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมในระบอบ
ประชาธิปไตย
ไม่ใช่เรื่องที่บรรดาคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานอุดมการณ์ราชา
ชาตินิยมจะถืออภิสิทธิ์เข้ามาทำรัฐประหารเพื่อปราบคนโกง เพราะ 1)
ประชาชนไม่ได้มีฉันทามติให้ทำเช่นนั้น 2) รัฐประหารเป็นการปล้นอำนาจประชาชน
เป็นความไม่ซื่อสัตย์ คดโกงฉ้อฉลอำนาจ สิทธิ เสรีภาพของประชาชน
เท่ากับอกตัญญูต่อชาติคือ “ประชาชน” และ 3) ไม่มีหลักประกันใดๆ
ว่าบรรดาคนดีมีคุณธรรมที่รวมหัวกันทำรัฐประหารจะไม่โกง เพราะตรวจสอบไม่ได้
ประการสุดท้าย
เมื่อมาตรฐานจริยธรรมแห่งชาติตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยมขัดแย้งกับมาตรฐาน
จริยธรรมประชาธิปไตยใน “ระดับรากฐาน”
จึงทำให้บรรดาคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานดังกล่าวอ้างคุณธรรมความดีละเมิดหลัก
การประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญห้ามยุ่งการเมือง ก็แสดงความเห็นทางการเมือง
สนับสนุนฝ่ายการเมืองอย่างเปิดเผย (และไม่เปิดเผย?)
กระทั่งทำรัฐประหารในนามของการอ้าง “คุณธรรมความดี”
เพื่อชาติบ้านเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้ “ที่ยืน” ของ “บรรดาคนดี”
อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยเสมอ เช่น
- ที่ยืนในตำแหน่งนายกฯ แห่งคณะรัฐประหาร 19 กันยา และบนเขายายเที่ยง (ตามวาทะว่า “สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด”)
- ที่ยืนในตำแหน่งนายกฯ อำมาตย์อุ้ม และบนกองศพประชาชน (ตามวาทะว่า “ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ”)
ฯลฯ
แน่นอนว่า
ความเสียหายของชาติบ้านเมืองส่วนหนึ่งเกิดจากนักการเมืองโกงงบประมาณแผ่นดิน
ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะต้องถูกตรวจสอบ
และถูกดำเนินการตามกฎหมายด้วยกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
แต่คำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ
แล้วบรรดาคนดีมีคุณธรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญ ปล้นอำนาจของประชาชน
ทำรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่าล่ะ
จะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายอย่างไร?
สังคมควรยอมรับการอ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมเพื่ออยู่เหนือ/ละเมิดรัฐ
ธรรมนูญ และฉีกรัฐธรรม ล้มประชาธิปไตยซ้ำซากเช่นนี้ ตลอดไปหรือ?