บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551

"คัมภีร์มรณะ" กองทัพธรรม



ผศ.เสถียร วิพรมหา เลขาธิการองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (อพช.) ออกโรงจี้ ประชาชนผู้รักชาติและประชาธิปไตย ช่วยกันต่อต้านกลุ่มสันติอโศก ร่วมพันธมิตรฯ ปลุกม็อบปิดถนน ชี้เป็นพวกหัวแข็ง ยึดมั่นในตัวเอง บิดเบือนหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนา เช่น ห้ามกราบไหว้บิดา มารดา แปลคำศัพท์พิสดาร "ตัณหา" แปลว่า หาไม่เจอ จี้หยุดใช้ชื่อ กองทัพธรรม ทำให้คนเข้าใจพระพุทธศาสนาผิด ย้ำ การบิณฑบาต การสวดมนต์ การเทศนา ห่มผ้าสีหมากสุกคล้ายจีวร เป็นการกระทำผิดซ้ำ พุทธบริษัทที่ต้องการคุ้มครองพระพุทธศาสนาไม่ให้แปดเปื้อน แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้ทันที! เพราะหากไม่ทำอะไรเท่ากับยอมรับ และจะเกิดลัทธิเอาอย่างขึ้นในอนาคตอีกมากมาย อันเป็นการบ่อนทำลาย บั่นทอนความมั่นคง ชาติ พระพุทธศาสนา

* ในฐานะที่อาจารย์ติดตามเรื่องนี้มานาน ให้อาจารย์พูดถึงการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสำนักสันติอโศก ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มาจนถึงวันนี้ได้อย่างไร

กลุ่มสันติอโศก หรือชาวอโศก โดยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว มาจากต้นเรื่องคือ โพธิรักษ์ หรือ นายรักษ์ รักษ์พงษ์ เขามีศรัทธาศาสนาเหมือนกับเราชาวพุทธทั่วไป เขาไปบวช จำได้ว่าเมื่อประมาณปี 2518 เคยไปทำท่าจะบวชหรือไม่อย่างไร ที่บวชที่วัดอโศการาม ก่อนวัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ขนาดมีชยันโตในอุโบสถแล้ว แต่ว่าหายเงียบไป แล้วไปบวชจริงๆ ปี 2518 ที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ได้ปีเดียว วุ่นวาย เพราะว่าคนหัวดื้อ เกิดความเชื่อมั่นเรียกว่า "อัตตทิฐิ" ไปมีปัญหากับเจ้าอาวาส กับคณะสงฆ์ภายในวัด แล้วแยกตัวออกมาอยู่กับคณะแม่ชี แล้วมาเคลื่อนไหวในหลักการของเขาที่ ม.ธรรมศาสตร์ ที่มีผลและเกิดปัญหาในปัจจุบันคือเรื่อง ถือศีลกินมังสวิรัติของเขา

ทีนี้ต่อมากลุ่มสันติอโศก เขาเรียกว่า ชาวอโศก เมื่อขณะที่เขาดำรงฐานะเป็นพระภิกษุ เราถือว่าเป็นพระภิกษุในพุทธบัญญัติ ในพระธรรมวินัย ต้องอยู่ในการปกครองคณะสงฆ์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขปี 2535 แต่ว่าในช่วงที่เป็นพระ มีพฤติกรรมดังกล่าว เขามีความคิดที่แปลกแยก เขาถือตนเป็นใหญ่และยึดพระธรรมเป็นหลัก แต่ว่าความเป็นจริงและหลักการของพระธรรมวินัยแล้วมันตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าเขากำลังจะแยกตัวเองออกจากพระธรรมวินัย แยกตัวเองออกจากคณะสงฆ์ ปัญหาตรงนี้ก็จะไปกระทบต่อวัด คณะสงฆ์ว่าด้วยการปกครอง ที่เป็นรูปแบบอันเป็นฐานปฏิบัติเดิมของคณะสงฆ์ไทย

ต่อมาเมื่อเขามีกลุ่มคณะรวมตัวกัน จึงประกาศตนเองว่า เขายึดพระธรรมอย่างเดียว แต่ไม่ขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์ แล้วพฤติกรรมของเขามีการกล่าวโจมตีคณะสงฆ์ โจมตีพระเถระผู้ใหญ่ และโจมตีคณะสงฆ์เรื่อยมา นั่นเป็นความผิดพลาด เพราะว่าคุณโพธิรักษ์เป็นนักจัดรายการ ตั้งแต่ช่อง 4 บางขุนพรหม ลองลำดับดู การที่จะเข้ามาสู่วงการพระ แต่ตอนนั้นเขาบวชจริงๆ แต่พฤติกรรมเขามาจากฐานตรงนั้น

ทีนี้ปัญหาดังกล่าว ทางคณะสงฆ์เริ่มวิตกกังวล จนในที่สุดกำหนดสันติอโศกเป็นกรณีศึกษา และเป็นประเด็นปัญหาเรื่องปกครองคณะสงฆ์ รวมทั้งหลักพระธรรมวินัยของพระภิกษุ กล่าวคือ ระบบการลงโทษพระสงฆ์ที่ประพฤตินอกรีต ไม่อยู่ในอาณัติของผู้บังคับบัญชาของพระผู้ปกครอง จะต้องตักเตือน เมื่อตักเตือนแล้ว แนะนำแล้ว กระบวนการในทางปฏิบัติของการลงโทษก็จะใช้พระวินัย ซึ่งเป็นบทบัญญัติสำคัญของการดูแลควบคุมพระสงฆ์ เช่น พระประพฤติผิดพระธรรมวินัย เมื่อตรวจสอบชัดเจนแล้ว ก็ต้องให้ลาสิกขา หรือปรับอาบัติตามพระวินัยบัญญัตินั้นๆ

* ที่บอกว่าเป็นกังวลเรื่องสันติอโศกเป็นตรงไหน

พฤติกรรมเขาตั้งแต่เริ่มบวช มีความคิดที่ขัดแย้งกับฐานรากเดิม เขาอ้างว่าเขาอยู่ไม่ได้เพราะแนวทางไปทวนกับกระแสหลัก คือแนวทางของคณะสงฆ์เดิม เช่น ตัวเขาเองจะถือเป็นศาสดา เป็นอุปัชฌาย์เอง คือ นอกระบบทั้งหมด คิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมดเลย เรามองในแง่ที่ว่า คิดใหม่ทำใหม่นะ แต่เป็นแบบทำเอง เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมี 2 อย่างควบคู่กันไป คือ พระธรรม กับพระวินัย ศีล 227 และนอกจากนั้นต้องมีเกณฑ์มาตรฐานของคณะสงฆ์ คือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ หรือกฎหมายของสงฆ์ การจะบวชต้องได้รับอนุญาต และมีการเช็กประวัติตามเกณฑ์ ฉะนั้น พระธรรมวินัย โดยการปกครองสงฆ์ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ ตัวเขามีความแตกต่าง จนกลายเป็นความแตกแยกทางความคิด และสร้างปัญหาพฤติกรรมแปลกแยกมาเรื่อยๆ แต่ยังมีคนเห็นแบบเดียวกับเขา ปัญหาเรื่องนี้เลยขยายตัว

เหตุนี้เองทางคณะสงฆ์จึงมีความวิตกกังวลว่า ไม่สามารถบริหารจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ซึ่งในทางบริหารจัดการของพระสงฆ์คือ สังกัดวัดไหน ให้เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะทำการตรวจสอบแก้ไข แต่ว่าพฤติกรรมคือ นอกจากจะไม่ฟังเจ้าสำนักแล้ว ยังมีลักษณะโจมตี ที่เขาอ้างว่ากระแสหลักมันเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข รากฐานเดิมที่เขาไม่ยึดถือจารีตประเพณีวัฒนธรรมของพระสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ทางคณะสงฆ์เราได้มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาตั้งหลายรอบ เริ่มต้นที่ปี พ.ศ.2518 หลังจากที่รวมกลุ่มกันได้ประกาศแยกตัวเองออกจากคณะสงฆ์ เรียกว่า นานาสังวาส ซึ่งอันที่จริงคำนี้หมายถึง มีพระธรรมวินัยว่าด้วยการปฏิบัติบางข้อบางประการที่แตกต่างกัน ไม่สามารถจะร่วมคณะเดียวกันได้ แต่ต้องเป็นพระ อย่างอุบาสก-อุบาสิกาไม่สามารถอ้างนานาสังวาสได้ เพราะไม่ใช่พระ แต่ทีนี้เขาเข้าใจว่าเขาเป็นพระ จากนั้น 1 ปีต่อมาจึงได้ตั้งสันติอโศกขึ้น

โดยเป็นกลุ่มซึ่งตอนนั้นยังไม่เติบโตเท่าทุกวันนี้ ที่ขยายไปเกือบทั่วภูมิภาค และมีมูลนิธิกองทัพธรรม สมาคม และเครือข่ายของมูลนิธิกองทัพธรรม ภายใต้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กลุ่มนี้ถือว่าเติบโตมาก

จากนั้นปี พ.ศ.2522 พล.ต.จำลอง ประกาศตัวเป็นสาวกทันที พล.ต.จำลอง จึงดังมาภายใต้เสื้อม่อฮ่อม นี่ไง สโลแกนคือ คนเคร่งศีล เคร่งธรรม มังสวิรัติ ไม่บริโภคเนื้อ กินเจ ที่เขาเรียกว่า มังสวิรัติ แท้จริงแล้วคำว่ามังสวิรัติ แปลว่า เนื้อกับปลา คือ เว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งในพระพุทธประวัติ พระเทวทัตนำมาใช้แล้ว เคยอวดอ้างสมัยที่ขอกับพระพุทธเจ้า ที่ว่าอยู่ในป่าเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่ฉันปลา ไม่ฉันเนื้อ เรียกว่าเป็นแนวคิดแนวปฏิบัติทำให้เกิดกระแสใหม่ ซึ่งในพระธรรมวินัยกระแสใหม่จะขัดหรือไม่อย่างไร ต้องดูที่ฐานเดิม สิ่งที่เป็นข้อปฏิบัติของพระ ของคณะสงฆ์สายเถรวาท

กรณีสันติอโศกเห็นได้ชัดว่า เมื่อเขาทำการรวมตัวกันได้ ต่อมาไปตั้งพรรคพลังธรรม เพราะมีสานุศิษย์ของเขาที่มีความเชื่อเหมือนกัน พล.ต.จำลอง เข้ามาเต็มตัว แล้วเริ่มมีการขยายผล ขยายสำนัก มีสาขา บึงกุ่ม บางกะปิ ที่ จ.ศรีสะเกษ นครปฐม ฯลฯ และมีการตลาดทางด้านระบบสหกรณ์ เอามังสวิรัติเป็นตัวตั้ง และเสื้อม่อฮ่อมเอาไว้ขาย โดยสัญลักษณ์คือ กลุ่มปฏิบัติธรรมมักน้อย สันโดษ ในหลักพุทธศาสนามักน้อยสันโดษ ถือเป็นแนวปฏิบัติอหิงสาไม่เบียดเบียน ใครทำได้ผู้นั้นจะได้คุณด้านจิตใจและร่างกาย และได้ศรัทธาจากการประพฤติปฏิบัติ แต่เป็นอำนาจของคุณของศีลในทางพุทธศาสนาที่ประพฤติปฏิบัติ

ผมมีความเชื่อศรัทธาในสันติอโศกแรกๆ เหมือนกัน ตอนนั้นบวชเป็นเณร แต่มีความเชื่อเพราะยังไม่รู้เรื่องของสิ่งที่ผมกำลังเล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้น ที่ผู้คนชาวพุทธควรจะรู้ และควรแยกให้ออกระหว่างของจริงของแท้ กลายเป็นแปดเปื้อน ทำให้เกิดความแตกแยกและเป็นบ่อนทำลายอย่างไร แต่เดิมตัวผมเองยังศรัทธาในแนวคิดนี้ เพราะเห็นเขาปฏิบัติแล้ว เหมือนคนที่จะหลุดพ้น ไกลพ้นจากกิเลสตัณหา มักน้อยสันโดษ ดูท่าทางจะสงบร่มเย็น หากเราเข้าไปปฏิบัติแล้วจะเกิดความสุขที่เป็นสุดยอดของพระพุทธศาสนา คือคนที่มีศีลธรรม นี่คือภาพที่ผมมอง และเชื่อว่าคนอื่นจะมอง แต่ความจริงเขาจะศรัทธาจริงๆ หรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน จะมีลัทธิไอเดียอะไรเราไม่ทราบ

* จากที่เห็นได้ คือมีการนำชุมชนนี้เข้าไปสนับสนุนพรรคการเมือง

พอมาถึงจุดที่เขารวมตัวกันได้ มีทุน และมีผู้ใหญ่สนับสนุน เหมือนมีแบ็ก พล.ต.จำลอง เป็นแบ็กหนึ่ง ภายใต้ พล.ต.จำลอง อาจจะมีแบ็กบางคนอีก เราไม่รู้ มีข้าราชการบำนาญ ข้าราชการประจำบางคน เข้าไปศรัทธาให้การสนับสนุน แม้แต่พระสงฆ์บางรูปที่อยู่ในสายเถรวาทของคณะสงฆ์ไทย เหมือนกับที่ผมคิดและมองเขาในตอนแรกว่ามีอุดมการณ์เพื่อพระพุทธศาสนา ยังไปสนับสนุน เพราะเป็นความเชื่อที่เขามอง ในมิติที่ไม่ได้มองอย่างรอบด้าน แล้วก็มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา

ในกรณีที่ตั้งพรรคการเมือง เป็นข้อวินิจฉัยของผมที่ผมมีความรู้สึกศรัทธาต่อเขา ว่ากลุ่มนี้น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในสายพระพุทธศาสนา นอกจากสถาบันแม่ชี หรือวัดที่เป็นฐานเดิม แต่พอตั้งพรรคการเมือง และประกาศนโยบายเสร็จ พล.ต.จำลอง ลงสมัครผู้ว่าฯ และได้เป็น ต่อมามีความคิดไกล จากผู้ว่าฯ เป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี แต่เขาดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายตำแหน่ง ผมจึงเริ่มคิดแล้วว่า แนวคิดที่เขาอ้างว่าเป็นกระแสทางเลือก

โดยนำธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติในกลุ่มสันติอโศก และตั้งพรรคการเมือง และส่ง พล.ต.จำลอง เข้ามาลงเล่นการเมือง ผมเห็นแล้วว่าน่าจะไม่ใช่แล้ว เพราะการที่ พล.ต.จำลอง ประกาศตนเอง และมีคนไปเคารพนับถือในกลุ่มของชาวสันติอโศก และต่อมาได้สร้างฐานทางการเมือง และได้รับชัยชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เขาเรียก ฟีเวอร์ เป็นกระแสของคนกรุงเทพและคนส่วนหนึ่ง

แต่พฤติกรรมและการแสดงออกในเรื่องของหลักการประพฤติและปฏิบัติของศาสนาพุทธเหมือนกับที่ผมมองในมิติแรก ผมเริ่มเห็นแล้วว่าน่าจะมีอะไรอยู่เบื้องหลัง และที่ว่ามักน้อยสันโดษนั้น จริงๆ แล้วการเมืองเป็นกิเลสตัวใหญ่เลยนะ แล้วในภาพของนักบวชนั้นตรงกันข้าม ผมจึงเริ่มคลางแคลงใจในตัว พล.ต.จำลอง มาตั้งแต่ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ และตั้งพรรคพลังธรรม

* ตรงนี้จะชี้ได้หรือไม่ว่าข้อปฏิบัติ โพธิรักษ์ ที่มีรูปแบบผิดเพี้ยนไป อาจารย์คิดว่าผิดอย่างไร

ตรงนี้ผมขออนุญาตอ้างอิงคำพูดของพระเดชพระคุณ พระเทพปริยัติวิมล อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ท่านพูดย้ำเสมอว่า การใดๆ จะเป็นเรื่องการปกครอง การบริหารจัดการ "จะทำเพื่อถูกใจใครไม่ได้ แต่ต้องถูกต้อง คือถูกหลักการ"

ส่วนรูปแบบการประพฤติปฏิบัติของกลุ่มนี้ เขาผิดแปลกไปตั้งแต่ตอนแรกแล้ว ทำให้มีการ ปกาสนียกรรม ตั้งแต่ปี 2532 เขาเรียกว่า มติของคณะสงฆ์ กรณีสันติอโศกในการ ปกาสนียกรรม ในการ นิคหกรรม คือ การขับออกจากหมู่คณะ การ ปกาสนียกรรม คือ การประกาศความผิด เขาเป็นตัวของเขา องค์กรของเขาแล้ว เมื่อปี 2532 เดือนมิถุนายน เบื้องต้นคือว่า มีการประพฤติปฏิบัติที่ต่างจากกระแสหลัก ของเขานั้นกระแสใหม่ กระแสหลัก คือ อันไหนที่เป็นหลักการของชาวพุทธ คณะสงฆ์นั้น เขาจะตรงข้ามหมดเลย เช่น

1.เขาอ้างว่าเขาเป็นพระ แต่ที่แตกต่างคือ เขาไม่มีวัด แต่เป็นชุมชนอโศก ชุมชนสันติอโศกมีเครือข่ายเป็นชุมชนเท่านั้น

2.การประพฤติปฏิบัติของเขานั้นไม่มีผู้บังคับบัญชาที่ปกครองโดยคณะสงฆ์ ไม่มีเจ้าอาวาส แต่ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน และยกย่องโพธิรักษ์ เป็นเจ้าสำนัก ในสายงานเขา ที่สำคัญคือว่า นอกจากจะผิดแบบจากรูปแบบคณะสงฆ์กระแสหลักแล้ว พระพุทธศาสนานั้นจะต้องให้สอนความเชื่อ ความศรัทธา ในพระธรรมคำสอนนั้นจะต้องมีรูปแบบเดิม คือว่าในวัด ในคำสอนจะต้องมีพระพุทธเจ้า เขาไม่มีพระพุทธเจ้า แต่อ้างคำสอน อ้างพระธรรมวินัย นี่เป็นรูปแบบปฏิบัติของเขา ไม่ไหว้พระพุทธเจ้า ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือตัวเองเป็นใหญ่ นอกจากนี้เขาไม่มีการบวช การเข้ามาเป็นพระที่ถูกต้อง เพราะว่าเขาประกาศตนแล้ว และถูกขับมาแล้ว แต่ผมจะนำไปสู่ข้อสุดท้ายคือ เมื่อเขาไม่ได้เป็นพระ แล้วทำไมยังแต่งกายเหมือนพระ ตกลงจะเป็นอะไรกันแน่

3.เขา ไม่มีศาสนพิธี ไม่มีพิธีปฏิบัติ แต่ถือตัวเองเป็นใหญ่ ถือความเชื่อของเขาเป็นใหญ่ อ้างคำสอนของเขาเป็นใหญ่ และอันที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่คนไทยจะต้องระมัดระวังในความคิดนี้ และลัทธินี้ คือ พระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมไทย ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเคารพยำเกรงต่อพระผู้ใหญ่ ความกตัญญูต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต่อครูบาอาจารย์ ระหว่างศิษย์กับครู เคารพต่อประชาธิปไตย

ภายใต้วินัยแห่งประชาธิปไตย หรือวินัยชาวพุทธ ชาวพุทธมีศีล 5 มีหน้าที่ชาวพุทธ 5 ประการ ประชาธิปไตยมีกฎกติกา เล่นตามกติกา แต่แนวทางของเขามันสอดคล้องกับแนวทางที่มีระบบแบบเล่นนอกกติกา หรือจะนำไปสู่แนวคิดแบบเผด็จการก็ว่าได้ เช่น ในข้อที่ว่า รูปแบบคิดเอง บวชเอง ทำเองแล้ว เขายังได้สอนให้ชาวสันติอโศก ไม่ให้ไหว้พ่อแม่ ไม่เคารพกราบไหว้พระพุทธรูป มีคนที่เขารู้จักผมเขาเคยเข้าไปแล้ว ผมเกรียนๆ ใส่ม่อฮ่อม ตัวซีดๆ ทำงานตัวเป็นเกรียว ขยันมาก แล้วไปทำระบบสหกรณ์ แต่เขาไม่มีการไหว้สิ่งที่เราเคารพ นั่นคือ พ่อแม่ มันเหมือน เป็นการบิดเบือนสิ่งที่เป็นความสำคัญของสังคมไทยที่มาจากพระพุทธศาสนา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่อันตรายมาก

อันสุดท้ายคือ ผมคิดว่า พระพุทธศาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะแยกจากกันไม่ได้เด็ดขาด ยืนยันตรงนี้ชัดเจน ที่เราต้องการที่จะบัญญัติให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะแก้ไขนั้น และมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งออกมาโจมตี เพราะฉะนั้นถามว่า โลกและสังคมพุทธมองเขาอย่างไร มองเขาในรูปแบบใด สุดท้ายนี้คือว่า สิ่งที่เขาประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นวัฒนธรรมเดิมเขาไม่ปฏิบัติ แปลว่าเขาเป็นกระแสใหม่ ไม่ใช่กระแสหลัก และ จริงๆ แล้วเขามั่นคงต่อชาติ และพระมหากษัตริย์หรือไม่ เพราะพุทธศาสนานั้นมีพิธีกรรม ศาสนพิธี พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประกอบพระราชพิธีต่างๆ ที่เรียกว่า พระราชพิธี รัฐพิธีของสังคมไทยที่ปฏิบัติมายาวนาน

ถามว่าการแสดงออกของสันติอโศกเขาได้ทำหรือเปล่า ซึ่งคณะสงฆ์ใหญ่ของไทยเขาทำ และเป็นสิ่งที่พวกเราชาวพุทธได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนมาโดยตลอด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เราก็ยังสงสัยในสิ่งที่สันติอโศกประพฤติปฏิบัติว่า อะไรกันแน่ที่เป็นหลักการของเขา ที่จะนำไปสู่การค้ำจุนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความรัก ความหวังดีต่อชาติ เพราะเขาปฏิวัติ ปฏิรูปในสิ่งที่เป็นกระแสหลักไปหมดเลย แล้วอ้างคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้เรียกว่า อัตตาลัทธิสันติอโศก

* แล้วสิ่งไหนที่เขาทำ และเป็นเรื่องที่อันตรายต่อพุทธศาสนาบ้าง

พุทธศาสนาประกอบด้วยโครงสร้างสำคัญคือ 1.พระศาสดา ศาสนาพุทธมีพระพุทธเจ้า คริสต์มีพระเยซู อิสลามมีพระอัลเลาะห์ เพื่อเป็นฐานยึดมั่นจิตใจในการเคารพนับถือของศาสนิกนั้นๆ 2.ศาสนสถาน หรือศาสนวัตถุ ซึ่งหมายถึง วัดวาอารามต่างๆ ต้องให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.สงฆ์ และพระธรรมวินัยชัดเจน วัดก็ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ชาวพุทธจะไปลบล้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ 3.ศาสนบุคคล คือ พระสงฆ์ สามเณร ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา

รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกา จะต้องอยู่ในรูปแบบและมีวินัยชาวพุทธที่ถูกต้อง 4.ศาสนพิธี พุทธศาสนามีฐานรากสร้างวัฒนธรรมความเชื่อในรูปลักษณ์ด้านต่างๆ และก่อให้เกิดเป็นชาติไทย เช่น ความกตัญญู ความรักชาติ ความมีชีวิตที่ดีงามตามหลักพุทธ เป็นต้น และสุดท้ายที่สำคัญคือ ศาสนธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า (พระไตรปิฎก) เราชาวพุทธ มีการยึดมั่น ยึดถือเพื่อการปฏิบัติในหลักการที่ถูกต้องของชาวพุทธ

ส่วนเขานั้นแตกแยกทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งพระธรรม และวินัย แต่ที่เขาอ้างและประกาศตนแยกออกมา เขาอ้างว่าเขาทนทุกข์ต่อกระแสหลักที่เป็นฐานรากของพระพุทธศาสนา ที่เป็นจารีตไม่ได้ มันก็เป็นสิทธิ์ของเขาไป จะแต่งกายอะไร สร้างอุดมลัทธิอะไรก็แต่งไป สร้างไป แต่สิ่งที่เป็นพระธรรมวินัย พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ที่เราเรียกท่านว่า ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตโต ได้มีหนังสืออธิบายชัดเจน กรณีเรื่องของการใช้คำสอนในพระพุทธศาสนา รวมทั้งข้อปัญหาของสันติอโศกในอดีต

การนิยามคำ หรือการให้ความหมายในราชบัณฑิตยสถาน ทุกคำมีความหมาย แต่ราชบัณฑิตยสถานในภาษาไทยไม่ได้นิยามพระธรรมวินัยไว้ในบางคำ อย่างของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ที่นิยามไว้ครบถ้วน เขาเรียกว่า ประมวลคำศัพท์ ฉะนั้นเวลาเขาพูด เขาเทศน์ เขาสอน เขาอ้างหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คุณไม่ไหว้พระพุทธเจ้าไม่เป็นไร ไม่มีพระพุทธเจ้าที่เป็นรูปลักษณ์ไม่เป็นไร คุณบอกว่ามันเป็นกระแสหลักที่คนกลุ่มหนึ่งเขานับถือ

แต่การที่คุณอ้างคำว่า "ตัณหา" ว่า "มันตัน จึงหาไม่เจอ" แล้วอธิบายธรรมโดยความเข้าใจของตนเอง แต่ขาดหลักในพระไตรปิฎก หรือพระธรรมวินัย ที่เป็นครูบาอาจารย์ได้ดำเนินการแต่งเอาไว้ ถือว่า เป็นความบิดเบือน และเป็นความบิดเบือนที่จะนำไปสู่การล้มล้างหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ แรงที่สุดก็จะประกาศเป็นศาสดาเอง ลัทธินี้มีศาสดาเอง อันนี้ผมถือว่าอันตราย อันนี้ยกตัวอย่างนะ

แล้วต่อมาเขาใช้ธรรม ที่เขาบอกว่า ศาสนธรรม นอกจากจะแปลตัณหาเสร็จแล้ว เขาออกมาตอบโต้นักวิชาการชาวพุทธ นักวิชาการศาสนา แม้แต่คำในเรื่องของพระธรรมวินัย เช่น นานาสังวาส แปลเอง ปกาสนียกรรม แปลเอง ฉะนั้นประมวลแล้ว สรุปแล้ว ผมเชื่อว่าเขาไม่ได้บวชตามรูปแบบ เมื่อไม่ได้บวชตามรูปแบบ เขาเลยหลุดจากวงโคจรของพระธรรมวินัย อย่างถ้าเราจะบวชต้องอ่าน นวโกวาท อ่านเล่มหนึ่ง เล่มสอง แล้วไปเข้าสู่พิธีกรรม เมื่อจำลองพิธีกรรมเสร็จแล้วจากนั้นเข้าไปบวช จากนั้นเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ตามขั้นตอน เวลาจะพูดจะเทศน์ ถึงจะเป็นคติวิสัย ซึ่งเป็นทรรศนะส่วนตัว แต่ไม่เหนือจากพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎก หรือพระวินัยที่พระพุทธเจ้าได้วางระบบเอาไว้เพื่อความมั่นใจในการแสดงธรรม

แต่คุณโพธิรักษ์ เขาอ้างพระธรรมวินัย อ้างพระพุทธเจ้า แต่เขาอ้างแล้ว อ้างตามความคิดของตนเอง บัญญัติเอง นิยามเอง แล้วต่อมาที่ชัดคือว่า เมื่อเขาไม่ได้อยู่ในรูปแบบ เขาไปตั้งฉายาเอง ตั้งชื่อเอง เช่น สมณะ ก. สมณะ ข. และมีฉายา อรุโณ อรุณี ไปเรื่อย ไม่มีกฎเกณฑ์อะไร ถือตนเองเป็นใหญ่ ซึ่งการตั้งฉายาพระ รูปแบบนั้นต้องยึดโยงและเกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัย แต่พระธรรมวินัยนั้นจะต้องชัดเจนคือ ถูกต้องโดยคำสอน ถูกต้องโดยพระธรรมวินัยเป็นผู้กำหนด พระธรรมวินัยออกมาเป็นข้อปกครอง เพราะฉะนั้น การจะตั้งฉายาเอง การจะบวชเรียนเอง มันผิดพระธรรมวินัยอยู่แล้ว ซึ่งพระธรรมวินัยในรูปแบบเขาปฏิวัติ เขาอยู่ตรงข้าม อย่างเช่น การบวชของเขาใช้วิธีของเจ้าสำนัก ไม่ใช่คุณสมบัติ

