สัมภาษณ์พิเศษ
ถึงไม่ใช่แกนนำคนเสื้อแดง แต่วันนี้ชื่อ จารุพรรณ กุลดิลก เป็นที่รู้จักดีในกลุ่มคนเสื้อแดง
เพราะร่วมชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลต่อเนื่อง ทั้งยังบุกเดี่ยวยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การเผชิญหน้าระหว่างคนเสื้อแดง และรัฐบาล
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ร่วมเป็นกรรมการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ศพส.) มหาวิทยาลัยมหิดล และทำงานร่วมกับ น.พ.ประเวศ วะสี มาก่อน
มีเหตุผลอะไรถึงได้กระโดดเข้าไปร่วมกับกลุ่มเสื้อแดง ในวันนี้
การคุยกับนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม มีความคืบหน้าเรื่องคดี 91 ศพ อย่างไร
จะมีการยื่นหลักฐานต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี เพิ่มเติมอีก เผอิญว่ามีกรณีของอียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย เข้ามาแทรก อาจจะดูล่าช้า แต่ก็ทำให้เราเชื่อว่าจะได้มาตรฐานเดียวกับลิเบียและอียิปต์ เพราะรายละเอียดในการปราบปรามประชาชนเป็นวิธีเดียวกัน ประมาณกลางเดือน พ.ค.จะยื่น
จุดเริ่มต้นในการทำงานกับคนเสื้อแดง
จริงๆ แล้วมีเพื่อนเป็นคนเสื้อเหลืองเยอะมาก เริ่มจากรู้สึกเห็นใจ และยิ่งได้ฟังข้อมูลที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้กับประชาชนก็รู้สึกว่าเป็นข้อมูลที่ผิด
เริ่มคิดว่ามันเป็นขบวนการที่ไม่ได้เรียกร้องคุณธรรม จริยธรรม ของนักการเมืองอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ด้วย อีกประการหนึ่งเราเห็นว่ามันมีขบวนการที่พยายามทำให้คนเสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้า แต่จริงๆ แล้ว ความต้องการของประชาชนเป็นแค่เรื่องประชาธิปไตย
เราก็มาช่วยสื่อสารให้พี่น้องที่เป็นชาวบ้าน คนชั้นกลางฟัง
ไม่ได้เข้ามาเพราะพ่อ (พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก) สนิทกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
เมื่อก่อนเราก็อยู่ตรงข้ามกับพ่อ แต่เมื่อมีเหตุการณ์พันธมิตรฯ พ่อต้องให้คำแนะนำตำรวจในการดูแลผู้ชุมนุม จึงเห็นว่ากลุ่มเสื้อเหลืองเป็นอย่างไร เราเองก็เคยไปช่วยศูนย์สันติวิธีของมหิดล ตั้งแต่สมัยตากใบ
รู้จักกับอ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ซึ่งเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมัน เป็นคนชักชวนมาทำ ไปร่วมลงชื่อ 144 อาจารย์ที่เข้าพบนายกฯ ทักษิณ สมัยนั้น ทำให้เข้าใจปัญหาภาคใต้มากขึ้น
จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ลงไปรับฟังปัญหาภาคใต้อยู่ 3 เดือนเต็ม ชาวบ้านมีข้อเสนอ 4 ข้อ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง และก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ขณะนี้สิ่งที่เป็นวิธีคิดแบบการปกครองในภาคใต้กำลังลุกลามไปทั้งประเทศแล้ว ถ้าคนไม่มีพื้นที่ในการสื่อสาร แน่นอนว่าจะต้องเกิดความรุนแรงแบบภาคใต้
จุดเปลี่ยนที่ทำให้เข้าร่วมกับเสื้อแดง
เราเห็นใจฝ่ายที่โดนใส่ร้าย โดยเฉพาะฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตย ผนวกกับเห็นเรื่องปัญหาโครงสร้างของมหาวิทยาลัยที่เคยสอนอยู่ เลยเข้าใจว่าถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของประเทศ มันก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย
เพราะฉะนั้นอันดับแรกคือ ควรให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ตอนนั้นคนเสื้อแดงก็เรียกร้องเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมโลกเลย เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมันต้องผ่านการเลือกตั้งทั้งสิ้น
ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งบ่อยๆ ก็ไม่เป็นไร เลือกตั้งให้บ่อยอาจช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น แก้ไขปัญหาความเสมอภาคได้ด้วย เพราะการเลือกตั้งเป็นรากฐานของประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ปัญหาตากใบเป็นจุดอ่อนของพ.ต.ท.ทักษิณ เช่นกัน
เรื่องนี้ต้องหาข้อเท็จจริงให้ถึงที่สุด ว่าใครเป็นคนสั่งการ น่าสังเกตว่าถ้าทักษิณละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตากใบ แล้วทำไมรัฐบาลประชาธิปัตย์ถึงไม่สืบสวนต่อ
ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากช่วงที่เรียนในต่างประเทศหรือไม่
ได้มาเยอะมาก เพราะเราไปเรียนที่เบอร์ลิน สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นยุติลงที่นั่น ทำให้เราเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งชาวโลกผ่านมาเยอะแล้ว และได้คำตอบแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยที่ยึดประชา ชนเป็นที่ตั้งและเคารพสิทธิมนุษยชน คือทางออก
เสื้อเหลือง เสื้อแดง ต่างกันอย่างไร
ในแง่อุดมการณ์ เสื้อเหลืองจะพูดถึงคุณธรรมส่วนบุคคล เรียกร้องคุณธรรม จริยธรรมของนักการเมือง แต่เสื้อแดงจะเรียกร้องเรื่องโครงสร้าง ถ้าโครงสร้างไม่เป็นธรรมก็ไม่สามารถทำให้คนมีคุณธรรม จริยธรรมได้
ส่วนเรื่องชนชั้นของทั้ง 2 กลุ่ม ตอนนี้เริ่มไม่ต่างกันแล้ว เมื่อก่อนเสื้อเหลืองส่วนใหญ่จะเป็นคนชั้นกลาง และอยู่ในเมือง แต่ช่วงหลังที่ไปปิดสนามบินเราเห็นว่าเป็นคนต่างจังหวัด คนเสื้อแดงช่วงหลังๆ เริ่มเป็นคนชั้นกลางเยอะขึ้น การชุมนุมที่ราชประสงค์ก็เป็นคนในกทม.
ถูกมองเสื้อแดงสู้เพื่อทักษิณ
เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ และพ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมด เป็นส่วนที่ทำให้เห็นว่าโครงสร้างของประเทศมีปัญหา ถ้าไปทำสถิติจริงๆ จะเห็นว่าเสื้อแดงพูดคำว่าสู้เพื่อประชาชน ต้องการการเลือกตั้ง มากกว่าสู้เพื่อคุณทักษิณ
เลยจากเรื่องทักษิณไปแล้ว
มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีนักวิชาการ มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาพูดเรื่องโครงสร้าง และประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ข้ามพ้นตัวบุคคลไป ถ้าพูดถึงตัวบุคคลจะไปเข้าการเรียกร้องของคนเสื้อเหลือง
นักวิชาการเองก็แบ่งสี
ใช่ค่ะ นักวิชาการก็มีอุดมการณ์ของแต่ละคน วิธีคิดแบบหาอุดม การณ์ของบุคคลก็จะเป็นวิธีคิดแบบคนเสื้อเหลือง คิดแบบจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่โหมดเลือกตั้งก็จะเป็นวิธีคิดแบบนักวิชาการเสื้อแดง
และก็จะมีวิธีคิดแบบนักวิชาการเสื้อขาว ที่บอกว่าวางตัวเป็นกลาง ซึ่งมีอยู่เยอะมาก ก็คุยกับเขาว่าความเป็นกลางไม่เป็นธรรมชาติ เราไม่สามารถ กำหนดความเป็นกลางได้
แต่เมื่อสังคมแสดงเจตจำนงของประชาชนแล้วความเป็นกลางจะเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่เราจะพูดว่าเราจะยืนอยู่ตรงกลางระหว่างคนที่ฆ่าประชาชนกับคนที่เป็นเหยื่อ
นักวิชาการบางคนถูกคุกคาม ส่วนตัวคุกคามหรือไม่
มีโดนเตือนมาอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้โดนไปแล้ว 2 หมาย ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง ฉบับที่ 20 ก็ไปพบศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตามที่เขาเรียกตัว
ใครชวนให้ลงสมัครส.ส.
ท่านทักษิณ เป็นคนชวน ให้มาช่วยดูเรื่องโครงสร้าง เรื่องนโยบาย คุยกันไว้ว่าจะลงในระบบปาร์ตี้ลิสต์แต่ยังไม่รู้ว่าอยู่ในลำดับที่เท่าไหร่
ข้อกล่าวหาหมิ่นเบื้องสูง วิจารณ์ว่าเป็นเกมสกัดเพื่อไทยในการเลือกตั้ง
เราวิเคราะห์กันว่า วิธีการที่จะไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวได้เต็มที่ มีหมากเล่นอยู่ 2 หมาก คือ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กับการรัฐประหาร คาดว่ามี 2 วิธีนี้เท่านั้นที่จะล้มล้างประชาธิปไตยได้ ซึ่งใน ยุคสมัยการสื่อสารกันได้ทั่วโลก วิธีการแบบนี้จะเป็นอันตรายกับตัวเขาเองมาก
จะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
คนเสื้อแดงก็เข้าใจเรื่องการเมืองและปัญหาทางการเมืองพอสมควร ก็จะระแวดระวังมากขึ้น
ถ้าเป็นรัฐบาลจะมีนโยบายต่อเคเบิ้ลทีวี และวิทยุชุมชนต่างๆ อย่างไร
กรรมการพรรคเคยคุยกันว่าเราต้องให้เปิดโดยอิสระ เพราะว่าเราเองก็เจ็บปวดมามากกับการปิดกั้นสื่อ ใครจะพูดอะไรที่เป็นการคัดค้าน เราก็ต้องรับฟังไว้ เอเอสทีวีก็ปล่อยให้เขาเปิดตามปกติ เราต้องเป็นประเทศเสรีจริงๆ ตราบใดที่เป็นสังคมประชาธิปไตย เขาต้องมีพื้นที่ของเขา แต่ว่าอย่าละเมิดกฎหมายก็แล้วกัน
จุดเด่นของนโยบายพรรคเพื่อไทย
ความเชื่อมโยงของทั้งระบบจากคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ที่เป็นฐานของประเทศ มีเรื่องการเรียน การหางานทำ ขยายขึ้นมาเรื่อยๆ เราจะมองภาพรวมว่า คนที่อยู่ต่างจังหวัดมีความต้องการอะไรบ้าง คนที่เป็นพ่อ แม่ อาจต้องใช้หนี้ ก็มีนโยบายพักหนี้ไว้ก่อน ส่วนลูก ในแต่ละตำบลก็จะมีหน่วยดูแลเด็กเล็ก
ขยับเข้ามาในเมืองก็จะมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เมกะโปรเจ็กต์ การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ลดภาษีให้นายจ้าง ลดภาษีให้คนที่ซื้อรถคันแรก ข้าราชการก็มีกองทุน มีธนาคารประชาชน ทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงโครงสร้างทั้งระบบ
ทำอย่างไรให้เชื่อว่าไม่ใช่นโยบายขายฝัน
วิธีอธิบายคือทำให้เห็นว่าสิ่งที่ผ่านมาแล้วของไทยรักไทยที่เคยทำไว้ สามารถทำได้จริงๆ เราจะไม่สัญญามากเกินไปกว่าที่เราจะทำได้
ถูกโจมตีเรื่องหาคนชิงนายกฯ
ถ้าเราเชื่อเรื่องโครงสร้างจริงๆ เชื่อคณะกรรมการจริงๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างผ่านการระดมความคิดมาแล้ว ใครมาเป็นผู้นำก็ต้องว่าไปตามครรลอง ของเจตจำนงของประชาธิปไตย คือประชาชนอยู่ดี
ถ้าเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาอย่างไร
ก็คงต้องกลับมาต่อสู้คดี ในต่างประเทศคดีของท่านถูกนำไปสื่อสารว่าเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เพราะมีการตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปีแล้ว แต่พอไปอธิบายให้ต่างประเทศฟังว่าเนื้อหามันคืออะไร เขาก็ตกใจและรู้สึกไม่ปลอดภัย
ถ้าเพื่อไทยถูกฟ้องยุบพรรคก่อนเลือกตั้ง จะมีทางออกอย่างไร
ก็มีความเป็นไปได้ ก็ต้องสู้กันต่อไปทั้งในด้านกระบวนการทางกฎหมาย และการเรียกร้องของประชาชน
ผลเลือกตั้งประเมินกันว่าฝ่ายไหนชนะก็ถูกต่อต้านอยู่ดี ถ้าเพื่อไทยชนะแล้วพันธมิตรฯ ต่อต้าน จะถูกปราบปรามหรือไม่
เสื้อเหลืองมีสิทธิชุมนุมได้อยู่แล้วถ้าเขาทำตามกฎหมาย และถ้าจะมีเหตุจะต้องยุบสภาก็ต้องยุบ ไม่มีการนำวิธีการทางการทหารมาปราบปรามประชาชน ญี่ปุ่นเฉลี่ยแล้วนายกฯ ดำรงตำแหน่งคนละ 1 ปี แล้วเขาก็ขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นได้ในที่สุด สหรัฐก็มีการเลือกตั้งเยอะมาก
หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้วมีการลุกฮือต่อต้าน ก็ต้องมีการพูดคุยกันว่าปัญหาคืออะไร ถ้าเป็นปัญหาของท่านทักษิณ ก็ต้องมาดูว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เปิดโอกาสให้มีการพูดคุย ชี้แจงกัน
จะไม่ทำลายกระบวนการยุติธรรม เพื่อเอาผิดคนๆ เดียว และระบบพรรคทั้งหมด
ประวัติและบทบาท
ตอนมาร่วมกับคนเสื้อแดงที่บ้านไม่ได้ว่าอะไร เพราะเราเป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่ต้น เราเรียนจบจากสาธิตเกษตรฯ จบแล้วมาเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหา วิทยาลัยมหิดล
จากนั้นเป็นอาจารย์อยู่มหิดลได้เกือบปี ก็ไปเรียนปริญญาโท สาขาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ 2 ปี แล้วไปต่อปริญญาเอกที่เบอร์ลิน ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เทคโนโลยี เยอรมัน 5 ปี แล้วกลับมาเป็นอาจารย์
เราสนใจเรื่องเกี่ยวกับอาหารและยา ตอนแรกจะเป็นนักวิจัยด้านอาหารและยา แต่พบว่าระเบียบในมหาวิทยาลัยไม่เอื้อกับการทำวิจัยเลย เมื่อขึ้นมาเป็นผู้บริหารของคณะจะได้แก้ไขระเบียบต่างๆ และพอมหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบ เราก็เป็นที่ปรึกษา เห็นเลยว่ามันออกนอกระบบไม่ได้หรอก เพราะความคิดเป็นแบบ top-down มาก วิธีคิดแบบนี้ก็มีที่มาจากโครงสร้างของประเทศ ก็เลยต้องออกมาอยู่กับม็อบ (หัวเราะ)
เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและกิจกรรมพิเศษ และประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองคณบดีฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2549-2551) ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
บทบาทในกลุ่มเสื้อแดง ก็เข้ามาช่วยเรื่องภาษาอังกฤษ เป็นล่ามสื่อสารกับนักข่าวต่างชาติ ทูต และองค์กรระหว่างประเทศ เคยจัดรายการวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ รายการวิทยุชุมชนเสียงคนไทย และวิทยากรรายการ มหาประชาชน ทางพีเพิลชาแนล
ปัจจุบันเป็นวิทยากรรายการ "ที่นี่ความจริง" ทางเอเชีย อัพเดท
เมื่อก่อนเราจะเป็นเด็กเนิร์ด (Nerd) มากๆ เพื่อนบอกเลยว่าเราเป็นนักการเมืองไม่ได้หรอก เพราะคิดอะไรเป็นหลักการหมด งาน การเมืองเป็นงานสั้นๆ แต่ละคนจะมีทรัพยากร และกำลังอยู่ช่วงสั้นๆ เราก็จะเข้าไปทำเท่าที่มีแรงทำได้
หลังจากนั้นก็จะกลับมาเขียนตำรา ออกมาทำวิจัยอย่างที่ฝัน เราอยากวิจัยเรื่องอาหารและยา และเรื่องพลังงานด้วย