ที่มา
ประชาไท
ภายหลังมีการสนธิกำลังระหว่างตำรวจกองปราบ เจ้าหน้าที่จาก กสทช. เจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. และตำรวจในท้องที่ เข้าบุกค้นสถานีวิทยุชุมชน 13 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อวันที่ 26 เม.ย. และเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความหวาดระแวงขึ้นโดยทั่วไป
อย่างที่ทราบกันว่านอกเหนือจากเคเบิ้ลทีวีไม่กี่ช่อง คนเสื้อแดงก็มี “วิทยุชุมชน” นี่เองที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร บอกข่าว จัดกิจกรรม กระทั่งระดมคนในสถานการณ์ฉุกเฉิน
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เหตุผลว่าเหตุที่ดำเนินคดีกับวิทยุชุมชนดังกล่าวเพราะมีการนำเทปการปราศรัยเข้าข่ายผิดกฎหมายของนายจุตพร พรหมพันธุ์ ไปเผยแพร่ ส่วนกอ.รมน.ชี้แจงเหตุผลว่า เป็นการดำเนินการตามที่ประชาชนแจ้งมาว่า คลื่นวิทยุชุมชนดังกล่าวได้นำเสนอเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ และจาบจ้วงสถาบัน เปิดโอกาสให้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงโฟนอินเข้ามาพูดยั่วยุปลุกระดมในรายการ มีแนวโน้มทำให้เกิดความรุนแรง
แต่ในการดำเนินการนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาดังที่ได้กล่าวมานี้ แต่ใช้วิธีตรวจสอบใบอนุญาตที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ออกให้
เชือดไก่ให้ลิงดู...ปลุกกระแสเซ็นเซอร์ตัวเอง
การเข้าค้นครั้งนี้บางแห่งพบว่าไม่มีใบอนุญาต บางแห่งมีใบอนุญาตชั่วคราวเท่านั้น จึงทำการยึดของกลาง จับกุมผู้ดำเนินสถานีบางส่วนในข้อหามีเครื่องส่งสัญญาณวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการประกันตัวแล้ว ขณะที่อีกหลายต่อหลายแห่งก็ปิดสถานีเสียก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมาถึง จนบัดนี้ก็ไม่ยังไม่ทราบกำหนดเปิด
จากการสอบถามสถานีคนไทยหัวใจเดียวกัน 92.25 MHz ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานีที่ปิดตัวลงก่อนที่จะถูกค้นในวันที่ค้น 13 จุด ดีเจสมาน เมืองขอนแก่น ดีเจคนหนึ่งของสถานีให้ข้อมูลว่า สถานีของเขามีใบอนุญาตชั่วคราว และดำเนินการมาประมาณ 11 เดือนแล้วภายหลังปิดไปหลายเดือนหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อปีที่แล้ว โดยสถานีนี้เน้นให้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ด้านการเมืองแก่ประชาชน และส่วนใหญ่จะเชื่อมสัญญาณกับเคเบิ้ลทีวีช่องเอเชียอัพเดท เพื่อถ่ายทอดสดการชุมนุมครั้งต่างๆ นอกจากนี้สถานีนี้ยังเป็นจุดส่งต่อสัญญาณให้กับสถานีวิทยุชุมชนอีกหลายแห่ง เช่น วิทยุชุมชนในจังหวัดอุดรฯ พัทยา ปทุมธานี อ่างทอง
เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 10 เมษยนที่ผ่านมา เขาก็ลิงก์สัญญาณถ่ายทอดเสียงปราศรัยของแกนนำ นปช. ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงส่วนของนายจตุพร พรหมพันธ์ ด้วย แต่ไม่ได้มีการเปิดซ้ำซากอย่างที่ถูกกล่าวหา และเนื้อหาโดยรวมของสถานีก็ไม่มีอะไรที่หมิ่นเหม่
“เรายังไม่มีกำหนดว่าจะเปิดทำการเมื่อไร เพราะกลัวว่าเขาจะบุกมายึดข้าวของอีก ก็อย่างที่รู้ว่าเขาดำเนินการแบบเลือกปฏิบัติ เฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเขา ตอนนี้กำลังหารือกันว่าจะไปยื่นศาลปกครองให้มีการคุ้มครองให้ออกอากาศได้ชั่วคราว” ดีเจสมาน เมืองขอนแก่น กล่าว
ต่างจังหวัดตื่นตัว ลุ้นปิดโดมิโน่?
ด้านตัวแทนคลื่นวิทยุสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ 99.15 MHz ให้ข้อมูลว่าในส่วนของเชียงใหม่นั้นเมื่อมีข่าวการบุกจับที่ส่วนกลาง คลื่นวิทยุชุมชนบางคลื่นก็มีการงดออกอากาศเพื่อประเมินสถานการณ์ และยังไม่ออกอากาศจนถึงวันนี้ (28 เม.ย. 54) แต่ส่วนใหญ่แล้ววิทยุชุมชนที่มีใบอนุญาตทดลองออกอากาศ รวมถึงวิทยุชุมชนที่เสนอข่าวคนเสื้อแดงก็ยังออกอากาศปกติ แต่ก็มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคง คือสารวัตทหาร ตระเวนไปยังสถานีวิทยุต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลที่ตั้งสถานี ซึ่งอาจจะมองในด้านหนึ่งว่าเป็นการคุกคามก็ได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โดยรวมถือว่ายังเป็นปกติ แม้จะมีความกังวลถึงมาตรฐานข้ออ้างในการที่จะปิดสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ ในอนาคตว่าใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์วัด
ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร สถานีคนรักมุกดาหาร 106.75 MHz มีการประชุมชาวบ้าน หรือผู้ฟังในพื้นที่ 200-300 คนเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคต
“ชาวบ้านเขาก็มากันสองสามร้อยคน เพิ่งประชุมเสร็จเมื่อกี๊นี้เอง (21.00 น. 28 เม.ย.53) เราก็ถามว่าจะเอาอย่างไรดี ปิด หรือไม่ปิด เขาก็ว่าให้เปิดต่อไปเลย เราก็ถามว่าถ้าเปิด เขามายึดเครื่องส่งไปจะทำยังไง ชาวบ้านก็บอกไม่เป็นไร ให้ยึดไป เดี๋ยวระดมเงินกันซื้อใหม่” อำไพ ศิริลาภ ดีเจ คนสำคัญของสถานีเล่าไปหัวเราะไป พร้อมทั้งระบุว่าชาวบ้านมีมติจัดเวรยามเฝ้าสถานีเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่บุกมายึดเครื่องส่งสัญญาณ แม้ว่าเขาจะมีใบอนุญาตชั่วคราวแล้วแต่ก็ยังไม่มั่นใจกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น
สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด สถานีวิทยุชุมชนเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหวงแหน เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด โดยเฉพาะสถานีที่มีเนื้อหาทางการเมืองโดยตรงอย่างสถานีนี้
“เมื่อก่อนก็มีโฆษณาบ้าง เดี๋ยวนี้พอเลือกข้างชัดเจน โฆษณาก็ไม่กล้าลง ใช้เงินที่ได้จากการบริจาค”
“กำลังส่งเรามีประมาณ 1,000 วัตต์ แต่หลังสลายการชุมนุม ทหารเขาไล่ปิดหมด เราก็เอาเครื่องส่งไปเก็บ แล้วแมลงสาบมันฉี่ใส่มั่งอะไรมั่ง ตอนนี้เลยส่งได้แค่ 600 วัตต์ (หัวเราะ) ก็คงกระจายเสียงได้รัศมีซัก 40 กิโล เวลามีชุมนุมก็ต่อเสียงจากสถานีเอเชียอัพเดทกระจายให้ชาวบ้านเขาได้รู้เรื่องด้วย เพราะเขาอยากไปแต่ไม่ได้ไป” อำไพว่า
“เราไม่ได้แค่ทำวิทยุ แต่เรายังลงพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน ประชุมหารือสถานการณ์บ้านเมืองกันตลอด เราทำความเข้าใจร่วมกันว่า เราคือคนเสื้อแดง ส่วนของหัวคะแนนพรรคการเมืองก็ส่วนหนึ่ง ในสถานการณ์การเลือกตั้งเราก็แปลพลังเป็นคะแนนเสียง แต่ถ้าไม่มีเลือกตั้ง หัวคะแนนไม่ออก เราคนเสื้อแดงก็ยังต้องสู้ต่อ มันคนละส่วนกับพรรคเพื่อไทย เราต้องตื่นตัวของเราต่อไป” อำไพกล่าว
ย้อนรอยสลายชุมนุมปี53 วิทยุชุมชนเหี้ยน
ในรายงานเรื่อง “การแทรกแซงวิทยุชุมชนภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศไทย ความเห็นต่าง คื อาชญากรรม” ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้ว ระบุว่า ภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด สถานีวิทยุชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องปิดตัวลงมากกว่า 47 สถานี และมีผู้เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนถูกออกหมายจับและดำเนินคดีรวม 49 รายมีสถานีที่ถูกขึ้นบัญชีดำอีก 84 แห่ง
“สถานีวิทยุชุมชนทุกแห่งที่ถูกปิดปรากฏรายชื่อ ในกระบวนการตรวจสอบเนื้อหาของหน่วยงานรัฐ ก่อนจะมีการบุกเข้าตรวจค้น จับกุม ยึด อุปกรณ์การกระจายเสียง และดำเนินคดีในข้อหาว่ากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องส่งวิทยุคมนาคมและการตั้งสถานี และถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้กระบวนการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนและได้รับการคุ้มครองสิทธิการกระจายเสียงจาก กทช. แต่มาตรการดังกล่าวกลับไม่สามารถยกมาอ้างเพื่อคุ้มครองสิทธิให้รอดพ้นจากการจับกุมและการเข้าปิดสถานีได้”
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2553 รัฐบาลส่งสัญญาณให้องค์กรอิสระเข้ามาจัดการกับความเห็นต่างที่กระจายอยู่ตามวิทยุชุมชน ดังเช่นกรณีที่คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ภายใต้ กทช. ซึ่งมีหน้าที่ออกใบอนุญาตและกำกับดูแลวิทยุชุมชนเป็นการชั่วคราว ได้เตือนไปยังสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศกว่า 6,000 แห่ง เพื่อไม่ให้นำเสนอเนื้อหาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขการได้รับสิทธิทดลองออกอากาศ คือ ไม่ดำเนินการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยออกเป็นหนังสือถึงผู้รับผิดชอบในแต่ละสถานีสามครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ขณะที่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลกลับขอความร่วมมือไปยังสถานีวิทยุชุมชนในบางจังหวัดให้รับสัญญาณถ่ายทอดรายการและข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐ โดยระบุว่าเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดออกหนังสือขอความร่วมมือโดยตรงถึงผู้รับผิดชอบสถานี
ภาพจากรายงานฯ ของ คปส.
หากย้อนไปดูสถานภาพทางกฎหมายของสถานีวิทยุชุมชนที่ถูกปิดจากจำนวน 47 สถานีที่ถูกปิดไปเมื่อปีที่แล้วมี 29 ราย ที่ได้แจ้งความประสงค์จะประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนไว้กับ กทช. ตามกระบวนการออกใบอนุญาต และได้รับสิทธิการทดลองออกอากาศแล้ว ดังนั้น ประเด็นของใบอนุญาตคงเป็นเพียงข้ออ้างชั้นดีที่ในการปิดการสื่อสารแบบรวดเร็ว ไม่มีปิดได้ทันที แต่ถึงมีก็ยังปิดได้
ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เล่นงานเป้าหมายทางการเมือง
สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการ คปส. ให้ความเห็นว่า เรื่องใบอนุญาตของวิทยุชุมชนนั้นเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน โดยวิทยุชุมชนทั้งหมดที่มาลงทะเบียน 6,000 กว่าแห่งจะได้ใบอนุญาตทดลองออกอากาศ 300 วัน แต่ไม่มีใครได้ใบอนุญาตจริงๆ เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กทช. /กสทช. ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ข่าวล่าสุดแว่วว่าเพิ่งให้ใบอนุญาตออกมา 16 ราย แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด
ที่ผ่านมา มีเพียงการตั้งคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เพื่อดำเนินกระบวนการพิจารณา ซึ่งอนุฯ ก็ให้ความสำคัญแต่มิติทางการเมืองเป็นหลัก ต้องการควบคุมเนื้อหาทางการเมืองมากกว่าที่จะตอบรับเงื่อนไขการอนุญาตจริงๆ เป้าหมายที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นการลากให้วิทยุขนาดเล็กประเภทต่างๆ มาลงทะเบียนให้หมด เพื่อจะทราบที่ตั้ง ผู้ดูแลที่จะติดตามตรวจสอบได้
“ภาวะแบบนี้กลายเป็นว่ารัฐใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นมา เอาไปควบคุมความเห็น อุดมการณ์ที่แตกต่าง” สุเทพกล่าวและว่า หากจะเล่นงานเรื่องใบอนุญาตนั้นก็สามารถเล่นงานได้ทุกสถานี เพราะมีปัญหาคล้ายๆ กันหมด ไม่เฉพาะสถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดง
สุเทพ เสนอว่า ในเมื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในระหว่างสุญญากาศนี้ก็ควรให้สิทธิสถานีเล็กที่ยังไม่ลงทะเบียนได้มีโอกาสออกอากาศด้วย เพราะเป็นสิ่งไม่อาจปฏิเสธได้แล้วในสภาพความเป็นจริง ในเมื่อกระบวนการล้มเหลวแทนที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลับไปปกป้องตัวรัฐเองมากกว่า
นอกจากนี้เขายังเห็นว่า รัฐไม่ควรเข้ามาควบคุมอีกแล้วไม่ว่าประการใดๆ แต่ควรมุ่งผลักดันให้เกิดกลไกอิสระให้เกิดขึ้น ส่วนเนื้อหาหากจะมีความผิดประการใด ก็ขอให้ใช้ข้อหานั้นๆ ในการดำเนินคดีกันไปให้ชัดเจนจะดีกว่า
“จะได้เกิดความชัดเจนกับสาธารณะด้วย ไม่อย่างนั้น วิทยุชุมชนจะถูกเหมารวมไปหมดว่าประชาชนทำสื่อไม่ได้ ทำแล้วไม่มีวุฒิภาวะ และท้ายที่สุดก็ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพกันหมด” สุเทพกล่าวและว่า คนใช้สื่อการเมืองเองก็ควรต้องรวมตัวกัน ตั้งกติกา ตรวจสอบกันเองด้วยในอีกทางหนึ่ง หากไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาจัดการ