อยู่ในช่วงพลิกไปพลิกมา ผลัดกันรุกผลัดกันรับ
จนคาดเดาได้ยากว่าผลลัพธ์การเลือกตั้งฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะ เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของกันและกันอย่างดี
ก่อนโดนเล่นงานข้อหา"หมิ่นสถาบัน" จากการสำรวจโพลหลายสำนักยกให้พรรคเพื่อไทยเป็นเต็ง 1
ประเมินว่าจะกวาดส.ส.เข้าสภาได้ถึง 263-267 ที่นั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานพบว่ากระแสของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกระแสคนเสื้อแดงยังมาแรง
ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องคิดหาทางแก้เกมอย่างเร่งด่วน เพื่อดึงกระแสไม่ให้ตกเป็นรองไปมากกว่านี้
เนื่องจากนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันปฏิทินเดิมว่า จะยุบสภาช่วงต้นเดือนพ.ค. นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นปลายเดือนมิ.ย. หรืออย่างช้าต้นเดือนก.ค.
เดือนส.ค.จะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่
ขณะเดียวกันบรรดาพรรคขนาดกลางก็มีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก
ไม่ว่าการจับมือกันระหว่างนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กับกลุ่ม 3 พี ภายใต้ชื่อพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นอกจากฐานเสียงส.ส.เดิมแล้ว ยังดึงนักร้อง-นักกีฬาระดับชาติมาร่วมงานกับพรรคหลายคน
ด้านพรรคชาติไทยพัฒนาของนายบรรหาร ศิลปอาชา ล่าสุดเปิดตัวกลุ่มนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เข้ามาร่วมงานกับพรรคเป็นที่เรียบร้อย ตั้งเป้าส.ส.ไว้ 30-40 ที่นั่ง เพื่อดำรงฐานะตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยยืนกรานนโยบายปกป้องสถาบัน เชื่อว่าตนเองเดินมาถูกทางแล้ว ประเมินว่าน่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา 63-68 ที่นั่ง แม้จะค้านสายตานักวิเคราะห์หลายคนก็ตาม
ยังมีพรรครักษ์สันติของร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ถึงจะเป็นพรรคขนาดเล็กแต่น่าจะเข้ามาแบ่งแต้มจากพรรคประชาธิปัตย์ในสนามกทม. และหัวเมืองใหญ่ๆ ได้
บรรยากาศความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ดูเผินๆ เหมือนทุกพรรคพร้อมเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งที่ลึกลงไปหลายคนยังรู้สึกถึงสัญญาณแปลกแปร่ง
โดยเฉพาะสัญญาณที่ส่งตรงออกมาจากกองทัพ
ตามรูปการณ์ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า"ไพ่ใบสำคัญ"ที่รัฐบาลและกองทัพทิ้งลงมาเพื่อเล่นงานคนเสื้อแดง สร้างความสั่นสะเทือนให้กับพรรคเพื่อไทยไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ยื่นใบลาออกจากพรรค การชะงักเท้าของนายเสนาะ เทียนทอง รวมถึงการทยอยลาออกของกรรมการบริหารพรรค ไม่เว้นแม้แต่เลขาธิการพรรค
ผสมผสานกับข่าวปล่อยทำนองว่ายังมีส.ส.อีกกว่า 20 คน พร้อมลาออกตามพล.อ.ชวลิต ที่เตรียมจับมือกับนายเสนาะ ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่
ยิ่งทำให้ภาพของพรรคเพื่อไทยดูโกลาหลสมาชิกต่างแย่งชิงกันหนีตายจากการถูกยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์
เสื้อแดงเป็นคนก่อ แต่พรรคต้องรับกรรม
อย่างไรก็ตามถึงแม้มุมหนึ่งดูเหมือนไพ่ที่ทิ้งลงมาตัดกระแสฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะได้ผล
โดยเฉพาะปฏิกิริยาจากเหล่าขุนทหาร นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกมาเปิดหน้าชนกับแกนนำเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยแบบเต็มเหนี่ยว
แต่อีกมุมหนึ่งก็เสี่ยงต่อการเกิดกระแสตีกลับ
การระดมพล"ตบเท้า"ของทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ตามด้วยกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ที่บังเอิญไปตรงกับวันที่เกิดปรากฏการณ์"ทีวีจอดำ"
แค่ไม่กี่นาทีกระแสข่าวลือทหารปฏิวัติก็ลุกลามรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง
ถึงจะเคลียร์ว่าเป็นแค่เหตุสัญญาณดาวเทียมขัดข้องธรรมดา
แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแวงของประชาชนที่มีต่อกองทัพว่า อาจจะไม่ได้ต้องการสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยอย่างที่พูด
สอดรับกับข่าวที่ปูพื้นกันมาก่อนล่วงหน้าว่า "มือที่มองไม่เห็น" ซึ่งมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลและกองทัพ
ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง
การกลับมามีบทบาทของกองทัพครั้งนี้ นักวิชาการมองว่าน่าจะเป็นผลเสียมากกว่าเป็นผลดีต่อบ้านเมือง
การตบเท้าและการฟ้องร้องนปช.ว่าหมิ่นสถาบัน ในช่วงใกล้ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ ถูกตีความว่าทหารมีเจตนาต้องการดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยมากกว่าอย่างอื่น
ทำให้ไพ่ใบสำคัญที่ทิ้งลงมากลายเป็นดาบสองคม ย้อนกลับไปบาดกองทัพจนเหวอะหวะเสียเอง
ขณะเดียวกันสังคมเริ่มเอะใจเช่นกันว่า การออกมาปั่นกระแสดังกล่าวจนเป็นข่าวใหญ่ติดต่อกันหลายวัน
เพราะรัฐบาลต้องการกลบเกลื่อนความล้มเหลวของตนเอง ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับปากท้องชาวบ้าน อันเนื่องมาจากราคาหมู ไก่ ไข่ สินค้าพื้นฐานภายในครัวเรือน ต่าง"ตบเท้า"ขึ้นราคาหรือไม่
ขนาดนายกฯอภิสิทธิ์ พยายามทำตัวติดดินกินข้าวไข่เจียว ก็ยังมีเสียงแซวว่านายกฯกินของแพง เป็นตลกร้ายที่รัฐบาลหัวเราะไม่ออก
นอกจากนี้มาตรการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อตรึงราคาไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท
ยังถูกสับแหลกว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด มุ่งหาเสียงระยะสั้นในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
แต่ในระยะยาวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท กระทบต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในอนาคตแน่นอน
รวมถึงปัญหาเงินช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งแต่งวดปลายปี 2553 ชาวบ้านหลายจังหวัดยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามที่รัฐบาลรับปากจะจ่ายให้รายละ 5,000 บาท
ขยะใต้พรม-บนพรมเริ่มปลิวฟุ้งกระจายไปทั่ว
ดังนั้น การที่แกนนำคนเสื้อแดงประกาศเลิกตอบโต้ทางวาทกรรมเกี่ยวกับสถาบัน โดยปล่อยให้เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปตามกระบวนการทางศาล
ส่วนการเลือกตั้งจะต่อสู้กันด้วยเรื่องของนโยบายของพรรคล้วนๆ
ถือเป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมแล้ว
สำหรับผลออกมาอย่างไรประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน และทุกฝ่ายต้องยอมรับเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้