* คิดว่าคุณโพธิรักษ์ เขามีจุดประสงค์อะไรในการกระทำต่างๆ อย่างที่ว่ามา

ผมเชื่อมั่นว่าโดยพื้นฐานของเขาตั้งแต่เด็กๆ กรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นั้น ผมเชื่อมั่นว่าคนพวกนี้ต้องไม่มักน้อย นี่ความคิดเห็นผมนะ ต้องมักใหญ่ใฝ่สูง แล้วต้องการเอาชนะอะไรบางอย่างแน่ แต่มันตรงข้ามกับหลักศาสนาพุทธ คือ การเอาชนะตนเอง และเราจะถอยออกกับที่เดินหน้า แต่ตอนนี้เขาบอกว่ามักน้อย สันโดษ แต่พฤติกรรมเขาไปในทางขยับขึ้น ในที่สุดมันเกิดปัญหาจนคณะสงฆ์รับไม่ได้ แล้วมีการขับไล่ มีการประกาศความผิดไปแล้ว และมีการฟ้องคดีขึ้นเมื่อปี 2532 ตัดสินคดีไปแล้ว ศาลตัดสินความผิดให้จำคุกมาแล้ว มันมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในการปกครอง ในการจัดรูปแบบคณะสงฆ์

จิตพิสัยเบื้องลึก น่าจะเป็น น่าจะมีอะไรที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง แต่มาซ่อนอยู่ในเงื่อนไข ซ่อนอยู่ในศาสนา ที่ดึงคนเข้ามาเชื่อได้ เคารพได้ แล้วนำไปสู่ ความมหึมาของกิเลส อย่างที่ผมเคยบอกว่า ผมศรัทธาลึกๆ ตอนที่ผมเป็นสามเณร คิดอยากจะไป แต่พอเรื่องเขาขยับตัวออกมาประกาศ ออกมาตอบโต้คณะสงฆ์ ไม่ฟังพระผู้ใหญ่ แล้วประกาศตัวเป็นอิสระ เหมือนกับที่มัฆวานฯ แล้วมาตั้งพรรคพลังธรรม ล่าสุดมาขัดแย้งทางการเมือง แล้ว พล.ต.จำลอง เริ่มด่าคนแล้ว

นอกจากที่มีการแอบแฝงตนว่าเป็นนักปฏิบัติ อยู่น้อย กินน้อย อาบน้ำ 5 ขัน ไม่นอนกับเมีย เราเริ่มเห็นพฤติกรรมแล้วว่ามันตรงข้ามกัน เพราะฉะนั้นเบื้องหลังของเขานั้น ผมคิดว่ามันตรงข้ามกับการที่เขาออกมานำคน อหิงสา มักน้อย สันโดษ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดีในหลักพระพุทธศาสนา แต่ตรงข้ามกับการกระทำของเขา ที่มักใหญ่ใฝ่สูงตั้งพรรคการเมือง แล้วมีกระบวนการจัดมวลชน มีทุน อันนี้แปลว่ามีปัญหามหึมา แล้วในที่สุดตัวต่อมปัญหาเขากระจายไปทั่ว แล้วในที่สุดใครขัดแย้งไม่เห็นด้วย ในที่สุดมันก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เกิดปัญหาในระบบ ในสังคม ต่อรัฐบาล

* เมื่อมีปัญหาขึ้นมา ในจุดนี้ทางคณะสงฆ์ได้ดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างไร

อันเดิมที่ผมร่ายเรียงมา คือ 1.เมื่อเขาไม่ได้อยู่ใต้อาณัติ อยู่ภายใต้การคณะสงฆ์ แล้วปกครอง อ้างตัวเป็น นานาสังวาส ซึ่งจริงๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่พระ และเขาประกาศให้สึกไปแล้ว เขาไม่ใช่พระ แล้วศาลฎีกาเขาตัดสินไปแล้วว่าไม่ใช่พระ โดยปริยายความเป็นพระก็หมดไป แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อปี 2549 ก่อนการทำรัฐประหาร พล.ต.จำลอง กับคณะนี้แหละออกมาเคลื่อนไหวที่ท้องสนามหลวง โดยกล่าวอ้างว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ไม่มีจริยธรรม ไม่มีคุณธรรม คือ อ้างศีลธรรม เข้ามาร่วมการชุมนุม จริงๆ แล้วพฤติกรรมของ พล.ต.จำลอง ตั้งแต่กรณี "เบียร์ช้าง" แล้ว

พุทธศาสนาในกรณีถ้าจะเข้าไปเรียกร้องเรื่องศาสนา อย่างคณะของพระสงฆ์ 30,000-50,000 รูป ไปที่หน้ารัฐสภา แต่ไปเรียกร้องด้วยเหตุผลเพื่อให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หรือการเรียกร้องในสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ เรื่อง พ.ร.บ.จัดรูปที่ดิน เพราะคณะสงฆ์ท่านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลในสมัยนั้นจะออกกฎหมายจัดรูปที่ดิน แล้วเอาที่ดินที่เป็นธรณีสงฆ์ทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ไปให้เช่า ไปแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหากับพระ กับคณะสงฆ์ เราออกไปชุมนุม นี่ยกตัวอย่างนะ กว่า 10 วัน อดีตนายกฯ ทักษิณ เห็นว่าไม่ไหวเลยถอย จากนั้น ครม. มีมติให้ทั้งสองสภาฉีกร่างพระราชบัญญัติ อันนั้นคือการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการชุมนุมที่มีผลกระทบต่อพระ ต่อศาสนาโดยรวม มิใช่ชุมนุมไร้จุดหมายอย่างในปัจจุบัน

ต่อมาออกมาเคลื่อนไหว ในสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ เหมือนกัน 15 วัน เรื่องให้ตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาขึ้นมา และต่อมารัฐบาลชุดนั้นจัดตั้งให้มีสำนักงานพระพุทธศาสนา ไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเหมือนกัน แล้วต่อมาคือล่าสุด หลังการปฏิวัติรัฐประหารเสร็จ ตั้ง สนช. สสร. ขึ้นมาร่างกฎหมาย เราไปยื่น 2-3 ล้านรายชื่อ ให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีการชุมนุม เขาเรียกชุมนุมทางการเมือง แต่ผมกำลังจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ระหว่างสันติอโศกชุมนุม กับพระสงฆ์ชุมนุมนั้น มันต่างกันอย่างไร ต่างกันตรงที่ว่า เป้าหมาย และความเสียหายและประโยชน์อันใดที่จะเกิดขึ้น

