สำหรับชาวนา หลายคนอาจเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอบถามเรื่องนี้จากพวกเขา เนื่องจากเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรง กระนั้น หากสอบถามกันให้ชัดเจนขึ้น เราจะเห็นแง่มุมบางอย่างของพวกเขา ซึ่งก็ไม่ได้เห็นเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด และมีมุมมองนำเสนทางออกของปัญหาแตกต่างกันไป
สมาน ทัดเที่ยง แกนนำเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ที่ปรากฏอยู่ในหน้าข่าวขบวนชาวนาคัดค้าน คณาจารย์นิด้า เพื่อสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ เขานำเสนอว่าทำไมจึงสนับสนุนโครงการนี้ พร้อมชี้จุดอ่อนและทางออกบางอย่าง พร้อมเปิดกว้างว่าขอให้มีการพูดคุยเรื่องนี้จากทุกฝ่ายทุกคน โดยเฉพาะชาวนาในแต่ละภาคซึ่งมีบริบทที่ต่างกัน
สำรอง เนตรวง อายุ 60 ปี ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นภาพตัวแทนของเกษตรกรในพื้นที่อีสาน ซึ่งให้คำตอบตรงไปตรงมาเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้รับ
กิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่ง ประเทศไทย (สค.ปท.) เป็นชาวนาจาก จ.ชัยนาท และเป็นหนึ่งในชาวนาที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมทั้งเห็นว่าโครงการประกันรายได้น่าจะเหมาะสมกว่า
00000000000
สมาน ทัดเที่ยง
เครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่
คิดอย่างไรกับโครงการรับจำนำข้าว
ในสายตาของเกษตรกรซึ่งได้รับความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด อย่างที่นักวิชาการว่าอยากให้เราได้รับความเป็นธรรมพยายามจะทำอะไรต่างๆ แต่ตลอดระยะเวลาที่เราเป็นชาวนามา ในยุคไหนสมัยใดของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็ไม่เคยมีใครที่ให้กำไรแก่เกษตรกรเท่าไรจากต้นทุนการผลิต ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าต้นทุนการผลิตเท่าไร แต่เมื่อก่อนไม่มีโครงการรับจำนำ โครงการประกัน พ่อค้าก็เอาเปรียบเราตลอดเวลา ไม่เคยคิดว่าจะให้กำไรเรากี่เปอร์เซ็นต์จากผลผลิตการขายข้าว มีแต่กดชาวนาอย่างเดียว มันทำให้เราคิดว่า สิ่งที่รัฐบาลที่ผ่านมาหรือรัฐบาลชุดนี้กำลังทำ เป็นสิ่งที่จะสร้างฐานะ สร้างการมีรายได้ให้เกษตรกร เป็นขวัญและกำลังใจที่จะให้เราก้าวต่อไป แม้แต่ใครๆ ก็พูดกันว่า จะลดต้นทุนตรงไหน จะเพิ่มผลผลิตเท่าไหร่ มันเป็นประเด็นทั้งนั้น แต่จุดนี้มันจะได้มีกำลังใจที่จะไปไขว่คว้าหรือไปสรรหาว่าเราควรจะทำอะไร ตรงไหนบ้าง เราก็พยายามกันอยู่ตลอดเวลา
ในฐานะเกษตรกรผู้ได้รับผลโดยตรง โครงการประกันรายได้กับโครงการรับจำนำ มันมีความแตกต่างกันมากไหมสำหรับเกษตรกร และคิดว่าอันไหนที่ดีกว่า
โครงการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดก่อน โอเค ก็พอใช้ได้ แต่มันมีข้อแตกต่างระหว่างพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์มากเกินไป อย่างในภาคเหนือส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเหนียว แต่ราคาประกันรายได้ในส่วนข้าวเหนียวมันต่ำ ซึ่งเราพยายามขอให้ได้สัก 10,000 บาท แต่มันได้แค่แป๊บเดียว แล้วกลับมาที่เก่าคือ 9,500 บาทต่อตันต่อเกวียน แต่พอเป็นข้าวเจ้าซึ่งต้นทุนการผลิตเหมือนกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกลับได้ราคาสูงกว่า จริงๆ ข้าวเหนียวก็มีตลาดส่งออกที่ญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่เลยและที่ส่งออกให้ญี่ปุ่น ก็ราคาสูงแต่ทำไมเราได้นิดเดียว
พูดกันตรงๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนที่ตั้งราคาไว้สูง เกษตรกรก็ไม่ได้รับในราคาสูงสุดหรอก เพราะข้าวของเรายังไม่พร้อม รัฐบาลก็ไม่ยอมมองจุดของเรา องค์กรเกษตรกรก็ไม่สามารถช่วยเหลือพวกเราได้ เพราะขบวนการผลิตมันไปจบที่การเก็บเกี่ยว เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันก้าวไกล ชาวนาจะไม่ทำตรงนั้นก็ไม่ได้ ฝนฟ้าก็ไม่อำนวย ก็ต้องเก็บเกี่ยวสด ชาวนาตอนนี้ก็เข้าใจแล้วทั้งประเทศว่า ข้าวที่เขาไม่ได้ในราคาสูงสุด เพราะมีความชื้น ความชื้นนี่คือคุณภาพข้าว จะให้เกี่ยวสดไปแล้ว ถ้ามีการบริหาร รัฐบาลประกันราคาหรือจำนำแล้วไปบริหารจัดการโดยการเอาไปรีบอบให้ได้ความชื้น 15% หัวข้าวจะได้มากกว่าปลายข้าว
ยกตัวอย่าง ข้าวเหนียวเมล็ดยาว ของรัฐบาลชุดนี้อยู่ที่ 16,000 บาทต่อตันต่อเกวียน เมล็ดสั้นก็ 15,000 บาท คนที่จะได้ความชื้นแบบที่วางไว้ 15% จากร้อยคนมีสักสิบคนถึงไหม ไม่ถึงหรอก ดังนั้น ที่รัฐบาลซื้อสูง ชาวนาก็ไม่ได้ตามนั้น เพราะข้าวของเขามีความชื้น แต่รัฐบาลชุดนี้ก็กำหนดค่าความชื้นให้สูงกว่ารัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลที่แล้วให้ที่ 30% รัฐบาลชุดนี้ขยายมาถึง 35.9% เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็อยากให้ชาวนาที่เกี่ยวสดขายได้ราคา แล้วโรงสีในโครงการรับจำนำก็ต้องรีบเอาไปอบให้ได้ 15%
ขยายมาถึง 35.9% นี่ข้าวเหนียวที่ความชื้นเท่านี้ก็ยังได้กิโลละ 11 บาท 8 สตางค์ หรือตันละ 11,800 บาท ชาวนาก็พอใจ แต่ถ้าราคา 11 บาท 8 สตางค์นี่ ถ้าไม่มีโครงการช่วย เอาไปขายพ่อค้า ผมรับรองได้เลยว่าไม่เกินกิโลละ 6 บาท จำได้ไหม สมัยปี 51 ยังไม่มีโครงการประกันราคาด้วยซ้ำ พวกเราต้องปิดถนนให้รัฐบาลสมัคร (สุนทรเวช) มาซื้อโดยไม่หักความชื้นกิโลที่ 8 บาท แต่พอมาถึงตอนนี้รัฐบาลนี้ก็พยายามให้เกษตรกรมีรายได้เพื่อเป็นกำลังในการ ขยับไปเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนต่างๆ ข้าวต่ำสุดเราได้ 11 บาท 8 สตางค์
ผม ถึงว่าถ้าจะไม่มีการจำนำตามที่นักวิชาการบอก นักวิชาการสามารถมีกลไกอะไรที่จะไปควบคุมให้พ่อค้าโรงสีทั่วประเทศซื้อใน ราคาเป็นธรรมกับชาวนาได้ไหม แค่ 8-9 บาทขึ้นไปได้ไหม
แล้วพอใจกับโครงการประกันราคาหรือโครงการจำนำ มากกว่ากัน
พูดกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อม รัฐบาลที่แล้วตั้งราคาประกันไว้ไม่สูง มันก็มีโอกาสที่ข้าวบางพันธุ์ก็จะขึ้น สมมติ 9,500 อาจขึ้นถึง 10,000 เราก็จะได้ค่าชดเชยจากราคาแท้จริงกับราคาประกันที่ตั้งไว้ ผ่าน ธกส.เขาเรียกเงินชดเชย แต่เดี๋ยวนี้ ราคาต่ำสุดได้ 11 บาท 8 สตางค์ ชาวนาเขาก็พอใจ ทำให้เขาได้ประโยชน์จากโครงการรับจำนำ แต่การรับจำนำรัฐบาลจะต้องจัดการให้ดี
ยกตัวอย่าง ข้าวหมอมะลิที่ให้ตันละ 20,000 บาท ผมกล้ายืนยันว่าแทบไม่มีใครได้ 20,000 บาท ถามว่าคนที่จะได้ราคานั้นความชื้น 15% จะมีถึง 5% ของจำนวนทั้งหมดไหม ไม่มีทางถึง เขาก็จะได้ต่ำลงมา อย่างดีก็ไม่เกินกิโลละ 12-13 บาท อันนี้เรียกไม่ได้ว่ารัฐบาลซื้อสูงมาก ถ้ารัฐบาลกำหนดว่าซื้อทั้งหมด ในราคาที่กำหนดไว้หมด นั่นผมถือว่า ซื้อราคาสูงมาก แต่ทุกวันนี้ซื้อตามความชื้น ตามคุณภาพข้าว ซึ่งถึงที่สุดชาวนาเขาก็พอใจอยู่ดี
แต่ประเด็นคือ ต้องเอาข้าวเหล่านี้ไปอบ แล้วอบยังไงให้ได้คุณภาพ ผมทำหนังสือถึงนายกฯ และรัฐมนตรีช่วยหมดแล้ว ว่า ข้าวที่ซื้อตามความชื้นนี้ ควรแบ่งความชื้นเป็น 3 กอง ข้าวที่ชื้น 15% นั้นไม่มีปัญหา สีให้รัฐบาลได้เลย แต่ข้าวที่มีความชื้น 16%-20% ควรจะกองไว้หนึ่งกอง 20-25% แยกไว้อีกกอง 25-35.9% อีกหนึ่งกอง ที่ผมให้แยกเพราะข้าวเหล่านี้ เพื่อให้รู้ว่าส่วนไหนพวกโรงสีต้องรีบขนไปอบ ไม่อย่างนั้นข้าวอาจจะเสีย แต่เมื่อเอา 16% กับ 35% มาปนกัน ข้าวที่มีความชื้นต้นๆ มันจะแห้งจะกรอบกว่าที่ข้าวมีความชื้น 25%-35% ข้าวที่ความชื้นต่ำกว่าจะกรอบเวลาเอาไปสี ไม่เป็นหัวข้าวแต่เป็นปลายข้าว นี่เป็นสิ่งที่ผมพยายามอธิบายว่าการบริหารจัดการแบบนี้จะเหมาะสมกว่า ตอนนี้มันไม่มีการจัดการแบบนั้น เอาไปกองรวมกันหมด แต่ถ้าแยกแบบนี้จะได้ข้าวหัวมากต่อตัน และไม่เปลืองแก๊ส ไม่เปลืองน้ำมันที่ใช้อบ
แม้โครงการนี้ชาวนาจะได้โดยตรง แต่มีข้อท้วงติงว่าเป็นการผลักให้รัฐแบกหนี้สาธารณะมากเกินไป และเป็นการผูกขาดตลาดมากขึ้น คิดอย่างไรกับประเด็นนี้
ผมก็เข้าใจที่นักวิชาการพูดว่าจุดประสงค์ไม่ต้องการให้สูญเสียอะไรมาก สำหรับรัฐบาล ดังนั้น ผมก็เขียนส่งไปแล้วว่า 1.เกษตรกรขอให้รัฐบาลจำนำในปีนี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ไม่นานข้าวก็ออกแล้ว ถ้าจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรตอนนี้ใครจะรับประกันอะไรได้ว่าถ้าไม่มีการจำนำ นักวิชาการจะทำให้โรงสีซื้อเราแบบคุ้มต้นทุนไหม ไม่มีหรอก ถ้าไม่มีจะให้เกษตรกรทำยังไง มันก็ตกเป็นเบี้ยล่าง ให้พ่อค้าโรงสีทั่วประเทศกดราคา ถ้าไม่มีใครเป็นกันชนให้เรา จึงเสนอว่าให้จำนำปีนี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
2.หลังจากนั้น รัฐบาลต้องเชิญบรรดาคณาจารย์นิด้าหรือใครก็ตามที่มีข้อท้วงติง ข้อห่วงกังวล มีความหวังดีต่อรัฐบาลต่อประเทศชาติพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกัน เลยว่า โครงการรับจำนำในปีนี้มันมีปัญหาอะไรบ้าง ติดขัดอะไร ควรจะปรับตรงไหน ควรจะเปลี่ยนแปลงตรงไหน คุยกันโดยเหตุและผล และข้อมูล มาคุยกันว่าทำอย่างไรให้ชาวนาได้ โรงสีและผู้ส่งออกก็ไม่เสีย และรัฐบาลก็ได้งานด้วย
3. การประชุมนี้ต้องเชิญตัวแทนเกษตรกรทุกภาค ทุกวันนี้มีตัวแทนเกษตรกรคนเดียว ซึ่งเขาก็ไม่ได้รู้อะไรทั้งหมด และท่านคนเดียวจะไปสู้อะไรกับใครได้ ตัวแทนส่วนอื่นๆ เยอะแยะ แต่ตัวแทนเกษตรกรมีคนเดียว ต้องเชิญทุกภาค เราจะได้ไปคุยกันว่า แต่ละภาคมันมีปัญหาอะไรบ้างที่รัฐบาลต้องรู้ พ่อค้าต้องรู้
ในมุมเกษตรกรเอง มีข้อเสนอไหมในระยะยาวว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไร
ต้องส่งเสริมให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งเป็นมันสมองของกระทรวงเกษตรจะต้องทำตัวเป็นกลางให้มาก ต้องดูว่าต้นทุนการผลิตข้าวแต่ละพันธุ์มันเท่าไร เมื่อรู้ต้นทุนการผลิตแล้ว จะมีมาตรการอะไรให้พ่อค้าโรงสีซื้อเกินจากต้นทุน และเกินไปเท่าไร เช่น สมมติต้นทุน 6,500 ต่อไร่ จะบวกไปอีกกี่เปอร์เซ็นต์ตามมาตรฐานสากลที่เขาบวกกำไรให้เกษตรกร พ่อค้าทำได้ไหม สภาหอการค้า สภาผู้ส่งออกยอมรับได้ไหม ต้องรวมตัวกันทำความเข้าใจกัน ให้เกษตรกรอยู่ได้ด้วยเหมือนกัน
แสดงว่าที่กำหนดอยู่ปัจจุบันไม่ได้สะท้อนต้นทุนแท้จริง
เป็นต้นทุนเหมือนกันแต่มันไม่ใช่ต้นทุนที่เป็นความจริง ทุกวันนี้เอาต้นทุนแต่ละภาคเอามาบวกกันแล้วหาร ยกตัวอย่าง กำหนดไว้ที่การได้ผลผลิต 400 กิโลกรัมต่อไร่ มันไม่ใช่ ผมบอกเลยว่า ดินของประเทศไทยเรานี้ถ้าไม่ใส่ปุ๋ย ปลูกแบบพื้นฐาน อาศัยปุ๋ยธรรมชาติ ไถกลบหญ้าให้หมักเน่า อะไรแบบนี้ อย่างน้อยๆ ไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าเราใส่ปุ๋ยเข้าไป ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด มันต้องเพิ่มไปอีก 30-40% และถ้าทำดีให้น้ำให้ปุ๋ยถูกวิธีมันอาจเพิ่มได้มากกว่านี้อีก ที่ได้ถึง 1,000-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ก็มี ท่านต้องเชื่อเขาสิ เพราะเขาเป็นเกษตรกร แม้แต่เวลาจำนำเกษตรกรหลายคนก็ผลิตได้เกิน 400 ที่เรากำหนด เขากล้าเซ็นรับรองว่าเป็นข้าวเขา เขาให้ตรวจสอบได้หมดว่าไปซื้อไหนมาหรือไม่ ถ้าใช่ก็ยอมรับผิดหมด มันเป็นความสามารถของคนไทย ไม่ใช่กำหนด 400 กิโลกรัม 800 กิโลกรัม แล้วส่วนที่เขาผลิตได้มากกว่านั้นมันจะไปขายให้ใคร ก็ต้องขายให้พ่อค้าหลังโรงสี
สุดท้าย ผมเป็นคนเสนอรัฐบาลและจังหวัดเชียงใหม่ไปว่า เอาอย่างนี้ ใครที่ผลิตได้เกิน 400 เกิน 800 ที่ท่านกำหนด ขอให้รับจำนำเขา แต่ให้มีแบบฟอร์มให้เขาเซ็นว่าเป็นข้าวของเขา ถ้าเขาไปซื้อของใครมาเพิ่มมาเติมนั่นเขายอมรับผิด ที่รัฐบาลบอกว่าเวียดนาม เกาหลี ปลูกได้ 1,200-1,400 กิโลกรัม ประเทศไทยเราก็ปลูกได้แต่ทำไมไม่โชว์คนเหล่านี้ ให้สอนเกษตรกรอื่นว่าทำอย่างไร ไม่ใช่ไปยอมรับ ไม่เชื่อเขา
มีปัญหาไหมว่าต้นทุนเกษตรกรโดยส่วนใหญ่หมดไปกับเคมีภัณฑ์ต่างๆ ต้องการเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาในจุดนี้ด้วยไหม
ตอนนี้คนที่ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว เราพยายามให้เขาใช้ควบคุมไปกับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ยกตัวอย่างปุ๋ยพืชสด ผมเองรณรงค์เรื่องการปุ๋ยพืชสดซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของในหลวง หว่านปั๊บแล้วไถกลบ ต้นปอเทือง ต้นโสนแอฟริกัน ต้นถั่วต่างๆ มันจะกลายเป็นอินทรียวัตถุ ระบบรากของมันดึงไนโตรเจนอยู่แล้ว เราไม่ไดต้องไปซื้อปุ๋ยยูเรียซึ่งแพงมากและเป็นปุ๋ยตัวสำคัญที่ข้าวต้องการ ใช้ ทำปุ๋ยพืชสดจากใบไม้ใบหญ้า เราก็ทำกันในตำบลผมนี่มีการทำปุ๋ยแลกไข่ไก่อะไรบ้าง เกษตรกรสนใจมาก โครงการเหล่านี้รัฐบาลต้องเร่งขยาย นี่ก็เหมือนกันรัฐบาลต่อรัฐบาลซื้อได้ไหม มันจะได้ต้นทุนถูกแก่เกษตรกร
อีกประเด็นที่อยากฝาก ผมเป็นประธานศูนย์บริการถ่ายทอดเทคนิคการเกษตรประจำตำบล เปรียบไปก็เหมือนเป็นกระทรวงเกษตรขนาดเล็กที่กระทรวงเกษตรตั้งขึ้นทุกตำบล ทั่วประเทศ อยู่ในท้องถิ่น อบต. เทศบาล มีคณะกรรมการบริหารจากคนทุกอาชีพในตำบลนั้น 15 คน การประชาคมข้าวอะไรต่างๆ ก็อยู่ที่ศูนย์ถ่ายทอดนี้ เขารู้หมดใครปลูกอะไร กี่ไร่ มีผลผลิตประมาณเท่าไร เพราะเราอยู่กับข้อเท็จจริง แต่รัฐบาลหรือกระทรวงเกษตรมองข้ามพวกเรา เลยอยากเสนอรัฐบาลว่า อย่ามองข้าม ให้เราเป็นตัวช่วยรัฐบาล เวลาเกษตรกรในตำบลไปจำนำข้าว เดือนหนึ่งคุณส่งรายชื่อมาให้ผม เขาไปจำนำเท่าไร ผมจะได้กลับมาเช็ค ถ้าคนไหนผิดจะได้ส่งรายชื่อให้จังหวัด อันนี้จะเป็นการควบคุม แต่ทุกคนไม่มองศูนย์ถ่ายทอดเลย ตั้งมาไว้เฉยๆ ทั้งที่เราอยากจะทำงาน
สำรอง เนตรวง
อายุ 60 ปี เกษตรกรทำนาทุ่งกุลาร้องไห้ ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ราบขนาดใหญ่
มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ อยู่ในเขต จ.สุรินทร์ (อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม) ,
จ.มหาสารคาม (อ.พยัคฆภูมิพิสัย),จ.บุรีรัมย์ (อ.พุทไธสง) ,จ.ศรีสะเกษ
,จ.ยโสธร (อ.มหาชนะชัย) และ จ.ร้อยเอ็ด (อ.ปทุมรัตต์ อ.เกษตรวิสัย
อ.สุวรรณภูมิ และ อ.โพนทราย) การที่ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ชนเผ่ากุลาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจากเมืองเมาะตะมะ
ประเทศพม่า ได้เดินทางมาค้าขายผ่านทุ่งแห่งนี้ ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน
ไม่พบหมู่บ้านใดๆ เลย น้ำก็ไม่มีดื่ม ต้นไม้ก็ไม่มีที่จะให้ร่มเงา
มีแต่ทุ่งหญ้าเต็มไปหมด พื้นดินก็เป็นทราย
เดินทางยากลำบากเหมือนอยู่กลางทะเลทราย ทำให้คนพวกนี้ถึงกับร้องไห้ ดังนั้น
จึงได้ชื่อว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งนี้ปัจจุบัน
ทุ่งกุลาถือเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียง
มีโครงการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง
จนไม่นานมานี้ได้รับความคุ้มครองจำเพาะเป็นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่
สหภาพยุโรปแล้ว (http://www.senate.go.th/senate/report_detail.php?report_id=23)มีการพูดกันมากว่าพื้นที่อีสาน ชาวนาเข้าโครงการจำนำข้าวไม่มาก เพราะผลผลิตที่ได้มีจำนวนน้อย ข้อเท็จจริงในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ เป็นอย่างไรบ้าง กระบวนการที่ชาวนาจะเข้าโครงการของรัฐต้องทำอย่างไร
