บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

สก.สข.ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่นั่งส.ส.

ที่มา ข่าวสด

รายงานพิเศ่ษ


1.สมชัย ศรีสุทธิยากร

2.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

3.ชาติวัฒน์ ชาติกรกุล

4.นันทวัฒน์ บรมานันท์

ชัยชนะถล่มทลายของพรรคประชาธิปัตย์
ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ส.ก.และส.ข. ครั้งล่าสุด

มีการวิเคราะห์วิจารณ์ถึงสาเหตุไปต่างๆ นานา

เพื่อไทยบางคนยอมรับภาพของพรรคที่ผูกติดกับเสื้อแดงอาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งด้วย

บางคนว่ากระแสประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงขาขึ้น

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ใจ ถึงขั้นประกาศตั้งเป้ากวาดส.ส.กรุง ทั้ง 36 เขต

นักวิชาการมองผลการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร
มีผลผูกพันไปถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่หรือไม่




1.สมชัย ศรีสุทธิยากร

อาจารย์รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

หากพรรคประชาธิปัตย์แข่งกับพรรคเพื่อไทย แค่พรรคเดียว
จะได้ส.ก.เพิ่มอีก 4 เขต เป็น 49 คน จะได้มากกว่านี้
หากเอาคะแนนรวมพรรคประชาธิปัตย์บวกกับพรรคการเมืองใหม่จะได้มากกว่าพรรคเพื่อไทย
แสดงว่าคนกทม.ส่วนใหญ่ค่อนข้างเอนไปทางพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนส.ข.ส่วนใหญ่คนมาใช้สิทธิ์จะไม่รู้จักผู้สมัคร การเลือกจึงมาจากพื้นฐานความนิยม
ในตัวพรรคมากกว่าส.ก. ส.ข.พรรคประชาธิปัตย์ มีจำนวน 82% ส.ก. 75%
แปลความหมายว่า
ส.ข. เป็นคะแนนนิยมจากพรรค และส.ก.เป็นคะแนนนิยมของพรรคบวกกับตัวบุคคล

ภาพ รวม คนกทม.จะเทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ประมาณ 80% และพรรคเพื่อไทย 20% พรรคเพื่อไทยได้ 15 คน โดย 10 คน มาบนพื้นฐานความนิยมตัวบุคคล

ทำไมคนกทม.เลือกพรรคประชาธิปัตย์เข้ามามากมาย
เพราะคนกทม.อาจรู้สึกบ้านเมืองมีปัญหาตลอด ถึงคราวพัฒนาจริงจังมากกว่าตรวจสอบถ่วงดุล
จึงเลือกเทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ให้บริหารงานเต็มที่ จะได้ไม่มีปัญหา

ต้องการคนมาฟื้นฟูมากกว่าตรวจสอบถ่วงดุลแล้วเกิดการขัดแข้งขัดขา
รัฐบาลกลางมาจากประชาธิปัตย์ รัฐบาลท้องถิ่น ผู้ว่าฯกทม.
ก็ประชาธิปัตย์ สภากทม. ก็ประชาธิปัตย์ จะได้ฟื้นฟูบ้านเมืองเต็มที่

เป็นการให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าต่อไป
จะเลือกประชาธิปัตยิ์อีก ขึ้นกับผลงานพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นประโยชน์กับประชาชนไหม

หากพรรคประชาธิปัตย์ทำได้ก็เป็นผลบวกกับพรรค หากทำไม่ได้ก็จะไม่ได้รับเลือกตั้งอีก
เหมือนมีดาบมีอาวุธแต่ใช้ไม่เป็น ดีแต่ร่ายรำไปมา นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สำเร็จไม่ได้
ประชาชนต้องคำนึงไม่ใช่คิดว่าจะได้รับเลือกตั้งเสมอไป

ส่วนพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่ได้เลย
เพราะระยะเวลาจัดตั้ง เผยแพร่น้อยกว่าคนอื่น ผู้สมัคร 3-4 คนที่มาลงเป็นอดีตส.ก.
คะแนนเสียงที่ได้ใกล้กับพรรคที่ชนะ แต่ก็แค่เกือบชนะ ดังนั้น
กระแสพรรคก็สำคัญด้วยไม่ใช่ตัวคนอย่างเดียว

คนที่สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่นิยมความรุนแรงยังลังเล
จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคการเมืองใหม่
เกรงว่าเสียงพรรคการเมืองใหม่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียเก้าอี้ได้




2.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เป็นเรื่องธรรมชาติของการเมืองท้องถิ่น และความเห็นแก่ตัวของชนชั้นกลาง
โครงสร้างกทม.ต้องการฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง
โดยจริตคนกทม.จะเลือกคนในทีมเดียวกันกับผู้ว่าฯกทม.

ยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ว่าฯกทม.
คนก็เลือกส.ก. ส.ข. พรรคประชาธิปัตย์ หรืออย่างยุคพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯกทม.
คนก็เลือกส.ก. ส.ข. พลังธรรมเข้ามา เพราะการทำงาน ผ่านงบประมาณก็ทำได้เร็ว

ส่วนการเลือกตั้งในระดับชาติจริงๆ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงเยอะ
เพราะม็อบที่มากทม. คนต่างจังหวัดเยอะ
พื้นที่กทม.พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงเยอะก็เป็นเรื่องปกติ

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำเพราะแกนนำแดงก็ออกมาไม่ได้ รวมทั้ง
ปัญหาผู้นำของพรรค ทำให้เสียงได้บางเขต แต่เดิมก็ไม่ได้ทุกเขตอยู่แล้ว

พรรคเพื่อไทยก็ไม่ต้องคิดโทษใคร
เพราะภาพการตรวจสอบของฝ่ายค้านไม่ชัดเจน
ฝ่ายหาเสียงของพรรคพยายามพูดเรื่องการตรวจสอบทุจริต
แต่ไม่ใช่ภาพฝ่ายค้านที่เป็นระบบเหมือนพรรคประชาธิปัตย์

พรรคเพื่อไทยมีสื่อ มีการเมืองระดับชาติที่ตรวจสอบทุจริตในกทม.
หากส.ส.ทำหน้าที่ได้เหมือนที่เคยทำกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.มาแล้ว
ก็มีสิทธิ์จะได้คะแนนคืน

การพ่ายแพ้ไม่ใช่ไม่แฟร์ และไม่ใช่แพ้แบบ 0 ต่อ 1 เพื่อไทยยังตรวจสอบในระดับชาติได้
และต้องแก้ปัญหาผู้นำพรรค
เราก็ให้ความเป็นธรรมกับพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นช่วงขาขึ้น และเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ

กทม.กำลังเป็นกระทรวงที่ 21 ที่ประชาธิปัตย์ถ่ายบุคลากรลงไป
บริหารงบประมาณขนาดใหญ่ แต่ไม่มีการตรวจสอบ
ทีมที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ที่เคยเป็นนักวิชาการ ตอนนี้มีแต่นักการเมือง ต้องระวัง




3.ชาติวัฒน์ ชาติกรกุล

หัวหน้าหลักสูตรผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

ผลการเลือกตั้งส.ก.และส.ข.ที่ออกมาล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า
ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึก ที่เกิดกับบ้านเมืองเป็นหลัก ตัวเลขคนออกมาใช้สิทธิ์
ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นครั้งที่ผ่านมา

แต่ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนอย่างท่วมท้น ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้น้อยมาก
ส่วนพรรคการเมืองใหม่เองก็ไม่เกิด มันสะท้อนว่าคนกทม.ไม่ชอบการเมืองที่มีสีเสื้อ
มีการแบ่งฝักฝ่าย ไม่ชอบบรรยากาศของการเผาบ้านเผาเมือง

คนที่ยังเลือกพรรคเพื่อไทยอยู่ เป็นประเภทคนที่มีความศรัทธาซึ่งไร้เหตุผล
เชื่อแบบบริสุทธิ์ใจ แต่คนที่มีความนิยมในพรรคเพื่อไทยแต่มีเหตุผล มีอุดมคติ
จะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยเพราะไม่ชอบบรรยากาศความขัดแย้ง

แต่คะแนนที่นั่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวนมาก
ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าคนกทม.จะชอบพรรคประชาธิปัตย์
เพราะคะแนนที่ออกมามันอิงกับบรรยากาศบ้านเมือง

นอกจากนี้
ตัวเลขผู้ใช้สิทธิ์ที่มีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 60 เปอร์เซ็นต์ หายไปไหน
เท่ากับเป็นการเลือกตั้งของคนส่วนน้อย คงเพราะคนส่วนใหญ่เบื่อการเมือง หรือไม่
คงคิดว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นไม่ได้ปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม
หรือไม่ได้เป็นปากเป็นเสียงให้พวกเขา

การเลือกตั้งครั้งหน้า จึงไม่อาจสะท้อนว่าพรรคประชาธิปัตย์
จะได้คะแนนนิยมเหมือนในขณะนี้ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถ และความขยัน




4.นันทวัฒน์ บรมานันท์

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

การเลือกตั้งส.ก.และส.ข. แม้จะเป็นในระดับท้องถิ่นแต่ก็ถือว่าพื้นที่กทม.
ซึ่งเป็นเมืองหลวงมีคนชนชั้นกลางอาศัยอยู่เป็นหลัก
การที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนนิยมจำนวนมากขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลที่เคยได้รับเลือกมาแล้ว การเป็นพรรคที่เก่าแก่

คิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับสีเสื้อ หรือบรรยากาศทางสังคมเท่าไหร่
น่าจะขึ้นอยู่กับกรอบความคิดทางการเมืองของแต่ละคนมากกว่า
เพราะขณะนี้เรื่องเสื้อแดงก็เงียบลงบ้างแล้ว
ส่วนเสื้อเหลืองที่คนกทม.นิยมนักหนา กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเลย

ต้องเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบมากกว่าพรรคอื่น อย่างพรรคเพื่อไทย
เป้าหมายสะเปะสะปะ พรรคการเมืองใหม่ก็เพิ่งเกิด ยังไม่มีนโยบายที่ออกมาเป็นรูปธรรม

ถ้าถามว่ามันสะท้อนถึงการเลือกตั้งระดับชาติได้ไหม ไม่น่าใช่
เพราะถึงวันนั้นมันคงมีการต่อสู้ในเรื่องของนโยบาย
คนก็จะเลือกพรรคที่ตอบสนองความต้องการของเขาเป็นหลัก

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker