โดยกรมราชทัณฑ์แบ่งผู้ถูกคุมขังเป็น 4 ประเภท คือ 1)อยู่ระหว่าง
สอบสวน ศาลยังไม่ตัดสินในเรือนจำทั่วประเทศ 169 คน 2)คดีตัดสินเด็ดขาด 12 คน 3) กักขังแทนค่าปรับ 2 คน 4)อยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา 26 คนสำหรับสถานที่กักขังนั้น
แยกเป็น เรือนจำพิเศษธนบุรี 1 คน เรือนจำกลางคลองเปรม 17 คน เรือนจำพิเศษพัทยา 1 คน เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครที่ควบ คุมแกนนำ นปช.รวม 53 คน ทัณฑสถานหญิงกลาง 4 คน เรือนจำกลางเชียงราย 6 คน เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 6 คน เรือนจำกลางขอนแก่น 9 คน เรือนจำจังหวัดมุกดาหาร 22 คน เรือนจำอำเภอธัญบุรี 2 คน เรือนจำกลางนครปฐม 2 คน เรือนจำกลางเชียงใหม่ 7 คน เรือนจำกลางสมุทรปราการ 2 คน เรือนจำกลางอุดรธานี 25 คน เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม 11 คน เรือนจำกลางอุบลราชธานี 35 คนคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกแจ้งข้อหาอื่นๆ เพิ่มเติมอีก นอกเหนือจากข้อหาพื้นๆ อย่างการชุมนุมเกิน
5 คน ทั้งข้อหาวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ การมีอาวุธสงครามในครอบครอง ฯลฯ ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจตามเรือนจำต่างๆ จะพบว่ามีคนจำนวนมากทั้งที่ยอมรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธยังคงไม่มีทนาย เพื่อต่อสู้คดี แม้พรรคเพื่อไทยได้ให้การช่วยเหลือด้านทนายความให้บางส่วนแล้วก็ตาม
วิภาณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง 10 คน ที่เรือนจำคลองเปรม เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าทั้งหมดรับสารภาพในชั้นศาลและถูกพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ในจำนวนนี้มีส่วนที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ 3 คน โดยในจำนวนนั้น 2 คน เป็นนักศึกษาในกลุ่มเสรีปัญญาชน ถูกจับวันที่ 16 และ 17 พ.ค. ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี และไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเกรงว่าจะหลบหนี
ที่ เหลือเป็นคนต่างจังหวัดและไม่มีทนายความสู้คดี คาดว่าคดีคงถึงที่สุดแล้วเนื่องจากพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์มานาน พวกเขาได้รับโทษตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี เช่น กรณีของนายแสวง คนโคราช ถูกจับวันที่ 18 พ.ค. บริเวณแยกมักกะสัน เดินทางมาจากแยกราชประสงค์กำลังจะข้ามไปสามเหลี่ยมดินแดง เขาเข้ามาทำงานก่อสร้างที่ กทม.นานแล้ว ไปร่วมชุมนุมคนเดียว เมื่อถูกจับก็ถูกส่งตัวมาที่ สน.พญาไท ต่อมาวันที่ 19 พ.ค.53 ไปขึ้นศาลแต่ให้การปฏิเสธ ต่อมาวันที่ 20 มิ.ย.53 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาล ไม่มีทนายความสู้คดี ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากเพิ่งพ้นโทษจากคดีเก่าไม่เกิน 5 ปี ศาลจึงเพิ่มโทษอีก 6 เดือน เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน ส่วนญาติพี่น้องนั้นอยู่ที่ต่างจังหวัด พ่อก็แก่มากแล้ว ทางบ้านทราบว่าถูกขังแต่ไม่สะดวกมาเยี่ยม เขาพยายามเขียนจดหมายไปที่บ้าน แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครตอบ
กรณี ของนายอภิวัฒน์ เป็นคนขอนแก่น ถูกจับเมื่อวันที่ 18 พ.ค.53 รับสารภาพและศาลตัดสินในวันรุ่งขึ้น พิพากษาจำคุก 1 ปี เคยมีส.ส.จากเพื่อไทยมาเยี่ยมคนหนึ่งและให้ความช่วยเหลือแต่งทนายให้ แต่ไม่เคยได้พบทนาย เขาเดินทางเข้ามากทม.กับเพื่อน 3-4 คน และยอมรับตรงไปตรงมาว่าถูกจับบริเวณซอยรางน้ำ ขณะกำลังจะเข้าไปที่ชุมนุมที่ราชประสงค์