ฉะนั้น กรณีสันติอโศก ตั้งแต่ก่อนหน้านี้มาจนถึงปี 2549 ประกาศเต็มตัวว่า "กองทัพธรรม" ขับไล่คุณทักษิณออกไป รัฐบาลออกไป จะยืนหยัดแข็งกร้าว แบบอหิงสา แล้วต่อมาเข้าร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรฯ ซึ่งหนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ คือ พล.ต.จำลอง คือสันติอโศก สันติอโศกก็คือโพธิรักษ์ ตรงนี้ผมกำลังจะสื่อให้เห็นว่า โพธิรักษ์ไม่ใช่พระ แต่พยายามที่จะเป็นสมณะที่อ้างตัวเอง มีสมาชิก เลียนแบบคล้ายๆ พระ แล้วมาชุมนุมทางการเมือง ขับไล่รัฐบาล ถามว่ามันเป็นกิจของสงฆ์ไหม ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะเขาไม่ใช่สงฆ์ เพราะว่าสงฆ์เราไม่ได้เข้าไปร่วมด้วย ยกเว้นสงฆ์บางรูป ที่ยังหลงใหลอยู่อาจจะไปนั่งฟัง จะไปพรมน้ำมนต์ แต่ตัวเขาประกาศเลยว่าชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาล

ทีนี้เขาบอกว่า ทางเลือกใหม่ของเขา สันติอโศก ถ้าจะให้ผมเข้าไปศรัทธา หรือชาวพุทธที่ถอนตัวออกมาแล้ว หรือคนที่กำลังจะเข้าไป หรือเขาจะเป็นตัวบ่อนทำลายให้ความเชื่อถือของพันธมิตรฯ ลดลงหรือไม่ เราชาวพุทธมาพร้อมใจกันคิดว่ากรณีของ "กองทัพธรรม" ของ พล.ต.จำลอง หรือโพธิรักษ์ คือกลุ่มเดียวกัน มีเป้าหมายโดยใช้ศาสนาไปสร้างศรัทธา สร้างภาพ ไปสร้างมวลชน แล้วในที่สุดศรัทธาและมวลชนที่เขามีอยู่นั้นก็ไปกระทบต่อการปกครองของไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งกระทบต่อบริบทอื่นของสังคมไทยด้วย

ผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งมันมีแล้ว กระทบต่อการปกครองของคณะสงฆ์ กระทบตรงไหน การชุมนุมของเขานั้นไม่ใช่พระ แต่เขามา ใช้จีวร เหมือนห่มจีวร มีบิณฑบาต มีแสดงธรรม มีคำว่า "อาตมา" ซึ่งคำพวกนี้ในหลักพระพุทธศาสนา คนที่จะใช้คำว่า "อาตมา" การพูดจาแสดงธรรม หรือ การโกนศีรษะ การ เอาผ้าสีต่างๆ เป็นจีวรมาห่ม ได้นั้นต้องบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ฉะนั้นการกล่าวอ้างของเขานั้นเป็นเพียงแค่ สมณะ ทีนี้ข้อจำกัดคือ สมณะนั้นควรทำแบบนี้หรือไม่ ถูกต้องหรือไม่

สมณะนั้นควรอยู่ในอาศรม เหมือนฤๅษี ต้องอยู่ในอาศรม ถ้าพระต้องอยู่ในวัด อยู่ในสำนัก แต่การแสดงออก อ้างว่าเป็นสมณะแล้วคนเข้าใจผิดว่าเป็นพระ แล้วออกมาบิณฑบาต ทำให้คณะสงฆ์โดยรวมได้รับความเสื่อมเสีย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ แล้วฐานเดิมของการขยายผลของเขานั้นมันทำให้คนเข้าใจในพระพุทธศาสนาผิด ทั้งพระธรรมวินัยในการปฏิบัติ ทั้งมวลชนที่เข้าดำเนินการอยู่

โดยเฉพาะการชุมนุมในทางการเมือง เป็นอันตรายอย่างยิ่ง นอกจากกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทบต่อคณะสงฆ์แล้ว อันนี้จะเป็นคล้ายๆ กับว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทางลบต่อชาวพุทธ เป็นความน่าเศร้า สิ่งที่กระทำได้สองเรื่อง เมื่อเรารู้ว่านาย ก. เป็นใคร ปฏิบัติธรรมจริงไหม บริสุทธิ์ใจต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จริงหรือไม่อย่างไร

อย่างเช่น ผมเคยศรัทธาเขา แล้วผมถอนตัวออกมาแล้ว ฉะนั้นชาวพุทธต้องตระหนักว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป้าหมายเขาทำเพื่อใคร สิ่งดีที่สุด คือ ชาวพุทธต้องระวัง ใช้สติปัญญา ใช้ความถูกต้องมิใช่ถูกใจ แล้วเฝ้าระวังกับขบวนการนี้ ถ้าเป็นการเมืองต้องถอนตัว เพราะเป็นการส่งเสริมที่ทำให้เกิดภาพที่ทำความเสียหายต่อประเทศชาติ คือ ความมั่นคง อันสุดท้ายคือว่า สิ่งที่จะแก้ไขได้และชัดเจน คือช่องทางกฎหมาย ซึ่งมีอยู่ 2 ระดับ กฎหมายอันแรก ใน พ.ร.บ.สงฆ์ คนที่ไม่ใช่พระที่เรียกว่าเป็น "คฤหัสถ์" แต่แต่งกายเลียนแบบ เพราะ คุณไม่ได้บวชในสายพระ การปกครองของพระ มันมีข้อกฎหมาย ไปแต่งการเลียนแบบ ไปดำเนินการตามกฎหมายอาญาได้ ถ้าจำไม่ผิด ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206, 207, 208 และผู้ที่จะอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาแก้ไขปัญหาได้ชัดเจน คือ รัฐ หรือรัฐบาล

แต่รัฐบาลคุณทักษิณ ที่อยู่มายาวนานเนื่องจากว่า เพราะคุณทักษิณนั้นถูกมองว่าคือพลังธรรมเก่า แล้ว พล.ต.จำลอง ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ แล้วบุญคุณหมดไป ทดแทนกันแล้ว มันหมดไป แต่ผมเชื่อมั่นว่าคนที่มีสติปัญญาคงไม่ได้ไปหลงทาง แล้วไม่ได้ถูกฝังชิปในลัทธินี้อย่างแน่นอน จึงกลายเป็นปฏิปักษ์ส่วนตัว ระหว่าง พล.ต.จำลอง กับอดีตนายกฯ ทักษิณ พล.ต.จำลอง เลยเอามวลชนจากสันติอโศกออกมาเพื่อต่อสู้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ และในที่สุด ไปโยงเรื่องระบอบประชาธิปไตย ที่เสียหายคือไปโยงต่อการปกครองต่อการบริหารประเทศในรัฐบาล ไปโยงต่อพระพุทธศาสนา ที่เป็นส่วนรวม เป็นสิ่งบริสุทธิ์ ให้เสียหายต่อกรณีการชุมนุมของ พล.ต.จำลอง และกลุ่มสันติอโศก

ดังนั้น กรณีคุณทักษิณ จึงเหมือนว่าเข้าไปศึกษาแล้วเข้าใจทีหลัง เพราะฉะนั้นในการประกาศนโยบายของรัฐบาลนายกฯ สมัคร จึงประกาศอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ต้องทบทวนบทบาทรัฐบาล ต่อกรณีชุมนุมแล้วมีความเข้าใจว่า เป็นพระของคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นสมณะกลุ่มนี้ ให้ชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองจะดำเนินการแก้ไข

* ทีนี้ประชาชนในสังคมอาจจะยังไม่เข้าใจ กรณีของสันติอโศก หลักจากที่ศาลฎีกาตัดสินออกมาแล้วว่าผิด ตอนนี้สถานภาพของสันติอโศกคืออะไร

เขาคือเป็นเพียงแค่รูปแบบที่เขาใช้อ้างตัวเองว่าเป็นสมณะ แปลว่า สงบ ปฏิบัติตน มักน้อย สันโดษ ถือศีล 8 หรือศีล 5 ก็แล้วแต่ แต่เขาไม่ใช่พระแน่นอน แต่การก้าวล่วงพระธรรมวินัย การก้าวล่วงหลักปฏิบัติที่เป็นพระพุทธศาสนา เช่น การทำกิจของสงฆ์ การบิณฑบาต การห่มจีวร การออกมาเคลื่อนไหว เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

ทีนี้ที่ถามว่าเมื่อศาลฎีกาตัดสินออกมาแล้ว ต่อไปต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายอาณาจักร เพราะสงฆ์ได้ทำหน้าที่ของท่านแล้ว "นิคหกรรม" ประกาศแล้ว กรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ ที่เข้ามาดูแลคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมดำเนินการ และในที่สุด เป็นหน้าที่ของศาลซึ่งตัดสินเมื่อปี 2542 ให้มีการจำคุก และให้รอลงอาญาไปแล้ว ที่มีหน้าที่ต่อก็คือ รัฐบาล และฝ่ายกฎหมายที่จะต้องเข้ามาดูแลแทน ซึ่งเป็นคดีทางโลก

* ในเรื่องนี้อาจารย์มองว่ารัฐบาลจะต้องจัดการกับเรื่องสันติอโศกอย่างไร

ถ้าเป็นเรื่องของทางการเมือง เช่น ปิดถนน ขวางการจราจร บอกว่าผิดกฎหมาย เบียดเบียนผู้อื่นไหม แต่ก็อยู่ได้เกือบเดือน ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย ใช้วิธีการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม มันก็คงเป็นแนวปัญหาทางการเมืองนั่นแหละ ตรงนี้ถ้าไม่จัดการ ก็จะเกิดผลกระทบ จะแตกแยก สังคมเราต้องการความสมานฉันท์ ความสงบ ต้องการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยความออมชอม คือ ใช้สติปัญญา ไม่ใช้ความรุนแรง

ผมบอกว่าระหว่างใช้ความรุนแรงกับใช้กฎหมายมันต่างกัน ความรุนแรงคือ การละเมิด การเบียดเบียน การทำลายล้าง เป็นสังคมที่ป่าเถื่อน ใช้กฎหมายคือ การบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาประเทศ เหมือนกรณีคุณจักรภพ ใช้กฎหมาย แต่กรณีคนทำความผิดจะเป็นใครก็แล้วแต่ ต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย ผิด...ว่าไป ไม่ผิด...ว่าไป แต่ข้ออ้างนั้นมันจะทำให้เกิดข้ออ้างทางการเมือง ผมจึงบอกว่า มีการบ่มเพาะและนำไปสู่ปัญหาระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงใยเป็นอย่างมากในสังคมไทย

* ถ้าหากปล่อยไปแบบนี้ ปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเกิดผลเสียโดยรวมต่อสังคมไทยอย่างไร

ผมคิดว่าเขาต้องประกาศตัวให้ชัดเจนว่า เขาไม่ใช่พระ แล้วเมื่อไม่ใช่พระเขาต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่แสดงออกและไปขัดต่อกฎหมายสงฆ์ และกฎหมายทางโลก แล้วคุณจะตั้งพรรคการเมืองเป็นสิทธิของคุณ ตั้งไปเลย แต่คุณไม่ควรจะคลุมเครือแอบแฝงหรือว่าลอกเลียนแบบ แล้วทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งละเอียดอ่อน และเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่เราเคารพนับถือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะทำอะไรเป็นของเล่นไม่ได้

เพราะฉะนั้น โดยสรุปแล้วสังคมต้องเฝ้าระวัง ต้องชี้ความถูกผิดด้วยใจของชาวพุทธ แต่เราไม่ได้หมายความว่าเราไปกระทำป่าเถื่อน หรือไปละเมิดความคิดเขา แต่ไปแสดงหลักการในแง่ของสังคมไทย ประเทศไทยในการบริหารจัดการประเทศมันต้องมีมาตรฐาน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน แต่จะสองมาตรฐานไม่ได้

* ตรงนี้หากรัฐบาลเพิกเฉย อาจจะมีกลุ่มอื่นๆ ที่จะออกมาในลักษณะนี้อีกในอนาคต โดยอ้างความชอบธรรมที่กฎหมายไม่จัดการ กลายเป็นร้อยลัทธิ พันนิกายขึ้นได้ไหม

จะเป็นตัวอย่าง ขณะนี้อาจจะมีอยู่บ้างแล้ว แต่เขายังไม่แสดง แต่กรณีนี้จะเป็นกรณีตัวอย่างให้กับกลุ่มอื่นๆ หรือคนที่คิดจะดำเนินการแบบนี้ ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อการบริหารประเทศได้ ต่อพระพุทธศาสนาได้

ทีนี้ในแง่ของข้อกฎหมายมันต้องมานั่งคุยกันว่า การบริหารประเทศ อาณาจักรคือรัฐบาล กับศาสนจักรคือคณะสงฆ์ และบุคคลในวงการศาสนา ที่ระบุอยู่ตอนนี้ คือกลุ่มนี้ มันมีการดำเนินการมีช่องทางที่จะทำ แต่มันเป็นความเสียหายที่รัฐบาลจะต้องอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลไปเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตรงข้าม จึงมองว่าเขาเป็นส่วนที่เราจะต้องไปล้มล้าง ไม่ใช่นะ แต่ดำเนินการตามกฎหมาย ตามครรลอง ตามมาตรฐาน และทุกรัฐบาลที่ถูกต้อง ต้องดำเนินการ ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการเลย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน เราต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความถูกต้องทุกภาคส่วน เป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตย คือ เพื่อส่วนรวม ประโยชน์ของชาติ มิใช่เพื่อตนเอง มิใช่เพื่อพรรค และการแก้ไขนั้นต้องเป็นมติมหาชน เป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ ส่วนวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเห็นของคนส่วนใหญ่ และทำให้เกิดความถูกต้อง ลดความขัดแย้งให้มากที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของใคร ระบบรัฐสภา ผู้แทนปวงชน ส.ส. ส.ว. ต้องทำหน้าที่ใช่ไหม ก็ต้องว่ากันในสภาใช่ไหม นี่คือระบบการเมืองมันจะเดินได้ ไม่ใช่สร้างภาพ สร้างปัญหา สร้างเรื่อง แล้วก็หาไม่เจอ ท้ายสุดก็เป็นจุดจบของประเทศ มันไม่ถูกต้อง อันนี้เป็นความห่วงใยต่อกรณีนี้

โดยเฉพาะชาวพุทธและคณะสงฆ์ ท่านเป็นห่วง เมื่อเป็นห่วงแล้วกฎหมายรับรอง ท่านได้แค่นั้น อำนาจเต็มที่ ก็ทำได้แค่นั้น เมื่อภาระหน้าที่ท่านหมดแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่อกฎเกณฑ์ทางศาสนาต่อไปอีกในระยะยาว นี่เป็นการชุมนุมทางการเมือง ในรูปแบบของการศาสนา แต่ศาสนาลัทธิอะไรต้องชัดเจน

และที่สำคัญ ที่ผมพูดค้างไว้คือว่า ทุกอย่างที่เป็นสภาวธรรม ความถูกต้องถูกผิด เรารู้ว่าควรจะศรัทธาและเข้าไปสนับสนุนอย่างไรนั้น เมื่อรู้ว่าอย่างนี้เกิดปัญญาแท้จริง รูปแบบต่างๆ ศีลธรรม วัฒนธรรม เสร็จแล้วอยากให้เราพูดต่อไปว่า บ้านเมืองต้องร่วมกันแก้ ศาสนาก็ต้องร่วมกันแก้ 95% รัฐบาลต้องช่วยเหลือ ถ้าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์มือเดียว ขาเดียว ชาวพุทธไม่ช่วย รัฐบาลไม่ช่วย ทั้งที่มีอำนาจบริหารได้ มันจะล่มทั้งชาติและศาสนา

* ข้อสรุปก็คือ ถ้ารัฐบาลไม่จัดการ และชาวพุทธไม่ร่วมกันดูแล เท่ากับว่าเรายอมรับลัทธิเหล่านี้ และจะเกิดขึ้นมาอีกเป็นสิบ เป็นร้อย และอาจนำไปสู้ความวุ่นวายในที่สุด

เหมือนลัทธิโอมชินริเกียวในญี่ปุ่น แต่ว่าตำรวจเขาเอาจริง สอนไม่ให้กราบไหว้พ่อแม่ บอกว่าพ่อแม่ไม่มีต้นกำเนิด ในที่สุดมันฆ่าคนที่อยู่ข้างๆ เป็นคัมภีร์มรณะไป เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยต่อสังคม เป็นภัยต่อวัฒนธรรม อันนี้เราไม่อยากมองว่าเขาเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่มันปฏิบัติแล้วมันทำให้เกิดความแตกแยก การแตกแยกหรือความแตกแยก นำไปสู่เกมการเมือง แบบนี้น่ากลัว เพราะว่าสมณะต้องมีลักษณะสงบ เหมือนผู้นำชุมชน ผู้นำสังคม ไม่ได้สร้างความแตกแยก ไม่ได้มีประโยชน์ในทางการเมืองในลักษณะประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน แบ่งขั้วแบบนี้ ไม่ใช่

* เป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลที่ผ่านๆ มาไม่จัดการกับกรณีนี้ เพราะคิดว่าถ้าหมดโพธิรักษ์ไป สันติอโศกก็จะหายไปด้วย

ผมคิดว่าการที่ไม่เข้าไปกำกับดูแล เป็นการคิดผิดนะ ถ้ามองในเชิงรัฐศาสตร์ เรื่องศาสนา เรื่องการปกครองบางเรื่องต้องมองในแง่ของนิติศาสตร์ นิติศาสตร์เชิงรัฐ นิติศาสตร์ในเชิงพระพุทธศาสนา ที่ต้องเข้ามาปกครองสงฆ์ ที่บอกว่าต้องเข้ามากำกับดูแลพระพุทธศาสนาทั้งระบบ เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลคิดแบบนี้เป็นการคิดผิด ชาวพุทธคิดผิด สิ่งที่เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา นอกจากภัยต่อตัวเอง คือ ในใจ การดำเนินการกำจัดกิเลสแล้ว ภัยที่อยู่รอบข้างพระพุทธศาสนา ในเชิงการเมือง ในเชิงการศึกษา ในเชิงลัทธินิยมที่เกิดปัญหาและมีผลกระทบ ถือว่าเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา

ทีนี้ที่ถามว่า ถ้าโพธิรักษ์ไม่อยู่แล้ว สันติอโศกจะอยู่ได้ไหมนั้น มันต้องมีคนสืบทอด เพราะอย่าลืมว่าลัทธิความเชื่อจะต้องมีตัวตายตัวแทน เหมือนเราไม่มีพระพุทธองค์แล้ว แต่ผมยังเชื่อว่าพระพุทธองค์มีจริง หลักธรรมคำสอนของพระองค์มีจริง ปฏิบัติได้ ฉะนั้นเขาต้องมีตัวตายตัวแทน ไม่มีโพธิรักษ์ ไม่มี พล.ต.จำลอง เขาต้องมีคนสืบทอด เพราะฉะนั้นการจะซื้อเวลาเพื่อเป็นการแก้ปัญหานั้น เป็นการคิดผิด สุดท้ายผมคิดว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ อยู่ร่วมกัน 5 ศาสนาที่ทางการรับรอง

รวมทั้งกลุ่มของเขาด้วยนะ ถ้าจะดำเนินการใดๆ นึกถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะแยกออกมิได้ ความขัดแย้งย่อมมีบ้าง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แล้วนำมาสู่ความกระทบต่อความมั่นคงต่อการปกครอง ต่อความเสียหายของชาติโดยรวม เพราะฉะนั้นเรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การที่จะเอามาผูกโยงในทางการเมืองต้องระวังนะครับ

* ทีนี้สำหรับพุทธศาสนิกชน เราควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อสันติอโศก

เรากำลังพูดถึงท่าที ที่ดูจากสื่อ คนที่เขาเห็นด้วยเขาไปตรงนั้นว่ากันไป ในกลุ่มที่เป็นสมาชิกของเขา แต่กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย เขาไม่มีโอกาสที่จะได้ขึ้นไปพูด ไม่มีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์ ได้ชี้แจง แต่ผมเชื่อมั่นท่าทีของชาวพุทธนั้นไม่สบายใจ วิตกกังวล ห่วงใย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จากกรณีของกลุ่มนี้ว่าที่สุดปลายทางแล้ว มันกลายเป็นว่าพุทธเราจะรบกันเอง ตามหลักแล้วคือ อหิงสา ไม่เบียดเบียน ต้องการความสามัคคี เสริมสร้างเอกลักษณ์ ค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่น ซึ่งเป็นมรดกของชาติไทยมายาวนาน

เพราะฉะนั้น ท่าทีของชาวพุทธที่ผ่านสื่อออกไปนั้น จะต้องแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็คือ รัฐบาลจะต้องทำอย่างไรให้คนเกิดสติปัญญา ให้เข้าใจว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งบริสุทธิ์ เป็นที่หลอมรวมจิตใจของผู้คน ให้คนไทยเห็นว่าของจริงอยู่ที่ไหน ของแท้อยู่ที่ไหน เมื่อรู้แล้วควรจะต้องปฏิบัติอย่างไร ยังจะไปสนับสนุนอยู่อีกหรือไม่ แล้วก็ควรจะต้องเฝ้าระวังให้มากยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่กับชาติไทยสืบไป

สุดท้ายผมคิดว่า หลักสากลที่เป็นธรรมะแล้ว การปกครอง หลักประชาธิปไตย การพระศาสนาใด "เราจะให้แบบถูกใจมิได้ มันต้องถูกต้อง" จึงจะชอบธรรม ยุติธรรม และเป็นธรรม

ประชาทรรศน์รายสัปดาห์

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker