เช้าวันนี้ (15 ต.ค.) อดีตกษัตริย์กัมพูชา สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งได้รับการนับถือของชาวกัมพูชา สวรรคตแล้วด้วยพระชนมายุ 89 พรรษา จากการเปิดเผยของรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งอ้างถึงข่าวของสำนักข่าวซินหัวของจีน ที่ระบุว่าพระองค์สวรรตที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน
พระญาติชั้นที่ 3 ของเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ และผู้เรียกร้องเอกราชกัมพูชา
สมเด็จพระนโรดม สีหนุทรงพระราชสมภพเมี่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2465 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต และสมเด็จพระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิริวัฒนา เสด็จขึ้นครองราชสมบัติครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 หลังจากพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ผู้เป็นพระอัยกา และพระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีกุสุมะ พระราชมารดาสวรรคต
เมื่อนับพระญาติทางฝ่ายพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์นับเป็นพระญาติ ชั้นที่ 3 ของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ โดยเป็นญาติทางฝ่ายพระบิดาของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
เมื่อสมเด็จนโรดม สีหนุทรงขึ้นครองราชย์ในปี 2484 ได้ทรงเรียกร้องเอกราชของกัมพูชาจากฝรั่งเศสได้สำเร็จในปี 2496 โดยก่อนที่จะได้รับเอกราชในเดือนพฤษภาคมปี 2496 พระองค์เสด็จลี้ภัยอยู่ที่กรุงเทพฯ และกลับไปกัมพูชาเมื่อได้รับการรับรองเอกราชในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน
ชีวิตการเมือง จากพรรคสังคมราษฎร์นิยม สู่แนวร่วมเขมรแดง
และต่อมาในปี 2498 ทรงสละราชสมบัติ เพื่อให้พระบิดาของพระองค์คือพระนโรดม สุรามฤต ขึ้นครองราชย์แทน จากนั้นพระองค์หันมาเล่นการเมือง ทรงตั้งพรรคสังคมราษฎร์นิยม (Sangkum Reastr Niyum หรือ ส็องกุมเรียะนิยุม) เรียกสั้นๆว่า "พรรคสังคม" เป็นพรรคแนวอนุรักษ์นิยมผสมแนวคิดพุทธศาสนา โดยพรรคนี้มีบทบาทมากในกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2498 - 2513 โดยบางช่วงพระองค์มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นทั้งประมุขของรัฐต่อจากพระบิดาที่สวรรคตด้วย กระทั่งถูกลอน นอล ทำรัฐประหารในปี 2513 ตั้งระบอบสาธารณรัฐขึ้นมา
ทั้งนี้แม้พระองค์พยายามที่จะรักษาประเทศให้พ้นจากความขัดแย้งในช่วง สงครามเย็น ที่เขม็งเกลียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงทศวรรษที่ 2510 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้หลังพระองค์ถูกรัฐประหาร พระองค์ลี้ภัยไปอยู่ปักกิ่ง และเปียงยาง และตั้งแนวร่วมสหชาติเขมร (FUNK) ขึ้นที่ปักกิ่ง เพื่อต่อต้านรัฐบาลลอน นอล และทรงเป็นแนวร่วมกับพรรคกัมพูชาธิปไตยหรือเขมรแดง โดยทรงเสด็จไปเยี่ยมแนวรบของเขมรแดงด้วย โดยมีชาวนาจำนวนมากมาร่วมสนับสนุนการปฏิวัติของเขมรแดงเนื่องจากเข้าใจว่า เขมรแดงต่อสู้เพื่อสนับสนุนพระองค์ ต่อมาโดยภายหลังในปี 2522 พระองค์ต้องชี้แจงการร่วมมือกับเขมรแดงว่าเป็นเพราะระบอบกษัตริย์กำลังถูก โค่นล้ม พระองค์สู้เพื่อเอกราชของประเทศ แม้ว่าประเทศจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม
โดยในช่วงของรัฐบาลระบอบสาธารณรัฐของลอน นอล กษัตริย์สีหนุทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ที่บ้านรับรองขนาด 60 ห้องที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ
ในปี 2518 แนวร่วมของพระองค์คือพรรคกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดงได้ยึดอำนาจนายพลลอน นอล โดยพระองค์ได้กลับไปประทับที่กรุงพนมเปญและเป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์ ในเดือนเมษายนปี 2519 เขมรแดงบีบให้พระองค์วางมือทางการเมือง ระหว่างนั้นพระองค์ถูกระบอบเขมรแดงส่งไปพูดในที่ประชุมสหประชาชาติเพื่อต่อ ต้านการที่เวียดนามส่งกองทัพเข้ามารุกรานกัมพูชา
ทั้งนี้ระบอบเขมรแดงซึ่งปกครองประเทศอย่างโหดเหี้ยมในระหว่างปี 2518 ถึง 2522 ได้ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 20 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคน และข้อมูลบางแหล่งเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 2.5 ล้านคน กระทั่งต่อมาพรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชา นำโดยเฮง สัมริน และฮุน เซ็น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเข้ามาขับไล่เขมรแดงออกจากพนมเปญในปี 2522
ตั้งแนวร่วมเขมรสามฝ่าย - สู่การเลือกตั้งทั่วไป ขึ้นครองราชย์ครั้งที่ 2 และสละราชสมบัติ
ในช่วงที่พรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชามีอำนาจ ทรงลี้ภัยไปประทับในจีนและเกาหลีเหนือ และทรงร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ตั้งแนวร่วมเขมรสามฝ่าย (The Coalition Government of Democratic Kampuchea - CGDK) ประกอบด้วย เขมรแดงภายใต้การนำของเขียว สัมพันและพล พต แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรของซอนซาน และพรรคฟุนซินเปกของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2525 และเข้าไปมีที่นั่งในสหประชาชาติ แทนที่รัฐบาลพรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชาของเฮง สัมริน และฮุน เซ็น
ต่อมาหลังจากเวียดนามถอนทหารในปี 2532 มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2536 และสิ้นสุดสงครามกลางเมือง สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงขึ้นครองราชย์หนที่สองในปี 2536 และต่อมาได้สละราชสมบัติให้กับสมเด็จพระนโรดม สีหมุนี เมี่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ขณะทรงมีพระชนมพรรษา 82 พรรษา หลังจากนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น "พระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติเขมร" หรือ "The King-Father of Cambodia"
ทั้งนี้แม้พระองค์จะต้องลี้ภัยอย่างยาวนานขณะดำรงพระชนม์ และทรงสละราชสมบัติในปี 2547 ด้วยเหตุผลด้านพระพลานามัย แต่สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ยังคงเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมกัมพูชาเสมอ
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Cambodia former king Norodom Sihanouk 'dies' in Beijing, BBC 14 October 2012 Last updated at 23:01 GMT http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-19943963
Norodom Sihanouk, Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Norodom_Sihanouk