โดย ปราปต์ บุนปาน
ผู้สนใจแวดวงการเมืองไทย มักคุ้นชินกับแนวคิดประเภท "คน/กลุ่มบุคคลใด คน/กลุ่มบุคคลหนึ่ง ต้องตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกใช้สอยโดยคน/กลุ่มบุคคลอีกคน/กลุ่ม อยู่เสมอ" เป็นอย่างดี
ล่าสุด ความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้ใช้" กับ "ผู้ถูกใช้" หรือ "ผู้กระทำ" กับ "ผู้ถูกกระทำ" ทางการเมือง ก็ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ด้านหนึ่ง ก็มีผู้เห็นว่าอดีตนายกรัฐมนตรี "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ใช้ "กลุ่มคนเสื้อแดง" และ "พรรคเพื่อไทย" มาจนถึง "ทางแพร่ง" ที่ต้องเลือกว่าจะใช้ฝ่ายใดเป็นกำลังหลักทางการเมืองของตนเองในการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น
ในทางกลับกัน บางคนก็มองว่า "กลุ่มคนเสื้อแดง" หลากหลายกลุ่ม กำลังใช้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เคลื่อนไหว โดยพวกเขาไม่ได้ตกเป็น "เครื่องมือทางการเมือง" ของอดีตผู้นำแต่เพียงฝ่ายเดียว
กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ ต่างฝ่ายต่างใช้ซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ การกล่าวปราศรัยอัน "สุ่มเสี่ยง" และ "หวาดเสียว" บนเวทีเสื้อแดงของ "จตุพร พรหมพันธุ์"
ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดจากความคิดใคร่ครวญมาแล้วอย่างถ้วนถี่ในฐานะ "ผู้กระทำ" ทางการเมือง หรือบรรยากาศแวดล้อมอันเต็มไปด้วย "คนเสื้อแดง" ได้ปลุกกระตุ้นฉุดดึงให้ "จตุพร" ถลำนำพาตนเองไป "ไกลสุดกู่" ถึงขั้นนั้นกันแน่
เช่นกันกับบทบาทการลาออกจากพรรคเพื่อไทยของ "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" ที่สลับซับซ้อนไม่น้อย ทั้งในฐานะ "ผู้ถูกใช้" และตัวแสดงที่เป็น "ผู้กระทำ" ทางการเมือง
ยิ่งกว่านั้น หากพิจารณาให้ดี บรรดาพรรคการเมือง หน่วยงานภาครัฐบางหน่วย ตลอดจนแทบทุกองค์กรในสังคมการเมืองไทย
ก็ล้วนแล้วแต่สลับสับเปลี่ยนบทบาทของตนเองไปมาระหว่างการเป็น "ผู้ใช้" และ "ผู้ถูกใช้" อยู่ตลอดเวลา
ทั้งในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เรื่อยไปจนถึงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา
เพราะฉะนั้น หากสภาพการเมืองในอนาคตหรือการเลือกตั้งครั้งหน้า จะส่งผลให้ความขัดแย้งของสังคมไทยคลี่คลายตัวลง หรือขมวดปมจนหนักหน่วงตึงเครียดยิ่งขึ้นและลุกลามไปอีกหลายปี
นี่ก็ย่อมเป็นผลลัพธ์มาจากการกระทำและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง "ผู้ใช้" กับ "ผู้ถูกใช้" หรือ "ผู้กระทำ" กับ "ผู้ถูกกระทำ" ในสังคมการเมืองไทยทั้งสิ้น
เนื่องจากลักษณะของความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ "สองทาง" หรือ "หลายทิศทาง" ที่ปรากฏอย่างเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย
ได้ทำให้เราตระหนักแล้วว่า ไม่มีใคร/องค์กรใดซึ่งข้องแวะกับการเมืองแม้เพียงคน/กลุ่มเดียว ที่จะมีสถานะเป็นเพียง "เครื่องมือที่ถูกใช้" หรือ "ผู้ถูกกระทำ" อยู่อย่างสม่ำเสมอ
โดยไม่เคยพลิกบทบาทของตนเองกลับไปเป็น "ผู้กระทำ" หรือผู้ฉวยใช้ประโยชน์จากบุคคลฝ่ายอื่นๆ และสถานการณ์ทางการเมืองในวาระต่างๆ เลย