บทความ โดย ลูกชาวนาไทย |
ตอนนี้คนไทยทั้งหลายคงรู้สึกอัดอัด คับข้องใจว่าทำไมวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยครั้งนี้มันถึงได้ยาวนาน และไม่จบสิ้นเสียที เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบที่เป็นสาระสำคัญทำให้วิกฤตการณ์ไม่จบสิ้นเสียที
ผมคิดว่าตอนนี้นักวิชาการไทยส่วนใหญ่จะสับสน และอับจนปัญญาจนไม่รู้ว่าจะหาทางออกให้กับสังคมได้อย่างไร และต่างคนต่างก็เสนอทางออกตามความคิดและประสบการณ์ของตน ท้ายที่สุดทางออกทั้งหลายที่เสนอไม่มีทางที่จะปฎิบัติได้และไม่สามารถยุติวิกฤตทางการเมืองในขณะนี้ได้ เกิดอะไรขึ้นกับวงวิชาการของไทย
นักวิชาการส่วนใหญ่ที่ผมเห็นเสนอความคิดทางออกทั้งหลายในขณะนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหน้าเดิม คุ้น ๆ หน้าทั้งสิ้น พวกเขาอยู่ในโลกทรรศ์เดิม ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่าพวกเขาอยู่ใน Old Paradigm ถูกครอบงำอยู่ภายใต้ความเชื่อและทฤษฎีทางสังคมเก่า ดังนั้นการหาทางออกภายใต้ Paradigm เดิมจึงไม่มีทางเป็นไปได้ มันก็เหมือนกับสมัยโบราณ ที่คนยังเชื่อว่าโลกแบน ไม่ว่านักปราชญ์ อัจริยะทั้งหลายในยุคนั้นก็เชื่อว่าโลกแบน กรอบความคิด ทั้งหลายจึงถึงครอบงำโดย ฐานความคิดเช่นนั้น นักปรัชญาเมธียุคนั้นจึงไม่มีใครหลุดพ้นไปจาก Paradigm ดั้งเดิมที่พวกเขาเผชิญอยู่ได้ นักวิชาการของไทยยุคนี้ก็เช่นกัน
เมื่อนักวิชาการที่ครอบงำสังคมไทย เป็นพวกที่อยู่ใน Paradigm ดั้งเดิม ความเชื่อเดิม ๆ สมัยช่วงปี 2520-2540 พวกเขาจึงไม่สามารถหลุดพ้นออกไปได้ และคนพวกนี้ส่วนใหญ่ ก็เป็นคนชั้นกลางอยู่ในเมืองใหญ่ อยู่ในโลกของเมืองหลวง จึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในชนบท
แต่ไหนแต่ไรมา การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองไทย จะเกิดขึ้นในหมู่คนชั้นนำเท่านั้น เพียงแต่ว่าคนชั้นนำเหล่านั้นจะมาจากกลุ่มไหนเท่านั้น
หากเราทบทวนประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทยในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มขุนนาง กับเจ้า ซึ่งช่วงรัชกาลที่ห้าเริ่มมีการพัฒนาประเทศให้เป็นแบบตะวันตก มีการส่งนักเรียนไปเรียนในประเทศตะวันตก เริ่มจากเจ้าชายต่าง ๆ ก่อน ต่อมามีพวกขุนนางเพิ่มมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าต่างๆ เริ่มมาทำงานราชการ เป็นหัวหน้ากรมต่างๆ และทุกกระทรวงจะมีเจ้าเป็นหัวหน้า เมื่อมีขุนนางที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่และรับราชการมากขึ้น ทำให้ความต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในอำนาจมีมากขึ้น การปฎิวัติ 2475 เป็นการแย่งอำนาจมาจากเจ้า โดยขุนนาง ทั้งทหาร และพลเรือน ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด
การต่อสู้ทางการเมืองหลังจากนั้น เมื่อขุนนางจำกัดเจ้าออกไปเสียจากการเมืองได้ ก็มีการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มทหารต่างๆ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกลางบางส่วนที่ต้องการเข้าไปมีอำนาจทางการเมือง
แม้พฤษภาทมิฬ 2535 ก็เป็นการต่อสู้กันทางการเมืองของคนชั้นกลางกับ กลุ่มทหารทหาร แต่ไม่มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองครั้งใด ที่คนชนบทเข้าไปมีส่วนร่วม
แม้การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ว่าเป็นพรรคของคนชั้นล่าง แกนนำการต่อสู้ก็เป็นพวก "นักเคลื่อนไหว" ที่ใช้ทฤษฎีชนชั้น เข้าไปปลุกระดม แต่ไม่ได้เกิดจากคนชั้นล่าง หรือคนชนบท มีจิตสำนึกในอำนาจทางการเมืองของตนอย่างแท้จริง