ไม่น้อยนะครับ เข้าทุกครัวเรือนที่ทำนา ก่อนจะทำ เขาจะให้ไปลงทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ต่อมาเขาก็จะเรียกไปประชาคมว่ามีการทำนาจริงหรือไม่ แล้วก็จะให้ทาง ธกส.มาประเมินว่าไร่หนึ่งคุณจะได้ประมาณกี่ตัน ปีที่แล้วมีการตกลงกันไว้ว่าจะได้ 300 กว่ากิโลกรัมต่อหนึ่งไร่ แล้วที่นี้ก็เอาข้าวไปขาย ปีที่แล้วผมได้ตันละ 19,200 บาท เป็นข้าวแห้ง ไม่มีความชื้น และมีการหักสิ่งเจือปนพวกเศษฟางเศษอะไรไปตันละ 80 บาท
ผลผลิตที่ได้คิดเป็นกิโลกรัมต่อไร่ สูงสุดไม่เกิน 500 กิโลกรัม เพราะบางครั้งมันก็แล้ง บางครั้งต้องหาแหล่งน้ำมาสูบน้ำใส่ ตรงนี้ในเขตทุ่งกุลาถ้ามีแหล่งน้ำผลผลิตก็จะมีถึง
ในเรื่องจำนำข้าวไม่มีปัญหา เพราะราคาข้าวเราได้อยู่แล้ว โครงการนี้เราชอบอยู่ เพราะชาวนาเราลืมตาอ้าปากได้ อย่างต่ำก็ได้กิโลกรัมละ 17 บาท ตันหนึ่งก็ได้ 17,000 บาทอยู่แล้ว ที่นี้ถ้าเราไม่เข้าโครงการจำนำข้าว เราไปขายพ่อค้าคนกลางที่เขารับซื้อทั่วไปจะได้ตันละ 15,000-16,000 บาท สำหรับข้าวหอมมะลินาปีที่ทุ่งกุลา แต่ถ้าเข้าโครงการจำนำข้าวคือเราขายช่วงต้นปี บางคนได้กิโลกรัมละ 17 บาท หรือ 18 บาทกว่า บางคนก็ได้ 19 บาทต่อกิโลกรัม คือเขาหักความชื้นหักสิ่งเจือปนไปบ้าง มันก็ไม่ได้ 20 บาทเต็มสักคนหรอก
มีการกำหนดไหมว่าชาวนาจะขายข้าวได้อย่างน้อยต้องขั้นต่ำเท่าไร ขั้นสูงเท่าไร
แรกๆ เขากำหนดเป็นจำนวนไร่ว่าคนหนึ่งไม่เกิน 45 ไร่ แต่ว่าพอผมไปประชาคม เขาบอกว่าปีนี้ไม่กำหนดจำนวนว่าคุณมีเท่าไร กี่ไร่ก็ขายได้ มีนา 50-60 ไร่ก็ขายได้เต็มที่ แต่ว่าให้ไร่ละไม่เกิน 350 กิโลกรัม ถ้าเหลือ ถ้าข้าวเรางาม ที่นี้เราได้ข้าวเยอะ มันเหลือเราก็เอาไปขายให้พ่อค้าทั่วไปได้
มีไหมกรณีที่ภาคอีสานบางพื้นที่ได้ผลผลิตน้อยไม่พอเข้าโครงการ
ผลผลิตได้น้อยคือมันแล้ง จังหวะมันแล้งก็มี อย่างปีนี้ยอมรับว่าแล้ง ก็อาจมีคนพูดแบบน้อยใจก็ได้เพราะมันแล้ง แต่แถวบ้านผมมันอยู่ติดลุ่มลำน้ำเสียวมันไม่แล้ง และปีนี้ผมคิดว่าจะได้ผลผลิตมากกว่าปีที่แล้วอีก บางทีมันแล้งจริงๆ ผมอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด มีอยู่ 20 อำเภอ ประสบปัญหาภัยแล้งประมาณครึ่งต่อครึ่ง แต่กับพวกผมที่ได้ผลผลิตผมก็ว่ามันดีแหละครับ
แล้วโครงการจำนำข้าวกับโครงการประกันราคาของรัฐบาลชุดที่แล้ว ในความรู้สึกของชาวนามันแตกต่างกันอย่างไรไหม
ในความรู้สึกของผม มันก็ดีทั้ง 2 อย่าง คือว่าประกันราคามันก็ดี คือสมมติเราขายข้าวไปกิโลกรัมละ 12 บาท เราก็ได้เพิ่มอีกกิโลกรัมละ 3 บาท เพราะเขากำหรดให้เราได้กิโลกรัมละ 15 บาท ตันละ 15,300 บาทหรืออะไรประมาณนี้ถ้าผมจำไม่ผิด แต่ที่นี้มันมีแบบว่าบางกรณีเจ้าของนาไม่ทำนาแต่มีสิทธิ์ไปเข้าโครงการ ประกันราคา เขาก็ได้ข้าว เป็นค่าเช่านาไปแล้ว แล้วยังได้เงินประกันไปอีก ส่วนคนที่ทำก็ได้ขายแต่ข้าวไม่มีราคา
สมมติว่าผมไปเช่านาเขาทำ ผมก็ขายข้าวได้แค่กิโลกรัมละ 12 บาท แต่ส่วนผลต่างของการประกันราคาข้าวเจ้าของนาได้ไป โดยที่เขาก็ได้ค่าเช่าไปแล้ว ส่วนชาวนาจริงๆ ที่ทำนาจริงๆ เราลงทุนทั้งข้าวปลูก ทั้งยารักษาโรค ทั้งปุ๋ยเคมีและทุกอย่าง รวมทั้งค่าเกี่ยวข้าว เราได้แค่ 12 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ถ้าเป็นโครงการจำนำข้าวชาวนาผู้ขายข้าวจะได้เต็มๆ เลยครับ คนมีข้าวไปขายถึงได้เงิน เจ้าของพื้นที่นาเขาก็จะได้แค่ค่าเช่าไปอย่างเดียว ซึ่งผมคิดว่ามันยุติธรรมแล้วที่โครงการจำนำข้าวจะเข้ามา
ที่มีการพูดว่าโครงการอย่างนี้เป็นโครงการเฉพาะหน้า ไม่ได้ช่วยเกษตรกรจริง คิดอย่างไร
มันก็ไม่รู้นะครับ แต่เกษตรกรก็ได้เงินมาในราคาข้าวที่มีราคาสูง ก็ทำให้เราดีขึ้น จากที่เราไม่มีอะไรเลย ส่งลูกเรียนจากที่ไปยืมพี่ยืมน้องมา เราก็มีเงินส่งลูกเรียนอะไรอย่างนี้ ผมว่าดีกว่าเก่า ส่วนจะเป็นอย่างไรผมก็ไม่รู้ แต่ผมคิดว่ายังไงจำนำข้าวมันก็ทำให้ชาวนาดีขึ้น มันได้ราคาเยอะ ใครบ้างไม่อยากได้ราคาดี พ่อค้าขายข้าวเขาก็อยากได้ เราปลูกอะไรเราก็อยากขายได้ราคา
เขาว่ากันว่าการอุ้มชาวนาตรงนี้ทำให้ระบบของการค้าข้าวมีปัญหา
รัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหากัน แต่เราชอบแบบนี้ เพราะถ้าเกิดมีการประกันราคามา ได้ตันละแค่ 11,000-12,000 บาท ค่าปุ๋ยเคมีก็กระสอบละ 700-800 บาทเท่ากัน แต่จำนำราคาเราได้แค่ 17,000-18,000 บาท ถ้าเป็นคุณ คุณจะเอาอย่างไหนล่ะครับ
โครงการจำนำทำให้ราคาข้าวแพงขึ้น แล้ววัตถุดิบอย่างข้าวปลูก ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงแพงขึ้นไหม
ไม่ใช่ ไม่จริงครับ ยังเท่าเดิมครับ วันนี้ราคาปุ๋ยยูเรียก็อยู่ที่ 780 บาท ปุ๋ยสูตร 15 ตรากระต่ายที่เราใช้กันก็กระสอบละ 825 บาทเท่ากันเหมือนเดิม แพงแต่ค่าน้ำมันอย่างเดียว ผมบอกตรงๆ ว่าแพงแต่ค่าน้ำมันอย่างเดียว ของอื่นไม่แพง ส่วนข้าวปลูกราคาก็เพิ่มขึ้นมานิดหน่อยเป็นธรรมดา เพราะว่าเราขายข้าวไปแพง ข้าวปลูกก็ต้องแพงไปตามกติกาธรรมดา แต่ปุ๋ยเท่าเดิม เพราะก่อนหน้านี้ข้าวกิโลละไม่กี่บาทแต่ปุ๋ยยูเรียกระสอบละ 13,000 บาทก็ยังเคยมี สมัย 4-5 ปี ผ่านมา
ตอนนี้ทำนาอยู่กี่ไร่ เป็นนาของตัวเองหรือเช่าที่นาทำนาอยู่
35 ไร่ ครับ เป็นที่นาของตัวเอง ที่เช่านาไม่มี แต่ที่พูดถึงคือในกรณีที่ว่ามีเจ้าของนาบางคนที่มีที่นามากแล้วก็แบ่งให้ เช่า คนทำนาก็ทำนาไปแล้ว ค่าเช่าก็จ่ายไปแล้ว แล้วเจ้าของนาจะมาเอาเงินผลต่างประกันราคาไปอีก เพราะรัฐบาลให้สิทธิเขาในส่วนการประกันราคาข้าว คุณเป็นเจ้าของนาก็มาขึ้นทะเบียนเอา แต่คนทำนาไม่มีสิทธิ คนทำก็รู้สึกเสียเปรียบ ไหนค่าเช่าก็จ่ายไปแล้ว น้ำท่วมก็ไม่ได้ น้ำแล้งก็ไม่ได้อีก ได้ขายข้าวอย่างเดียว ที่นี้ราคาข้าวขึ้นมาตันละ 20,000 ใครจะไม่เอา
คิดในแง่ความเป็นจริงสิครับว่าทุกคนต้องการเงินหมด เมื่อสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดีเขาก็ต้องการสิ่งนั้น ตอนนี้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ก็เพราะข้าวราคาสูง ก็เหมือนกับยางพารา เขาขายได้กิโลกรัมละ 90 บาท ก็มีการไปทวงถามเพราะเขาอยากได้ราคาร้อยกว่าบาท ก็เหมือนกัน
สำหรับชาวนาทุ่งกุลา มีปัญหาอะไรที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขเร่งด่วนหรือเปล่า
นาทุ่งกุลาส่วนใหญ่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่ สปก.4-01 ซึ่งห้ามเช่า ห้ามซื้อขาย มีน้อยมากที่มีโฉนด แต่ถ้าเราไม่มีนาทำเราไปขอเช่าเขา เขาก็บอกเช่าได้ แต่ว่าไม่มีการเขียนใบสัญญาเช่า เหมือนว่าเราขโมยทำกันเอง อยากให้แก้ไขจุดนี้คือขอให้เปิดให้มีการเช่าที่นา สปก.ได้ ถึงแม้จะมีการห้ามซื้อขาย
สมัยก่อนที่จะมาเป็นไร่นา สปก.4-01 เกษตรกรเขามีนาเยอะ สมมติ 100 ไร่ เขาก็แบ่งให้ลูกเต้าเขาไป หรือบางคนก็เอาชื่อมาอ้างว่าให้ลูกหลานไปแต่ก็ยังเป็นของเจ้าของเดิม แล้วให้คนอื่นเช่า ปัญหาตรงนี้ถ้าแก้ไขได้ผมคิดว่าดี ดีกว่าจะมาแก้ไขเรื่องราคาเสียอีก
ส่วนราคาข้าวผมคิดว่าจำนำข้าวดีที่สุด ผมไม่ได้ว่าเป็นคนฝ่ายโน้นฝ่ายนี้แต่ผมพูดจากใจจริง
ปัญหาใหญ่ๆ เรื่องหนี้สิน เรื่องต้นทุนการผลิต คิดว่ารัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขไหม
เรื่องหนี้สิน อย่างผม ผมเป็นหนี้ ธกส.อยู่ 2 แสนกว่าบาท ธกส.เขาก็ให้ผ่อนชำระได้ โดยลดดอกเบี้ยให้ เหลือดอกร้อยละ 3 บาทต่อปี ในโครงการพักหนี้ แล้วจากเงิน 2 แสนกว่าบาท หากเราไม่มีเงินต้นไปให้เขา เขาก็ส่งเราไปอบรมการประกอบวิชาชีพเพื่อหาเงินไปส่งหนี้เขา ถ้าเราสามารถผ่อนได้เขาก็ยื่นชำระผ่อนให้
อย่างเป็นหนี้เขา 2 แสน เขาให้เราส่งเขาภายใน 10 ปี สมมติปีละ 20,000 บาท ผมทำนา 35 ไร่ ผมมีสัญญาส่งเขาปีละ 20,000 บาท ถ้าข้าวราคาสูงก็ทำได้ มันไม่มีปัญหาอยู่แล้วเรื่องนี้ ขออย่างเดียว ขอว่ารัฐบาลช่วยพักหนี้ให้ ลดดอกให้ แล้วก็ยืดระยะเวลาในการจ่ายต้นให้ ธกส.เพราะชาวนาแถวนี้ส่วนมากเป็นหนี้ ธกส.หมดครับ ถ้าเป็นหนี้อย่างอื่นเช่นหนี้นอกระบบ ธกส.เขาก็ช่วย
โครงการจำนำข้าวถูกมองว่าใช้เงินเยอะมาก ส่วนตัวชาวนามองว่าอย่างไร
ไม่ว่าจะพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ช่าง ผมอยากให้ราคาข้าวสูงไว้ก่อน เพราะทุกคนก็ต้องกินข้าวตั้งแต่เกิดมา แต่ชาวนามีอะไรบ้างถ้าไม่ทำ คิดดูแล้วกัน ข้าราชการมีเงินเดือนใช้ก็ต้องกินข้าว เอาแค่นี้แล้วกัน ผมไม่มีอะไรแนะนำ เพราะผมก็จบแค่ประถม ผมไม่มีอะไรที่แนะนำ แต่ผมบอกแล้วว่ายังไงก็ขอให้ราคาข้าวสูงไว้ก่อน
โครงการจำนำข้าวที่ทำมาแล้วเห็นปัญหาไหมว่ามีอะไรบ้าง
ข้อเสียคือมันช้า คือว่าเงินมันดีเพราะว่าราคาข้าวมันสูง แต่ว่ามันช้า แบบว่าขั้นตอนมันช้าไม่ใช่แบบบริษัท เป็นของรัฐบาล เงินหลวงมันก็อาจจะช้าไปหน่อย แต่ว่าไม่เกินเดือนก็ได้ ประมาณ 20 วันก็ได้แล้ว แล้วใครจะไม่รอเอา แต่ถ้าจะให้ดีอย่าให้เกินอาทิตย์หนึ่งหรือได้เงินเลยก็ยิ่งดี (หัวเราะ)
ผมมีพี่น้องอยู่จังหวัดพิจิตร ตอนนี้เขาปลูกข้าวนาปรัง ขายได้ราคาตันละ 12,000 บาท เป็นข้าวขาว จากเมื่อก่อนได้ตันละ 6,000-7,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 8,000 บาท พอเขาได้ราคา 12,000 บาท เขาก็ว่าดีเหมือนกัน แต่ตอนนี้เงินรอบสุดท้ายนี้จะได้เงินหรือยังก็ไม่รู้ เงินมันช้า
แล้วจำนำข้าวรอบใหม่นี้ แนวโน้มเป็นยังไง
นาปียังไม่ได้ขายครับ นาปีจะเริ่มขายข้าวประมาณวันที่ 10 พฤศจิกายน เกี่ยวครั้งแรกเลย แต่ที่นี้ผู้ใหญ่บ้านเขามีประชาคมแล้ว คือเริ่มโครงการ 10 ตุลาคม 55 – 30 กันยายน 56 ไปขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และประชาคมผ่านเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่ให้เจ้าหน้าที่ ธกส.เขามาพูดเรื่องราคาให้ฟังว่าคนหนึ่งได้ประมาณไร่ละกี่กิโลกรัม แต่ปีที่แล้วได้ไร่ละ 350 กิโลกรัม คือไร่ละ 35 ถัง
กิมอัง พงษ์นารายณ์
ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) ประกอบอาชีพชาวนา จ.ชัยนาท
สภาเครือข่ายองค์กร เกษตรกรแห่งประเทศไทย
(สค.ปท.)
เกิดจากการรวมตัวขององค์กรเกษตรกรเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินและปัญหา
ต่างๆ ของเกษตรกร หลายรายถูกฟ้องร้องยึดทรัพย์สินที่ดิน
และอีกหลายรายที่ดินทำการเกษตรกำลังจะหลุดมือคุณเข้าโครงการรับจำนำข้าวหรือเปล่า
โครงการรับจำนำข้าวเข้า แต่โครงการพักชำระหนี้ไม่เข้า
คือย่างนี้ วันนี้ถามว่าเกิดประโยชน์จริงๆ หรือว่าแก้ปัญหาจริงๆ ไหม มันไม่ได้แก้ปัญหา เพราะว่าเมื่อวันก่อนนี้โทรเช็คกับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกฯ ก็เห็นอยู่ว่า ของทุกอย่างในตลาดนัด ของขึ้นราคาหมดเลย แพงมาก น้ำมันก็ขึ้น แล้วเงินจำนำข้าว 4 เดือนถึงจะได้ วันนี้ชาวบ้านเริ่มไปกู้เงินนอกระบบมาคนละ 2,000-3,000 เพื่อเอามาใช้มากินในช่วงที่ยังไม่ได้เงินแล้ว แล้วแถมระยะเวลา 3-4 เดือนนี้ที่เป็นช่วงต้องลงทุนใหม่จะต้องไปกู้ร้านปุ๋ย ร้านยา ไปเชื่อปั๊มน้ำมันมาหมดเลย ดอกเบี้ยร้อยละ 3-5 มันเป็นปัญหา
แสดงตอนนี้มีปัญหาหลักเรื่องของการโอนเงินช้า
ใช่ การจ่ายเงินช้า แล้วก็วันนี้หลายคนอย่างที่สุพรรณเกี่ยวข้าวจมน้ำมาขายไม่ได้ ทีนี้พอข้าวจมน้ำปั๊บ เราไม่มีข้าวไปจำนำ ก็เลยไม่ได้เงินเลย เสร็จแล้ววันนี้ขายได้สำหรับคนที่ไม่ถึงกับจมเก็บเกี่ยวไปได้ ขายไปได้ที่ 11,000-13,000 เท่านั้น ไม่มีใครได้ 15,000 เลย
ราคาขายที่ไม่ถึง 15,000 บาท นั้นเพราะอะไร
เขาตัดความชื้น ตัดสิ่งเจือปน และตัดอื่นๆ ซึ่งอื่นๆ นี้ไม่รู้ว่าอะไร แต่บอกเลยว่าตัดอื่นๆ รวมแล้วคือ 3 ตัวนี้ ตัดเสร็จแล้วเราก็เหลืออยู่ประมาณเท่านี้ ที่สำคัญ วันนี้กลายเป็นว่าเราลงทุนปลูกใหม่ ข้าวปลูกแพงขึ้นไปอีกหลายบาทมาก แพงไปเยอะเลย วันนี้ 200 กว่าบาทไปแล้วต่อหนึ่งถัง จากเดิม 180 บาท
เกษตรกรวันนี้ถามเขา เขาก็ว่าดีใจ เขาอยากได้เงินเยอะไหม เขาอยากได้เงินเยอะ แต่วันนี้มันกลายเป็นว่าใส่ในมือให้เราเยอะๆ แล้วเราก็ต้องไปใช้หนี้ร้านปุ๋ย ร้านยา ดอกเบี้ยระยะเวลาที่เราเชื่อเขา มันก็เหมือนกันเราไม่ได้อะไรอยู่ดี
ความช้ามันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันเป็นปัญหาการลงทุน ปัญหาที่จะกินใช้ทุกวัน ต้องบอกว่าชาวนาทำนาระยะหนึ่งเขาก็จะมีหนี้ค่าปุ๋ยค่ายา บางทีก็เป็นหนี้ปั๊มน้ำมัน บางทีก็เป็นหนี้ร้านขายของชำหน้าบ้าน แล้วเวลาเกี่ยวข้าวได้ เขาก็จะเอาเงินมาชำระหนี้ ปรากฏว่าวันนี้กลายเป็นว่าเขาไม่มีเงินมาชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนด อีกอย่างหนึ่งค่าเช่านาส่วนที่เขาคิดเป็นเงิน ไม่ได้คิดเป็นข้าว บางทีเจ้าของนาเขาจะเอาเงินเลยหลังจากเกี่ยวเสร็จ ชาวนาก็ต้องไปหาเงินมาให้ค่าเช่านาอีก
สภาวะอย่างนี้กับโครงการประกันราคาของรัฐบาลชุดที่แล้ว มีปัญหาด้วยไหม
ประกันราคาเรื่องเงินช้าเขาก็ช้านะ แต่ว่าเราไปขายโรงสี สมมติโรงสีตีราคาให้เรา 8,000 บาท โรงสีจ่ายเงินเรามาทันที 8,000 บาทต่อเกวียน เสร็จแล้วมันจะมีเวลาอีก 2-3 เดือนเราถึงจะได้เงินประกันราคาที่เหลือ ก็หมายถึงว่าเราได้เงินสดก้อนหนึ่งมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้หนี้ และซื้อกินแล้ว พอก้อนส่วนต่างนั้นลงมาก็ใช้เงินก้อนนั้นลงไปเป็นทุนทำนาใหม่ได้ หรือแม้แต่น้ำท่วมข้าวหมดเลยเขาก็จะได้ในส่วนของเงินประกันราคา เขาตีไว้ว่าเราจะได้ไร่ละ 75 ถัง เขาก็ตีราคากลาง สมมติราคากลาง 9,000 บาท เขาให้ 11,000 บาท มันก็ได้อีก 2,000 บาท ใช่ไหม พอได้ตรงนี้เขาก็เอามาลงทุนทำนาใหม่ได้
นอกจากเงินล่าช้า หากมองในภาพรวมโครงการจำนำราคาข้าวมีปัญหาอื่นๆ อีกไหม
ตอนนี้ถ้าเรามองในส่วนการทุจริตต่างๆ เราไม่รู้หรอก เพราะเรามีหน้าที่ไปขายเท่านี้
กลุ่มสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกร แห่งประเทศไทยเองก็เคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐแก้ปัญหาเชิงนโยบายด้วย มองว่าโครงการนี้ได้ส่งผลต่อชาวนาอย่างไรบ้าง
ที่จริง ถ้าส่งผลตอนนี้ที่เห็นแล้วก็คือเรื่องการขายข้าวมีปัญหา การที่จะส่งข้าวออกก็มีปัญหาแล้ว การเอาเงินมากๆ ลงมาตรงนี้ซึ่งจริงๆ มันถึงชาวนาได้ไม่เท่าไร ทั้งหมดนี้มันไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
เหมือนวันนี้ปัญหาเฉพาะหน้าของพวกเราที่มีอยู่ ชาวบ้านโดนจับติดคุกเมื่อสองวันมานี้ เพราะว่าธนาคารเจ้าหนี้ขายแล้วซื้อไว้เอง แล้วขับไล่ให้ออกจากบ้าน เป็นปัญหาเรื่องหนี้สินเต็มไปหมดเลย ที่ดินกำลังจะหลุดมือแล้ว ถ้ารัฐบาลจะทำจริงๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือเรื่องหนี้สินก่อน แล้วเรื่องการจะจำนำข้าวหรือประกันราคาถ้าคุณไม่คุมต้นทุน ชาวนาได้เยอะเท่าไหร่ก็ไม่เหลืออยู่ดี
สมมติว่าคุณจะคุม สารเคมีหรือพวกปุ๋ย คุณขายให้มันถูก คุมราคาให้มันถูกกว่านี้ได้ไหม ถ้าจะบอกว่าเป็นกลไกตลาดหรือว่าค่าขนส่ง เราก็เชื่อว่ามันไม่ได้มากขนาดนั้น เพราะสังเกตจากเมื่อประมาณปี 51 ที่ข้าวมันราคาขึ้นสูงมาก ข้าวก่อนหน้านั้นเราขายเกวียนละ 6,000 บาท ราคาปุ๋ยอยู่ที่ลูกละ 500 กว่าบาท พอข้าวขึ้นมา 12,000 บาทปั๊บ ราคาปุ๋ยขึ้นมาทันที 1,200 บาท นั่นมันหมายถึงว่าไม่ใช่เพราะต้นทุนการผลิตสูงนะ มันเหมือนว่าคุณขึ้นตามอำเภอใจมาก ถ้ารัฐบาลควรควบคุมตรงนี้ อย่างชาวประมงเขาจะมีน้ำมันสีเขียวหรือสีม่วงที่ราคาถูกกว่าที่อื่น แต่ชาวนาใช้น้ำมันแพงมาก อย่างอ่างทองน้ำมันผสมลิตรละ 50 บาทนะ เพราะเราใช้ปั๊บหลอดบ้านนอก เรื่องอย่างนี้รัฐบาลไม่ได้ควบคุมเลย
การรักษาที่ทำกินนี่ควรเป็นการแก้ปัญหาเป็นเบื้องต้น แล้วก็หาทางทำเรื่องการลดต้นทุน โดยไม่ต้องขึ้นราคาขนาดนั้น แค่คุมต้นทุนได้ชาวนาก็พออยู่ได้แล้ว วันนี้ที่นาหลุดมือไป ก็ไปอยู่ในมือนายทุน แล้วเราก็เช่า มันก็แพงขึ้นอีกอยู่ดี นี่คือต้นทุน ซึ่งถ้าจะคิดแก้ปัญหาชาวนาจริงๆ รัฐบาลต้องคิดเรื่องนี้ด้วย
เรารู้สึกว่าตอนนี้คือรัฐบาลเอาเงินก้อนหนึ่งใหญ่ๆ ใส่มือเรา เพื่อให้เราถือเงินเอาไปใส่กระเป๋านายทุนที่ขายปุ๋ย ขายยา ขายน้ำมันตรงนั้นมากกว่า เพราะมันไม่เหลือในมือเรา
ตอนนี้มีนาอยู่กี่ไร่ และเมื่อเข้าโครงการจะได้เงินเท่าไร
ตอนนี้ทำอยู่ 10 ไร่กว่าๆ ประมาณนี้ ที่เข้าโครงการเอาไปขายอยู่ 4 ไร่แรกยังไม่ได้เงินเลยนี่ก็ 3-4 เดือนมาแล้ว ได้ราคาเพิ่มขึ้นมาหน่อยหนึ่ง มันได้อยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท แต่ว่าก็ยังไม่ได้เงิน และแปลงหลังอีก 6 ไร่กว่าๆ นี้ไม่รู้จะเอายังไงเลย เพราะเอาไปเข้าโครงการแล้วรอเงินนานขนาดนี้ก็คงไม่ไหว
แต่ว่าของตัวเองมันดีอยู่อย่างเดียวที่ใช้ปุ๋ยขี้หมู น้ำส้มควันไม้ มันก็ทำให้ลดต้นทุน ไม่ได้ขาดทุนมากอย่างเขา เวลาน้ำท่วมหรือเวลามีโรคอะไรระบาดหนักหนาเราก็ยังขาดทุนน้อยกว่า
การจำนำข้าวกับประกันราคาอันไหนดีกว่ากัน
ถ้าพูดตรงๆ ประกันราคาดีกว่า เพราะว่าการประกันราคา เวลาเราทำนาบางทีเพลี้ยกระโดดกินหมด แต่เรายังมีส่วนเหลือที่เขาให้ต่อเราเป็นไร่ละ เราเอาเงินตรงนั้นมาลงทุนใหม่เป็นค่าน้ำมัน ค่าข้าวปลูก ค่าอะไรได้ใหม่ แต่วันนี้จำนำข้าว ถ้าเราไม่มีข้าวสักเม็ดเราก็ไม่ได้สักบาทหนึ่งเลย
เรามีความเสี่ยงต่อความเสียหายอยู่ตลอด ที่สุพรรณไปเกี่ยวข้าวงมน้ำอยู่ตอนนี้จะได้กี่ถังก็ไม่รู้ อย่างของพี่เองตอนนี้ที่ทุ่งงอก น้ำท่วมคอกระจายวิดน้ำช่วยอยู่ จะได้ผลผลิตสักครึ่งหนึ่งหรือเปล่า แล้วมันก็ไม่ใช่น้ำท่วมมาจากที่อื่นแต่เป็นน้ำฝนตกหนัก อย่างนี้เราห้ามไม่ได้เลย
มองว่ารัฐมองว่ารัฐบาลควรต้องมีนโยบายอะไรเพื่อมาแก้ไขปัญหาของชาวนา
เรื่องหนี้สินควรเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเลย เพราะวันนี้ลองไปดูชาวนาที่บอกว่ายังส่งหนี้ได้อยู่ แต่หมายถึงว่าไปดูได้เลยว่าเขาไปกู้เงินมาวนส่ง และไม่ได้ส่งแล้วกู้น้อยลงนะ ส่งแล้วเขาก็จะกู้เท่าเดิมหรือมากขึ้น ไม่ได้หนี้ลดลง บางคนอายุ 80 แล้วก็ยังมีหนี้อยู่ คือเขาส่งมาตลอดชีวิตยังมีหนี้อยู่
นอกเหนือจากการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการผลิต ลดการใช้ปุ๋ยใช้ยา แล้วก็พัฒนาพันธุ์ที่ไม่ใช้ปุ๋ยใช้ยาให้มันทำได้จริง ส่วนคนไหนที่ที่ดินหลุดมือไปแล้วก็อาจจัดเป็นโฉนดชุมชน หรือว่าอะไรก็ได้จัดให้เขา ให้เขามีที่อย่างน้อย 15 ไร่ วันนี้พอไม่มีที่ดินอยู่ในมือก็กลายเป็นนาเช่าเสียหมด พอนาเช่าปั๊บมันก็ต้นทุนสูง บางทีค่าเช่าไร่ละ 15 ถังต่อ 1 ครั้ง แล้วถ้าบ้านพี่ทำนา 3 ครั้ง มันหมายถึง 45 ถังต่อ 1 ไร่เลยนะใน 1 ปี
แล้วครั้งหนึ่งเราผลิตข้าวได้เท่าไร
ไร่หนึ่งบางทีแถวนี้เขาทำ ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นก็ประมาณ 80 ถัง บางคนได้ 70 ถัง เฉลี่ยประมาณ 80 ถัง เขาเอาไปแล้ว 15 ถัง ก็จะเหลือ 65 ถัง แต่ว่าก็มีที่คิดค่าเช่าที่มากกว่านี้คือ 20 ถังต่อไร ถ้าคนไหนอยู่ใกล้คลองหน่อยก็คิดราคาสูง
นายทุนบ้านพี่ที่ให้กู้นอกระบบมีอยู่ 2-3 ราย ให้เงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 แล้วที่นาเขาก็มีเป็นหลายร้อยไร่ น่าจะเป็นพันไร่แล้ว เราพูดกันเล่นๆ ว่าเราวิ่งแล้วยิงหนังสติ๊กออกไปก็ไม่พอนาตาคนนี้ ยังไงก็ต้องเจอนาตาคนนี้ทั้งทุ่ง นั่นแหละ เขาเอาเงินมาปล่อยกู้ตรงนี้แล้วชาวนามันขาดทุนบ่อย กู้ไปส่งธนาคาร กู้ไปกู้กลับแล้วสุดท้ายนาเป็นของเขา ที่นี้ก็ต้องเช่านาตัวเอง บางทีดูไม่รู้หรอกคิดว่าป้าคนนี้เขาก็ทำนาตัวเองอยู่ แต่ว่าโอนชื่อเป็นของเจ้าหนี้ไปแล้ว
ที่จริงนโยบายรัฐควรจะเอาปัญหาเรื่องหนี้สินเป็นวาระแห่งชาติ เพราะตรงนี้หนักมาก วันนี้ไม่ใช่เฉพาะ ธกส.หรือ สหกรณ์ที่เราเป็นหนี้ แล้วก็ธนาคารเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์นี่คือต่างชาติทั้งนั้นเลย
ชาวนาในเครือข่ายของ สค.ปท.มีแบบที่ไม่เข้าโครงการจำนำข้าวบ้างหรือเปล่า
ไม่มีใครที่ไม่เข้านะ ถึงยังไงของมันก็แพง ถ้าเราไม่เข้าเราก็ต้องซื้อของแพงไปกับเขาด้วยอยู่ดี พอได้ราคาข้าวที่สูงแล้วของแพงแม้มันจะไม่เหลือเงินมันก็ยังไม่ขาดมาก แต่ถ้าไม่เข้าเลยมันขาดมากเข้าไปจนเราไม่มีจะจ่าย
ครั้งที่แล้วสามีพี่ก็ไม่เข้าโครงการ ก็ขายข้าวราคา 8,000 กว่าบาท แต่ปรากฏว่าน้ำมันแพง ของแพง เงิน 8,000 กับของที่มันแพงขึ้นรอบๆ ตัวเรา ปีนี้เขาก็เลยฝากเพื่อนไปเข้าโครงการ พอเข้าโครงการปั๊บก็ไม่ได้เงินอีก ยิ่งหนักกว่าเก่า
ก่อนหน้านี้ทำไมถึงมีแนวคิดที่จะไม่เข้าโครงการ
ไม่รู้สิ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันไม่ได้แพง ไม่ได้ขาดทุนกันตรงนั้น โครงการนี้มันไม่ได้แก้ปัญหา ก็พยายามต้าน แต่ถามว่าคุณต้านคนเดียวกับของที่มันถึงอย่างไรมันก็ขึ้นราคาทั่วประเทศอยู่ แล้ว จะไหวหรือ และของนี่คุณก็ต้องใช้กับเขาด้วย ปรากฏว่าเที่ยวหลังนี้ก็ยังไม่ได้ไปเข้าด้วยตนเองหรอก ฝากเพื่อนไป ตอนนี้ก็ร้องจ๊ากอยู่เนี่ยเพราะว่าไม่มีเงินเลย ไอ้ปุ๋ยขี้หมูนี่ก็ต้องไปหารับจ้างเขาซ่อมมอเตอร์ไซค์ปะยางเอาไปจ่าย แต่ดีที่มันถูก ปุ๋ยขี้หมูมันใช้ไม่มาก ลูกหนึ่งราคาร้อยกว่าบาท แต่ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีลูกละเป็นพันเลย
แปลว่ามันมีสภาพบังคับโดยปริยาย ชาวนาบางส่วนแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องเข้าโครงการ
ใช่ คือว่ามันเป็นโครงการของรัฐที่เขาจะได้มากขึ้น ไอ้ผลกระทบอื่นๆ มาเขาก็ต้องโดนด้วย แต่ถ้าเขาไม่เข้าแล้วเขาไม่ได้มากแถมยังต้องเสียมาก คราวที่แล้วกลับไปประชุมกลุ่มเมื่อวันที่ 6 ต.ค.55 ก็ถามสมาชิกดูว่าเป็นอย่างไร จำนำข้าวมันดีไหม ทุกคนก็ตะโกนมาเลยว่าไม่ดี สู้ประกันราคาก็ไม่ได้ เราก็ถามว่า อ้าว แล้วมันต่างกันยังไง ก็ลองถามเขาดู เขาบอกว่านี่ถ้าประกันราคาเขาได้เงินเลยและเขาก็เอามาใช้จ่ายได้เลย เสร็จแล้วเขาก็ยังจะได้เงินประกันที่รัฐจ่ายตามมาเอาไปลงทุนได้อีก คือไม่ต้องไปกู้ข้างนอกมาแล้วมาเสียดอกไง
และเงินที่ได้ก็ไม่มากมาน้อยกว่ากันเท่าไหร่ เพราะประกันราคา จะได้ 11,000 บาท ส่วนจำนำจะได้ 12,000-13,000 บาท แต่มันมีระยะเวลาที่เราไม่ได้เงินเลย ขณะที่ประกันราคานี่เราจะได้เงินมาหนึ่งก้อนที่เราขายกับโรงสีในราคาปกติของ เราอยู่ มันก็ยังดีที่เรามีกินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปกู้เงินเขามาแล้วเสียดอกแพง
มีข้อเสนอต่อรัฐบาลอย่างไรบ้าง
สำหรับข้อเสนอ ที่เราเป็นหนี้มากเพราะต้นทุนมันขึ้นไม่หยุด แล้วก็นโยบายที่มันมาจากรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา จากนโยบายต่างๆ ของเขาตั้งแต่เริ่มให้เราเปลี่ยนพันธุ์ข้าว ใช้ปุ๋ยใช้ยา พอเริ่มเป็นหนี้แล้วคนลงทุนมากขึ้นก็เป็นหนี้มากขึ้นมาเรื่อยๆ จนดินมันหมดสภาพก็ต้องลงทุนมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น อันนี้มันคือปัญหา
วันนี้ถ้าเราไม่กลับไปลดต้นทุน เราไม่กลับไปสู่สภาพสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่มันอุดมสมบูรณ์ เราไม่รอดหรอก
ที่เรียนรู้มาก็คือธรรมชาติเขามีสิ่งที่ดูแลกันเองอยู่แล้ว แมลงต่างๆ ที่มันจะกินเพลี้ยกระโดด เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่กลับไปหาเรื่องพื้นที่ ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเก่าๆ ที่เขาทำกันมา เราก็จะขาดทุนหนักขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าชาวนาไม่เปลี่ยนวิธีคิด
ในส่วนนักวิชาการที่มีการออกมาแสดงท่าที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อโครงการจำนำข้าว ชาวนาคิดเห็นอย่างไร
นักวิชาการก็มีหลายคนที่ออกมาคัดค้าน แต่ชาวนารู้สึกอย่างไร เฮ้ย…มันกลายเป็นความรู้สึกที่ว่าจะต่อสู้กันแล้ว นักวิชาการพูดถึงปัญหาภาพรวมของประเทศว่ามันมีหนี้มีสิน แล้วมันมีการทุจริตอะไรต่างๆ จับได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่วันนี้กลายเป็นชาวนารู้สึก เฮ้ย...ทำไมพอจะมีโครงการที่ช่วยชาวนาบ้างทุกคนค้าน แต่คนที่ค้านก็ไม่ได้พูดทางออกไง เพราะตกลงคุณบอกไม่ให้จำนำ จำนำขาดทุน หรือวิธีนี้ใช้ไม่ได้ แล้วมีวิธีไหนที่แก้ปัญหาชาวนาได้ก็ไม่พูด
แล้วสังคม ชนชั้นกลางเขาก็จะรู้สึกว่าพอนักวิชาการพูดว่าประเทศเป็นหนี้ พวกเราเป็นหนี้ร่วมด้วย เพราะเอาเงินไปช่วยไอ้พวกชาวนา แต่ความจริงชาวนาก็ไม่ได้ 15,000 หรอก มันกลายเป็นสังคมทางโน้นก็ด่าเรามา ชาวนาก็รู้สึกว่าชาวนาลำบากเป็นหนี้เป็นสินทำนากันเกือบตายแล้วแต่พอจะได้ เงินบ้างก็มีคนค้าน มันก็เลยรู้สึกเป็นประเด็นขึ้นมาอย่างนี้