1 ตุลาคม 2555
ที่มา ประชาไท Blogazine "บันทึกถึงพวก "แดงความจำสั้น", "แดงแกล้งลืม" และ "แดงมาทีหลัง"
ที่มาที่ไปของ "เสื้อแดง" มันไม่เกี่ยวกับเรื่อง "รักเจ้า" หรือ "รักทักษิณ"
โดย Chotisak Onsoong
ภาพจาก facebook ประชาธิปไตยตลอดชีพ
ผมคิดว่าเราสามารถแบ่งคนที่พยายามเอาเรื่อง "รักเจ้า รักทักษิณ"
มากำหนดความเป็นเสื้อแดงออกได้เป็น 3 ประเภท คือ "แดงความจำสั้น",
"แดงแกล้งลืม" และ "แดงมาทีหลัง"ประเภทแรก "แดงความจำสั้น" คือ อยู่ร่วมเหตุการณ์ แต่บังเอิญขี้ลืม ความจำสั้น ก็เลยจำไม่ได้ว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง
ประเภทเภทที่ 2 "แดงแกล้งลืม" พวกนี้มีปัญหากว่าอีก 2 ประเภท เพราะอยู่ร่วมเหตุการณ์ แล้วก็จำได้ด้วย แต่กลับทำเป็นลืม
ส่วนประเภทที่ 3 "แดงมาทีหลัง" พวกนี้น่าสงสารที่สุด คือไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย พอคน 2 ประเภทแรกบอกยังไงก็เชื่อ หรือไม่ก็นึกเดาเอาเองตามใจกู
ที่ผมพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า ที่มาที่ไปของ "เสื้อแดง" มันไม่เกี่ยวกับเรื่อง "รักเจ้า" หรือ "รักทักษิณ" เลยนะสิครับ (และเอาเข้าจริง อาจจะตรงข้ามด้วยซ้ำ - ผมจะกลับมาพูดเรื่องนี้ทีหลัง)
นี่เป็นข่าวเกี่ยวกับการเปิดตัวแคมเปญ "Thai Say No" เพื่อ รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. เมื่อ 1 มีนาคม 2550 ซึ่งเป็น "วันแรก" ที่เริ่มมีการใช้ สีแดง/เสื้อแดง เป็นสัญลักษณ์ในการรณรง ค์ http://thaienews.blogspot.com/2011/08/5_06.html ย้ำว่า 1 มีนาคม 2550 นะครับ
ภาพเปิดตัวไทยแคมเปญ "Thai Say No" ใช้เสื้อแดงครั้งแรก ที่หน้ารัฐสภา 1 มี.ค.50 ที่มา Thai E-News
ส่วนอันนี้เน้น "แกนนำ" ลองไปดูกันเองนะครับว่าใครเป็นใคร http://www.oknation.net/blog/print.php?id=80319 (22 กรกฎาคม 2550)
22 ก.ค.50 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปก.
นำพาผู้ชุมนุมบุกหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อกดดันให้ พลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ ลาออกจากประธานองคมนตรี ที่มาภาพ OKnation
พวก นปก. เพิ่ง “เข้าร่วม” การใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ก็เมื่อไม่กี่วันก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง
ทีนี้กลับไปดูพวก "Thai say no" ที่เป็นผู้ริเริ่มใช้ สีแดง เป็นสัญลักษณ์นะครับ ว่ามันไปกันได้กับกรอบ "รักเจ้า รักทักษิณ" แค่ไหน ถ้าดูภาพรวมของแคมเปญก็เป็นเรื่องการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงเรื่องต้านรัฐประหารและเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเราจะเห็นว่าไม่เฉียดเรื่อง "รักเจ้า รักทักษิณ" เลยแม้แต่นิดเดียว
ยิ่งถ้าเรามาดูจุดยืนของคนที่มาร่วมแคมเปญนี้ เราจะเห็นว่านอกจากจะไม่ "รักเจ้า รักทักษิณ" เอาเข้าจริงตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป คนที่เป็นที่รู้จักที่ร่วมแคมเปญนี้ เช่น คุณหนูหริ่ง/บก.ลายจุด/สมบัติ บัญงามอนงค์, คุณใจ อึ๊งภากรณ์, คุณจิตรา คชเดช รวมถึงคุณสมยศ พฤกษาเฏษมสุข และคุณจรรยา ยิ้มประเสริฐ (2 คนหลังนี่ผมไม่เห็นในรูป แต่มีชื่ออยู่ในข่าว)
คุณคิดว่า คุณใจ หรือ คุณจรรยา รักเจ้าและทักษิณ เหรอครับ
ส่วนคุณสมยศ อย่างที่รู้กัน ตอนนี้อยู่ในคุกข้อหา 112 (และเท่าที่ผมทราบคุรสมยศก็ไม่ได้รักทักษิณ)
คุณจิตราก็เช่นเดียวกัน เท่าที่ผมทราบก็ไม่ได้รักทักษิณเหมือนกัน
ส่วนคนอื่นๆที่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่ หลายคนที่ผมรู้จักเป็นการส่วนตัว ผมยืนยันได้ว่าไม่เฉียด "รักเจ้า รักทักษิณ" เลยครับ (และหลายคนก็ชัดเจนว่าตรงกันข้ามกับ "รักเจ้า รักทักษิณ" เลยด้วยซ้ำ)
ดังนั้นถ้าเราจะนิยามเสื้อแดง ผมว่าเราต้องเริ่มจากตรงนี้ครับ ไม่ใช่ไปนิยามเอาเองตามใจชอบแบบไม่สนใจที่มาที่ไป
และที่เราต้องไม่ลืมอีกเรื่องก็คือ นี่ไม่ใช่การ บังเอิญ ใช้สีตรงกัน นะครับ และไม่เรื่องใครหรือกลุ่มไหนผูกขาดสีแดงด้วย แต่เป็นเรื่องของการ “เข้าร่วม” อย่างที่ผมได้เขียนไปแล้ว นปก.ได้มีมติใช้สีแดงร่วมกับ "Thai Say No" เพื่อรณรงค์โหวต No นะครับ คือถ้า นปก. (และสมาชิก) ไม่เห็นด้วยกับ "สีแดง" ในความหมายของ "Thai Say No" แล้วจะไปเข้าร่วมทำไม?
ถ้า นปก.ใช้สัญลักษณ์สีแดงอย่างเอกเทศ แน่นอนเราไม่จำเป็นต้องเอาจุดยืนแนวทางหรือความหมายสีแดงของ "Thai Say No" มาเกี่ยว แต่ข้อเท็จจริงก็คือ นปก.ไม่ได้ใช้อย่างเอกเทศ แต่ร่วมใช้ (พูดง่ายๆคือใช้ "ตาม") "Thai Say No" นะครับ
ดังนั้นเวลาคุณจะนิยาม สีแดง คุณถึงต้องเริ่มจาก "Thai say no" ไม่อย่างนั้นคุณก็นิยามเอาตามใจชอบ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่มาที่ไปที่เป็นที่เป็นจริงใดๆเลย
ปล. ผมไม่ใช่เสื้อแดงนะครับ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่รู้เรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับเสื้อแดงดี กว่าคนเสื้อแดงบางคน (เราไม่จำเป็นต้องเป็นปลาวาฬเราก็รู้เรื่องปลาวาฬได้ครับ บางทีบางคนรู้เรื่องปลาวาฬดีกว่าตัวปลาวาฬเองด้วยซ้ำไป)