แต่วิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังการทำรัฐประหาร รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่เป็นความขัดแย้งระหว่างคนชั้นนำ แต่เพียงอย่างเดียว
แต่มันมีมวลชนมหาศาลเข้ามามีส่วนร่วมด้วยอย่างแท้จริง
หากใครสังเกตุแนวโน้มการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนให้ดี จะเห็นได้ว่าหลังปี 2540 พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนเปลี่ยนไป ประชาชนในชนบทไม่ได้เลือกแบบกระจัดกระจายอีกต่อไป พวกเขาเลือกเป็นพรรค และเลือกแบบนี้มาตลอดในช่วงทศวรรษ 2540-2550
ผลการบริหารประเทศในสมัยแรกของทักษิณ ที่โปรคนรากหญ้าอย่างมาก ไม่ว่าโครงการต่าง ๆ เช่นสามสิบบาทรักษาทุกโรค โอท็อบ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ นโยบายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนชนบทโดยตรงทำให้การเลือกตั้งในปี 24548 ทักษิณ ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 377 เสียง และแม้การเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2549 ที่ศาลตัดสินให้เป็นโมฆะ พรรคไทยรักไทยก็ชนะเลือกตั้งได้คะแนนเสียงถึง 16 ล้านเสียงเช่นกัน และการออกเสียงประชามติ รธน.ปี 2550 คนชนบทก็ออกเสียงออกมาอย่างชัดเจนและเป็นกลุ่มก้อน และการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม ก็เลือกเป็นพรรค
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในสังคมชนบทในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ ที่ผมเห็นว่าสำคัญมากคือ การเกิดขึ้นขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่เราเรียกกันว่า อบต./อบจ. การเกิดขึ้นของ อบต./อบจ.นั้นเป็นจุดเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึกและพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนชนบท ที่คนเมืองไม่สังเกตุเห็น ทำไมอบต./อบจ. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกทรรศน์ เกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนชนบท
แต่ก่อนเราจะเห็นว่า สส. นั้นจะสวมหมวกสองใบคือ เป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาของประเทศ และอีกใบหนึ่งคือ บทบาทที่เปรียบเสมือน “ผู้ว่าราชการประจำเขตเลือกตั้ง” ชาวบ้านมีปัญหาเดือดร้อนเรื่องถนนหนทาง เรื่องโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ชาวบ้านจะไปขอจาก สส. ทำให้ เกิดระบบอุปถัมป์ขึ้น และชาวบ้านสนใจ สส.ในบทบาทการพัฒนาท้องถิ่นมากกว่า บทบาทของการเป็นผู้แทนระดับชาติ แต่เมื่อมี อบต./อบจ. ขึ้น องค์กรเหล่านี้ ได้รับเลือกตั้งมาจากชาวบ้านโดยตรง และได้เข้าแทนที่ สส. ในบทบาทการพัฒนาท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง ทำให้ สส. เหลือหมวกใบเดียวที่สวมคือ เป็น “ผู้แทนแห่งชาติ”
เมื่อไม่มีปัญหาเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น การมองบทบาท สส. ของชาวรากหญ้าจึงแตกต่างไปจากเดิม แทนที่เขาจะมอง สส. ว่าจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่นเข้าดีขึ้นอย่างไร คนชนบทมอง สส.ว่าจะทำให้พวกเขา “กินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร” เมื่อเป็นอย่างนี้ บทบาทของ สส.ในฐานะ ดึงงบประมาณลงท้องถิ่นจึงไม่มีความหมายอีกต่อไป ชาวชนบท มองไปทีนโยบายของพรรคการเมืองมากกว่า เพราะ สส. คนเดียว ไม่มีทางผลักดันนโยบายใหญ่ๆ ที่มีผลต่อกระทบต่อความกินดีอยู่ดีของคนชนบทได้อีกต่อไป ชาวชนบทจึงหันไปมอง นโยบายพรรคเป็นหลัก
และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ “รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร” ที่ได้พิสูจน์ให้ชาวชนบทเห็นอย่างชัดเจนว่า นโยบายพรรค และการบริหารที่ดีนั้น ทำให้ชาวชนบทมีชีวิตที่ดีขึ้นชัดเจนได้อย่างไร Paradigm ของชาวบ้านที่กำลังเปลี่ยนแปลง และตัวอย่าง การปฎิบัติของทักษิณ ได้มาประจวบเหมาะกันพอดี ทำให้ชาวรากหญ้าได้ตระหนักถึงพลังอำนาจในการออกเสียงเลือกตั้งได้อย่างดีว่ามันมีผลต่อพวกเขาอย่างมหาศาลเพียงใด การโฆษณาชวนเชื่อใดๆ ก็ไม่ส่งผลมหาศาลเท่าที่ชาวรากหญ้าได้เห็นกับตา โครงการสามสิบบาท ช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร พวกเขาเห็นอย่างชัดเจน กองทุนหมู่บ้านช่วยพวกเขาอย่างไร พวกเขาเห็นอย่างชัดเจน
ชาวรากหญ้าจึงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน พวกเขาไม่ได้เป็น “ไพร่ฟ้า” อีกต่อไปแล้ว พวกเขาเรียนรู้และได้กลายเป็น “พลเมือง หรือ citizen” อย่างสมบูรณ์ พวกเขารู้ว่าพวกเขามี “ส่วน” ในอำนาจทางการเมือง พวกเขาไม่ได้เป็น ไพร่ของขุนนางหรือเทพเจ้าอีกต่อไป
เมื่อชาวรากหญ้าได้ตื่นขึ้น ตระหนักและรับรู้ในพลังอำนาจของพวกเขาแล้ว การที่จะผลักคนรากหญ้าออกจากสมการทางการเมืองนั้น ไม่มีใครทำได้อย่างแน่นอน เจตจำนง ของคนรากหญ้า คือ วาระสำคัญทางการเมืองของไทยในททศวรรษต่อไปข้างหน้านี้
ประเทศไทยกำลังก้าวพ้นออกจากสังคมยุคกลางครับ ลัทธิความเชื่อในยุคกลาง เรื่องเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บุญญาธิการ ไม่อาจครอบงำสังคมได้อีกต่อไป ใครไม่เข้าใจ เจตจำนง ของคนรากหญ้า ไม่มีทางที่จะเป็นใหญ่ได้ในทางการเมือง ใครเข้าใจเจตจำนง ของคนรากหญ้า ผู้นั้นคือ ผู้นำของคนรากหญ้า อย่างที่ทักษิณกำลังเป็นอยู่
หมายเหตุ : ผมได้ลองระบายสี ผลการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ลงในแผนที่ประเทศไทย เพื่อดูว่า พรรคใด ครองอำนาจในเขตใด เราจะเห็นว่า ภาคอีสานเหนือ แหละภาคเหนือตอนบนนั้นได้ตกเป็นของพรรคพลังประชาชนอย่างเด็ดขาด มีโหว่อยุ่ไม่กี่เขตเท่านั้น ส่วนอีสานใต้ มีเขตที่โหว่อยู่คือ อุบลราชธานีบางเขต กับนครราชสีมา ที่เป็นของกลุ่มสุวัฒน์ ส่วนภาคกลางนั้นชิงชัยกันโดยพรรคพลังประชาชน ได้ล้อมกรอบพรรคชาติไทย ให้เหลือฐานที่มั่นแถวสุพรรณฯ เท่านั้น
ในภาคใต้ จะเห็นว่า ปชป. กวาดไปแทบทั้งหมด เหลือแค่เขตมุสลิมเท่านั้น และ ปชป. ได้โอบมาทางหัวเมืองชายทะเล เช่น ชลบุรี สมุทรสาคร แทบทั้งหมดแล้ว รวมทั้งโอบเข้ามาทางภาคตะวันตกของประเทศ
จากภาพที่แสดงให้เห็น แสดงว่าประเทศไทยได้เกิดระบบสองพรรคขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว พรรคใหญ่ สองพรรคคือ พลังประชาชน กับ ประชาธิปัตย์ได้เข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่หมดแล้ว ฐานที่มั่นของพรรคชาติไทย และพรรคเล็กๆ อื่นๆ ผมไม่เชื่อว่าจะอยู่รอดได้ในอนาคต เพราะล้อมรอบโดยฐานเสียงพรรคใหญ่ๆ ทั้งสองพรรคอย่างสิ้นเชิง
โครงสร้างการเมืองระบบสองพรรคเช่นนี้ การแย่งชิงอำนาจในหมู่คนชั้นนำแทบไม่สำคัญเพราะ “ปัจจัยหลักคือประชาชนได้แบ่งออกเป็นสองขั้ว” หากไม่ทำตามขั้วใดขั้วหนึ่ง นักการเมืองเหล่านั้นจะหลุดออกจากวงโคจรไปทันที
และแม้จะยุบพรรคพลังประชาชนอีก ประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่สีชมพูตามแผนที่ข้างบน เขาก็เลือกตัวแทนของเขาแบบเดิมอีก ก็จะมีพรรคพลังประชาชน ในชื่ออื่นอีก
ปัญหาจึงอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่นักการเมืองอีกต่อไป กำจัดนักการเมืองคงไม่ยาก แต่กำจัดประชาชน ออกไปจากสมการอำนาจ คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน