24 เม.ย.54 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายหลังการแถลงข่าวของกลุ่มนิติราษฎร์ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถึงผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ: กรณีการอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ซึ่งสมศักดิ์ได้อภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ได้มีการเสวนาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม
นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า สิ่งที่นักวิชาการถูกคุกคามเมื่อเทียบกับคนที่ติดคุก ก็ถือว่าเรื่องมันนิดเดียว ดังนั้นในฐานะนักวิชาการ เขาไม่เรียกร้องให้ตัวเอง เขาเรียกร้องแทนผู้ที่สูญเสีย พร้อมกล่าวต่อไปว่าปัจจุบันมีการใช้มาตรา 112 เยอะมาก เทียบกับสมัยก่อนที่มีคดีน้อยและใช้อย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตามการใช้มาตรานี้อย่างพร่ำเพรื่อ เกิดผลทางลบต่อผู้ใช้กฎหมายนี้เอง
“เราเอาประเด็นนี้มาพูดบนโต๊ะ เพราะเราไม่อยากให้พูดเรื่องนี้กันเงียบๆ จนก่อให้เกิดความเสียหาย เราพูดเรื่องนี้เพื่อผลประโยชน์ของสถาบัน ไอ้วิธีการเอาคนมาวนมอเตอร์ไซค์ เลิกเสียทีได้ไหม สงสัยก็เรียกไปคุย ไม่หนีไม่ไปไหนทั้งนั้น ไม่มีน้ำยาอะไรหรอก มีแต่สติปัญญากับปริญญาใบสองใบ มีปัญหาก็พูดคุยกัน แต่อย่าใช้วิธีการไม่ถูกต้อง อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นครูบาอาจารย์ ไม่ใช่นักเลงหัวไม้ ขอให้ปฏิบัติกันเยี่ยงวิญญูชน” นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวพร้อมสรุปว่า
“มันเป็นผลดีหรือไม่ต่อการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ถ้าความขัดแย้งนั้นไม่ได้เอามาพูดกันอย่างเปิดเผย ขอลอกเอาคำอาจารย์สมศักดิ์ ว่าอย่าประเมินความสามารถของตัวเองในจัดการปัญหานี้สูงเกินไป และอย่าประเมินความไม่พอใจของประชาชนต่ำเกินไป"
กฤตยา อาชวนิชกุล จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขอคารวะจิตใจของกลุ่มนิติราษฎร์ นายสมศักดิ์ เจียมธรสกุล และประชาชนที่พูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมา กล้าหาญในการให้ความเห็นต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งดิฉันเข้าใจว่าเป้าหมายจริงๆ แล้วต้องการสร้างความมั่นคงให้สถาบันกษัตริย์ไปอีกยาวนานถ้ามีการเปลี่ยนแปลง และน่าจะเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าจงรักภักดีต่อสถาบันกษัติรย์
“ดิฉันดูพาดหัวนิตยสารรายสัปดาห์ พาดหัวเรื่องล้มเจ้าหมด ทำให้ดิฉันมองว่าประเด็นนี้ถูกนำมาทำให้อ่อนไหว แต่สื่อกระแสหลักหรือสื่อทั่วไปพร้อมจะเล่นประเด็นนี้ แต่เหตุการณ์วันนี้ เรามากันเยอะอย่างนี้ เข้าใจว่าไม่มีทีวีสักช่องที่จะรายงาน”
“เมื่อดิฉันเห็นที่เขาพาดหัวนิตสารการเมืองรายสัปดาห์ ดิฉันคิดถึงผังล้มเจ้า และมีรายชื่อบุคคลจำนวนมากขณะนี้ยังไม่สามารถไปหาหลักฐานที่ยืนยันว่ามีขบวนการล้มเจ้า ขอถามคนที่ทำผังล้มเจ้าว่า มีวัตถุประสงค์อะไรถึงเอาผังล้มเจ้าออกมา โดยที่เหตุการณ์ผ่านมาเนิ่นนานแล้วยังไม่มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้นที่ว่ามีขบวนการล้มเจ้าอยู่จริงในประเทศไทย”
ดร. กฤตยากล่าวว่า ไทยได้เลือกแล้วที่จะเป็นประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม ปีหน้าเราครบ 80 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้มีรัฐประหารเป็นครั้งคราว แต่คนที่ทำรัฐประหารเองก็ไม่กล้าปิดประเทศ หมุนย้อนกลับไปเหมือนที่คนไทย ทหารไทยที่ชี้หน้าด่าประเทศเพื่อนบ้านว่าล้าหลัง
“ดิฉันเข้าใจว่าคนเหล่านี้ไม่กล้าที่จะพาประเทศไปสู่ภาวะล้าหลังเช่นนั้น การเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาในกรอบของกฎหมายเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นการสร้างสติปัญญา เมื่อมีสติปัญญาแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลในทางที่เป็นคุณภาพ”
ดร. กฤตยากล่าวว่า ความขัดแย้งใน 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ไม่มีพระ-มาร ไม่มีพระเอก-ผู้ร้าย เป็นความขัดแย้งเชิงคุณภาพ เพราะเป็นความขัดแย้งที่แสดงให้เห็นว่าบางสิ่งบางอย่างไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปีนี้และอีกหลายๆ ปีจะเป็นปีแห่งมหาภัยพิบัติ ขณะเดียวกันก็เป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลทางจิตใจของประชาชนในแอฟริกาและตะวันออกกกลาง
“ลักษณะจิตใจแบบนี้ก็อยู่ในพื้นฐานจิตใจของประชาชนในประเทศไทยด้วย และนี่เป็นจิตใจที่เราต้องการ และเป็นจิตใจที่นำพาประเทศไทยไป มีแต่การเปิดพื้นที่เท่านั้น ที่จะทำใหสถาบันพระมหากษัตริย์ยั่งยืนมั่นคง เป็นการเปลี่ยนแปลที่มีคุณภาพมากขึ้น”
คำ ผกา นักเขียนอิสระ กล่าวว่า เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่คนในสังคมไทยถูกจับเข้าไปอยู่ในห้องมืด และเต็มไปด้วยความกลัวเพราะในความมืดเต็มไปด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ พวกเราจึงไม่กล้าพูดอะไรดังๆ ถ้าอยากพูดก็จะซุบซิบ เราไม่กล้าขยับตัว ไม่กล้าเคลื่อนไหว เรากลัวว่าถ้าเราพูดเสียงดังผีจะได้ยิน ถ้าเราขยับตัวอาจจะไปโดนปีศาจ
“พวกเราเป็นคล้ายๆ คนโรคจิต สิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ทำ และนักวิชาการอีกหลายๆ ท่านได้ทำมาตลอดหลายสิบปี ก็เหมือนเป็นการนำแสงสว่างมาสู่ห้องมืด แต่แสงสว่างนั้นไม่เพียงพอเพราะเรื่องเล่าที่น่าหวาดกลัวอยู่กับเรามานานเกินไป แต่สิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ทำเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา คือการไปเปิดหน้าต่าง ให้แสงสว่างเข้ามา ถ้าจะมีผีหรือปีศาจอยู่ในห้องนี้ ขอให้เราได้เห็นผีตนนั้นโดยไม่มีภาพลวงตา ไม่มีเรื่องเล่า”
“สุดท้ายงานของอาจารย์สมศักดิ์ และนักวิชาการฝ่ายเสรีนิยมทุกคนเป็นแต่เพียงต้องการให้สถาบันกษัตริย์ได้พิจารณาปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ เพราเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสง่างาม”
ในช่วงท้ายของการสัมมนา ผู้สื่อข่าวจากเดอะเนชั่นถามว่า อาจารย์สมศักดิ์คิดหรือไม่ว่าจะเกิดเหตุเหล่านี้ต่อตนเอง จากนั้นสมศักดิ์ตอบว่า เขายอมรับว่า ที่ผ่านมาคิดว่าประเทศไทยจะศิวิไลซ์กว่านี้ ไม่คิดว่ามีคนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะใช้วิธีการแบบนี้จัดการกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวประชาไทถามว่า อาจารย์สมศักดิ์ประเมินความกลัวของชนชั้นนำต่ำเกินไปหรือเปล่า และคาดการณ์ได้ไหมว่าจะเกิดอะไรต่อไป
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตัวอย่างจดหมายเปิดผนึกถึงฟ้าหญิงในทางกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมายเลย และเขียนอย่างระมัดระวัง แต่ยอมรับว่าเขาอาจจะมองโลกในแง่ดีหรือพาซื่อเกินไปหรือเปล่า แต่พอจดหมายที่ออกมาปั๊บ ก็โกรธชนิดเอาเลือดเอาเนื้อเกินไป ผมอาจจะพาซื่อเกินไป ไม่ว่าต่อชนชั้นนำเอง หรือคนที่จงรักภักดี เราอาจจะมองความศิวิไลซ์ของประเทศไทยสูงกว่าที่จะเป็นจริงก็ได้ ที่ผ่านมาเราอาจจะประเมินสูงเกินไป
ผู้สื่อข่าวประชาไทถามต่อไปว่าระหว่างคนที่จงรักภักดีสุดโต่งกับกลไกรัฐ อะไรที่เป็นปัญหามากกว่ากัน
สมศักดิ์ตอบว่า เรื่องรัฐต้องมาก่อนอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐสัมภาษณ์รายวันต่อกันเกินสิบวัน รัฐบาลพลเรือนอย่างอภิสิทธิ์ควรออกมาบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกินกว่าสิ่งที่ทหารควรจะทำ แต่รัฐบาลกลับโหนกระแส ถ้าคนระดับนำพวกนี้ไม่ทำแบบนี้ ลำพังคนที่จงรักภักดีสุดโต่งก็คงมีส่วนหนึ่ง แต่การเกิดกระแสแบบนี้ได้ก็เพราะกลไกของรัฐ เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ขณะนี้เห็นได้ชัดว่ามันเข้าไปสู่การหวังผลทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเอง ลำพังรัฐไม่ทำแบบนี้ แค่เฉพาะคนที่จงรักภักดีคงไม่ตึงเครียดขนาดนี้
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่า มีการขู่ ถึงขั้นขู่ฆ่าเลยไหม ถ้ามีการขู่ฆ่า ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมได้ไหม การโดนตั้งข้อหา จะทำให้พ้นสภาพนักวิชาการหรือเปล่า และการที่มีเวทีพูดคุยแบบนี้ทำไมใช้เวลานานกว่าจะเกิดขึ้น เพราะรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อปี 2549
สมศักดิ์ ตอบว่าการถูกขู่ฆ่ามีอยู่ตลอด “แต่ผมไม่อยากให้ความสำคัญ แต่ถ้าพูดตรงๆ ในหลายวันที่ผ่านมา มันอยู่ในบริบทของบรรยากาศที่ทหารตบเท้าติดต่อกันสิบกว่าวัน แล้วสร้างบรรยากาศความกลัว ผมก็คุยเล่นๆ กับเพื่อนว่าผมจะถึงฆาตไหม โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่ แต่อย่างน้อยมันมีผลสะเทือนต่อภรรยาผม ต่อญาติมิตรที่ล้อมรอบ”
“ที่ได้ข้อมูลมาว่ามีหน่วยทหาร 80 คน ที่ดูแลผมตลอด 24 ชม. ซึ่งข่าวนี้อาจจะเป็นการขู่ก็ได้ อาจจะหวังดีก็ได้ แต่สำหรับภรรยาผม มัน.......อื้อหือ แล้วมันมีการตบเท้ากันตลอด แล้วโดยส่วนตัว ผมพยายามจะพูดถึงน้อยมาก เพราะคนอื่นก็โดนมากกว่าผมเยอะ”
“เรื่องเสียตำแหน่งหรือไม่ มีการเสนอให้มหาวิทยาลัยทำโทษทางวินัย แต่ที่ผ่านมา ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้หลายคนจะไม่ชอบผู้บริหาร แต่ธรรมศาสตร์มีวัฒนธรรมในการให้เสรีภาพต่อนักวิชาการเยอะ”
“ตั้งแต่ 10 ธ.ค. ก็มีการกดดันมาที่กลุ่มนักวิชาการนิติราษฎร์ ผมเคยเห็นจดหมายที่ร้องเรียนผมมาที่อธิการ เขาก็ยังถือว่านี่คือเสรีภาพทางวิชาการในการแสดงความคิดเห็น”
นักศึกษาจากคณะนิศาสตร์ถามว่า มีข้อถกเถียงว่าถ้าไม่ได้ทำผิดจะกลัวกฎหมายทำไม
นายวรเจตน์ตอบประเด็นนี้ว่า ที่เราพูดอยู่นี้ก็เพราะเราเห็นกฎหมายนี้เป็นปัญหา และยืนยันว่าที่เราจัดงานวันนี้เพราะนี่คือฐานที่มั่นสุดท้ายซึ่งเราต้องรักษาไว้ให้ได้
ประชาชนที่เข้าร่วมฟังการแถลงข่าวกล่าวว่า ต้องให้ควาเมป็นธรรมกับกษัตริย์ของไทยด้วยว่า พระองค์ไม่เคยพูดว่าไม่ให้วิจารณ์ ฉะนั้น ทหารที่ออกมาตบเท้าต้องบอกหรืออธิบายมาด้วยว่า พระองค์ไม่ยินยอมให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ร่วมฟังการแถลงข่าวอีกรายกล่าวเสริมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสแล้วว่าให้วิพากษ์วิจารณ์ได้