ปัจจุบัน คณะทนายความ หนุ่มสาวอาสากลุ่มหนึ่งกำลังหาทางช่วยเหลือด้านคดีกับคนเหล่านี้ซึ่งมีฐานะ ยากจน ด้วยเหตุผลว่า อย่างน้อยที่สุด เขาก็ควรได้รับสิทธิพื้นฐานในการต่อสู้คดี
นอก จากนี้ยังมีอีกบางกรณีที่ไม่มีญาติเยี่ยม ไม่มีทนาย ไม่รู้ว่าคดีของตัวเองไปถึงไหน ไม่รู้ชะตากรรมใดๆ ข้างหน้า อย่างกรณีของสมพล อายุ 43 ปี ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มา 3 เดือนกว่า โดนจับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.บริเวณด่านทหารแถวจุฬาฯ การสอบถามข้อมูลเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะยังมีความกลัว หวาดระแวงค่อนข้างสูง เขาเล่าเพียงว่าชีวิตในเรือนจำค่อนข้างขัดสน เพราะไม่มีญาติมาเยี่ยม ไม่มีเงินในบัญชีในการใช้จ่ายส่วนตัว เคยได้รับแจกสบู่ 3 ก้อนตอนเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ปัจจุบันต้องเก็บเศษสบู่ของคนอื่นใช้ นอกจากนี้เขายังเรียกร้องขอผงซักฟอกเป็นสิ่งจำเป็นมากในเรือนจำ
“เคย มีมาเยี่ยม พวกนี้เอาแต่ฟ้อน เบื่อมาก (หัวเราะ) ถ่ายรูปแล้วก็กลับ บอกเขาแล้วว่าไม่มีสบู่ ยาสีฟัน แฟ้บก็กำลังจะหมด เขารับปากแต่ไม่เห็นได้” สมพลกล่าวถึงข้อเรียกร้องอันไร้ผลที่มีต่อหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินในเรือนจำแล้วครั้งหนี่ง
เขา กล่าวด้วยว่าที่ ผ่านมาเดินทางไปศาลแขวงปทุมวันหลายครั้ง และเคยเซ็นกระดาษเปล่าครั้งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าทางพรรคเพื่อไทยจะตั้งทนายให้ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยได้พบทนาย ปัจจุบันสมพลทำงานในเรือนจำในหน่วยผลิตแก้วกระดาษ ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เขาได้เงินปันผลไปแล้ว 78 บาท
อีกกรณีหนึ่งคือ ประสงค์ ซึ่งทนายของพรรคเพื่อไทยได้เข้าไปสอบคำให้การแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา ประสงค์เป็นเด็กหนุ่มอายุ 26 ปี ใส่ตาปลอมข้างซ้ายเนื่องจากตาเสียจากอุบัติเหตุตอนวัยรุ่น เขาบอกว่ามีอาชีพเก็บของเก่าอยู่ย่านดินแดง ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อาศัยใต้ทางด่วนเป็นที่หลับนอนมาหลายปีแล้ว ก่อนหน้านี้เขาทำงานอยู่โครงการศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ในแผนกช่างปั้น แต่ด้วยความเกเรจึงถูกส่งตัวกลับบ้านที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วก็หนีมาอยู่กทม.อีก
ประสงค์เล่าให้ฟังว่า เขาถูกทหารจับบริเวณใต้ทางด่วนดินแดงเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ซึ่งยังคงเป็นช่วงเวลาประกาศเคอร์ฟิว และทหารกำลังเคลียร์พื้นที่บริเวณนั้น เวลาประมาณบ่ายสองเขารู้สึกหิวจึงเดินออกมาหาข้าวกินแถววัดสะพานแล้วจึงถูก ทหารจับ พร้อมกับคนอื่นๆ ในบริเวณเดียวกันอีก 5 คน จากนั้นถูกมัดมือไขว้หลัง แล้วให้คุกเข่าตรงกองอาวุธไม่ว่าจะเป็นระเบิด ปืน ขวดน้ำมัน เพื่อให้นักข่าวถ่ายภาพ เขายืนยันว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอาวุธเหล่านั้น ก่อนหน้านั้นเขาไปร่วมชุมนุมบ้างเหมือนกันโดยไปช่วยแจกน้ำตามเต๊นท์และได้ ข้าวกินฟรี
ประสงค์ บอกด้วยว่า ขณะถูกทหารควบคุมตัวนั้นเขาพยายามดิ้นและถูกซ้อม ก่อนจะถูกจับส่งตำรวจในพื้นที่ เขาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน และมีอาวุธไว้ในครอบครอง เขาให้การปฏิเสธทุกข้อหาและจะขึ้นศาลนัด แรกในวันที่ 27 ก.ย.นี้