บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

ทีมข่าวต่างประเทศ

ที่มา ประชาไท

สื่อมวลชนทั่วโลกต่างพร้อมใจกันรายงานข่าว ‘พิธีเสกสมรส’ ระหว่างเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ และ น.ส.เคท มิดเดิลตัน ในวันที่ 29 เม.ย. โดยกล่าวขานว่านี่เป็น ‘พิธีวิวาห์แห่งศตวรรษ’ ในฐานะที่เป็นข่าวมงคลครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของราชวงศ์อังกฤษซึ่งเคยรุ่งเรืองในอดีต ทั้งยังเป็นดังฉากชวนฝันในเทพนิยายที่กลายเป็นจริง ซึ่งก็คือเรื่องราวความรักของเจ้าชายผู้สูงศักดิ์กับหญิงสาวผู้เป็นเพียงสามัญชน และทั้งคู่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่สนใจเรื่องสถานะที่แตกต่างทางสังคม

ด้วยเหตุนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักจึงเกาะติดการรายงานข่าวแบบถ่ายทอดสดนาทีต่อนาที โดยบรรดาแขกเหรื่อผู้มีเกียรติทั้ง 1,900 คนเข้าไปรอในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอ๊บบี้ ในกรุงลอนดอน ตั้งแต่เวลา 08.15 น. และพิธีอย่างเป็นทางการเริ่มต้นขึ้นในเวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นอังกฤษ โดยแขกเหรื่อที่มีทั้งสามัญชน คนดังในแวดวงต่างๆ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ต่างชาติ จะเป็นสีสันอีกประการหนึ่งที่สื่อจะรายงานให้ผู้สนใจข่าวพิธีเสกสมรสได้รับทราบกันถ้วนหน้า

การจัดพิธีเสกสมรสครั้งนี้ยังได้รับการประเมินจากบริษัทไพรซ์ วอเตอร์ เฮาส์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชื่อดังว่าเป็นการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของอังกฤษมีเงินสะพัดราว 107 ล้านปอนด์ (ราว 2,400 ล้านบาท) จากนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและทั่วโลกที่จะแห่แหนกันมาเที่ยว ‘ตามรอย’ เส้นทางรักของเจ้าชายวิลเลียมและเคท [1]

ขณะที่เสียงสนับสนุนราชวงศ์อังกฤษของประชาชนในประเทศเครือจักรภพอย่าง ‘ออสเตรเลีย’ ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อ้างอิงจากผลสรุปการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสำนักนิวส์โพลในออสเตรเลีย [2] พบว่าเสียงสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปกครองออสเตรเลียไปสู่ระบอบสาธารณรัฐและยกเลิกสถานะการเป็นประเทศเครือจักรภพอังกฤษ ‘ลดลง’ จาก 41 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี ค.ศ.1994 เหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจครั้งล่าสุดก่อนพิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและเคท โดยผู้ตอบแบบสอบถามของนิวส์โพลล์เห็นว่าราชวงศ์อังกฤษกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าเจ้าชายวิลเลียมจะทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีกว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้เป็นพระบิดา เพราะทรงมีความ ‘ติดดิน’ และทรงปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในหลายประเทศตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์



ภาพจากหน้าปกนิตยสาร Newsweek ฉบับ May 2, 2011

ทว่าปฏิกิริยาของสื่อมวลชนในโลกตะวันตกอีกจำนวนหนึ่งได้เปิดเผยให้เห็นแง่มุมที่หลากหลาย และเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่เห็นแตกต่างจากกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์อังกฤษ ดังจะเห็นได้จากที่นิตยสาร ‘นิวส์วีค’ ฉบับ 2 พ.ค.2011 ขึ้นภาพหน้าปกเปรียบเทียบกันระหว่าง ‘อังกฤษในจินตนาการ’ ซึ่งเป็นภาพขณะที่เจ้าชายวิลเลียมทรงสวมกอดพระคู่หมั้น และถูกยกย่องว่าเป็นตำนานรักในโลกยุคใหม่ ส่วนอีกภาพเป็นภาพของ ‘อังกฤษที่แท้จริง’ แสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมต่อต้านนโยบายตัดงบประมาณการศึกษาของอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะเริ่มด้วยความสงบ แต่ก็ถูกกลุ่มอนาธิปไตยทำลายความชอบธรรมด้วยการก่อเหตุทำลายข้าวของสาธารณะจนนำไปสู่การปะทะและความรุนแรง

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกลุ่มรีพับลิก ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านการรณรงค์ยกเลิกระบอบกษัตริย์และการยกเลิกสถานะอภิสิทธิ์ของเหล่าสมาชิกราชวงศ์ต่างๆ ในประเทศแถบยุโรป ซึ่งออกมารณรงค์ช่วงเดียวกับที่มีการจัดพิธีเสกสมรส โดยให้เหตุผลว่านี่คือช่วงเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเผยแพร่ข้อมูลอีกด้านของราชวงศ์ เพราะสิ่งที่ควรเฉลิมฉลองอย่างแท้จริงคือการดำรงอยู่ของประชาธิปไตยและพลังของเหล่าประชาชน แทนที่จะเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่กลุ่มคนที่ได้รับสถานะอภิสิทธิ์ชนจากการสืบเชื้อสายหรือได้รับมรดกตกทอด

‘ทอม ฟรีดา’ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรีพับลิกในแคนาดา หนึ่งในประเทศเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งมีสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ระบุว่าสมาชิกกลุ่มรีพับลิกล้วนมีความยินดีต่อพิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและเคท มิดเดิลตัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องถกเถียงเรื่องสถานะของราชวงศ์ที่มีผลต่อการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในแคนาดา ซึ่งกลุ่มรีพับลิกเห็นว่าควรจะเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกของประชาชน ‘ในพื้นที่’ แทนการ ‘แต่งตั้ง’ จากที่อื่น [3]

ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่อง ‘สกายนิวส์’ ของอังกฤษตัดสินใจถ่ายทอดสดการจัดเวทีอภิปรายเรื่องการยกเลิกระบอบกษัตริย์ ซึ่งนายจอห์น ไรลีย์ ประธานบริหารของสกายนิวส์ กล่าวว่าในขณะที่ประเทศถูกถาโถมด้วยกระแสคลั่งไคล้ในพิธีเสกสมรส จำเป็นจะต้องมองเรื่องความสัมพันธ์ของราชวงศ์กับประเทศชาติว่ายังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีต่อไปในอนาคตหรือไม่ โดยเวทีอภิปรายดังกล่าวถูกจัดขึ้นในคืนวันที่ 28 เม.ย. ซึ่งถือว่าเป็นการอุ่นเครื่องก่อนถึงพิธีเสกสมรสในวันที่ 29 เม.ย.อย่างแตกต่างหลากหลายมุมมอง [4]

ขณะที่เว็บไซต์นิตยสารฟอร์จูนรายงานข้อมูล ‘อีกด้านหนึ่ง’ ของพิธีเสกสมรส โดยโต้แย้งว่าการประเมินมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยวหลายล้านปอนด์ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากพิธีเสกสมรสมิได้รวม ‘ค่าใช้จ่าย’ ในพิธีที่รัฐบาลอังกฤษต้องนำภาษีประชาชนไปใช้จ่าย ได้แก่ เบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยข่าวกรองของรัฐบาล ซึ่งต้องประจำการในพิธีเพื่ออารักขาดูแลความปลอดภัยในพิธี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดหลังเสร็จพิธี รวมเป็นเงินประมาณ 8 ล้านดอลลาร์ (ราว 240 ล้านบาท)

นอกจากนี้ยังมีความเสียหายในภาคธุรกิจการเงินกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 150,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นผลจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศให้วันเสกสมรสเป็นวันหยุดราชการ ทำให้สถาบันการเงินการธนาคารปิดให้บริการ ถือเป็นการกระทำที่สวนทางกับนโยบายตัดงบประมาณด้านต่างๆ ของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งสั่งตัดงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษา สวัสดิการสังคมและรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมาโดยให้เหตุผลว่าต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ [5]

อย่างไรก็ตาม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความจำเป็นในการดำรงอยู่ของราชวงศ์อังกฤษซึ่งหนาหูขึ้นนับตั้งแต่การหย่าร้างเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และอดีตเจ้าหญิงไดอานา พระมารดาผู้ล่วงลับของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี ตามมาด้วยข่าวอื้อฉาวของสมาชิกราชวงศ์อื่นๆ ถูกกลบด้วยกระแสความนิยมในตัวเจ้าชายวิลเลียมและเคท มิดเดิลตัน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่สำนักพระราชวังประกาศข่าวพิธีหมั้นและเสกสมรสเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว [6]

การตัดสินพระทัยจัดพิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและเคทยังได้รับการยกย่องว่าเรียบง่าย แม้จะมีสถาบันการเงินต่างชาติประเมินค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ว่าอยู่ที่ประมาณ 34 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,800 ล้านบาท) แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการจัดพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเลดี้ ไดอาน่า พระบิดาและมารดาของเจ้าชายวิลเลียม ซึ่งมีการนำเงินภาษีประชาชนอังกฤษไปจ่ายเป็นค่ารักษาความปลอดภัย รวมถึงเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ประจำเรือหลวงและรถไฟหลวงที่ใช้ในการเสด็จไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์

นอกจากนี้ การปรับตัวของสมเด็จพระราชินีอังกฤษในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งทรงตัดสินพระทัยยกเลิกการจัดงานประเพณีแบบฟุ่มเฟือย รวมถึงการที่ทรงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าถึงได้มากขึ้นก็ช่วยให้พระองค์ทรงได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มมากขึ้นจากช่วงที่เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ใหม่ๆ แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากประเมินว่าสถานะของราชวงศ์อังกฤษจะได้รับการตีความใหม่ในไม่ช้า ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทัศนคติของประชาชนอังกฤษต่อราชวงศ์จะขึ้นอยู่กับชีวิตสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและพระชายาด้วยว่ามีความยั่งยืนและเข้าถึงจิตใจของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศยังไม่นิ่งเช่นทุกวันนี้ [7]

ข้อมูลอ้างอิง

  1. How Much Is a Princess Worth?
  2. Support for republic in Australia slumps: poll
  3. Love it or loathe it, royal wedding buzz a catalyst for monarchy debate in Canada
  4. Sky News to host monarchy debate
  5. Royal wedding? A royal pain
  6. Royal wedding: William and Kate set for Abbey service
  7. Monarchy Inc. Faces Raft of Challenges

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker